สช.ผนึกภาคีถกแนวทางรับมือโควิดระลอกใหม่ ‘ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน - หยุดตีตรา’ เพิ่มประสิทธิภาพควบคุมโรค

สช. ชักชวนภาคีด้านสังคม สุขภาพ แรงงาน หารือแนวทางป้องกันโควิด-19 ระลอกใหม่ “นพ.ประทีป” ชี้ นโยบายที่แข็งกร้าวไม่เอื้อต่อการควบคุมโรค ด้าน “นพ.ปรีดา” เสนอใช้ชุมชนเป็นฐาน ลดความกังวล-หยุดตีตราแรงงานข้ามชาติ ขณะที่ “อดิศร” จับตาเดือน ม.ค. - ก.พ.’64 แรงงานรวมตัวตรวจสุขภาพ-ต่อวีซ่าครั้งใหญ่ แนะวางมาตรการรองรับ

 

28 ธ.ค.2563 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมปรึกษาหารือแนวทางความร่วมมือในการป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านระบบ ZOOM เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ ผลกระทบ ตลอดจนวางแนวทางความร่วมมือในการป้องกันโรค โดยมีภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ด้านสังคม สุขภาพ และแรงงาน ประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ด้านเอดส์ มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง แอคชั่นเอ็ด มูลนิธิร่วมมิตรไทยพม่า มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิศุภนิมิต มูลนิธิดวงประทีป และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เข้าร่วมหารือ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้ขยายวงและสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ อย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยต้นทางของการแพร่ระบาดเกิดในตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่จำนวนมาก อย่างไรก็ตามภายหลังเกิดการแพร่ระบาดปรากฏว่าสังคมได้ตีตราแรงงานข้ามชาติว่าเป็นต้นเหตุของการเกิดโรค จนนำไปสู่การต่อต้านและความรู้สึกเกลียดชังคนกลุ่มนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือแรงงานข้ามชาติเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และในแรงงานข้ามชาติก็มีทั้งผู้ที่รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวดและผู้ที่หละหลวมการ์ดตกเช่นกัน

“เราต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เหมารวม โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่รวดเร็วและรุนแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันจัดทำมาตรการเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งนอกจากจะเป็นการหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐและปกป้องสุขภาพของคนไทยทุกคนแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ทำประโยชน์แก่ประเทศไทยด้วย” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า สิ่งที่ภาคีเครือข่ายและ สช. จะดำเนินการร่วมกันคือการสื่อสารเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของหน่วยงานและการจัดทำนโยบาย หลักการสำคัญคือ นโยบายที่แข็งกร้าวจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรค เช่น หากไม่ส่งข้าวส่งน้ำหรือส่งให้ไม่เพียงพอ ที่สุดแล้วแรงงานข้ามชาติก็จะต้องเอาตัวรอดด้วยการหนีออกมาจากพื้นที่ควบคุม นั่นยิ่งทำให้รัฐบาลควบคุมโรคได้ยากขึ้น ฉะนั้นตั้งแต่นโยบายระดับบนลงมาสู่ระดับปฏิบัติ ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญด้วย

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หัวใจของการจัดทำมาตรการป้องกันโรคคือการใช้ชุมชนเป็นฐาน ทั้งชุมชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มแรงงาน และชุมชนของแรงงานข้ามชาติ โดยภาคีเครือข่ายจำเป็นต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจและความร่วมมือเพื่อไม่ให้เกิดการแบ่งแยกกีดกัน การตีตรา ขณะเดียวกันต้องทำงานกับตัวของแรงงานข้ามชาติด้วย เพื่อไม่ให้เขาวิตกกังวล หวาดกลัว และรู้สึกด้อยค่า ด้อยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สำหรับมาตรการเบื้องต้น อาจเป็นการสานพลังและบูรณาการทรัพยากรเพื่อสนับสนุนให้เกิดการตรวจคัดกรอง การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก การวางแนวทางส่งตัวผู้ติดเชื้อไปรักษาต่อ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ในมิติต่างๆ อาทิ ข้าวของเครื่องใช้ อาหาร อุปกรณ์ป้องกันโรค ขณะเดียวกันต้องทำความเข้าใจชุมชนที่ต่อต้านและจัดเตรียมสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อ โดยตัวอย่างจากการระบาดในระลอกแรกคือ การดึงศาสนสถาน โรงเรียน เข้ามาสนับสนุน

วสุรัตน์ หอมสุด มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า มูลนิธิรักษ์ไทยได้ทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคีเครือข่ายใน จ.สมุทรสาคร พบว่าขณะนี้แรงงานข้ามชาติยังมีความต้องการด้านอาหารในระหว่างกักตัว โดยความต้องการ 5 อันดับแรก คือ ข้าวสาร อาหารกล่อง เนื้อสัตว์ น้ำดื่ม และน้ำตาล ส่วนความต้องการส่วนตัว อาทิ เครื่องนอน เครื่องใช้ส่วนตัว เสื้อผ้า อุปกรณ์สื่อสาร

นอกจากนี้ มูลนิธิรักษ์ไทยยังได้วิเคราะห์ความท้าทายในการทำงาน โดยพบตั้งแต่การแยกกักผู้ป่วยระหว่างผู้ที่ถูกแยกกักตัวกับผู้ที่ยังไม่ได้รับการตรวจในหอพัก การจัดการความเครียดของผู้ที่ผักในหอพัก การส่งเสริมการป้องกันแบบ 100% การสนับสนุนสิ่งของที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง และการสนับสนุนเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตสำหรับผู้ที่อยู่ในที่กักตัว

สุภัทรา นาคะผิว มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการทำให้ชุมชนมีความพร้อมอยู่ร่วมกับโรค ซึ่งอาจไม่ใช่โรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่หมายความรวมถึงโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยต้องสร้างความเข้าใจให้อยู่ร่วมกับโรคได้ กล่าวคือแม้เกิดการติดเชื้อก็มีความเข้าใจ รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวแบบใด ไม่ตื่นตระหนกหรือตื่นกลัว

สำหรับที่ จ.สมุทรสาคร ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการหลบหนีออกจากพื้นที่ ซึ่งปัญหาการหลบหนีส่วนใหญ่เนื่องจากกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะเข้ามาจับผู้ที่ไม่มีเอกสาร ฉะนั้นจำเป็นต้องร่วมกันผ่อนคลายความตึงเครียดลง ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนรั้วลวดหนามเป็นสแตนเลส การนำรถทหาร หรือตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ออกไปให้ห่างจากบริเวณกักตัว

อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาให้ได้ผลจำเป็นต้องดำเนินการใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ต้องรักษาให้แรงงานข้ามชาติอยู่ในระบบ โดยหลังจากนี้จะมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ต้องหลุดจากระบบเนื่องจากเอกสารหมดอายุ คาดว่าภายในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2564 จะมีราว 4 แสนราย แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังนิ่งเฉยไม่มีมาตรการใดๆ รองรับ 2. ต้องดึงคนเข้าสู่ระบบให้ได้มากขึ้น

“ช่วงเดือน ม.ค.จะมีแรงงานข้ามชาติรวมตัวกันเยอะเนื่องจากเป็นช่วงที่จะต้องตรวจสุขภาพและทำวีซ่า โดยทั่วประเทศมีกว่า 1 แสนคน เฉพาะใน จ.สมุทรสาคร มีประมาณ 4 หมื่นคน และก่อนเดือน มี.ค. 2564 แรงงานข้ามชาติกว่า 1 ล้านคน จะต้องยื่นเรื่องต่อวีซ่ารอบสอง ฉะนั้นจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและวางมาตรการสำหรับรับมือด้วย” อดิศร กล่าว

ทั้งนี้ ข้อสรุปเบื้องต้นจากการประชุม ได้แก่ 1. เตรียมความพร้อมของคน ชุมชน สังคม โดยอาศัยเครือข่ายภาคประชาชนเป็นกำลังสำคัญ 2. เปิดเวทีสื่อสารระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐ 3. เปลี่ยนแนวคิดและมาตรการของรัฐเรื่องการควบคุมโรค โดยดึงการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและสังคม เพื่อทำงานในระยะกลางและระยะยาว ตลอดจนสนับสนุนองค์ความรู้ วิชาการ และประสบการณ์การขับเคลื่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท