ห้ามชุมนุมทั่วประเทศ ป้องกันแพร่เชื้อ COVID-19 ให้อำนาจผู้ว่าฯ สั่งปิดพื้นที่เสี่ยง

โฆษก ศบค. เผย 'ประยุทธ์' ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนดห้ามจัดชุมนุมทั่วประเทศ ป้องกันเชื้อ COVID-19 แพร่กระจาย พร้อมตั้ง ศบค.มท.ผ่องถ่ายอำนาจให้ผู้ว่าฯ สั่งปิด-เปิดสถานที่ หรือห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยงภายในจังหวัดได้

26 ธ.ค. 2563 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า วันนี้มีการประชุม ศบค.และมีเรื่องสำคัญที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว คือการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย หรือ ศบค.มท. จากเดิมที่ ศบค.มีศูนย์ภายในอยู่ 6 ศูนย์ โดยมีการผ่องถ่ายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในการควบคุมพื้นที่ สั่งปิดเปิดพื้นที่ ห้ามใช้หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงติดโรคในระดับจังหวัด สอดคล้องกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่เป็นเลขาฯ ซึ่งมีการออกเป็นข้อกำหนดไปแล้ว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการออกข้อกำหนดทั้งประเทศ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด เพราะฉะนั้นตอนนี้คือ ขอห้ามการชุมนุมทั้งประเทศ เพราะว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค

“ข้อย่อยๆ เกี่ยวกับการควบคุมโรค พูดง่ายๆ ผู้ว่าฯ จะเป็นคนสั่งปิดสั่งเปิด สั่งการเดินทางทั้งหลาย แต่เรื่องห้ามชุมนุม ตอนนี้ห้ามทั้งประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องการแพร่กระจายเชื้อโรค” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 25 ธ.ค.2563 ได้เผยแพร่ ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ 8 จนถึงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564 นั้น

โดยที่รัฐบาลได้ดําเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด - 19) มาอย่างต่อเนื่อง ทําให้การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ได้ผลดีขึ้นเป็นลําดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อปัจจุบันพบการระบาดของโรคระลอกใหม่ขึ้นในบางเขตพื้นที่ รัฐบาลจึงมีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการกระชับและยกระดับบรรดามาตรการต่าง ๆ ที่จําเป็น เพื่อเข้าแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที่เพื่อป้องกันมิให้เกิดการระบาดลุกลามเป็นวงกว้างต่อไป อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การห้ามใช้หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดโรค ห้ามประชาชนใช้ เข้าไป หรือ อยู่ในพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ประกาศหรือสั่งตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ของโรค

ข้อ 2 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่า ราชการจังหวัดออกคําสั่งโดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พิจารณาสั่งปิด สถานที่ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคและการแพร่ของโรคไว้เป็นการชั่วคราว

ข้อ 3 การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายใน เขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด

ข้อ 4 มาตรการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการ เฝ้าระวัง ตรวจและคัดกรองการเดินทางและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรการ ที่นายกรัฐมนตรีกําหนดตามข้อเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้ มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19)

ข้อ 5 การปฏิบัติและบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้ส่วนราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนปฏิบัติ ตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ได้เคยกําหนดไว้ในข้อกําหนด (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 และข้อกําหนด (ฉบับที่ 14) ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563 อย่างเคร่งครัด

ข้อ 6 การประสานงาน ให้ ศปก.ศบค. ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้อํานวยการศูนย์ ทําหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการขับเคลื่อน เร่งรัด และติดตามการปฏิบัติงาน ของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือในการปฏิบัติงาน ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19

เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถยุติลงได้โดยเร็วควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 พิจารณามาตรการและเร่งรัดการปฏิบัติการตามหน้าที่และอํานาจเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็ว และชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานของ ศปก.ศบค. ตามที่ได้รับการร้องขอ หรือประสานงาน

ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการดําเนินการทั้งในส่วนของประชาชนและพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามข้อกําหนดนี้ ให้หารือ ศปก.ศบค. และคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้ มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ตามลําดับ

ข้อ 7 เพื่อให้การกําหนดมาตรการป้องกันโรคเป็นไปในแนวทางเดียวกัน การออกประกาศ หรือคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดตามข้อ 1 หรือข้อ 2 เพื่อการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉินนี้ ให้ดําเนินการตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีหรือตามที่ ศบค.กําหนด

ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันพิจารณาประเมินและกําหนดพื้นที่สถานการณ์เพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดใหม่ ตามแนวทางและเงื่อนไขการจัดเขตพื้นที่ สถานการณ์ที่ ศบค. กําหนด และเสนอต่อ ศปก.ศบค. และนายกรัฐมนตรีทราบต่อไป

ข้อ 8 ให้บรรดาประกาศหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นคําสั่งตามข้อกําหนดนี้

ให้บรรดาประกาศหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ได้ประกาศหรือสั่งไว้ก่อนวันที่ข้อกําหนดนี้ใช้บังคับซึ่งถือว่าเป็นประกาศหรือสั่งตามข้อกําหนด ที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะได้มีข้อกําหนด ประกาศ หรือคําสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2563
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท