Skip to main content
sharethis

ทำความรู้จักอุตสาหกรรมรีไซเคิลในไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่แม้มีบทบาทมากในการรีไซเคิลขยะในไทย แต่ก็ยังมีข้อจำกัด รวมถึงความเปราะบางสารพัดที่มีเพียงพวกเขาที่เข้าใจกันเอง

กระป๋องอลูมิเนียมในกระสอบใบใหญ่ถูกจัดวางไว้ในโกดัง อาจรอการส่งไปขายต่อหรือบีบอัดให้ได้ขนาดที่เล็กลงและน้ำหนักที่มากขึ้น

ซาเล้งและการรับซื้อของเก่ามีความสำคัญมากต่อการรีไซเคิลขยะในไทย การเห็นรถซาเล้งทุกเมื่อเชื่อวันและธุรกิจรับซื้อของเก่าที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศคือหลักฐานที่พิสูจน์ว่าขยะเป็นเงินเป็นทอง

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ขยะมูลฝอยจากทั่วประเทศในปี 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 26.19 ล้านตัน นำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) ได้เพียง 4.82 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 18  โดยร้อยละ 76 ของการนำกลับไปใช้ใหม่มาจากซาเล้งและผู้ประกอบการรับซื้อของเก่า ในปี 2562 ไทยพีบีเอสรายงานว่า ประเทศไทยสร้างขยะมูลฝอยทั้งหมด 28.7 ล้านตัน นำไปรีไซเคิลได้ 12.6 ล้านตัน ในจำนวนนั้นเป็นพลาสติกถึง 9 ล้านตัน สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการรีไซเคิลขยะที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลปี 2562 จากรายงานสถานการณ์ขยะพลาสติกโลก (Plastic Atlas) จากมูลนิธิ Heinrich Boell Stiftung (HBS) มูลนิธิที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคกรีน ประเทศเยอรมนีสำรวจผู้มีอาชีพเก็บขยะ 763 คนในเอเชีย แอฟริกาและละตินอเมริกา พบว่าร้อยละ 65 จากผู้ตอบแบบสอบถามมีรายได้หลักจากการเก็บขยะขาย สะท้อนความสำคัญทางเศรษฐกิจของขยะในหลายแห่งทั่วโลกโดยเฉพาะพื้นที่ประเทศกำลังพัฒนา

แม้ขยะจะกลายเป็นเงินเป็นทอง แต่ผู้คนในวงการต่างรับทราบถึงความเปราะบางของอาชีพนี้ที่ถูกบีบจากนโยบายรัฐ กฎหมาย รวมถึงคนภายในวงการกันเอง

รู้จักวงจรรับซื้อของเก่าในไทยไวๆ

  • เป้าหมายของการค้าในธุรกิจรับซื้อของเก่าก็เหมือนธุรกิจอื่นคือซื้อให้ถูกแล้วขายให้แพง
  • ในระดับต้นทาง จะมีโรงงานที่ต้องการวัสดุรีไซเคิลแจกจ่ายสัดส่วนการรับซื้อให้กับตัวแทนรับซื้อในลักษณะเซ็นสัญญาเป็นโควตา ตัวแทนฯ จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับโรงงานในการป้อนวัตถุดิบด้วยการจัดการเรื่องการรับซื้อ รวบรวม จัดส่งและจัดการธุระทางภาษีมูลค่าเพิ่มให้โรงงาน กระบวนการกำหนดราคาจะเริ่มตรงนี้ จากนั้นราคาจะลดหลั่นลงไปตามร้านรับซื้อของเก่าไปจนถึงซาเล้ง
  • ขยะจะถูกเก็บและคัดแยกโดยซาเล้ง แบ่งเป็นชนิดตามที่ร้านรับ แบ่งคร่าวๆ ได้หลายประเภท เช่น กระดาษ พลาสติก เหล็ก ทองแดง ทองเหลือง อลูมิเนียม
  • สินค้าบางชนิดหากมีสภาพที่ดูสมบูรณ์ก็จะมีการรับซื้อเป็นชิ้น เช่น แบตเตอรีหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ
  • ขยะจะถูกส่งไปขายต่อไปยังสถานประกอบการรับซื้อของเก่าที่มีขนาดโกดังเก็บของใหญ่ขึ้น จำนวนการส่งที่เยอะขึ้นก็หมายถึงส่วนต่างที่เป็นกำไรจะเยอะขึ้น ราคาขยะแต่ละประเภทอาจจะต่างกันในแต่ละร้านตามความสนใจของเจ้าของกิจการที่อยากจะ “เล่น” ขยะชนิดใดเป็นพิเศษ
  • ขยะจะถูกเก็บรวบรวมแล้วไปส่งทีละมากๆ บางร้านที่มีเครื่องอัดก็จะอัดเป็นก้อนเพื่อให้ได้น้ำหนักเยอะและเพิ่มพื้นที่ในการเก็บและขนส่ง ก่อนจะส่งไปร้านที่ใหญ่กว่า ตัวแทนฯ หรือโรงงานอุตสาหกรรมด้วยตนเอง

ความลำบากใจที่จุดล่างสุดของห่วงโซ่อุปทานของเก่า

รถซาเล้งและกองขยะที่รอการขายคือภาพที่เห็นจนชินตาในซอยเสือใหญ่อุทิศ

ความคึกคักตามแบบฉบับของโซนที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลางและนักศึกษา เป็นเพียงฉากหน้าของซอยเสือใหญ่อุทิศ (รัชดาภิเษก 36) พื้นที่ซื้อ-ขาย จัดส่งเศษขยะครบวงจรในพื้นที่ด้านหลังที่เชื่อมต่อกับซอยลาดพร้าว-วังหิน ซึ่งเป็นที่อยู่ของซาเล้งกว่า 300 ครัวเรือนและร้านรับซื้อของเก่าอีกจำนวนมาก ตามซอกซอยจะสามารถเห็นเศษขยะสารพัดสิ่งตั้งแต่ขวดแก้ว กระดาษ ตู้เย็นหลายขนาดไปจนถึงซากรถ แม้ถูกจัดวางระเกะระกะ แต่ก็จัดแยกอย่างเป็นระเบียบเพื่อเตรียมพร้อมขาย

เกษ โยธี อายุ 58 ปี หนึ่งในผู้ประกอบอาชีพซาเล้งในพื้นที่ซอยเสือใหญ่อุทิศมาอย่างยาวนานให้สัมภาษณ์กับประชาไทในขณะที่เพื่อนและญาติร่วมบ้านในสลัมกำลังจัดแพ็คเสื้อผ้าเด็ก หนึ่งในลำไพ่เสริมในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาจากราคากระดาษและพลาสติก หลังจากการสัมภาษณ์ เธอจะพาเพื่อนและหลานๆ ขึ้นรถซาเล้งไปขายเสื้อผ้าเด็ก ดอกไม้และสิ่งของที่ชั่งกิโลฯ ซื้อหรือได้รับบริจาคมาแต่ยังพอไปขายเป็นชิ้นได้ที่ตลาดนัด

เกษคือหนึ่งในผู้ประสบภัยจากการนำเข้าพลาสติกและกระดาษของรัฐบาลไทยไม่ต่างจากซาเล้งคนอื่นๆ สามีของเกษเป็นผู้แทนชาวซาเล้งในซอยเสือใหญ่ที่ไปเข้าพบกับจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทวงพาณิชย์พร้อมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อหาทางออกให้กับราคากระดาษที่ลดลงฮวบฮาบจากนโยบายนำเข้าขยะจากต่างประเทศที่เป็นข่าวมาตั้งแต่ปี 2561

เกษ โยธี ถ่ายในพื้นที่ที่เป็นทั้งบ้านพักอาศัยและที่เก็บขยะเพื่อนำไปขายต่อ

การนำเข้าขยะจากต่างประเทศเป็นศัตรูที่สำคัญของวงการรับซื้อของเก่าเพราะมันทำลายกลไกกำหนดราคาจนขยะในประเทศไม่มีราคา แผลสดที่วงการรับซื้อของเก่าเพิ่งเจอคือการนำเข้าขยะกระดาษและพลาสติกจากต่างประเทศเมื่อกลางปี 2561 เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนยกเลิกการนำเข้าขยะจากประเทศอื่น นัยของการนำเข้าขยะ พูดง่ายๆ คือการรับจ้างเป็นที่ทิ้งขยะนั่นเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนจีนเลิกนำเข้า

การปิดถังขยะใบหนึ่งนำมาซึ่งการเปิดถังขยะใบอื่นๆ เมื่อกระดาษและพลาสติกถูกกระจายไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย การเข้ามาของขยะที่ไม่มีต้นทุนในการซื้อ จัดเก็บและขาย ตามมาด้วยการประมูลเพื่อนำขยะเหล่านั้นเข้าโรงงาน ขยะที่นำเข้าจึงมีราคาซื้อที่ถูกกว่าขยะในวงจรการรีไซเคิล เมื่อมีสินค้ามากขึ้นย่อมทำให้ราคาของเก่าในตลาดลดลงตามกลไกตลาด

ชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าให้ข้อมูลว่า ของเก่าที่มีการเก็บมามากที่สุดในงานรีไซเคิลคือกระดาษ พลาสติกและเศษแก้ว ตามลำดับ เพราะเป็นสินค้าพื้นฐานที่ทุกหลังคาเรือนมี ส่วนเหล็ก โลหะ ทองแดง ทองเหลือง สแตนเลสที่มีราคามากขึ้นมักจะมีไม่เยอะ การนำเข้าขยะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาขยะในเมืองไทยถูกกดลงทันทีเพราะโรงงานที่รับสินค้าก็มีจำนวนเท่าเดิม

เขายกตัวอย่างราคากระดาษลังที่ตกลงในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ย. ปี 2562 ว่า จากเดิมที่หน้าโรงงานอุตสาหกรรมเตาหลอมรับอยู่ที่ กก. ละ 6 บาท จากนั้นเดือน มี.ค. เม.ย. ตกลงมาเหลือ 5 บาท เรื่อยมาถึงเดือน ก.ย. - ต.ค. ลดลงมาเหลือ 2 บาท คนทำมาค้าขายแทบจะไม่ได้อะไรจากส่วนต่างเลย เพราะต้องหักค่าขนส่งและต้นทุนต่างๆ

เหตุการณ์เดียวกันก็เกิดกับพลาสติกเช่นกัน ชัยยุทธิ์เล่าว่ามีโรงงานเล็กๆ ที่มาจากจีน เปิดโรงงานรับของจากภายนอก เพื่อเข้ากระบวนการรีไซเคิล แต่ไม่รับของเก่าจากซาเล้ง เมื่อมีการทำเช่นนี้ โรงงานใหญ่ๆ ที่เคยขายวัสดุรีไซเคิลได้ก็ขายไม่ได้ ต้องขอโควตาเศษขยะนำเข้าบ้างเพื่อลดต้นทุนสู้กับโรงงานโรงเล็ก ทำให้เศษขยะในเมืองไทยที่พร้อมรีไซเคิลไม่สามารถขายได้ หรือขายก็ไม่ได้ราคา

ซาเล้งรับถุงยังชีพจากสมาคมการค้าผู้ประกอบการค้าของเก่าไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่การล็อกดาวน์และราคาของเก่าจำพวกพลาสติกและกระดาษตกต่ำทำให้ซาเล้งได้รับผลกระทบอย่างมาก

จากการสัมภาษณ์ช่วงเดือนกรกฎาคม เกษเล่าว่าราคาสินค้าตกต่ำ สมัยก่อน “ออกของ” (ออกไปหาของมาขาย) สามารถขายได้วันละ 300-400 บาท แต่ปัจจุบันต้องออกไปเก็บของ 2 รอบถึงจะได้เท่าเก่า นโยบายแก้ปัญหาราคากระดาษนั้นยังคงไปไม่ถึงซาเล้งในบางร้าน ราคากระดาษที่ขึ้นมาเป็น 1.50 บาท แต่ว่าราคารับซื้อหน้าร้านไม่เท่ากัน บางร้านก็ยังรับอยู่ที่ 1.10 บาท นอกจากกลไกราคาแล้ว วงจรหนี้สินที่เกิดจากการผ่อนรถซาเล้งที่บางคันก็เป็นการผ่อนกับร้านรับซื้อของเก่าก็เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ เพราะการขายของหลายครั้งก็ถูกหักเงินเป็นค่างวด

“[ราคา]มันลงง่ายมาก ตอนที่ไปเรียกร้องก็ขยับให้หน่อยหนึ่ง แต่อย่าคิดว่าจะขึ้นเหมือนกันนะ ไม่เหมือนนะ บางร้านก็จะขึ้นให้ 10 สตางค์ 20 สตางค์ บางร้านก็จะลงอย่างเดียวเลย”

“ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือ มึงพอใจขายกูมั้ยล่ะ ถ้ามึงไม่พอใจขายร้านกู มึงก็ขายร้านไหนไม่ได้ เพราะมันเป็นรถกู อย่างเงี้ย ยังไงมึงก็ต้องขายให้กู”

อีกเรื่องที่เกษพูดถึงคือ มีบ่อยครั้งที่การขายของถูกตัดทอนโดยร้านรับซื้อของเก่า เช่น ขายตะกั่ว สร้อย หรือแหวน 10 กก. อาจถูกร้านตัด 3 กก. โดยอ้างว่าเป็นน้ำหนักของเหล็กที่ปนมา เธอยกตัวอย่างกระดาษ สินค้าที่หลายครั้งถูกเพิ่มน้ำหนักด้วยการรดน้ำพอให้อมน้ำเพื่อให้มีน้ำหนักเพิ่ม เธอเล่าว่าร้านรับซื้อของเก่าจะรดน้ำใส่กระดาษก่อนไปส่งโรงงาน ซึ่งก็จะถูกโรงงานตัดราคาน้ำไปบ้าง แต่ก็ได้น้ำหนักเพิ่ม โดยราคาที่รับซื้อก็จะกำหนดโดยอาศัยการคำนวณแล้วว่าจะได้กำไรหลังถูกโรงงานตัดราคา ซาเล้งที่อยู่ท้ายสุดของห่วงโซ่ก็จะได้รับราคาที่ผ่านการตัดราคามาแล้วเป็นรายสุดท้าย

ความเปราะบางของพ่อค้า

ธวัช ไกรรักษ์ เจ้าของร้านรับซื้อของเก่า ‘ธวัช รีไซเคิล’ ร้านรับซื้อของเก่าที่เจ้าตัวระบุว่าใหญ่ในอันดับต้นๆ ของซอยเสือใหญ่ ร้านนี้คือผลของการเริ่มสะสมทุนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยที่เขายังคัดแยกขยะไปขายตามร้านกับพ่อที่ทำงานกวาดถนนอยู่แถวห้วยขวางเมื่อปี 2536-37 ธวัชเล่าว่าสมัยก่อนธุรกิจนี้บูมมาก การเติบโตของธวัชรีไซเคิลที่เกิดจากการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากพ่อที่เก็บขยะมาขายเป็นเครื่องยืนยันสมมติฐานได้เป็นอย่างดี

ธวัช ไกรรักษ์

นอกจากรับซื้อของจากซาเล้งและขาจรที่เก็บมาขายแล้ว ทางร้านของธวัชยังมีการนำของที่รับซื้อมาแยกชนิดขายเพิ่มเติมจากที่แยกมาแล้ว หรือขายเป็นหน่วยๆ เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ร้านรับซื้อของเก่าทำกำไรจากของที่ซื้อมา ของเก่าที่มีการประกอบชิ้นส่วนซับซ้อนอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้ามักจะถูกถอดชิ้นส่วนมาแยกขาย ยกตัวอย่างเช่นมอเตอร์ในพัดลมหรือบัลลาสต์ของหลอดไฟที่จะมีขดลวดทองแดง วัสดุที่มีราคาดีอันดับต้นๆ ในวงการรับซื้อของเก่าอยู่ด้านใน

สายทองแดงที่ถูกปอกและรวบรวมไว้ในเข่ง

ธวัชเล่าว่าธุรกิจร้านรับซื้อของเก่าเคยได้รับผลกระทบอย่างหนักมาก่อนหน้าที่จะมีข่าวการนำเข้าพลาสติกและกระดาษแล้ว ก่อนปี 2562 ราคาเหล็กในวงจรอุตสาหกรรมรับซื้อของเก่าปรับตัวลดลงอย่างมาก สืบเนื่องจากการนำเข้าเหล็กที่ผลิตจากจีนทำให้ราคาเหล็กร่วงจาก 11-12 บาท เหลือ 2-3 บาทภายในเวลา 2-3 เดือน ถือเป็นอัตราที่รวดเร็วมาก ธวัชเองก็ขาดทุนไปหลายแสนบาท

เมื่อมีเหตุการณ์การนำเข้ากระดาษหรือพลาสติกจนวงจรราคาปั่นป่วน คนในอุตสาหกรรมรับซื้อของเก่าที่มีบทเรียนอยู่แล้วก็มีการปรึกษาหารือกัน จนท้ายที่สุดนำมาซึ่งภาพการรวมตัวกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่กระทรวงพาณิชย์

“มีการพูดคุยถึงความเดือดร้อนตั้งแต่วันที่ 7 (มิ.ย.) แล้วว่ามันแย่ มันเริ่มเข้าเนื้อ วันที่ 7 ก็เริ่มมีการประชุมเดือน 7 เดือน 8 เริ่มมีการประชุมกลุ่มย่อย ผมก็มีการประชุมกับกลุ่มซาเล้งหน้าร้าน ร้านของเก่าด้วยกันก็มีการไปนั่งกินข้าวพูดคุยกัน โรงอัดกระดาษก็เชิญเราไปนั่งคุย เชิญร้านของเก่าไปนั่งคุย เขาก็พูดกับเราตรงๆ ว่าเขาไม่ได้เป็นตัวกำหนดราคา โรงงานกระดาษเป็นคนกำหนดราคา”

“ก็มีการพูดคุยกันจนตกผลึกว่า ถ้าเราทำอย่านี้ต่อไป เราไม่รอด เพราะเราเคยเจอเศษเหล็กแล้ว มาเจอกระดาษอีก เราไม่รอดแน่ เพราะทุกคนทำเข้าเนื้อ เราอยู่ไม่ได้ ของน้อยลงไม่พอ คือของน้อยลงเพราะซาเล้งไม่เก็บมาส่ง พอของที่เราซื้อมารอเก็บไปส่งไม่เต็มคันเหมือนเดิม ราคาลง ก็ขาดทุนต่อเนื่องอีก จึงมีการพูดคุยกันจนเราก็ไปยื่นหนังสือที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อขอเจรจากับโรงงานกระดาษโดยตรง” ธวัชกล่าว

ธวัชเล่าต่อไปว่า หลังการประชุมจำนวน 11 ครั้งและการผลักดันของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ก็เกิดนโยบายประกันราคากระดาษขึ้น ราคากระดาษแม้ไม่ดีไปกว่าเดิมแต่ก็ไม่แย่ไปกว่าเดิม เมื่อเริ่มแรก ราคาโรงงานอยู่ที่ 3.20-3.50 บาท ต่อมาค่อยๆ ปรับดีขึ้นจนร้านธวัชสามารถรับราคากระดาษลังที่ 4.60 บาท และกระดาษสี 2.50 บาท (ข้อมูลเดือน ก.ย.63)

จากการต่อรองครั้งนั้นทำให้กลุ่มซาเล้งและผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าเริ่มรวมตัวเป็นสมาคม โดยมีการจัดตั้งสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในช่วงปี 2562 เพื่อเป็นช่องทางแจ้งข่าว ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรับซื้อของเก่า และยังมีการจดทะเบียนกับซาเล้งด้วยเพื่อให้ข้อมูล แจ้งข่าว ต่อรองกับภาครัฐ และทำให้อาชีพซาเล้งที่ยังไม่สามารถจดทะเบียนวิชาชีพได้มีสถานภาพอะไรบางอย่าง ธวัชเองก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมด้วย

ในเครือข่ายการติดต่อสื่อสารของสมาชิกสมาคมฯ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรื่องภาษีอยู่เรื่อยๆ ในช่วงเดือนกันยายน 2563 ก็เคยมีการจัดอบรมเรื่องขั้นตอนและแนวทางการจัดการเกี่ยวกับภาษีอย่างถูกต้องให้สมาชิกสมาคมฯ ไปแล้ว การจัดตั้งสมาคมฯ ครั้งนี้ถือเป็นการรวมตัวที่น่าจับตามองในแง่การเป็นผู้ต่อรองกับภาครัฐที่ชัดเจนในเรื่องการบริหารจัดการขยะโดยฝั่งทุน ก่อนหน้านี้สมาชิกของสมาคมฯ ก็มีส่วนผลักดันการไม่รับโควตาขยะพลาสติกจากต่างประเทศเข้ามา จนภาครัฐตัดสินใจไม่นำเข้าขยะพลาสติกเข้ามาในประเทศเมื่อกันยายน 2563

ภาษี: ภาร(ะ)กิจของวงการของเก่า

การจะเปิดร้านรับซื้อของเก่าอย่างถูกต้องนั้นต้องผ่านกระบวนการหลายอย่าง ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 ผู้ประกอบการของเก่าจะต้องมีใบอนุญาตขายทอดตลาดและของเก่า 1 ใบต่อ 1 ร้าน ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ในฐานะที่เป็นพาณิชยกิจตาม พ.ร.บ. ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 นอกจากนั้น ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิลยังจัดเป็นกิจการร้านรับซื้อของเก่า หรือสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 5/2538 ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนประกอบกิจการและเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราท้องถิ่นปีต่อปีตามแต่เทศบาลหรือ อบต. นั้นๆ จะกำหนด หรือที่เรียกกันในวงการว่า “ภาษีสังคมรังเกียจ” ข้อมูลจากสมาคมซาเล้งฯ ระบุว่าพิสัยที่เก็บอยู่ในอัตราปีละ 1,000-10,000 บาท

คนงานร้านธวัช รีไซเคิลนำของเก่าจำพวกโลหะลงจากหลังรถ

ธวัชเล่าว่า เรื่องภาษีเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและซาเล้งยังขาดแคลนและทำตัวไม่ถูก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดความรู้ทั้งซาเล้งและผู้ประกอบการในเรื่องระบบจัดเก็บภาษี เช่น บางครั้งที่นำของไปส่ง ตัวแทนหรือโรงงานก็มีบางแห่งที่ไม่ให้ใบกำกับภาษีตามที่ขอ ในส่วนการซื้อของจากซาเล้ง บางทีก็เกินความรู้ความสามารถของผู้ซื้อและผู้ขายที่ทำใบเสร็จภาษีจ่าย ที่ร้านของธวัชมีการจ้างบริษัทบัญชีมาจัดการเรื่องภาษีให้ แต่การจ้างก็มีต้นทุนเดือนละหลายหมื่นซึ่งร้านรับซื้อของเก่าขนาดเล็กและขนาดกลางจะแบกรับต้นทุนเช่นนี้ได้อย่างไร

“แล้วภาษีที่คุณพยายามบีบทางสรรพากรมาบีบให้เก็บกับร้านของเก่าให้ได้ อยากขออนุญาตพูดความจริงให้คุณได้รู้ ว่าให้คุณมาคลุกคลีกับเรา มาเจอต้นตอของปัญหาที่แท้จริงพร้อมกับเรา เราจะได้ร่วมกันแก้ปัญหา เรายินดีที่จะเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ความรู้และพื้นฐานเราไม่มี คุณจะทำยังไงให้เรามีความรู้พื้นฐานเพื่ออยู่ในกฎระเบียบที่คุณวางไว้ ไม่ใช่คุณมาเก็บเลย คุณจะเก็บๆ [พอ] เก็บไม่ได้แล้วคุณก็จะเก็บย้อนหลัง แต่เรามีความรู้ไหม หลายคนก็ตาสีตาสา มาจากบ้านนอก” ธวัชกล่าว พร้อมแย้มว่าทางสมาคมฯ วางแผนจะหารือกับกรมสรรพากรต่อไปในอนาคต

นอกจากความพัวพันกับการจดทะเบียนสารพัด อีกสิ่งที่แวดวงรับซื้อของเก่ามีความกังวลคือเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ต้องจ่ายจากการซื้อ-ขายขยะ ในวงจรการรับซื้อของเก่า บริษัทตัวแทนที่เป็นข้อต่อระหว่างร้านรับซื้อของเก่ากับโรงงานที่รับซื้อจะเป็นผู้จัดการเรื่อง VAT ไปในตัวหลังได้รับเงินจากทางโรงงานให้ไปจ่าย VAT แต่มีตัวแทนบางเจ้ายักยอกเงินภาษีก้อนนั้นเข้ากระเป๋าแล้วก็เงียบหายไป การไม่จ่ายภาษียังทำให้พวกเขาสามารถกำหนดราคารับซื้อสูงกว่าเจ้าที่ทำตามกติกา ทำให้กลไกราคาในวงจรของเก่าปั่นป่วน และร้านรับซื้อของเก่าก็ถูกตามตัวมารับโทษทางกฎหมายที่บางครั้งตัวเองก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ชัยยุทธิ์เล่าถึงที่มาของกลไกข้างต้นว่า เกิดจากการที่โรงงานไม่ได้เป็นผู้รับซื้อเองเพราะการจ่ายเงินของโรงงานทำเป็นแบบเครดิต 7-15 วันจะจ่ายครั้งหนึ่ง ซึ่งร้านของเก่าไม่ได้มีสายป่านยาวพอจะรอขนาดนั้น จึงเป็นตัวแทนที่มารับซื้อแทน หากเกิดเหตุการณ์ตัวแทนไม่นำส่ง VAT กว่ากรมสรรพากรจะใช้เวลาตรวจสอบก็กินเวลาไปถึงปิดงบตอนสิ้นปี กว่าจะรู้ว่ามีเรื่องมีราวก็คือตอนที่โรงงานทำเรื่องขอคืนภาษีถึงจะพบว่ามีปัญหา

เมื่อถึงเวลานั้น ตัวแทนเจ้ากรรมก็หายเงียบ กรมสรรพากรไม่มีกำลังเพียงพอจะไปตามจับ หวยจึงมาออกที่ร้านรับซื้อของเก่าที่ส่งสินค้าไปขายกับตัวแทนซึ่งสามารถสืบสาวได้จากเส้นทางการเงินที่จะโดนข้อหาสมรู้ร่วมคิด ทางสมาคมฯ จึงเห็นความสำคัญในการให้ความรู้กับร้านค้า ให้ทุกคนรู้ว่าราคาแบบไหนที่นับว่ารับซื้อแพงกว่าแบบผิดปกติ หรือให้ระวังตัวแทนที่มีประวัติน่าสงสัย

"ร้านที่กำลังทำมาหากินอยู่ดีๆ กรมสรรพากรก็เรียกเข้าไปคุยเลยว่า ไปขายเหล็กให้โรงงานxxx ผ่านตัวแทน แล้วเขาไม่เอา VAT ส่งให้กรมสรรพากร...กรมสรรพากรก็บอกว่าไปตามมาสิ เขาก็บอกว่าโทรไปแล้วเขาก็ปิดมือถือ ไปถึงออฟฟิศก็ตามแล้วก็ไม่ได้ กรมฯ ก็บอกว่าตามอยู่ แต่ต้องให้ตำรวจตามต่อไป เขาก็มีหน้าที่ต้องมาจัดการ ในเมื่อไม่มีหลักฐานชัดเจน ตามไม่ได้ ก็จะมีเรื่องออกใบกำกับภาษีปลอม ก็ต้องไปลงรายละเอียดในกฎหมายต่อไป"

"ประเด็นคือร้านเขาไม่ตั้งใจโกง ถ้าตั้งใจโกงเขาก็ปิดร้านไปแล้ว” ชัยยุทธิ์กล่าว พร้อมเสนอแนะให้โรงงานเป็นผู้จ่าย VAT กับสรรพากรเองโดยตรงจะดีกว่าเพื่อตัดกระบวนการที่เป็นปัญหานี้

ช่องว่างที่รอการเติมเต็มในวงจรรีไซเคิล

รัฐไทยทั้งองคาพยพมีความตั้งใจมากแค่ไหนกับนโยบายลดและจัดการขยะยังคงเป็นที่น่าตั้งคำถาม ข้อมูลเดือนตุลาคม 2563 จากกรมศุลกากรระบุว่า ไทยยังนำเข้าขยะพลาสติก ภายใต้พิกัดศุลกากรหมายเลข 3915 (เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติก) อยู่ถึง 8,715 ตันจาก 22 ประเทศ โดยนำเข้าจากจีนมากที่สุด เป็นมูลค่ารวม 10,038,664 บาท มูลค่าการแลกเปลี่ยนนี้เกิดขึ้นแม้ในยามที่ไทยไม่เปิดรับโควตานำเข้าพลาสติกไปตั้งแต่ 30 ก.ย. แล้ว

เช่นเดียวกันกับความสำคัญของวงการซาเล้งรับซื้อของเก่าต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม แม้มีบทบาทมากในการจัดการขยะในประเทศ แต่ก็ยังมีคำถามเรื่องข้อจำกัดด้วยกลไกราคา รายงาน Plastic Atlas ระบุว่าการใช้กลไกตลาดจัดการรีไซเคิลขยะมีปัญหาว่า เมื่อสินค้าใดไม่มีค่า หรือไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ มันก็พร้อมจะถูกละเลยจากคนเก็บขยะทันที เช่น บางพื้นที่ของประเทศไทยนั้นไม่รับขวดพลาสติก PET ผสมสี (เช่นขวดน้ำอัดลมสีเขียว) หรือกล่องนมสด เนื่องจากมีต้นทุนในการเก็บรักษา และต้องใช้เวลานานกว่าจะรวมไปขายได้

ขวดพลาสติกประเภท PET ถูกนำขึ้นชั่งตาชั่งดิจิทัล

ธารา บัวคำศรี ผอ.กรีนพีซ ประเทศไทยมองว่า การรีไซเคิลเป็นเพียงหนึ่งเสี้ยวของการแก้ปัญหาการจัดการขยะ เนื่องจากการรีไซเคิลคือการดึงเอาวัสดุเหลือใช้เข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งในกระบวนการผลิตก็ย่อมมีผลข้างเคียงจากการผลิต เช่นควันพิษหรือน้ำเสียจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม และการรีไซเคิลนั้นยังไม่สามารถย้อนให้วัสดุทุกชนิดกลับไปเป็นสารตั้งต้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในวงการการรีไซเคิลจึงมีคำว่า ‘ดาวน์ไซเคิล (Downcycle)’ หรือการรีไซเคิลที่ได้วัสดุคุณภาพต่ำลงเรื่อยๆ จนเป็นขยะที่ใช้การไม่ได้ในท้ายที่สุด พลาสติกเป็นวัสดุที่มีความถดถอยในอัตราเร็วกว่าวัสดุอื่นๆ อย่างแก้วหรืออลูมิเนียม

