COVID-19: 19 ธ.ค. ศบค. ยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 34 คน ในประเทศ 12 คน

19 ธ.ค. 2563 ศบค. ยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 34 คน ในประเทศ 12 คน ที่ จ.สมุทรสาคร เชื่อมโยงเคสแพกุ้ง ยังไม่มีการล็อกดาวน์เนื่องจากประชาชนให้ความร่วมมือตรวจหาเชื้ออย่างดี ด้านผู้ว่าฯ สมุทรสาครเผยตรวจเชื้อแรงงานกว่า 1.5 พันคน คาดเสร็จสิ้นภายใน 1-2 วัน จะช่วยตีกรอบจำกัดวงในการควบคุมการแพร่ระบาด


วันนี้ (19 ธ.ค. 2563) ผู้​ว่าราชการ​จังหวัด​สมุทรสาคร​ นำทีมงานลงพื้นที่ปฏิบัติการฉีดพ่นฆ่าเชื้อครั้งที่​ 2​ ซ้ำจากวานนี้ (18 ธ.ค.)​ และติดตามการคัดกรองโรค​ การสอบสวนโรคโดยใกล้ชิด​ | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

19 ธ.ค. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศ โดยประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 34 คน เป็นผู้ที่อยู่ใน State Quarantine มาจากเคนยา 1 คน เยอรมนี 2 คน สหรัฐฯ 2 คน บาห์เรน 1 คน สหราชอาณาจักร 4 คน รัสเซีย 1 คน บังกลาเทศ 2 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 คน ไต้หวัน 1 คน นามิเบีย 2 คน เนเธอเร์แลนด์ 1 คน ซาอุดีอาระเบีย 2 คน อินเดีย 1 คน และอิตาลี 1คน นอกจากนี้ ยังพบผู้ที่ติดเชื้อในประเทศ 12 คน ส่งผลให้ผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,331 คน หายป่วยแล้ว 4,024 คน รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 247 คน และเสียชีวิตสะสม 60 คน

สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ พบที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อวานนี้ 12 คน รวมกับผู้ติดเชื้อวัย 67 ปี คนแรก เจ้าของแพกุ้ง รวมเป็น 13 คน โดยมีความเชื่อมโยงกันทั้งครอบครัว ลูกจ้าง คนที่ขายสินค้าในตลาด และคนที่มาซื้อสินค้าในตลาด โดยแบ่งเป็น

มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า

- หญิงไทย อายุ 95 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีอาการ ตรวจพบเชื้อวันที่ 17 ธ.ค. 
- หญิงไทย อายุ 73 ปี ไม่มีอาการ ตรวจพบเชื้อวันที่ 17 ธ.ค. 
- หญิงไทย อายุ 57 ปี ว่างงาน มีอาการไอ ตรวจพบเชื้อวันที่ 17 ธ.ค. 
- ชายไทย อายุ 40 ปี สัญชาติเมียนมา อาชีพรับจ้าง ไม่มีอาการ ตรวจพบเชื้อวันที่ 17 ธ.ค.
- หญิงไทย อายุ 24 ปี อาชีพ รับจ้าง มีอาการไอ ปวดศีรษะ ตรวจพบเชื้อวันที่ 17 ธ.ค. 
- ชาย อายุ 32 ปี สัญชาติเมียนมา อาชีพรับจ้าง มีไข้ ตรวจพบเชื้อวันที่ 17 ธ.ค.
- ชาย อายุ 41 ปี อาชีพเสมียน ไม่มีอาการ ตรวจพบเชื้อวันที่ 17 ธ.ค.
- หญิง อายุ 43 ปี สัญชาติเมียนมา อาชีพ รับจ้าง ไม่มีอาการ ตรวจพบเชื้อวันที่ 17 ธ.ค.

อยู่ระหว่างสอบสวนโรค

- ชายไทย อายุ 42 ปี อาชีพ ค้าขาย มีไข้ ปวดศีรษะ มีน้ำมูก ตรวจพบเชื้อวันที่ 17 ธ.ค.
- หญิงไทย อายุ 20 ปี อาชีพ พนักงานบริษัท มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ไข้ มีน้ำมูก ลิ้นไม่รับรส ตรวจพบเชื้อวันที่ 18 ธ.ค.
- หญิงไทย อายุ 49 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีอาการไอ ปวดศีรษะ มีเสมหะ จมูกไม่ได้กลิ่น ตรวจพบเชื้อวันที่ 18 ธ.ค.
- ชายไทย อายุ 23 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ตรวจพบเชื้อวันที่ 18 ธ.ค.

ทั้งนี้ ผู้ที่มีประวัติไปตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ในช่วงตั้งแต่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา หากมีอาการสงสับว่าป่วย หรือสงสัยให้ขอรับการตรวจ COVID-19 ได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1422

สำหรับการล็อกดาวน์นั้น นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการล็อกดาวน์ เนื่องจากได้รับความร่วมมือกับประชาชนทั้งคนไทยและคนต่างด้าวในการตรวจหาเชื้อ เมื่อพบผู้ป่วยก็นำตัวเข้ารับการรักษา ตามจุดประสงค์ของการควบคุมโรค แต่อย่างไรก็ตาม หากการติดเชื้อพบว่า มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นกลุ่มก้อน และไม่สามารถหาต้นสายปลายเหตุได้ ก็อาจต้องยกระดับมาตรการเพิ่มขึ้น

“ที่ผ่านมาเชียงราย เชียงใหม่ ในวันพรุ่งนี้ก็ถือว่าครบ 14 วัน จังหวัดปลอดภัย สามารถจัดกิจกรรมปีใหม่ได้ ดังนั้น จ.สมุทรสาคร ต้องพิจารณาก่อน ล็อกดาวน์ถือเป็นมาตรการหลังสุด ขณะนี้ทำได้คือ ช่วยกันสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ป้องกันคนใกล้ชิดติดเชื้อ”

ผู้ว่าฯ สมุทรสาครเผยตรวจเชื้อ COVID-19 แรงงานแล้ว 1.5 พันคน

ด้านนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการสุ่มตรวจหาเชื้อ COVID-19 (SWAP) ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติแล้วประมาณ 1,500 คน จากเป้าหมายทั้งหมด 2,000 คน หากทราบผลการตรวจทั้งหมดแล้วจะสามารถตีวงจำกัดและสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น

“เรื่องที่ยากในขณะนี้คือ ยังไม่สามารถตีกรอบวงจำกัดได้ แต่ก็พยายามอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกรมสอบสวนโรค กระทรวงสาธารณสุข”
ผู้ว่าฯสมุทรสาคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้ออกคำสั่งห้ามเดินทางออกและเคลื่อนย้ายนอกพื้นที่ของแรงงานข้ามชาติ และสั่งทำความสะอาดตลาดในทุกพื้นที่ของ จ.สมุทสาคร โดยจะต้องแล้วเสร็จภายในวันนี้ เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่า ขณะนี้ตลาดกุ้งมีความสัมพันธ์กับส่วนใดใน จ.สมุทรสาคร บ้างจึงสั่งทำความสะอาดในวงกว้างไว้ก่อน

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การเพิ่มของยอดผู้ป่วยซึ่งการเพิ่มขึ้นจะเป็นตัวเลขที่สัมพันธ์ของการตรวจหาเชื้อ COVID-19  ซึ่งที่ผ่านมาอาจตรวจหาผู้ติดเชื้อไม่เจอและครั้งนี้ตรวจเจอจึงต้องเริ่มมาตรการต่าง ๆ

ขณะที่จุดที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในรายของหญิงอายุ 95 ปี ซึ่งเป็นมารดาของหญิงที่ติดเชื้อ COVID-19 อายุ 67 ปี และการตีกรอบเพื่อควบคุมที่ยังไม่ชัดเจน 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งขณะนี้สามารถอนุมานได้ว่า จุดหลักคือ ตลาดกุ้ง และภายใน 1-2 วัน หากชัดเจนมากขึ้นจะสามารถตีกรอบได้ดีขึ้น

ประกาศรายชื่อสถานกักกันกิจการกอล์ฟสัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนชาวไทย ภายหลังวิกฤตการณ์การระบาดของโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการนำจุดเด่นของประเทศในด้านการท่องเที่ยวมาดึงดูดชาวต่างชาติ ซึ่งจะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ รัดกุม ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งที่ผ่านมากรม สบส.ก็ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนารูปแบบการกักกันตัว (Quarantine) ทั้งสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine –ASQ) หรือสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine – AHQ) ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และความเหมาะสมต่อประเภทของผู้กักกันมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ประกาศหลักเกณฑ์แนวทางการกำหนดสถานกักกันในกิจการกอล์ฟ (Golf Quarantine) เพื่อรองรับความต้องการของนักกีฬาชาวต่างชาติและผู้ติดตามที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยทั้งทางบกและอากาศ เพื่อออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬากอล์ฟและการทำกิจกรรมด้านสุขภาพ ในพื้นที่ปิดของสนามกอล์ฟซึ่งไม่มีการให้บริการแก่บุคคลทั่วไปตามที่รัฐกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการกอล์ฟ ยื่นเรื่องเข้ามาขอรับการตรวจประเมินจากกรม สบส.จำนวน 6 แห่ง โดยจะมีการประกาศรายชื่อสนามกอล์ฟที่ผ่านการตรวจประเมินที่หน้าเว็บไซต์กรม สบส. (www.hss.moph.go.th) ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค. 2563

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มนักกอล์ฟชาวต่างชาติและผู้ติดตามที่จะเข้ารับบริการที่สถานกักกันกิจการกอล์ฟนั้น จะอนุญาตเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำซึ่งประมาณการรายได้ไว้ที่ 100,000 บาทต่อคน โดยทั้งนักกอล์ฟและผู้ติดตามจะต้องมีผลตรวจโรคโควิด-19 ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง มีการทำข้อตกลงและจองแพ็กเกจการเดินทางกับตัวแทนบริษัทนำเที่ยว โดยจะต้องนัดหมายล่วงหน้ากับสถานกักกันกิจการกอล์ฟและขอหนังสือรับรองให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้ (Certificate of Entry – COE) จากสถานเอกอัครราชทูตก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย และเมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วจะต้องเข้าพัก ณ สถานกักกันกิจการกอล์ฟ เป็นเวลา 14 วัน ซึ่งระหว่างนี้สามารถออกรอบและทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพได้ โดยผู้รับบริการและผู้ติดตามจะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการ รวม 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ในวันที่เดินทางมาถึง ครั้งที่ 2 วันที่ 5 หรือ 7 และครั้งที่ 3 วันที่ 13 หรือ 14 หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จะส่งรักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญา โดยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า นอกจากการคุมเข้มตัวนักท่องเที่ยวและผู้ติดตามแล้ว ในส่วนผู้ให้บริการหรือแคดดี้นั้น ประกาศกระทรวงสาธารณสุขก็มีข้อกำหนดเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคโควิด-19 ภายในประเทศ โดยผู้ให้บริการหรือแคดดี้ต้องสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย และมีถุงมืออนามัยตลอดการทำงาน มีการจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์แก่ผู้ปฏิบัติงาน ขณะออกรอบมีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และผู้ให้บริการหรือแคดดี้ทุกคนต้องทำความสะอาดร่างกายและล้างมือหลังออกรอบทุกครั้ง

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท