ทุกวันนี้ความขัดแย้งที่นำไปสู่การตายมากที่สุดในโลกไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างรัฐ แต่เป็นความขัดแย้งภายในรัฐ ซึ่งทำให้ทรราชหันมาต่อสู้กับประชาชนที่ถูกกดขี่ เป็นที่เชื่อกันอย่างแพร่หลายว่าประชาชนที่ถูกกดขี่เหล่านี้มีสองทางเลือก กล่าวคือ จะยอมจำนนต่อทรราชโดยหวังให้ทรราชค่อย ๆ พัฒนาตัวเองให้นุ่มนวลขึ้น หรือจะเปิดฉากต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ มุมมองที่จำกัดจำเขี่ยเช่นนี้ถูกหักล้างด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าการรณรงค์ต่อสู้ด้วยสันติวิธี (บางครั้งเรียกกันว่าขบวนการ “พลังประชาชน” หรือ “ความขัดแย้งไร้ความรุนแรง”) เกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจกัน ตั้งแต่ปี 1900 เป็นต้นมา โดยเฉลี่ยแล้วมีการรณรงค์ต่อสู้ด้วยสันติวิธีครั้งใหญ่เพื่อท้าทายผู้ปกครองที่อยู่ในอำนาจปีละ 1 ครั้ง[i] ขบวนการที่นำโดยพลเมืองเหล่านี้มีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดผลของความขัดแย้งที่มีนัยสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยนับตั้งแต่ปี 1972 เป็นต้นมา[ii] แต่กระนั้น นักวางแผนนโยบาย นักวิชาการ นักข่าว และผู้สังเกตการกลุ่มอื่น ๆ ที่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ยังคงดูแคลนความสามารถของประชาชนคนธรรมดาในการบ่อนทำลายทรราชเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิโดยไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
จุดบอดของการวิเคราะห์
การลุกฮือในประเทศตูนิเซียและอียิปต์ในปี ค.ศ. 2011 และการลุกฮือที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นในประเทศยูเครนในปี ค.ศ. 2014 เป็นตัวอย่างการต่อสู้ด้วยสันติวิธีในระดับรากหญ้าที่สามารถทำให้ผู้คนประหลาดใจถึงอำนาจและศักยภาพในการขับเคลื่อนสังคมของการต่อสู้ดังกล่าว ไม่มีใครคาดการณ์ไว้ก่อนเลยว่าการลุกฮือเหล่านี้จะเกิดขึ้น แต่นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่พิเศษกว่าที่อื่นแต่อย่างใด แทบจะไม่มีใครมองออกเลยว่า “การปฏิวัติสี” จะเกิดขึ้นในเซอร์เบีย (ค.ศ.2000) จอร์เจีย (ค.ศ.2003) และยูเครน (ค.ศ. 2004) ทศวรรษก่อนหน้านี้ ไม่มีใครคาดการณ์เลยเช่นกันว่าขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีจะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายจุดจบของเผด็จการเฟอร์ดินาน มาร์กอสในฟิลิปปินส์ (ค.ศ.1986) เผด็จการออกุสโต ปิโนเชต์ในชิลี (ค.ศ. 1988) ระบอบโซเวียตในโปแลนด์ (ค.ศ. 1989) หรือระบอบเหยียดสีผิวในแอฟริกาใต้ (ค.ศ. 1992)
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติพยายามอธิบายความขัดแย้งไร้ความรุนแรงเหล่านี้และความขัดแย้งอื่น ๆ พวกเขามักจะได้ข้อสรุปว่ากรณีที่การต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นข้อยกเว้นในประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์จำเพาะของประเทศหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เท่านั้น เมื่อพลวัตของขบวนการเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นกรณีเฉพาะ กรณีเหล่านี้จึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งพิสูจน์ถึงยุทธศาสตร์ทั่วไปที่ประชาชนสามารถนำมาใช้เป็นฐานอำนาจเพื่อต่อสู้กับผู้กดขี่หลากหลายรูปแบบได้ อย่างไรก็ตาม จุดบอดดังกล่าวกลับไม่ส่งผลลบอะไรกับทรราชทั่วโลกเลย ปัจจุบันทรราชเหล่านี้ตระหนักแล้วว่าขบวนการพลังประชาชนนั้นเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อการอยู่ในอำนาจต่อไปของพวกเขา
จากกรณีความขัดแย้งไร้ความรุนแรงที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่กลุ่มผู้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจะต้องปรับเปลี่ยนความเข้าใจให้เท่าทันว่าเหตุใดขบวนการพลังประชาชนจึงประสบความสำเร็จ ความขัดแย้งที่ไร้ความรุนแรงนั้นได้ผลในกรณีหลากหลายมากเพราะการต่อสู้ชนิดนี้ใช้ประโยชน์จากความเป็นจริงระดับมูลฐาน 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ ระบอบอำนาจนิยมนั้นจะรักษาอำนาจควบคุมไว้ได้ก็ต้องพึ่งพาการเชื่อฟังจากประชาชนจำนวนมากซึ่งระบอบนี้กดขี่อยู่ และคนในสังคมไม่ได้สวามิภักดิ์ต่อระบอบอำนาจนิยมด้วยความรู้สึกยินยอมพร้อมใจเท่ากันทุกคน
การต่อสู้ด้วยสันติวิธีทำงานอย่างไร
จากความเป็นจริงสองประการนี้ นักต่อสู้ด้วยสันติวิธีจึงระดมประชาชนเพื่อเพิกถอนความยินยอมเชื่อฟังและสร้างแรงกดดันด้วยสันติวิธีอย่างเป็นระบบ—ผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น การนัดหยุดงาน การคว่ำบาตร การประท้วงใหญ่ และปฏิบัติการอื่น ๆ—เพื่อขัดขวางระบบการกดขี่ และนำมาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรม เมื่อการต่อสู้ด้วยสันติวิธีมีผู้มาเข้าร่วมหลากหลายและเพิ่มจำนวนขึ้น การปราบปรามประชาชนมักไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูระเบียบ ทั้งยังมีแนวโน้มจะสะท้อนกลับไปทำร้ายตัวเองด้วย
เมื่อการขัดขวางดำเนินต่อไป ความแตกแยกภายในรัฐบาลและสถาบันอื่น ๆ (ได้แก่ ตำรวจ ทหาร สื่อ หน่วยการเมือง หน่วยราชการ และหน่วยเศรษฐกิจ) ที่จำเป็นต่อรัฐอย่างมากจะเริ่มปรากฏให้เห็น ความแตกแยกเหล่านี้มักนำไปสู่การแปรพักตร์ และเมื่อเกิดการย้ายฝั่งสวามิภักดิ์เพิ่มมากขึ้น ความสามารถอันเป็นแก่นสำคัญที่ระบอบอำนาจนิยมต้องพึ่งพาในการปกครอง—ได้แก่ การควบคุมทรัพยากรวัตถุ ทรัพยากรบุคคล ทักษะและความรู้ของประชาชน สภาพแวดล้อมของข้อมูล และความสามารถในการลงทัณฑ์—จะอันตรธานหายไปจนหมด เนื่องจากไม่เหลือสายบังคับบัญชาที่ใช้การได้ให้ออกคำสั่ง ถึงที่สุดแล้วทรราชจึงไม่มีทางเลือกและถูกบีบให้ลงจากตำแหน่งจากแรงกดดันด้วยสันติวิธีที่ต่อเนื่อง ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นบ่อยก็คือความเปลี่ยนแปลงในระดับวงกว้าง
ทักษะปะทะเงื่อนไข
เนื่องจากการเกิดขึ้นและผลกระทบของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีมีเพิ่มมากขึ้น การประเมินปัจจัยที่กำหนดผลลัพธ์ของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีจึงเป็นเรื่องสำคัญ เงื่อนไขก่อนการเริ่มขึ้นของความขัดแย้งเป็นตัวกำหนดหรือไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะระหว่าง ขบวนการหรือระบอบอำนาจนิยม หรือว่าชัยชนะเป็นของฝ่ายใดขึ้นอยู่กับการเลือกยุทธศาสตร์และความเชี่ยวชาญทางด้านทักษะที่ทั้งสองฝ่ายใช้ต่อสู้ในสถานการณ์ความขัดแย้ง
ภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งด้านหนึ่งของ International Center on Nonviolent Conflict (ที่เราเป็นส่วนหนึ่งอยู่นั้น) คือ การเสนอว่าทักษะเมื่อเทียบกันแล้วมีความสำคัญในการกำหนดแนวโน้มและผลลัพธ์ของขบวนการมากกว่าสภาพเงื่อนไข ประเด็นนี้มักก่อให้เกิดข้อตอบโต้กลับมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้เสนอข้อตอบโต้เหล่านี้เน้นย้ำถึงเจตนาของฝ่ายตรงข้ามที่ยินดีจะใช้ความรุนแรง ข้อตอบโต้ที่ได้ยินบ่อยก็คือ “การต่อสู้ด้วยสันติวิธีได้ผลกับเฉพาะฝ่ายตรงข้ามที่เมตตาและผ่อนปรนเท่านั้น” แต่คนที่พูดเช่นนี้กลับลืมไปเสียเฉย ๆ ถึงชัยชนะที่มีเหนือระบอบเหยียดสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้ ระบอบปิโนเชต์ในชิลี ระบอบมาร์กอสในฟิลิปปินส์ หรือระบอบคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์ ตัวอย่างล่าสุด ได้แก่ กรณีของฮอสนี มูบารัคในอียิปต์และเบน อาลีในตูนีเซีย ไม่มีทางอ้างได้เลยว่าระบอบเหล่านี้ใจดี ผ่อนปรน หรือไม่เต็มใจใช้การปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณ
ตัวอย่างเชิงคุณภาพเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากการวิเคราะห์เชิงปริมาณด้วย ในปี ค.ศ. 2008 องค์กร Freedom House ได้รายงานผลการวิจัยออกมา โดยพิจารณาปัจจัยเชิงโครงสร้างและอิทธิพลของเงื่อนไขดังกล่าวที่มีต่อการต่อสู้ด้วยสันติวิธีในการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลอำนาจนิยมจำนวน 64 ครั้ง ตั้งแต่ ค.ศ. 1975 ถึง 2006 นี่คือส่วนหนึ่งของข้อสรุปที่เป็นกุญแจสำคัญ:
ไม่มีปัจจัยทางการเมืองหรือปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมใดเลยในการศึกษานี้ที่ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีอย่างมีนัยสำคัญในเชิงสถิติ... ขบวนการสันติวิธีมีแนวโน้มประสบความสำเร็จทั้งในประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าและยากจนกว่าในทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับที่มีแนวโน้มสำเร็จในประเทศที่ร่ำรวยและพัฒนาแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบด้วยว่าไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้เลยว่าการแบ่งขั้วทางชาติพันธุ์หรือศาสนาส่งผลกระทบต่อความเป็นไปได้ของการเกิดขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่มีเอกภาพ ทั้งนี้ รูปแบบการปกครองก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถของขบวนการประชาชนในการสร้างแนวร่วมที่กว้างขวางแต่อย่างใด[iii]
ปัจจัยเพียงอย่างเดียวในงานศึกษาชิ้นนี้ที่มีนัยสำคัญในเชิงสถิติและส่งผลกระทบต่อการเกิดและผลลัพธ์ของขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธี คือ การรวมศูนย์อำนาจของรัฐบาล คณะผู้เขียนเสนอว่า:
งานศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าระดับการรวมศูนย์อำนาจที่สูงนั้นสัมพันธ์เชิงบวกกับการเกิดของขบวนการประชาชนที่เข็มแข็งและมีศักยภาพในการท้าทายสิทธิอำนาจของระบอบเผด็จการ ข้อเสนอในทางกลับกันก็เป็นจริงเช่นกัน กล่าวคือ ระดับการกระจายอำนาจของรัฐบาลยิ่งสูงขึ้น ขบวนการประชาชนที่ประสบความสำเร็จในการระดมผู้เข้าร่วมยิ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้น้อยลง[iv]
ด้วยเหตุนี้ แม้ว่างานศึกษาชิ้นนี้จะค้นพบเงื่อนไขสภาพแวดล้อมหนึ่งประการที่ส่งผลต่อแนวโน้มของขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธี แต่ข้อค้นพบส่วนใหญ่ก็หักล้างข้อเสนอที่ว่าสภาพเงื่อนไขเป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ของความขัดแย้งเหล่านี้ สามปีต่อมา ในหนังสือ Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict ที่ได้รับรางวัลเมื่อปี ค.ศ. 2011 นักวิชาการเอริก้า เชนโนเวท และมาเรีย สเตฟาน ได้วิเคราะห์เหตุการณ์การต่อสู้ด้วยสันติวิธีและการใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1900 ถึง ค.ศ. 2006 ทั้งหมดจำนวน 323 ครั้ง[v] ข้อค้นพบใหม่ที่สะเทือนวงการของนักวิชาการทั้งสองชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธีมีอัตราความสำเร็จร้อยละ 53 จากทั้งหมด เทียบกับการต่อสู้ด้วยความรุนแรงที่มีอัตราสำเร็จเพียงร้อยละ 26[vi] ทั้งคู่ยังค้นพบด้วยว่าขณะที่การปราบปรามของรัฐและปัจจัยเชิงโครงสร้างสามารถส่งผลกระทบต่อโอกาสความสำเร็จของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีได้ (แม้จะส่งผลกระทบน้อยกว่าที่มักเข้าใจกัน ในกรณีที่รัฐปราบปรามโดยใช้ความรุนแรงนั้น อัตราความสำเร็จจะลดลงประมาณร้อยละ 35) แต่ก็ไม่มีเงื่อนไขเชิงโครงสร้างใดที่เป็นตัวชี้ขาดผลลัพธ์ของขบวนการ[vii] หลังจากประเมินข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ทั้งคู่ได้ข้อสรุปว่า “หลักฐานชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้นมักจะประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะเจอกับเงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่หลายคนมองว่าเกี่ยวข้องกับความล้มเหลวของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีก็ตาม”[viii]
ผลลัพธ์เหล่านี้เผยให้เห็นถึงสมมติฐานต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมาจากมุมมองที่องค์ความรู้กระแสหลักมีต่อการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ทักษะและการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์มักมีความสำคัญในการกำหนดผลลัพธ์ของความขัดแย้งมากกว่าเงื่อนไข ซึ่งที่จริงแล้ว ข้อค้นพบเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยหากเราพิจารณาว่าการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์อย่างแรกของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับทรราชคือเรื่องวิธีการต่อสู้ ถ้าเงื่อนไขภายนอกเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดผลลัพธ์จริง ย่อมเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เราจะคาดการณ์ว่าการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับวิธีการต่อสู้ของประชาชนในการต่อต้านทรราชนั้นไม่ใช่ปัจจัยที่สลักสำคัญ นอกจากนี้ ความขัดแย้งที่รุนแรงและไร้ความรุนแรงตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาและในหลาย ๆ กรณีก็ควรจะมีอัตราความสำเร็จไม่ต่างกัน
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ข้อมูลบ่งชี้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1900 ถึง ค.ศ. 2006 ขบวนการพลังประชาชนประสบความสำเร็จมากกว่าถึง 2 เท่า และกรณีการศึกษาล่าสุดก็แสดงให้เห็นว่าค่าความแตกต่างของอัตราความสำเร็จไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ[ix] บางคนอาจจะตอบโต้ด้วยการยืนกรานว่านักต่อสู้ด้วยสันติวิธีเลือกประเด็นต่อสู้ที่ชนะง่ายกว่า แต่เชโนเวท และสเตฟานคาดการณ์ถึงข้อตอบโต้ดังกล่าวไว้แล้ว พร้อมกับชี้ให้เห็นว่า “การต่อสู้ด้วยสันติวิธีส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศระบอบอำนาจนิยม ที่ซึ่งแม้การต่อต้านรัฐบาลอย่างสันติอาจส่งผลร้ายถึงตายได้”[x]
ในบทความที่เขียนขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อนในหนังสือเรื่อง Civilian Resistance as a National Defence: Nonviolent Action Against Aggression โธมัส เชลลิ่ง นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลกล่าวเอาไว้ได้อย่างถูกต้อง และนี่คือสิ่งที่เขาสรุปไว้:
ทรราชกับประชาชนนั้นค่อนข้างอยู่ในตำแหน่งที่สมมาตรต่อกัน ประชาชนสามารถปฏิเสธสิ่งที่ทรราชต้องการได้เกือบทั้งหมด—ในที่นี้ หมายถึง หากประชาชนวางแผนจัดการอย่างมีวินัยเพื่อปฏิเสธการให้ความร่วมมือได้. แต่ทรราชก็สามารถปฏิเสธสิ่งที่ประชาชนต้องการได้เกือบทั้งหมดเช่นกัน—ทรราชทำได้ด้วยการออกคำสั่งให้ใช้กำลัง. เงื่อนไขเช่นนี้เป็นสถานการณ์ต่อรองที่ไม่ข้างใดก็ข้างหนึ่งสามารถปฏิเสธสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการได้เกือบทั้งหมด ถ้ามีวินัยและวางแผนจัดการอย่างมากพอ. และดังนั้นจึงยังบอกไม่ได้ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ[xi]
ตามทัศนะของเชลลิ่ง กลยุทธ์ที่นักต่อสู้ด้วยสันติวิธีเลือกใช้นั้นมีทั้งต้นทุนและผลตอบแทน ไม่ต่างจากกลยุทธ์ที่ฝ่ายอำนาจนิยมซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามเป็นผู้ใช้ ผู้ชนะคือตัวแสดงสำคัญที่สามารถกระจายจัดสรรต้นทุนและผลตอบแทนให้กับฝ่ายตัวเองได้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ผู้นำการต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่มีความสามารถย่อมต้องการที่จะก่อการขัดขวางเพื่อให้เกิดการแปรพักตร์มากที่สุด และเลือกใช้กลยุทธ์ที่นำไปสู่การขัดขวางเล็ก ๆ แต่ก่อให้เกิดผู้แปรพักตร์จำนวนมากที่สุด ผู้นำระบอบอำนาจนิยมที่มีทักษะจำเป็นต้องบังคับให้เกิดการเชื่อฟัง ซึ่งมักทำด้วยการใช้ความรุนแรง และย่อมต้องการใช้ความรุนแรงน้อยที่สุดเพื่อให้คนเชื่อฟังมากที่สุด ผลรวมของจำนวนคนที่แปรพักตร์เทียบกับจำนวนคนที่เชื่อฟังเป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ
เช็คลิสต์
หากทักษะและการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลที่สุดต่อผลลัพธ์การต่อสู้ของขบวนการสันติวิธี เราก็ควรสามารถระบุได้ว่าขีดความสามารถ ทักษะ และการตัดสินใจประเภทใดที่เป็นลักษณะร่วมของขบวนการต่าง ๆ และเป็นสมการทั่วไปของความสำเร็จ เราสามารถวิเคราะห์ขบวนการหนึ่ง ๆ ได้หลายแง่มุม แต่เมื่อเราพิจารณากลั่นกรองตัวแปรต่าง ๆ ออกมาแล้ว เราพบว่าความสามารถสำคัญ 3 ประการซึ่งเป็นกุญแจความสำเร็จของขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ได้แก่:
- ความสามารถในการสร้างเอกภาพในหมู่ประชาชน
- การวางแผนปฏิบัติการ
- วินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง
เมื่อพบความสามารถเหล่านี้อยู่ในขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธี จะก่อให้เกิดเงื่อนไขที่ทำให้แนวโน้ม 3 ประการปรากฏขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จของขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีอย่างมาก แนวโน้มเหล่านี้ได้แก่
- ประชาชนเข้าร่วมในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพิ่มมากขึ้น
- ผลกระทบจากการปราบปรามลดลง การปราบปรามสะท้อนกลับมากขึ้น
- คนแปรพักตร์ออกจากฝ่ายศัตรูเพิ่มมากขึ้น
เมื่อนำมารวมกัน เราจึงเรียกความสามารถ 3 ประการและแนวโน้ม 3 ประการนี้ว่า “เช็คลิสต์” เราเชื่อว่าการบรรลุความสามารถและแนวโน้มเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความน่าจะเป็นของความสำเร็จได้อย่างมีนัยสำคัญ ในแง่นี้ เช็คลิสต์ไม่ใช่สูตรที่รับประกันความสำเร็จ แต่เป็นกรอบความคิดที่มีไว้ช่วยให้ประชาชนจัดระบบความคิดและพัฒนาประสิทธิภาพของตน
เพื่อเป้าหมายดังกล่าว หนึ่งในประโยชน์ของเช็คลิสต์ที่ว่านี้ก็คือการปัดเป่าความรู้สึกสับสนที่เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ความซับซ้อนเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สุดที่ขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีต้องเผชิญ และในเมฆหมอกแห่งความขัดแย้งนั้นการแยกแยะให้ได้ว่าปัจจัยใดสำคัญที่สุดในการตัดสินใจอาจเป็นเรื่องยาก เรายังคงเห็นว่าถ้านักกิจกรรมหรือผู้สังเกตการจากภายนอกต้องการประเมินแนวโน้มและโอกาสของขบวนการ การลองหาดูว่าความสามารถ 3 ประการและแนวโน้ม 3 ประการในเช็คลิสต์นี้ปรากฏอยู่หรือไม่จะเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับการประเมินสถานะ ความเข้มแข็ง จุดอ่อน และโอกาสแนวโน้มความสำเร็จของขบวนการได้เป็นอย่างดี
เราขอขยายความเกี่ยวกับเช็คลิสต์ดังนี้
1. ความสามารถในการสร้างเอกภาพในหมู่ประชาชน
คนของระบอบอำนาจนิยมเป็นนักปฏิบัติที่เก่งกาจด้านการแบ่งแยกและปกครอง คนที่จะท้าทายระบอบอำนาจนิยมจึงต้องเชี่ยวชาญยิ่งกว่านั้นในด้านการสร้างความเป็นเอกภาพ การสร้างและดำรงรักษาความเป็นเอกภาพมีหลายแง่มุม แต่ด้านที่สำคัญที่สุดคือการสร้างวิสัยทัศน์ที่โอบรับคนทุกกลุ่มขึ้นร่วมกันให้กับขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธี การจะทำเช่นนี้ได้ กลุ่มผู้จัดขบวนการจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความโกรธแค้น ความหวัง วัฒนธรรม และคุณค่าของสาธารณะชนกลุ่มต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องการใช้ในการขับเคลื่อนระดมคน ความรู้ที่ว่านี้เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาและส่งผ่านวิสัยทัศน์ที่ดึงดูดกำลังสนับสนุนและระดมประชาชนมาเข้าร่วมขบวนการ วิสัยทัศน์ที่มีประสิทธิภาพนั้นจะสอดรับประสบการณ์ส่วนบุคคลและความรู้สึกของประชาชนคนธรรมดาได้ดี และเรียกคนเหล่านี้เข้ามาในการต่อสู้ร่วมกันด้วยสันติวิธี
อีกแง่มุมหนึ่งที่สำคัญมากในการสร้างความเป็นเอกภาพคือการมีผู้นำและโครงสร้างองค์กรที่ชอบธรรม การเข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการต่าง ๆ นั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และดังนั้นกลุ่มผู้นำขบวนการจึงไม่มีอำนาจสั่งการและสิทธิ์ขาดในการควบคุมประชาชนที่กำลังเคลื่อนไหว นั่นหมายความว่าการตัดสินใจต่าง ๆ ในขบวนการจะต้องเกิดขึ้นและเป็นไปโดยทำให้สาธารณชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ถูกขอให้ขับเคลื่อนรู้สึกว่าชอบธรรม แต่ละขบวนการพัฒนาวิธีการตัดสินใจที่ว่านี้ของตัวเองขึ้นมา บางขบวนการมีความลดหลั่นสูง บางขบวนการกระจายอำนาจมากกว่า บางขบวนการก็ผสมทั้งสองแบบเข้าด้วยกันเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าลักษณะความเป็นผู้นำและโครงสร้างองค์กรของขบวนการจะเป็นอย่างไรในรายละเอียด รูปแบบความเป็นผู้นำของขบวนการต่าง ๆ ก็มีอยู่หลายรูปแบบ และความเป็นเอกภาพก็เข้ามามีบทบาทในการผสานกลุ่มต่าง ๆ ในขบวนการเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน หากในระดับประเทศมีผู้นำที่มียศตำแหน่งและบารมีขึ้นมาสักคน จะต้องมีผู้นำระดับท้องถิ่นที่เชี่ยวชาญคอยช่วยสร้างแนวร่วม เจรจา และประสานประโยชน์ของกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกันคอยสนับสนุนอยู่จำนวนมาก บรรดาผู้นำในระดับต่าง ๆ (ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ) จากทุกภาคส่วนของประเทศเหล่านี้ต้องมีความสามารถในการเป็นตัวแทนของกลุ่มต่าง ๆ และมีทักษะในการทำงานร่วมกัน จึงจะสามารถรักษาความเป็นเอกภาพเอาไว้ได้ในระยะยาว
เราสามารถเห็นตัวอย่างหลักฐานของความเป็นเอกภาพทั้งสองด้านในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีได้ในขบวนการต่อต้านระบบเหยียดสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้ในทศวรรษที่ 1980 พลเมืองท้องถิ่นกว่าหลายร้อยกลุ่มปรากฏตัวขึ้นในช่วงทศวรรษดังกล่าวเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อเทศบาล เช่น เรียกร้องขอน้ำสะอาด และการเข้าถึงบริการต่าง ๆ โดยพร้อมกันนั้นก็รวมพลังภายใต้วิสัยทัศน์ร่วมกันในการยุติระบบเหยียดสีผิวและเรียกร้องให้เกิดการสมานฉันท์ขึ้นในระดับชาติ กลุ่มพลเมืองต่าง ๆ ที่รวมกันเป็น “แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (United Democratic Front)” นั้น มีผู้นำท้องถิ่นที่สามารถใช้กลยุทธ์แบบกระจายตัว (ตัวอย่างเช่น การคว่ำบาตรโดยผู้บริโภค) ในการต่อสู้ประเด็นท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังติดต่อและประสานงานกับโครงสร้างองค์กรที่ใหญ่กว่าและกลุ่มผู้นำระดับชาติไปพร้อมกันด้วย
2. การวางแผนปฏิบัติการ
การต่อสู้ด้วยสันติวิธีอย่างมีประสิทธิภาพนั้นมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่คนทั่วไปคาดคิด ภาพที่คนทั่วไปเข้าใจเวลานึกถึงการต่อสู้ด้วยสันติวิธีคือการประท้วง ทว่าการประท้วงเป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์หลายร้อยรูปแบบที่มีอยู่ให้นำมาใช้ได้ ขบวนการที่มีประสิทธิภาพที่สุดจะรู้ว่าควรใช้กลยุทธ์ใด เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร โดยใคร เป้าหมายคืออะไร และควรจัดเรียงลำดับอยู่กับกลยุทธ์อื่น ๆ ในกลุ่มใด
การจะตอบคำถามเหล่านี้ด้วยข้อมูลอย่างเพียงพอได้นั้น เราจำเป็นต้องวางแผนโดยวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภัยคุกคามของขบวนการและฝ่ายตรงข้ามอย่างละเอียด ทั้งยังต้องต้องประเมินสภาพแวดล้อมความขัดแย้ง และตัวแสดงอื่น ๆ ที่เป็นกลางหรือยังไม่ผูกมัดกับฝ่ายใด (รวมถึงสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศ) ที่อาจส่งผลต่อความขัดแย้งด้วย ขบวนการสามารถพัฒนาเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวและแผนปฏิบัติการที่ตอบสนองต่อเป้าหมายดังกล่าวได้จากข้อมูลเหล่านี้ แม้ว่าแผนการเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์เบื้องหน้าต่าง ๆ (แผนการใด ๆ ก็ล้วนเป็นเช่นนี้) กระบวนการวางแผนและระบบคิดเป็นสิ่งที่ผู้เข้าร่วมขบวนการต้องพัฒนาขึ้น เพราะเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นกว่าตัวแผนการเฉพาะสักแผนการหนึ่งด้วยตัวมันเอง
ทั้งนี้ เราก็สามารถมองเห็นจุดตัดที่ทักษะและเงื่อนไขมาบรรจบได้ชัดเจนที่สุดเมื่อมองดูผ่านการวางแผนปฏิบัติการที่ว่านี้เอง รากฐานของการวางแผนปฏิบัติการมาจากการประเมินเงื่อนไขต่าง ๆ—ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ—ที่ขบวนการเผชิญอยู่ เมื่อประเมินแล้ว ขบวนการจึงวางแผนเพื่อใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขเชิงบวกและเอาชนะ เปลี่ยนแปลง หรือใช้เล่ห์หลบหลีกเงื่อนไขเชิงลบผ่านการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์และการใช้ทักษะต่าง ๆ
ตัวอย่างที่ชัดเจนของการวางแผนปฏิบัติการปรากฏให้เห็นในขบวนการโซลิดาริตี้ของประเทศโปแลนด์ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เมื่อเข้าใจถึงจุดแข็งและขีดความสามารถของตนแล้ว ขบวนการจึงขอเรียกร้องให้มีการตั้งสหภาพแรงงานขึ้น ซึ่งนับเป็นข้อเรียกร้องที่ทรงพลังและเป็นไปได้จริงทางการเมือง (แต่ยังจำกัดขอบเขตของตัวเองอยู่ โดยไม่พูดถึงเป้าหมายที่ยังทำไม่ได้ในตอนนั้น นั่นคือ การล้มล้างระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์); ใช้จุดแข็งของตนมุ่งไปที่การจัดตั้งขบวนการแรงงานและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ผู้ใช้แรงงานที่หลากหลาย เพื่อต่อสู้กับความเปราะบางทางเศรษฐกิจและความไม่ชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม; และเลือกใช้การนัดหยุดงานที่มีประสิทธิภาพด้วยการเข้ายึดสถานที่ทำงานต่าง ๆ (แทนที่จะเดินขบวนอยู่นอกสถานที่ทำงานอย่างที่เคยทำก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้เปราะบางต่อการปราบปราม). การทำในลักษณะเดียวกันนี้เริ่มขยายตัวออกไปได้มากขึ้นเพราะคนงานพึ่งพาสถาบันทางเลือก โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์และวารสารอิสระ ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นในทศวรรษก่อนเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสารกันระหว่างเมืองต่าง ๆ การเลือกวัตถุประสงค์เชิงยุทธสาสตร์ เป้าหมายที่เหมาะสม และกลยุทธ์ที่เหมาะสม (การนัดหยุดงานพร้อมกับเข้ายึดสถานที่ และการใช้สถาบันทางเลือก) ซึ่งอยู่ในขอบเขตความสามารถที่ทำได้ ขบวนการโซลิดาริตี้จึงฝ่าฟันไปสู่เป้าหมายในสภาพแวดล้อมความขัดแย้ง เอาชนะเงื่อนไขเชิงลบต่าง ๆ และมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายสูงสุด อันได้แก่ การทำให้ประเทศโปแลนด์เป็นรัฐประชาธิปไตยได้ในที่สุดใน ค.ศ. 1989[xii]
3. วินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง
การรักษาวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นความสามารถของนักต่อสู้ด้วยสันติวิธีในการรักษาการไม่ใช้ความรุนแรงเอาไว้ต่อไปแม้จะเจอกับการยุแหย่ นับว่าเป็นแก่นพลวัตการทำงานของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเลยทีเดียว ด้วยวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรงนี้เอง ขบวนการจึงสามารถทำให้จำนวนประชาชนผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการปราบปรามของฝ่ายตรงข้ามเพิ่มขึ้น และทำให้ความน่าจะเป็นที่การปราบปรามจะสะท้อนกลับเพิ่มขึ้นได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งยังมีแนวโน้มทำให้เกิดการแปรพักตร์ออกจากเสาสนับสนุนของฝ่ายตรงข้ามได้สูงกว่ามาก ดังที่งานวิจัยของเชโนเวทและสเตฟานชี้ให้เห็นแล้วว่า ผลตอบแทนเชิงบวกเหล่านี้ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่ออัตราความสำเร็จที่แตกต่างกันระหว่างการใช้ความรุนแรงเมื่อเทียบกับการรณรงค์ต่อสู้ด้วยสันติวิธี[xiii]
การจะบรรลุวินัยแห่งการไม่ใช้ความรุนแรงได้นั้น ขบวนการจำเป็นต้องเชื่อมั่นว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเป็นวิธีปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความขัดแย้งของตน ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของปฏิบัติการสันติวิธีและประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ชนิดนี้ในอดีตอาจเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับขบวนการในแง่นี้ เช่นเดียวกับ ยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถสร้างชัยชนะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งช่วยแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้นได้ผล ขบวนการยังสามารถรักษาวินัยแห่งการไม่ใช้ความรุนแรงได้ด้วยการสร้างวัฒนธรรมและปทัสถานขึ้นมาเพื่อบังคับใช้วินัยดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ขบวนการ Otpor ในประเทศเซอร์เบียที่ขับไล่สโลโบดัน มิโลเชวิกได้สำเร็จนั้นฝึกฝนสมาชิกใหม่อย่างเป็นระบบ โดยปลูกฝังความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของสันติวิธีและความสำคัญของการรักษาวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง
ในวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ ขบวนการไม่จำเป็นต้องหาข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมมาสนับสนุนการรักษาวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง แต่ประชาชนต้องคอยบอกกันและกันถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการรักษาวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง และต้องไม่ลืมกรณีต่าง ๆ ที่ความไม่อดทนหรือขาดความมั่นใจในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีนำไปสู่การใช้กลยุทธ์ความรุนแรง (เหมือนกรณีของซีเรียที่เป็นโศกนาฏกรรมช่วงที่ผ่านมา) ซึ่งคาดการณ์ได้เลยว่าอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์หายนะตามมาได้
4. ประชาชนเข้าร่วมในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพิ่มมากขึ้น
ระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีอาจถกเถียงได้ว่าเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของขบวนการที่ใหญ่ที่สุดเลยก็ว่าได้[xiv] ข้อเสนอนี้นับว่าเข้าใจได้เพราะยิ่งประชาชนเพิกถอนความยินยอมและความเชื่อฟังออกจากระบอบอำนาจนิยมมากขึ้นเท่าไหร่ ระบอบเผด็จการก็จะยิ่งอ่อนแอลง และยิ่งต้องจ่ายต้นทุนสูงขึ้นเพื่อรักษาการควบคุมเอาไว้ ยิ่งกว่านั้น เราเชื่อด้วยว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยทำให้การปราบปรามมีโอกาสสะท้อนกลับมากขึ้น และหลักฐานเชิงปริมาณก็ชี้ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มากขึ้นยังส่งผลให้แนวโน้มของการย้ายฝั่งแปรพักตร์ในหมู่ผู้สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามมีโอกาสเกิดมากขึ้นด้วย[xv]
เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีของประชาชนเป็นปริมาณมาก การปฏิวัติในอียิปต์และตูนีเซียใน ค.ศ. 2011 นั้นบีบกระตุ้นให้เกิดแนวร่วมสนับสนุนที่ครอบคลุมกลุ่มประชากรหลากหลายกลุ่ม—ทั้งชายและหญิง; กลุ่มเคร่งศาสนาและกลุ่มไม่เคร่งศาสนา; วัยรุ่น วัยกลางคน และผู้สูงอายุ; แรงงานชนชั้นล่าง และแรงงานชนชั้นกลาง; ประชากรในเมืองและประชากรท้องถิ่น ตรงกันข้าม ทั้งขบวนการนักศึกษาของประเทศจีนใน ค.ศ. 1989 และขบวนการเขียวใน ค.ศ. 2009 ก็ต่างระดมผู้สนับสนุนได้หลายล้านคนและได้ขึ้นพาดหัวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ แต่ทั้งสองกรณีกลับไม่บรรลุเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทั้งสองขบวนการไม่ได้รวมเอาการมีส่วนร่วมของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ นอกเหนือจากฐานประชาชนตั้งต้นของตนเข้ามาด้วย
การที่ขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีมีจำนวนผู้เข้าร่วมมากนั้น เป็นผลพวงมาจากสามข้อแรกในเช็คลิสต์ การมีวิสัยทัศน์ที่สร้างเอกภาพได้จะช่วยให้เกิดความเหนียวแน่นในขบวนการและบีบกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวและเคลื่อนไหว การวางแผนปฏิบัติการช่วยปลูกฝังความมั่นใจและจัดวางกลยุทธ์ที่หลากหลายให้กับประชาชนที่รับความเสี่ยงได้ต่างกัน มีเวลาเข้าร่วมได้ไม่เท่ากัน และมีความสามารถในการเสียสละได้ต่างกัน ยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเปิดโอกาสให้คนจน คนรวย เยาวชน ผู้สูงอายุและทุกคนที่เหลือสามารถทำอะไรบางอย่างได้ ไม่ว่าภารกิจดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนขบวนการในเรื่องเล็ก ๆ หรือเรื่องใหญ่ ๆ ก็ตาม วินัยในการใช้ความรุนแรงช่วยให้มั่นใจว่าทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ (ไม่ใช่เปิดโอกาสให้เพียงแต่ผู้ชายร่างกายบึกบึนเหมือนอยู่ในการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรง) เนื่องจากวิธีการไร้ความรุนแรงนั้นมีโอกาสดึงดูดคนภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมได้กว้างขวาง
5. ผลกระทบจากการปราบปรามลดลง การปราบปรามสะท้อนกลับมากขึ้น
หนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดของระบอบอำนาจนิยมคือความสามารถในการปราบปราม ขบวนการที่มีประสิทธิภาพจึงต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะลดผลกระทบจากการปราบปรามและทำให้การปราบปรามมีต้นทุนต้องจ่ายที่สูงขึ้น วิธีการหนึ่งของการทำเช่นนั้นก็คือการประเมินความเสี่ยงอย่างเที่ยงตรงและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์อย่างแม่นยำ เพราะแต่ละกลยุทธ์นั้นก่อความเสี่ยงต่อการถูกปราบปรามไม่เท่ากัน ขณะที่ปฏิบัติการรวมตัว เช่น การประท้วงใหญ่มีแนวโน้มจะทำให้ขบวนการต้องเผชิญหน้ากับการปราบปราม ปฏิบัติการกระจายตัว เช่น การคว่ำบาตรโดยผู้บริโภค การนัดหยุดงานอยู่บ้าน ลาป่วยไม่ไปโรงเรียน หรือ การแสดงสัญลักษณ์เล็ก ๆ โดยนิรนามในที่สาธารณะนั้นทำให้ระบอบอำนาจนิยมปราบปรามได้ยากกว่า เพราะผู้เข้าร่วมในกลยุทธ์ (เช่น การคว่ำบาตรโดยผู้บริโภค) ไม่ได้แสดงตัวออกมาชัดเจน (คุณไม่มีทางดูออกเลยว่าคน ๆ หนึ่งคว่ำบาตรสินค้าอยู่หรือไม่) หรือไม่ก็เป็นเพราะผู้เข้าร่วมกระจายตัวมากและสามารถปฏิเสธการกระทำได้ (เช่น การนัดหยุดงานอยู่บ้านจะทำให้ตำรวจจำเป็นต้องแวะไปหาที่บ้านของคนงานทุก ๆ คน แต่ผู้เข้าร่วมก็สามารถอ้างว่าตัวเองป่วยจริง ๆ ได้อยู่ดี)
ในประเทศชิลี ค.ศ. 1983 ผู้ไม่พอใจการเมืองในประเทศและต่อต้านระบอบเผด็จการของออกุสโต ปิโนเชต์ต้องหาวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการปราบปรามของรัฐบาล ในช่วงทศวรรษที่มีแต่การจับกุม ประหารเข่นฆ่า ทารุณกรรม และกรณีคนหายสาบสูญนั้นทำให้ประชาชนหวาดกลัวที่จะจัดขบวนการหรือระดมคนเพื่อต่อสู้เคลื่อนไหว ในช่วงราวเดือนเมษายน คนงานเหมืองแร่ทองแดงนอกเมืองซานติเอโก้ประกาศเรียกร้องให้มีการนัดประท้วงหยุดงาน แต่ปิโนเชต์ได้ข่มขู่ว่าจะเกิดการนองเลือดขึ้นโดยส่งกองกำลังทหารเข้าปิดล้อมเหมืองแร่ก่อนที่การประท้วงหยุดงานจะเริ่มขึ้น เมื่อเผชิญหน้ากับการปราบปรามด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าว ผู้นำขบวนการแรงงานจึงประกาศยกเลิกการประท้วงหยุดงานและเรียกร้องให้มีการนัดประท้วงทั้งประเทศแทน โดยคนที่ต่อต้านเผด็จการจะต้องเข้าร่วมด้วยการทำงานช้า ๆ เดินช้า ๆ ขับรถช้า ๆ และตีหม้อหรือกระทะทำอาหารตอนสองทุ่ม[xvi] เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้คนเข้าร่วมมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน และนำไปสู่การประท้วงเป็นประจำทุกเดือน นับเป็นก้าวแรกสู่การขจัดบรรยากาศความกลัวที่หนาทึบและการหลอมรวมคนที่เคยถูกสลายความเป็นเอกภาพเข้าด้วยกัน ซึ่งความกลัวและการสลายความเป็นเอกภาพนี้เองที่เป็นรากฐานค้ำยันของระบอบปิโนเชต์ ปฏิบัติการเหล่านี้มีระดับความเสี่ยงต่ำในระดับที่ผู้เข้าร่วมยอมรับได้ และเป็นปฏิบัติการที่ไม่สามารถปราบปรามได้อีกด้วย กองกำลังของปิโนเช่ไม่มีวิธีจัดการกับกลยุทธ์กระจายตัวที่มีผู้เข้าร่วมอย่างกว้างขวาง
แง่มุมอื่น ๆ ของการลดผลกระทบจากการปราบปราม หรือการทำให้ต้นทุนของการปราบปรามและความน่าจะเป็นของการสะท้อนกลับเพิ่มสูงขึ้นนั้น อยู่ที่การพูดถึงความคับแค้นใจบางอย่างด้วยภาษาที่ไม่เป็นการเมือง (ผู้ประท้วงเรียกร้องน้ำสะอาดหรือบริเวณละแวกบ้านที่ปลอดภัย แทนที่จะเรียกร้องให้โค่นล้มเผด็จการ) รวมไปถึง การสร้างเส้นทางการสืบทอดผู้นำรูปแบบร่าง ๆ และการสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงลดระยะห่างระหว่างผู้เข้าร่วมขบวนการกับกลุ่มภายในประเทศและกลุ่มนานาชาติอื่น ๆ เพื่อให้การปราบปรามขบวนการของรัฐบาลมีโอกาสสะท้อนกลับมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อนายคาเล็ด ซาอิด บล็อกเกอร์ชาวอียิปต์ที่เขียนเปิดโปงการคอรัปชั่นถูกกองกำลังพาตัวออกมาจากร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่และรุมซ้อมจนตายใน ค.ศ. 2010 กลุ่มเฟสบุ๊คที่ไม่พอใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ชื่อว่า "We are All Khaled Said" ได้ตอบโต้ความพยายามของอียิปต์ในการลดทอนคุณค่าชีวิตของนายซาอิด จากการแสดงพลังของพวกเขา พวกเขาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านายซาอิดนั้นมีชีวิตไม่ต่างจากชาวอียิปต์ทั่วไป ดังนั้น การตอบโต้ของกลุ่มนี้จึงส่งผลให้การปราบปรามสะท้อนกลับไปโจมตีรัฐบาลเอง
6. คนแปรพักตร์ออกจากฝ่ายศัตรูเพิ่มมากขึ้น
เมื่อการต่อสู้ด้วยสันติวิธีค่อย ๆ พัฒนาขึ้น การต่อสู้ดังกล่าวมักก่อให้เกิดการย้ายข้างสวามิภักดิ์และการแปรพักต์ในหมู่ผู้สนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ทั้งกลุ่มที่กระตือรือร้นและไม่กระตือรือร้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และกลุ่มสุดโต่งในรัฐบาลอาจเริ่มต่อสู้แย่งชิงการควบคุมกันอย่างเปิดเผย กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอาจเริ่มกดดันรัฐให้ทำตามข้อเรียกร้องของขบวนการเพื่อให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมได้ปกติ ผู้ทำหน้าที่อยู่ในระบอบเผด็จการ เช่น ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และคนอื่น ๆ อาจเริ่มย้ายข้างสวามิภักดิ์ ซึ่งบางทีอาจจะเป็นเพราะพวกเขาคล้อยตามข้อเรียกร้องของขบวนการ รู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์เผด็จการ หรือไม่ก็เป็นเพราะพวกเขามีสมาชิกครอบครัวและเพื่อนมีเข้าร่วมอยู่ในขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธี แม้แต่ชนชั้นนำที่เห็นพ้องกับเผด็จการก็อาจจะเริ่มตั้งคำถามถึงความยั่งยืนของระบอบและเริ่มวางตัวเป็นกลาง เพื่อตัวเองจะได้ไม่เสี่ยงถูกจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นฝ่ายแพ้หากการต่อสู้ด้วยสันติวิธีประสบความสำเร็จ
ในการปฏิวัติสีส้มของประเทศยูเครน ค.ศ. 2004 ผู้ที่ไม่พอใจระบอบเผด็จการจงใจพยายามหาเส้นสายเพื่อติดต่อกับกองกำลังความมั่นคง โดยอาศัยกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารที่เกษียณอายุแล้วเป็นตัวกลาง[xvii] เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มฝ่ายต่อต้านพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาไม่ใช้ความรุนแรงและมีเหตุผล; เรียกร้องให้กองกำลังรับใช้และปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม; ลดระยะห่างทางสังคมด้วยการสร้างความสนิทชิดเชื้อ สโลแกน และใช้ปฏิบัติการต่าง ๆ (เช่น การให้ดอกกุหลาบกับตำรวจ); เปิดโปงการคอรัปชั่นของรัฐบาลปัจจุบัน; และในที่สุดก็ปลุกระดมให้สมาชิกกองกำลังความมั่นคงเหล่านี้ย้ายข้างสวามิภักดิ์ เมื่อถึงเวลาได้รับคำสั่งให้ต้องปราบปราม ทหารและตำรวจยูเครนกลับวางตัวเป็นกลาง ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในเซอร์เบียภายในระบอบมิโลเชวิกเช่นกัน กองกำลังเหล่านี้เพียงแค่หยุดปฏิบัติตามคำสั่งของระบอบอย่างกระตือรือร้น โดยไม่ได้ประกาศตัวแปรพักตร์อย่างเปิดเผย ในวันที่ 5 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่สำคัญที่สุดของขบวนการ Otpor เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับคำสั่งให้โปรยสารเคมีจากเฮลิคอปเตอร์ในกรุงเบลกราดไม่ยอมทำตามคำสั่ง โดยอ้างว่ามีเมฆหมอกมาก จึงทำให้มองกลุ่มผู้ชุมนุมได้ไม่ชัด ทั้งที่วันนั้นเป็นวันที่แดดจ้า ต่อมาเขาบอกว่าเขารู้สึกทำตามคำสั่งไม่ได้จริง ๆ เพราะว่าสมาชิกครอบครัวของเขาอาจอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมวันนั้นด้วยเหมือนกัน[xviii]
ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการโน้มน้าวหรือผลประโยชน์ส่วนตน การแปรพักตร์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้มักเป็นผลมากระบวนการต่าง ๆ ที่ขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีสั่งสมบ่มเพาะมาเป็นเวลานาน แนวโน้มการแปรพักตร์เกิดขึ้นเพราะความเป็นเอกภาพ การวางแผน และวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรงของขบวนการผนวกรวมเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับแนวโน้มสองประการก่อนหน้าในเช็คลิสต์ ข้อมูลบ่งชี้ว่าระดับผู้เข้าร่วมที่หลากหลายสัมพันธ์กับโอกาสเกิดการแปรพักตร์ที่สูงขึ้น และกลุ่มผู้เข้าร่วมที่หลากหลายนั้นก็เป็นผลมาจากความเป็นเอกภาพ การวางแผน และวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรงนั้นสำคัญต่อการก่อให้เกิดการแปรพักตร์อย่างมาก ตราบใดที่ขบวนการยังไม่ใช้ความรุนแรงและหลีกเลี่ยงไม่เปลี่ยนแปลงไปสู่การก่อความไม่สงบด้วยการใช้ความรุนแรง (เหมือนกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศซีเรียระหว่าง ค.ศ. 2011) ขบวนการก็ยังอยู่สู้ต่อไปได้โดยโอกาสในการก่อให้เกิดการแปรพักตร์ไม่ปิดตาย ถ้ากลุ่มต่าง ๆ ที่ขบวนการตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้ย้ายข้างออกจากฝั่งระบอบเผด็จการ ไม่ได้ถูกข่มขู่ด้วยการก่อความไม่สงบโดยการใช้ความรุนแรงที่จะกระทบต่อการดำรงอยู่ของพวกเขา โอกาสที่จะเกิดการแปรพักตร์ขึ้นได้จะยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความเหนียวแน่นภายในโครงสร้างอำนาจของระบอบอำนาจนิยมอยู่ต่อไป
ข้อแนะนำสำหรับตัวแสดงจากภายนอก
เช็คลิสต์ที่ว่านี้ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่พอใจระบอบเผด็จการเท่านั้น คนกลุ่มอื่น ๆ ก็สามารถนำแนวทางนี้ไปใช้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของตนเมื่อเผชิญกับความขัดแย้งต่าง ๆ ทำนองนี้ได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เช็คลิสต์นี้อาจช่วยให้นักข่าวรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ด้วยสันติวิธีได้อย่างเท่าทันมากขึ้น ถ้านักข่าวต้องการเข้าใจความขัดแย้งหนึ่ง ๆ อย่างถึงแก่น เช็คลิสต์นี้อาจบ่งชี้ให้เห็นว่า การที่สำนักข่าวส่งผู้รายงานเข้าไปในเหตุการณ์ก่อจลาจลด้วยระเบิดขวดโมโลตอฟในกรุงเคียฟในปีช่วงต้น ค.ศ. 2014 เพื่อให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะเลวร้ายลงหรือไม่ ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่การสืบสาวดูสถานะความเป็นเอกภาพและการวางแผนของขบวนการ, แหล่งที่มาซึ่งทำให้ขบวนการเสียวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง, การเพิ่มขึ้นของประชาชนผู้เข้าร่วม, ขบวนการได้รับผลกระทบจากการปราบปรามน้อยลง, และการดูว่ากองกำลังความมั่นคงเชื่อฟังคำสั่งเต็มที่หรือไม่ เรื่องการแปรพักตร์ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย, จะทำให้การวิเคราะห์มีความแหลมคมขึ้นมาก หากใส่ความเข้าใจเรื่องการสูญเสียเสียงสนับสนุนจากประชาคมธุรกิจไป จะทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่าทำไมประธานาธิบดียานูโควิชของยูเครนจึงหนีออกจากประเทศในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการใช้ความรุนแรงครั้งเลวร้ายที่สุดของรัฐบาลสะท้อนกลับ พัฒนาการต่าง ๆ เหล่านี้จะคาดเดาได้มากขึ้นถ้าเราดูตัวบ่งชี้ได้ถูกต้องก่อนล่วงหน้า
ถ้าพิจารณาจากมุมของนักวางแผนนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปี ค.ศ. 2011 เช็คลิสต์นี้อาจจะชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธีมีโอกาสชนะระบอบอัสซาดของซีเรียได้มากกว่า ในตอนนั้น เราควรสามารถเห็นได้ว่าการที่สมาชิกกองทัพ (นอกเหนือจากทหารนิกายซุนหนี่) ย้ายฝั่งถอนตัวออกจากระบอบเผด็จการอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นความหวังของชัยชนะได้ดีที่สุด การที่สมาชิกประชาคมธุรกิจถอนการสนับสนุนก็เป็นตัวบ่งชี้อีกข้อหนึ่งเช่นกัน ในแง่นี้ การส่งเสริมให้กองทัพปลดปล่อยซีเรียเพื่อต่อสู้กับกองทัพทหารนิกายอะละวีย์ที่เหลืออยู่ของอัสซาดในช่วงต้น ค.ศ. 2012 นั้นหากไม่มีใครสังหรณ์ถึงหายนะที่จะตามมา ก็ควรถูกมองในขณะนั้นว่าส่งผลตรงข้ามกับที่คาดหวังไว้
เช็คลิสต์ชุดนี้จะมีประโยชน์เป็นพิเศษในการพัฒนาปทัสถานเพื่อบริหารจัดการความสนับสนุนจากภายนอกต่อขบวนการพลังประชาชนของคนพื้นถิ่น ตัวอย่างเช่นความสามารถสามประการแรกในเช็คลิสต์นั้นเป็นทักษะที่เพิ่มพูนได้ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างแข็งขัน ในมาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทรราชไม่สามารถห้ามการไหลเวียนข้ามพรมแดนของข้อมูลหรือลงโทษพลเมืองที่ส่งผ่านข้อมูลดังกล่าวต่อไปยังผู้ไม่พอใจรัฐบาลได้ เช็คลิสต์ทั้ง 6 ข้อสามารถทำให้เกิดการฉุกคิดเกี่ยวกับเส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการฝึกฝนส่งเสริมให้เกิดความสามารถสามประการและแนวโน้มสามประการในเช็คลิสต์ข้างต้นได้
เช็คลิสต์และความขัดแย้งที่จะกำหนดอนาคต
สภาพแวดล้อมที่ความขัดแย้งเชิงสันติวิธีถูกนำมาใช้ในการต่อสู้นั้นมีความซับซ้อน และผู้ต่อสู้ด้วยสันติวิธี ซึ่งจำเป็นต้องประสานงานกันในระดับรากหญ้าเพื่อเรียงชุดกลยุทธ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อชัยชนะนั้น มักรู้สึกว่าตัวเองสับสนอยู่บ่อย ๆ ความกลัวว่าจะตัดสินใจผิดในเรื่องที่มีชีวิตและเสรีภาพเป็นเดิมพันอาจทำให้เกิดสภาวะเฉื่อยชาซึ่งเป็นสิ่งที่ทรราชต้องการ และยังเป็นการสนับสนุนภาพลวงตาเกี่ยวกับความอยู่ยงคงกระพันของเผด็จการอีกด้วย
เช็คลิสต์สามารถช่วยให้ผู้ไม่พอใจทรราชขจัดปัดเป่าความรู้สึกหลงทางที่ว่านี้และเห็นวิธีในการเดินไปข้างหน้าได้ บางคนอาจเห็นว่าเพราะปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีมากมายหลากหลาย เช็คลิสต์จึงเรียบง่ายเกินไป และอาจเห็นว่าการประเมินวิธีการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ เวลาเผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งในอนาคตนั้น จำเป็นต้องทุ่มเทความสนใจไปที่ปัจจัยจำเพาะในบริบทของเวลาและสถานที่นั้น ๆ อย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตาม การที่เสนอเช็คลิสต์นี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องการให้คุณละเลยปัจจัยจำเพาะในสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่เราต้องการส่งเสริมให้คุณเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้นผ่านบริบทของกรอบยุทธศาสตร์ในภาพกว้าง ซึ่งช่วยให้เห็นว่าขบวนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีจะชนะได้เพราะอะไรและอย่างไร อะตูล กาวานเด้ ผู้ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของเช็คลิสต์ในบริบทอื่น ๆ หลากหลายบริบท ได้เขียนเอาไว้ว่า:
"เช็คลิสต์ดูเหมือนจะช่วยทุกคน แม้แต่คนที่มีประสบการณ์แล้วก็ตาม ให้สามารถป้องกันความล้มเหลวในการทำงานต่าง ๆ ได้มากกว่าที่คุณคิด เช็คลิสต์ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่เอาไว้รองรับป้องกันความบกพร่องทางความคิด ซึ่งมีอยู่ในตัวของพวกเราทุก ๆ คน - ไม่ว่าจะเป็นความบกพร่องของความทรงจำ ความบกพร่องของสมาธิ และความบกพร่องที่เกิดจากความไม่ละเอียดถี่ถ้วน...[xix]
ภายใต้เงื่อนไขที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง—ซึ่งความรู้ที่ใช้จัดการนั้นเกินกว่าปัจเจกคนหนึ่งจะเรียนรู้และไม่สามารถคาดการณ์ได้... [เช็คลิสต์ที่มีประสิทธิภาพ] จะช่วยให้เรามั่นใจว่าเราจะไม่มองข้ามเรื่องง่าย ๆ แต่สำคัญอย่างยิ่งไป และ...ช่วยให้กลุ่มคนได้พูดคุยและประสานงานกัน...เพื่อจัดการกับสถานการณ์ละเอียดอ่อนและคาดการณ์ไม่ได้ให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้[xx]"
เช็คลิสต์นี้อาจไม่ใช่สิ่งชี้ขาดว่าใครจะชนะ: ทรราชหรือนักต่อสู้ด้วยสันติวิธี อย่างไรก็ตาม เช็คลิสต์นี้สามารถนำมาใช้เป็นชุดตัวชี้วัดที่สำคัญได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจว่าพลเมืองที่เรียกร้องเสรีภาพจะเอาชนะการตั้งมั่นของระบอบอำนาจนิยมได้อย่างไร
เชิงอรรถท้ายบท
[i] มาจากงานวิจัยโดยเอริก้า เชโนเวท และมาเรีย สเตฟาน ซึ่งระบุว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในประเทศและดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1900 – 2006 มีจำนวนทั้งสิ้น 105 ครั้ง
Chenoweth, Erica, and Maria Stephan. 2011. Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict. New York: Columbia University Press. p. 6
โครงการนาฟโก้ 1.1 สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ที่: https://www.du.edu/korbel/sie/research/chenow_navco_data.html
[ii] มาจากการวิเคราะห์การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยทั้งหมด 67 ครั้ง ตั้งแต่ ค.ศ. 1972-2005 ในงานวิจัยเรื่อง How Freedom is Won: From Civic Resistance to Durable Democracy คณะผู้เขียนค้นพบว่า:
“พลังของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจำนวนทั้งสิ้น 50 ครั้งจาก 67 ครั้ง หรือนับเป็นร้อยละ 70 ของประเทศทั้งหมดที่การเปลี่ยนผ่านเริ่มต้นขึ้นหลังจากระบอบเผด็จการลงจากอำนาจ และ/หรือมีรัฐใหม่เกิดขึ้นจากการล่มสลายของรัฐเดิมที่ประกอบด้วยหลายชนชาติ ในจำนวน 50 ประเทศที่การต่อสู้ด้วยสันติวิธีเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ (ได้แก่ ประเทศที่การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นจากพลังประชาชน หรือประเทศที่เกิดการเปลี่ยนผ่านแบบผสมโดยเป็นผลมาจากพลังประชาชนและผู้ถือครองอำนาจอย่างมีนัยสำคัญ) ก่อนหน้าการเปลี่ยนผ่านนั้น ไม่มีประเทศใดเป็นประเทศ “เสรี” แต่ประกอบด้วยประเทศ “กึ่งเสรี” จำนวน 25 ประเทศ และประเทศ “ไม่เสรี” จำนวน 25 ประเทศ ปัจจุบัน [ค.ศ. 2005] ซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดการเปลี่ยนผ่านมาปลายปีแล้ว ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศ “เสรี” ทั้งสิ้น 32 ประเทศ ประเทศ “กึ่งเสรี” 14 ประเทศ และประเทศ “ไม่เสรี” 4 ประเทศ”
Ackerman, Peter, and Adrian Karatnycky. 2005. How Freedom is Won: From Civic Resistance to Durable Democracy. Washington, DC: Freedom House. Pp. 6-7
[iii] Marchant, Eleanor, Adrian Karatnycky, Arch Puddington, and Christopher Walter. 2008. Enabling Environments for Civic Movements and the Dynamics of Democratic Transition. Freedom House special report. July 18. p. 1
[iv] Ibid. p.1
[v] 5 Chenoweth, Erica, and Maria Stephan. 2011. Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict.New York: Columbia University Press. p. 6
[vi] Ibid. p.9
[vii] Ibid. p. 68
[viii] Ibid. p. 62
[ix] Chenoweth, Erica. 2014 Trends in Civil Resistance and Authoritarian Responses. The Atlantic Council Future of Authoritarianism Project. April 15
[x] Chenoweth, Erica, and Maria Stephan. 2011. Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict.New York: Columbia University Press. p. 66
[xi] Thomas C. Schelling. 1968. “Some Questions on Civilian Defence,” in Adam Roberts, ed., Civilian Resistance as a National Defence: Non-violent Action Against Aggression. Harrisburg, PA: Stackpole Books. p. 304.
[xii] Ackerman, Peter and Jack DuVall.2000. A Force More Powerful: A Century of Nonviolent Conflict. London: St. Martin’s Press/Palgrave Macmillan. pp. 113-174
[xiii] Chenoweth, Erica, and Maria Stephan. 2011. Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict. New York: Columbia University Press. Pp. 30-61
[xiv] Ibid. pp. 30-61
[xv] Ibid. pp. 46-49
[xvi] A Force More Powerful.Dir Steve York. York Zimmerman. 2000. Film.
[xvii] Binnendijk, Anika Locke, and Ivan Marovic. 2006. Power and Persuasion: Nonviolent Strategies to Influence State Security Forces in Serbia (2000) and Ukraine (2004). Communist and Post-Communist Studies 39, no. 3 (September). pp. 411-429
[xviii] Interview with Nebojsa Covic, Vecernje Novosti, Oct. 2, 2010.
[xix] Gawande, Atul.2009. The Checklist Manifesto: How to Get Things Right. New York: Picador. p. 47
[xx] Ibid. p. 79