สุรพศ ทวีศักดิ์: จากกษัตริย์คืออะไรถึงทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ฝ่ายต่อต้านการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มองว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คือการ “ล้มล้างสถาบันกษัตริย์” เพราะข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คือการทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและภายใต้หลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน แต่สถาบันกษัตริย์ตามความเข้าใจของพวกเขาคือสถาบันกษัตริย์ที่มีความหมายตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2575 เป็นต้นมาว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” อันเป็นการนำความหมายของกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และทึกทักกันเอาเองว่านี่คือ “สถาบันกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” แล้ว

ความหมายของกษัตริย์ (ที่มีอำนาจเบ็ดเส็จเด็ดขาด) คืออะไร มีคำตอบที่กระชับชัดเจนที่สุดในหนังสือ “กษัตริย์คือ(อะ)ไร มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน” (หน้า 6) ว่า 

“กษัตริย์ก็คือคนที่วางตัวประหนึ่งว่าเป็นพระเจ้า กษัตริย์ทั้งหลายสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมา ทว่าพวกเขาเองไม่จำเป็นต้องทำตามกฎเหล่านั้นก็ได้ หากพวกเขาไม่ต้องการ”

การที่กษัตริย์วางตัวประหนึ่งว่าเขาเป็นพระเจ้าหรือเป็นเทพเจ้า และต้องการให้ผู้คนปฏิบัติต่อตัวเขาราวกับเป็นพระเจ้าหรือเทพเจ้า ย่อมแสดงถึง “ความเป็นศาสนา” ของสถานะและอำนาจของกษัตริย์อย่างชัดเจน 

แม้ในทางทฤษฎีการเป็นกษัตริย์อาจไม่เกี่ยวใดๆ กับศาสนาก็ได้ เช่นทฤษฎี “กษัตริย์นักปรัชญา”  (philosopher king) ของเพลโต และแนวคิด “ราชาธิปไตย” ของอาริสโตเติลก็ไม่เกี่ยวใดๆ กับความเชื่อทางศาสนา การเป็นกษัตริย์ที่ดีขึ้นกับความปราดเปรื่องทางปัญญาที่รู้ว่ารัฐที่ดีมีเป้าหมายอะไร และจะทำการปกครองอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐที่ดีเช่นนั้น และต้องมีคุณธรรมทางโลก เช่น ความเป็นเลิศทางปัญญา, ความกล้าหาญ, การควบคุมตนเอง และความยุติธรรมเป็นต้น แต่นี่เป็นอุดมคติในทางปรัชญาการเมือง ในความจริงทางประวัติศาสตร์เรารู้เรื่องราวของกษัตริย์อย่างอเล็กซานเดอร์มหาราช ศิษย์ของอาริสโตเติล ซึ่งเป็นเรื่องราวของกษัตริย์นักรบผู้เกรียงไกร ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมในเรื่องเกียรติประวัติของกษัตริย์ในอารยธรรมกรีก-โรมันเสียมากกว่า

แต่ส่วนใหญ่แล้วกษัตริย์มักวางตัวประหนึ่งว่าเขาเป็นพระเจ้าหรือเทพเจ้า หรือเป็นโอรสเทพ โอรสสวรรค์ เพราะการทำให้ผู้คนทั้งหลายเชื่อเช่นนั้นช่วยปกป้องความเป็นกษัตริย์ที่มีสถานะศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ และการมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือแผ่นดินและชีวิตผู้คนทั้งปวงได้มากกว่า 


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/eggcatcheese/photos/a.2266653683590187/2760323977556486/

ดังนั้น ช่วงเวลายาวนานของประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ภายใต้อำนาจศักดิ์สิทธิ์แตะไม่ได้ของกษัตริย์ จึงเป็นช่วงเวลาของความรุ่งเรืองของอำนาจวังกับวัดที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน ขณะที่บรรดาผู้ใต้ปกครองคือไพร่ ทาส ต่างถูกเกณฑ์แรงงานสร้างความรุ่งเรืองให้วังกับวัด และถูกเกณฑ์ไปทำสงครามเพื่อปกป้องความมั่นคง มั่งคั่ง หรือเพื่อขยายอำนาจอันแผ่ไพศาลของกษัตริย์และการเผยแพร่ศาสนา

น่าสังเกตว่าสังคมอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถือศาสนาพราหมณ์-พุทธนั้น ศาสนาสอนความเชื่อเรื่อง “กฎแห่งกรรม” และ “ความหลุดพ้น” อย่างพิศดารและลึกซึ้งที่สุด แต่ศาสนาดังกล่าวก็สถาปนาความวิเศษสูงส่งของกษัตริย์และระบบชนชั้นอย่างหยั่งลึกในจิตใต้สำนึกของผู้คนมากที่สุดด้วยเช่นกัน

ใน “สยาม/ไทย” ที่รับเอาศาสนาพราหมณ์-พุทธจากอินเดีย ความเป็นศาสนาของสถานะและอำนาจของกษัตริย์ดูจะโดดเด่นเป็นพิเศษ เพราะความเป็นกษัตริย์ถูกศาสนาสถาปนาขึ้นมาว่าเป็นวรรณะสูงสุด เป็นเทวราช เทพอวตาร สมมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ธรรมราชาและอื่นๆ สถานะสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ถูกถือว่ามีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร ดังนั้น กษัตริย์จึงเป็นที่เคารพยำเกรงของเหล่านักบวช ผู้นำศาสนา และอาณาประชาราษฎร 

สถานะสูงส่งศักดิ์สิทธิ์แตะไม่ได้ดังกล่าวนั่นเองที่ถูกนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคมเป็นต้นมาถึงฉบับปัจจุบัน ด้วยข้อความว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” ซึ่งในรัฐธรรมฉบับแรกของคณะราษฎรที่ถูกทำให้เป็น “ฉบับชั่วคราว” ไม่ได้บัญญัติไว้เช่นนี้ เพราะเจตนารมณ์ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ยืนยันชัดเจนว่ากษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐต้องเป็น “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” (constitutional monarchy) ไม่ใช่กษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะศักดิ์สิทธิ์แตะไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้แบบกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

พูดให้ชัดก็คือ กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ใช่กษัตริย์ที่วางตัวประหนึ่งเป็นพระเจ้าหรือเทพเจ้า และต้องการให้ประชาชนปฏิบัติต่อเขาราวกับปฏิบัติต่อพระเจ้าหรือเทพเจ้า เช่นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษ (เป็นต้น) ก็คือ “คนเท่ากัน” กับประชาชน และประชาชนมีเสรีภาพตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนเสียดสีได้ ไม่ใช่กษัตริย์ที่ทรงอำนาจเทวสิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้แบบยุคเก่า

ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น ก็เพราะภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตยไม่อนุญาตให้มีบุคคลใดๆ ที่มีสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์แตะไม่ได้ที่อยู่เหนือหลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ ประมุขของรัฐดำรงสถานะอันทรงเกียรติที่ประชาชนให้ความเคารพ ก็เพราะว่าทำหน้าที่ของประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ เคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน 

พูดสั้นๆ คือเกียรติที่น่าเคารพของประมุขแห่งรัฐ ขึ้นอยู่กับการเป็นประมุขที่เคารพและทำตามหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย ไม่ใช่อยู่เหนือหลักการดังกล่าว

ดังนั้น การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในความหมายดังกล่าว จึงจำเป็นต่อการสร้างระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยดูจากประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นตัวอย่าง เช่นอังกฤษ บางประเทศในยุโรป และญี่ปุ่นเป็นต้น หากไม่ปฏิรูปก็ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้จริง

การอ้างว่าคนไทยเป็น “มนุษย์เผ่าพันธุ์พิเศษ” หรือ “ความเป็นไทย” มีความพิเศษที่ไม่เหมือนใครในโลก โดยยึดหลักษณะพิเศษของสถาบันกษัตริย์ที่แตะไม่ได้ตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และลักษณะพิเศษของ “พุทธราชาชาตินิยม” (พุทธศาสนาแบบสนับสนุนสถานะและอำนาจกษัตริย์ตามอุดมการณ์ราชาชาตินิยม) เป็นเกณฑ์ ย่อมเป็นการสร้าง “มายาคติ” กลบเกลื่อนและลทดทอนสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชนอย่างน่าเศร้า

การสร้างมายาคติเช่นนั้น ก็เพื่อที่จะต่อต้านการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อันเท่ากับเป็นการต่อต้านการสร้างระบอบเสรีประชาธิปไตยให้เป็นจริง เพื่อดำรงไว้ซึ่งสถานะราวกับเทพหรือสมมติเทพที่ศักดิ์สิทธิ์แตะไม่ได้ของกษัตริย์ อันเกิดประโยชน์แก่คนส่วนน้อยเท่านั้น แต่ปัจจุบันมายาคติดังกล่าวถูกสลายมนต์ขลังลงแล้วด้วยข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่มีกระแสตอบรับของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ  

ปัญหาอยู่ที่ทำอย่างไร ทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายก้าวหน้าจะหาข้อสรุปร่วมกันได้ว่า ทางออกอย่างสันติคือ ต้องนำข้อเสนอของทั้งฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และฝ่ายต่อต้านการปฏิรูปเข้าสู่การอภิปรายในสภา หรือลงประชามติผ่านกระบวนการที่เสรีและเป็นธรรม

การใช้มาตรา 122 ปิดปากฝ่ายเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ย่อมไม่ใช่ทางแก้ปัญหา มีแต่ตอกย้ำให้เห็นปัญหาที่ฝ่ายถูกไล่ล่าเปิดเผยให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นการสร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไม่สิ้นสุด เพราะเป็นการสร้างเงื่อนไขที่ “ไม่แฟร์” ให้เกิดขึ้นในสังคม ทำให้ประชาชนสองฝ่ายที่เห็นต่างกันต้องตีกันเอง ฝ่ายหนึ่งทำถูกหลักเสรีภาพในการพูด การแสดงออกตามหลักสากลอย่างไรก็ต้องผิดเสมอ แต่อีกฝ่ายนอกจากทำอะไรไม่ผิดแล้ว ยังใช้ 112 ไล่ล่าเอาผิดอีกฝ่ายที่คิดต่างจากพวกตนได้ตามอำเภอใจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท