Skip to main content
sharethis

วิกฤต COVID-19 ยิ่งทำให้ 'ข้อเสียเปรียบของความเป็นแม่ในตลาดแรงงาน' เด่นชัดขึ้น ผู้หญิงต้องเสียสละออกมาดูแลครอบครัว ทำงานที่ไม่ได้ค่าจ้าง สูญเสียโอกาสในตลาดแรงงานทั้งเรื่องรายได้ ความมั่นคงและโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ด้านสถานการณ์ในไทย ผู้หญิงรายได้ลดลงช่วง COVID-19 วัยกลางคนเสี่ยงตกงาน


ที่มาภาพประกอบ: UN Women/Pathumporn Thongking

ความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงาน คือสิ่งที่คนทำงานที่เป็นพ่อแม่พยายามอย่างยิ่งในช่วงที่สถานการณ์ของตลาดแรงงานยังปกติ แต่กระนั้นความสมดุลระหว่างงานและครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะกับผู้หญิงผู้ที่เป็นแม่ และยิ่งในวิกฤต COVID-19 สถาการณ์นี้ยิ่งแย่ลงอีก

ช่วงสูงสุดของการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 ในปี 2563 นั้น มีการประเมินว่าเด็กนักเรียนกว่า 1,700 ล้านคน ที่เคยไปโรงเรียนในช่วงเวลาปกติได้รับผลกระทบ มีจำนวนเด็ก 224 ล้านคน ไม่ได้กลับไปเรียนหนังสือที่ดรงเรียนต้องอยู่บ้านหยุดเรียนหรือเรียนทางไกลแทน การอยู่บ้านของเด็ก ๆ เหล่านี้พวกเขาก็ต้องการคนดูแล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคุณแม่มักจะต้องเสียสละอยู่บ้านเพื่อดูแลพวกเขา นี่คืองานที่ไม่ได้ค่าจ้าง และพวกเธอต้องสูญเสียโอกาสในตลาดแรงงาน ทั้งเรื่องรายได้ ความมั่นคงและโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน

ประเทศที่มีรายได้สูงและปานกลาง ผู้หญิง 'ตกงาน-ว่างงาน' มากกว่าผู้ชาย

การระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้ กระทบโอกาสในตลาดแรงงานของผู้หญิงเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากรายงาน ILO Monitor: COVID-19 and the world of work. Fifth edition Updated estimates and analysis ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ทำการเก็บข้อมูลใน 55 ประเทศที่มีรายได้สูงและปานกลาง พบว่าผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป ประมาณ 29.4 ล้านคน ตกงานระหว่างไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ผู้ชายตกงานน้อยกว่าที่ประมาณ 29.2 ล้านคน เนื่องจากมีผู้หญิงอยู่ในตลาดแรงงานน้อยกว่า สัดส่วนการตกงานของผู้หญิงจึงสูงขึ้น ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2563 สัดส่วนผู้หญิงที่อยู่นอกตลาดแรงงานมีมากกว่าผู้ชายถึง 1.7 เท่าใน 55 ประเทศ โดยภูมิภาคลาตินอเมริกามีสัดส่วนสูงสุดที่ 2.1 เท่า ส่วนภูมิภาคอเมริกาเหนือที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักจาก COVID-19 จำนวนผู้หญิงที่อยู่นอกตลาดแรงงานในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 83 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากที่จำนวน 66 ล้านคนก่อน COVID-19 ระบาด) เทียบกับผู้ชายในภูมิภาคนี้ที่อยู่นอกตลาดแรงงานเพียง 40 ล้านคนเท่านั้น (เพิ่มขึ้นจากที่จำนวน 26 ล้านคนก่อน COVID-19 ระบาด) 

เหตุใดผู้หญิงจึงต้องออกจากตลาดแรงงาน

โดยทั่วไปแล้วการมีส่วนร่วมกับตลาดแรงงานของผุ้หญิง มักถูกกำหนดจากความรับผิดชอบในครอบครัว การทำงานบ้านที่ไม่ได้ค่าตอบแทน ซึ่งเป็นงานที่ผู้ชายไม่ต้องทำ โดยยังมีความแตกต่างกันไปตามสถานภาพการสมรสและการมีบุตร ข้อมูลจากสหภาพยุโรป (EU) แสดงให้เห็นว่าการลางาน-ขาดงาน ของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ในช่วงแรก ที่โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กต่าง ๆ ถูกปิด

ในสหรัฐอเมริกา มีผู้หญิงตกงานมากกว่าผู้ชายถึง 4 เท่าในช่วงเดือน ก.ย. 2563 โดยผู้หญิง 1 ใน 4 คน ที่ตกงานในช่วงที่เกิดโรคระบาด COVID-19 ระบุว่าพวกเธอต้องออกจากงานเพราะสถานที่ดูแลเด็กต่าง ๆ ปิดตัว ในสหราชอาณาจักรผู้หญิงตกงานมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า และพวกเธอระบุว่าสมดุลในชีวิตการทำงานและชีวิตของพวกเธอแย่ลงร้อยละ 22 เทียบกับผู้ชายที่บอกว่าสมดุลในชีวิตการทำงานและชีวิตแย่ลงเพียงร้อยละ 16

นอกจากนี้มีแนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่ในบราซิล ชิลี คอสตาริกา และเม็กซิโก แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเด็ก ๆ มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานลดลงอย่างรวดเร็วกว่าผู้ชาย แนวโน้มนี้ยิ่งเด่นชัดสำหรับผู้หญิงที่อาศัยอยู่กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี นอกจากนี้ ในบางประเทศผู้หญิงต้องทำงานมากกว่าผู้ชายถึง 11 เท่าในการดูแลครอบครัวและคนรอบข้างโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่อย่างใด

สถานการณ์ไทย ผู้หญิงรายได้ลดลงช่วง COVID-19 วัยกลางคนเสี่ยงตกงาน

จากรายงาน 'ผลกระทบ โควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน: กรณีศึกษาแรงงานหญิง' โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) พบว่าจำนวนประชากรและจำนวนประชากรวัยมีงานทำของผู้หญิง เปรียบเทียบไตรมาส 2 ของปี 2563 กับปี 2562 พบว่าจำนวนประชากรหญิงของไทยในไตรมาส 2 ปี 2563 มีจำนวน 34.92 ล้านคน หรือร้อยละ 51.3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย และมีประชากรหญิงในวัยแรงงาน 29.40 ล้านคน หรือร้อยละ 51.7 ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมด จะเห็นว่าประเทศไทยมีประชากรหญิงวัยแรงงานมากกว่าผู้ชาย เมื่อประชากรหญิงเหล่านี้กลายเป็นกำลังแรงงานจึงมีผู้หญิงเหลือเพียง 17.29 ล้านคน หรือร้อยละ 45.3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หญิงจะต้องทำงานช่วยครอบครัวด้วยอีกด้านหนึ่งจึงเหลือผู้หญิงที่ทำงานในตลาดแรงงานลดลง

เมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขการว่างงานในไตรมาสที่สองของปีนี้พบว่า ผู้หญิงว่างงานทั้งสิ้น 3.5 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.12% ของตัวเลขแรงงานเพศหญิงทั้ง 16 ล้านคนในระบบ คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 94.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่สถิติว่างงานของเพศชายมากกว่าเล็กน้อยที่ 4.1 แสนคน โดยสาเหตุที่ทำให้แรงงานหญิงมีตัวเลขว่างงานน้อยกว่าผู้ชายไม่ได้มากจากความมั่นคงในหน้าที่การงาน แต่เป็นเพราะอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ต่ำลง ด้วยเหตุนี้ ชั่วโมงการทำงานรวมของแรงงานหญิงจึงลดลง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของแรงงานเหล่านี้ 

ในอดีตผู้หญิงต้องทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงขึ้นไป (ทำงาน OT) เนื่องจากต้องการรายได้เพิ่มเพื่อใช้ดูแลครอบครัวเนื่องจากทำงานกะเดียวรายได้ไม่ค่อยเพียงพอ ผลการศึกษาพบว่าแรงงานหญิงทำงานระหว่าง 40-48 ชั่วโมงจำนวนลดลงจาก 8.76 ล้านคนเป็น 7.575 ล้านคนหรือร้อยละ 13.5 และทำงาน มากกว่า 48 ชั่วโมงลดลง จำนวน 2.388 ล้านคนหรือร้อยละ 31.5 กล่าวโดยสรุปก็คือ แรงงานหญิงมีทั้งยังไม่ได้ทำงาน ทำงานต่ำระดับและไม่ได้ทำงานล่วงเวลา (OT) รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 16.82 ล้านคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาไม่มีรายได้หรือมีรายได้น้อยลงจนไม่สามารถช่วยเหลือการเงินครอบครัวได้เหมือนช่วงก่อน COVID-19 ระบาด

จากผู้ว่างงานในไตรมาส 2 ปี 2563 ประมาณ 0.335 ล้านคน ปรากฏว่ามีอาชีพที่ผู้หญิงว่างงานจำนวนมากเรียงตามลำดับเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี  2562 คือ พนักงานบริการและพนักงานขายในร้านค้าและตลาด (+283%) อาชีพพื้นฐานต่างๆ (+241%) อาชีพเสมียน (+238%) ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ (+198%) และผู้ปฏิบัติงานเครื่องจักรโรงงานฯ (+166%) ผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการระดับอาวุโสและผู้จัดการ (+163%) (ซึ่งในกลุ่มนี้อาชีพที่ถูกกระทบมากคือ ผู้จัดการซึ่งเป็นงานเอกชน) อาชีพผู้ปฏิบัติงานฝีมือทางด้านการเกษตรและการประมง (+94%) อาชีพผู้ปฏิบัติงานในธุรกิจด้านใช้ความสามารถฯ (+79%) และอาชีพที่ว่างงานเพิ่มน้อยที่สุดคือ ช่างเทคนิคสาขาต่างๆ (+5%) เท่านั้น

ถ้าจะเปรียบเทียบผลกระทบของ COVID-19 ระหว่างชายและหญิง เปรียบเทียบไตรมาส 2 ปี 2563 กับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 พบว่าผู้มีงานทำเพศชายถูกกระทบเพียงร้อยละ -1.5 และเพศหญิงถูกกระทบร้อยละ -2.3

สำหรับผู้หญิง ช่วงอายุ 15-49 ปี มีการทำงานที่ลดลง โดยแนวโน้มเกิดจากผู้หญิงที่มีอายุน้อย 15-19 และ 20-24 ปี ลดลงร้อยละ (-6.4 และ -7.9) ตามลำดับ ค่อย ๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆไปตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้นจากช่วงอายุ 25-29 ปี ลดลงร้อยละ  -4.8 ไปจนถึงช่วงอายุ 40-44 ปี การมีงานทำลดลงต่ำสุดร้อยละ -1.1 แต่การมีงานทำกลับลดลงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ -5.5 อีกครั้ง ผู้มีงานทำช่วงอายุ 50 ถึง 70 ปีขึ้นไปถึงจะถูกกระทบบ้างแต่การมีงานทำยังสามารถประคองตัวให้เพิ่มขึ้นจนไม่ติดลงไปจนถึงอายุวัยปลาย 70 ปีขึ้นไปดังได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันถึงสาเหตุว่าทำไมผู้หญิงวัย 50 ปีขึ้นไปยังคงสภาพการมีงานทำที่เพิ่มขึ้นอยู่ได้

ที่มาข้อมูล
Fallout of COVID-19: Working moms are being squeezed out of the labour force (UN Women, 25 November 2020)
ILO Monitor: COVID-19 and the world of work. Fifth edition Updated estimates and analysis (ILO, 30 June 2020)
ผลกระทบ โควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน: กรณีศึกษาแรงงานหญิง (ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และโชคชัยชาญ วิโรจน์สัตตบุษย์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ, 26 ต.ค. 2563)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net