Skip to main content
sharethis

ค้านออกสลากรูปแบบใหม่ปี 2564 ชี้สำนักงานสลากเจอด่านใหญ่ ผลกระทบวงกว้าง ชี้ต้องยึดหลักธรรมาภิบาล และศึกษาผลกระทบทางสังคม ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ถามสำนักงานสลากฯต้องการแก้หวยเกินราคาหรือหาเงินกันแน่ เพราะเท่ากับคนเสียพนันจำนวนมาก คนได้มีน้อย ย้ำเศรษฐกิจต้องขับเคลื่อนด้วยการทำงาน คนหวังเสี่ยงโชคทำให้เศรษฐกิจเติบโตไม่ได้

20 ธ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า จากกรณีสำนักงานสลากเตรียมตัวปูพรมจัดการรับฟังความเห็นประชาชนเพื่อจะตัดสินใจออกผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่ในปี 2564 มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร่างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกันจัดเสวนาหัวข้อ “การศึกษาผลกระทบทางสังคม : (เอส ไอ เอ) ไฟต์บังคับก่อนจะออกหวยตัวใหม่” มีนักวิชาการ  ผู้ค้าสลาก และภาคประชาสังคมมาร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็น

ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า การศึกษาผลกระทบทางสังคมเป็นไฟต์บังคับที่ต้องทำตามมาตรา 7(1) ของพ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมปี 2562  ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลที่การพนันหรือสิ่งอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมต้องให้เกิดยากๆ เพราะการออกผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่ อาจส่งผลกระทบต่อสังคมได้ทั้งทางบวกและลบ การศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านจะช่วยให้ป้องกันปัญหาได้  เพราะเมื่อเห็นแล้วว่าจะเกิดผลเสีย สำนักงานสลากก็สามารถจะปิดจุดอ่อนหรือปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินการไปหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่าได้ และยังช่วยให้เห็นล่วงหน้าถึงความคุ้มค่าของการดำเนินการ อีกทั้งยังช่วยคลายความกังวลของสังคมได้ ที่สำคัญคือก่อนจะจัดการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สำนักงานสลากฯควรทำการศึกษาผลกระทบทางสังคมก่อน เพื่อนำรายงานผลการศึกษาเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็น จะเป็นการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งทราบว่าขณะนี้ได้มีการว่าจ้างสถาบันการศึกษามารับงานนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“จากการสุ่มสอบถามความเห็นประชาชนจำนวน 125 คนถึงความกังวลหากมีการออกสลากรูปแบบใหม่ พบความกังวลอย่างน้อย 10 ข้อ คือ จะทำให้ประชาชนเล่นหวยกันมากขึ้นหรือไม่ จะล่อใจให้เด็กและเยาวชนสนใจอยากมาซื้อสลากฯด้วยไหม จะสนับสนุนให้การพนันทางออนไลน์ต่าง ๆ เติบโตมากขึ้น จะทำให้เกิดต้นทุนผลกระทบบางอย่างต่อสังคม เช่น หมกมุ่นจนไม่เป็นอันทำการทำงาน จะทำให้สลากกินแบ่งฯยังขายแพงอยู่เหมือนเดิม  เพราะไม่ทำให้ปั๊วหายไปแต่จะปรับตัวเพื่อหาวิธีมาหาประโยชน์ได้เหมือนเดิม  หรือจะทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ซื้อไม่ปลอดภัยจากการเข้าซื้อสลากทางออนไลน์  รวมทั้งจะทำให้หวยล็อคได้ง่ายขึ้นหรือมากขึ้น  จะทำให้ผู้ค้าสลากรายย่อยต้องแข่งขันกันขายสลากด้วยการงัดสารพัดวิธีมาใช้กันมากขึ้น  และจะทำให้ศิลปินดาราออกมาโพสต์ แชร์ ชวนให้ซื้อหวยกันมากขึ้น เป็นต้นจุดอ่อนที่ประชาชนเห็นว่าอาจทำให้เกิดปัญหามีอยู่ 5 เรื่อง คือ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นจริง เรื่องการให้ความความเข้าใจแก่ประชาชนไม่เพียงพอทำให้เกิดความหวังต่อการถูกรางวัลมากเกินจริง รวมถึงการไร้ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่อาจทำให้ระบบล่ม  ความไม่มีธรรมาภิบาลของการบริหารจัดการ และการที่รัฐบาลเห็นว่าการเล่นพนันสลากเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะตามมา ข้อเสนอทางเลือกแก่รัฐบาลก็คือ ค่อยๆ เดินทีละก้าว โดยเริ่มขายสลากดั้งเดิมผ่านระบบดิจิตัลก่อน ยังไม่ต้องออกผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่น ขณะเดียวกันควรให้ข้อมูลแก่ผู้ซื้อสลากอย่างชัดแจ้งและสม่ำเสมอเกี่ยวกับโอกาสจะเป็นผู้ถูกรางวัล และสำนักงานสลากต้องเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้นในการที่จะไม่ทำให้ประชาชนหมกมุ่นกับการหวังรางวัลมากเกินไปจนทำให้เกิดปัญหา เหล่านี้คือตัวอย่างของความวิตกกังวลของประชาชนที่ทีมวิชาการที่จะไปทำการศึกษาผลกระทบทางสังคมจะต้องช่วยตอบเพื่อคลายความกังวลเหล่านี้ให้ได้” ธนากรกล่าว  

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ตั้งคำถามต่อการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ว่า สำนักงานสลากฯต้องการแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาหรือต้องการหาเงินกันแน่ ปัจจุบันมีการพิมพ์สลากออกมาจำหน่ายถึงงวดละ 100 ล้านฉบับ ขณะที่จำนวนประชากรมีเพียง 67 ล้านคน ทั้งยังเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้ารัฐสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง หากสำนักงานสลากฯต้องการหารายได้จริง สิ่งสำคัญคือต้องประเมินผลกระทบว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะสลากฯคือการพนันที่มีคนเสียพนันจำนวนมาก คนได้มีน้อย ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีเช่นนี้ คนจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจก็จะแก้ปัญหาด้วยการเสี่ยงโชค แต่เศรษฐกิจต้องขับเคลื่อนด้วยการทำงาน คนหวังเสี่ยงโชคทำให้เศรษฐกิจเติบโตไม่ได้ จึงตั้งข้อสังเกตว่าทำไมสำนักงานสลากฯต้องรีบออกสลากตัวใหม่ในขณะนี้ ดังนั้นสำนักงานสลากฯต้องตอบคำถามสังคมก่อนว่าออกมาเพื่ออะไร และต้องศึกษาผลกระทบทางสังคมก่อนอย่างรอบด้าน

“จากผลสำรวจปี 62 พบมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 20  ปีซื้อสลากฯ 4.7 แสนคน ซึ่งเป็นเรื่องที่สากลต้องคำนึกถึงการปกป้องเด็กและเยาวชน ในขณะที่การช่วยเหลือด้านการพนันของสำนักงานสลากฯยังไม่เป็นระบบเท่ากับรายได้ที่เก็บไปจ่ายการจำหน่ายสลากฯ ซึ่งในต่างประเทศการจะออกผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกระทบจำเป็นต้องมีการทำ SIA หรือการศึกษาผลกระทบทางสังคม และรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันปัญหาที่นำไปสู่การสร้างความเสียหายใหญ่โต และต้องคำนึกถึงหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ” รศ.ดร.นวลน้อย

ตัวแทนผู้ค้า ไพบูลย์ กุดเป่ง เครือข่ายผู้ค้าสลาก 5 ภาค กล่าวว่า ทุกข์ของผู้ค้าที่เป็นอยู่ในตอนนี้คือการเข้าไม่ถึงสลากฯราคาต้นทุน และปลายทางการขายเกินราคาหากถูกจับก็จะถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต ในส่วนของผู้ค้าได้รับผลกระทบแน่นอน อย่างงวดที่ผ่านมาก็ทั้งขายทั้งแถม จากการเปลี่ยนแปลงสูตรการกระจายสลากฯ ปัญหาคือขายสลากไม่หมด หากสลากฯจะทำออนไลน์ ควรรอสักหน่อยหรือศึกษาผลกระทบให้ชัดก่อน การทำหวยออนไลน์อาจจะไม่ต่างจากสิ่งที่เคยทำมาก่อนในอดีต อย่างหวยเลขท้าย 2ตัว 3ตัวหรือที่เรียกว่าหวยบนดิน สิ่งที่ทำอยู่ขณะนี้สำนักงานสลากฯกำลังเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ทางกลุ่มผู้ค้าสลากฯอยากเสนอให้สำนักงานสลากฯเพิ่มจุดขายสลากฯ 80 บาท ที่ควบคุมราคาโดยสำนักงานสลากฯ และเปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายใหม่เข้าถึงสลากในราคาต้นทุนมากขึ้น

“สำนักงานสลากฯ ต้องค่อยๆ แก้ปัญหา เดินทีละก้าว และยังไม่จำเป็นต้องออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ เพราะการแก้ปัญหาสลากฯยังสามารถต่อยอดจากแนวทางเดิมที่สำนักงาสลากกำลังทำอยู่ในขณะนี้ แม้ถึงที่สุดแล้วหากสำนักงานสลากฯจะออกรูสลากฯรูปแบบใดก็ตาม ก็ต้องคำนึกถึงผู้ค้าสลากฯรายย่อยป็นอันดับแรก เราพร้อมจะปรับตัวและปฏิบัติตาม เพราะการขายสลากเป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวของพวกเรา” ไพบูลย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net