Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสังเกตการณ์การเลือกตั้งชี้ปัญหาการจัดเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมาว่าทำให้มีผู้เสียสิทธิจำนวนมาก ไม่มีมาตรการป้องกันการคุกคามผู้สมัครจากฝ่ายตรงข้าม อีกทั้งการดำเนินการของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่โปร่งใสบางคนก็เป็นหัวคะแนน สร้างความไม่มั่นใจให้กับประชาชน

25 ธ.ค.2563 วีวอชท์ (We Watch) แถลงรายงานผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่มีขึ้นเมื่อวันที่อาทิตย์ที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยอาศัยจากอาสาสมัครและบุคคลทั่วไปโดยเป็นการสังเกตการณ์แบบสุ่มในพื้นที่ที่มีอาสาสมัครพร้อม โดยมีการรายงานผ่านเข้าไปทางเว็บไซต์ electionwatch.org

เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี่เข้าร่วมการแถลงครั้งนี้ กล่าวถึงข้อสังเกตของเขาที่มีต่อผลการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ว่ายังมีลักษณะเป็นระบอบอุปถัมป์อยู่ แต่ผู้สมัครก็มีการพูดถึงนโยบายมากขึ้นกว่าการเลือกตั้งระดับ ครั้งที่ผ่านมาๆ และอาจสะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งเทศบาลซึ่งเล็กลงมาอีกว่าจะมีนัยยะของความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะทำให้เห็นนโยบายในระดับขนาดเล็กลง

เอกรินทร์กล่าวถึงประเด็นต่อมาว่าเมื่อวานนี้ตนได้ไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อไปดูเรื่องบัตรเสียหรือบัตรที่ไม่ได้ลงคะแนน เขาพบข้อน่าสังเกตว่าทั้ง กกต.และผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่ว่ยเลือกตั้งต่างก็เห็นปัญหาว่าช่องที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนเล็กเกินไป นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่ กกต.ไม่จัดให้ใช้สิทธิล่วงหน้าซึ่งรับรู้กันอยู่แล้วว่าเป็นปัญหาสำหรับคนที่กลับภูมิลำเนาเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ได้

เอกรินทร์ตั้งข้อสังเกตสุดท้ายว่าการเลือกตั้งครั้งนี้แม้สื่อระดับประเทศจะไม่ได้รายงานผลหรือติดตามการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมากเท่าที่ควร แต่กลับพบว่าสื่อท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ก็เป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญมากในการรายงานข่าวการเลือกตั้งทั้ง 76 จังหวัด

เอกรินทร์กล่าวว่าการเลือกตั้ง อบจ.เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ต้องพูดกันไปไกลมากกว่าแค่การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น เช่น เปิดให้เกิดข้อถกเถียงในระดับที่ว่าการปกครองส่วนภูมิภาคยังมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะเกิดข้อถกเถียงว่าบางจังหวัดมีความพร้อมในการที่จะจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วจะทำได้หรือไม่หรือบางพื้นที่อาจจะต้องมีการจัดการแบบพิเศษแตกต่างกัน แต่สำหรับทุกวันนี้การกระจายอำนาจที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการเลือกตั้งท้องถิ่น

เอกรินทร์ยกตัวอย่างกรณีการจัดการโควิดในช่วงที่ผ่านมาว่ามาจากการจัดการของส่วนภูมิภาคที่ฟังเสียงของส่วนกลางเป็นหลัก แต่ไม่ได้ฟังเสียงของท้องถิ่นเลยทั้งที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า

คณิน ฉินเฉิดฉาย กลุ่มวีวอชท์ เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ โดยเนื้อความสรุปได้ว่าจากการสังเกตการณ์ครั้งนี้พบว่ามีปัญหาทั้งหมด 6 ประการใหญ่ คือ

  1. มีผู้ที่ตัดสิทธิการเลือกตั้งเป็นจำนวนมากทั้งตัวกฎหมายที่ทำให้ผู้ที่ย้ายทะเบียนบ้านไม่ถึง 1 ปี ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งการกำหนดวันเลือกตั้งก็ไม่เอื้ออำนวยให้คนมาใช้สิทธิ อีกทั้งบัตรเลือกตั้งก็สร้างความสับสนเพราะไม่มีการระบุชื่อและภาพของผู้สมัครเอาไว้จนนำไปสู่การทำให้บัตรเสีย

  2. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)มีการใช้อิทธิพลชักจูง และกรรมการบางคนก็เป็นหัวคะแนนด้วย อีกทั้งประชาชนยังขาดความเชื่อมันในกระบวนการร้องเรียนและตรวจสอบ กกต. ทั้งอาจมีความเสียงและที่ผ่านมาก็ไม่สามารถดำเนินคดีได้

  3. ความไม่โปร่งใสในการดำเนินการของ กปน. ทั้งความหละหลวมในการปฏิบัติหน้าที่และการไม่เจาะทำลายบัตรที่นับแล้วและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสังเกตการณ์

  4. กปน.ไม่ได้จัดฉากกั้นและยังมีเจ้าหน้าที่ยืนด้านหลังคูหา ทำให้การลงคะแนนเสียงไม่เป็นความลับ

  5. ประชาชนเข้าร่วมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งน้อยขาดการสนับสนุน

  6. ไม่มีมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดการคุกคามผู้สมัครรับเลือกตั้งในการหาเสียงในหลายพื้นที่

ทางวีวอชท์จึงได้ออกข้อเสนอถึง กกต. เพื่อแก้ไขความบกพร่องดังกล่าวโดยมีทั้งการแก้ไขพ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ.2562 ในส่วนที่เป็นอุปสรรคตอการใช้สิทธิของประชาชน เช่น มาตรา 38(3) และกกต.ต้องจัดให้มีช่องทางอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิของประชาชนโดยเฉพาะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประชาชนที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ นอกจากนั้น กกต.ต้องทำบัตรเลือกตั้งที่เข้าใจง่าย

ในส่วนของปัญหาเรื่องความโปร่งใส กกต.ควรทบทวนเรื่องที่มาและคุณสมบัติของ กปน.ที่ควรยกเลิกการใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วย และสร้างกระบวนการตรวจสอบคุณสมับติใหม่ และทบทวนการอบรม กปน.เพื่อปรับปรุงแนวคิดและขั้นตอนการปฏิบัติของ กปน. และสุดท้ายควรมีมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและดำเนินการเอาผิดโดยเฉพาะในกรณีการคุกคามฝ่ายตรงข้ามและโกงการเลือกตั้ง

แถลงการณ์ เครือข่ายสังเกตการณ์การเลือกตั้ง We Watch

เรื่อง สถานการณ์ปัญหาการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

และข้อเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

 

การสังเกตการณ์การเลือกตั้งของอาสาสมัครและการรายงานจากบุคคลทั่วไปจากทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคตะวันตก ผ่านทางเว็บไซต์ www.electionwatchth.org เฟซบุ๊คแฟนเพจ We Watch และทางโทรศัพท์ในช่วงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ผ่านมา พบว่า กกต. และ อบจ. สามารถจัดการเลือกตั้งให้ลุล่วงไปได้ แต่มีความบกพร่องหลายประการอันกระทบต่อความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง We Watch ขอนำเสนอให้เห็นข้อบกพร่องดังกล่าว พร้อมทั้งข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงการจัดการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

เมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดมาตรฐานสากลของการเลือกตั้งทั้งด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ความเป็นธรรม ความเป็นอิสระ และประสิทธิภาพในการจัดการการเลือกตั้ง ข้อบกพร่องที่พบในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประกอบด้วย

  1. ขาดการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชน

1.1 ประชาชนถูกตัดสิทธิการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ) กำหนดให้ผู้ที่ย้ายทะเบียนบ้านที่มีระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

1.2 การประกาศวันเลือกตั้ง ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ติดภารกิจในพื้นที่ห่างไกลสามารถกลับมาใช้สิทธิได้อย่างสะดวก เช่น กำหนดวันเลือกตั้งไม่ตรงกับวันหยุดยาวและใกล้กับเทศกาลปีใหม่ รวมถึงไม่มีช่องทางอำนวยความสะดวกอื่นรองรับการใช้สิทธิ

1.3 การจัดทำบัตรเลือกตั้งที่สร้างความสับสน ดังกรณี การไม่ระบุชื่อผู้สมัครและรูปภาพของผู้สมัคร ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้บัตรเสีย

  1. ความเป็นอิสระของผู้มาใช้สิทธิและการวางตัวไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่

2.1 กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ส่งสัญญาณ ใช้อิทธิพลชักจูงผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งชาวบ้านทราบดีว่ามี กปน. บางคนเป็นหัวคะแนน

2.2 ประชาชนจำนวนหนึ่งขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการร้องเรียนและตรวจสอบจาก กกต. เนื่องจากเกรงว่าตนเองจะมีความเสี่ยงและที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้

  1. ความโปร่งใส่และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในประเด็นนี้ กปน. มีการดำเนินการบกพร่องหลายกรณี เช่น ไม่ปิดประกาศเอกสารสำคัญหน้าหน่วย ละหลวมในการตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้มาใช้สิทธิ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหมายเลขผู้สมัครผิดพลาด ไม่นับจำนวนบัตรที่ยังไม่ถูกใช้ ไม่เจาะทำลายบัตรที่ยังไม่ถูกใช้ นับคะแนนโดยละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ติดเอกสารประกาศสรุปผลการเลือกตั้งภายหลังการนับคะแนนแล้วเสร็จ รวมถึง กปน. ในหลายหน่วยไม่อนุญาตให้อาสาสมัครสังเกตการณ์ภายรอบหน่วยอย่างอิสระ

  2. การลงคะแนนที่เสี่ยงต่อการไม่เป็นความลับ โดยเฉพาะในกรณีที่ กปน.ไม่จัดวางคูหาให้มีฉากกั้นด้านหลัง หรือ กรณีมีเจ้าหน้าที่ยืนอยู่ด้านหลังคูหา

  3. การส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งยังมีน้อยโดยเฉพาะการสนับสนุนให้ภาคประชาชนสามารถดำเนินการสังเกตการณ์ได้มากขึ้นและมีมาตรฐานเดียวกันทุกหน่วยเลือกตั้ง

  4. ขาดมาตรการในการควบคุมมิให้เกิดการคุกคามผู้สมัครในการหาเสียงในหลายพื้นที่

ในการจัดการกับข้อบกพร่องข้างต้น We Watch มีข้อเสนอแนะต่อ กกต. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

  1. ควรมีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน เช่น มาตรา 38 (3) พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ที่จำกัดสิทธิเลือกตั้งของประชาชนผู้ที่มีการย้ายที่อยู่ในระยะเวลาต่ำกว่า 1 ปี

  2. กกต. ควรแก้ไขระเบียบหรือจัดการให้มีช่องทางอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนเดินทางกลับไปใช้สิทธิ

  3. การจัดทำบัตรเลือกตั้งที่ง่ายต่อความเข้าใจ มีรายชื่อชัดเจน และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศเพื่อป้องกันความสับสนของประชาชน

  4. ควรมีการทบทวนเรื่องที่มาและคุณสมบัติของผู้จัดการเลือกตั้งใหม่ เช่น การยกเลิกการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็น กปน. และสร้างกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของ กปน. ใหม่ เพื่อป้องกันหัวคะแนนสร้างอิทธิพลหรือชักจูงผู้ใช้สิทธิภายในหน่วยเลือกตั้ง

  5. กกต. ควรทบทวนกระบวนการอบรม กปน. เพื่อปรับปรุงแนวคิดและขั้นตอนการปฏิบัติในประเด็นเกี่ยวกับความโปร่งใส่และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนการทำความเข้าใจหลักการเรื่องการลงคะแนนที่เป็นความลับเสียใหม่

  6. กกต. ควรมีการวางมาตรการในการทำงานเชิงรุกในประเด็นการป้องกันและดำเนินการเอาผิดผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกรณีการคุกคามฝ่ายตรงข้ามและการโกงการเลือกตั้ง

สุดท้าย กกต. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งควรมีเจตนาที่จะแสดงความรับผิดชอบในข้อบกพร่องดังกล่าว และทบทวนบทเรียนในการดำเนินบทบาทและหน้าที่ของตนเอง เพื่อพัฒนามาตรฐานขั้นสูงในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ประกอบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรมีการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้ผู้คนในต่างจังหวัดมีโอกาสทัดเทียมกันคงจะเป็นความฝันที่ยากที่จะเป็นจริง

 

เครือข่าย We Watch

25 ธันวาคม 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net