Skip to main content
sharethis

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยผลสำรวจ 49 ประเทศ พบแรงงานข้ามชาติมีรายได้น้อยกว่าแรงงานพื้นถิ่นเฉลี่ย 12.6% ในประเทศรายได้สูง และ 17.3% ในประเทศรายได้ปานกลางและต่ำ แต่บางแห่งช่องว่างกว้างถึง 42.1% เลยทีเดียว


ที่มาภาพ: ILO

19 ธ.ค. 2563 จากรายงาน The migrant pay gap: Understanding wage differences between migrants and nationals ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ได้ทำการวิเคราะห์ช่องว่างรายได้ของแรงงานข้ามชาติกับแรงงานพื้นถิ่นใน 49 ประเทศ แบ่งเป็นประเทศรายได้สูง 33 ประเทศ ประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง 16 ประเทศ พบว่าแรงงานข้ามชาติมีรายได้น้อยกว่าแรงงานพื้นถิ่นเฉลี่ยแล้วร้อยละ 12.6 ในประเทศรายได้สูง และร้อยละ 17.3 ในประเทศรายได้ปานกลางและต่ำ แต่บางแห่งช่องว่างกว้างถึงร้อยละ 42.1 เลยทีเดียว

10 ประเทศแรกที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างแรงงานข้ามชาติกับแรงงานพื้นถิ่นสูงสุดได้แก่ 1.ไซปรัส ร้อยละ 42.1 2.สโลเวเนีย ร้อยละ 33.3 3.คอสตาริกา ร้อยละ 30.1 4.อิตาลี ร้อยละ 29.6 5.จอร์แดน ร้อยละ 29.5 6.โปรตุเกส ร้อยละ 28.9 7.สเปน ร้อยละ 28.3 8.ลักเซมเบิร์ก ร้อยละ 27.3 9.ออสเตรีย ร้อยละ 25.3 และ 10.กรีซ ร้อยละ 21.2 โดยทั้ง 10 อันดับนี้มีเพียงคอสตาริกาและจอร์แดนเท่านั้นที่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและต่ำ ส่วนอีก 8 อันดับอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงทั้งสิ้น

รายงานของ ILO ยังระบุว่าแรงงานข้ามชาติผู้หญิงในประเทศรายได้สูงนั้น ต้องเผชิญกับปัญหาผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างของแรงงานหญิง (motherhood wage penalty) สูงด้วย นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติมีแนวโน้มที่จะทำงานที่มีทักษะต่ำและได้รับค่าตอบแทนต่ำซึ่งไม่ตรงกับวุฒิการศึกษาและทักษะของพวกเขาจากประเทศต้นทาง ซึ่งอาจชี้ให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่มีการศึกษาสูงที่เดินทางไปทำงานในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ก็มีโอกาสน้อยที่จะได้ทำงานในประเภทอาชีพที่ใช้ทักษะสูง

ตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ และฟินแลนด์ สัดส่วนของแรงงานข้ามชาติที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 78 และร้อยละ 98 ตามลำดับ แต่สัดส่วนแรงงานข้ามชาติในงานที่มีทักษะสูงมีเพียงร้อยละ 35 และร้อยละ 50 เท่านั้น

"แรงงานข้ามชาติมักเผชิญกับความไม่เท่าเทียมกันในตลาดแรงงาน ซึ่งรวมถึงในส่วนที่เกี่ยวกับค่าจ้าง การเข้าถึงการฝึกอบรม สภาพการทำงาน ความมั่นคงทางสังคม และสิทธิการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แม้พวกเขาจะมีบทบาททางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากในประเทศที่พวกเขาเดินทางไปทำงาน แต่กลับต้องอยู่อาศัยในฐานะพลเมืองชั้นสอง" มิเชล เลห์ตัน หัวหน้าฝ่ายแรงงานย้ายถิ่นของ ILO ระบุ

ที่มาเรียบเรียงจาก
The migrant pay gap: Understanding wage differences between migrants and nationals (ILO, December 2020)
Migrant pay gap widens in many high-income countries (ILO, 14 December 2020)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net