ชุบชีวิตภาพถ่ายชาวบ้านต้านเขื่อนราษีไศล

ในปี 2535 ขบวนการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมระหว่างชุมชนท้องถิ่นและรัฐบาล เริ่มต้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ทางภาคอีสานของประเทศ เมื่อรัฐบาลก่อสร้างเขื่อนราษีไศลที่มีสันเขื่อนสูง 17 เมตร อย่างไรก็ตามกลับขาดความโปร่งใสและการเจรจากับชาวบ้าน โดยเขื่อนได้ปิดกั้นลำน้ำมูน ทำให้เกิดน้ำท่วมท้ายเขื่อนเป็นบริเวณกว้าง กระทบพื้นที่ทำกินมาหลายชั่วอายุคนของชาวบ้าน

การต่อต้านเขื่อนราษีไศลกลับเป็นที่รับรู้น้อยกว่าการต่อต้านเขื่อนปากมูน ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่กว่า และตั้งอยู่ในจังหวัดข้างเคียงคืออุบลราชธานี เขื่อนทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่ในลำน้ำมูน อย่างไรก็ตามในรอบหลายปีที่มีการประท้วง เขื่อนราษีไศลกลับมีพื้นที่ในหน้าสื่อน้อยกว่า ทั้งที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านกินเวลาอย่างยาวนานกว่า 30 ปีหลังจากนั้น

พื้นที่ซึ่งอยู่ใต้เขื่อนราษีไศล เคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีลักษณะเฉพาะหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ป่าบุ่งป่าทาม” นับเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ พื้นที่ “ป่าบุ่งป่าทาม” นี้จะถูกน้ำท่วมตามธรรมชาติทุกปีในฤดูฝน เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ชุมชนท้องถิ่น เป็นแหล่งอาหาร ทรัพยากร และทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวของชาวบ้าน  แต่เมื่อพื้นที่เหล่านี้จมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านก็สูญเสียที่ดิน และไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรอันเคยเป็นแหล่งรายได้ นำมาซึ่งการล่มสลายของอัตลักษณ์สังคมและวัฒนธรรมชาวบ้าน

เมื่อประตูสู่พื้นที่ชุ่มน้ำปิดตัวลง 8 เดือนต่อปี หรือบ่อยครั้งก็มักยาวนานกว่านั้น เขื่อนได้ทำลายชีวิตของชาวบ้านนับพัน เขื่อนราษีไศลไม่ได้บรรเทาปัญหาให้กับพื้นที่แห้งแล้งในลุ่มน้ำมูน ซ้ำยังก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ดิน ซึ่งพังทลายวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัยกันของชาวบ้าน ที่ครั้งหนึ่งเป็นวิถีซึ่งพวกเขาเคยภูมิใจ

นับแต่นั้นมา ชุมชนที่ได้รับผลกระทบนับพันครัวเรือนได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากการที่พวกเขาสูญเสียรายได้และที่ดินทำกิน เช่นเดียวกับการฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ซึ่งเหลืออยู่

ต้นปี 2563 ช่างภาพชาวอังกฤษซึ่งประจำอยู่ในกรุงเทพฯ ลุค ดักเกิลบี เดินทางไปที่อำเภอราษีไศลเพื่อไปค้นหาว่าชุมชนยังได้รับผลกระทบจากเขื่อนอย่างไร เขายังประทับใจกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของไทยและการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการสมัชชาคนจน ซึ่งช่างภาพชาวอังกฤษผู้นี้เคยค้นคว้าวิจัยประเด็นดังกล่าวมาก่อน

“เมื่อเราพูดถึงการต่อสู้ของชุมชนในไทยที่เกี่ยวกับการต้านเขื่อน คนส่วนใหญ่คงได้ยินเรื่องเขื่อนปากมูน ในขณะที่เขื่อนขนาดเล็กกว่าอย่างเขื่อนราษีไศล คนให้ความสนใจน้อยกว่าแต่กลับส่งผลกระทบอย่างหนักกับชุมชนท้องถิ่นมาหลายทศวรรษ” ลุค อธิบาย

ในการเดินทางไปชุมชนครั้งแรก ลุคได้ไปเยือน “สมาคมคนทาม” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่เขื่อนราษีไศลและยังเป็นส่วนหนึ่งของขบวนสมัชชาคนจนที่ต่อสู้เรื่องเขื่อนราษีไศล พวกเขาเอาม้วนฟิล์มสไลด์และเนกาทีฟที่ถ่ายมาจากช่วงแรกของการต่อสู้ และในฐานะของช่างภาพที่เริ่มทำงานในยุคที่ใช้ฟิล์ม ลุครู้สึกจับใจกับบันทึกภาพถ่ายเหล่านี้เป็นอย่างมาก

"มีสิ่งหนึ่งในอาคาร นั่นคือกล่องเหล็กที่ข้างในอัดแน่นไปด้วยฟิล์มสีเนกาทีฟ ที่คุณภาพฟิล์มค่อยๆ จางไปเพราะความชื้นนั้น ด้วยความที่ในสมัยก่อนผมเคยใช้ฟิล์มถ่ายภาพ ผมรู้ว่าองค์ประกอบทางเคมีคงค่อยๆ ลดลงช้าๆ จนกระทั่งถึงจุดที่เอาฟิล์มไปอัดล้างก็จะไม่มีภาพเหลืออยู่เลย” ลุคกล่าว

ภาพเหล่านี้ใช้เวลาถ่ายหลายปีโดยช่างภาพสมัครเล่น 4 คน และสมาชิกของชุมชนราษีไศลได้แก่ สนั่น ชูสกุล, ไพเราะ สุจินพรัหม, จุฑาทิพย์ ดำรงไตรรัตน์ และปราณี มัคนันท์ พวกเขาได้บันทึกขบวนความเคลื่อนไหวที่สำคัญของชุมชน แสดงให้เห็นภาพการประท้วงและกิจกรรมต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ปัจจุบันนี้ไม่มีอีกแล้ว “ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของภาพถ่ายเหล่านี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมไม่อาจปล่อยให้เลือนหายได้” ลุคกล่าว

ปรานี มัคนันท์ ซึ่งทำงานอยู่ที่ “สมาคมคนทาม” และเป็นผู้เก็บรวบรวมม้วนฟิล์มเหล่านี้ด้วยตัวเธอเองอธิบายว่า เพราะเหตุใดเธอจึงต้องการเก็บภาพเก่าเหล่านี้เอาไว้แทนที่จะโยนทิ้ง

“เพราะมันคือความทรงจำอันทรงคุณค่าของคนลุ่มน้ำมูน มันเป็นประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่จะบอกคนรุ่นหลังว่า “พ่อแม่ได้สู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ลูกหลานจนถึงที่สุดแล้ว” มันเป็นการเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่ เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้มีอำนาจและประชาชน ประชาชนไม่ได้โง่  และ “ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ หากเราไม่ลุกขึ้นสู้ และการออกมาเดินด้วยเท้าบนท้องถนนคือสิทธิอันชอบธรรมที่เราในฐานะพลเมืองสามารถกระทำได้”  ภาพเก่าสามารถเล่าเรื่องได้ด้วยตัวของมันเองเมื่อเวลาผ่านไป”

เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ลุคและผู้สื่อข่าวฝรั่งเศส ลอเร ซีเกล ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ Earth Journalism Network (https://earthjournalism.net/) เพื่อที่จะกลับมายังอำเภอราษีไศล และเริ่มรายงานเรื่องราวของชุมชนในวันนี้ รวมทั้งประเด็นโครงการก่อสร้างเขื่อนในภาคอีสาน ทุนสนับสนุนก้อนนี้ยังช่วยให้ชุมชนสามารถสร้างกล่องไฟสำหรับดูฟิล์ม และเครื่องแสกนเนอร์ โดยที่ลุคและซีเกลเป็นผู้ช่วยสอนให้ชุมชนรู้วิธีใช้อุปกรณ์เหล่านี้

และในเวลาไม่กี่เดือน พวกเขาได้สแกนภาพมากกว่า 2,000 ภาพ ซึ่งภาพเหล่านี้ได้ถูกเก็บรักษาในรูปแบบภาพดิจิทัล และส่วนหนึ่งของคอลเลกชันภาพจะถูกนำเสนอต่อจากนี้ อย่างไรก็ตามการสแกนไม่ได้สมบูรณ์แบบ เพราะองค์ประกอบทางเคมีของฟิล์มเนกาทีฟเริ่มเสื่อมสภาพ และไม่ว่าสีของภาพจะตรงหรือไม่ก็ตามแต่ก็เพียงพอสำหรับการถูกเก็บรักษา

ชาวบ้านรุ่นแรกที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม บัดนี้แก่ชราอยู่ในวัย 70-80 ปี และหลายคนเสียชีวิตแล้ว แต่ด้วยการบันทึกภาพ และเก็บรักษาด้วยกระบวนการดิจิทัล ได้ทำให้การต่อสู้ทางสังคม และการโต้เถียง อันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนี้จะอยู่กับคนรุ่นหลังเพื่อศึกษาต่อไป

000

บุญกุ้มข้าวใหญ่ ปี  2543 เพื่อระดมทุนการเคลื่อนไหวและต่อสู้คดี ของแกนนำเขื่อนราษีไศล 11 กบฏราษีไศล

ปราศรัยหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อ 19 ตุลาคม 2538 หลังจากเขื่อนราษีไศลทดลองกักเก็บน้ำในระดับ 119 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เพื่อดูขอบเขตอ่างเขื่อนราศีไศล  ส่งผลให้น้ำเอ่อท่วมข้าวที่ชาวบ้านปักดำไว้ซึ่งกำลังจะเหลืองสุก น้ำเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านบางครอบครัวต้องเกี่ยวข้าวตอนกลางคืน หรือมุดน้ำเกี่ยวข้าว ทำให้ชาวบ้านต้องมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ลดระดับน้ำและเสนอให้มีการตั้งกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

ภาพรวงข้าวที่ชาวบ้านเกี่ยวหนีน้ำ เมื่อปี 2538 โดยต้องนำรวงข้าวมาแขวนตากให้แห้ง เพราะข้าวชื้นมากเหตุเกิดจากเขื่อนทดลองกักเก็บน้ำ ทำให้น้ำเอ่อท่วมเข้าที่นาอย่างรวดเร็ว

ขบวนธรรมชาติยาตราเพื่อแม่น้ำมูนเมื่อปี 2542 เดินทางรณรงค์ผ่านทุ่งนา

กลุ่มผู้หญิงสมาชิกสมัชชาคนจนรอประชุมพ่อครัวใหญ่สัญจรปี 2539 ที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล ชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 25-27 เมษายน 2543 รอต้อนรับพรเทพ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในขณะนั้นให้ลงมาเจรจา โดยมีข้อตกลงให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เขื่อนหัวนา และให้หยุดการก่อสร้างใดๆไว้ก่อจนกว่าจะมีการศึกษาแล้วเสร็จ

ภาพการชุมนุม ณ ดอนหลักสั่น หมู่บ้าน "แม่มูนมั่นยืน 2" เมื่อปี 2542 ชาวบ้านเสนอให้เปิดประตูระบายน้ำเพื่อให้มีการลงพื้นที่จัดทำรังวัด

กลุ่มผู้หญิงบ้านท่างาม ตำบลยางคำ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด ดัก “สุ่มปลา” ในร่องน้ำช่วงฤดูแล้ง

ในปี 2543 ผ่านมาหลายปีหลังชาวบ้านตั้งหมู่บ้านถาวรปักหลักประท้วงใกล้พื้นที่สร้างเขื่อน ในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจปิดประตูระบายน้ำถาวร ทำให้หมู่บ้านจมอยู่ใต้น้ำดังในภาพ ผลทำให้ชาวบ้านถูกบีบให้อพยพออกจากหมู่บ้าน รวมทั้งเปลี่ยนไปใช้วิธีปฏิบัติการอื่นๆ

ขบวนธรรมชาติยาตราเพื่อแม่น้ำมูนปี 2542 เดินทางผ่านตัวอำเภอและย่านชุมชนเมือง

เครือข่ายเขื่อนร่วมชุมนุมใหญ่กับสมัชชาคนจนที่กรุงเทพฯ  ข้างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ชาวบ้านนั่งฟังการปราศรัยเมื่อปี 2543

ภาพการหาปลาด้วย “โต่ง” ณ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด

เครื่องมือหาปลา “ตุ้มปลาย้อน” ทุกวันนี้ใช้ไม่ได้แล้วเพราะเขื่อน ทำให้ระดับน้ำลึกเกินไป

การประชุมคณะกรรมการป่าทามชุมชนกุดเป่ง เป็นตัวแทนชุมชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่ปาทามในรูปแบบ ป่าทามชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหลือจากการถูกน้ำท่วม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท