ประสานเสียงยุติการไล่จับแรงงาน-ครม.หวั่นผู้ลักลอบทะลัก หากเปิดจดทะเบียนบัตรชมพู

นักวิชาการ-เครือข่ายแรงงานด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) พร้อมใจประสานเสียง ยุติการไล่จับแรงงาน ไม่ช่วยแก้ปัญหา หวั่นโควิด-19 ระบาดจากมาตรการดังกล่าว ขณะที่ภาครัฐเตรียมนำเรื่องจดทะเบียนบัตรชมพูเข้า ครม. รอบหน้า เปิดโอกาสให้แรงงานหลุดระบบในไทย สามารถเข้าระบบชั่วคราว แต่ผู้ลักลอบยังต้องหารือ

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังทางกระทรวงสาธารณสุขแถลงจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพิ่มขึ้น 513 รายภายในวันเดียว โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานใน จ.สมุทรสาคร ทำให้สังคมไทยวิตกว่า แรงงานข้ามชาติจากเพื่อนบ้านจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดในไทยอีกครั้ง หลังมีทีท่าว่าจะดีมาสักพัก 

นอกจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่น่าห่วงแล้ว มาตรการของภาครัฐที่นำมาใช้ควบคุมการแพร่ระบาดในหมู่แรงงานข้ามชาติก็น่ากังวลไม่แพ้กัน  โดยเฉพาะหมู่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาชน ที่ต่างออกมาแสดงความเป็นห่วงถึงวิธีไล่จับกุมของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และกระทรวงแรงงาน ที่ปล่อยชุดเคลื่อนที่เร็วตรวจจับแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายในหลายพื้นที่ว่า อาจเสี่ยงทำให้เชื้อโควิด-19 บานปลายจนเกินจะควบคุม 

 

ไล่จับแรงงานผิดกฎหมายไม่ช่วยควบคุมโรคระบาด เสี่ยงลุกลามวงกว้าง 

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา วงเสวนาออนไลน์ “ล็อกดาวน์แรงงานข้ามชาติ “คุมคน คุมโรค” บนโจทย์ที่ (ไม่อาจ) ใช้คำว่ารัฐชาติช่วยแก้” โดยทีมสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส ชวนผู้เชี่ยวชาญหลากสาขา ร่วมถกเรื่องโควิด-19 หลากหลายประเด็น ตั้งแต่ปัญหาของแรงงานข้ามชาติ มาตรการการจัดการโรคระบาด ตลอดจนข้อเสนอถึงภาครัฐ 

เพจนักข่าวพลเมือง ThaiPBS #Csite

นฤมล ทับจุมพล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ก็เป็นคนแรก ๆ ที่ออกมาแย้งมาตรการไล่จับแรงงานข้ามชาติ เธอมองว่ามาตรการนี้อาจทำให้เกิดปัญหาใหม่ อย่างแรงงานแอบลักลอบหนีไป ซึ่งเสี่ยงนำโรคระบาดไปแพร่กระจายพื้นที่อื่น 

เธอมองว่า การไล่จับแรงงานจะทำให้จัดการปัญหายาก ดังนั้น รัฐต้องเปิดให้มีการตรวจแรงงานข้ามชาติให้ได้มากที่สุด โดยไม่คำนึงว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย ให้รู้ตัวผู้ติดเชื้อเร็วที่สุด จากนั้น เมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อ รัฐก็ต้องจัดให้มีสถานที่คัดกรองโรคให้ ไม่ใช่เจอแรงงานติดโควิด ก็ให้เขากลับไปอยู่ในหอพัก ซึ่งมีทั้งแรงงานที่ติดและไม่ติดปะปนอยู่ด้วยกัน เสี่ยงทำให้ติดเป็นวงกว้าง นี่จะทำให้สาธารณชนคลายกังวล คือเขาทราบว่ารัฐมีการจัดการยังไง และผู้ติดเชื้ออยู่บริเวณไหน   

เช่นเดียวกับทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 ช่วงเย็น เรียกร้องให้ทางการยุติการไล่จับแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ชี้ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง กลับกันมาตรการนี้จะทำให้ลูกจ้างและนายจ้างหวาดกลัวที่จะถูกดำเนินคดี ทำให้พวกเขาปกปิดตัวตน แอบลักลอบหนีออกไปนอกพื้นที่ เสี่ยงทำให้โรคระบาดขยายวงกว้าง 

ผลจากการใช้มาตรการไล่จับแรงงานทำให้มีนายจ้างบางรายที่มีลูกจ้างข้ามชาติผิดกฎหมาย เลือกลอยแพลูกจ้างเพื่อหนีความผิด 

วิโรจน์ ลักขณาอดิสร ส.ส.ฝีปากกล้า จากพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นสับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ “บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรี กลางที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ติงบิ๊กตู่สื่อสารแย่ คุยโวเตรียมกวางล้างผู้ลักลอบผิดกฎหมาย อาจเสี่ยงทำให้โรคระบาดขยายวงกว้าง

วิโรจน์ ลักขณาอดิสร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แฟ้มภาพประชาไท

“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำแอ็กอาร์ต ทำขึงขังเสียงดังทุบโต๊ะ วันที่ 23 ธ.ค. เวลา 9.00 น. สั่งกวาดล้าง ไม่สนใจอะไรเลย ปรากฏว่าเกิดอะไรขึ้นครับ สถานประกอบการที่มีลูกจ้างผิดกฎหมาย เขาลอยแพ เขาเอามาทิ้งที่อำเภอบางพลี Super Spreader เลยสิครับ จากเดิมที่เคยอยู่ จ.สมุทรสาคร ลักลอบหนีออกไปหมดแล้ว ถ้ามันจะเกิด Super Spreader คราวนี้ไม่ได้เกิดจากแพกุ้ง แพปลาครับ แต่เกิดจากปากประยุทธ์ จันทร์โอชา” 

วิโรจน์ ชี้ เพราะผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ระลอกแรก และเงื่อนไขนโยบายภาครัฐ ทำให้แรงงานข้ามชาติหลุดระบบโดยไม่สมัครใจ  

“จากการระบาดระลอกแรก แรงงานต่างชาติแต่เดิมที่ถูกกฎหมาย ถูกสถานประกอบการเลิกจ้าง เพราะถูกปิดตัวลงไป ปรากฏว่าต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน คราวนี้มันปิดกันหมด หาไม่ได้ คราวนี้จากแรงงานที่ถูกกฎหมาย ต้องแปรสภาพเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย” วิโรจน์ พูดในที่ประชุม

ทั้งนี้ สถิติจากเวทีเสวนาจากเครือข่ายประชากรข้ามชาติ ระบุตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2562-ตุลาคม 2563 มีแรงงานข้ามชาติหลุดออกจากระบบเกือบ 600,000 คน

 

ครม.เตรียมหารือให้แรงงานลงทะเบียนบัตรชมพู 

หนึ่งในวิธีที่หลายคนเสนอกันหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา คือ การหามาตรการผ่อนผัน หรือ Set Zero ระบบให้กับแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย สามารถกลับเข้าระบบ (ชั่วคราว) อย่างน้อยให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปก่อน 

การดึงแรงงานกลับเข้าระบบ วัตถุประสงค์คือเพื่อคุ้มครองแรงงาน ให้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ที่พวกเขาพึงมี เข้าสู่ระบบการตรวจ-คัดกรองโควิด-19 ได้อย่างไม่ต้องกังวล ภาครัฐเจอผู้ป่วยเร็ว ก็คัดกรองได้ง่าย ขณะเดียวกัน เมื่อแรงงานถูกกฎหมายก็สามารถทำงานในสถานประกอบการที่เข้มงวดด้านหลักสุขอนามัย แรงงานก็ปลอดโรค และปลอดภัย นอกจากนี้ ภาคธุรกิจได้จ้างงานช่วงฟื้นฟูหลังจากวิกฤตดังกล่าวด้วยไปในตัว   

เมื่อวาน (24 ธ.ค.) ดูเป็นสัญญาณดีที่ข้อเสนอนี้ได้รับการตอบรับจากภาครัฐ ประชาชาติธุรกิจรายงาน ประชุมคณะรัฐมนตรีคราวหน้าจะมีการพิจารณาเปิดให้ลงทะเบียนใบอนุญาตทำงานชั่วคราว (บัตรสีชมพู) ของแรงงานข้ามชาติ โดยนายจ้างต้องชี้แจงรายละเอียดว่าต้องการแรงงานข้ามชาติเข้าทำงานจำนวนเท่าใด เพื่อตรวจสอบและขึ้นบัญชี  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“วันนี้มีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้น ซึ่งการขึ้นทะเบียนครั้งที่แล้วพอหรือยัง วันนี้ต้องให้สถานประกอบการทั้งหมดระบุว่าต้องการแรงงานเท่าไหร่ เพื่อตรวจสอบและเข้าระบบให้เรียบร้อย วันนี้คนที่ถูกต้องเท่าไหร่ คนที่ไม่ถูกต้องที่จ้างเท่าไหร่ ผมยังไม่ลงโทษตรงโน้นนะ ทำอย่างไรให้เข้าสู่ระบบให้ได้ และจะเป็นความต้องการของตลาดแรงงานที่แท้จริงตามห้วงระยะเวลาที่กำหนด”

ภาครัฐกังวลการเปิดให้กลับลงทะเบียน อาจทำให้มีผู้ลักลอบทะลักเข้ามา 

แม้ว่าภาครัฐส่งสัญญาณที่ดีออกมา แต่ก็ยังมีเรื่องที่ภาครัฐกังวล คือ การเปิดลงทะเบียนอาจทำให้มีการทะลักของผู้ลักลอบเข้าไทย เนื่องจากพวกเขาก็อยากจะใช้โอกาสนี้มาขึ้นทะเบียนด้วย    

เชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล รองอธิบดี กรมจัดหางาน และหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาออนไลน์ เห็นด้วยกับหลักการดึงแรงงานกลับเข้าระบบ โดยระยะใกล้ จะเน้นไปที่แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาถูกกฎหมาย เคยอยู่ในระบบ แต่มาหลุดออกนอกระบบในไทยด้วยความผิดพลาดหรือปัจจัยต่าง ๆ 

แต่สำหรับการนิรโทษกรรมแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้ามา ภาครัฐยังมีความกังวลใจ 2 ประเด็นหลัก คือ ผู้ลักลอบอาจใช้โอกาสนี้เดินทางเข้าไทยมากขึ้น เพื่อฉวยโอกาสจดทะเบียนใบอนุญาตทำงาน และสอง คือ เรื่องของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จากประเทศเพื่อนบ้านอาจลุกลามเข้ามาในไทยมากขึ้นจนยากจะควบคุม อย่างไรก็ตาม รองอธิบดี กรมจัดหางาน กล่าวว่าจะนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมถึงข้อดี-เสียอย่างรอบด้านอีกครั้ง

ขณะที่ รศ.กิริยา กุลกลการ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส เมื่อช่วงกลางวัน วันที่ 24 ธ.ค. แสดงความเห็นด้วยทำนองเดียวกับรองอธิบดี กรมจัดหางาน ว่าควรต้องมีการผ่อนผันเรื่องเอกสาร หรือยืดหยุ่นมาตรการบางอย่าง เพื่อให้แรงงานที่เคยอยู่ในระบบ และผู้ลักลอบ กลับเข้าระบบได้โดยเฉพาะในช่วงฉุกเฉิน  

อย่างไรก็ตาม ก็เตือนว่าการเปิดรับลงทะเบียนบัตรชมพู อาจทำให้มีผู้ลักลอบเดินทางเข้ามามากขึ้น ควรมีมาตรการป้องกันชายแดนที่เข้มแข็ง และปราบปรามขบวนการนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจมีเอี่ยวลักลอบนำแรงงานเข้ามาควบคู่กันไป 

ก็ต้องจับตาดูการประชุม ครม. ถึงความชัดเจนในเรื่องการเปิดจดทะเบียนบัตรชมพูอีกครั้งว่า ครม.จะ Set Zero ผู้ลักลอบให้สามารถกลับเข้าระบบทำงานได้หรือไม่ อย่างไร 

ส่วนเรื่องชายแดนที่ภาครัฐกังวลและมีการสั่งคุมเข้มเพื่อป้องกันผู้ลักลอบเข้ามาในขณะนี้ ทางภาคประชาสังคมอย่าง เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เคยเสนอเปิดชายแดนอย่างเหมาะสม ดึงแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบคัดกรองโดยภาครัฐ มีประสิทธิภาพมากกว่ามาตรการปิดกั้นชายแดน เรื่องนี้ก็ดูว่าภาครัฐจะทำอย่างไรต่อเช่นกัน แต่คาดว่าจากกระแสสังคม ภาครัฐน่าจะคงมาตรการปิดชายแดนอย่างตึงตัวต่อไป  

ย้อนดูข้อเสนอภาค ปชช. ผ่านชายแดนต้องกักตัว 14 วันลดจำนวนผู้ลักลอบเข้าเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท