FTA WATCH ร่อน จม.เปิดผนึกถึงรัฐบาล ร้องยุติการเข้าร่วมเจรจา CPTPP จนกว่าสร้างความพร้อมทุกด้านตามข้อเสนอของสภาฯ

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องยุติการเข้าร่วมเจรจา CPTPP จนกว่าสร้างความพร้อมทุกด้านตามข้อเสนอของสภาฯ

 

21 ธ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA WATCH) ออกจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เรียกร้องยุติการเข้าร่วมเจรจา CPTPP  หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก จนกว่าสร้างความพร้อมทุกด้านตามข้อเสนอของสภาฯ

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

เอฟทีเอว็อทช์ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องยุติการเข้าร่วมเจรจา CPTPP จนกว่าสร้างความพร้อมทุกด้านตามข้อเสนอของสภาฯ

เรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ตามที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ได้มีมติรับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ของสภาผู้แทนราษฎร และมอบหมายให้นายดอน ปรมัตรวินัย รองนายกฯ รับข้อสังเกตไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วันเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป  ซึ่งหน่วยราชการต่างๆจะได้จัดส่งความเห็นจากการพิจารณาข้อสังเกตดังกล่าวมาให้ทางกระทรวงการต่างประเทศวันนี้ (21 ธันวาคม 2563)  นั้น

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ได้ติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับกระทบต่อฐานทรัพยากร เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม ระบบสุขภาพ  รวมทั้งความเป็นธรรมทางสังคม มายาวนานกว่าทศวรรษ เห็นว่า ประเทศไทยยังไม่ควรเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP จนกว่าจะได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อม ตามผลการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญฯที่ระบุประเด็นอ่อนไหวซึ่งรัฐบาลต้องนำไปปฏิบัติก่อนการเข้าร่วมการเจรจา อาทิ

 ประเด็นเกษตรและพันธุ์พืช 

“ประเทศไทยยังไม่พร้อมจะเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเปิดตลาดเสรีสินค้าเกษตรและจากการรอนสิทธิในการใช้พืชพันธุ์การค้าหลังจากการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญา UPOV ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง”   โดยรัฐบาล “ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาพันธุ์ เอื้อประโยชน์ให้มีการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ให้เหมาะสมกับบริบทวิถีชีวิตสังคมเกษตรกรรมไทย และออกกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ”

ประเด็นด้านสาธารณสุข “ยังมีประเด็นที่ต้องศึกษาในลักษณะบูรณาการและลงลึกถึงขนาดของผลกระทบทั้งการขึ้น

ทะเบียนตำรับยา การเข้าถึงยาของประชาชน และอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของไทย เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขของไทย และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยที่ได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลก และต้องศึกษาถึง การเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งภาระงบประมาณ”

3. ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 

“ข้อสงวนที่ต้องเจรจาให้ได้ อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจที่มีพันธกิจเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ ยืนยันสิทธิของรัฐบาลในการใช้นโยบายจัดซื้อจัดจ้างที่มีการชดเชย (offset) กับผู้ซื้อ เช่นการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสนับสนุนบัญชีนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการไทย ตั้งข้อสงวนสำหรับมาตรการควบคุมยาสูบ แอลกอฮอล์ และการคุ้มครองผู้บริโภค และต้องจัดทำ side letter เพื่อยกเว้นสิทธิการกำกับดูแลของรัฐ (Right to Regulate) สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุข ออกจากการฟ้องร้องรัฐด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS)

ประเด็นสินค้านำเข้า

“รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างอัตราอากรขาเข้าของวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพื่อลดความเสียเปรียบของผู้ประกอบการในไทยจากสินค้านำเข้า”

เอฟทีเอว็อทช์ จึงเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำของรัฐบาล ให้ยุติความพยายามในการเข้าร่วมการเจรจา CPTPP จนกว่าจะได้ดำเนินการตามข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นลำดับ ดังนี้

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในหลายด้านที่ระบุไว้ในรายงานการศึกษา เช่น ผลกระทบต่อด้านสุขภาพ โดยต้องมีข้อมูลเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณที่เกิดจากการเยียวยาผลกระทบด้านลบ

เตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย นโยบาย และสร้างความเข้มแข็งในทุกด้านตามข้อเสนอของกรรมาธิการฯ เช่น ในประเด็นด้านการเกษตรและพันธุ์พืชก่อนจะแสดงความจำนงเข้าร่วมเจรจา   

ก่อนการเจรจาของรัฐบาลต้องมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว และเสนอต่อสภาฯเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนการเจรจา  ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงดังกล่าว

สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและโปร่งใสตลอดกระบวนการเจรจา เพื่อป้องกันผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ระบบสุขภาพ  ความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า  

จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบว่ารัฐบาลได้เตรียมความพร้อมทั้ง 5 ประเด็นข้อเสนอของสภาฯ หรือได้แสดงเจตจำนงในการดำเนินการดังกล่าวแต่ประการใด จึงขอเรียกร้องให้ยุติความพยายามในการเข้าร่วมเจรจา จนกว่าจะมีการดำเนินการครบถ้วนตามข้อเสนอข้างต้น

ข้อเสนอในการจัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นข้อเสนอของรัฐบาล และพรรคการเมืองต่างๆทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล  และเมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จก็ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎรฯ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะต้องแสดงความจริงใจในการดำเนินการตามผลการศึกษาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด มิใช่การใช้กระบวนการทางสภาฯเพียงเพื่อซื้อเวลา หรือเป็นเพียงกลยุทธเพื่อลดทอนกระแสคัดค้านของประชาชน

ขอแสดงความนับถือ

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)

21 ธันวาคม 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท