สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 20-26 ธ.ค. 2563

ขยายเวลาอนุญาตให้คนเข้าเมืองบางประเภท อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยมีรายละเอียดว่า

โดยที่รัฐบาลได้กำหนดให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยต้องเข้ารับการกักกัน ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ทางราชการกำหนด ดังนั้น เพื่อให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรมีระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาต จึงเห็นสมควรเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 87/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ ลงวันที่ 10 ก.ค.2557 และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

1. คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามที่กำหนดในมาตรา 34 (4) (8) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 45 วันนับแต่วันที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

2. คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวซึ่งได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ตามข้อ 13 (3) และ (4) แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจ การยกเว้น และการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา พ.ศ.2545 ให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 45 วันนับแต่วันที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

3. ในกรณีที่คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนวันที่ประกาศนี้สิ้นผลใช้บังคับ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวได้รับระยะเวลาการพำนักในราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

4. ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2563 จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2564

ประกาศ ณ วันที่ 25 ธ.ค.2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ก.แรงงาน ออกประกาศขอความร่วมมือนายจ้าง ให้ลูกจ้างหยุดงานช่วงเทศกาลปีใหม่

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ด้วยห้วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2564 ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม 2563 และวันศุกร์ที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งสถานประกอบกิจการส่วนใหญ่ประกาศให้เป็นวันหยุดตามประเพณี เพื่อให้ลูกจ้างได้หยุดต่อเนื่อง และเป็นโอกาสอันดีที่ลูกจ้างจะได้เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว ณ ภูมิลำเนาของตัวเองและร่วมกิจกรรมตามประเพณีนิยมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา กรมจึงออกประกาศขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการให้ลูกจ้างหยุดงานในช่วงเทศกาลวันปีใหม่ โดยมีสาระสำคัญของประกาศ ดังนี้

1. ให้นายจ้างพิจารณาจัดให้วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม 2563 และวันศุกร์ที่ 1 มกราคม 2564 เป็นวันหยุดตามประเพณีในช่วงเทศกาลวันปีใหม่ให้แก่ลูกจ้าง หากวันหยุดดังกล่าวตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้เลื่อนวันหยุดตามประเพณีไปหยุดในวันทำงานถัดไป ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2. สำหรับงานขนส่งทางบก นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะทำงานไม่เกิน วันละ 8 ชั่วโมง หากจะให้ทำงานล่วงเวลาต้องไม่เกิน วันละ 2 ชั่วโมง โดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง และในวันทำงานถัดไป ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างเริ่มต้นทำงานก่อนครบระยะเวลา 10 ชั่วโมง หลังสิ้นสุดการทำงานในวันทำงานที่ล่วงมาแล้ว

3. ในการเดินทางกลับภูมิลำเนา ขอให้ลูกจ้างและนายจ้างใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะเดินทาง และขอให้วางแผนการเดินทางไปและกลับเพื่อความสะดวก และปลอดภัย

4. ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันผลกระทบจากการเดินทาง อันเนื่องมาจากการรวมตัวของบุคคลจำนวนมาก และอาจส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในการสอบสวนโรค และควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

ที่มา: มติชนออนไลน์, 26/12/2563

พนง.โรงงานนิคมบางปะอิน ประท้วงหลังถูกลดโบนัสปลายปีเหลือ 1 เดือน ทั้งที่ช่วยฝ่าฟันพ้นวิกฤตตกต่ำ

พนักงาน บริษัท เอ็มเอ็มซี ทูลส์ (ประเทศไทย) ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นัดหยุดงานประท้วง เรียกร้องโบนัสเพิ่ม หลังบริษัทประกาศให้โบนัสเพียง 1 เดือน

โดยพนักงานกว่า 400 คน ต่างไม่พอใจที่ถูกลดเงินโบนัสปลายปี โดยอ้างว่าที่ผ่านมาได้ทำงานเพื่อบริษัท จนสามารถฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ และการแพร่ระบาดของโควิด 19 มาได้ ทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจมาจนถึงทุกวันนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่บริษัทจะตัดโบนัสพนักงานเหลือเพียง 1 เดือน โดยเรียกร้องให้บริษัทจ่ายโบนัส 2 เดือน หรือ จ่ายเป็นเงินเยียวยาพนักงาน คนๆ ละ 15,000 บาทแทน

ล่าสุด ทางบริษัทได้เชิญตัวแทนพนักงาน เข้าเจรจากับผู้บริหาร จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ามาควบคุมดูแลรักษาความเรียบร้อย

ที่มา: ช่อง 3, 25/12/2563

กรมรางออกประกาศห้ามแรงงานต่างด้าวขึ้นรถไฟ ป้องกันเคลื่อนย้ายออกนอกเขตควบคุม

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขร.ได้ออกประกาศ เรื่องมาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางรางภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2563 เพื่อขอความร่วมมือหน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบถือปฏิบัติเพิ่มเติม ให้สอดคล้องตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19)

โดยตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 และมีมติแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงไปเสี่ยงต่ำเพื่อใช้มาตรการควบคุมโรค ทั้ง 30 จังหวัด ดังนี้

1. พื้นที่ควบคุมสูงสุด เป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและมีมากกว่า 1 พื้นที่ จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร

2. พื้นที่ควบคุม เป็นพื้นที่ที่ติดกับพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 ราย และมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม ราชบุรี และนครปฐม

3. พื้นที่เฝ้าระวังสูง เป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย และมีแนวโน้มสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จำนวน 25 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี นนทบุรี ปทุมธานี อุตรดิตถ์ ฉะเชิงเทรา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ อยุธยา ภูเก็ต เพชรบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี กระบี่ ขอนแก่น ชัยนาท อุดรธานี พิจิตร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชัยภูมิ นครสวรรค์ และอ่างทอง

4. พื้นที่เฝ้าระวัง เป็นพื้นที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ และไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯโดยมีความเข้มงวดในการควบคุมกิจกรรมแตกต่างกันในแต่ละโซน

เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) กรมการขนส่งทางรางจึงประกาศมาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางราง เพื่อขอความร่วมมือหน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบถือปฏิบัติเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) และถือปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) คำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด และประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด

ข้อ 2 ห้ามมิให้แรงงานต่างด้าวโดยสารระบบขนส่งทางราง เพื่อป้องกันแรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในกรณีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุมไปยังเขตพื้นที่จังหวัดอื่น โดยให้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการตรวจคัดกรองผู้โดยสารและควบคุม

กรมการขนส่งทางราขอความร่วมมือทั้งผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรางปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวตั้งแต่วันนี้ (25 ธันวาคม 2563) เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะคลี่คลายหรือมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เพื่อร่วมกันลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ ต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/12/2563

สตม.ผ่อนผันเอาผิดแรงงานต่างด้าว ทั้งผู้หลบหนีเข้าเมืองก่อนหน้า และที่เอกสารหมดอายุ เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองโรค

พลตำรวจโทสมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยผลระดมตรวจสอบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองตามสถานประกอบการ ว่า ช่วง 2 วันที่ผ่านมา สามารถจับแรงงานชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว รวม 61 คน แยกเป็นหลบหนีเข้าเมือง 51 คน อยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนด 9 คน และไม่แจ้งที่พักอาศัยภายใน 90 วัน 1 คน ทั้งหมดตรวจคัดกรองโรคแล้ว ไม่พบว่าติดโควิด-19 ส่วนมาตรการเร่งด่วน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จะร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะผ่อนผันการดำเนินคดีกลุ่มแรงงานต่างด้าว ทั้งผู้หลบหนีเข้าเมืองก่อนหน้าและผู้ที่เอกสารหมดอายุ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวออกมาแสดงตน เข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองโรค ซึ่งเชื่อว่า ผู้ประกอบการจะให้ความร่วมมือ นำแรงงานผิดกฎหมายออกมาแสดงตัว ลดปัญหาทิ้งแรงงานต่างด้าว เหมือนที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสอบสวนโรค และกักตัว 14 วัน หลังผลตรวจเชื้อไม่พบเป็นโควิด-19

พลตำรวจโทสมพงษ์ กล่าวต่อว่า จะเพิ่มการป้องกันไม่ให้มีผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และฝ่ายสืบสวนของกองบัญชาการทุกภาค เร่งสืบสวนสอบสวนถึงขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพลเรือน เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร หากพบเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง จะดำเนินการเอาผิดโดยไม่ละเว้น

ส่วนกรณีข่าวลือแรงงานตกค้างหน้าด่านชายแดนเมียนมานั้น ขอยืนยันว่าเป็นเพียงการกักตัว 14 วัน เพื่อรอผลักดันส่งกลับ และว่าไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีความร่วมมืออันดีต่อกัน และตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสามารถจับกุมชาวเมียนมาได้กว่า 26,000 คน และว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีหน้าที่ตรวจสอบบุคคลเข้า-ออกประเทศ และตรวจสอบแรงงานต่างด้าวในประเทศ ขณะที่หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องก็ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อป้องกันการลักลอบขนแรงงานเถื่อนเข้าประเทศ ไม่ได้ปล่อยปละละเลย แต่ยอมรับว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถปิดช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนได้ 100% จึงต้องมีการบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ผลการปฎิบัติมีประสิทธิภาพที่สุด

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 24/12/2563

นายกรัฐมนตรี สั่งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน เร่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดชั่วคราวโดยใช้บัตรสีชมพู ป้องกันการหลบหนี หรือถูกนายจ้างปล่อยทิ้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า จากการรับฟังรายงานพบว่าการตรวจเชื้อกลุ่มเป้าหมายพบอัตราการติดเชื้อลดลง เพราะมีการตรวจสอบควบคุมพื้นที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า กังวลกับแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียน และมีการหลบหนี ซึ่งเป็นการจ้างงานราคาถูกจากพวกที่เห็นแก่ตัว ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน และมีกระบวนการส่งแรงงานผิดกฎหมายเข้ามา โดยการแก้ไขเฉพาะหน้าเบื้องต้น ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงานขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดเป็นการชั่วคราวโดยใช้บัตรชมพู เพราะถ้าหากดำเนินการตามกฎหมายทุกอย่างเข้มงวดจนเกินไปก็จะมีการนำแรงงานไปปล่อยทิ้งหรือมีการหลบหนีอีก

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า การประชุม ศบค. พรุ่งนี้ จะพิจารณามาตรการช่วงปีใหม่ และมาตรการต่าง ๆ ที่จะต้องดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งจะมีการกำหนดโซนพื้นที่แพร่ระบาดมากและระบาดน้อย ให้แต่ละจังหวัดกำหนดสีต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อกำหนดมาตราการเฉพาะจุด จึงขอแจ้งเตือนให้ทราบว่าประชาชนอาจจะต้องลำบากและต้องเสียสละบ้าง พร้อมกันนี้ ขอร้องไปยังผู้ที่ใช้โซเซียลมีเดีย ที่มีการนำเสนอข้อมูลเท็จ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับประเทศไทยของเรา ขอร้องถ้าเป็นคนไทยต้องช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ใช่ปกปิดปัญหา อย่าโพสต์หรือเขียนอะไรที่ไม่มีความรู้ ตนไม่โทษใคร แต่ขอร้องให้ทุกคนมองที่ประโยชน์ของชาติ เราจะอยู่กันยังไง ถ้าเราอยากให้ประเทศดีขึ้นต้องช่วยกัน อย่าไปขยายความขัดแย้งเพิ่มอีก

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 23/12/2563

กระทรวงแรงงานกัมพูชาสั่งระงับการส่งแรงงานเข้าไทย

แถลงการณ์ของนายอีฐ ซัม เฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกัมพูชา เมื่อวันจันทร์ ที่ส่งถึงบริษัทจัดหางบานเอกชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า การส่งแรงงานไปยังไทยตามข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู (MOU) และแรงงานตามฤดูกาล ต้องระงับชั่วคราว ตั้งแต่บัดนี้ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง พร้อมกับเรียกร้องบริษัทจัดหางานทำงานร่วมกับนายจ้าง รวมทั้งสมาคมนายจ้าง และเจ้าหน้าที่ของไทย อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาในประเทศไทย

ทั้งนี้ ไทยนับเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุด ของแรงงานกัมพูชา ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานกัมพูชา ระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานกัมพูชาทำงานอยู่ในไทยประมาณ 1.1 ล้านคน นายซัม เฮง ยังได้เรียกร้องต่อแรงงานกัมพูชาในไทย ให้อยู่ในความสงบ และปฏิบัติตามแนวทางสาธารณสุขของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 รวมถึงสวมหน้ากากอนามัยอย่างเหมาะสม ล้างมือสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีประชาชนแออัด

ด้านแถลงการณ์ของนายหม่ำ บุนเฮง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา เมื่อวันอาทิตย์ (20 ธ.ค.) ได้แนะนำเจ้าหน้าที่ด่านชายแดน ตรวจเช็กด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ต่อทุกคนที่ผ่านแดนเข้ากัมพูชา รวมถึงการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย กรอกข้อมูลด้านสุขภาพ เข้ารับการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างทางกายภาพ เพื่อส่งให้สถาบันปาสเตอร์กัมพูชา สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติกัมพูชา และสาธารณสุขจังหวัดเสียมเรียบ ทำการตรวจวิเคราะห์ ภายในวันที่เดินทางเข้ากัมพูชา

ที่มา: NEWTV 18, 23/12/2563

ไทยยูเนี่ยน ผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ แจงพนักงานติดโควิด 1 ราย ณ วันที่ 21 ธ.ค. 2563

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครนั้น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขอยืนยันว่า สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญสูงสุดคือสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน คู่ค้า ผู้บริโภคและชุมชนโดยรอบ บริษัทได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ ในการปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางป้องกันต่าง ๆ

ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน วันที่ 21 ธันวาคม นี้ เราได้รับรายงานยืนยันว่ามีพนักงานติดเชื้อเพียง 1 รายจากพนักงานทั้งหมดของกลุ่มบริษัทที่มีการปฏิบัติงานในจังหวัดสมุทรสาคร ไทยยูเนี่ยนมีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของทางหน่วยงานราชการว่าด้วยการตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้กับพนักงานของบริษัทฯ

ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2563 โรงงานทุกโรงในประเทศไทย ภายใต้บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยังคงเปิดดำเนินการและเราได้วางแผนการดำเนินงานอย่างรอบคอบและรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิต อย่างไรก็ดี ในกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยที่อาจทำให้ต้องปิดโรงงานทุกโรงในจังหวัดสมุทรสาครเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ทางบริษัทได้ประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ทั้งหมดของบริษัทน้อยกว่าร้อยละ 2 ของรายได้รวมต่อปี ซึ่งบริษัทได้เตรียมมาตรการเสริมเพื่อทดแทนกำลังการผลิตไว้แล้วหากเกิดเหตุสุดวิสัยดังกล่าวขึ้น

ไทยยูเนี่ยนขอความร่วมมืออย่างต่อเนื่องให้พนักงานปฏิบัติตามข้อแนะนำและแนวทางปฏิบัติด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้งจากภาครัฐและบริษัทฯ ตั้งแต่ต้นปี บริษัทฯ มีมาตรการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานที่โรงงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งพนักงานบริษัทฯ และผู้ที่มาติดต่อ รวมถึงมาตรการและข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 21/12/2563

รมว.แรงงาน สั่งพับข้อเสนอภาคธุรกิจให้จ้างพนักงานรายชั่วโมงสู้ COVID-19 ระบุรับฟังความคิดเห็นเกินครึ่งไม่เห็นด้วย เกรงลูกจ้างถูกเอาเปรียบ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับสื่อประชาชาติธุรกิจ ถึงการพิจารณาข้อเสนอจากผู้ประกอบการที่ต้องการให้สามารถจ้างพนักงาน part-time แบบยืดหยุ่นรายชั่วโมงว่า ได้ “ยกเลิก” การพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว ภายหลังจากที่มีการเปิดประชาพิจารณ์ในพื้นที่เป้าหมายโดยมีตัวแทนทั้งจากนายจ้าง-ลูกจ้างและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมีความเห็น “ไม่เห็นด้วย” กับข้อเสนอมากกว่า 50% พร้อมกับมีการตั้งข้อสังเกตด้วยถึงมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิด

1) การทำลายตลาดแรงงานในรูปแบบรายเดือนและรูปแบบจ้างงานอื่น ๆ หรือไม่ 2) การจ้างงานด้วยอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงจะเพิ่ม “ความเสี่ยง” ให้กับลูกจ้างทั้งในแง่ของรายได้ที่อาจจะลดลงเพราะมีการลดชั่วโมงทำงานและอาจนำไปสู่การถูกเลิกจ้างงานได้ง่ายขึ้นโดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องรับภาระด้านเงินชดเชย 3) สิทธิประโยชน์ในฐานะลูกจ้างไม่ได้รับเท่าเทียมกับลูกจ้างประจำ และ 4) หากพิจารณาการจ้างงานแบบรายชั่วโมง จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องและต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้ว ข้อเสนอของผู้ประกอบการถือว่า “ยังไม่มีความจำเป็นมากนัก”

แต่ในทางปฏิบัติ หากนายจ้าง-ลูกจ้างสามารถตกลงกันได้และยินยอมให้นายจ้างจ้างงานแบบจ่ายค่าจ้างรายชั่วโมงก็สามารถทำได้ แต่ในส่วนของกระทรวงแรงงานยืนยันว่า จะไม่มีการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว ประกอบกับก่อนหน้านี้ได้นำเรียนหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเรียบร้อยแล้วถึงข้อดีและข้อเสียจากการจ้างพนักงานแบบรายชั่วโมงด้วยว่า จะมีหลายส่วนได้รับผลกระทบ

ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานโดยคณะกรรมการค่าจ้างได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงตามข้อเสนอของผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเห็นว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การทำงานและการจ้างงานเปลี่ยนไปตามความปกติใหม่ (new normal) ดังนั้น

ควรที่จะมีความ “ยืดหยุ่น” ในการจ้างงานให้กับผู้ประกอบการสามารถจ้างพนักงาน part-time แรงงานทั่วไปแบบยืดหยุ่นเป็นรายชั่วโมงได้ แต่ข้อกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจาก “นายจ้าง” ต้องจ่ายค่าจ้างตามแรงงานขั้นต่ำเต็มวัน

โดยข้อเสนอเรื่องการจ้างงานรายชั่วโมงได้ถูกนำมาพิจารณาในคณะกรรมการค่าจ้างตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา แม้ผลการพิจารณาที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างจะมีมติให้ความเห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงด้วยการประกาศให้เป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศเพื่อรองรับ new normal ไปแล้วก็ตาม (รายละเอียดตามตารางประกอบ) ในทางปฏิบัติจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงแต่อย่างใด

ล่าสุด นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาให้สามารถจ้างพนักงานแบบ part-time อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงว่า เรื่องได้ค้างอยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้าง มีหน้าที่ในการให้ความเห็นต่าง ๆ หลังจากนั้นจะต้องนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หาก รมว.ให้ความเห็นชอบก็จะนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป “ตามความเห็นในเบื้องต้น

ขณะนี้ภาวะของประเทศยังไม่เอื้อให้สามารถจ้างงานแบบ part-time ได้ อีกทั้งประเทศก็กำลังอยู่ในระหว่างฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 อยู่แล้วด้วย” นายอภิญญากล่าว

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ความสามารถการจ่ายเงินเดือนของผู้ประกอบการลดลงจากปีที่ผ่านมาในหลายธุรกิจประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่อง เช่น การท่องเที่ยวและการโรงแรม ทางหอการค้าฯ

จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อ “ปลดล็อก” ให้สามารถจ้างแรงงานรายชั่วโมงเป็นการทั่วไปได้ โดยขอให้กำหนดชั่วโมงการจ้าง 4-8 ชั่วโมงต่อวัน จากเดิมที่ไม่กำหนดช่วงเวลาการจ้าง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดให้สามารถประคองธุรกิจต่อได้โดยไม่ต้องเลิกจ้างแรงงาน

เบื้องต้นการกำหนดอัตราค่าจ้างได้เสนอให้ใช้วิธีการนำเอาค่าแรงงานขั้นต่ำแต่ละพื้นที่มาหารด้วยชั่วโมงการทำงาน เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯจะมีค่าจ้าง 325 บาทต่อคนต่อวัน หาร 8 ชั่วโมงต่อวันก็เท่ากับจ้างรายชั่วโมงอัตราชั่วโมงละ 40.6 บาท ข้อดีคือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดประสบปัญหาสภาพคล่องก็ได้ลดภาระค่าใช้จ่ายค่าแรงงาน ค่าประกันสังคมโดยไม่ต้องเลิกจ้าง ส่วนแรงงานก็จะดีเพราะ “ไม่ถูกเลิกจ้าง” และสอดรับกับวิถีการทำงานยุคใหม่ด้วย

แต่เมื่อรัฐบาลยังไม่พิจารณาข้อเสนอของผู้ประกอบการก็อาจจะทำให้อุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้ เพราะการส่งออกไปไม่ได้ยอดขายไม่ดี ดังนั้นต้องพิจารณาเลิกจ้างไปตามสถานการณ์ของแต่ละธุรกิจ “ภายหลังข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการพิจารณา ทางหอการค้าจะได้ผลักดันผ่านช่องทางกรรมาธิการการแรงงาน (กมธ.) วุฒิสภาต่อไป”

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องขอให้รัฐบาลปลดล็อกให้จ้างงานรายชั่วโมง อัตราชั่วโมงละ 40-41 บาท ระยะเวลา 4-8 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 1 ใน 10 ข้อเสนอด้านแรงงานที่ทาง ส.อ.ท.จัดทำขึ้น แม้จะยังไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ เนื่องจากทางกลุ่มแรงงานไม่เห็นด้วย แต่ทาง ส.อ.ท.ยังเดินหน้าผลักดันข้อเสนอนี้อย่างต่อเนื่อง ทางผู้ประกอบการที่ขายสินค้าไม่ได้ก็จะได้รับผลกระทบ

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการนายจ้างเข้ามาว่า ถ้ารัฐบาลคิดว่าการดำเนินการแบบนี้จะกระทบต่อผู้ใช้แรงงานก็อยากให้รัฐบาลมองว่า การจ้างงานรายชั่วโมงเป็นการช่วยกันคนละครึ่งทาง หากผู้ประกอบการอยู่ได้ก็ไม่มีการเลิกจ้าง โดยอาจจะพิจารณาเฉพาะอุตสาหกรรมที่เดือดร้อนก่อน เช่น ท่องเที่ยว อาหารบางกลุ่มที่กระทบ

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการวงการค้าปลีกกล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการหารือกับไตรภาคีในเรื่องของการคิดอัตราค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงมาเป็นระยะ ๆ โดยขณะนี้กำลังรอความคืบหน้าอยู่และหากมีข้อสรุปออกมาชัดเจนคาดว่าอาจจะมีการใช้นำร่องไปก่อนกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และโรงแรม แต่ท้ายที่สุดแล้วการจะบังคับใช้เรื่องนี้ได้จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือประกาศที่เกี่ยวกับเรื่องแรงงานหลายฉบับ “สมาคมค้าปลีกไทยได้เข้าหารือเรื่องนี้กับทั้งสภาพัฒน์ แบงก์ชาติมาแล้ว และจะหาโอกาสที่จะเข้าพบเพื่อชี้แจงเรื่องนี้กับ รมว.แรงงานอีกครั้งหนึ่ง และที่ผ่านมาสมาคมเคยได้ชี้แจงเรื่องนี้กับ รมช. (นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) มาแล้ว”

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนของ ศบศ.กล่าวว่า ข้อเสนอการจ้างงานรายชั่วโมง ทางภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกยักษ์ใหญ่ได้ผลักดันมาโดยตลอด แต่ทางภาครัฐและฝ่ายลูกจ้างเกรงว่า หากมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อรับรองการจ้างงานรายชั่วโมงจะเป็นช่องทางให้ลูกจ้างถูกเอาเปรียบ เพราะแทนที่จะเป็นการเปิดรับพนักงานใหม่แบบรายชั่วโมงในช่วงวิกฤตก็จะกลายเป็นการ “เปิดช่อง” ให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนสถานะของพนักงานประจำแบบรายวันมาเป็นพนักงานประจำแบบรายชั่วโมง ซึ่งจะทำให้มีการปรับลดค่าใช้จ่ายและสวัสดิการต่าง ๆลง

ขณะเดียวกันทางคณะอนุ ศบศ.ก็อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ “ทำงานครึ่งวัน-เทรนครึ่งวัน” โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Co-pay เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน โดยภาคธุรกิจจะรับภาระจ่ายค่าจ้างเพียงครึ่งวันที่ทำงาน ส่วนอีกครึ่งวันให้พนักงานเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรเพื่อเสริมทักษะด้านต่าง ๆ โดยที่ภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนในลักษณะจ้างอบรม

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/12/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท