2 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 63 ‘จัดการโรคระบาดใหญ่ - ความมั่นคงอาหาร’

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติผ่านฉลุย ไร้เสียงคัดค้าน! สมาชิกฯ ทั่วประเทศกว่า 2,000 ชีวิต มีฉันทมติใน 2 ระเบียบวาระ 'ความมั่นคงทางอาหาร-การจัดการโรคระบาด' เตรียมเสนอ ครม. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน ด้าน 'นพ.ประทีป' ถอดบทเรียน 'สมัชชาฯ ไฮบริด' นำร่องสู่การจัดงานใหญ่ระดับชาติได้ทุกพื้นที่ทั่วไทย

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกว่า 2,000 คน ที่เข้าร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 ภายใต้ประเด็นหลัก (ธีม) “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” ได้ร่วมกันพิจารณา 2 ร่างระเบียบวาระ ก่อนจะมีฉันทมติเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่มีผู้คัดค้านแม้แต่รายเดียว ประกอบด้วย มติที่หนึ่ง ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต (Food Security in Crises) และมติที่สอง การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่ (Participatory health crisis management for pandemics)

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2563 - 2564 เปิดเผยว่า หลักการของมติที่หนึ่ง ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต คือการมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีการจัดการร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในทุกภาวะวิกฤต ประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในอาหาร คือสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ได้อย่างเป็นธรรม โดยมีมติครอบคลุม 5 ประเด็นย่อย ประกอบด้วย 

1. สิทธิในอาหาร เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศไทยที่ต้องได้รับการปกป้อง ดูแล และคุ้มครอง โดยเป็นหน้าที่ของรัฐและทุกภาคส่วนของสังคมที่จะดำเนินการร่วมกันด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูล และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  

2. ใน 5 ปีข้างหน้า หรือภายใน พ.ศ. 2568 ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถจัดการอาหารในภาวะวิกฤตได้ 

3. การพัฒนาระบบอาหารให้พร้อมรับภาวะวิกฤต ครอบคลุมเรื่องการผลิต การสำรอง การกระจาย การแลกเปลี่ยน และการแบ่งปันอาหาร 

4. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบดูแลประชากรเปราะบาง และประชาชนที่ขาดความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต  

 5. การพัฒนาระบบการจัดการร่วมกันเพื่อความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต 

ส่วนมติที่สอง การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่ มีหลักการสำคัญคือ โรคระบาดใหญ่เป็นปัญหาสาธารณสุขและสาธารณภัยระดับโลก ทำให้เกิดผลกระทบในหลายมิติที่มีความซับซ้อนสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน จำเป็นต้องวางแนวทางตั้งรับอย่างเท่าทันและครอบคลุม ฉะนั้นมติจึงครอบคลุมใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย 

1. ให้มีการบูรณาการด้านการบริหารจัดการ เตรียมความพร้อมศักยภาพและทรัพยากรของระบบบริการสุขภาพ มีการผสานความร่วมมือกับต่างประเทศ และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ในการบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพ โดยใช้บทเรียนจากการระบาดโรคโควิด-19

2. มีการบริหารจัดการด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และระบบข้อมูล เพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ 

3. มีการจัดให้มีกำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้เพียงพอทางสาธารณสุข เพื่อการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค การชันสูตรโรค ป้องกัน รักษาและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการระบาดของโรค

4. มีการกำหนดมาตรการลดผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นทั้งในระหว่าง และหลังการเกิดวิกฤตสุขภาพ และ

5. มีการจัดให้มีกลไก นโยบายสนับสนุนส่งเสริมการจัดการความรู้ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ทันต่อเหตุการณ์ และนวัตกรรมในการป้องกันการป่วย การเสียชีวิตจากโรคระบาด

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า งานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 13 จัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมด้วยวิธีการไฮบริด คือการลดจำนวนคนที่เดินทางมาร่วมงาน และเพิ่มการเชื่อมต่อผ่านทางระบบออนไลน์ไปยังห้องประชุมทุกจังหวัดทั่วประเทศแทน มีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมประชุมมากกว่า 2,000 คน จาก 431 กลุ่มเครือข่ายทั่วประเทศ และมีประชาชนที่สนใจเข้าชมการประชุมผ่านทาง FB Live สช. มากถึง 119,130 คน

“ถึงแม้จะมีการปรับปรุงรูปแบบให้ง่ายขึ้น แต่ประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยน ทำข้อเสนอด้านเนื้อหาและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกลับมีมากขึ้น ทำให้ สช. ได้ข้อสรุปและเห็นทิศทางเบื้องต้นว่า งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งต่อๆ ไป ไม่จำกัดต้องจัดประชุมอยู่ในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียวอีกต่อไป เพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยทั้งหมด แต่ด้วยรูปแบบและระบบการสื่อสารเช่นนี้ นับจากนี้ เราจะสามารถจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่จังหวัดใดก็ได้ ซึ่งนอกจากจะขยายการมีส่วนร่วมจากผู้แทนภาคส่วนต่างๆ 2,000 คน เปิดกว้างเพิ่มมากขึ้นเป็นหลายพันคนจากทั่วประเทศได้แล้ว สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งต่อๆ ไปยังสามารถให้น้ำหนักความสำคัญกับประเด็นปัญหาตามบริบทที่แตกต่างของพื้นที่นั้นๆ ได้มากกว่าเดิมด้วย” นพ.ประทีป กล่าว 

อนึ่ง ทั้ง 2 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 11 มกราคม 2564 นี้ และหลังนั้นจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติต่อไป โดยนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นปีแรกของการจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ มาจนถึงปี 2563 ประเทศไทยมีมติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้งสิ้น 87 มติ และแต่ละมติมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เกิดกฎหมาย แผนงาน และกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่อย่างมากมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท