สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 13-19 ธ.ค. 2563

ผู้ว่าฯ สมุทรสาครเผยตรวจเชื้อ COVID-19 แรงงานกว่า 1.5 พันคน คาดเสร็จสิ้นภายใน 1-2 วัน

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการสุ่มตรวจหาเชื้อ COVID-19 (SWAP) ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติแล้วประมาณ 1,500 คน จากเป้าหมายทั้งหมด 2,000 คน หากทราบผลการตรวจทั้งหมดแล้วจะสามารถตีวงจำกัดและสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น

“เรื่องที่ยากในขณะนี้คือ ยังไม่สามารถตีกรอบวงจำกัดได้ แต่ก็พยายามอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกรมสอบสวนโรค กระทรวงสาธารณสุข”

ผู้ว่าฯสมุทรสาคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้ออกคำสั่งห้ามเดินทางออกและเคลื่อนย้ายนอกพื้นที่ของแรงงานข้ามชาติ และสั่งทำความสะอาดตลาดในทุกพื้นที่ของ จ.สมุทสาคร โดยจะต้องแล้วเสร็จภายในวันนี้ เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่า ขณะนี้ตลาดกุ้งมีความสัมพันธ์กับส่วนใดใน จ.สมุทรสาคร บ้างจึงสั่งทำความสะอาดในวงกว้างไว้ก่อน

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การเพิ่มของยอดผู้ป่วยซึ่งการเพิ่มขึ้นจะเป็นตัวเลขที่สัมพันธ์ของการตรวจหาเชื้อ COVID-19  ซึ่งที่ผ่านมาอาจตรวจหาผู้ติดเชื้อไม่เจอและครั้งนี้ตรวจเจอจึงต้องเริ่มมาตรการต่าง ๆ

ขณะที่จุดที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในรายของหญิงอายุ 95 ปี ซึ่งเป็นมารดาของหญิงที่ติดเชื้อ COVID-19 อายุ 67 ปี และการตีกรอบเพื่อควบคุมที่ยังไม่ชัดเจน 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งขณะนี้สามารถอนุมานได้ว่า จุดหลักคือ ตลาดกุ้ง และภายใน 1-2 วัน หากชัดเจนมากขึ้นจะสามารถตีกรอบได้ดีขึ้น

ที่มา: Thai PBS, 19/12/2020

เผย 3 เดือนหลังจ๊อบเอ็กซ์โป จ้างงานแล้วเกือบ 4 แสน จากเป้า 1 ล้านตำแหน่ง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการจ้างงานภายหลังการจัดมหกรรมจ๊อบเอ็กซ์โป ว่า สำหรับการจัดงานดังกล่าว จำนวน 1 ล้านตำแหน่ง ถือเป็นนโยบายที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งตัวเลขบรรจุงานล่าสุด คือ 399,072 อัตรา หรือประมาณร้อยละ 40 โดยเป็นการจ้างงานของภาครัฐ 2 แสนอัตรา เอกชน 1 แสนตำแหน่ง และส่งแรงงานไปต่างประเทศ 3 หมื่นอัตรา เป็นต้น โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนหลังการจัดงานจ๊อบเอ็กซ์โป ปลายเดือย ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่จากข้อมูลของบางสื่อได้วิเคราะห์ อาจโฟกัสไปที่นักศึกษาจบใหม่ ซึ่งถือเป็นเสี้ยวหนึ่งของการจัดงานดังกล่าว ซึ่งมีการจ้างงาน 4 กลุ่ม และนักศึกษาจบใหม่เป็น 1 กลุ่มเท่านั้น

“เราตั้งเป้าจ้างนักศึกษาจบใหม่ 2.6 แสนอัตราก็จริง แต่การจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ต.ค. มีจำนวน 182,000 คน และ ภายหลังการจัดงานจ๊อบเอ็กซ์โปเมื่อปลายเดือน ก.ย. ต่อมามีตัวเลขระหว่างวันที่ 1 ต.ค.-31 ต.ค. มีการจ้างงานคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ลงมา 2 หมื่นกว่าอัตรา แต่เข้าระบบ Co-payment หรือจ้างงานเด็กจบใหม่ โดยมีบางสื่อ ระบุว่า จ้างงาน 2,000 อัตรา ผมไปตรวจสอบบริษัทที่ไม่เข้าร่วมโครงการจ้างนักศึกษาจบใหม่ เพราะอยู่ในภาคธุรกิจที่ยังแข็งแรงอยู่ และต้องการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้พนักงาน เช่น ธุรกิจยานยนต์ อุตสาหรรมรถยนต์ สิ่งทอ ซึ่งขณะนี้ฟื้นตัวแล้ว ดังนั้นหากจ้างนักศึกษาจบใหม่ เข้าโครงการนี้ อาจจะไม่ได้รับความมั่นคงในชีวิต เนื่องจากเป็นการจ้างงานปีเดียว ซึ่งบริษัทต่างๆ มีความแข็งแรง จึงสามารถจ้างแรงงานปกติได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมีงบประมาณเพื่อรับนักศึกษาที่จบใหม่ในเดือน เม.ย. ปี 2564" รมว.แรงงาน กล่าว

นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับโครงการ Co-payment รัฐบาลทำขึ้น เนื่องจากมีความเป็นห่วงธุรกิจสตาร์ทอัพ ธุรกิจ SME ที่มีกำลังเม็ดเงินจำนวนน้อย และถือเป็น 1 ใน 4 ของงานจ๊อบเอ็กซ์โปเท่านั้นเอง

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 18/12/2563

"สมุทรสาคร" ออกประกาศ คุมจ้างแรงงานต่างด้าวป้องกัน COVID-19

18 ธ.ค. 2563 นางอัธยา อ่ำหนองโพ จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร ลงนามในประกาศเรื่อง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นไปอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานใน จ.สมุทรสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้มอบหมายให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินการแจ้งนายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวให้ปฏิบัติ ดังนี้

1.ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ จ้างแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายทำงานเท่านั้น หากฝ่าฝืนลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย จะถูกดำเนินคดีตามพระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 และกฎหมายอื่นอย่างเคร่งครัด

2.สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานกับนายจ้างในจังหวัดสมุทรสาคร ให้นายจ้างดำเนินการตรวจโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทุกคน หากพบผู้ติดเชื้อให้ดำเนินการตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด

3.สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการอยู่แล้ว ให้นายจ้างดำเนินการป้องกันตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ เพจ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร จ้างแรงงานต่างด้าว ยังได้เผยแพร่โปสเตอร์ ระบุว่า ลักลอบเข้าเมืองเสี่ยงติด COVID-19 และผิดกฎหมาย โดยแรงงานต่างด้าวที่เคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานในจังหวัดสมุทรสาคร นายจ้างต้องแจ้งการเคลื่อนย้ายแรงงาน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร

ที่มา: Thai PBS, 18/12/2563

เครือข่ายแรงงานยื่น 5 ข้อเรียกร้องแก้ปมแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 ที่รัฐสภา นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก น.ส.ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเครื่องเรือนและคนทำไม้แห่งประเทศไทย เรื่อง ข้อเรียกร้องแรงงานข้ามชาติเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล เนื่องจากประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ แต่การปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร มีการเอารัดเอาเปรียบโดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน จ่ายค่าจ้างไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้รับสิทธิประกันสังคม ทำงานไม่มีวันหยุด ไม่มีวันลา

น.ส.ธนกร กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาแรงงานข้ามชาติดังกล่าว เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ จึงขอเรียกต่อรัฐบาล 5 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้บังคับใช้กฎหมายประกันสังคมให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงสิทธิประกันสังคม 2.ขอให้บังคับใช้กฎหมายกองทุนเงินทดแทนให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงสิทธิเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย เสียชีวิต และสูญหายจากการทำงาน 3.ขอให้บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แรงงานข้ามชาติได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิสวัสดิการวันลา วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันหยุดตามประเพณี ตามที่กฎหมายกำหนด 4.ขอให้ตรวจสอบการเก็บค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด 5.ขอให้ตรวจสอบสถานประกอบการที่ยึดหนังสือเดินทางและเอกสารต่าง ๆ ของแรงงานข้ามชาติ ให้ส่งเอกสารคืนให้แรงงานข้ามชาติ

ด้าน นายสุเทพ กล่าวภายหลังรับเรื่องว่า จะติดตามและผลักดันปัญหาเหล่านี้ให้ได้รับการแก้ไข และจะเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือใน กมธ.แรงงาน เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป

ที่มา: NEW TV, 17/12/2563

"กกจ.-ป.ป.ส." ตรวจเข้มยาเสพติดคนงานไทยก่อนไปอิสราเอล

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่เหนี่ยวรั้งความเจริญของประเทศ หากประชากรวัยแรงงานอันเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศ หลงผิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจทั้งของตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติโดยรวม รัฐบาลมีแผนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศซึ่งนอกจากสามารถสร้างรายได้ส่งกลับมาแล้ว ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยหากตั้งใจทำงาน รักษาวินัยในตนเอง และสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนรู้จากการทำงานกลับมาใช้ในประกอบอาชีพของตนเองได้

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เพื่อป้องกันและป้องปรามไม่ให้แรงงานไทยไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 กกจ.ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ( ป.ป.ส.) กองกำกับการสุนัขตำรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ป.ป.ส.กทม.) ตรวจค้นกระเป๋าสัมภาระของแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานประเทศอิสราเอล จำนวน 260 คน ณ อาคารสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 3 กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นแรงงานที่จะเดินทางวันที่ 17 ธ.ค. 2563 โดยทำการตรวจสอบด้วยการสุ่มตรวจของใช้และอาหาร ที่มีลักษณะคล้ายกับที่เจ้าหน้าที่เคยตรวจยึดได้ เช่น อาหารเสริม กาแฟ ครีมเทียม และ เกลือแร่แบบผง ตรวจสอบ 3 วิธี คือมีสุนัขตำรวจดมตรวจสอบกลิ่น ตรวจสอบด้วยเครื่องตรวจไอออน และตรวจค้นโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งในขณะทำการตรวจค้นได้มีการสอบถามเพื่อดูพฤติกรรมบุคคลต้องสงสัย ผลการปฏิบัติงานไม่พบยาเสพติดหรือวัตถุต้องสงสัย

“การเดินทางไปทำงานต่างประเทศ แรงงานไทยต้องไม่มีประวัติอาชญากรรม ประวัติการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยแรงงานไทยต้องใช้เอกสารผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นเอกสารสำคัญประกอบการยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศ ที่ผ่านมากรมการจัดหางานมีการติดตามดูแล ตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่แรงงานไทยในต่างประเทศอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้แก่แรงงานไทยในต่างประเทศต่อโทษภัยยาเสพติด” อธิบดี กกจ.กล่าว

สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: เดลินิวส์, 17/12/2563

ผลจัดหางาน 'ศูนย์บริหารแรงงาน EEC' ปี 2563 ทะลุเป้า 144%

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนาให้กลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน ศูนย์ฯ ทำหน้าที่ในนามกระทรวงแรงงาน มีการบูรณาการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนในพื้นที่

ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานด้านการให้บริการจัดหางาน จำนวน 3 กิจกรรม ได้แก่ จัดหางานให้กลุ่มอุตสาหกรรมปัจจุบัน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) และอุตสาหกรรมดั้งเดิม โดยมีเป้าหมาย 28,000 คน ผลการดำเนินงาน 40,464 คน คิดเป็นร้อยละ 144.51 แนะแนวอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา เป้าหมาย 48,838 คน ผลการดำเนินงาน 70,401 คน คิดเป็นร้อยละ 144.15 และ ตรวจลงตราและออกใบอนุญาตทำงาน เป้าหมาย 13,000 คน ผลการดำเนินงาน 10,372 คน คิดเป็นร้อยละ 79.78

ในส่วนผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 2 กิจกรรม ได้แก่ ฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 10 อุตสาหกรรม เป้าหมาย 10,095 คน ผลการดำเนินงาน 11,357 คน คิดเป็นร้อยละ 112.50 และส่งเสริมสถานประกอบการยกระดับทักษะแรงงาน 739,305 คน

ด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จำนวน 3 กิจกรรม ได้แก่ ตรวจแรงงานในระบบ เป้าหมาย 1,305 แห่ง แรงงาน 55,800 คน ผลการดำเนินงาน 1,353 แห่ง แรงงาน 107,506 คน คิดเป็นร้อยละ 103.68 และ 199.66

ตรวจและกำกับสถานประกอบการ เป้าหมาย 870 แห่ง แรงงาน 61,700 คน ผลการดำเนินงาน 871 แห่ง แรงงาน 174,820 คน คิดเป็นร้อยละ 100.11 และ 283.34 สำรวจความต้องการแรงงานของสถานประกอบการ เป้าหมาย 10,224 แห่ง ผลการดำเนินงาน 11,872 แห่ง

และด้านประกันสังคม มี 4 กิจกรรม ได้แก่ ให้คำปรึกษาแนะนำด้านสิทธิประโยชน์ประกันสังคมฯ เป้าหมาย 2,280,300 คน ผลการดำเนินงาน 2,728,602 คน คิดเป็นร้อยละ 119.66 ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 เป้าหมาย 55,577 คน ผลการดำเนินงาน 100,922 คน คิดเป็นร้อยละ 181.59 ส่งเสริม e-service และ e-Payment เป้าหมาย 21,664 คน ผลการดำเนินงาน 28,879 คน คิดเป็นร้อยละ 133.30 และตรวจสุขภาพประจำปีแก่ผู้ประกันตน เป้าหมาย 143,032 คน ผลการดำเนินงาน 161,139 คน คิดเป็นร้อยละ 112.66

ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Administration Center) จัดตั้งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 สถานที่ตั้งอยู่ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี เพื่อให้บริการด้านข้อมูลแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำ คุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการตรวจลงตราและอนุญาตทำงานแก่ผู้บริหาร ช่างฝีมือ ผู้ชำนาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม และกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียม รวมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการวางแผนการผลิต การพัฒนากำลังแรงงาน

“นอกจากผลการดำเนินงานที่เป็นภารกิจหลักแล้ว ในปีงบประมาณ 2563 ศูนย์ฯ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การประชุมบูรณาการร่วมขับเคลื่อนศูนย์กับหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 88 ครั้ง ประชาสัมพันธ์รูปแบบเอกสารให้กับประชาชนในพื้นที่ จำนวน 2,040 ฉบับ และรูปแบบอื่น ๆ เช่น วิทยุชุมชน แนะนำในสถาบันการศึกษา หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น รถบริการจัดหางานเคลื่อนที่ เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ (Facebook / Youtube) จำนวน 537 ครั้ง และการจัดงาน Job Expo Thailand 2020 ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2563 สถานประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแจ้งตำแหน่งงานว่าง จนวน 86,848 อัตรา มีผู้สมัครงาน จำนวน 13,351 คน และได้รับการบรรจุงาน จำนวน 4,025 คน ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติม

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/12/2563

ตร.ชวนบริษัทเอกชนให้ พนง.หยุดทำงานที่บ้าน 1 วันต่อสัปดาห์

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และกรมการขนส่งทางบก ตั้งจุดตรวจควันดำ 20 จุด ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 - 20 ก.พ.2564 ขณะเดียวกันมีมาตรการเชิงรุกสั่งการให้ บช.น.1, 2 และ 7 ลงพื้นที่ตรวจสอบภายในอู่จอดรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากรถมีสภาพเก่า มั่นใจว่าจะสามารถลดปริมาณฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เชิญชวนให้หน่วยงานเอกชน บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ กำหนดให้พนักงานหยุดทำงานที่บ้านสัปดาห์ละ 1 วัน เช่นเดียวกับมาตรการ Work From Home ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่ามาตรการนี้จะสามารถลดการใช้รถยนต์ และลดการเกิดปริมาณฝุ่นควันได้อีกทางหนึ่ง

ที่มา: Thai PBS, 16/12/2563

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท