เพียงดาว โอสถาภิรัตน์: คนรุ่นใหม่กับรัฐสวัสดิการ...ในประเทศที่ความฝันมีราคาแพง

พอพูดถึงรัฐสวัสดิการ เรามักนึกถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุน การศึกษา (ที่ไม่) ฟรี (จริง) เงินประกันการตกงาน เบี้ยเลี้ยงเด็ก เบี้ยเลี้ยงคนชรา หรือกระทั่งบำนาญข้าราชการ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเทียบกันระว่างเบี้ยเลี้ยงคนชราและบำนาญข้าราชการ เราจะเห็นความแตกต่างชัดเจน

ตัวอย่างที่ยกมา บางอย่างเป็นรัฐสวัสดิการ บางอย่างก็ยังเรียกได้ไม่เต็มปากหรืออาจเรียกว่ารัฐสงเคราะห์

เพียงดาว โอสถาภิรัตน์ เยาวชนอาสารักยิ้ม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอยู่ตรงไหนในสมการของรัฐสวัสดิการ บางคนอาจจะตอบว่าอยู่ที่การศึกษา ไม่ผิด ในมุมของเพียงดาว โอสถาภิรัตน์ เยาวชนอาสารักยิ้ม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการศึกษาดูจะใกล้ตัวที่สุด แต่มันมากกว่านั้น เพราะทุกตัวอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่อย่างเธอ มันคืออิสรภาพ ทางเลือก โอกาส ความเป็นไปได้ และการทดลองใช้ชีวิต

ถ้าสายป่านไม่ยาวพอ ทุกอย่างที่พูดมาจะล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา แค่สิทธิที่จะฝันก็ยังไม่กล้า เพราะประเทศนี้ความฝันมีราคาแพงเหลือเกิน

จากงานอาสาถึงรัฐสวัสดิการ

เพียงดาวทำงานกับกลุ่มรักยิ้ม เป็นกลุ่มเยาวชนอาสาที่ทำงานอยู่กับย่านเมืองเก่าบริเวณสามแพร่ง มันทำให้เธอสังเกตเห็นชุมชนที่แก่ตัวลงพร้อมกับผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น ขณะที่เด็กๆ และคนวัยทำงานย้ายออกไปไกลบ้าน บวกกับที่เธอสนใจการเมือง ความคิดกึ่งคำถามจึงเกิดขึ้นว่าถ้ามีรัฐสวัสดิการที่ดี ผู้สูงอายุเหล่านี้น่าจะอยู่ได้อย่างสบาย ไม่ต้องมารอเงินจากลูกหลาน

“ถ้ามองรัฐสวัสดิการแบบครบวงจรทั้งหมด เรารู้สึกว่ารัฐสวัสดิการมีบทบาทในการดูแลคนตั้งแต่เกิดจนตาย คนรุ่นใหม่ก็จะได้รับโอกาสจากรัฐสวัสดิการ เช่น เงินอุดหนุนการเรียนหรือเงินที่จะทำให้เราเรียนได้โดยไม่ต้องไปทำงาน เพราะมีเด็กไทยหลายคนมากที่เงินไม่พอจ่ายค่าเรียน ทำให้เรารู้สึกว่าถ้ามีรัฐสวัสดิการที่ดีมันอาจจะไม่ต้องเป็นภาระพ่อแม่ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ตัวเองอาจซัพพอร์ตตัวเองได้จากเงินที่รัฐบาลสนับสนุน ถ้ามันมีประสิทธิภาพหรือว่าเพียงพอ เราคิดว่าเด็กๆ ก็น่าจะมีเวลาในชีวิตเยอะขึ้น รู้ว่าเราจะทำอะไรดี อยากทำอะไรได้ มีเวลาค้นหาตัวเอง”

ปัจจุบัน เพียงดาวร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันบำนาญแห่งชาติ ไม่ใช่แค่ประเด็นคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุหรอก มันเชื่อมโยงถึงคนรุ่นใหม่อย่างเธอชนิดแยกไม่ขาด เพราะมันจะช่วยให้คนวัยเดียวกับเธอไม่ต้องกังวลกับอนาคตจนเกินไป ยังไม่นับว่าสังคมไทยปลูกฝังค่านิยมความกตัญญูกระทั่งความกตัญญูกลายเป็นปัญหา

