หมอกควัน (1) PM2.5 ในภาคเหนือมาจากไหน?

กล่าวได้ว่า ‘หมอกควัน' เกิดมาจากหลายสาเหตุ แม้จะมีงานวิจัยและรายงานจากส่วนราชการเผยแพร่ออกมา แต่ยังเป็นประเด็นถกเถียง ในแวดวงผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่ได้รับผลกระทบว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ... แต่ในความเป็นจริงสาเหตุของหมอกควันและพื้นที่เผาไหม้เปลี่ยนไปตามเวลาและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน พฤติกรรมการใช้ไฟในวิถีชีวิต และที่สำคัญคือนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน

กว่าหลายสิบปีที่ผู้คนมองว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่น่าอยู่ น่าเที่ยว ทิวทัศน์สวยงาม และบรรยากาศดี แต่ทศวรรษที่ผ่านมา เราเห็นปรากฎการณ์ที่ตรงกันข้ามกับภาพจำของเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงปลายเดือนเมษายนของทุกปี ฝุ่นควัน PM2.5 ที่ครอบคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบนอย่างน้อยๆ 9 จังหวัด มากน้อยสลับกัน ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเชียงใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่ผ่านมาสถานการณ์ปัญหาหมอกควันในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม-เมษายน) ของทุกปี เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งมีเศษวัชพืช และเศษวัสดุการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง การเผาในพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่มีเศษกิ่งไม้และ ใบไม้ร่วงสะสมเป็นเชื้อเพลิงประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะและมีภูเขาล้อมรอบ จึงทำให้ความรุนแรงของปัญหาเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับจำนวนของหมอกควันที่ข้ามแดนมาจากประเทศตอนบนของภาคเหนือในประเทศไทย ส่งผลให้สถานการณ์ ‘ฝุ่นและพิษควันภาคเหนือ’ เป็นหนึ่งในปัญหาร้ายแรงปัญหาหนึ่งที่เคยถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติในปี พ.ศ. 2550 โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ส่งให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องประกาศยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่นและควันพิษให้เป็นวาระแห่งชาติอีกครั้งหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2562

หมอกควัน (1) PM2.5 ในภาคเหนือมาจากไหน?
หมอกควัน (2) PM2.5 ในภาคเหนือบอกอะไรเรา?
หมอกควัน (3): มายาคติ PM2.5 ภาคเหนือกับการแก้ไขปัญหาแบบ ‘ลองผิดลองถูก’

การเผาวัสดุเกษตรในที่โล่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ภาพถ่าย 10 ตุลาคม 2563

นอกจากนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแอปพลิเคชัน AirVisual ชี้ให้เห็นว่าตัวเมืองเชียงใหม่รวมถึงบริเวณใกล้เคียง มีค่าคุณภาพอากาศที่อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยวัดได้มากกว่า 151 AQI i ขึ้นไป (ระดับสีแดงถึงม่วงเข้ม) ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ฤดูหมอกควัน’ ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานและยิ่งทวีความหนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

งานวิจัยหลายชิ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นตรงกันว่าปัญหาหมอกควันเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการสะสมของควันและฝุ่นในอากาศ โดยสัดส่วนองค์ประกอบของสารแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้เผา ระดับความชื้นในอากาศ อุณหภูมิของไฟ ความกดอากาศ ความเร็วและทิศทางลม ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจ

ไม่เพียงแต่งานวิจัยของนักวิชาการเท่านั้นที่พยายามศึกษาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ที่ผ่านมามีภาคประชาสังคมอีกจำนวนมากที่ร่วมเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ เช่น การเคลื่อนไหวของเครือข่ายอากาศสะอาด หรือกรีนพีซที่มีข้อเรียงร้องที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาในการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้น เพื่อให้ใกล้เคียงกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) หรือแม้กระทั่งการเกิดขึ้นของสภาลมหายใจที่รวมกับคนทำงานในประเด็น ‘หมอกควัน’ จากทุกภาคส่วน มาทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง

ยังไม่นับรวมถึงพลังของเยาวชนที่เคยจัดกิจกรรม ‘Not my PM2.5’ii ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างจริงจัง จะเห็นว่าแทบทุกหน่วยงานพยายามเคลื่อนย้ายองคาพยพของการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไปเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากขึ้น ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหมอกควันเป็นความท้าทายที่สมควรแก่การพูดถึงอย่างมากในช่วงทศวรรษต่อจากนี้

ย้อนดูสาเหตุของการเกิดหมอกควัน

หมอกควันในภาคเหนือมักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวก่อนเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพอากาศนิ่งเนื่องจากความกดอากาศสูงทำให้ฝุ่นละเอียดขนาดเล็กไม่ถูกพัดพาขึ้นสู่บรรยากาศระดับสูงได้iii แต่จะวนเวียนอยู่ในระดับที่ประชาชนอยู่อาศัย หมอกควันมีที่มาจากหลายสาเหตุซึ่งล้วนเกิดขึ้นจากการลุกติดไฟหรือเผาไหม้ของวัสดุต่างๆ โดยงานวิจัยของโครงการประเทศไทยไร้หมอกควันiv สรุปสาเหตุการเกิดหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยออกเป็น 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ การเกิดไฟป่า การเผาเศษวัชพืชและวัสดุทางการเกษตรจากกิจกรรมการปลูกข้าวโพด และการเผาเศษวัชพืชและวัสดุทางการเกษตรจากกิจกรรมการปลูกไร่หมุนเวียน

การเกิดไฟป่า – เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทาให้เกิดหมอกควัน เนื่องจากมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากเศษไม้ เศษใบไม้ เศษวัชพืช ส่งผลให้เกิดเป็นหมอกควันปกคลุมอยู่ในบริเวณที่เกิดไฟป่า และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเมื่อมีการพัดพาของกระแสลมจะทำให้หมอกควันมีการกระจายตัวอย่างไปยังพื้นที่อื่น

ส่วนสาเหตุของการเกิดไฟป่าเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ 1. เกิดจากธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า กิ่งไม้เสียดสีกัน ภูเขาไฟระเบิด และการลุกไหม้ในตัวเองของสิ่งมีชีวิต (spontaneous combustion) เป็นต้น และ 2. เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาไร่หรือเศษวัสดุทางการเกษตร การเก็บหาของป่า การกำจัด และการล่าสัตว์ เป็นต้น

ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการเกิดไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากการที่คนจุดไฟเผาป่าเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ เผาไร่ ความประมาทเลินเล่อหรือมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องต่อปัญหาไฟป่า โดยเฉพาะเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงฤดูไฟป่า

การเผาเศษวัชพืชและวัสดุทางการเกษตรจากกิจกรรมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ - การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ในเขตภาคเหนือ เช่น อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่พบว่าเกษตรกรร้อยละ 80 ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก ส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควันจากการเผาไหม้จากกิจกรรมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

กิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้ อากาศในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 มีค่า PM10 สูงสุดเท่ากับ 198 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และอากาศในเดือนเมษายน 2560 มีค่า PM10 สูงสุดเท่ากับ 131 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการแพร่กระจายตัวของฝุ่นด้วยลม และสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่บางส่วนที่เป็นแอ่งกระทะ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นควันในพื้นที่ต่างๆ สำหรับปริมาณการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 พบว่าขั้นตอนการเผาเศษวัสดุการเกษตรมีปริมาณการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 สูงสุด คิดเป็นร้อยละ 86 ของขั้นตอนทั้งหมด เนื่องจากการเผาเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่ ทำให้การเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณมาก จึงส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศมากที่สุด

การเผาเศษวัชพืชและวัสดุทางการเกษตรจากกิจกรรมการปลูกไร่หมุนเวียน - ไร่หมุนเวียนที่เป็นการเกษตรแบบหนึ่งบนพื้นที่สูง เนื่องจากพื้นที่ราบไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก โดยพืชไร่หมุนเวียนที่เกษตรนิยมปลูกคือ ข้าวไร่ เป็นการปลูกเพื่อการใช้บริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก มีรอบการปลูก 4-7 ปี แต่ที่ผ่านมารอบการปลูกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากแรงกดดันด้านการรักษาทรัพยากรป่าไม้และการเพิ่มจำนวนประชากรบนพื้นที่สูง

โดยวิธีการปลูกไร่หมุนเวียน จะเริ่มจากการถางหญ้า ตัดต้นไม้ที่ขึ้นในไร่ แล้วตากให้แห้งประมาณหนึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือนครึ่ง จากนั้นจึงทำการเผาเพื่อกำจัดเศษพืชและต้นไม้ที่ตากไว้ก่อนเตรียมพื้นที่เพาะปลูกสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป ซึ่งเกษตรกรเชื่อว่าการเผาจะเป็นการกำจัดเศษวัชพืชและเชื้อโรคในดินได้ และเป็นวิธีการที่เกษตรกรนิยมใช้กันมาก เนื่องจากเป็นวิธีการที่ง่ายสะดวกและประหยัด

การแก้ไขปัญหาหมอกควันจึงควรมีระบบข้อมูลเชิงพื้นที่สนับสนุนเพื่อติดตามสาเหตุและสถานการณ์ได้ทันท่วงที ไม่เพียงแต่จุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้เท่านั้น แต่ยังขาดลักษณะการใช้ที่ดิน สภาพป่าและปริมาณเชื้อเพลิง ชนิดพืชและพื้นที่เพาะปลูก สภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี รวมทั้งนโยบายของรัฐด้านการเกษตร การใช้ที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ - ศุทธินี ดนตรี

ศุทธินี ดนตรี

เช่นเดียวกับที่ ผศ.ดร.ศุทธินี ดนตรี จากภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เห็นว่าสาเหตุหลักมาจากการเผา เพียงแต่หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน นักวิจัยจะคิดว่าเป็นเพราะไฟป่าอย่างเดียว แต่เมื่อปัญหาหมอกควันเป็นปัญหาระดับประเทศ และถูกศึกษาอย่างจริงจัง จึงพบว่าพื้นที่แต่ละพื้นที่มีสาเหตุไม่เหมือนกัน และกรณีพื้นที่ภาคเหนือนั้นสาเหตุหลักมาจากการเผามากกว่ายานพาหนะ

“แม้ว่ายานพาหนะอาจจะมีบ้าง แต่ค่าอากาศมันก็จะไม่ได้ขึ้นมาก ไม่เหมือนช่วงหน้าแล้งที่เรามีไฟป่า แต่ถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ มันคนละเรื่อง นั่นก็เป็นอีกเรื่องนึง เรื่องรถที่มีคุณภาพต่ำน้ำมันไอเสียเยอะ” อาจารย์ศุทธินีกล่าว

อาจารย์ศุทธินี กล่าวอีกว่าสาเหตุหลักคือการเผาไหม้ที่ควบคุมไม่ได้ ในเชิงพื้นที่เมื่อศึกษาพื้นที่เผาไหม้ที่ได้จากภาพถ่ายจากดาวเทียม พบว่าสภาพการใช้ที่ดินที่พบรอยไหม้มากที่สุดเป็นป่าผลัดใบร้อยละ 68 รองลงมาเป็นพืชไร่ร้อยละ 7 และไร่หมุนเวียนร้อยละ 6v แต่หากศึกษาจากพื้นที่ป่าตามกฎหมาย พบพื้นที่เผาไหม้ในป่าสงวนแห่งชาติมากที่สุดร้อยละ 90 รองลงมาเป็นป่าอนุรักษ์ร้อยละ 5vi การเผาไหม้ในภาพรวมจึงเกิดในพื้นที่ป่าไม้ที่อาจรวมพื้นที่เกษตรในเขตป่าไว้ด้วย โดยสัมพันธ์กับสาเหตุเชิงซ้อนหลายด้านที่แปรเปลี่ยนและแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วยเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ สภาพเศรษฐกิจ-สังคม และนโยบายและมาตรการของรัฐต่อการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตร การใช้ทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ และการจัดการปัญหาหมอกควัน

สิ่งแวดล้อมทางกายภาพของภาคเหนือที่สัมพันธ์กับการเกิดฝุ่นควันประกอบด้วยสภาพภูมิประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับกับหุบเขาหรือแอ่งที่ราบที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ พื้นที่ราบมีจำกัด มีผลต่อการใช้ที่ดิน ทำให้เกษตรกรต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชอายุสั้นขึ้นไปตามพื้นที่ป่าไม้ในเขตที่สูง และนำมาสู่การใช้ไฟในการจัดการเศษพืชเพื่อเตรียมเพาะปลูก

“นอกจากนี้ภูเขาสูงยังเป็นอุปสรรคกั้นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พาความชื้นมาจากทะเลอันดามัน มีผลทำให้พื้นที่ซึ่งมีความชื้นน้อยเป็นป่าผลัดใบมากที่สุด จำนวนร้อยละ 70 ของพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด ป่าไม้ประเภทนี้ประกอบด้วยป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ที่ทิ้งใบร่วงจนหมดในช่วงฤดูแล้ง กลายเป็นเชื้อเพลิงจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า” อาจารย์ศุทธินีกล่าว

แผนผังบริบทของการเกิดหมอกควันในภาคเหนือตอนบน
ที่มา: ศุทธินี ดนตรี. (2562). ประเทศไทยไร้หมอกควัน: เหลียวมองนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหา, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. โครงการวิจัย “คนไทย 4.0”. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.). หน้า 3.

ขณะที่ในด้านสภาพภูมิอากาศ อาจารย์ศุทธินีชี้ว่าปริมาณฝนในภาคเหนือโซนใต้มีจำนวนน้อยกว่าโซนกลาง และโซนเหนือมีจำนวนมากที่สุด ทำให้โซนใต้แห้งแล้งก่อนตั้งแต่กลางเดือนมกราคม หากเป็นปีที่เกิดภัยแล้งมาก โดยเริ่มที่โซนใต้ก่อนจากนั้นเป็นโซนกลางในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และทั้งจังหวัดรวมถึงโซนเหนือในเดือนมีนาคมและเมษายน นอกจากนี้ปัจจัยด้านทิศทางและความเร็วลมยังมีผลต่อการกระจายตัวของควันไฟและฝุ่นละออง ลมพัดตามทิศทางที่แตกต่างไปตามฤดูกาล ในช่วงฤดูฝนมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดพาความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามา ในช่วงฤดูร้อนมีลมพัดมาจากทิศตะวันตก ทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้ และในช่วงนี้ความเร็วลมต่ำกว่าฤดูอื่น ส่วนในฤดูหนาวทิศทางลมจะเปลี่ยนทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่นำเอาความหนาวเย็นและทำให้เกิดความแห้งแล้ง และมีความเร็วลมมากพอสมควร เมื่อนำทิศทางที่ลมพัดมาสัมพันธ์กับเวลาที่เกิดไฟป่า พบว่าโซนใต้มักมีไฟป่าก่อนในช่วงเดือนปลายเดือนธันวาคม-กลางกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นช่วงที่มีความหนาวเย็น และมีลมพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ หมอกควันจากการเผาไหม้จึงยังไม่ถูกพัดเข้าโซนกลางและโซนเหนือ ในขณะที่เวลาปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมทุกพื้นที่แห้งแล้งมากขึ้นตามอุณหภูมิอากาศที่สูงขึ้น ลมเปลี่ยนทิศทางมาพัดมาจากทิศตะวันตก ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศใต้ เมื่อมีการเผาไหม้ในโซนใต้และโซนกลาง

อย่างไรก็ตามอีกประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อพูดถึงสาเหตุของการเกิดหมอกควัน คือหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ฝุ่นละอองขนาดเล็กจึงถูกพัดเข้าสู่พื้นที่แอ่งกระทะในภาคเหนือ เป็นทั้งหมอกควันข้ามแดนระหว่างอำเภอ-จังหวัดและระหว่างประเทศ ที่ทำให้วิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็กรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเมียนมาพบจุดความร้อนจำนวนมากในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่รัฐฉานที่ติดกับภาคเหนือของประเทศไทย

ส่วนเงื่อนไขสำคัญอีกประการที่มักจะถูกละเลยในการศึกษาคือ สภาพสังคม-เศรษฐกิจ อาจารย์ศุทธินีพบว่าเมื่อมีแรงกดดันด้านประชากรต่อที่ดินทำกินทั้งในที่ราบและที่สูง ทำให้เกษตรกรยากจนไม่มีที่ดินของตนเอง ขยายพื้นที่เพาะปลูกเข้ามาในเขตป่าตามพื้นที่สูง ที่ส่วนใหญ่จะปลูกพืชอายุสั้น ประกอบกันมีแรงจูงใจจากตลาดและภาครัฐที่ส่งเสริมการปลูกพืชทำเงิน ที่เป็นพืชอาหารและพืชพลังงานโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีตลาดรองรับและราคาซื้อเพิ่มขึ้น จึงมีการขยายพื้นที่เกษตรในเขตป่าไม้มากขึ้นทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือ รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านvii นอกจากนี้วิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ใกล้เขตป่าไม้ยังพึ่งพาป่าไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าเพื่อนามาใช้ประโยชน์และบริโภคเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน หรือนำไปขายเพื่อเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะป่าเต็งรังที่มีแหล่งอาหารจากป่ามาก

กล่าวได้ว่า 'หมอกควัน' เกิดมาจากหลายสาเหตุ แม้จะมีงานวิจัยและรายงานจากส่วนราชการเผยแพร่ออกมา แต่ยังเป็นประเด็นถกเถียงในแวดวงผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่ได้รับผลกระทบว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง โดยเกิดขึ้นตลอดเวลาที่เกิดหมอกควัน แต่ในความเป็นจริงสาเหตุของหมอกควันและพื้นที่เผาไหม้เปลี่ยนไปตามเวลาและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน พฤติกรรมการใช้ไฟในวิถีชีวิต และที่สำคัญคือนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน

“หากศึกษาในพื้นที่เนื้อที่ไม่มากนักในระดับหมู่บ้านหรือตำบล การค้นหาสาเหตุย่อมทำได้ง่ายและชัดเจนกว่าในพื้นที่กว้างไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด ประเทศ และภูมิภาค ที่มีสาเหตุหลากหลายและซับซ้อน การแก้ไขปัญหาหมอกควันจึงควรมีระบบข้อมูลเชิงพื้นที่สนับสนุนเพื่อติดตามสาเหตุและสถานการณ์ได้ทันท่วงที ไม่เพียงแต่จุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้เท่านั้น แต่ยังขาดลักษณะการใช้ที่ดิน สภาพป่าและปริมาณเชื้อเพลิง ชนิดพืชและพื้นที่เพาะปลูก สภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี รวมทั้งนโยบายของรัฐด้านการเกษตร การใช้ที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ” อาจารย์ศุทธินีทิ้งท้าย

PM2.5 คืออะไร

ความแตกต่างระหว่าง PM10 กับ PM2.5
ที่มา: United States Environmental Protection Agency (US EPA)

PM หรือ Particulate Matter เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของทางสหรัฐอเมริกา โดยหน่วยงานที่ชื่อ EPA (United state Environmental Protection Agency) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ PM10 และ PM2.5 โดย PM10 เรียกโดยทั่วไปว่า ฝุ่นหยาบ (Course Particle) เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 - 10 ไมครอน มีแหล่งกำเนิดจากการจราจรบนท้องถนนที่ไม่ได้ลาดยาง การเผาป่า ใช้ฟืนถ่านหุงต้มอาหาร เผาขยะและหญ้า การเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่พบได้ตามต่างจังหวัด

ขณะที่ PM2.5 เรียกโดยทั่วไปว่า ฝุ่นละเอียด (Fine Particles) จัดเป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีแหล่งกำเนิดมาจากหลายปัจจัย ทั้งควันเสียของรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ควันที่เกิดจากเผาของสิ่งของต่างๆ โดยรวมฝุ่นขนาดเล็กนี้ได้เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด

โดยฝุ่นละออง PM10 มีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมของคนเราประมาณ 1 ใน 5 ถึง 1 ใน 6 เท่า ในขณะที่ฝุ่นละออง PM2.5 จะเล็กกว่า PM10 อีก 1 ใน 4 เท่าของ PM10 จึงทำให้มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถตรวจวัดได้

อย่างไรก็ตามค่ามาตรฐานของระดับ PM10 กับ PM2.5 จะมีหลายองค์กร ในหลายประเทศกำหนดในค่าทีต่างกัน ในส่วนของประเทศไทยจะมีสถานีตรวจวัดระดับ PM10 กับ PM2.5 ค่อนข้างจำกัด โดยสำหรับจังหวัดเชียงใหม่มีสถานีตรวจวัดหลักๆ อยู่ 2 แห่ง ได้แก่ สถานีโรงเรียนยุพราช และสถานีหน้าศาลากลางหรือศูนย์ราชการจังหวัด

สำหรับประเทศไทย ค่ามาตรฐาน PM10 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากรูปด้านล่างข้อมูลในวงเล็บเป็นจะค่ามาตรฐานรายปี กำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าเทียบกับค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกตาม WHO Guideline ที่ได้กำหนดไว้นั้น จะต่ำกว่าของไทยค่อนข้างมาก เพราะองค์การอนามัยโลกเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ จึงจะกำหนดค่ามาตรฐาน PM10 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่ามาตรฐานรายปีอยู่ที่ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ค่ามาตรฐาน PM10 กับ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เปรียบเทียบระหว่างเกณฑ์ต่างๆ

ส่วน USEPA กำหนดค่ามาตรฐาน PM10 อยู่ที่ 150 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยประเทศไทยเพิ่งจะกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ซึ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้ แต่การตรวจวัดอาจไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่

อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกยืนยันชัดเจนว่า PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่า PM10 เพราะ PM2.5 มีขนาดที่เล็กกว่า สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ลึกกว่า สำหรับประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 ที่ 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนค่ามาตรฐานรายปีอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่ได้เข้มงวดเท่ากับที่ WHO และ USEPA กำหนดไว้

“เมื่อก่อนอาจจะมีความสับสนค่าตรวจวัดต่างๆ ที่ปรากฏออกมา เพราะเรามีการใช้ค่าตัวเลขหลายแบบ แต่ความเข้าใจผิดน่าจะน้อยลงแล้ว คนเริ่มสนใจเรื่องผลกระทบของฝุ่นควันว่า ถ้าฝุ่นยิ่งสูงยิ่งอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กคนชราหรือผู้ป่วยเป็นภูมิแพ้โรคทางลมหายใจ เพราะฉะนั้นก็จะมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดความเข้าใจมลพิษทางอากาศมากขึ้น” อาจารย์สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ของ PM2.5 ที่ผู้คนเริ่มใส่ใจต่อคุณภาพของอากาศกันมากขึ้น

อาจารย์สมพรกล่าวต่อว่า ในทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นักวิจัยรู้สึกว่าในช่วงปัจจุบันดีกว่าอดีต เพราะเรามีเทคโนโลยีต่างๆ ดีขึ้น เทคนิคการตรวจวัดดีขึ้น โดยเฉพาะการเกาะติดปัญหาภาคเหนือ ซึ่งอย่างน้อยก็เห็นความแตกต่างว่าเมื่อก่อนเราวัดได้แค่ PM10 เพราะข้อจำกัดของเครื่องมือที่เรามีมันสามารถคัดแยกได้เฉพาะฝุ่นที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน แต่ว่าระยะหลังเราสามารถวัดฝุ่นละเอียดได้มากขึ้นที่เราเรียกว่า PM2.5 คือฝุ่นที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน รวมไปถึงเราสามารถศึกษาละเอียดเล็กลงไปอีกได้ที่เป็นระดับ sub-micron คือ 2.5 ไมครอนยังมีสเกลที่ใหญ่เมื่อเทียบกับระดับ sub-micron ที่ลงไปถึงเล็กกว่า 1 ไมครอน เป็นต้น

“ขนาดของฝุ่นมีผลต่อสุขภาพ ยิ่งฝุ่นมีขนาดเล็กหรือมีความละเอียดมาก ก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพมาก เพราะสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ลึกกว่า มีประสิทธิภาพในการทำลายปอดได้มากกว่า อาจจะเข้าสู่กระแสเลือดได้ด้วย เพราะฉะนั้นฝุ่น ตัวฝุ่นเองอาจจะมีอันตรายไม่มากนัก แต่เมื่อเราดูองค์ประกอบของฝุ่นด้วยเราจะเห็นว่ามีนัยยะสำคัญในการก่อให้เกิดอันตรายแต่สุขภาพมากขึ้นด้วย เพราะตัวของฝุ่นเองมีสารเคมีอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นธาตุต่างๆ โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง เป็นทั้งกลุ่มสารอนินทรีย์สารอินทรีย์ที่ปะปนกันอยู่ เพราะฉะนั้นเมื่อเรารับสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายในระยะยาว เราจะเน้นที่ระยะยาวเพราะผลระยะสั้นมักเห็นไม่ชัด ระยะยาวมันน่าจะก่อให้เกิดโรคที่ทำให้ชีวิตของคนในพื้นที่สั้นลงได้” อาจารย์สมพรกล่าว

PM2.5 ภาคเหนือตอนบน-หมอกควันข้ามพรมแดน

ที่ผ่านมาปัญหาหมอกควันเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะหมอกควันเป็นมลพิษที่สามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้viii โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นแค่ภายในประเทศ ฤดูกาลของ ‘หมอกควัน’ อาจกินเวลาไม่เกิน 3 เดือน แต่ที่ผ่านมาสาเหตุหลักอีกประการคือการเผาที่เกิดจากเกษตรพันธสัญญาที่ทุนข้ามชาติเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งต่อไปขายยังประเทศจีนix

ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนนี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ อย่างไรก็ตาม มิตินี้ยังไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร หากพิจารณาสถิติการเกิดฮอตสปอต (Hotspot) ซึ่งเป็นจุดที่มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่ทั่วๆ ไปจากภาพถ่ายดาวเทียม แม้บริเวณที่เป็นจุดฮอตสปอตจะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นจุดที่เกิดไฟป่า เป็นจุดที่มีศักยภาพที่อาจจะเกิดไฟป่า หรือเป็นจุดที่มีการเผาทำลายวัชพืชเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก แต่เป็นที่ยืนยันแล้วว่าจำนวนฮอตสปอตนั้นแปรผันตามมลพิษทางอากาศ ดังนั้น พื้นที่ที่มีจำนวนฮอตสปอตมาก หมายความว่าพื้นที่นั้นเป็นจุดกำเนิดของมลพิษทางอากาศสูงนั่นเอง

แผนที่แสดงจุดความร้อนและทิศทางลมในช่วงวันที่ 3 เมษายน 2562
ที่มา: asmc.asean.org

เมื่อพิจารณาสถิติย้อนหลังทั้งรายปีและรายเดือนพบว่า จำนวนและความหนาแน่นของจุดความร้อนในประเทศพม่า โดยเฉพาะบริเวณที่ติดกับภาคเหนือของประเทศไทยคือในเขตพื้นที่รัฐฉาน มีจำนวนจุดความร้อนสูงกว่าบริเวณภาคเหนือของไทยอย่างมีนัยสำคัญ และมีจำนวนมากกว่า 2 เท่าของจำนวนจุดความร้อนที่เกิดในประเทศไทยแทบทุกปีx

ในปี 2557 ข้อมูลจากทางการของรัฐฉานระบุว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดในเขตฉานเหนือและฉานใต้รวม 460,000 เอเคอร์ (1.15 ล้านไร่) แต่ในรายงานของ Kevin Woodsxi ระบุว่าจำนวนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่บริษัทจำหน่ายแปรกลับไปเป็นพื้นที่ปลูกได้ประมาณ 750,000 เอเคอร์ (1.875 ล้านไร่) และพบว่าในรัฐฉานมีการบุกรุกพื้นที่ป่าสูงที่สุดในประเทศพม่า คนในพื้นที่ยังต้องพึ่งพาเกษตรพันธสัญญา เนื่องจากไม่มีต้นทุนในการยังชีพมากนัก ด้วยเหตุนี้หมอกควันที่เกิดจากการเผาป่าเพื่อทำกิน (เป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำสุด) จึงยังคงมีอยู่ต่อไปในรัฐฉานต่อไปxii

สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุด สถิติสินค้านำเข้าของไทยผ่านด่านแม่สายที่เป็นอันดับ 1 ก็คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มูลค่า 1,127 ล้านบาท (ต.ค. 62-ส.ค. 63) สถิติของด่านแม่สอด เมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็มาเป็นอันดับ 1 มูลค่า 5,603 ล้านบาท (ต.ค. 62-ส.ค. 63) แต่โดยรวมแล้วของทั้งภาคเหนือยังอยู่อันดับ 2 ตามหลังพลังงานไฟฟ้า (ซึ่งนำเข้าจากลาว) ทั้งนี้ก่อนหน้าปี 2562 ข้าวโพดยังไม่ติดอันดับด้วยซ้ำ ไม่ว่ารายด่านหรือเป็นภาพรวม

อย่างไรก็ตาม ต่อคำถามว่าหมอกควันข้ามพรมแดนมีอิทธิพลต่อภาคเหนือมากน้อยแค่ไหนครับโดยเฉพาะรัฐฉาน อาจารย์สมพรเห็นว่า ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อนำมาเทียบกันรายจังหวัด จะเห็นว่าพื้นที่ชายแดนมักจะมีฝุ่น PM2.5 สูงกว่าพื้นที่ที่อยู่ในเขตเมืองเข้ามา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือปัญหาหมอกควันข้ามแดน

“ถึงแม้เราจะควบคุมการเผาในประเทศได้ และเจอ hotspot ในประเทศน้อย แต่ว่า PM2.5 ก็ไม่ลดลงอยู่ดี อาจจะเป็นเพราะอิทธิพลหมอกควันข้ามแดนที่มีการเผาที่พม่าอยู่ ทำให้บริเวณดังกล่าวที่อยู่ติดพรมแดนมีปริมาณฝุ่นสูง ทั้งๆ ที่เราสามารถจัดการภายในบ้านเราได้” อาจารย์สมพรอธิบาย

จึงเกิดคำถามสำคัญว่าต่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถจัดการตัวเองได้ดีแค่ไหนก็ตาม ฝุ่นควันก็ยังคงจะข้ามแดนเข้ามาอยู่ดี ต่อคำถามนี้อาจารย์สมพรอธิบายว่า เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าวจริง แต่ฝุ่นควันขามแดนจะเข้ามาในปริมาณที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“เราไม่เผาแต่เขาเผา ยังไงก็ยังเบากว่า เราเผาด้วย เขาเผาด้วย” อาจารย์สมพรยกตัวอย่าง

กล่าวได้ว่าหากจะกดดันให้ประเทศเพื่อนบ้านลดการเผา เราต้องจัดการตัวเองและทำให้เป็นแบบอย่างก่อน

“จริงๆ แล้วปัญหาหมอกควันข้ามแดนไปไกลกว่าที่เราคิดมากคือระยะ 100 กิโลเมตรก็ไปถึง เช่นที่ไต้หวัน ปัญหามลพิษทางอากาศส่วนหนึ่งที่เขาเจอก็คือหมอกควันข้ามแดนจากประเทศที่อยู่ใกล้ ๆ กันนั้นเอง ซึ่งเขามีข้อพิสูจน์จากการตรวจวัดฝุ่นที่พบที่บ้านเขา และนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี พบสารประกอบบางตัวที่สามารถบอกได้ว่ามีลักษณะคล้ายกับฝุ่นที่เกิดจากแหล่งไหน คือเป็นฝุ่นที่ไม่ได้เกิดจากพื้นที่ของเขาเอง แต่เป็นฝุ่นที่เดินทางมาไกล พูดง่ายๆ ก็คือ การเผาที่ประเทศอื่นก็ส่งผลกระทบถึงประเทศเขาด้วย” อาจารย์สมพรสรุป

ชี้ ‘มายาคติของการเผา’ สร้าง PM2.5 อีกหนึ่งปัญหาใหญ่

ถ้าเราบอกว่า PM2.5 เกิดจากหลายสาเหตุ และทุกคนมีส่วนในการสร้าง ดังนั้นทุกคนควรมาช่วยกันแก้ ที่ผ่านมาพอมีมายาคติก็จะโทษกันไปกันมา ซึ่งทำให้ความร่วมไม้ร่วมมือมันหายไป สุดท้ายก็เป็นชาวบ้านที่เป็นทั้งผู้ร้ายและคนที่เดือดร้อน... - ชัชวาล ทองดีเลิศ

ชัชวาล ทองดีเลิศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมากระแสความสนใจต่อปัญหาฝุ่นควันนั้นเกิดขึ้นจากการที่กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงมากมายถึงที่มาของ ‘ฝุ่นควัน’ หรือฤดูหมอกควันที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ และนำมาสู่มายาคติมากมายต่อที่มาของฝุ่นพิษดังกล่าว

นายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ องค์กรภาคประชาสังคมที่มีอายุเพียงปีเศษ แต่แสดงบทบาทมากมาย ก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาหมอกควันในภาคเหนือโดยเฉพาะ กล่าวว่าปัญหามันเป็นเรื่องของมายาคติเยอะ เพราะฉะนั้นต้องแก้มายาคติ โดยการแก้คือต้องเสนอข้อเท็จจริงในช่วงเวลานั้นๆ แต่การเสนอข้อเท็จจริงที่ผ่านมามันมีช่องว่างของข้อเท็จจริงผ่านตัวมายาคติเยอะมาก เช่น ชาวบ้านเป็นคนเผาป่า ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ลวงมาก

“ถ้าเราบอกว่า PM2.5 เกิดจากหลายสาเหตุ และทุกคนมีส่วนในการสร้าง ดังนั้นทุกคนควรมาช่วยกันแก้ ที่ผ่านมาพอมีมายาคติก็จะโทษกันไปกันมา ซึ่งทำให้ความร่วมไม้ร่วมมือมันหายไป สุดท้ายก็เป็นชาวบ้านที่เป็นทั้งผู้ร้ายและคนที่เดือดร้อน PM2.5 เกิดขึ้นจากทุกคนมีส่วนในการสร้างหมดเลย เพราะมันเป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม สร้างความเติบโตขึ้น ทุกคนใช้รถใช้แอร์ใช้พลังงาน ทุกคนก็ทำลายสิ่งแวดล้อม ทุกคนทำการผลิตอะไรต่อมิอะไรต่างๆ มากมายทำให้เกิดสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนเป็นเราจริงๆ ทุกคนมีส่วนในการสร้าง” ชัชวาลกล่าว

ชัชวาลกล่าวต่ออีกว่า สังคมต้องเข้าใจข้อเท็จจริงของพื้นที่ๆ มีบริบทไม่เหมือนกัน สำหรับกรุงเทพฯ เหตุของฝุ่นควันอาจจะเป็นเรื่องของรถยนต์และโรงงานเป็นหลัก แต่แม้ว่าทางเหนือจะมีรถยนต์และโรงงาน แต่ที่ผ่านมามีข้อสรุปชัดเจนว่าเป็นเรื่องของการเผาเพื่อการเกษตร เผาเพื่อกำจัดวัชพืชในป่า ซึ่งต้องแก้ไปตามบริบท และเข้าใจข้อเท็จจริงของพื้นที่

“สาเหตุมันคงจะต่างกัน อาจกล่าวได้ว่าของทางภาคเหนือมันมาจากการเผาในที่โล่งเป็นหลัก เนื่องจากว่าจากผลการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา ยืนยันตรงนี้ได้ค่อนข้างชัดว่าในช่วงหน้าแล้งเรามีปัญหาหนักจริงๆ ซึ่งสาเหตุหลักคือเราพบว่าในช่วงหน้าแล้งมีปัจจัยเสริมหลายๆ ตัวทำให้เกิดปัญหาตัวนี้ ปัจจัยทางธรรมชาติก็ได้แก่ลักษณะภูมิประเทศที่ภาคเหนือของเราเมืองที่เราอยู่เป็นแอ่งล้อมรอบด้วยภูเขา เพราะฉะนั้นเวลาเกิดมลพิษมันจะสะสมในแอ่งได้ดี ประกอบกับสภาพภูมิอากาศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เช่น อากาศมักจะนิ่งในช่วงที่เกิดปัญหา การระบายอากาศในแนวดิ่งน้อย อัตราการระบายอากาศเป็นตัวช่วยในการลดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศได้ แต่ในช่วงนั้นอากาศนิ่งจะมีความกดอากาศ คือเหมือนกับอากาศโดนปิดอยู่ในแอ่ง ก็เลยเกิดความเข้มข้นของฝุ่นเยอะ” ชัชวาลกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่อาจารย์สมพร สมพร จันทระเห็นว่ามาคติของการเผาในปัจจุบันมีแนวโน้มดีขึ้นค่อนข้างเยอะ เพราะผู้คนให้ความสนใจ และมีความรู้ชุดใหม่ถูกวิจัยและผลิตออกมาอยู่เรื่อยๆ

“จริงๆ แล้วหลักๆ คือเชียงใหม่มีปัญหามา 10 ปีแล้ว แต่ข่าวไม่ค่อยดังมาก แต่พอกรุงเทพฯ มีปัญหาปุ๊บเป็นการจุดประเด็นขึ้นมาในประเทศเลยว่ามันรุนแรงนะ มันเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข คือเสียงของคนกรุงเทพฯ มักจะดังกว่าคนต่างจังหวัดอยู่แล้ว ประเด็นเกิดที่กรุงเทพฯ เราก็ได้อานิสงค์ไปด้วย เชียงใหม่จริงๆ แล้วมีปัญหามานานกว่ามาก” อาจารย์สมพรกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงความแตกต่างของสาเหตุการเกิดหมอกควันระหว่างภาคเหนือและกรุงเทพฯ อาจารย์สมพรอธิบายว่าสาเหตุค่อนข้างต่างกัน อาจกล่าวได้ว่าของทางภาคเหนือนั้นหมอกควันมาจากการเผาในที่โล่งเป็นหลัก เนื่องจากว่าจากผลการศึกษาในช่วงที่ผ่านมายืนยันชัดว่าในช่วงหน้าแล้ง ภาคเหนือมีปัญหาหนัก ขณะที่สาเหตุของภาคกลาง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯนั้น เป็นฝุ่นควันที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมและการใช้รถยนต์บนท้องถนนเป็นส่วนใหญ่

“สาเหตุหลักคือเราพบว่าในช่วงหน้าแล้งมีปัจจัยเสริมหลายๆ ตัวทำให้เกิดปัญหาตัวนี้ ปัจจัยทางธรรมชาติก็ได้แก่ลักษณะภูมิประเทศที่ภาคเหนือของเราเมืองที่เราอยู่เป็นแอ่งล้อมรอบด้วยภูเขา เพราะฉะนั้นเวลาเกิดมลพิษมันจะสะสมในแอ่งได้ดี ประกอบกับสภาพภูมิอากาศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น เช่น อากาศมักจะนิ่งในช่วงที่เกิดปัญหา การระบายอากาศในแนวดิ่งน้อย อัตราการระบายอากาศเป็นตัวช่วยในการลดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศได้ แต่ในช่วงนั้นอากาศนิ่งจะมีความกดอากาศ คือเหมือนกับอากาศโดนปิดอยู่ในแอ่ง ก็เลยเกิดความเข้มข้นของฝุ่นเยอะ” อาจารย์สมพรกล่าวทิ้งท้าย.

 

เชิงอรรถ/อ้างอิง

i ดัชนีคุณภาพอากาศหรือ Air Quality Index (AQI) คือข้อมูลการวัดคุณภาพอากาศที่แสดงความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศหลายชนิดมาคำนวณหาค่า และแสดงออกให้เข้าใจง่ายผ่านสีต่างๆ และตัวเลขกำกับไว้

ii นักศึกษาและนักกิจกรรมจากหลายสถาบันภายใต้ ‘เครือข่ายชมรมอนุรักษ์’ จัดแฟลชม็อบเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงปัญหาฝุ่นละออง โดยใช้แฮชแท็ก #NotMyPM (2.5) พร้อมยื่นข้อเรียกร้องกดดันต่อรัฐบาลให้ออกมาตรการรับมือปัญหาฝุ่นในระยะเร่งด่วน

iii สมพร จันทระ, ชาคริต โชติอมรศักดิ์ และว่าน วิริยา. (2561). การติดตามตรวจสอบการเผาในที่โล่งในภาคเหนือของประเทศไทย สำหรับการประเมินการปล่อยและการเคลื่อนที่ของมลพิษทางอากาศเพื่อการวางแผนการจัดการปัญหาหมอกควัน. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

iv ปัณฑิตา ตันวัฒนะ และธัญศิภรณ์ จันทร์หอม. (2561). การปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน และการออกแบบห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรเพื่อลดการเกิดหมอกควัน – พื้นที่จังหวัดน่าน. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. โครงการวิจัย “ประเทศไทยไร้หมอกควัน” ชุดโครงการย่อยที่ 1. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.).

v ศุทธินี ดนตรี, อภิรดี สรวิสูตร, พจนา พิชิตปัจจา, ปรัชญา ปิ่นขันธะยงค์ และศุภลักษณ์ หน้อยสุยะ. (2557). การจำแนกเชิงพื้นที่ของพื้นที่เผาไหม้ เพื่อการเฝ้าระวังและการป้องกันการเผาในที่โล่ง: กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. เชียงใหม่: ล๊อคอินดีไซน์เวิร์ค.

vi สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), (2561). สรุปสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม ปี 2561. กรุงเทพฯ: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน).

vii รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์. (2562). มีอะไรใต้หมอกควัน PM2.5 ภาคเหนือ. https://www.greenpeace.org/ thailand/story/4769/north-pm25/, 19 มีนาคม 2562.

viii Litta, H. (2012). “Case Study One: Transboundary Haze Pollution,” in Regimes in Southeast Asia: An Analysis of Environmental Cooperation, Wiesbaden: VS research, 89-138.

ix Woods, K. (2015). CP maize contract farming in Shan State, Myanmar: A regional case of a place-based corporate agro-feed system, BICAS Working Paper, 14.

x อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ. (2560). เปิดปมทุนข้ามชาติ กับควันพิษข้ามพรมแดน. https://www.tcijthai.com/ news/2017/26/scoop/6792, 26 กุมภาพันธ์ 2560.

xi Woods, K. 2015. Op. Cit.

xii อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ. 2560. เปิดปมทุนข้ามชาติ กับควันพิษข้ามพรมแดน. https://www.tcijthai.com/ news/2017/26/scoop/6792, 26 กุมภาพันธ์ 2560.

 

รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท