Skip to main content
sharethis

เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ มั่นใจ พร้อมดูแลผู้ป่วยมะเร็งทั้ง 13 เขตสุขภาพ ชี้นโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” หนุนกระจายทรัพยากร ช่วยประชาชนรักษาใกล้บ้าน 

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 นพ.ณรงค์ฤทธิ์ มัศยาอานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะผู้แทนเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) เปิดเผยว่า นอกจากภารกิจการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ สร้างองค์ความรู้และงานวิจัยต่างๆ แล้ว โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ยังได้ให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนในทุกโรคมาโดยตลอด อย่างโรคมะเร็งก็ให้การรักษาด้วยวิธีต่างๆ เช่น ฉายรังสี ให้เคมีบำบัด หรือการผ่าตัด ฉะนั้นยืนยันว่าทุกโรงพยาบาลในเครือข่ายมีศักยภาพและสามารถรองรับบริการของคนไข้กลุ่มมะเร็งได้ 

อย่างไรก็ตาม นโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ม.ค. 2564 คิดว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการรักษามะเร็งที่ดีขึ้น โดยอยากสื่อสารกับประชาชนว่าทางเครือข่ายฯ มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษามะเร็งครบทั้ง 13 เขตสุขภาพ จึงมีความพร้อมทั้งบุคลากรและเครื่องมือ 

นพ.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าผู้ป่วยอาจถูกส่งต่อไปรักษาตามศักยภาพของโรงพยาบาล ส่วนตัวคิดว่าระบบส่งต่อเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการที่เหมาะสม โดยระบบใหม่หรือนโยบายใหม่นี้ จะมีลักษณะของการส่งต่อข้อมูลที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ระบบสารสนเทศมารองรับระบบส่งต่อ จากอดีตที่เราใช้การเขียนใบส่งตัว ก็จะใช้ระบบสารสนเทศส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลมีความสมบูรณ์มากขึ้น รวดเร็วขึ้น ทำให้การรักษามีความต่อเนื่องมากขึ้น อันนั้นเป็นประเด็นที่เกิดประโยชน์ 

นอกจากนี้ นโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” จะช่วยเรื่องความพร้อมในการกระจายทรัพยากร ซึ่งจากการประชุมกันทำให้ทราบว่าเขตสุขภาพใดหรือโรงพยาบาลแห่งใดมีความพร้อมระดับใด แห่งใดยังขาดแคลนอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหรือบุคลากร ตรงนี้ก็จะทำให้ช่วยกันเติมเต็มได้ ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือรัฐบาลก็สามารถลงทุนในการจัดสรรทรัพยากรให้แก่โรงพยาบาลให้เหมาะสมกับเขตสุขภาพนั้นๆ ได้ 

“ปัจจุบันมีประชาชนข้ามเขตสุขภาพมารักษาโรคมะเร็งในกรุงเทพฯ กว่า 50% ซึ่งระบบใหม่นี้จะช่วยให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถไปรักษาในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล” นพ.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว 

นพ.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวอีกว่า จากการได้เข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมกับภาคส่วนต่างๆ ทำให้ได้เห็นถึงประเด็นการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่นอกจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการดูแลรักษาให้อย่างเต็มที่แล้ว จำเป็นต้องทำให้แพทย์ได้เรียนรู้เรื่องระบบสุขภาพและการดูแลผู้ป่วยในเขตสุขภาพด้วย ขณะเดียวกันทำให้เห็นเรื่องการจัดการทรัพยากร เช่น ถ้าต้องรักษาโรคมะเร็งยากๆ จะต้องเพิ่มเติมเครื่องมืออะไร ควรมีการจัดสรรให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้  

“อาจารย์หลายท่านก็ได้เห็นประเด็นปัญหาจากลูกศิษย์ที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัด จะได้รู้ว่าตรงไหนยังขาดแคลน ตรงไหนต้องการความช่วยเหลือ เพราะอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ยินดีช่วยเหลือลูกศิษย์ในเขตสุขภาพต่างๆ อยู่แล้ว ตรงนี้เกิดเป็นความร่วมมือกัน และทำให้การปฏิบัติงาน หรือการส่งต่อผู้ป่วยและข้อมูลสุขภาพ มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นพ.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net