ปัญหาความกตัญญู

“ไม่ใช่คิดว่าความกตัญญูไม่ดีหรือไม่ควรมีอยู่ หนูเองก็คิดว่าถ้าเรามีบ้าน มีงานดีๆ เราก็อยากให้พ่อแม่เราไปอยู่ด้วย เราก็อยากใช้เวลากับพวกเขา แต่เรารู้สึกว่าความกตัญญูทุกวันนี้มันกลายเป็นบ่วง เป็นคุณค่าที่สังคมบอกว่าจะต้องมี มันบังคับ ถ้าไม่มีแปลว่าเป็นคนไม่ดี ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ มันกลับมารัดคอเรา เราจึงต้องทิ้งอะไรไปเพื่อแค่จะเป็นคนกตัญญูมันจะไม่ใช่แค่ว่าเราจะกลับไปดูแลพ่อแม่เพราะเราอยากใช้เวลากับเขา หรืออยากดูแลเขา แต่มันเกิดจากว่าเราต้องทำ ถ้าเราไม่ทำเราจะเป็นคนไม่ดี

“ยังไม่นับกรณีว่าจริงๆ ยังมีครอบครัวที่ไม่ได้ดูแลลูกได้ดีหรือไม่ได้เป็นเซฟโซนของลูก ไม่ได้เป็นความทรงจำที่ดีของลูก ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะต้องกตัญญูกับเขาแบบไหน แค่ไหน ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการ ถ้าเรามีครอบครัวที่ไม่ดี หรือรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ใช่เซฟโซนของเรา เราอยากใช้ชีวิตของตัวเอง แล้วรัฐสวัสดิการก็จะให้โอกาสนั้น เพราะพ่อแม่ของเราก็จะใช้ชีวิตของเขาจากเงินรัฐสวัสดิการที่เขาจะได้ คือลูกก็คงไม่ได้ใจจืดใจดำถึงขั้นจะทิ้งพ่อแม่ให้ไม่มีเงินใช้ไปเลยได้ อาจจะเป็นว่าความกตัญญูก็ต้องมีจุดมีที่ของมันไม่ใช่บังคับแบบ do or die”

เพียงดาวเล่าถึงสถานการณ์ที่เพื่อนบางคนของเธอประสบที่ต้องเลือกเรียนโดยไม่รู้ว่าชอบหรือไม่ รู้เพียงว่าเป็นอาชีพที่ทำเงิน เมื่อเรียนจบก็ต้องรีบทำงานเพื่อหารายได้ให้กับครอบครัวที่พ่อแม่เกษียณในจังหวะเดียวกัน

เมื่อความฝันหล่นหาย

“ตั้งแต่ ม.6 เราก็ต้องทิ้งความฝันแล้ว มีเพื่อนอยากเป็นผู้กำกับ อยากลองทำธุรกิจของตัวเอง แต่ก็ทำไม่ได้เพราะไม่รู้ว่ามันมั่นคงไหม สุดท้ายก็จะไปเป็นนักบัญชี เป็นหมอ เป็นครูที่ไม่รู้ว่าชอบไหม แต่รู้ว่าเงินดี พ่อแม่มีสวัสดิการ มันเลยค่อนข้างสะเทือนใจและติดอยู่ในใจเพราะเพิ่งจบ ม.6 มา บทสนทนาพวกนั้นยังชัดอยู่”

เพียงดาวเห็นเพื่อนๆ หลายคนแย่งกันเข้าคณะดังๆ เพียงเพราะว่าเป็นอาชีพที่รายได้ดี อย่างคนที่คิดว่าพอไปได้กับวิชาเลขก็จะเลือกบัญชี ที่พอไปได้กับฟิสิกส์ก็จะเลือกคณะวิศวะ แต่พอเธอถามเพื่อนว่า

“จริงๆ แล้วมึงอยากเป็นอะไร โตขึ้นเห็นภาพตัวเองในอนาคตว่าจะทำอะไร มันมีความฝันอย่างอื่น อยากเป็นนักเต้น อยากเป็นนักแสดง อยากร้องเพลง แต่สุดท้ายก็เลือกคณะบัญชี เพื่อนอีกคนเลือกคณะแพทย์เพราะเขารู้สึกว่ามันได้ตังค์และเขาจะสามารถดูแลพ่อแม่ครอบครัว พอเขาเรียนจบพ่อแม่เกษียณทันที เขาต้องทำงานได้เลยในปีนั้นเพื่อซัพพอร์ตการเงินที่หายไปของที่บ้าน

“เขายังไม่ได้ลองเลย เขาไม่มีโอกาสแม้แต่จะลองหรือออกไปตามหา หรือมีเพื่อนบางคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ตอบไม่ได้ แต่คะแนนน่าจะถึงคณะนี้ ถ้าอย่างนั้นเข้าคณะนี้แล้วกัน ทั้งที่ไม่รู้หรอกว่าชอบหรือเปล่า เรียนไป ถ้าต้องทำมันก็ต้องทำ หรือบางคนอยากเรียนหมอ แต่สอบไม่ติดมหาวิทยาลัยของรัฐ ติดมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งค่าใช้จ่ายปีหนึ่งเป็นล้าน ครอบครัวก็ไม่สามารถซัพพอร์ตให้เขาได้ ทำให้เขาต้องกลายไปเป็นอย่างอื่นที่อาจจะไม่ได้อยากเป็น

“หรือแค่เห็นเงินค่าสอบก็มีเด็กหลายคนที่ไม่ยอมเลือกหลายคณะ คือพอเลือก 4 คณะแล้วค่าสอบมันแพงมาก เขาก็อาจจะเลือกแค่ 2 คณะเพื่อจ่ายเงินแค่ 200 บาททำให้เขาไม่ติดมหาวิทยาลัย ตอนนี้มีเพื่อนที่เรารู้จักที่ไม่ต่อมหาวิทยาลัยเพราะ 2 คณะที่เขาเลือกไม่ติด ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าถ้าเขาเลือกสี่อันดับเขาจะติดไหม เขาอาจจะติดมหาวิทยาลัยที่ 4 ก็ได้ แต่เขาไม่ได้เลือกเพราะเขาไม่มีเงิน เท่ากับเราตัดโอกาสการศึกษาของเด็กคนนั้นไปเลยไหม”

ในประเทศที่ความฝันมีราคาแพง

การศึกษาในประเทศจึงเป็นเรื่องของคนที่มีสายป่านยาว ซึ่งเพียงดาวคิดว่ามันไม่ควรเป็นแบบนั้น ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตระหว่าง ม.6 กับมหาวิทยาลัย รัฐควรสนับสนุนคนรุ่นใหม่อย่างเต็มที่ มันไม่คุ้มกับการสูญเสียโอกาสและความเป็นไปได้มากมายเพียงเพราะสังคมตัดทางเลือกของพวกเขา

“เหมือนกับว่าทั้งรัฐบาลและกระทรวงศึกษาฯ ไม่เชื่อในตัวเด็กว่าเราจะเป็นอะไรไปได้มากกว่าที่เขาคิด เราเชื่อมากว่าถ้ารัฐบาลเชื่อในความเป็นไปได้ของประชาชน เขาจะต้องซัพพอร์ตสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า เพื่อให้ประเทศมีความเป็นไปได้ใหม่ๆ แต่ตอนนี้เขาไม่เชื่อ เขามองว่าก็คุณไม่มีเงินส่งเสียตัวเองได้หรือพ่อแม่คุณทำงานไม่ดี เลยทำให้ลูกคุณไม่มีโอกาสได้เลือกคณะที่ลูกคุณอยากเรียนก็เป็นปัญหาของพ่อแม่ ถ้ามาถึงตรงนี้แล้วคุณไปต่อไม่ได้นั่นก็เป็นปัญหาของคุณ เชิญไปดูแลตัวเอง ซึ่งเรามองว่ามันมีความเป็นไปได้อยู่ในตัวทุกคนที่น่าลงทุน”

มันทำให้เธอได้ข้อสรุปว่า

“ประเทศนี้ความฝันมีราคาแพง” แพงเกินกว่าที่ใครๆ หลายคนจะกล้าฝัน

เอาล่ะ มาถึงตรงนี้คุณอาจคิดว่าเป็นเพียงการบ่นของคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่ไม่เข้าใจโลกที่ ‘ผู้ใหญ่สมัยนี้’ ชอบปรามาส เป็นการพูดแบบไม่มีข้อมูลรองรับ

แต่หากไม่หลับตา สิ่งที่เราเห็นชัดเจนคือความฝันของเพียงดาว เป็นความฝันที่รู้ว่ายากจะบรรลุในรัฐที่ไม่มีฐานคิดเรื่องการดูแลประชาชนเท่าที่ควร เป็นความกล้าฝันในประเทศที่ความฝันมีราคาแพง และเธออยากทำให้มันถูกลงสำหรับทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท