Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การค้าบริการทางเพศเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษยชาติมาอย่างยาวนานและมีพัฒนาการแต่งต่างกันไปตามสังคมวัฒนธรรม แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่วัฒนธรรมส่วนใหญ่จะมีความเห็นพ้องกันเกี่ยวกับอาชีพการค้าบริการคือมุมมองเชิงลบเกี่ยวกับพนักงานบริการ เช่น ผิดศีลธรรม สกปรก ต้อยต่ำ ตัวแพร่เชื้อโรค จึงนำไปสู่การเขียนกฎหมายเพื่อจัดการกับพนักงานบริการด้วยวิธีต่าง ๆ

กฎหมายในฐานะข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันของสังคม จึงกำหนดความสัมพันธ์ต่างคนในสังคมและสถาบันต่าง ๆ คุ้มครองคนในสังคมไม่ให้ถูกละเมิดจากคนในสังคมด้วยกันเองหรือสถาบันอื่น ๆ รวมถึงกำหนดข้อห้ามของแต่ละสังคมอีกด้วย ในบางครั้งกฎหมายได้สอดแทรกวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนเจตนารมณ์ของคนบางกลุ่มเข้าไปอีกด้วย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการสมรส กฎหมายข้อห้ามเกี่ยวกับสถานที่ทางศาสนา กฎหมายเกี่ยวกับการแต่งกาย กฎหมายเกี่ยวกับบางอาชีพที่อาจไม่ได้รับการยอมรับจากวัฒนธรรมประเพณีหรือคนบางกลุ่ม เช่น อาชีพพนักงานบริการ

สำหรับอาชีพพนักงานบริการนั้นมีกฎหมายจัดการเกี่ยวกับอาชีพนี้ในหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม มุมมองต่ออาชีพพนักงานบริการ และสถานการณ์ทางการเมือง สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 รูปแบบขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ทางกฎหมายของประเทศนั้น ๆ คือ 1. Prohibition 2. Abolisionism 3. Neo-Abolisionism 4. Legalization 5. Decriminalization

1. Prohibition (ห้ามอย่างเด็ดขาด) ในมุมมองนี้อาจมองว่าอาชีพการค้าบริการเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมหรือมองว่าเป็นอาชีพที่กดขี่สตรีเพศและส่งเสริมให้เกิดการค้ามนุษย์ จึงออกกฎหมายเพื่อห้ามการค้าบริการโดยเด็ดขาด โดยมองว่าเป็นการปกป้องและป้องกันมิให้เกิดการการกดขี่สตรีเพศ และป้องกันการค้ามนุษย์อีกด้วย ในเจตนารมณ์กฎหมายรูปแบบนี้จะห้ามการค้าบริการทุกรูปแบบ การรวมตัวกันค้าบริการ การค้าบริการตามท้องถนน การค้าบริการในสถานประกอบการ การมีส่วนร่วมของบุคคลที่สาม (แมงดา แม่เล้า เจ้าของสถานประกอบการ) และมีมุมมองกับพนักงานบริการเป็นเหยื่อของบุคคลอื่น ประเทศที่ใช้เจตนารมณ์กฎหมายรูปแบบนี้มีตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย แอฟริกาใต้

2. Abolitionism (ลดจำนวนและยกเลิกอาชีพผ่านกฎหมาย) สำหรับมุมมองนี้ยังอาจมองว่าอาชีพการค้าบริการเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมหรือมองว่าเป็นอาชีพที่กดขี่สตรีเพศและส่งเสริมให้เกิดการค้ามนุษย์ แต่เล็งเห็นว่าการห้ามอย่างเด็ดขาดนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และทำให้อาชีพค้าบริการหายไปได้ จึงยกเลิกความผิดเกี่ยวกับการค้าบริการและออกกฎหมายเพื่อควบคุมอาชีพค้าบริการให้ทำได้ยากขึ้นด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การจำกัดสถานที่ในการขายบริการ จำกัดวิธีการ และใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุม เช่น กฎหมายเกี่ยวกับความสะอาดเรียบร้อยของที่สาธารณะ และพยายามกันบุคคลที่สาม ได้แก่เจ้าของสถานบริการ แมงดา แม่เล้าออกจากพนักงานบริการด้วยการทำให้บุคคลที่สามผิดกฎหมาย อีกทั้งมีมาตรการเพื่อให้ออกจากการค้าบริการ เช่น การฝึกอาชีพ การเยียวยาผลกระทบทางจิตใจ เจตนารมณ์กฎหมายในรูปแบบนี้ยังคงมีมุมมองกับพนักงานบริการเป็นเหยื่อของบุคคลอื่นมิได้สมัครใจมาทำ แต่เมื่อเกิดการค้าบริการที่ขัดกับกฎหมายนั้นพนักงานบริการยังคงถูกลงโทษอยู่เช่นเดิม ประเทศที่ใช้เจตนารมณ์กฎหมายรูปแบบนี้มีตัวอย่างเช่น อังกฤษ อินเดีย มาเลเซีย

3. Neo-Abolitionism (ลดจำนวนและยกเลิกอาชีพผ่านกฎหมายด้วยการหยุดอุปสงค์) เจตนารมณ์ทางกฎหมายแบบนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โมเดลสแกนดิเนเวีย เนื่องจากเกิดขึ้นครั้งแรกในภูมิภาคสแกนดิเนเวียที่ประเทศสวีเดน เหมือนทั้งสองรูปแบบแรกเจตนารมณ์นี้มองว่าอาชีพการค้าบริการเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมหรือมองว่าเป็นอาชีพที่กดขี่สตรีเพศและส่งเสริมให้เกิดการค้ามนุษย์ จึงออกกฎหมายเพื่อควบคุมการค้าบริการและกันบุคคลที่สามออกไปเช่นเดียวกับ Abolitionism แต่ได้ยกเลิกความผิดเกี่ยวกับผู้ค้าบริการโดยตั้งความผิดให้ผู้ซื้อบริการแทน เนื่องจากมองว่าเป็นการทำลายอุปสงค์ของการค้าบริการลงเมื่อไม่มีอุปสงค์อุปทานจะหายไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ และมองว่าไม่ควรตั้งความผิดกับผู้ที่ถูกกระทำคือพนักงานบริการ ในรูปแบบกฎหมายนี้มีมาตรการเพื่อให้ออกจากการค้าบริการเช่นเดียวกับ Abolitionism กระนั้นก็ยังมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กับพนักงานบริการเช่นเดิม ประเทศที่ใช้เจตนารมณ์กฎหมายรูปแบบนี้มีตัวอย่างเช่น สวีเดน นอร์เวย์ แคนาดา ฝรั่งเศส

4. Legalization (ตั้งกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุม) เป็นเจตนารมณ์กฎหมายที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในการทำให้อาชีพค้าบริการถูกกฎหมาย กระนั้นในเจตนารมณ์นี้ยังคงมีมุมมองคล้ายเดิมคืออาชีพการค้าบริการเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมและส่งเสริมให้เกิดการค้ามนุษย์ แต่มองว่าควรใช้กฎหมายในการควบคุมอาชีพนี้ดีกว่าใช้กฎหมายกดดันให้คนเลิกประกอบอาชีพเนื่องจากมีผลกระทบจากการใช้กฎหมายกดดันเปิดช่องโหว่เกี่ยวกับการบังคับใช้ เช่น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐและประชาชน ในรูปแบบนี้จึงออกกฎหมายเพื่อควบคุมอาชีพพนักงานบริการโดยให้พนักงานที่ผ่านเกณฑ์ข้อบังคับต่าง ๆ ทางกฎหมายขึ้นทะเบียนเป็นกิจลักษณะ กำหนดสถานที่ค้าบริการให้ชัดเจนและอณุญาตให้บุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องในการค้าขายได้ ในรูปแบบนี้ยังคงมีมาตรการเพื่อให้ออกจากการค้าบริการเนื่องจากมิได้มุมมองข้างต้นเกี่ยวกับอาชีพค้าบริการ ประเทศที่ใช้เจตนารมณ์กฎหมายรูปแบบนี้มีตัวอย่างเช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี

5. Decriminalization (ยกเลิกความผิดทั้งหมด) เป็นเจตนารมณ์กฎหมายที่ก้าวหน้าที่สุดในปัจจุบันกล่าวคือมิได้มองว่าการค้าบริการเป็นอาชีพที่ผิดศีลธรรม กดขี่ หรือสนับสนุนการค้ามนุษย์แต่อย่างใดหากแต่มองว่าการค้าบริการเป็นอาชีพหนึ่งที่เท่าเทียมกับอาชีพอื่นและไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมพิเศษ จึงยกเลิกกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการค้าบริการรวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเกี่ยวกับความสะอาดเรียบร้อยของที่สาธารณะ และอนุญาตให้บุคคลที่สามเข้ามาจัดการได้ โดยใช้กลไกของกฎหมายแรงงานในการควบคุมการทำงานและต่อรองกับนายจ้างที่เป็นบุคคลที่สามได้ ประเทศที่ใช้เจตนารมณ์กฎหมายรูปแบบนี้มีตัวอย่างเช่น นิวซีแลนด์ บางรัฐในออสเตรเลีย

เมื่อนำเจตนารมณ์ทางกฎหมายนี้มาเปรียบเทียบกันแล้วจะพบว่าในกลุ่มที่ยังมองว่าการค้าบริการผิดศีลธรรมนั้นยังคงมีโทษสำหรับการค้าบริการอยู่แม้ไม่ใช่โทษจากการค้าบริการก็ตาม เช่น กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและความสะอาดของสาธารณะ เนื่องจากมองว่าอาชีพนี้ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของสังคม ทำให้ผู้ค้าบริการไม่สามารถค้าบริการสถานที่สาธารณะได้จึงต้องขายบริการในสถานที่ไม่ปลอดภัยเพื่อให้พ้นการจับกุมของตำรวจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ขายบริการขึ้นไปอีก ในต่างประเทศเช่นอเมริกาที่ห้ามค้าประเวณีอย่างสิ้นเชิงหรือในอังกฤษที่ใช้กฎหมายเพื่อลดจำนวนพนักงานบริการมักมีเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่องกับพนักงานบริการเนื่องจากเป็นต้องให้บริการในสถานที่ลับตาคนไม่ปลอดภัยอยู่เสมอ จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้ผลักให้คนกลุ่มนี้ประกอบอาชีพได้ลำบากและอันตรายมากขึ้น

สำหรับกลุ่มที่ให้อาชีพพนักงานถูกกฎหมายในแบบ Legalization จะคุ้มครองผ่านกฎหมายเฉพาะมิใช่กฎหมายแรงงาน จึงไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับพนักงานประเภทอื่นและถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้ค้าบริการในสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น (สถานบริการ) นายจ้างจึงมีอำนาจต่อรองสูงกว่าพนักงานบริการประกอบกับกฎหมายแรงงานไม่ได้รองรับอาชีพนี้พนักงานบริการจึงมักถูกเอาเปรียบจากกฎหมายประเภทนี้ และยังมีการดำเนินคดีกับพนักงานที่ไม่ได้ประกอบอาชีพในสถานที่ที่กำหนดไว้อีกด้วย ในรูปแบบ Decriminalization ได้ยกเลิกความผิดเกี่ยวกับการขายบริการทั้งหมด จึงสามารถขายบริการได้อย่างเสรีในทุกสถานที่ และได้รับการควบคุมภายใต้กฎหมายแรงงานจึงสามารถประกอบอาชีพนี้ได้อย่างเสรี สามารถค้าบริการในพื้นที่สาธารณะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้นอีกทั้งมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างเพื่อค่าจ้างและชั่วโมงทำงานที่เป็นธรรม เมื่อการค้าบริการไม่ใช่ความผิดแล้วจึงสามารถประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัยและมีศักดิศรีเท่าอาชีพอื่น ๆ

 

หมายเหตุ

* Prohibitionism ในบางประเทศนั้นให้ความผิดกับผู้ซื้อด้วยหากขัดกับกฎหมายที่มีศีลธรรมเกี่ยวข้องหรือซื้อบริการในสถานค้าที่บริการ เช่น อัลจีเรีย อัฟกานิสถาน เวียตนาม

** Legalization กฎหมายในรูปแบบนี้อนุญาตและคุ้มครองพนักงานบริการต่อเมื่อพนักงานบริการลงทะเบียนและค้าบริการในสถานที่ที่รัฐกำหนดไว้ หากไม่ได้ลงทะเบียนหรือค้าบริการนอกสถานที่ที่กำหนดถือว่าผิดกฎหมาย

 

แนวคิดเกี่ยวกับการค้าบริการ

ความผิดของผู้ขายบริการ

ความผิดของผู้ซื้อบริการ

การขึ้นทะเบียนพนักงานบริการ

กฎหมายจำกัดการค้าบริการ

การจัดบริเวณการขายบริการ

Prohibitionism

ผิดศีลธรรม,ค้ามนุษย์

+

-

-

+

+

Abolisionism

ผิดศีลธรรม,ค้ามนุษย์

+

-

-

+

+

Neo-Abolisionism

ผิดศีลธรรม,ค้ามนุษย์

-

+

-

+

+

Legalization

ผิดศีลธรรม,ค้ามนุษย์

+/-

-

+

+

+

Decriminalization

เป็นงานชนิดหนึ่ง

-

-

-

-

-

 

ที่มาภาพ: จากนิทรรศการงานศิลปะในซ่องร้าง โดย กลุ่มขอนแก่นเมนิเฟสโต้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net