Skip to main content
sharethis

‘พิจารณ์’ ซัด รัฐบาลละเลย ‘แรงงานข้ามชาติ’ จนกลายเป็นปัญหาน้ำผึ้งหยดเดียว ทั้งที่เคยเตือนมา 8 เดือนแล้ว ส.ส.สมุทรสาคร ก้าวไกล สะท้อนปัญหาในพื้นที่ จี้ รัฐเร่งวางมาตรการเยียวยาควบคู่ล็อคดาวน์

เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ตรวจคัดกรองแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงของการระบาดของ COVID-19 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา | ที่มาภาพ: มูลนิธิรักษ์ไทย : Raks Thai Foundation

21 ธ.ค.2563 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค เรื่อง 8 เดือนผ่านไป กับเรื่องแรงงานต่างชาติ ที่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว...จริงๆ โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยโพสต์และสื่อสารผ่านสื่อมวลชนถึงความเสี่ยงของกลุ่มชุมชนแรงงานต่างชาติในพื้นที่สมุทรสาคร โดยเปรียบเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ที่รัฐควรเข้าไปมีบทบาท ‘เชิงรุก’ ในการตรวจและค้นหาผู้ติดโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยมีข้อเสนอ 6 ข้อ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อที่ล่าสุดอยู่ที่เกือบ 700 ราย สะท้อนถึงความละหลวม ปล่อยปะละเลยของรัฐมาโดยตลอด

“โควิดกระจอก คำกล่าวของผู้ใหญ่ในรัฐบาลท่านหนึ่ง ที่ได้ตอกย้ำและแสดงให้เห็นถึงความละเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความลุแก่อำนาจของผู้นำรัฐบาลกับการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินต่อเนื่องอย่างยาวนาน ซึ่งดูจะสวนทางกับการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน และในท้ายที่สุด อาจจะไม่สามารถหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้ได้ 

“ความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ผ่านมา เป็นชัยชนะด้วยประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง ชัยชนะที่ผ่านมาเป็น ความเสียสละของพี่น้องประชาชน ที่ต้องแลกมาด้วยการถูกให้ออกจากงาน การถูกลดเวลาการทำงาน และการหยุดกิจการของผู้ประกอบการหลายราย หาใช่ความสำเร็จในการจัดการสถานการณ์ของรัฐบาล ในการป้องกันและแก้ปัญหาระยะยาว รอบนี้คงต้องถามดังๆ ถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อหา ‘ผู้รับผิดชอบ’ ต่อความล้มเหลวในการดูแลและป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พิจารณ์ ระบุ

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา พิจารณ์ เขียนบทความเตือนรัฐบาลเรื่อง  บทเรียนแรงงานต่างชาติในสิงค์โปร์ อย่าปล่อยให้กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว โดยบทความดังกล่าวระบุถึงตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงเวลานั้นที่กำลังสะท้อนว่ากลุ่มแรงงานต่างชาติเป็นกลุ่มที่รัฐไม่อาจมองข้ามเพราะจากกรณีของ สิงคโปร์ สถานการณ์ที่กำลังควบคุมได้เป็นไปอย่างน่าพึงพอใจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ต่อมากลับมียอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 1,426 คน โดยร้อยละ 81.2 มาจากแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ในหอพักที่ค่อนข้างคับแคบและแออัด บางห้องมีผู้อาศัยอยู่มากถึง 12 คน ซึ่งหมายความว่า หากมีผู้ติดเชื้อแม้เพียงหนึ่งราย สถานการณ์การแพร่ระบาดอาจพลิกผันไปได้เพียงชั่วข้ามคืน  กระนั้น เมื่อหันกลับมามองยังกลุ่มแรงงานต่างชาติในไทยเวลานั้นก็พบว่าสภาพโดยรวมและความพร้อมรับมือของเราเองก็แทบไม่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ เขายังระบุว่า จากการไปเยี่ยมประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างชาติมากถึง 2 แสนกว่าราย หรือเกือบเท่าจำนวนแรงงานต่างชาติในประเทศสิงคโปร์ ภายในชุมชน 43 แห่งในจังหวัด ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่มีความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในลักษณะเดียวกับประเทศสิงคโปร์ นอกจากนั้นยังพบว่า แรงงานต่างด้าวบางส่วนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีแนวทางและมาตราการที่ชัดเจนในการดูแลคนกลุ่มนี้ ภายใต้หลักคิดสำคัญในการกำหนดมาตรการคคือ (1) การช่วยเหลือดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนที่บุคคลหนึ่งควรได้รับ (2) ในฐานะฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และ (3) บทพื้นฐานการควบคุมและป้องกันจุดเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค

พิจารณ์ ยังได้มีข้อเสนอเชิงมาตรการต่อเรื่องนี้  6 ข้อ ได้แก่  1. การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันตนเองแก่แรงงานต่างชาติในภาษาที่หลากหลาย 2. การสร้างเครือข่ายนายจ้างในการติดตามดูแลสุขภาพของลูกจ้างต่างชาติ 3. การสนับสนุนเรื่องอาหารและความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่แรงงานต่างชาติที่ตกงานและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ 4. การสนับสนุนด้านสถานที่สำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นในการกักตัวเอง 5. การดำเนินมาตรการเชิงรุกในการสุ่มตรวจหาเชื้อภายในชุมชนที่มีแรงงานต่างชาติอาศัยจำนวนมาก และ 6. การกำหนดมาตรการฉุกเฉินสำหรับการตรวจโรคและดูแลรักษาแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าระบบการรักษาและลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค ข้อเสนอข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจกลุ่มคนที่หลากหลายและครอบคลุมภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ เพื่อป้องกันมิให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ส.ส.สมุทรสาคร ก้าวไกล สะท้อนปัญหาในพื้นที่ จี้ รัฐเร่งวางมาตรการเยียวยาควบคู่ล็อคดาวน์

วันเดียวกัน (21 ธ.ค.63) ทองแดง เบ็ญจะปัก ส.ส.จังหวัดสมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล สะท้อนปัญหาการจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกันนี้ได้เสนอแนวการแก้ไขและการเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์จังหวัดสมุทสาคร

ทองแดง กล่าวว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครแล้วหลายร้อยคนและมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอัตราเร่ง จึงสร้างความกังวลให้กับประชาชนอย่างสูงเพราะเพิ่งฟื้นตัวจากผลกระทบที่ผ่านมาระลอกแรก หากเศรษฐกิจฟุบอีกการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาคงไม่สามารถมทำได้ง่าย เว้นแต่ครั้งนี้จะมีแนวทางบริหารจัดการที่ดีขึ้นกว่าเดิมและเป็นการจัดการปัญหาอย่างเข้าใจ 

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่พบว่าเป็นแรงงานต่างชาติที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหอพักค่อนข้างคับแคบและแออัด การแพร่ระบาดจึงสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและขยายได้เป็นวงกว้างโจทย์ การยับยั้งการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติ จึงต้องเป็นการบริหารจัดการคนหมู่มากในพื้นที่ปิด โดยเราสามารถถอดบทเรียนจากประเทศสิงคโปร์ที่เคยประสบปัญหาเดียวกันและประสบความสำเร็จในการควบคุมได้ค่อนข้างดี

“ในระยะเร่งด่วน รัฐต้องสร้างแรงจูงใจในการให้แรงงานต่างชาติไม่ว่าจะเข้ามาโดยถูกหรือผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการตรวจและรักษาเพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค นอกจากนี้ต้องมีการมาตรการในการตรวจโรคที่ดี เพราะขณะนี้ระหว่างรอตรวจพบว่ายังมีการกระจุกตัวจนอาจกลายเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อต่อไปอีก มาตรการทางสาธารสุขในการรอตรวจจึงต้องเคร่งครัด มีระยะห่าง และไม่ควรปล่อยให้พี่น้องแรงงานต่างชาติหรือประชาชนในพื้นที่ ออกไปตรวจรักษากันเองแบบเฮโลกันไปเพราะความตระหนก แต่รัฐควรมีระบบที่ทำให้เกิดการจำกัดวงเพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ ไม่ใช่กลายเป็นว่าไปรับเชื้อหรือไปแพร่เชื้อ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค” 

ทองแดง ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน คือสร้างการรับรู้ของประชาชนทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ไม่สร้างแพะรับบาป เพราะไม่มีใครอยากที่จะป่วยเป็นโรค ต้องไม่สร้างความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ รวมทั้งต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีระบบการดูแลประชาชน หากมีการล็อคดาวน์เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่สมุทรสาครแห่กักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคหน้ากาก เจลล้างมือจนกลายเป็การซ้ำเติมสถานการณ์เข้าไปอีกเหมือนที่เคยเกิดมาแล้ว นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องเน้นย้ำเวลานี้คือ ต้องทำความเข้าใจตรงกันด้วยสติว่าเราจะร่วมกันฟันฝ่าสถานการณ์ความยากลำบากครั้งนี้ไปด้วยกันอีกครั้ง โดยทางจังหวัดต้องเตรียมสายด่วน Hotline หรือบริการแชทตอบคำถาม เพื่อสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ช่องทางเหล่านี้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างชาติ ควรมีระบบการวินิจฉัยโรคทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่น เพื่อประเมินคัดกรองตัวเองเบื้องต้น ลดการเสี่ยงเข้ามากระจุกตัวกันภายนอกที่พักอาศัย นอกจากนี้ ต้องรู้ข้อปฏิบัติเมื่อติดเชื้อ เช่นวิธีการสำรวจอาการตนเองหรือวิธีการกักตนเองที่บ้านเมื่อติดเชื้อแต่ไม่มีอาการรุนแรง รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการรักษาพยาบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจะต้องไม่ปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องโดดเดี่ยวหรือต้องออกไปขอรับบริจาคเองจากประชาชนดังที่เริ่มมีข่าวลือกันแล้วในพื้นที่

“พี่น้องประชาชนมีความเป็นห่วงกังวลอย่างมากว่า การที่จังหวัดสมุทรสาครถูกล็อกดาวน์และสั่งปิดสถานที่ทำมาหากินของประชาชนจำนวนมากเพื่อควบคุมโรคจะส่งผลกระทบต่อปากท้องของเขามาก รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความมั่นใจถึงมาตรการทางเศรษฐกิจ ดังที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอมาตลอดในการรับมือสถานการณ์โควิดระลอกก่อนไม่ว่า ล็อกดาวน์หนี้ ล็อกดาวน์ดอกเบี้ย ล็อกดาวน์ภาษี การพยุงรายได้ เปิดทางให้เข้าถึงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับพี่น้องประชาชน พร้อมกันนี้ก็จำเป็นต้องมีมาตรการในการดูแลตามแนวชายแดนควบคู่กันด้วย” 

ทองแดงยังกล่าวด้วยว่า การจัดการแรงงานต่างชาติ  ต้องเริ่มจากการยอมรับว่าพวกเขาคือกลไกสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ต้องมีการบริหารจัดการให้เข้ามาอยู่ในระบบมีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ไม่แตกต่างจากแรงงานในประเทศ โดยยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน ต้องมีการพูดคุยและหารือกันอย่างจริงจังจากหลายภาคส่วนทั้งมาตรการระยะสั้น กลางและยาว เพื่อสามารถจัดการปัญหานี้ให้ได้อย่างยั่งยืนต่อไปแม้ว่าจะไม่มีสถานการณ์โควิดแล้วก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net