Skip to main content
sharethis

การแก้ปัญหาโดยการสกัดกั้นการเข้า-ออกชายแดนไม่ตอบโจทย์ เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ชี้ภาครัฐต้องเปิดชายแดนแบบปลอดโรค มีมาตรการกักตัวผู้ข้ามแดนที่ชัดเจน เชื่อลดจำนวนผู้ลักลอบได้จริง

  • นโยบายล้อมลวดหนามตะเข็บชายแดนจะไม่ได้ผล การคุมโรคระบาดจะเป็นไปอย่างลำบาก 
  • เปิดชายแดนแบบ State Quarantine รัฐมีมาตรการกักตัว ทำหลักประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติทุกคน 
  • ดึงแรงงานที่หลุดออกนอกระบบกลับเข้ามาอีกครั้ง ช่วยรัฐควบคุมโรคระบาดในหมู่แรงงานข้ามชาติง่ายขึ้น 
  • เครื่องป้องกันการแพร่ระบาดโควิดไม่เพียงพอ และคู่มือป้องกันโควิดมีแค่ฉบับภาษาไทย ทำแรงงานข้ามชาติลำบาก 
  • ยอมปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 

 

ภาพประกอบ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.63 เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ลงพื้นที่จ.สมุทรสาครเพื่อตรวจคัดกรองแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงของการระบาดของ COVID-19 (ที่มาภาพ เพจ มูลนิธิรักษ์ไทย : Raks Thai Foundation)

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่สร้างความกังวลแก่ชาวไทยเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อทางการประกาศพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 513 รายในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งทะยานขึ้นเป็น 548 รายภายในวันเดียว ก่อนที่ต่อมา ไทยรัฐออนไลน์รายงานเมื่อช่วงกลางวัน วันที่ 22 ธ.ค. จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาครแตะหลักพัน มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 1,063 ราย ขณะที่ตัวเลขในประเทศไทยตอนนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมเมื่อเวลา 21.00 น. อยู่ที่ 5,716 ราย

ท่ามกลางกระแสความกังวลเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ หรือระลอก 2 ทำให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถามกับมาตรการภาครัฐว่าที่ผ่านมา ทั้งที่มีการปิดกั้นชายแดนอย่างเข้มข้น เพื่อลดการนำเข้าแรงงานจากเพื่อนบ้าน แต่กลับกลายเป็นว่าจำนวนผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายมีจำนวนสูงขึ้น และเจ้าหน้าที่รัฐอาจมีเอี่ยวกับการลักลอบนำแรงงานข้ามชาติเข้ามา

ขณะที่ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อช่วงเช้าวันที่ 22 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรีถึงมาตรการตรวจเข้มการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดนว่า ขณะนี้ได้เพิ่มกำลังทหารแล้ว “เราป้องกันทั้งหมด”

ไม่แน่ใจว่าการปิดกั้นชายแดนที่ไม่เข้มงวดคือปัญหาที่แท้จริง หรือมาตรการดังกล่าวอาจเป็นนโยบายที่ล้มเหลวตั้งแต่แรกเริ่ม

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและใกล้ชิดกับประเด็นแรงงานข้ามชาติ เคยเรียกร้องให้รัฐพิจารณาทบทวนมาตรการล้อมรั้วลวดหนามชายแดน หรือปิดกั้นชายแดน เพราะมาตรการนี้จะไม่ได้ผล มีแต่จะทำให้มีผู้ลักลอบแอบเข้ามาเพิ่ม สิ่งที่รัฐควรทำคือการเปิดชายแดนอย่างปลอดภัย มีมาตรการคัดกรองผู้ข้ามผ่านแดนทุกคน เชื่อผู้ลักลอบจะลดลง แถมรัฐควบคุมโรคระบาดสะดวกขึ้น  

ประชาไทจึงชวนผู้อ่านย้อนดูข้อเสนอในวงเสวนา “แรงงานข้ามชาติกับโควิด-19 : เราทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จัดโดยเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เมื่อ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) กรุงเทพมหานคร ว่าทำไมการปิดกั้นชายแดนจะไม่ได้ผล และการเปิดชายแดนอย่างปลอดภัย สามารถทำได้อย่างไร 

นโยบายล้อมลวดหนามตะเข็บชายแดนจะไม่ได้ผล การคุมโรคระบาดจะเป็นไปอย่างลำบาก 

ในช่วงเวทีเสวนาหลักของงาน ผู้อภิปรายมีมุมมองต่อมาตรการสกัดกั้นผู้เดินทางเข้า-ออกชายแดนอย่างเข้มงวดว่า สุดท้ายแล้วจะไม่ได้ผล เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ภาคธุรกิจไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก และแรงงานข้ามชาติก็ขาดรายได้เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้มีการพยายามนำเข้าแรงงานข้ามชาติและการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ภาครัฐประสบปัญหาอย่างมากในการควบคุมโรคระบาด เพราะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายจะไม่ได้รับการคัดกรองแต่แรกนั่นเอง 

อดิศร เกิดมงคล

อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เรียกร้องให้รัฐมีความชัดเจนเรื่องนโยบายปิดกั้นพรมแดน เนื่องจากตอนนี้มีคนรอข้ามแดนกลับมาทำงานจำนวนมาก มีบางคนกู้หนี้ยืมสินเพื่อเดินทางเข้ามาทำงาน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่สามารถรอได้ เพราะดอกเบี้ยมันวิ่งของมันไปตลอด สุดท้ายถ้าภาครัฐไม่มีความชัดเจนเรื่องเวลาเปิด-ปิดชายแดน พวกเขาจะเลือกวิธีนอกกฎหมายเพื่อเดินทางเข้ามาทำงานในไทย และจำนวนผู้ลักลอบเข้าเมืองจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะที่สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ได้อภิปรายต่อถึงประเด็นนี้ในทำนองเดียวกันว่า การกั้นพรมแดนจะทำให้มีผู้ลักลอบเข้าเมืองมากขึ้น ซ้ำแรงงานข้ามชาติอาจตกเป็นเหยื่อนายหน้า และขบวนการค้ามนุษย์ 

“สิ่งนี้จะทำให้เกิดปัญหาแบบในอดีต คือการลักลอบเข้ามาแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คนที่หิวโหยอดอยาก ในประเทศต้นทางไม่มีงานทำ เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างแรง เขาก็อยากมาหางานทำ หาเงินจุนเจือครอบครัว วิกฤตของเขาถือเป็นโอกาสของนายหน้า” สุธาสินี ทิ้งท้าย 

เปิดชายแดนแบบ State Quarantine รัฐมีมาตรการกักตัว ทำหลักประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติทุกคน 

เมื่อการปิดชายแดนไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะมีแต่จะทำให้ผู้ลักลอบเข้าเมืองมีจำนวนเพิ่มขึ้น แล้วประเทศไทยจะสามารถเปิดพรมแดนให้ปลอดภัยได้อย่างไร 

ชูวงศ์ แสนคง

ชูวงศ์ แสนคง คณะทำงานด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้าม เสนอว่า ควรจะมีการเปิดชายแดนอย่างปลอดภัย หรือรัฐชาติมีมาตรการคัดกรอง หรือกักตัวแรงงานข้ามชาติทุกคนที่เดินทางเข้าไทย

ข้อเสนอแรกคือ รัฐควรมีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกักตัวแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้ามาในไทย 14 วัน โดยแรงงานทำงานที่จังหวัดไหน ก็ควรมีสถานที่กักตัวที่จังหวัดนั้น ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการ ชูวงศ์กล่าวเสริมว่าอยากให้นายจ้างและภาครัฐเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ 

“คนที่ได้ประโยชน์จริง ๆ ก็คือนายจ้าง และรัฐบาล ส่วนที่เรามองว่าลูกจ้างได้ประโยชน์ ผมคิดว่าเขาได้แค่ค่าตอบแทน เขาไม่ได้กำไรอะไรเลย แต่คนที่ทำกำไรเป็นนายจ้างกับรัฐบาล ผมอยากเสนอว่า ค่าใช้จ่ายในการกักตัว 14 วัน ก็ควรที่จะเป็นภาระของนายจ้างกับรัฐบาลที่ลองตกลงกันดูว่าใครจะจ่ายเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะได้มีคนทำงานเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย”

นอกจากนี้ ชูวงศ์ เสนอว่า ชาวต่างชาติทุกคนที่ก้าวเข้ามาเหยียบผืนแผ่นดินไทยควรจะได้รับหลักประกันสุขภาพ ให้เป็นหลักสิทธิที่ทุกคนพึงมี ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายอาจต้องมีการเจรจากันอีกทีว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้ออกทุน 

ดึงแรงงานที่หลุดออกนอกระบบกลับเข้ามาอีกครั้ง ช่วยรัฐควบคุมโรคระบาดในหมู่แรงงานข้ามชาติง่ายขึ้น 

วงเสวนาชี้ มาตรการที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติอยู่ในสายตาของภาครัฐเพื่อควบคุมโรคระบาด คือต้องดึงให้พวกเขาให้กลับมาอยู่ในระบบของรัฐ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่มาหลุดระบบในไทย

ข้อมูลจากเวทีเสวนาระบุสถานการณ์แรงงานข้ามชาติช่วงโควิด-19 และการข้ามแดนช่วงที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบจำนวนแรงงานข้ามชาติช่วงก่อนและหลังโควิด-19 (ตั้งแต่สิงหาคม 2562-ตุลาคม 2563) เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 มีแรงงานข้ามชาติในระบบทั้งสิ้น 2,877,123 คน แต่เดือนตุลาคมปีนี้ รัฐไทยมีแรงงานข้ามชาติในระบบเหลือเพียง 2,284,673 คน หรือมีแรงงานจำนวน 592,450 คนหายไปจากระบบ หมายความว่ารัฐไทยมีผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายเกือบ 6 แสนคนเลยทีเดียว

ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลกระทบจากนโยบายรัฐแบบ “ยาแรง” ช่วงโควิด-19 ทำให้หลายกิจการปิดตัวลง เป็นเหตุให้มีการเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก และหลายคนหลุดออกจากระบบ  

ขณะที่นโยบายจากรัฐบางส่วนผลักแรงงานข้ามชาติหลุดจากระบบไปไม่น้อย เช่น นโยบายการจัดระบบแรงงานข้ามชาติ 2563 และการปิดการดำเนินการของศูนย์ One Stop Service ส่งผลต่อการขออนุญาตทำงานในไทยเป็นไปอย่างลำบาก อีกทั้งกรณีการเปลี่ยนนายจ้างที่ให้แรงงานข้ามชาติต้องพิสูจน์ว่านายจ้างเดิมมีความผิด หรือต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายจ้างเดิม และต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน ซึ่งแรงงานข้ามชาติหลายคนไม่สามารถทำได้ในช่วงโควิด-19 นโยบายภาครัฐตอนนี้กำลังผลักแรงงานข้ามชาติออกจากระบบ มากกว่าจะรักษาให้อยู่กับระบบต่อไป

นอกจากนี้ นโยบายปิดชายแดนยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับแรงงานข้ามชาติในการเดินทางกลับ กล่าวคือเมื่อแรงงานข้ามชาติตกงาน ไม่มีรายได้ เขาจะเดินทางกลับประเทศต้นทาง แต่รัฐก็มีมาตรการปิดชายแดน ก็ทำให้กลับไม่ได้ พวกเขาเหล่านี้จะตกเป็นแรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทย 

ดังนั้น สิ่งที่รัฐต้องทำคือต้องหาทางอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติกลับเข้ามาในระบบ ให้อยู่ในสายตาของภาครัฐ เพราะถ้าคนเหล่านี้หลุดจากระบบ เขาจะลง “ใต้ดิน” หรือไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะ สร้างความลำบากในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

การหลุดระบบมีผลทำให้แรงงานกลุ่มนี้ขาดสิทธิ์ประกันสังคมและประกันสุขภาพ แรงงานบางคนไม่ไปโรงพยาบาล เพราะไม่มีค่ารักษา หรือจะไปต่อเมื่อมีอาการหนักจริง ๆ กรณีเลวร้ายคือถ้าเขาติดโควิด-19 แล้วไม่ไปตรวจ ทางการก็จะไม่ทราบและไม่มีข้อมูล และถ้าผู้ติดเชื้อเดินทางไปพื้นที่ต่าง ๆ นอกสายตารัฐ ก็เสี่ยงนำเชื้อโรคไปแพร่ที่อื่น เพราะฉะนั้น การนำเอาแรงงานข้ามชาติกลับเข้าระบบในช่วง ‘วิกฤต’ นี้จึงสำคัญ ยังไม่รวมว่าการนำแรงงานข้ามชาติกลับเข้าระบบ ยังเป็นการช่วยเหลือพวกเขาให้มีรายได้ประทังชีวิต รวมถึงผู้ประกอบการก็ได้ลูกจ้างมาทำงานในช่วงที่หลายอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก 

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ

“โดยต้องเริ่มต้นจากแรงงานที่ยังตกค้างอยู่ในไทยก่อน ต้องตระหนักว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย แต่มาผิดในประเทศไทย ซึ่งสาเหตุมาจากการเกิดโรคระบาด ดังนั้น รัฐจะต้องเปิดโอกาสให้เขาเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องทั้งหมด หลังจากนั้นให้เขามีงานทำ คนงานจะได้ไม่ต้องลักลอบเข้ามา ซึ่งจะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย” สุธาสินี กล่าว 

เครื่องป้องกันการแพร่ระบาดโควิดไม่เพียงพอ และคู่มือป้องกันโควิดมีแค่ฉบับภาษาไทย ทำแรงงานข้ามชาติลำบาก 

วงเสวนาสะท้อนปัญหาการป้องกันโรคโควิด-19 ในหมู่ประชากรข้ามชาติเป็นไปอย่างลำบาก ชี้ภาครัฐไม่มีเคยมีมาตรการช่วยเหลือโดยเฉพาะเจาะจงที่ “แรงงานข้ามชาติ” ในเรื่องเครื่องป้องกันโควิด-19 เลย อย่างหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ  

คายง์ มิน หลุ่ย แรงงานข้ามชาติชาวพม่า

คายง์ มิน หลุ่ย แรงงานข้ามชาติชาวพม่าและผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า ในช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ลงพื้นที่สำรวจแรงงานข้ามชาติในชุมชนจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล  พบว่าแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุข และไม่ทราบวิธีการป้องกันโควิด-19 เพราะไม่มีคู่มือที่เป็นภาษาอื่น ๆ นอกจากไทย

“ระบบการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ทำให้แรงงานบางส่วนไม่มีเงินที่จะไปหาหมอ อีกทั้งปัญหาทางการสื่อสารที่ไม่เข้าใจภาษาไทย ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานหลายคนกลัว และเมื่อเจ็บป่วยก็เลือกที่จะไม่ไปโรงพยาบาล ซึ่งในการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ การเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข หรือการไม่รับทราบข้อมูลในการปฏิบัติตนหรือดูแลตนเองอย่างถูกต้องให้ปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล”

คายง์เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานสาธารณสุข หันมาให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติ โดยเรื่องเร่งด่วนคือให้มีล่ามแปลภาษาประจำโรงพยาบาล เพื่อให้แรงงานสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ นอกจากนี้ ควรจัดทำคู่มือการปฏิบัติตัวในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาษาพม่า รวมถึงรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้และสามารถช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติได้

ในประเด็นนี้ชูวงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการร่างระเบียบเพื่อรองรับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขขึ้นมา เพื่อให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีจิตสาธารณะ สามารถทำงานเป็นล่ามอาสาสมัครตามโรงพยาบาลได้ 

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายที่ชูวงศ์ พยายามทำอยู่คือ การสร้าง “ตัวกลาง” หรือล่าม เพื่อที่จะนำระบบสาธารณสุขเข้าไปหาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น สร้างความเชื่อใจระหว่างรัฐและแรงงานข้ามชาติ และเพื่อเป็นการป้องกันโควิด-19 ไปในตัว 

“เราพยายามที่จะเอาตัวของระบบสุขภาพก็คือสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ อย่างเช่น รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ถ้าในกรุงเทพฯ ก็ศูนย์บริการสุขภาพ ให้มีความคุ้นเคยกันระหว่างสถานบริการสุขภาพและแรงงาน ถ้าเขารู้สึกไม่สบาย เขาไม่ต้องกลัว ให้เข้ามา มาเพื่อที่จะตรวจ มาเพื่อที่จะรับการรักษา เราพยายามทำยังไงให้คนเข้ามาหาระบบให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย” 

ยกตัวอย่างมาตรการที่ตอนนี้รัฐไทยได้ผ่อนปรนคือบริเวณชายแดนที่แม่สาย จ.เชียงราย รัฐเองก็ละเว้นเอกสารให้บางตัวเพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ถ้ามีอาการที่สุ่มเสี่ยงจะติดเชื้อโควิด-19 ให้เข้าไปใช้บริการที่สถานพยาบาลได้เลย ไม่จำเป็นต้องแสดงบัตรเข้าเมือง แต่ก็ต้องมีคนไปอธิบาย ซึ่งก็คือล่ามอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ ไม่งั้นแรงงานก็ไม่กล้าเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล เพราะกลัวโดนจับ

ยอมปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 

หลังการเสวนา ผู้สื่อข่าวประชาไทได้คุยกับชูวงศ์ แสนคง และอดิศร เกิดมงคล ถึงมาตรการที่รัฐไทยสามารถทำได้เพื่อดึงแรงงานกกลับเข้าระบบ และเข้าถึงบริการสาธารณสุขช่วงวิกฤตได้ ซึ่งชูวงศ์ เสนอว่า รัฐไทยควรผ่อนปรนมาตรการบางอย่าง หรือ “ยอมปิดตาข้างหนึ่ง” เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้ามาตรวจที่สถานบริการสุขภาพได้ หาพวกเขาให้เร็วที่สุด ดีกว่าให้โรคระบาดในวันที่สาย 

“รัฐควรทบทวนวิธีช่วยเหลือคนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกตัวอย่างเช่น จะรับความช่วยเหลือต้องเป็นคนไทย หรือต้องมีหลักฐานแสดงตัว ผมคิดว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ควรจะมีระเบียบแบบนี้อยู่ เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ”   

ทำไมเรื่องเอกสารถึงสำคัญ ชูวงส์สำทับว่า เพราะมันเกี่ยวข้องกับความมั่นใจของแรงงานข้ามชาติที่จะไปปฏิสัมพันธ์ข้างนอก จริง ๆ แล้วภาครัฐบางช่วงก็ละเว้นให้อยู่ 

“เป็นการละเว้นเอกสารบางอย่างเพื่อการป้องกันโรค ปกติถ้าจะไปโรงพยาบาลก็ต้องมีบัตรสุขภาพ ถ้าไม่มีก็ต้องจ่ายเงิน แต่ตอนนี้หลังการสอบสวนโรคแล้ว มีอาการเข้าได้ ได้รับการรักษา” 

“หรือตอนนี้ถ้าเป็นตามแนวชายแดน ถ้าเป็นบัตรเข้าเมือง เพราะปกติเวลาเราเข้ามาเมืองไทย ก็ต้องมีใบอนุญาตเข้าเมือง แต่ข้อเท็จจริง มีคนลักลอบเข้ามา ที่ไม่มีหลักฐานอะไร ตอนนี้ถ้าเป็นลักษณะแบบนี้แล้ว ก็เหมือนหลับตาข้างหนึ่ง ให้เขาได้รับการตรวจ โอเค ไม่ดูเอกสารเข้าเมือง เพราะว่าถึงแม้ว่าเขาไม่มีหลักฐานเข้าเมือง แต่ถ้าเขาเป็นคนที่มีเชื้ออยู่ในตัว ก็เข้ารับการักษาได้ ซึ่งเราก็เป็นลักษณะผ่อนผันแบบนี้” ชูวงศ์ กล่าว

ความเห็นนี้สอดคล้องไปกับอดิศรที่เสนอว่า ในช่วงเวลาฉุกเฉิน รัฐควรมีมาตรการผ่อนผันเอกสารบางตัว อย่างเช่น บัตรประจำตัวประชาชนพม่า เอกสารที่ต้องเดินทางกลับไปเอาที่ประเทศพม่า หรือว่าต้องใช้เวลาดำเนินเรื่องเอกสารนาน ก็ให้รัฐผ่อนผันให้ผ่านช่วงวิกฤตไปก่อน และให้พวกเขามายื่นทีหลังได้ เพื่อรักษาแรงงานให้อยู่ในระบบ และสามารถเข้าถึงหลักประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพต่อไปได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net