เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีคนไทยเสียชีวิตมากที่สุดในโลก 'มูลนิธิทอมสันรอยเตอร์' เปิดข้อมูลช่วง 6 ปี มีคนงานไทย 520 คน ตายที่นั่นจากหลายสาเหตุ ทั้งด้านสุขภาพ อุบัติเหตุ และการฆ่าตัวตายโดย 84% เป็นคนเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยช่วงปีนี้ที่โควิดระบาดมีถึง 122 คน ส่งผลให้สหประชาชาติเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ
22 ธ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 ธ.ค.63) มูลนิธิทอมสันรอยเตอร์ (Thomson Reuters Foundation) ออกมาเปิดเผยว่ามีแรงงานไทยเสียชีวิตในเกาหลีใต้กว่า 520 ราย ในช่วง 6 ปี ในชื่อ 'EXCLUSIVE-Hundreds of Thai workers found dying in South Korea with numbers rising' โดยเรื่องดังกล่าวเขียนโดย Nanchanok Wongsamuth (นันท์ชนก วงษ์สมุทร์) และ Grace Moon (เกรซ มูน) ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่มูลนิธิทอมสันรอยเตอร์ได้รับผ่านคำขอข้อมูลข่าวสารตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 โดยแรงงานไทยที่เสียชีวิตนั้น 84% เป็นคนเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยที่ 4 ใน 10 ของผู้ที่เสียชีวิตถูกบันทึกว่าไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนที่เหลือพบว่า เสียชีวิตจากหลายสาเหตุ ทั้งด้านสุขภาพ อุบัติเหตุ และการฆ่าตัวตาย ทำให้เป็นประเทศที่มีคนไทยเสียชีวิตมากที่สุดในโลก
รายงานดังกล่าาวยังระบุด้วยว่า คนไทยที่เสียชีวิตตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงกลางเดือน ธ.ค. ของปีนี้อยู่ที่ 122 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดตั้งแต่สถานทูตไทย มีการเก็บข้อมูลในปี 2558 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโคโรนาต่อสภาพการทำงาน
รายละเอียดที่มูลนิธิทอมสันรอยเตอร์รายงานมีดังนี้ (สามารถอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษโดยตรงได้ที่ https://news.trust.org/item/20201222000325-j5o12/)
กรุงเทพฯ/โซล - มูลนิธิทอมสันรอยเตอร์เปิดเผยข้อมูลการเสียชีวิตของแรงงานไทยในเกาหลีที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตหลายร้อยคน ส่งผลให้สหประชาชาติเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าว
ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ที่มูลนิธิทอมสันรอยเตอร์ได้รับผ่านคำขอข้อมูลข่าวสารตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ระบุว่า มีคนไทยอย่างน้อย 522 คนที่เสียชีวิตในเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 2558 โดย 84% เป็นคนเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ 4 ใน 10 ของผู้ที่เสียชีวิตถูกบันทึกว่าไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนที่เหลือพบว่า เสียชีวิตจากหลายสาเหตุ ทั้งด้านสุขภาพ อุบัติเหตุ และการฆ่าตัวตาย
คนไทยที่เสียชีวิตตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงกลางเดือน ธ.ค. ของปีนี้อยู่ที่ 122 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดตั้งแต่สถานทูตฯ มีการเก็บข้อมูลในปี 2558 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโคโรนาต่อสภาพการทำงาน
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีคนไทยเสียชีวิตมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศระบุผ่านคำขอข้อมูลข่าวสารว่า มีคนไทยเสียชีวิตในเกาหลีใต้ 283 คนตั้งแต่ปี 2558-2561 โดยทางกระทรวงฯ ไม่มีตัวเลขของปี 2562 และ 2563
"(ข้อมูลนี้) น่ากังวลและควรได้รับความสนใจและการตรวจสอบต่อไป" นิลิม บารัว ผู้เชี่ยวชาญการย้ายถิ่นแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ของสหประชาชาติ กล่าว
"แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเป็นกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครองน้อยที่สุด และสุขภาพและความปลอดภัยของพวกเขานั้นน่าเป็นห่วง"
แรงงานไทยที่ทำงานและเคยทำงานในเกาหลีใต้ นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน และเจ้าหน้าที่รัฐของไทย กล่าวว่า แรงงานไทยที่ไม่มีเอกสารนับหมื่นรายในเกาหลีใต้ทำงานหนัก ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพ และมีความเป็นไปได้น้อยที่จะร้องเรียนเรื่องการถูกละเมิดสิทธิต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากกลัวถูกส่งกลับไทย
รัฐบาลไทยและเกาหลีใต้ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติต่อสาธารณะ ซึ่งนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานมองว่าส่งผลทำให้ไม่ค่อยมีความสนใจต่อสภาพการทำงานหรือความพยายามที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มความเสี่ยงให้แก่แรงงานข้ามชาติ
ด้านองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ของสหประชาชาติ กล่าวว่า มีความกังวลต่อข้อมูลที่มูลนิธิทอมสันรอยเตอร์เปิดเผย และกำลังสังเกตการณ์สถานการณ์ดังกล่าว
กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์มูลนิธิทอมสันรอยเตอร์ ส่วนสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ไม่ได้ตอบรับคำขอสัมภาษณ์ของมูลนิธิฯ
ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่า มีแรงงานไทยอย่างน้อย 460,000 คนในต่างประเทศ ทั้งที่เข้าเมืองโดยได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาต โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีคนไทยมากที่สุด ประมาณ 185,000 คน ซึ่งคนเหล่านี้ได้รับค่าแรงที่สูงกว่าไทยหลายเท่า
เกาหลีใต้ได้ออกมาตรการยกเว้นวีซ่าแก่คนไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2524 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานระบุว่า คนไทยหลายคนเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ก่อนกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2561 และลงเอยด้วยการเป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสารที่ทำงานในโรงงานและฟาร์มต่าง ๆ
การทำงานที่ยากและสกปรก
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ระบุว่า ประมาณหนึ่งในสิบของคนไทย 185,000 คนในเกาหลีใต้ทำงานโดยถูกกฎหมายตามระบบที่เรียกว่า Employment Permit System หรือ EPS
ส่วนที่เหลือเป็นผู้ที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่รู้จักกันในนาม "ผีน้อย" ซึ่งคนเหล่านี้จ่ายค่านายหน้าในไทยเป็นเงินจำนวนมากเพื่อหางานทำในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจรวมไปถึงค่าเครื่องบินและที่พักในเกาหลีใต้
ผู้อพยพเหล่านี้ ซึ่งกลายเป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสารหลังจากอยู่ในเกาหลีใต้นานเกินที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดไว้ 90 วัน ระบุว่า พวกเขาได้เงินเดือนอย่างต่ำ 1.2 ล้านวอน (ประมาณ 32,680 บาท) ซึ่งมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในไทยกว่าสามเท่า
กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ฯ ของไทยทั่วโลกมีหน้าที่ดูแลคนไทย รวมทั้งแรงงานไทยทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย แต่การเข้าถึงแรงงานเหล่านั้น โดยเฉพาะแรงงานผิดกฎหมาย อาจจะหลบซ้อน และไม่เปิดเผยหรือถึงขนาดไม่ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทั้งเกาหลีและไทยเข้าไปหาและตรวจสอบได้ง่าย ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคของงานการให้ความคุ้มครองคนที่มีสถานะผิดกฎหมายทั่ว ๆ ไป
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล รวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตของคนไทยจากใบรับรองการเสียชีวิตที่ออกโดยโรงพยาบาลหรือตำรวจ กรณีเสียชีวิตที่บ้านหรือที่ทำงาน โดยมีการชันสูตรพลิกศพทุกราย แต่ทางตำรวจจะเปิดเผยผลก็ต่อเมื่อญาติติดต่อขอรับผลการชันสูตรพลิกศพ
“แรงงานไทยที่ผิดกฎหมายจำนวนมากเสียชีวิตกระทันหันในขณะที่นอนหลับ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่ามาจากการทำงานหนักเกินชั่วโมงคนทำงานปกติ และจากโรคประจำตัวที่ไม่ได้รับการรักษา” บัญชา ยืนยงจงเจริญ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล กล่าว
“แรงงานเหล่านี้จะทำงานหนัก งานสกปรก และไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของเกาหลีใต้ได้” บัญชากล่าวทางโทรศัพท์
ศูนย์แรงงานข้ามชาติเมืองอาซัน (AMWC) ในเกาหลีใต้ ระบุว่า มีความกังวลว่าแรงงานที่ไม่มีเอกสารจากประเทศอื่น ๆ เช่น เนปาล อินโดนีเซีย และเวียดนาม จะการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุเช่นเดียวกัน
"ถ้าคุณไม่มีวีซ่า ก็จะถูกตัดขาดจากการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพ และคุณต้องจ่ายเงิน 10 ล้านวอน (ประมาณ 272,581 บาท) เพื่อไปโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัด" อู ซัม-โยล ผู้จัดการ AMWC กล่าว
"มีผู้อพยพเข้าเมืองที่ไม่มีเอกสารจำนวนมากที่เจ็บป่วย รวมถึงคนไทย ที่ทนความเจ็บปวดจนกระทั่งตัวเองทนไม่ไหวและเสียชีวิตในที่สุด"
หลังการเสียชีวิตของแรงงานเมียนมาร์ในปี 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของเกาหลีใต้ได้ให้คำแนะนำต่อกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับวิธีการป้องกันการเสียชีวิตของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เช่น การแสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และการยกเลิกการปราบปรามแรงงานที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระบุว่า กระทรวงยุติธรรมได้รับข้อเสนอแนะบางประการ โดยมีแผนที่จะปรับปรุงมาตรการการปราบปรามและพัฒนาการศึกษาของเจ้าหน้าที่รัฐ
พวกเราเป็นผีน้อย
มูลนิธิทอมสันรอยเตอร์ได้พูดคุยกับแรงงานไทยที่ทำงานในเกาหลีใต้ที่ไม่มีเอกสารถูกต้องจำนวน 7 คน พวกเขาอธิบายถึงชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก ทั้งงานที่สกปรกและอันตราย รวมถึงการได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด
นิด (สงวนชื่อจริง) ทำงานเป็นแม่บ้านในโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองช็องจู ก่อนที่จะเริ่มป่วยเป็นไข้ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา
หญิงวัย 32 ปีกล่าวว่า เธอทำงานวันละ 15 ชั่วโมง และมีวันหยุดเพียงเดือนละหนึ่งวัน ซึ่งผิดกฎหมายแรงงานเกาหลีใต้ และอาการป่วยของเธอทำให้เธอไม่สามารถทำงานเป็นเวลาเกือบสี่เดือน
"พี่คิดว่า ถ้าตื่นมารอดก็รอด ถ้าตายก็ต้องตาย" นิด ซึ่งปัจจุบันทำงานที่ร้านนวด กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า นี่เป็นงานที่ 10 ของเธอหลังจากที่เธอจ่ายเงินให้แก่นายหน้าประมาณ 100,000 บาทเพื่อมาทำงานในเกาหลีใต้ในปี 2559
นิดกล่าวว่า เธอได้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล หลังจากเริ่มมีอาการป่วย และได้ขอความช่วยเหลือในการกลับไทย ซึ่งเธอต้องรอคิวเพื่อกลับบ้านพร้อมกับคนไทยกว่า 10,000 คน
"เหมือนถูกตัดสินไปแล้วว่า ก็คุณเป็นผี เลือกที่จะมาผิดกฎหมาย ก็ต้องอดทน" เธอกล่าวทางโทรศัพท์
องค์กรบางแห่งอย่างศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเมืองนัมยังจู ให้บริการด้านสุขภาพโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต ทว่าพวกเขากล่าวว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้พวกเขาต้องยุติการให้บริการดังกล่าว
"มีแรงงานที่ไม่มีเอกสารหลายคนที่ต้องการยาสำหรับโรคเบาหวาน แต่เนื่องจากเราไม่สามารถให้บริการฟรีได้ ณ ตอนนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้อาการของพวกเขาแย่ลง" อี ยัง บาทหลวงที่ทำงานกับศูนย์ กล่าว
ในเดือน เม.ย. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเกาหลีใต้ได้รับปากว่าจะให้บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาแก่ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยพวกเขาไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับโทษ
กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้กล่าวกับมูลนิธิทอมสันรอยเตอร์ว่า หลังเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตสามารถที่จะออกจากประเทศได้โดยจะไม่ได้รับโทษ แต่ทางเลือกดังกล่าวได้ยุติลงในเดือน มิ.ย.
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ระบุว่า ได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยอย่างน้อย 10,000 คนเพื่อเดินทางกลับไทยในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา
อยู่นอกกฎหมาย
กระทรวงแรงงานของไทยกล่าวว่า แรงงานไทยที่ไปทำงานในเกาหลีใต้ผ่าน EPS และครอบครัวของพวกเขามีสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลไทยในกรณีที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
"ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ไปแบบผิดกฎหมาย จึงอยู่นอกการคุ้มครองของกฎหมาย" สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
รัฐบาลไทยระบุว่า ได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้คนไทยลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมายในต่างประเทศ เช่น จัดทำวิดีโอเพื่อรณรงค์ไม่ให้คนไทยไปทำงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ และปราบปรามเว็บไซต์ที่เชิญชวนคนไทยไปทำงานโดยผิดกฎหมาย
แต่นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานกล่าวว่ามาตรการดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาการย้ายถิ่นที่ผิดกฎหมาย และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยออกมาตรการที่ทำให้คนไทยไปทำงานต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
"คนไทยดูถูกแรงงานที่ไปทำงานแบบไม่มีเอกสารถูกต้อง มองว่าผีน้อยไม่ใช่คน" โรยทราย วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาองค์กรฟรีดอมฟันด์ กล่าว
"รัฐบาลไทยไม่เข้าใจความสำคัญของการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย"
แรงงานไทยรายหนึ่งที่ขอสงวนชื่อจริง กล่าวว่า เขาจ่ายเงินให้แก่นายหน้าประมาณ 120,000 บาทเพื่อทำงานในเกาหลีใต้ในปี 2557 และได้ไปทำงานที่ฟาร์มหมูแห่งหนึ่งในเมืองแทกู โดยที่ไม่มีวันหยุดแม้แต่วันเดียว
หลังจากที่ทำงานได้สามเดือนและนายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้าง ชายวัย 51 ปีตัดสินใจที่จะหนีออกจากฟาร์ม ก่อนที่เขาจะออกไป เขาได้เขียนข้อความบนผนังห้องนอนเพื่อเป็นการเตือนคนไทยคนอื่น ๆ
ข้อความนั้นระบุว่า: "เพื่อนคนไทย ถ้าใครถูกส่งมาทำงานที่นี่ ระวังเถ้าแก่มันจะเบี้ยวเงิน"