เปิดคำวินิจฉัยตัวเต็มปมบ้านพักกองทัพของ 'ประยุทธ์'

23 ธ.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22 ธ.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาลงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดังนี้

 

คําวินิจฉัยที่ ๒๙/๒๕๖๓

เรื่องพิจารณาที่ ๘/๒๕๖๓ วันที่ ๒ เดือน ธันวําคม พุทธศักรําช ๒๕๖๓

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ศาลรัฐธรรมนูญ

ระหว่าง ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ผู้ถูกร้อง)

เรื่อง ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๘๒ ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๕) และมาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕) ประกอบมาตรา ๑๘๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๓) หรือไม่

ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินจิฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๗๐ วรรคสามประกอบมาตรา ๘๒ ว่าความเป็น รัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๕)

และมาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕) ประกอบมาตรา ๑๘๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๓)

หรือไม่ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง สรุปได้ดังนี้

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะ รวม ๕๕ คน ยื่นคำร้องต่อผู้ร้องว่า

ความเป็นรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ผู้ถูกร้อง) สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๕) โดยกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องใช้บ้านพักในกรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นบ้านพักของทางราชการทหาร เป็นที่พักอาศัยของผู้ถูกร้องและครอบครัวตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ และเมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ จนถึงเมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งที่สองตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ จนถึงปัจจุบัน บ้านพักของทางราชการทหารซึ่งผู้ถูกร้องและครอบครัวพักอาศัย ถูกจัดไว้ใหเ้ฉพาะบุคคลที่เป็นข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดกองทัพบกพักอาศัยตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดกองทัพบก พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๑๑ เท่านั้น เมื่อผู้ถูกร้องเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ แล้ว ย่อมหมดสิทธิเข้าพักอาศัยตามข้อ ๑๔.๒ ของระเบียบเดียวกัน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระเบียบคณะกรรมการอำนวยการสวัสดิการกองบัญชาการกองทัพไทย ว่าด้วยการพักอาศัยในอาคารสวัสดิการ กองบัญชาการกองทัพไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ ระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ที่เบิกจ่ายจากงบประมาณงบงานบริหารหน่วย พ.ศ. ๒๕๔๖ และหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจัดข้าราชการ เข้าพักอาศัยในที่พักของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๖๐ ของกระทรวงการคลัง จะเห็นได้ว่า บุคคลที่เข้าพักอาศัย และใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาของทางราชการน้ัน ต้องเป็นบุคคลที่รับราชการอยู่เท่านั้น การที่ผู้ถูกร้อง ยังคงใช้บ้านพักของทางราชการทหารตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่เสียค่าเช่า ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าน้ำประปาให้แก่ทางราชการทหาร จึงเป็นการอยู่อาศัย โดยไม่มีสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการรับประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ เป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ

อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๖ วรรคหนึ่งประกอบ มาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๓) ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕) นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการ ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๒๗ ประกอบข้อ ๗ ข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ และข้อ ๑๑ อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๕) อีกด้วย

ผู้ร้องตรวจสอบลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอคำร้องแล้วเห็นว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันเข้าชื่อเสนอคำร้องจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบขอจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๘๒

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องนี้ ไว้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๘๒ วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อร้องต่อผู้ร้อง ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๕) และมาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕) ประกอบมาตรา ๑๘๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๓) และผู้ร้องยื่นคำร้อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคสาม และมาตรา ๘๒ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗ (๙) ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา สำหรับการพิจารณากรณีให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง หรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ถูกร้อง มีกรณีตามที่ถูกร้อง ในชั้นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงยังไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง

ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบ สรุปได้ว่า ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบกตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ เกษียณอายุราชการในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ และเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๒ รักษาพระองค์ แม่ทัพภาคที่ ๑ เสนาธิการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารบก มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่โดยที่ผู้ถูกร้องรับราชการในกองทัพบกและดำรงตำแหน่งบังคับบัญชาที่สำคัญ ประกอบกับสถานการณ์ของประเทศไม่สงบเรียบร้อย ผู้ถูกร้องซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ในขณะนั้นจำเป็นต้องใช้บ้านพักรับรองกองทัพบกภายในกรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ เป็นที่พัก และเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการสั่งการและปฏิบัติราชการ เมื่อเกษียณอายุราชการและพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแล้ว ผู้ถูกร้องยังคงเป็นหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ซึ่งขณะนั้น มีการประกาศใช้ กฎอัยการศึก ความจำเป็นในการรักษาความสงบเรียบร้อยขั้นสูงสุดยังคงมีอยู่ อีกทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังใช้บ้านพักรับรองของผู้ถูกร้องหรืออาคารต่าง ๆ ในบริเวณกรมทหารราบที่ ๑ เป็นที่หารือหรือประชุม ทางราชการเป็นครั้งคราว ผู้บัญชาการทหารบกคนต่อ ๆ มาเห็นว่าผู้ถูกร้องเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ และมีคุณสมบัติตามแบบธรรมเนียมที่กองทัพบกเคยปฏิบัติต่ออดีตผู้บังคับบัญชา และเป็นไปตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบา้นพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.๒๕๔๘ ข้อ๔ ข้อ๕ ข้อ๘ และ ข้อ๑๑ โดยคำนึงถึงสถานการณ์ สถานะของความเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และความจำเป็นอื่น ๆ ประกอบกัน จึงพิจารณาให้ผู้ถูกร้องมีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรองดังกล่าวต่อไป ภายหลังเกษียณอายุราชการ เช่นเดียวกับกรณีของผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นตามควรแก่สถานภาพและสถานการณ์โดยไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ แม้สำนักเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีได้จัดบ้านพักรับรองไว้ให้นายกรัฐมนตรีทุกคน คือ บ้านพิษณุโลก แต่ในขณะผู้ถูกร้อง เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี ๒๕๕๗ นั้น บ้านพิษณุโลกทรุดโทรมเพราะถูกใช้เป็นที่ทำงาน ของหน่วยราชการแทนที่จะเป็นบ้านพักรับรองตามวัตถุประสงค์และยังได้รับความเสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนฝ่ายรักษาความปลอดภัยของกองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบแล้วเกรงว่าอาจไม่สะดวกต่อการสัญจรและไม่ปลอดภัยสำหรับสถานการณ์ที่มีการชุมนุมในขณะน้ัน ผู้ถูกร้องมิได้กระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๖ วรรคหนึ่งประกอบมาตรา ๑๘๔

วรรคหนึ่ง (๓) เพราะระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. ๒๕๔๘ ใช้บังคับต้ังแต่ผู้ถูกร้องยังมิได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และก่อนที่ผู้ถูกร้องจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกองทัพบกให้ประโยชน์เช่นเดียวกันนี้แก่อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกที่ทำคุณประโยชน์ ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติทุกคน การที่ผู้ถูกร้องได้รับประโยชน์ใด ๆ จากกองทัพบกก็เป็นไป ตามที่กองทัพบกได้ปฏิบัติต่อบุคคลอื่นที่มีสถานภาพและคุณสมบัติเดียวกันซึ่งมีลักษณะเป็นไปในธุรกิจ การงานปกติของกองทัพบก ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจัดข้าราชการเข้าพักอาศัยในที่พักของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดนั้น เป็นการจัดระเบียบที่พักของทางราชการแก่ผู้มีสถานภาพ เป็นข้าราชการโดยออกตามความในพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ไม่เกี่ยวกับ กรณีที่กองทัพบกกำหนดระเบียบให้สิทธิแก่ผู้มิได้เป็นข้าราชการทหาร ซึ่งเป็นระเบียบแยกต่างหาก นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องมิได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๒๗ ประกอบข้อ ๗ ข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ และข้อ ๑๑ อีกทั้งการพักอาศัยในบ้านพักรับรองดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องและสามารถใช้บ้านพักรับรองดังกล่าวเป็นที่ประชุม ต้อนรับผู้นำรัฐบาลและผู้นำทางทหารจากต่างประเทศ เป็นสถานที่ เก็บรวบรวมหนังสือและเอกสารของทางราชการ เป็นสถานที่ถ่ายทอดออกอากาศเผยแพร่คำปราศรัย ของนายกรัฐมนตรี และเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงรับรองในโอกาสต่าง ๆ

เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๒๗ วรรคสาม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ให้ผู้บัญชาการทหารบกจัดทำคำชี้แจงเป็นหนังสือเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้ผู้ถูกร้องใช้บ้านพักในกรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ เป็นที่พักอาศัยตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งข้อมูลอื่น และสรรพเอกสารที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้บัญชาการทหารบกยื่นคำชี้แจง คำชี้แจงเพิ่มเติม และเอกสารประกอบ สรุปได้ว่า กองทัพบกเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง มีหน้าที่ปกป้องรักษาอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐ ผลประโยชน์ของชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นองค์กรหลักในการจัดกาลังพลและยุทโธปกรณ์สนับสนุนรัฐบาล

ในการรักษาความมั่นคงภายใน การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ รวมทั้งการต่อต้านภัยคุกคาม ความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ ผลจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ที่เสียผลประโยชน์ ซึ่งอาจส่งผลให้อดีตผู้บังคับบัญชาและผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาความมั่นคงในช่วงที่ผ่านมา ตกเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุหรือถูกปองร้าย ประกอบกับอดีตผู้บังคับบัญชาของกองทัพบกหลายท่าน หลังจากเกษียณอายุราชการแล้วได้ปฏิบัติหน้าที่ในงานด้านความมั่นคง การรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และการดำเนินงานทางด้านการเมือง กองทัพบกตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลอดีตผู้บังคับบัญชา ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ จึงจัดให้มีบ้านพักรับรองในพื้นที่ของกองทัพบก เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในยามปกติและในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องการความรวดเร็ว ในการแก้ไขปัญหาและเพื่อให้สามารถดำรงสถานะทางสังคมได้อย่างสมเกียรติและมีศักดิ์ศรี โดยกองทัพบกออกระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. ๒๕๔๘ กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยบ้านพักรับรองกองทัพบกจะต้องเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงหรืออดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกที่ยังคงทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและกองทัพบก และเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กองทัพบกจึงอนุมัติให้ผู้ถูกร้อง เข้าพักอาศัยในอาคารหมายเลข ๒๕๓/๕๔ ซึ่งเป็นบ้านพักรับรองกองทัพบกที่กำหนดขึ้นภายหลัง ตามข้อ ๗.๒ และกองทัพบกอาศัยข้อ ๑๑ แห่งระเบียบเดียวกันพิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุน งบประมาณค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยตามความจำเป็น และเหมาะสมในการใช้งานแก่ผู้ถูกร้อง รวมถึงให้การรักษาความปลอดภัยและการสนับสนุนอื่น ๆ ปัจจุบันบ้านพักรับรองกองทัพบกที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยไม่ได้อยู่ในเขตกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์ แต่เป็นพื้นที่ในความครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ในราชการของกองทัพบก

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้อง และเอกสาร ประกอบแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง และกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๕) และมาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕) ประกอบมาตรา ๑๘๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๓) หรือไม่ นับแต่เมื่อใด

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ ... (๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ และ (๕) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๑๘๖ หรือมาตรา ๑๘๗ ... โดยมาตรา ๑๖๐ บัญญัติว่า รัฐมนตรีต้อง ... (๕) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ปัจจุบันมีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ พ.ศ. ๒๕๖๑ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๙ และมาตรา ๒๑๙ วรรคสอง บัญญัติให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย โดยข้อ ๒๗ กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมในหมวด ๑ ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในหมวด ๒ และหมวด ๓ จะถือว่ามีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัตินั้น ซึ่งหมวด ๑ ข้อ ๗ กำหนดให้ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ข้อ ๘ กำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ข้อ ๙ กำหนดให้ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ ข้อ ๑๐ กำหนดให้ต้องไม่รับของขวัญของกำนัล ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยา และการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้ และหมวด ๒ ข้อ ๑๑ กำหนดให้ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

สำหรับรัฐธรรมนูญ หมวด ๙ ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มาตรา ๑๘๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้นำความในมาตรา ๑๘๔ มาใช้บังคับแก่รัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ (๑) การดำรงตำแหน่งหรือการดำเนินการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่หรืออำนาจของรัฐมนตรี (๒) การกระทำตามหน้าที่และอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ ... และมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาต้อง ... (๓) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ

หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติ ต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ ...

ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ เกษียณอายุราชการในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกพักอาศัย ที่บ้านพักอาคารหมายเลข ๒๕๓/๕๔ ต้ังอยู่ที่กรมทหารราบที่ ๑ ซึ่งบ้านพักหลังนี้มีการปรับโอนให้มีสถานะ เป็นบ้านพักรับรองกองทัพบกในปี ๒๕๕๕ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ในความครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ ในราชการของกองทัพบก

มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเบื้องต้นก่อนว่า ผู้ถูกร้องกระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕) ประกอบมาตรา ๑๘๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๓) หรือไม่

เห็นว่า ระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๕ กำหนดว่าผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกต้องมีคุณสมบัติ ตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ ๕.๑ เป็นข้าราชการประจำการสังกัดกองทัพบกที่มีชั้นยศพลเอก ๕.๒ เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติและเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว ข้อ ๗ กำหนดให้แบ่งประเภทของบ้านพักรับรองกองทัพบกสำหรับผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยตามข้อ ๕ ดังนี้ ๗.๑ บ้านพักรับรองกองทัพบก อาคารหมายเลข ๗๐/๒๕ เป็นบ้านพักรับรองของผู้บัญชาการทหารบก ๗.๒ บ้านพักรับรองกองทัพบก อาคารหมายเลข ๑, ๔, ๓๑, ๑๐๗/๑๐, ๒๔๖/๑๖, ๒๖/๑๘, ๓๘๕/๒๓, ๒๔๙/๒๕, ๔๓๗/๓๗, ๔๙๒/๔๕, ๔๙๓/๔๕ และที่กองทัพบกกำหนดขึ้นในภายหลังเป็นบ้านพักรับรองของผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก และอดีตผู้บังคับบัญชาในข้อ ๕.๒ ข้อ ๘ วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก หมดสิทธิการเข้าพักอาศัยในกรณีดังต่อไปนี้ ๘.๑ ย้ายออกนอกกองทัพบก ๘.๒ ออกจากราชการ ไม่ว่ากรณีใด ๘.๓ ถึงแก่กรรม ๘.๔ เมื่อกองทัพบกพิจารณาให้หมดสิทธิการเข้าพักอาศัย ข้อ ๘ วรรคสอง กำหนดว่า สำหรับผู้ที่มีสิทธิเข้าพักอาศัย ตามข้อ ๕.๒ ถ้าหมดสิทธิเข้าพักอาศัยตามข้อ ๘.๑ หรือ ๘.๒ แล้ว กองทัพบกอาจพิจารณาให้มีสิทธิพักอาศัยเป็นกรณีเฉพาะรายก็ได้ และข้อ ๑๑ กำหนดว่า บ้านพักรับรองที่กองทัพบกกำหนด ให้กองทัพบกพิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุน งบประมาณค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัย ตามความจำเป็น และเหมาะสมในการใช้งาน ประกอบคำชี้แจงของผู้บัญชาการทหารบกว่า ขณะผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผู้ถูกร้องยังคงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอยู่ ผู้ถูกร้องจึงเป็นผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกโดยอาศัยระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๕ เมื่อผู้ถูกร้องเกษียณอายุราชการ ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ แต่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ ก็ยังคงเป็นผู้มีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกดังกล่าว เนื่องจากผู้ถูกร้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๕.๒ ของระเบียบดังกล่าวคือ เคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้แก่กองทัพบก และประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว หาใช่อาศัยในบ้านพักรับรองในฐานะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงสถานะเดียวไม่ หากผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือน ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ย่อมไม่มีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรองตามระเบียบของกองทัพบกนี้ได้ นอกจากนี้ ข้อ ๘ กำหนดให้อำนาจกองทัพบกพิจารณาให้ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ที่หมดสิทธิเข้าพักอาศัยด้วยเหตุย้ายออกนอกกองทัพบกหรือออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้มีสิทธิเข้าพักอาศัยเป็นกรณีเฉพาะรายก็ได้ การที่กองทัพบกกำหนดให้อาคารหมายเลข ๒๕๓/๕๔ เป็นบ้านพักรับรอง แม้จะเป็นการกำหนดขึ้นภายหลังปรากฏตามหนังสือ กบ.ทบ. ด่วนมาก ที่ต่อ กห ๐๔๐๔/๑๕๖๐ ลง ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๕ โดยอนุมัติให้ปรับโอนอาคารเรือนรับรองดังกล่าว เป็นบ้านพักรับรองกองทัพบกซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพบกก็ตาม แต่เป็นการกำหนดโดยอาศัยอำนาจ ตามข้อ ๗.๒ ให้กระทำได้ ส่วนการที่กองทัพบกสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ในการใช้งานในบ้านพักรับรองดังกล่าว กองทัพบกพิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณ ค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยตามความจำเป็น และเหมาะสมในการใช้งานตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๑ แล้ว นอกจากนี้ การให้สิทธิดังกล่าวข้างต้น ตามธรรมเนียมปฏิบัติกองทัพบกได้พิจารณาให้สิทธิแก่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงผู้เข้าเงื่อนไขมีคุณสมบัติ ในการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก มิใช่ให้สิทธิเฉพาะกรณีผู้ถูกร้องเท่านั้น เห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยในบ้านพักรับรองที่กองทัพบกจัดให้และได้รับการสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปาเป็น ไปตามดุลพินิจของกองทัพบกที่มีอำนาจพิจารณาตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. ๒๕๔๘ แล้ว ระเบียบดังกล่าวใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ก่อนที่ผู้ถูกร้องจะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก และนายกรัฐมนตรี โดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าของคณะรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ

ความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งครอบครัวมีส่วนสำคัญ รัฐมีหน้าที่จัดการดูแลให้ความปลอดภัย แก่นายกรัฐมนตรีและครอบครัวตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์ การจัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศ ล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักแก่ผู้นำของประเทศในขณะที่ดำรงตำแหน่ง กรณีประเทศไทยแม้ในอดีตรัฐเคยกำหนดให้สถานที่บางแห่งเป็นที่พำนักของนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง เช่น บ้านพิษณุโลก แต่ปัจจุบันการบำรุงรักษายังไม่พร้อมใช้หรือจัดให้มีขึ้นใหม่ ดังนั้น เพื่อให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของผู้นำของประเทศได้อย่างสมเกียรติ รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การที่กองทัพบกอนุมัติให้ใช้บ้านพักรับรองกองทัพบกและสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปา ซึ่งผู้ถูกร้องเคยได้รับสิทธิดังกล่าวตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยปฏิบัติเป็นไปตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัย ในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นกฎที่ยังคงใช้บังคับอยู่โดยยังไม่ได้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน กองทัพบกให้สิทธิดังกล่าวแก่อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงคนอื่นผู้มีคุณสมบัติตามระเบียบเช่นเดียวกันกับ กรณีผู้ถูกร้อง ถือเป็นสิทธิของบุคคล เนื่องมาจากการดำรงตำแหน่งอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก อันมีลักษณะเป็นการปฏิบัติในธุรกิจการงานปกติของกองทัพบก มิได้เป็นการกระทำที่ทำให้ผู้ถูกร้องได้รับเงิน หรือประโยชน์ใด ๆ จากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยราชการเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่กองทัพบกปฏิบัติต่อบุคคลอื่นในธุรกิจการงานปกติ จึงไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๘๖ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๓) ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัตติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๕) อันจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) หรือไม่

เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยว่าการที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยบ้านพักรับรองกองทัพบก ซึ่งกองทัพบกพิจารณา จัดบ้านพักรับรองกองทัพบกและสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาใช้งานในบ้านพักรับรองเป็นไปตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. ๒๕๔๘ แล้ว จึงเป็นกรณีการรับที่มีระเบียบให้รับได้ ไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง ไม่เป็นการขอ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และไม่เป็นการกระทำการ

อันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่ เป็นการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้ ดังนั้น ผู้ถูกร้องไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๒๗ ประกอบข้อ ๗ ข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ และข้อ ๑๑ ไม่มีการกระทำต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๕) อันจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔)

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๕) และมาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๕) ประกอบมาตรา ๑๘๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง (๓)

นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท