เครือข่ายแรงงานฯ เรียกร้องรัฐนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบและปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเรียกร้องรัฐทำให้แรงงานข้ามชาติไม่มีเอกสารเข้าระบบตามกฎหมายและระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อป้องกันและควบคุมโรค และปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างมีมนุษยธรรม เพราะแรงงานข้ามชาติมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย

แฟ้มภาพ

25 ธ.ค.2563 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ออกแถลงการณ์เพื่อสร้างความเข้าใจปัญหาแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่กำลังตกเป็นเป้ากล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุของการระบาดโควิด-19 ระลอกสอง ว่าเป็นความล้มเหลวในการจัดการควบคุมโรคของรัฐ และไม่สามารถตรวจสอบและควบคุมการลักลอบข้ามแดนและจัดการให้แรงงานสามารถข้ามแดนมาได้อย่างถูกต้องได้ อีกทั้งรัฐกลับใช้มาตรการควบคุมโดยกักบริเวณโดยใช้ลวดหนามซึ่งไม่ใช่แนวปฏิบัติที่ดีที่ทำกับมนุษย์ โดยที่เป็นประเทศไทยเองที่ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติต่อเศรษฐกิจของไทย

เครือข่ายฯ ได้เสนอให้รัฐจัดการแรงงานข้ามชาติไม่มีเอกสารได้รับเอกสารรับรองเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและนำเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อลดช่องโหว่ไม่ให้เกิดการระบาดของโรคที่สืบเนื่องจากสภาพความเป็นอยู่อย่างแออัดขาดหลักสุขอนามัย ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ

เครือข่ายยังเสนอให้รัฐต้องส่งเสริมความมั่นคงในการทำงานของแรงงานข้ามชาติป้องกันการเลิกจ้างที่สืบเนื่องมาจากอคติความเสี่ยงจากโควิด-19 ของนายจ้าง และรัฐก็ต้องไม่เป็นผู้แปะป้ายตีตราแรงงานข้ามชาติและมีแนวปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างมีมนุษยธรรม

“รัฐต้องรื้อ ‘รั้วลวดหนาม’ ที่วางขวางกั้นระหว่าง ‘เขตกักกันโรคคนต่างด้าว’ กับ ‘เขตคนไทย’ ออกไป ทั้งในแง่กายภาพ และทัศนคติที่มองว่าคนงานข้ามชาติเป็นคนอื่น เป็นพาหะโรค เป็นคนงานเถื่อน และกลับมาปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึก มีความคิดความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า และมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย” เครือข่ายฯ ระบุปิดท้ายแถลงการณ์

แถลงการณ์โดย เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

เพื่อยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องแรงงานข้ามชาติในสภาวะยากลำบาก
และเรียกร้องให้รัฐเข้ามาดูแลไม่ต่างจากแรงงานไทย ในฐานะที่แรงงานข้ามชาติคือ ‘ผู้มีส่วนสร้างชาติ’

วันที่ 25 ธันวาคม 2563

 

จากการตรวจพบผู้ป่วย Covid-19 กลุ่มใหม่ที่จังหวัดสมุทรสาครเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนมากคือแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา นำไปสู่การตรวจขยายผลในหลายพื้นที่ และทำให้สายตากล่าวโทษของคนส่วนใหญ่มุ่งเป้ามายังแรงงานข้ามชาติ ในฐานะ ‘ผู้แพร่เชื้อ’ ทั้งจากการประโคมข่าวของสื่อ จากการให้สัมภาษณ์หรือให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สร้างภาพความเป็นอื่นให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นศัตรูที่น่ากลัว สกปรก เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่รัฐสมควรต้องขจัดออก จนมีเหตุการณ์นายจ้างนำแรงงานข้ามชาติไปปล่อยทิ้งตามพื้นที่ห่างไกล เจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าเข้าไปส่งอาหารหรือตรวจโรคกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมถึงมีการนำลวดหนามมาล้อมบริเวณที่กักตัว ซึ่งไม่ใช่แนวปฏิบัติที่ดีในการควบคุมโรค ซ้ำยังไม่ใช่แนวปฏิบัติที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์นั้น

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเห็นว่า ปัญหาที่แท้จริงของความล้มเหลวในการควบคุมการระบาดระลอกใหม่มาจากความด้อยประสิทธิภาพของรัฐ ที่ไม่สามารถบริหารงบประมาณให้ประชาชนทั้งชาวไทยและข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยข้าถึงการตรวจและได้รับอุปกรณ์ป้องกันโรคที่เหมาะสม ไม่มีความสามารถในการประคับประคองเศรษฐกิจ ซ้ำยังไม่สามารถตรวจสอบ ควบคุมการลักลอบข้ามแดน และไม่มีวิธีที่ดีในการจูงใจให้ผู้ลักลอบข้ามแดนเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องได้

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน พร้อมด้วยองค์กรภาคีจำนวน 20 องค์กรดังรายชื่อแนบท้าย จึงได้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้ เพื่อยืนยันว่าแม้ในสภาวะหวาดระแวงและยากลำบาก “แรงงานทั้งผองคือพี่น้องกัน” และเพื่อเร่งให้รัฐเข้ามาดูแลแรงงานข้ามชาติในพื้นที่เสี่ยงโรคระบาด โดยปฏิบัติต่อแรงงานอย่างมนุษย์คนหนึ่งที่มีศักดิ์ มีสิทธิเท่ากับคนไทย ในฐานะที่แรงงานข้ามชาติคือ ‘ผู้มีส่วนสร้างชาติ’ ตามข้อเรียกร้อง ดังนี้

  1. รัฐต้องผลักดันให้แรงงานลอดรัฐ (undocumented worker) กลายเป็นแรงงานมีเอกสาร

สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งตัดสินใจ ‘ลอดรัฐ’ เข้ามาทำงานอย่างไม่มีเอกสาร ไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ใช่เพราะความเห็นแก่ตัว แต่เป็นเพราะรัฐมีความต้องการใช้แรงงานข้ามชาติ แต่กลับสร้างกฎเกณฑ์บางอย่างที่ไม่เอื้อแก่การปฏิบัติจริง ทั้งด้านค่าใช้จ่าย และด้านขั้นตอน-ระยะเวลา รวมถึงการเข้าไม่ถึงการพิสูจน์สัญชาติจากความแตกต่างทางชาติพันธ์ สัญชาติ ศาสนา กลุ่มทางสังคม และความคิดเห็นทางการเมืองในประเทศบ้านเกิด

เช่น หากแรงงานข้ามชาติบางมาตราต้องการเปลี่ยนย้ายนายจ้างใหม่ต้องมีการพิสูจน์ความผิดของนายจ้างเดิมโดยต้องยื่นคำร้องให้แก่พนักงานตรวจแรงงาน ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 90 วัน แต่กฎหมายกำหนดให้แรงงานจะต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน ข้อบังคับที่ขัดกันทำให้แรงงานไม่สามารถดำเนินการได้ในความเป็นจริง หรือการใช้เอกสารสำคัญจากนายจ้างมาประกอบการต่ออายุเอกสาร ทำให้แรงงานที่นายจ้างไม่ต้องการรับผิดชอบไม่สามารถต่ออายุได้ ฯลฯ จากเงื่อนไขและแนวปฏิบัติทั้งหลายทำให้แรงงานจะต้องถูกยกเลิกใบอนุญาตทำงาน และสิ้นสุดการอยู่อาศัยในประเทศไทย ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐนั่นเองคือผู้ที่สร้างแรงงานผิดกฎหมายขึ้นมา รวมถึงแนวคิดการผูกสิทธิประกันสุขภาพ/ ประกันสังคมเข้ากับสถานะการทำงาน เป็นเหตุให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกรัฐผลักให้กลายเป็นคนไม่มีเอกสารขาดหลักประกันทางสังคมอื่นๆ ตามไปด้วย

เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ในระหว่างนี้ รัฐต้องผลักดันทำให้แรงงานลอดรัฐกลายเป็นแรงงานมีเอกสาร โดยใช้มาตรการจูงใจให้เห็นสิทธิประโยชน์ เช่น การมีสิทธิประกันสุขภาพ รวมถึงอำนวยความสะดวกด้วยการลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการทำเอกสาร โดยไม่สร้างความหวาดกลัวว่าจะจับกุมหรือเลิกจ้างแรงงานข้ามชาตินั้น

ทั้งนี้ ในต่างประเทศซึ่งแรงงานข้ามชาติถูกมองว่าเป็น ‘อาชญากร’ เช่นกัน มีความพยายามผลักดันให้รัฐเลิกแปะป้ายแรงงานลอดรัฐว่าเป็น ‘แรงงานผิดกฎหมาย/ แรงงานเถื่อน’ โดยยืนยันว่าไม่มีมนุษย์คนใดเกิดมาผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายและความเป็นรัฐคือสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นมาทีหลังความเป็นมนุษย์

ในสถานการณ์เฉพาะหน้ารัฐจะต้องผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ คนต่างชาติที่กลายเป็นแรงงานที่ไม่มีสิทธิอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย ให้สามารถอยู่และทำงานได้เป็นกรณีพิเศษ จนกว่าจะสามารถเข้าสู่ภาวะที่จะสามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานได้ถูกต้อง

  1. รัฐต้องผลักดันให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ

ตั้งแต่ก่อนมีโรคระบาด Covid-19 แรงงานข้ามชาติมีสภาวะความเป็นอยู่อย่างแออัด ไม่ถูกสุขอนามัย นั่นแสดงให้เห็นถึงสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยทางสุขภาพ และมีผลทำให้โรคระบาดยิ่งแพร่กระจายไปได้ง่ายในวงกว้าง นอกจากนี้ บทเรียนจากการล็อกดาวน์รอบที่แล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมายังชี้ให้เห็นอีกปัญหาหนึ่งว่า แรงงานข้ามชาติที่จ่ายสมทบประกันสังคม/ ซื้อบัตรประกันสุขภาพเข้าไม่ถึงสิทธิที่ตนเองมี ด้วยอุปสรรคทางภาษา เอกสารทำงาน หรือเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม

ดังนั้น รัฐต้องอุดช่องโหว่เดิม และส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติมีหลักประกันสุขภาพที่เข้าถึงได้ง่าย ใช้สิทธิได้จริง ในระยะเร่งด่วน รัฐต้องจัดเตรียมยารักษา อาหาร น้ำดื่มสะอาดให้แก่ผู้ป่วย และผู้ที่อยู่ในระหว่างกักกันโรค รวมถึงจัดเตรียมสถานที่กักกันที่ถูกสุขอนามัยและหลักมนุษยธรรมให้กับแรงงานข้ามชาติในแต่ละพื้นที่ด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยทั้งที่มีและไม่มีเอกสารสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมกันได้โดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคไม่ให้ระบาดไปในวงกว้าง

นอกจากนี้ ในระยะยาว รัฐต้องเปิดช่องให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการเลือกตัวแทนในคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันสุขภาพ/ กองทุนประกันสังคม ซึ่งตนเองมีสิทธิรักษาพยาบาลอยู่ด้วย

  1. รัฐต้องส่งเสริมความมั่นคงในการทำงานของแรงงานข้ามชาติ

นอกจากบทบาทในการควบคุมโรค รัฐต้องไม่ละทิ้งหน้าที่พยุงเศรษฐกิจด้วยการรักษาการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ ด้วยการออกมาตรการไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติด้วยเหตุอคติความเสี่ยงโรค Covid-19

สำหรับแรงงานที่มีคำสั่งเลิกจ้างหรือหยุดงานชั่วคราวแล้ว รัฐต้องตรวจสอบ กำชับให้แน่ใจว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับเงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างหรือขาดงานอย่างครบถ้วนตาม พ.รบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยจัดให้แรงงานข้ามชาติที่จ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม 6 เดือนขึ้นไปสามารถเข้าถึงสิทธิเงินชดเชยได้โดยสะดวก เช่น จัดให้มีเว็บไซต์สำหรับยื่นคำร้องในภาษาของคนงานเอง นอกเหนือไปจากภาษาไทย-อังกฤษ

สำหรับแรงงานข้ามชาติที่จ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน หรือไม่ได้เข้าสู่กองทุนประกันสังคม ให้รัฐออกมาตรการชดเชยเร่งด่วนเป็นการเฉพาะ หรือกวดขันให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยแทนในอัตราที่ไม่ต่ำไปกว่ากฎหมายกำหนด

  1. รัฐต้องไม่แปะป้าย ‘ภาพลักษณ์ความเป็นอื่น’ ให้แรงงานข้ามชาติ

ในฐานะผู้มีบทบาทหลักในการควบคุมโรคระบาดและกำกับดูแลแรงงานข้ามชาติ รัฐต้องเป็นผู้นำประชาชนในการหยุดพฤติกรรม ‘ตีตรา’ คนงานข้ามชาติทั้งที่มีและไม่มีเอกสาร ออกแนวปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างมีมนุษยธรรมเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งประเทศ และมีมาตรการควบคุมโรคที่ไม่แบ่งแยกระหว่างแนวปฏิบัติของคนไทยและคนข้ามชาติ

รัฐต้องรื้อ ‘รั้วลวดหนาม’ ที่วางขวางกั้นระหว่าง ‘เขตกักกันโรคคนต่างด้าว’ กับ ‘เขตคนไทย’ ออกไป ทั้งในแง่กายภาพ และทัศนคติที่มองว่าคนงานข้ามชาติเป็นคนอื่น เป็นพาหะโรค เป็นคนงานเถื่อน และกลับมาปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึก มีความคิดความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า และมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย

ไม่มีความเป็นมนุษย์ใดผิดกฎหมาย ไม่มีการย้ายถิ่นใดเป็นอาชญากรรม

ด้วยความเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่กับแรงงานข้ามชาติทุกคน

---

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และภาคี

25 ธันวาคม 2563

-------------------------------------------------

รายชื่อแนบท้าย

  1. เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

  2. กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง

  3. กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง (กสรก.)

  4. กลุ่มสหภาพแรงงานปู่เจ้าสมิงพรายและใกล้เคียง

  5. กลุ่มศาลายาเนี่ยน - สหภาพนักศึกษาและคนทำงานแห่งศาลายา

  6. กลุ่มแรงงานเพื่อสังคม

  7. เครือข่ายแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเครื่องเรือนและคนทำไม้แห่งประเทศไทย (BWICT)

  8. เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)

  9. เครือข่ายบรรณาธิการและนักเขียน

  10. เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ

  11. เครือข่ายสลัม 4 ภาค

  12. ชมรมคนงานสูงวัย

  13. สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง

  14. สหภาพแรงงานสร้างสรรค์และวัฒนธรรม (UCC)

  15. สหภาพแรงงานผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งประเทศไทย

  16. สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI)

  17. มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์

  18. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

  19. มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

  20. สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท