Skip to main content
sharethis

Civil disobedience อารยะขัดขืนหรือการดื้อแพ่งทางกฎหมายอาจเป็นหัวข้อที่เข้ากับสังคมไทยเวลานี้ที่สุด จรัญ โฆษณานันท์ มองประเด็นนี้ผ่านมิติปรัชญาและข้อเสนอของการยอมรับการดื้อแพ่งให้เป็นกฎหมาย เพื่อคุ้มครองนักดื้อแพ่งไม่ให้จบลงในคุกอย่างเดียวดาย

วงเสวนาวิชาการเรื่อง ‘ขัดขืนอย่างมีอารยะ: มุมมองทางกฎหมายและนิติปรัชญาเกี่ยวกับการดื้อแพ่ง’

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง ‘ขัดขืนอย่างมีอารยะ: มุมมองทางกฎหมายและนิติปรัชญาเกี่ยวกับการดื้อแพ่ง’ จรัญ โฆษณานันท์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า

ปกติหัวข้อเกี่ยวกับการดื้อแพ่งหรืออารยะขัดขืนซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษที่ว่า Civil disobedience ถ้ามหาตมะคานธีก็จะใช้คำว่าสัตยาเคราะห์หรือการยึดมั่นในสัจจะ เวลาที่มีคนดื้อแพ่งต่อกฎหมายคือการใช้สิ่งที่เป็นสัจจะความจริงต่อต้านกฎหมายที่เป็นความเท็จหรือไม่เป็นธรรม

เรื่องการดื้อแพ่งมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาอยู่ 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งคือการเคารพเชื่อฟังกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นบทเริ่มต้นที่เป็นหน้าที่ของประชาชนทั่วไป เรื่องที่ 2 คือการปฏิเสธกฎหมายในรูปของการดื้อแพ่ง

รูปเคารพพันท้ายนรสิงห์ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์ (ที่มา วิกิพีเดีย)

ทำไมมนุษย์จึงต้องเชื่อฟังกฎหมายเพราะมันมีประเด็นที่ทำให้เกิดการโต้แย้งว่า ถ้าเรายืนหยัดเรื่องการเคารพเชื่อฟังกฎหมายแล้ว การปฏิเสธกฎหมายจะด้วยเหตุผลด้านมโนธรรมหรืออะไรก็แล้วแต่มันอาจจะฟังไม่ขึ้น ในเรื่องการเคารพเชื่อฟังกฎหมายผมขอหยิบเอาเรื่องพันท้ายนรสิงห์ที่ยืนหยัดในนิติรัฐในแง่ของบุคคลที่เคารพเชื่อมั่นในกฎหมายสูงสุด แม้ว่าพระเจ้าเสือจะยกโทษให้ แต่พันท้ายนรสิงห์ก็ไม่ยอม เพราะว่ามันจะเสียสิ่งที่เป็นขนบธรรมเนียมในกฎหมายและประการที่ 2 คืออาจจะเสียเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัวว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กรณีนี้ลองเปรียบเทียบกับโสเครตีสที่ยอมรับโทษประหารชีวิต ซึ่งมีความผิดฐานลบหลู่พระเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยุยงคนหนุ่มสาวให้เสียผู้เสียคน ซึ่งถ้ามาอยู่ในยุคปัจจุบันก็น่าจะผิดมาตรา 112 ลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง

เรื่องพันท้ายนรสิงห์มีประเด็นชวนคิดว่า แนวคิดของพันท้ายนรสิงห์ที่ดูเหมือนจะแสดงความเคารพยึดมั่นในกฎหมายอย่างจริงจังโดยไม่มีข้อยกเว้นเกิดจากอะไร เหตุผล 2 ข้อคือมันเสียขนบธรรมเนียมจารีตกับเสียพระเกียรติยศ แต่มันชวนให้คิดว่ามีอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า ผมคิดว่าในสำนึกของคนไทยหรือสังคมไทยเราอาจจะมีสำนึกที่มองว่ากฎหมายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมะ ของกฎธรรมชาติหรือเปล่า ซึ่งถือเป็นสิ่งที่อยู่เหนือมนุษย์

ธรรมะหรือกฎธรรมชาติตรงนี้ถ้าย้อนกลับไปหาแนวคิดทางปรัชญากฎหมายไทย มันแสดงออกจากความเชื่อในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์สูงสุดที่เป็นผลผลิตของการแปลความธรรมะออกมาเป็นกฎหมาย แล้วคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ก็ถือเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือกฎหมายของรัฐทั่วๆ ไปที่เรียกว่าเป็นราชศาสตร์ แนวคิดแบบนี้จึงดูเหมือนกับมีนัยยะว่ากฎหมายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะในแง่หนึ่งกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมะหรือกฎธรรมชาติ

วงเสวนาวิชาการเรื่อง ‘ขัดขืนอย่างมีอารยะ: มุมมองทางกฎหมายและนิติปรัชญาเกี่ยวกับการดื้อแพ่ง’

แนวคิดที่เชื่อว่าในสังคมมนุษย์มีสิ่งที่เป็นธรรมะหรือกฎธรรมชาติอยู่เหนืออำนาจของมนุษย์ เหนือกฎหมายใดๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เอาเข้าจริงแล้วมันเป็นแนวคิดที่น่าสนใจที่เป็นสากลอยู่พอสมควร

ในภาพรวมโครงสร้างอารยธรรมของยุโรปหรือตะวันตก เราอาจจะแบ่งอารยธรรมที่สะท้อนสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมสำคัญ 2 ตัว อันหนึ่งก็คือวัฒนธรรมอินโด-ยูโรเปียน อีกอันหนึ่งก็คือวัฒนธรรมเซเมติก ซึ่งเกี่ยวข้องกับพวกยิว-คริสเตียน ในส่วนของวัฒนธรรมอินโด-ยูโรเปียนก็คืออินเดียมันเป็นวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อพวกอารยธรรมกรีกซึ่งมีอิทธิพลต่อปรัชญากรีก ในอารยธรรมอินเดียที่มีอิทธิพลต่อศาสนาฮินดู พราหมณ์ และพุทธ ทั้งสองอารยธรรมกรีกและอินเดียมีความเชื่อร่วมกันอันหนึ่งในเรื่องกฎธรรมชาติว่า ในจักรวาลมีระเบียบของจักรวาล เป็นกฎธรรมชาติที่ควบคุมทั้งโลกทางวัตถุและโลกทางศีลธรรม

แนวคิดเรื่องกฎธรรมชาติโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมและพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นแนวคิดที่ปรากฏร่วมกันทั้งในอารยธรรมของกรีกและอินเดีย รวมไปถึงอารยธรรมจีนด้วยซึ่งมีความคิดเกี่ยวกับกฎธรรมชาติที่เรียกว่าฟ้าหรือสวรรค์ มีอาณัติแห่งสวรรค์อยู่เหนือผู้ปกครอง ความคิดใน 3 อารยธรรมนี้นำไปสู่แนวคิดในทางนิติปรัชญาคือกฎหมายธรรมชาติในตะวันตกก็มีปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ซึ่งมีความเชื่อว่ามีกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติที่เป็นกฎแห่งเหตุผล กฎแห่งศีลธรรมที่อยู่เหนือมนุษย์ เหนืออำนาจของมนุษย์และรัฏฐาธิปัตย์ เหนือกฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้น

ในขณะที่ในตะวันออก ฮินดู พุทธ ก็มีแนวคิดเรื่องธรรมนิยมทางกฎหมาย ปรัชญากฎหมายธรรมชาติของตะวันตกเป็นปรัชญาที่มีบทบาทในการกำหนดสิ่งที่เป็นกฎหมายที่แท้จริง กฎหมายที่ดีแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่เหนือธรรมชาติไม่ว่าคุณจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ใหญ่แค่ไหนก็ตาม มันเป็นปรัชญาที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อที่จะควบคุมอำนาจของมนุษย์เอาไว้ว่าอย่าทะนงหลงตัวเองว่าสามารถใช้อำนาจได้ตามใจชอบ ยังมีสิ่งที่เป็นกฎเกณฑ์บางอย่างที่สูงกว่าคือกฎแห่งศีลธรรมต่างๆ

แล้วกฎธรรมชาติหรือกฎหมายธรรมชาตินี้ที่ถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่แท้จริง สูงกว่ากฎหมายของรัฐ มันก็เป็นตัวควบคุมอำนาจของรัฐเอาไว้ ในด้านหนึ่งมันนำไปสู่การเคารพเชื่อฟังกฎหมายที่เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายธรรมชาติ มนุษย์ต้องเคารพกฎธรรมชาติ มนุษย์ก็ต้องเคารพกฎหมายของรัฐด้วย ขณะเดียวกันถ้าหากกฎหมายของรัฐมันชั่วร้ายไม่ยุติธรรม ขัดแย้งกับกฎธรรมชาติ มันก็จะถูกตีความว่ากฎหมายนั้นอาจจะใช้ไม่ได้ แล้วตรงนี้ก็จะเป็นที่มาของการปฏิเสธกฎหมาย เป็นที่มาของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

ปกติแล้วการปฏิเสธกฎหมายอาจจะแสดงออกในหลายรูปแบบ ทั้งในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์หรือการขัดขืนโดยใช้ความรุนแรงก็ได้ ซึ่งอาจจะหมายถึงการกบฏ การต่อต้าน การปฏิวัติล้มล้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องการดื้อแพ่งมันจะเป็นการปฏิเสธขัดขืนโดยสันติวิธี อันนี้เป็นนิยามโดยทั่วไปของการดื้อแพ่ง

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติของตะวันตกมีอิทธิพลในการกำกับควบคุมรัฐ แล้วมันก็เป็นรากเหง้าที่มาของแนวคิดหลักนิติธรรม ถ้าเราย้อนกลับไปหาประวัติศาสตร์ในปรัชญากฎหมายตะวันตก แนวคิดเรื่อง Rule of Law มีมาตั้งแต่สมัยของเพลโต, อริสโตเติ้ล เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของแนวคิดกฎหมายธรรมชาติเพราะเป็นแนวคิดเดียวกันที่มองว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งสูงสุด แต่มีบางสิ่งที่เรียกว่ากฎธรรมชาติอยู่ แล้วกฎธรรมชาติพวกนี้ก็กลายเป็นหลักนิติธรรมด้วย

กฎหมายตราสามดวง ที่ถูกระบุว่าได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย คือ “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” 

สังคมไทยอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอินเดียในแง่ของการเมืองการปกครอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นปรัชญากฎหมายของไทยโบราณจึงมีแนวคิดธรรมะเป็นกฎหมายสูงสุดเหมือนกัน ในแง่นี้กฎหมายก็มีลักษณะของความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเหมือนที่เราเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมะ ผมคิดว่าตรงนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ในปรัชญากฎหมายไทยมองว่ากฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมะ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และเป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์ต้องเชื่อฟัง นี่เป็นเหตุผลที่ผมวิเคราะห์ว่าทำไมพันท้ายนรสิงห์จึงต้องยึดมั่นมากที่จะเชื่อฟังกฎหมาย

อย่างไรก็ดี เวลาที่เรามองภาพของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมตั้งแต่สมัยสุโขทัย ผมพยายามที่จะวิเคราะห์ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วปรัชญากฎหมายไทยมีลักษณะทวิลักษณ์ คือมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือธรรมนิยม อีกด้านหนึ่งคืออำนาจนิยม อำนาจนิยมที่ผูกพันอยู่กับความเชื่อในศาสนาฮินดูและพราหมณ์ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเทวราชาทั้งหลายซึ่งถูกตีความให้เป็นอำนาจนิยมชัดเจนขึ้นมา

ด้วยความจริงแล้วระบบคิดเรื่องเทวราชาของฮินดูก็อยู่ภายใต้กรอบธรรมนิยมเหมือนกัน เทวราชาแบบฮินดูหรืออินเดียโบราณต้องมีความเป็นธรรมราชาด้วยในตัวหรือจะเรียกว่าเป็นเทวธรรมราชาก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติ การปรับใช้ทฤษฎีเทวราชาในสังคมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยามีลักษณะความเด่นชัดในเชิงอำนาจนิยม มันเป็นการดึงมาใช้โดยที่ไม่มีศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูชัดเจนเพราะเราใช้ศาสนาพุทธ เราไม่มีวรรณะแบบพราหมณ์หรือฮินดู มันมีลักษณะธรรมนิยมและอำนาจนิยม

ลักษณะของอำนาจนิยมตรงนี้เป็นตัวหนึ่งที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย กฎหมายเป็นเสมือนเทวโองการของกษัตริย์ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจึงเป็นเสมือนความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจกษัตริย์โบราณที่เป็นทั้งพระพุทธเจ้า พระนารายณ์ สมมติเทพ ขณะเดียวกันประเด็นอำนาจนิยมตรงนี้ก็เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้สถานะของความเป็นกฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ มีความน่าเกรงขาม ทำให้คนต้องเชื่อฟัง ต้องปฏิบัติตาม

ประเด็นอำนาจนิยมในกฎหมายไทย ผมอยากอ้างอิงไปถึงแนวคิดของฮินดูคือในแนวคิดธรรมนิยมเชิงพุทธก็จะอ้างคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ว่าเป็นแม่บทใหญ่ที่ทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายแบบพุทธศาสนา เป็นความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งที่ดีงาม แต่ว่าในเชิงอำนาจนิยมเรามีอิทธิพลความคิดของฮินดูและพราหมณ์ผสมอยู่ด้วย สิ่งที่เป็นความคิดทางกฎหมายของฮินดูและพราหมณ์ที่สำคัญอันหนึ่งก็คือคัมภีร์ราชนีติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์อรรถศาสตร์ ที่กล่าวถึงศาสตร์ในการปกครองบ้านเมืองและเชื่อว่าเป็นคัมภีร์ที่ใช้ในราชสำนักของไทยโบราณควบคู่กับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์

ในคัมภีร์ราชนีติซึ่งเขียนขึ้นโดยจาณักยะซึ่งเป็นพราหมณ์ นักปราชญ์ และมนตรีของพระเจ้าจันทรคุปต์ สมัยหลังพระพุทธเจ้าประมาณ 100 ถึง 200 ปี ความตอนหนึ่งพูดถึงเรื่องกฎหมายเอาไว้ว่า ทุกคนในโลกนี้มีกฎหมายควบคุมเพราะว่าคนที่บริสุทธิ์ผุดผ่องหาได้ยาก ชาวโลกทั้งหมดเจริญรุ่งเรืองด้วยโภคทรัพย์ก็เพราะกลัวการลงโทษ เป็นประเด็นหนึ่งที่ราชนีติพยายามชี้ให้เห็นถึงบทบาทของกฎหมายซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดปรัชญากฎหมายของฮินดูที่มักมองว่ากฎหมายกับโทษเป็นเรื่องเดียวกันและโทษสะท้อนความเด็ดขาดรุนแรงที่ทำให้คนกลัวและปฏิบัติตาม

โดยสรุปผมพยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นไปได้ไหมที่พันท้ายนรสิงห์ศรัทธาเชื่อมั่นในกฎหมายหรือจะเรียกว่าลุ่มหลงในกฎหมายก็ได้ อาจเป็นเพราะมีความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในแบบธรรมนิยมและมองกฎหมายเป็นเรื่องของอำนาจการลงโทษที่เด็ดขาด เป็นเรื่องความกลัวเรื่องการลงโทษ

โสเครติส เพลโต และอริสโตเติล

ทีนี้ผมอยากจะข้ามมาเปรียบเทียบกับประเด็นของโสเครตีส ถามว่าทำไมโสเครตีสจึงเชื่อฟังกฎหมายขนาดนั้นโดยเอาชีวิตตัวเองเข้าแลก ถ้าดูจากข้อเขียนของเพลโตมีคำอธิบายของโสเครตีสแก่สานุศิษย์ที่พยายามชักชวนให้หลบหนี แต่สุดท้ายก็ไม่ยอม เหตุผลสำคัญก็คือหลักสัญญาประชาคม การที่เขาอยู่ในเอเธนส์ก็เหมือนกับเขาได้ทำข้อตกลงที่จะยอมรับในอำนาจของรัฐ การอยู่ในสังคมหรือรัฐก็คือการยอมรับสิ่งที่เป็นอำนาจกฎหมายของรัฐ หลักการนี้เป็นประเด็นสำคัญที่โสเครตีสพยายามชี้ให้เห็นว่าการเคารพเชื่อฟังกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประชาคมระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน

ถ้าคุณรู้สึกว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม คุณมีทางเดียวคือไปอยู่ประเทศอื่น ตราบใดที่คุณยังอยู่ในประเทศนี้ทั้งที่คุณมีโอกาสลี้ภัยไปอยู่ที่อื่นได้แสดงว่าคุณเคารพในข้อตกลงนั้นหรือเปล่า อันนี้เป็นแกนหลักของเหตุผลของโสเครติส แต่ถ้าเราอ่านรายละเอียดในข้อเขียนจะมีเรื่องการเคารพเชื่อฟังกฎหมายว่ามีความจำเป็นเพราะเป็นเงื่อนไขของการดำรงอยู่ของสังคม ถ้าหากคนไม่เชื่อฟังกฎหมายหรือปฏิเสธตามใจชอบ อนาธิปไตยก็จะเกิดขึ้น เรื่องราวของโสเครตีสจึงมักนำมาถูกอ้างอยู่เสมอว่าคนเราต้องเชื่อฟังกฎหมาย พวกที่ดื้อแพ่งก็จะถูกวิจารณ์ว่าจะนำไปสู่อนาธิปไตย นอกจากนี้ก็อาจจะมีเหตุผลเรื่องความเป็นหนี้บุญคุณรัฐที่คุ้มครองชีวิต คุ้มครองครอบครัว

กรณีของโสเครตีสชี้ให้เห็นว่าการเชื่อฟังกฎหมายเป็นเพราะเรามีข้อตกลงกับสังคมที่จะอยู่ในสังคมนี้และรัฐก็คุ้มครองและให้ประโยชน์กับเรา ถ้าเรารู้สึกว่ากฎหมายไม่ดีเราก็ต้องพยายามโน้มน้าวให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่เชื่อฟัง ไม่มีสิทธิ์ดื้อแพ่งหรือต่อต้านกฎหมาย อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายสนับสนุนการดื้อแพ่งต้องหาเหตุผลมาโต้แย้ง

แต่ว่าคนที่สนใจศึกษาเรื่องการดื้อแพ่งก็อาจจะแปลกใจอยู่ มีการอ้างโสเครตีสเหมือนกัน เช่น ถ้าอ่านงานของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ทำให้หลายคนมองว่าโสเครตีสเป็นแบบอย่างของนักดื้อแพ่งหรือเปล่า แต่ถ้าเราอ่านบทสนทนาอาจจะบอกว่าจริงๆ แล้ว โสเครตีสไม่ใช่นักดื้อแพ่ง แต่เป็นคนที่พยายามยืนหยัดเรื่องการเคารพเชื่อฟังกฎหมายมากกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่โสเครตีสทำและก่อให้เกิดความประทับใจในกลุ่มคนที่ดื้อแพ่งก็คือเขายึดมั่นในเรื่องคุณธรรม ความจริง เปิดเผยความไม่จริง ความกล้าหาญ เพราะฉะนั้นการที่เขากล้าสละชีวิตเพื่อยืนยันหลักการบางอย่างก็เป็นประเด็นที่นักดื้อแพ่งหลายคนชื่นชม

ปรัชญาของโสเครตีสที่พยายามเน้นเรื่องการตรวจสอบตัวเองและตรวจสอบผู้อื่นเป็นจุดหมายสำคัญยิ่งใหญ่ของชีวิต หลักการตรงนี้ผมคิดว่าก็เป็นที่ดื่มด่ำของนักดื้อแพ่งด้วยเพราะในแง่หนึ่งการดื้อแพ่งคือการตรวจสอบอำนาจรัฐ ชีวิตที่ขาดการตรวจสอบไม่สมควรมีชีวิตอยู่ แต่ถ้ามองจริงๆ โสเครตีสอยู่ในฝ่ายที่สนับสนุนการเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายมากกว่าและอาจถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เชื่อฟังแบบสมบูรณ์หรือเปล่า คือถ้าคุณไม่เห็นดีเห็นชอบด้วยก็มีทางเดียวคือไปอยู่ประเทศอื่น จะมาดื้อแพ่งต่อสู้เพื่อล้มกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้ อันนี้ก็เป็นจุดยืนของโสเครตีสซึ่งเป็นจุดยืนที่หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วย

ถ้าเราไปเทียบเคียงกับกรณีของอริสโตเติ้ลที่ในช่วงท้ายชีวิตก็ประสบชะตากรรมคล้ายๆ กัน แต่อริสโตเติ้ลไม่ยอมรับโทษแบบโสเครตีส หลบหนีไปเสียก่อนโดยมีข้ออ้างเหตุผลสวยหรูว่าไม่อยากให้ชาวเอเธนส์ทำบาปกับปรัชญาเป็นครั้งที่ 2 แนวคิดของอริสโตเติ้ลด้านหนึ่งสะท้อนการที่เขาเป็นนักปรัชญากฎหมายธรรมชาติที่ชัดเจน ดังนั้น การที่เขามีความเชื่อในเรื่องกฎหมายธรรมชาติอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขามีข้อแก้ตัวและปฏิเสธกฎหมายของรัฐ การใช้อำนาจของรัฐที่ไม่เป็นธรรม

ภาพบรรยากาศเวทีเสวนา ที่มาภาพ Law TU.

ผมยกกรณีของโสเครตีสและอริสโตเติลเพื่อให้เห็นภาพว่าแนวคิดเรื่องสัญญาประชาคมเป็นตัวอย่างหนึ่งของเหตุผลในการเคารพเชื่อฟังกฎหมาย แต่การเคารพเชื่อฟังกฎหมายนอกจากเหตุผลเรื่องสัญญาประชาคม มันอาจจะใช้เหตุผลในเชิงของหลักนิติธรรมได้ ก็คือโดยทั่วๆ ไปเวลาที่เราพูดถึงหลักอุดมคติทางกฎหมายว่ากฎหมายเป็นใหญ่สูงสุด ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน นัยในตัวหลักนิติธรรมหมายถึงทุกคนต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายด้วย

เพียงแต่ว่าหลักนิติธรรมนี้อาจมีประเด็นให้คิดว่าภายใต้หลักนิติธรรม เราปฏิเสธกฎหมายได้ไหมปฏิเสธกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมได้ไหม ซึ่งหลายคนอาจมองต่างกัน เช่นเวลาที่เราพูดถึงหลักนิติธรรมกับการดื้อแพ่ง ฝ่ายที่อนุรักษ์นิยมหน่อยจะมองว่าการดื้อแพ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักนิติธรรม คุณกำลังลบหลู่กฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามหลักความเป็นใหญ่สูงสุดของกฎหมาย แต่ฝ่ายที่มองหลักนิติธรรมในลักษณะเสรีนิยมหรือในแง่ของความยุติธรรม ซึ่งจริงๆ แล้วหลักนิติธรรมก็คือหลักความยุติธรรมในการปกครองบ้านเมือง ฝ่ายนี้อาจมองว่าหลักนิติธรรมกับการดื้อแพ่งอาจไม่ขัดแย้งกัน การดื้อแพ่งที่ชอบทำอาจเป็นการดื้อแพ่งที่ชอบด้วยหลักนิติธรรม

การดื้อแพ่งอาจไม่ใช่การปฏิเสธหลักนิติธรรม ถ้าเรามองในแง่ว่าเรากำลังปฏิเสธกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมซึ่งถูกมองว่าไม่มีสถานะความเป็นกฎหมายที่แท้จริงอีกต่อไป แล้วการปฏิเสธกฎหมาย เราปฏิเสธเพื่อให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งก็คือจุดหมายของหลักนิติธรรม เพราะฉะนั้นการดื้อแพ่งอาจไม่ใช่การทำสิ่งที่ตรงข้ามกับหลักนิติธรรม แต่อาจเป็นปฏิบัติการที่ปกป้องยืนหยัดหลักนิติธรรมมากกว่า เพื่อให้เกิดการบัญญัติกฎหมายและใช้กฎหมายให้มีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง อันนี้เป็นการมองในเชิงความสอดคล้องระหว่างการดื้อแพ่งโดยทั่วไปกับหลักนิติธรรม

นอกจากเรื่องหลักนิติธรรมแล้ว การเชื่อฟังกฎหมายอาจใช้เหตุผลในเรื่องความเที่ยงธรรม การไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เราอยู่ในสังคมอย่างมีความสงบสุขได้เพราะคนทั่วไปปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน ปฏิบัติตามบ้าง ไม่ปฏิบัติตามบ้าง

ความสงบสุขเรียบร้อยของสังคมเป็นเหตุผลทั่วไปที่มักจะพูดถึง เป็นการมองในแง่ผลลัพธ์ของการปฏิบัติตามกฎหมาย ผลลัพธ์ตัวนี้ก็อาจใช้เป็นเหตุผลในการดื้อแพ่งได้เช่นเดียวกันว่าการที่เราดื้อแพ่งปฏิเสธกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมโดยสันติวิธี เราทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดความสงบสุข ความยุติธรรมมากขึ้น เพราะฉะนั้นผลลัพธ์ในแง่ความสงบสุขจึงเป็นเหตุผลที่ใช้ได้ทั้งในเรื่องการเชื่อฟังกฎหมายและการปฏิเสธกฎหมายพร้อมๆ กัน

ภาพบรรยากาศเวทีเสวนา ที่มาภาพ Law TU.

เรื่องการดื้อแพ่งมีประเด็นถกเถียงกันเยอะ ในเรื่องสถานะความชอบธรรมของมัน บทบาทของมันว่าเป็นจุดหมายในตัวมันเองหรือเป็นเครื่องมือ ประเด็นที่ผมพูดเรื่องกฎธรรมชาติฟังดูเป็นอภิปรัชญา ส่วนหนึ่งผมต้องการดึงกลับมาหาสังคมไทยว่าแนวคิดเชิงอภิปรัชญาแบบนี้ วาทกรรมเรื่องกฎธรรมชาติ กฎแห่งธรรมที่อยู่เบื้องหลังมนุษย์ อยู่เบื้องหลังรัฏฐาธิปัตย์ มันคือฐานคิดสำคัญในการตรวจสอบกฎหมายและอำนาจของรัฐ รวมทั้งปฏิเสธอำนาจของรัฐ ผมคิดว่าหลักเรื่องกฎธรรมชาติในที่สุดแล้วมันพยายามจะบอกว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งสูงสุด ขีดเส้นใต้ว่ามนุษย์ในที่นี้คือรัฏฐาธิปัตย์หรือบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐ ซึ่งอยู่ใต้กฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้นมนุษย์ทุกคนย่อมทำผิดพลาดได้ไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้น มนุษย์ที่ผิดพลาดได้ตรงนี้อาจจะหมายถึงรัฐหรือรัฏฐาธิปัตย์ที่เป็นผู้ออกกฎหมาย มนุษย์ย่อมออกกฎหมายผิดพลาดได้เสมอ เมื่อออกกฎหมายผิดพลาดได้การปฏิเสธต่อต้านก็เป็นสิ่งที่กระทำได้

ผมมักจะพูดถึงว่าปรัชญากฎหมายไทยเป็นทวิลักษณ์ ทั้งธรรมนิยมและอำนาจนิยม ธรรมนิยมผมก็พยายามพูดถึงกฎธรรมชาติแล้วบอกว่ามันมีตัวบทกฎหมายบางตัว เช่น กฎมณเฑียรบาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่พูดถึงเรื่องการทัดทานพระราชอำนาจเวลาพระเจ้าแผ่นดินตัดสินคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยประเพณีหรือความยุติธรรม หรือในกรณีที่พระเจ้าแผ่นดินโกรธสั่งให้ส่งอาวุธให้เพื่อทำร้ายคนที่โกรธ กฎมณเฑียรบาลก็บอกว่าห้ามไม่ให้ส่งให้ ใครที่ส่งให้มีโทษถึงตาย กฎหมายโบราณแบบนี้อาจารย์เสนีย์ ปราโมชบอกว่าเป็นเพชรแท้น้ำหนึ่งของกฎหมายไทยโบราณ มันแสดงให้เห็นว่าถึงแม้สมัยโบราณจะปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เราก็ยังมีกฎหมายคอยตรวจสอบทัดทานอำนาจของกษัตริย์

หลักของกฎหมายตัวนี้ลึกๆ ก็คือเรื่องกฎหมายธรรมชาติ แต่กฎหมายแบบนี้ผมก็วิพากษ์วิจารณ์เหมือนกันว่ามีข้อบกพร่องของมันอยู่ คือในกรณีการทัดทานพระราชอำนาจเมื่อทัดทานครบ 4 ครั้งแล้วในที่สุดก็ต้องปฏิบัติตาม คล้ายๆ กับมีสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการตีความที่ยังให้อำนาจสถานะของกษัตริย์เป็นอำนาจชี้ขาดสุดท้ายอยู่

ผมเคยพูดอยู่เสมอว่าอำนาจทางกฎหมายของไทยโบราณที่มีทวิลักษณ์ในตัว เหมือนมีพระพุทธเจ้าอยู่ข้างหน้า พระนารายณ์อยู่ข้างหลัง หลังพระนารายณ์ก็มีชนชั้นปกครองคอยกำกับทิศทางอีกทีหนึ่ง กฎหมายพวกนี้ใช้เป็นเหตุผลในการอธิบายหลักธรรมะ กฎธรรมชาติที่ควบคุมอำนาจ การปฏิเสธทัดทานอำนาจไม่ถูกต้องซึ่งมีอยู่ทั้งในตัวกฎมณเฑียรบาลและในพระอัยการอาชญาหลวงที่พูดถึงขุนนางทั้งหลายใช้อำนาจไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ต้องทัดทานเหมือนกัน ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมไทยมันมีรากเหง้าทางความคิดบางส่วนที่ใช้ปฏิเสธอำนาจที่ไม่เป็นธรรมได้ซึ่งรวมไปถึงเรื่องการดื้อแพ่ง

เรื่องการดื้อแพ่งในเชิงวิชาการก็มีข้อถกเถียงอยู่ในตัวของมัน ที่เราพูดถึงอารยธรรมขัดขืน สันติวิธี ความจริงก็เป็นเวอร์ชันหนึ่งที่อาจเป็นกระแสหลักเวลาพูดถึง การดื้อแพ่งคือการปฏิเสธกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอย่างสันติวิธี เปิดเผย และยอมรับโทษ แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีแนวคิดว่าการดื้อแพ่งอาจจะมีทั้งการดื้อแพ่งเชิงปฏิรูปก็ได้ อย่างที่เราเห็นไม่ได้โค่นล้มระบบ แต่ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดการดื้อแพ่งเชิงปฏิวัติซึ่งมองว่าการดื้อแพ่งอาจจะเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง หมายความว่าหลังจากดื้อแพ่งโดยสันติวิธีแล้วอาจจะมีการเคลื่อนไหวหรือการต่อสู้ที่มากกว่าสันติวิธี เป็นข้อถกเถียงเรื่องการดื้อแพ่งอย่างสันติวิธีหรือไม่สันติวิธี

ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่มาร์กซิสต์อาจจะตั้งคำถามกับการดื้อแพ่งอย่างสันติวิธีมากว่า มันเป็นมายาคติแบบหนึ่งหรือเปล่าที่ฝันไปว่าจะใช้วิธีการสันติวิธีดื้อแพ่งเพื่อที่จะเปลี่ยนระบบ เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องความรุนแรงหรือไม่รุนแรงในฝ่ายก้าวหน้าก็เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมากว่า อย่าไปยึดติดอะไรมากนักว่าการดื้อแพ่งจะต้องไม่รุนแรงเสมอไป รุนแรงหรือไม่รุนแรงมันขึ้นอยู่กับบริบทสภาพเหตุการณ์การต่อสู้ที่เกิดขึ้น อย่าเคร่งคัมภีร์ว่าสิ่งที่เป็น civil disobediences ต้องอารยะอย่างเดียวเท่านั้น

อีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงคือสถานการณ์ยอมรับทางกฎหมายต่อการดื้อแพ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่ามันจะโยงไปถึงประเด็นการต่อสู้คดีของนักดื้อแพ่งทั้งหลายว่าเขาสามารถใช้เหตุผลอะไรในทางกฎหมายในการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด ผมอ่านงานของอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งให้การดื้อแพ่งเป็นสิทธิทางกฎหมาย แล้วไปอ่านงานของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ชัยวัฒน์เหมือนจะโต้แย้งอาจารย์สมชายที่ไม่เห็นด้วยให้การดื้อแพ่งเป็นสิทธิทางกฎหมายแต่มองว่าน่าจะเป็นปฏิบัติการทางศีลธรรมมากกว่า คล้ายๆ จะบอกว่าถ้าการดื้อแพ่งชอบด้วยกฎหมายแล้วพลังของการดื้อแพ่งจะถูกทำลายไป คือเวลาที่เรามองการดื้อแพ่งในเชิงมาตรฐานความคิดต่อต้านกฎหมายโดยสันติวิธี พร้อมที่จะรับการลงโทษ สูตรสำเร็จทางความคิดตัวนี้เกิดขึ้นมาเพราะมองว่าการดื้อแพ่งที่พร้อมจะรับโทษเสมอเป็นการชี้ให้เห็นว่าการดื้อแพ่งแตกต่างจากอาชญากรรมและกระตุ้นให้เกิดพลังความรัก ความสงสาร กระตุ้นมโนธรรมสำนึกของคนในสังคมให้เห็นถึงเหตุผลในการดื้อแพ่งว่าทำไมคนกลุ่มหนึ่งจึงต่อสู้และพร้อมที่จะทนทุกข์ทรมาน สูญเสียอิสรภาพ เพื่อเปิดดวงตาแห่งธรรมให้กับคนที่อยู่นอกคุก ให้คนเหล่านั้นเห็นถึงความสำคัญเหตุผล ความไม่เป็นธรรม แล้วเข้ามาร่วมต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การดื้อแพ่งจึงเป็นการต่อสู้เพื่อดึงพลังสังคมเข้ามาเปลี่ยนรัฐ เปลี่ยนความไม่ชอบธรรมของอำนาจรัฐ

ในมิตินี้อาจารย์ชัยวัฒน์จึงมองว่าการทำให้การดื้อแพ่งเป็นเรื่องกฎหมายเป็นการลดทอนพลังอำนาจในทางมโนธรรมสำนึกของการดื้อแพ่ง ฟังแล้วก็ดูดี แต่อยากให้อาจารย์ชัยวัฒน์ไปดื้อแพ่งและลองติดคุกดูว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงหรือเปล่า โดยตรรกะมันก็ดูใช้ได้ว่าการยอมติดคุกเป็นการกระตุ้นมโนธรรมของคน แต่มันใจร้ายเกินไปหรือเปล่าที่ปล่อยให้คนที่ดื้อแพ่งต้องติดคุกเพื่อสังเวยให้คนอื่นดวงตาเห็นธรรม

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ก็เตือนสติเอาไว้ว่า นักปฏิบัติการดื้อแพ่งที่เข้าคุก โดนยิงเป้า แล้วก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ราษฎรอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการลุกฮือเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนใหญ่ติดคุกเดียวดาย เพราะฉะนั้นคนที่หวังว่าจะให้นักดื้อแพ่งติดคุกแล้วกระตุ้นพลังเหตุผลของคนอื่นในทางทฤษฎีมันอาจจะดูสวยดีหรือมันอาจจะใช้ได้กับสิ่งที่จอห์น รอลส์พูดถึงว่าการดื้อแพ่งใช้ได้กับสังคมที่มีความยุติธรรม มันไปกระตุ้นความรู้สึกต่อความยุติธรรมของคน แต่มันก็อยู่บนเงื่อนไขที่ว่าสังคมนั้นๆ ต้องมีสำนึกเรื่องความยุติธรรม เป็นสังคมที่ต้องมีระบบรัฐธรรมนูญ มีแนวคิดเรื่องความยุติธรรม สำนึกความยุติธรรมที่สูง การดื้อแพ่งจึงเวิร์ค สามารถทำให้คนตื่นตัวแล้วลุกขึ้นมาร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เพราะเหตุนี้รอลส์จึงมองว่าการดื้อแพ่งมีข้อจำกัด

อันนี้ก็เป็นข้อเตือนสติว่าปฏิบัติการดื้อแพ่ง เราอาจต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพหรือความเป็นไปได้ มันไม่อาจใช้ได้ในบางสังคมและสิ่งที่รอลส์พยายามจะพูดถึงก็คือมันไม่อาจใช้ในบางสังคมที่มีรัฏฐาธิปัตย์แบบเทวสิทธิ์ ที่ผู้ปกครองมีอำนาจเป็นเทพเทวดาหรือไม่อาจใช้ในสังคมที่มีความแตกแยกแตกต่างที่เป็นเรื่องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ลองคิดถึงสังคมไทยที่แบ่งสีอย่างชัดเจน นี่คือตัวอย่างของสังคมที่รอลส์มองว่าการดื้อแพ่งไม่อาจใช้ได้ ไม่ควรใช้

จอห์น รอลส์ (John Rawls) ที่มาภาพวิกิพีเดีย

แล้วถ้าไม่ใช้จะทำอะไร รอลส์บอกว่าสถานการณ์แบบนี้อาจมีเหตุผลความชอบธรรมในแง่ของ militant action มากกว่า คือการต่อสู้ด้วยกำลัง ตรงนี้เหมือนรอลส์กำลังพูดถึงสิทธิในการต่อต้านหรือสิทธิ์ในการกบฏว่าในสถานการณ์ที่แน่นอนหนึ่ง ในเงื่อนไขของสังคมเฉพาะแห่งหนึ่งที่ไร้ความยุติธรรมอย่างมากๆ militant action อาจจะมีเหตุผล ไม่ได้เป็นเรื่องความจำเป็นที่จะต้องสันติวิธีตลอดเวลา

ฟังอย่างนี้อาจจะดูเหมือนว่าหัวรุนแรงไปหรือเปล่า แต่มันก็กลับไปที่เรื่องสิทธิในการกบฏหรือต่อต้านซึ่งความจริงแล้วสิทธิตัวนี้ก็เป็นสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำ สิทธิในการกบฏที่ไม่ใช่ความไม่รุนแรงเสมอไป ไม่จำเป็นต้องสันติวิธีตลอดเวลา เราอาจนึกไปถึงการประกาศอิสรภาพของอเมริกา การปฏิวัติในฝรั่งเศส นั่นคือการใช้สิทธิในการกบฏหรือต่อต้านความไม่เป็นธรรม มันไม่ได้ไม่รุนแรงตลอดเวลา ซึ่งในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาและคำประกาศการปฏิวัติของฝรั่งเศสมีการเขียนถึงสิทธิในการกบฏหรือต่อต้าน

ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไม่มีเขียนไว้โดยตรง แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือสิทธิในการกบฏหรือต่อต้านในช่วงของการยกร่างปฏิญญาสากลปี 1947 และ 1948 มีการต่อสู้ทางความคิดตรงนี้กันอยู่เยอะ ประเทศในกลุ่มสังคมนิยมรณรงค์ให้ใส่สิทธิในการกบฏหรือต่อต้านลงไปว่าเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งซึ่งก็หมายถึงสิทธิ์ในการปฏิวัติของประชาชน แต่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกไม่เอาด้วย ทั้งที่ตัวเองเคยใช้สิทธินี้โดยอ้างว่าถ้าใส่สิทธิตัวนี้ลงไปจะนำไปสู่ความวุ่นวาย

แต่ในร่างของคณะกรรมการ UNESCO จะมีเค้าโครงตามทฤษฎีนี้ ร่างของคณะกรรมการชุดนี้ใส่เรื่องสิทธิในการกบฏเอาไว้ด้วยแต่ในที่สุดแล้วก็ถูกตีตกไป แต่มันไม่ได้ถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิง มันเกิดการประนีประนอมกันแล้วทำให้เราเห็นว่าสิทธิในการกบฏมันแฝงอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แฝงอยู่ในคำปรารภของปฏิญญาสากล มันกล่าวถึงว่าสิทธิมนุษยชนควรได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายหรือหลักนิติรัฐ ถ้าไม่อยากให้ประชาชนต้องหันไปหาการกบฏในฐานะที่เป็นวิถีทางสุดท้ายในการต่อสู้ ข้อความลักษณะนี้มันคือการบอกว่าสิทธิในการกบฏหรือต่อต้านเป็นสิทธิมนุษยชนแบบหนึ่งแต่เขียนไว้อ้อมๆ

ถ้าสิทธิตัวนี้เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน ถามว่าการดื้อแพ่งหรือสิทธิในการดื้อแพ่งควรเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงกันอีกเยอะ นักวิชาการส่วนหนึ่งเห็นว่ามันควรเป็น ในที่ประชุมของผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนที่ UNESCO เคยจัดเมื่อปี 1981 มีการยอมรับว่าสิทธิในการต่อต้านต่อรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ไม่อาจแยกออกจากสิทธิมนุษยชน แล้วก็มีการแยกสิทธิในการต่อต้านออกเป็น 2 แบบ แบบหนึ่งก็คือแบบไม่รุนแรง อีกแบบคือรุนแรง ถ้าเป็นแบบนี้สิทธิในการต่อต้านที่มีลักษณะไม่รุนแรงมันก็ครอบคลุมไปถึงสิทธิในการดื้อแพ่งด้วยใช่หรือเปล่า

ภาพอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ผู้ต่อต้านการรัฐประหาร ปี 57

เป็นประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าการดื้อแพ่งอาจตีความได้ว่าเป็นสิทธิมนุษยชนแบบหนึ่ง แต่การใช้สิทธินี้ จะต้องเป็นทางสุดท้ายและไม่สามารถแก้ไขโดยวิธีการอื่น การที่เรามองว่าการดื้อแพ่งเป็นสิทธิมนุษยชน ผมคิดว่ามันเป็นการป้องปรามไม่ให้รัฐมาคุกคามการดื้อแพ่งอย่างเอาเป็นเอาตายและทำให้เกิดการยอมรับความชอบธรรมของการดื้อแพ่งมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่มีการต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้นักดื้อแพ่งกลายเป็นแพะรับบาปหรือเหยื่อที่คอยเรียกร้องความเห็นใจจากผู้อื่น แต่เขาสามารถบอกว่ามันเป็นสิทธิมนุษยชนแบบหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าประวัติศาสตร์ความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนแรกเริ่มมันก็เป็นสิทธินอกกฎหมายทั้งนั้นเพราะมันต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการที่จำกัดควบคุม ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราก็จะเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะทำให้สิทธิในการดื้อแพ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการยอมรับในวาทกรรมสิทธิมนุษยชน

เราขยับให้สิทธิในการดื้อแพ่งซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนให้เป็นสิทธิทางกฎหมายได้หรือไม่ อันนี้คือปัญหาที่ถกเถียงกันมาก ผมคิดว่าก็เป็นประเด็นที่พัฒนาได้เหมือนกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากเดิมที่เป็นสิทธินอกกฎหมายและกลายเป็นสิทธิในกฎหมายเพื่อให้มันได้รับการปกป้องโดยระบบกฎหมายมากขึ้น ถ้าเรายอมรับกันจริงๆ ว่าประชาชนมีสิทธิต่อต้านกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมโดยสันติวิธีเป็นวิธีทางสุดท้าย ถ้าเราเขียนเงื่อนไขต่างๆ ให้ดีพอและเราโชคดีอยู่ในรัฐบาลที่ก้าวหน้าเพียงพอ สิทธินี้ก็อาจกลายเป็นสิทธิทางกฎหมายได้

หรือการอ้างสิทธิตัวนี้โดยคิดถึงเรื่องการป้องกันก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ผมอยากให้ร่วมกันคิด ผมเคยไปเป็นพยานให้กับคุณอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ที่ต่อต้านการปฏิวัติ 57 ผมอธิบายให้ศาลฟังด้วยว่าการที่อภิชาติถือกระดาษแผ่นนั้นมันเป็นเสมือนการดื้อแพ่ง เพราะหลังปฏิวัติเสร็จเขาห้ามไม่ให้ออกไปชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองโดยคำสั่งคณะปฏิวัติ ดังนั้น การที่เขาออกไปต่อต้านจึงเป็นเสมือนการดื้อแพ่งแบบหนึ่ง

ผมบอกกับศาลว่าการที่อภิชาตกำลังใช้สิทธิในการปกป้องรัฐธรรมนูญที่ถูกทำลายไป ซึ่งหลายฝ่ายพยายามบอกว่าสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญถูกทำลายไปแล้วหลังจากรัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้ง แต่ผมก็บอกไปว่าอย่าไปมองเฉพาะในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เราต้องมองในตัวกฎหมายอาญาทั่วไปเกี่ยวกับการป้องกัน บทบัญญัติเรื่องการป้องกันมาตรา 68 ซึ่งเรามักจะตีความในแง่การป้องกันชีวิตร่างกาย แต่จริงๆ แล้วมาตรา 68 พูดถึงสิทธิซึ่งครอบคลุมไปถึงสิทธิทางการเมือง สิทธิเสรีภาพ สิทธิในการเลือกตั้ง ตีความให้มันกว้างขึ้น ดึงความเป็นมหาชนในตัวกฎหมายอาญาออกมา ถ้าเราตีความแบบนี้การที่คนคนหนึ่งออกไปคัดค้านต่อต้านการรัฐประหารก็มีนัยว่าเขากำลังใช้สิทธิในการป้องกันตัวเอง ป้องกันสิทธิที่เขามีจากการประทุษร้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อันนี้เป็นตัวอย่างว่าเป็นไปได้หรือเปล่าที่เราจะทำให้สิทธิในการดื้อแพ่งอย่างน้อยในบางเรื่องเป็นสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าทำได้แล้วก็จะทำให้คนที่ดื้อแพ่งมีเครื่องมือในการปกป้องคุ้มครองตัวเองไม่ใช่ปล่อยให้เขาไปสังเวยติดคุกโดดเดี่ยวเดียวดาย แล้วก็หวังว่าจะให้มีประชาชนจำนวนมากลุกฮือขึ้นมา ฝันไปเถอะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net