Skip to main content
sharethis

รายงานเวทีเสวนา “แรงงานข้ามชาติกับโควิด-19 : เราทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ชี้ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายภาครัฐแบบ “ยาแรง” เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็น “คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” หลุดออกจากระบบ พร้อม เสนอ 6 ข้อแนวทางบริหารจัดการและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งหามาตรการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติให้กลับเข้าระบบได้โดยไว

  • ตัวแทนเครือข่ายประชากรข้ามชาติ สะท้อนปัญหาช่วงโควิด และมาตรการช่วยเหลือภาครัฐที่ยังไม่เพียงพอ 
  • เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติจี้ภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้แรงงานกลับสู่ระบบให้เร็วที่สุด
  • พิษโควิด-19 ทำแรงงานข้ามชาติเข้าถึงประกันสังคมอย่างยากลำบาก ชี้รัฐไม่ควรปิดกั้นการเดินทาง
  • แรงงานพม่าตัดพ้อ เข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุข ไร้เงินหาหมอ บางส่วนไม่กล้าไป รพ. เหตุะสื่อสารไม่ได้
  • มูลนิธิการศึกษาเพื่อเยาวชนชนบท กระตุ้นรัฐช่วยเหลือศูนย์การศึกษานอกระบบให้กลับเข้ามาในระบบ ป้องกันลูกหลานแรงงานต้องกลายเป็นแรงงานก่อนวัยอันควร
  • ภาคประมงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานขนานหนัก แนะรัฐควรทบทวน-ลดอุปสรรคขั้นตอนการนำเข้าแรงงาน    

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันผู้ย้ายถิ่นสากล เครือข่ายองค์กรเพื่อประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group หรือ MWG) จึงจัดเวทีเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) กรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “แรงงานข้ามชาติและโควิด-19 : เราทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หวังสะท้อนปัญหาของแรงงานต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐช่วงโควิด-19 

ข้อมูลจากเวทีเสวนาระบุสถานการณ์แรงงานข้ามชาติช่วงโควิด-19 และการข้ามแดนช่วงที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบจำนวนแรงงานข้ามชาติช่วงก่อนและหลังโควิด-19 (ตั้งแต่สิงหาคม 2562-ตุลาคม 2563)

เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 มีแรงงานข้ามชาติทั้งสิ้น 2,877,123 คน แต่หลังจากช่วงโควิด-19 หรือตุลาคมปีนี้ รัฐไทยมีแรงงานข้ามชาติในระบบเหลือเพียง 2,284,673 คน หรือมีแรงงานหายไปจากระบบ 592,450 คน หมายความว่ารัฐไทยมีผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายเกือบ 6 แสนคนเลยทีเดียว 

ทั้งนี้ เนื่องมาจากผลกระทบจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลง เป็นเหตุให้มีการเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก หลายคนกลายเป็นคนตกงาน ขาดรายได้เพื่อจุนเจือตนเองและครอบครัว ที่สำคัญการหลุดจากระบบทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาจากภาครัฐ ทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มเปราะบางจากโรคระบาด และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้โควิด-19 กลับมาการระบาดอีกครั้งได้

อย่างไรก็ตาม สุธารี วรรณศิริ นักวิจัยอิสระและพิธีกรงานเสวนาครั้งนี้ กล่าวเปิดรายการว่า โควิด-19 อาจแค่ทำหน้าที่เป็นดั่ง “แว่นขยาย” ซึ่งทำให้เรามองเห็นปัญหาที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมอย่างมาตรการของภาครัฐที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติได้อย่างทั่วถึง หรือปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติในไทย   

ตัวแทนเครือข่ายประชากรข้ามชาติ สะท้อนปัญหาช่วงโควิด และมาตรการช่วยเหลือภาครัฐที่ยังไม่เพียงพอ 

ในการเสวนาช่วงแรกเป็นการสะท้อนภาพรวมปัญหาของแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด-19 นำเสนอโดย อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)  

อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) 

อดิศร กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องหลุดจากระบบนั้น มีทั้งปัญหาที่มาจากส่วนของนายจ้าง และนโยบายภาครัฐเองที่ยังไม่เพียงพอและสอดรับกับความต้องการของแรงงานกลุ่มนี้

การเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 นั้นมีความยากลำบากมากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีนายจ้างบางรายมีการฉวยโอกาสช่วงวิกฤตยกเลิกการจ้างงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ใช้วิธีการไม่ยอมต่อสัญญาการจ้างงาน ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องหลุดจากระบบ เมื่อตกงานและไม่มีรายได้ ก็ทำให้แรงงานข้ามชาติดำรงชีวิตลำบากขึ้น

ส่วนใหญ่เมื่อเกิดสภาวะที่แรงงานข้ามชาติไม่สามารถหางานทำได้ แรงงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวพม่าจะเลือกเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด แต่ในช่วงที่ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ที่ประเทศพม่าพุ่งขึ้นสูง ก็ทำให้รัฐไทยเลือกปิดชายแดนเพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดจากเพื่อนบ้าน ทำให้แรงงานข้ามชาติส่วนมากต้องติดแหงกในไทยโดยไม่มีงานทำ 

นอกจากนี้ นายจ้างบางรายไม่ได้พาแรงงานข้ามชาติไปเข้าเป็นผู้ประกันตนในประกันสังคม ทั้งที่ส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบที่นายจ้างต้องทำให้แรงงานข้ามชาติทุกคน แต่บางคนก็เลือกจะละเลยตรงจุดนี้ ทำให้เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน แรงงานกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ 

ปัจจัยต่อมาคือนโยบายมาจากภาครัฐที่ไม่ได้อำนวยความสะดวกมากพอที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกลไกการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐได้อย่างทั่วถึง 

อดิศรยกตัวอย่างกรณีการยื่นคำร้องเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม เนื่องด้วยช่วงโควิดที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเดินทางไปยื่นที่คำร้องที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมได้ด้วยตัวเอง เพราะบางพื้นที่มีการห้ามเดินทางออกนอกบ้าน หรือบางกรณีเดินไปแล้วแต่กลับพบว่าสำนักงานปิด เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการให้เจ้าหน้าที่ทำงานที่บ้าน ขณะเดียวกัน การยื่นคำร้องผ่านเว็บไซต์นั้นก็เป็นไปโดยลำบาก เนื่องจากในเว็บมีแค่ภาษาไทยเท่านั้น และมีเงื่อนไขการยื่นเอกสารและหลักฐานอื่น ๆ ค่อนข้างยุ่งยากเกินความจำเป็น 

ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายมีความเข้มงวดเกินไป โดยไม่มีการผ่อนผันมาตรการบางอย่าง เช่น เงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานข้ามชาตินั้น คือต้องพิสูจน์ว่านายจ้างเดิมมีความผิด หรือชดใช้ค่าเสียหายให้นายจ้างเดิม และแรงงานข้ามชาติจำเป็นต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 30 วัน ซึ่งอดิศรมองว่า หากข้อบังคับนี้ไม่มีการผ่อนปรนบ้าง ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่แรงงานข้ามชาติจะทำได้ในช่วงโควิด-19 

อดิศร เกิดมงคล

อดิศร เสนอว่า จากปัญหาข้างต้นรัฐควรมีการผ่อนปรนมาตรการบางอย่างโดยเฉพาะเรื่องเอกสารที่ต้องใช้เวลาในการทำ หรือต้องกลับไปเอาที่ประเทศต้นทาง โดยยอมรับให้แรงงานกลับเข้าระบบก่อน หางานทำ ส่วนเรื่องเอกสารก็ให้มีการอะลุ่มอล่วยแก่แรงงานข้ามชาติสามารถนำมายื่นทีหลังได้ ซึ่งการกลับเข้าระบบของแรงงานข้ามชาติ จะสามารถช่วยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติในไทยให้ผ่านช่วงวิกฤตได้  

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีความพยายามแก้ปัญหาโดยการเปิดให้แรงงานข้ามชาติที่ยังอาศัยอยู่ในไทยสามารถลงทะเบียนกลับเข้ามาในระบบได้อีกครั้ง แต่ในทางปฏิบัติ กลับพบว่ายังมีเงื่อนไขที่อุปสรรคต่อการลงทะเบียน อย่างเช่น การใช้ใบแจ้งออกจากงานจากนายจ้างเดิมเป็นหลักฐานลงทะเบียน ซึ่งลูกจ้างบางคนไม่สามารถหามาได้ 

อีกปัญหาที่อดิสรต้องการให้รัฐแก้ไข คือเรื่องนโยบายการเปิดพรมแดนที่มีความชัดเจน เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถคาดการณ์การวางแผนใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตโควิดได้ นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีคนงานข้ามชาติรอกลับเข้ามาทำงานในไทยจำนวนมาก แต่การไม่มีมาตรการที่แน่นอนเรื่องการเปิดชายแดน ทำให้คนงานกลุ่มนี้ติดแหงกอยู่บริเวณชายแดนเพื่อรอเดินทางมาทำงานในไทย มีกรณีที่บางคนกู้หนี้ยืมสินเพื่อเดินทางเข้ามาทำงาน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่สามารถรอได้ สุดท้ายพวกเขาก็เลือกวิธีนอกกฎหมายเพื่อเดินทางเข้ามาทำงานในไทย และมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ 

นอกจากเรื่องดังกล่าว ก็มีเรื่องทัศนคติของรัฐไทยที่ทำให้แรงงานข้ามชาติมีปัญหาการเข้าถึงระบบการรักษาในไทย เช่น รัฐไทยช่วงที่ผ่านมามีมาตรการว่า ถ้าเกิดมีชาวพม่ามาซื้อยาแก้หวัดจำนวนมากที่ร้านขายยา ก็ให้แจ้งกรมควบคุมโรค ซึ่งการใช้วิธีนี้ทำให้แรงงานข้ามชาติที่หลุดจากระบบในไทยไม่กล้าเดินทางไปซื้อยา เพราะกลัวทางการจะรู้ว่าตัวเองตอนนี้มีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย

ท้ายที่สุดแล้ว อดิศร เกริ่นถึงปัญหาของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศเอง ก็ประสบปัญหาเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือของรัฐไทยเช่นกัน ซึ่งอดิสรเรียกร้องว่า รัฐไทยเองควรจะเข้าไปดูแลพวกเขาเหล่านี้ให้จริงจังมากขึ้น เนื่องจากแรงงานข้ามชาติทั้งคนไทยที่ไปทำงานนอกประเทศ หรือแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทย ล้วนแต่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น 

สรุปเสวนาวงหลัก : สะท้อนปัญหาแรงงานข้ามชาติยุคโควิด-19 หลากหลายมิติ

ในการเสวนาช่วงที่สองเป็นการอภิปรายปัญหาของแรงงานข้ามชาติจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา หวังสะท้อนปัญหาของแรงงานข้ามชาติครอบคลุมในหลากหลายมิติ 

เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติจี้ภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้แรงงานกลับสู่ระบบให้เร็วที่สุด

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ อภิปรายในประเด็นการเลิกจ้าง และเข้าไม่ถึงสิทธิ ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติอย่างไร 

สุธาสินี ระบุข้อมูลจากการสำรวจพบว่า แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดภาคหนึ่ง ตั้งแต่สถานการณ์โควิดรุนแรงขึ้น ภาครัฐได้มีการดำเนินมาตรการปิดตลาดและห้างสรรพสินค้า ทำให้สินค้าประเภทเสื้อผ้าขายได้น้อยลง ออเดอร์ที่สั่งตัดเย็บเสื้อผ้าที่โรงงานก็ลดลงตามลำดับ ส่งผลให้กิจการโรงงานต้องปิดและแรงงานถูกเลิกจ้าง  

กรณีที่แย่กว่านั้นคือนายจ้างบางคนเลือกจะปิดกิจการชั่วคราวโดยไม่มีความชัดเจนเรื่องเวลาการกลับมาเปิดอีกครั้ง ทำให้แรงงานข้ามชาติอยู่ในสถานะถูกพักงาน เคว้ง อีกทั้งไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยตามกฎหมายอย่างกองทุนประกันสังคมที่มีการเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากนายจ้างไม่ยอมออกใบออกจากงานให้ เพราะคิดว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จะเรียกคนงานกลับมาทำงานใหม่ 

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ

“ไม่แจ้งออก แต่ก็ไม่รับผิดชอบในการจ่ายเงินตอนหยุดชั่วคราว ไม่มีค่าชดเชยถ้าให้ออก โดยอ้างว่าโควิด-19 มา ถือเป็นการฉกฉวยโอกาสในพริบตาเดียว มีเงื่อนไขกับแรงงาน ทำให้แรงงานไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากรัฐได้ทั้งที่เขามีสิทธิได้รับ โดยจากการลงพื้นที่ 23 โรงงานมี แค่ 3 โรงงานเท่านั้นที่แรงงานได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย” สุธาสินี ระบุ

สุธาสินี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อแรงงานเข้าไม่ถึงมาตรการของรัฐ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ก็ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตในไทยได้ จึงต้องกลับบ้านเกิด แต่รัฐก็ออกมาตรการขอให้แรงงานข้ามชาติพำนักอยู่ในไทยไปพลาง ๆ ก่อน แต่ภาครัฐเองก็ไม่ได้เยียวยาอะไร ทำให้คนงานใช้ชีวิตลำบาก บางคนไม่มีอาหาร ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง 

ยกตัวอย่างกรณีแรงงานพม่าที่ชื่อ วาววา เธอเป็นแรงงานหญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ แต่ถูกเลิกจ้างในช่วงโควิด-19 ส่วนสามีเพิ่งกลับประเทศต้นทางตอนที่พาสปอร์ตหมดอายุ และไม่สามารถกลับมาไทยได้ เนื่องรัฐไทยมีนโยบายปิดพรมแดน ทำให้วาววา ใช้ชีวิตลำพังและไม่มีเงินแม้แต่จะกินข้าว ตอนนั้นทางสุธาสินีจึงส่งเสียงถึงสถานเอกอัครราชทูตและรัฐบาลไทย ให้ความช่วยเหลือ จึงเป็นที่มาที่ให้แรงงานข้ามชาติทยอยกลับประเทศได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นแต่จนถึงปัจจุบันนี้ปัญหาเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ แรงงานบางคนยังไม่ได้กลับประเทศต้นทาง บางคนอยากทำงานต่อ แต่ไม่สามารถหางานใหม่ได้ เพราะไม่มีใบออกจากงานจากนายจ้างรายเดิม ทำให้ไม่สามารถไปสมัครงานกับนายจ้างใหม่ได้ อีกทั้งวีซ่าหมดอายุ ทำให้แรงงานบางคนกลับไปพึ่งพาระบบนายหน้า ก็ถูกหลอกเงินไปอีกจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตัวแรงงานเท่านั้น แต่นายจ้างก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะขาดแรงงานที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วย 

ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในพม่าที่กำลังรุนแรงขึ้นว่า เธอไม่เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐไทยที่ปิดกั้นหรือ “ล้อมรั้วลวดหนามในเขตชายแดน” ภาครัฐควรมีมาตรการที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้ามาทำงานในไทยได้ เพื่อช่วยเหลือแรงงานจากประเทศพม่าที่กำลังลำบากในการใช้ชีวิต 

เธอเชื่อว่าการปิดกั้นชายแดนไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างที่ควรจะเป็น เพราะสุดท้ายต่อให้ปิดพรมแดน แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะหาทางลักลอบเข้ามาในไทยได้อยู่ดี และแรงงานเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ขณะที่ไทยก็เสี่ยงกับการแพร่ระบาดโควิด-19 จากผู้ที่แอบลักลอบเข้ามา 

ข้อเสนอสุดท้าย คือ สุธาสินีเรียกร้องให้รัฐเปิดโอกาสให้คนงานข้ามชาติที่หลุดออกนอกระบบ ซึ่งกำลังพำนักในไทยตอนนี้ สามารถกลับเข้าระบบได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้แรงงานให้มีงานทำ และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่กำลังขาดแคลนแรงงานในช่วงเวลานี้ 

พิษโควิด-19 ทำแรงงานข้ามชาติเข้าถึงประกันสังคมอย่างยากลำบาก ชี้รัฐไม่ควรปิดกั้นการเดินทาง

ชูวงศ์ แสนคง

ชูวงศ์ แสนคง คณะทำงานด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มองว่าพิษจากโควิด-19 ทำให้แรงงานชาติข้ามชาติถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เข้าไม่ถึงระบบประกันสุขภาพของไทย โดยได้รับผลกระทบดังนี้ 

1. แรงงานที่หลักประกันสุขภาพหมดอายุในระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถซื้อหลักประกันสุขภาพใหม่ได้ เพราะยุ่งยากในการเดินทางไปดำเนินการตามขั้นตอน สถานบริการสุขภาพที่เคยขายบัตรสุขภาพหยุดขาย  ความไม่ชัดเจนในเรื่องการขายบัตรสุขภาพ  

2. การเดินทางไปรับบริการด้านสุขภาพมีปัญหา โดยเฉพาะผู้ที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เพราะมีการระงับการเดินทางระหว่างพื้นที่ ทำให้แรงงานฯ ไม่สามารถเดินทางจากตำบลที่อยู่อาศัยไปรับยาที่ต้องใช้ต่อเนื่องจากสถานบริการสุขภาพที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อีกตำบลหนึ่งได้  

3. มีความไม่ชัดเจน เรื่องสถานที่กักตัว ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการกักตัว ค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ ค่าใช้จ่ายในการรักษาในกรณีติดเชื้อ ส่งผลให้การดำเนินการควบคุมโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นไปด้วยความยากลำบาก

4. ขาดแคลนอุปกรณ์ใช้สำหรับการป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ

5. ขาดการสนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลมีแผนเฉพาะพื้นที่นำร่อง กรณีนอกจังหวัดนำร่องจะยุ่งยากในการทำงาน เช่น เจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครไม่สามารถเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลสุขภาพกับแรงงานได้

ขณะที่พิธีกรเวทีเสวนาได้ถามชูวงศ์ในประเด็นสถานการณ์จากฝั่งพม่าที่กำลังมีจำนวนผู้ป่วยโควิดพุ่งสูงขึ้น แต่การเปิดชายแดนจะทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ของโรคระบาดในไทย ชูวงศ์มีข้อเสนอแนะในเรื่องนี้อย่างไร  

ชูวงศ์ อภิปรายว่า รัฐไม่ควรปิดกั้นการเดินทางมาทำงานของแรงงานข้ามชาติ และควรมีมาตรการกักตัวแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้ามาในไทย 14 วัน โดยแรงงานทำงานที่จังหวัดไหน ก็ต้องกักตัวที่จังหวัดนั้น ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการ ชูวงศ์กล่าวเสริมว่าอยากให้นายจ้าง และภาครัฐ เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ 

“คนที่ได้ประโยชน์จริง ๆ คือนายจ้าง และรัฐบาล ส่วนที่เรามองว่าลูกจ้างได้ประโยชน์ ผมคิดว่าเขาได้แค่ค่าตอบแทน เขาไม่ได้กำไรอะไรเลย แต่คนที่ทำกำไรเป็นนายจ้างกับรัฐบาล ผมอยากเสนอว่า ค่าใช้จ่ายในการกักตัว 14 วัน ก็ควรที่จะเป็นภาระของนายจ้างกับรัฐบาลที่ลองตกลงกันดูว่าใครจะจ่ายเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะได้คนทำงานเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย” ชูวงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ ชูวงศ์ เสนอว่า ทุกคนที่ก้าวเข้ามาเหยียบผืนแผ่นดินไทยควรจะได้รับหลักประกันสุขภาพ ทุกคนในที่นี้รวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย ให้เป็นหลักสิทธิที่ทุกคนพึงมี อีกทั้งการให้ทุกคนเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ จะทำให้รัฐไทยสามารถควบคุมโรคระบาดได้สะดวกยิ่งขึ้น  

แรงงานพม่าตัดพ้อ เข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุข ไร้เงินหาหมอ บางส่วนไม่กล้าไป รพ. เหตุสื่อสารไม่ได้

คายง์ มิน หลุ่ย แรงงานข้ามชาติชาวพม่า

คายง์ มิน หลุ่ย แรงงานข้ามชาติชาวพม่า กล่าวว่า ในช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ลงพื้นที่สำรวจแรงงานข้ามชาติในชุมชนจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล  พบว่ามีแรงงานพม่าได้รับผลกระทบจำนวนหลายพันคน ซึ่งสิ่งที่ทางเครือช่ายให้ความช่วยเหลือไปนั้น คือ ถุงยังชีพที่มาจากการบริจาคส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากสภากาชาดไทยจากโครงการรวมใจต้านโควิดในแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเข้าไม่ถึงการบริการด้านสาธารณสุข

“ระบบจ้างการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ทำให้แรงงานบางส่วนไม่มีเงินที่จะไปหาหมอ อีกทั้งปัญหาทางการสื่อสารที่ไม่เข้าใจภาษาไทย ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานหลายคนกลัว และเมื่อเจ็บป่วยก็เลือกที่จะไม่ไปโรงพยาบาล ซึ่งในการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ การเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข หรือการไม่รับทราบข้อมูลในการปฏิบัติตนหรือดูแลตนเองอย่างถูกต้องให้ปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล” คายง์ กล่าว

คายง์ ในฐานะตัวแทนแรงงานต่างชาติ ระบุเรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานสาธารณสุข หันมาให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติ โดยเรื่องเร่งด่วน คือ ให้มีล่ามแปลภาษาประจำไว้ที่โรงพยาบาล เพื่อให้แรงงานสามาารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ นอกจากนี้ควรจัดทำคู่มือการปฏิบัติตัวในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาษาพม่าด้วย รวมถึงรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้และสามารถช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติได้

ในประเด็นนี้ทางชูวงศ์ได้อภิปรายต่อว่า ปัจจุบันทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการร่างระเบียบเพื่อรองรับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขขึ้นมา เพื่อให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีจิตสาธารณะ สามารถทำงานเป็นล่ามอาสาสมัครตามโรงพยาบาลได้ 

นอกจากนี้ คายง์ระบุว่ารัฐไทยควรทบทวนมาตรการยกเลิกใบแจ้งออก เพราะใบแจ้งออกบางครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติได้ เช่น ถ้านายจ้างไม่ยอมทำใบแจ้งออกให้ แรงงานข้ามชาติก็เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้ ต้องทำงานที่เดิม แม้ว่านายจ้างจะใช้งานลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม คายง์กล่าวต่อว่า ไม่มีแรงงานข้ามชาติคนไหนอยู่ดี ๆ ก็อยากเปลี่ยนงาน ยกเว้นว่าเขาจะได้รับความไม่ธรรมจากนายจ้าง  

ประเด็นสุดท้าย แรงงานข้ามชาติตอนนี้ต้องการความชัดเจนเรื่องการต่ออายุหนังสือเดินทาง หรือ VISA คือแรงงานข้ามชาติจะมีเอกสารที่ชื่อว่า Certificate of Identity หรือ CI เป็นหนังสือเดินทางชั่วคราว ปัญหาคือไม่สามารถต่ออายุได้ที่ประเทศไทย ต้องไปประเทศต้น และปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติหลักแสนคนที่ถือหนังสือเดินทางตัวนี้และกำลังจะหมดอายุในเดือน ม.ค. ปีหน้า แต่ก็ไม่สามารถเดินทางกลับไปที่ประเทศต้นทางได้เพราะชายแดนถูกปิด 

คายง์จึงเรียกร้องให้รัฐไทยและประเทศต้นทางให้มีความชัดเจนในประเด็นนี้ว่าจะให้แรงงานข้ามชาติว่าควรทำอย่างไร เพราะถ้าปล่อยให้หมดอายุแล้ว แรงงานเหล่านี้จะกลายเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย และถ้าแรงงานหลุดออกจากระบบเมื่อไหร่ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ และลูกจ้างต่างชาติจะถูกนายจ้างเอาเปรียบได้ง่ายขึ้น 

กระตุ้นรัฐช่วยเหลือศูนย์การศึกษานอกระบบให้กลับเข้ามาในระบบ ป้องกันลูกหลานแรงงานต้องกลายเป็นแรงงานก่อนวัยอันควร

ศิววงศ์ สุขทวี

ศิววงศ์ สุขทวี ที่ปรึกษาภายนอกมูลนิธิการศึกษาเพื่อเยาวชนชนบท และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวถึงการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติ ความท้าทายของไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดว่า 

เด็กข้ามชาติที่เรากำลังพูดถึงจะมีใครบ้าง โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มตามการเกิดและบันทึกสถานะในประเทศไทย 

กลุ่มที่ 1 คือเด็กที่ติดตามพ่อแม่มาจากประเทศต้นทาง และไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ติดตาม ไม่มีการบันทึกสถานะใด ๆ จากประเทศไทย ซึ่งเราน่าจะมีเด็กกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก เช่น เด็กในไซต์งานก่อสร้าง 

กลุ่มที่ 2 คือเด็กที่ติดตามพ่อแม่มา มีจำนวนไม่มาก มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย

กลุ่มที่ 3 เกิดในประเทศไทยและได้จดทะเบียนการเกิด มีสถานะตามกฎหมายที่ชัดเจนและมีเลขประจำตัว 13 หลัก  

กลุ่มที่ 4 เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้แจ้งเกิดครบวงจร เช่น เกิดที่โรงพยาบาล ได้รับหนังสือรับรองการเกิด แต่ไม่ได้ไปแจ้งเกิด ทำให้เด็กไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน 

และกลุ่มที่ 5 คือกลุ่มเด็กที่อยู่ตามลำพัง ช่วงแรกอาจจะมาพร้อมกับพ่อแม่ ต่อมาพ่อแม่อาจจะเสียชีวิตหรือเอาเด็กไปฝากเลี้ยงไว้ แล้วก็หายไปเลย หรืออาจจะเป็นเด็กที่ย้ายถิ่นมาเอง ซึ่งพบจำนวนพอสมควรในพื้นที่ชายแดน

ซึ่งจำนวนตัวเลขของเด็กข้ามชาติไม่มีการบันทึกทะเบียนอย่างเป็นระบบ อีกทั้งระบบทำให้เด็กไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้ ทำให้หาข้อสรุปตัวเลขไม่ได้ เพียงแต่มีการประมาณการว่ามีเด็กข้ามชาติประมาณ 300,000 คน และมีประมาณ 97,145 ที่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ. (ตัวเลขปี 2561) ประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น ขณะที่เด็กข้ามชาติอีกจำนวนหนึ่งเรียนอยู่ในศูนย์การเรียนที่ไม่มั่นคงทางการศึกษา ศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติส่วนใหญ่ตั้งโดยชุมชนแรงงานข้ามชาติ และไม่สามารถจดทะเบียนได้กับกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากเงื่อนไขการขอจดทะเบียนศูนย์การเรียนไม่เอื้อ เช่น ผู้ขอจดทะเบียนต้องมีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นอุปสรรคตั้งแต่ต้นของกฎกระทรวงฉบับนี้ เงื่อนไขเรื่องหลักสูตรที่ต้องใช้หลักสูตรแกนกลางชองไทย ซึ่งไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมนุม เป็นต้น เด็กที่จบการศึกษาจากศูนย์เหล่านี้ไม่ได้สามารถออกเอกสารทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับ หรือการรับรองจากรัฐให้เด็กได้ ซึ่งไปต่อยอดทางการศึกษาหรือการทำงานไม่ได้ เนื่องจากศูนย์ฯ ไม่มีสถานะทางกฎหมาย

ขณะที่ศูนย์การเรียนฯ ก็เสี่ยงต่อการถูกปิด พอศูนย์การเรียนไม่ถูกต้อง ครูไม่ถูกต้อง จึงมีความเสี่ยง การจัดการศึกษาในลักษณะนี้ ไม่มีอะไรรับรองเลยว่าการจัดการศึกษาแบบนี้ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนว่าจะทำอย่างไรให้ศูนย์การเรียนสามารถอยู่รอดได้ ทำอย่างไรให้ศูนย์การเรียนเป็นทางเลือกในการจัดการศึกษาในอนาคตได้

ซึ่งในสถานการณ์โควิดเด็กในพื้นที่ชายแดนที่เดินทางแบบมาเช้าเย็นกลับได้รับผลกระทบทันที หรือบางส่วนเดินทางกลับบ้านไปในช่วงปิดเทอม และไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาได้ เนื่องการมาโรงเรียนในไทยจะต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งเด็กไม่มีเงิน ส่งผลให้โรงเรียนไทยกลับไปมองเด็กข้ามชาติในประเด็นเดิม ๆ ว่ามักมีปัญหาเมื่อรับเข้าเรียนแล้วก็เข้าออกบ่อย ไม่สามารถเรียนได้ต่อเนื่อง เลยไม่อยากรับอีก และเด็กส่วนหนึ่งที่เป็นผู้ติดตามบิดามารดาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เมื่อมีการหยุดงานทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากพ่อแม่ตกงาน

เมื่อเด็กเข้าถึงการศึกษาได้อย่างยากลำบาก ศูนย์การเรียนยังไม่ได้รับรับรอง พ่อแม่สูญเสียงาน การช่วยเหลือดูแลเด็กของรัฐไม่ได้มีประสิทธิภาพไม่ทั่วถึง และมักไม่ครอบคลุมเด็กต่างชาติ ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดเห็นชัด ซึ่งอาจทำให้เด็กต้ออกจากโรงเรียนและกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายต่อไปอีก   

ดังนั้น แนวทางที่รัฐจะต้องช่วยเหลือเด็กข้ามชาติในประเทศไทยคือ

1. ความช่วยเหลือของรัฐบาลไทยต่อเด็กต้องครอบคลุมถึงคนต่างชาติที่อยู่อาศัยภายในประเทศทุกคน ผ่านความช่วยเหลือทั้งทางเศรษฐกิจ และนโยบายแจกอุปกรณ์ป้องกันโควิดจำกัดอยู่เฉพาะคนไทย

2. รัฐไทยควรนำศูนย์การเรียนที่อยู่นอกกฎหมายเข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ แม้ว่าเงื่อนไขในตอนนี้ศูนย์การศึกษายังไม่สามารถเข้ามาในระบบได้ แต่อย่างน้อยกระทรวงศึกษาธิการควรเปิดโอกาสให้ศูนย์แต่ละศูนย์แจ้งความประสงค์ ภาครัฐควรช่วยเหลือศูนย์การศึกษายกระดับให้ได้รับการรับรองจากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการได้ ไม่งั้นศูนย์การเรียนจะเสี่ยงถูกรัฐสั่งปิด และจะส่งผลให้ลูกหลานแรงงานข้ามชาติมีความเสี่ยงถูกใช้แรงงานก่อนวัยอันควร  

3. เร่งนำหลักการสิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชน และอาเซียนมาปรับใช้ เพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดการเชื่อมโยง 2 ประเทศ เพื่อให้เด็กกลับไปเทียบเรียนในประเทศต้นทางได้ รวมถึงการจัดการศึกษาของรัฐควรเป็นทวิหรือพหุภาษา และปรับหลักสูตรแกนกลางให้มีความยืดหยุ่น และสอดคล้องกับพื้นฐานความต้องการของผู้เรียนหรือชุมชน

ภาคประมงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานขนานหนัก แนะรัฐควรทบทวน-ลดอุปสรรคขั้นตอนการนำเข้าแรงงาน  

เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล ตัวแทนเจ้าหน้าที่กฎหมาย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

ตัวแทนเจ้าหน้าที่กฎหมาย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ชี้ผลจากโควิด ทำให้ภาคประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องการประมงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แรงงานต้องทำงานหนักมากขึ้น พร้อมเสนอภาครัฐควรการทบทวนและปรับปรุงอุปสรรคในการนำเข้าแรงงานตามระบบ MoU เพื่อเพิ่มแรงงานในภาคการประมง   

เพ็ญพิชชา จรรย์โกมล ตัวแทนเจ้าหน้าที่กฎหมาย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา อภิปรายถึงผลกระทบจากโควิด-19 ในแรงงานภาคประมง ระบุข้อมูลเปรียบเทียบจำนวนแรงงานประมงช่วงก่อนโควิด-19 เดือนมกราคา-เดือนตุลาคม พ.ศ.2563 โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีจำนวนแรงงานข้ามชาตินำเข้าตาม MoU ในภาคประมง 7,598 คน กิจการต่อเนื่องประมงทะเล 21,498 คน ขณะที่ในเดือนตุลาคม กลับพบว่าตัวเลขแรงงานกิจการประมงและกิจการต่อเนื่องประมงกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยภาคการประมงเหลือเพียง 7,184 คน และกิจการต่อเนื่องประมง จำนวนแรงงานลดลงอย่างน่าใจหาย เหลือเพียง 10,868 คนเท่านั้น ซึ่งจำนวนแรงงานที่น้อยลงนี้สวนทางกับจำนวนออเดอร์อาหารทะเลแปรรูปอย่างทูน่ากระป๋องและปลากระป๋องที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลข้างต้น ทำให้แรงงานถูกทำร้ายร่างกายบังคับใช้แรงงาน ไม่สามารถลาป่วย หรือทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานมากเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด เพื่อผลิตออเดอร์ให้ทันตามความต้องการตลาด 

ด้านข้อเสนอต่อภาครัฐ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา อธิบายเริ่มจากประเด็นขาดแคลนแรงงานว่า 1. ภาครัฐควรทบทวนและปรับปรุงอุปสรรคในการนำเข้าแรงงานตามระบบ MOU และควรลดรูปแบบกระบวนการนำเข้าต่าง ๆ เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานภาคการประมง 2. ภาครัฐควรมีมติเร่งด่วนโดยประสานกับทางประเทศต้นทางในการให้ความช่วยแรงงานที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย 3. ภาคธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวทั้งภาพลักษณ์และการทำงานของภาคประมงให้แรงงานเกิดความสนใจหรือสร้างแรงจูงใจที่จะทำให้แรงงานเข้ามาทำงานในภาคประมง 4. ภาครัฐควรเปิดรับบุคลากรที่มีความเชื่ยวชาญด้านแรงงานภาคการประมงให้เข้ามาทำงานในภาครัฐมากขึ้น เพราะจะได้ออกแบบนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับความต้องการของแรงงานข้ามชาติอย่างแท้จริง 5. ภาครัฐยังมีความเข้าใจเรื่องการบังคับแรงงานน้อยเกินไป เนื่องจากในปัจจุบันการบังคับใช้แรงงานไม่ได้มีแค่การทำร้ายร่างกายหรือทุบตีแล้วเท่านั้น แต่ยังมีวิธีบังคับใช้แรงงานด้วยวิธีอื่น ๆ อีก  

นอกจากแรงงานต่างชาติแล้ว ลูกเรือไทยที่ไปทำงานที่ต่างประเทศต้องเผชิญกับปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างในกรณีที่แรงงานประมงไทยที่เดินทางไปทำประมงที่ประเทศโซมาเลีย ถูกนายจ้างแสวงหาประโยชน์จากการทำงานด้วยวิธีการไม่จ่ายค่าจ้างหรือจ่ายไม่ครบตามที่ตกลงไว้ ซึ่งแรงงานต้องฝืนใจทำงานต่อเนื่องจากไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ 

ขณะที่บางคนพอประสบเหตุแบบดังกล่าว ก็ร้องความช่วยเหลือจากทางสถานทูตไทยเพื่อให้ทางการช่วยพาพวกเขากลับบ้าน ซึ่งแรงงานไทยก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับที่สูง ยิ่งในช่วงโควิด-19 ค่าโดยสารเครื่องบินก็สูงมากขึ้นไปอีก เฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 100,000 บาท แรงงานที่ถูกนายจ้างเบี้ยวเงินก็ไม่ได้เงินค่าแรงจากนายจ้าง อีกทั้งกระทรวงแรงงานก็ไม่ยอมติดตามกับนายจ้างให้มาชำระค่าแรงที่เบี้ยวจ่ายให้แรงงานไทยด้วย ตัวแทนเจ้าหน้าที่กฎหมาย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จึงอยากเสนอว่าให้ภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนในการคุ้มครองแรงงานไทยที่ทำงานต่างประเทศด้วย 

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เสนอแนวทางบริหารจัดการและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 หกข้อที่มีต่อรัฐไทย 

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการเสวนา เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติได้อ่านข้อเสนอในเรื่องการบริหารจัดการและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 จำนวน 6 ข้อที่มีต่อรัฐไทยซึ่งมีรายละเอียดังนี้

1. รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการ และแผนการในการจัดการแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 ในแต่ละระยะ (สั้น กลาง ยาว) ให้ชัดเจน ที่รับรองว่าแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เข้าถึงสิทธิและบริการตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงต้องกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากนโยบายรัฐ หรือกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับแรงงานข้ามชาติ

2. รัฐบาลไทยจะต้องกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยกำหนดแนวทางในการป้องกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติในประเทศหลุดจากระบบการจ้างงาน เช่น เงื่อนไขในการเปลี่ยนย้ายนายจ้างให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติที่อยู่นอกระบบให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้อง และกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับแรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในประเด็นไทย ควบคู่ไปกลับมาตรการป้องกันโรค

3. รัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศต้นทางจะต้องเร่งดำเนินการจัดทำเอกสารหนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทาง ให้แก่แรงงานข้ามชาติที่เอกสารประจำตัวกำลังจะหมดอายุซึ่งกำลังจะกลายเป็นคนเข้าเมืองและทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย และรัฐบาลไทยจะต้องมีมาตรการรองรับเร่งด่วนโดยผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถดำเนินการด้านการต่อเอกสารประจำตัวได้ทัน ให้สามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว ระหว่างรอการดำเนินการ รวมถึงมีมาตรการร่วมกันในการเดินทางข้ามแดนในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ

4. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองแรงงาน และการได้รับสิทธิประโยชน์ในประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านภาษา เอกสารแสดงตน สถานะทางกฎหมาย เช่น การจัดทำระบบการรับคำร้องหรือยื่นคำร้องทางออนไลน์ที่มีภาษาของแรงงานข้ามชาติ ลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคลงเป็นต้น   

5. รัฐบาลไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข จะต้องกำหนดนโยบายและมาตรการที่รองรับการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลของแรงงานข้ามชาติ คนข้ามชาติ และทุกคนในประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงการมีหลักประกันทางสุขภาพและป้องกันโรคติดต่อ เช่น การเปิดขายประกันสุขภาพ หรือการกำหนดให้ทุกคนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล การตรวจโรคได้เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19

6. รัฐบาลไทยและกระทรวงศึกษาจะต้องมีมาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือให้เด็กข้ามชาติ สามารถเข้าถึงการศึกษา การเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และป้องกันการแสวงหาประโยชน์ การค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก ในกลุ่มเด็กข้ามชาติ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net