ธารายกตัวอย่างถุงดำ วัสดุพลาสติกที่เป็นปัญหาที่ผลิตจากโพลีเอธิลีน ซึ่งเป็นการดึงเอาพลาสติกชนิดต่างๆ มาผลิตเป็นถุงเกรดต่ำที่เมื่อใช้แล้วก็จะยุ่ยเป็นพลาสติกขนาดเล็ก หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมก็เป็นไมโครพลาสติกที่อาจไปปนเปื้อนแหล่งน้ำหรือแหล่งดิน อีกตัวอย่างคือพลาสติกประเภทพีวีซี เมื่อรีไซเคิลนั้นจะต้องมีการเข้ากระบวนการแยกคลอรีนซึ่งสร้างมลพิษ และพลาสติกชนิดนี้เมื่อรีไซเคิลปนกับพลาสติกชนิดอื่นก็จะทำให้คุณภาพพลาสติกทั้งหมดแย่ลงทันที ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ท้าทายศักยภาพในการคัดแยกและจัดเก็บของผู้นำพลาสติกมาขายทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ

"เวลาเราดูผลกระทบของการรีไซเคิล ถ้าเราชั่งน้ำหนักว่ารีไซเคิลมันจะเป็นประโยชน์มากกว่า หรือไม่รีไซเคิลอันไหนมากกว่า มันต้องดูทั้งวงจร ทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้นด้วย เพราะรีไซเคิลมันก็เป็นเสี้ยวหนึ่ง ถ้าเราออกแบบให้บรรจุภัณฑ์มันเอาไปใช้ใหม่มากขึ้น ทนทานได้มากขึ้น ใช้ซ้ำได้มากขึ้น เราก็ไม่จำเป็นต้องมีการรีไซเคิล เพราะมันคือการใช้ซ้ำ (รียูส) ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม"

"รียูสอาจมีผลกระทบต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับรีไซเคิล เพราะรีไซเคิล พอเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมก็ต้องมีน้ำเสีย ของเสีย ของเหลือใช้ที่เป็น by-product ของกระบวนการรีไซเคิลที่ต้องมีการจัดการตามมาในเรื่องการกำจัดของเสีย"

ช่องว่างที่รอการเติมเต็มในทางนโยบาย

ตั้งแต่ปี 2559 รัฐบาล คสช. มีการวางแผนงานในระดับนโยบายเกี่ยวกับการจัดการขยะเอาไว้ในฐานะวาระแห่งชาติ โดยในวันที่ 20 กันยายน 2559 ภายใต้ชื่อแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” เป็นแผนช่วงปี 2559-2560 วางอยู่บนแนวคิด 3R (Reduce/Reuse/Recycle) มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมปลอดขยะ

จากนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้บูรณาการแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยของทุกจังหวัด จัดทำเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559-2564) เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน บทบาทของซาเล้งคือการเพิ่มศักยภาพการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายโดยสนับสนุนให้จัดระบบซาเล้ง ร้านค้าของเก่าและเครือข่ายกิจกรรมรีไซเคิลชุมชนและตลาดนัดรีไซเคิลเพื่อเพิ่มทางเลือกและช่องทางในการคัดแยกขยะมูลฝอย

ชัยยุทธิ์เล่าว่าความพยายามข้างต้นยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เขาอยากจะให้ภาครัฐเอาจริงเอาจังกับนโยบาย 3R ประชารัฐมากขึ้น ถ้าจะให้ดี เบื้องต้นเขาเสนอให้มีการจดทะเบียนซาเล้งให้เหมือนที่รัฐจดทะเบียนชาวนา เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะซาเล้งมีความสำคัญมากในการนำขยะที่กระจัดกระจายอยู่มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

ธารามองว่าเป้าหมายของรัฐไทยคือต้องการลดขยะด้วยการเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เห็นได้ชัดว่าเป็นการนำขยะไปเผาเพื่อสร้างผลกำไรให้ธุรกิจของเครือข่ายทุนประชารัฐในนามการผลิตพลังงานหมุนเวียนส่งโรงไฟฟ้า เขากังวลว่าการทำพลังงานไฟฟ้าจากการเผาขยะเช่นนี้จะทำให้เกิดมลพิษไดออกซินและฝุ่น PM 2.5 ซึ่งในอนาคต การเผาขยะเพื่อการไฟฟ้าที่แพร่หลายอาจสร้างมลพิษมากหากไม่กวดขันมาตรฐานเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

“มีหลายโครงการมากที่ภายใต้ประชารัฐ จัดการขยะโดยสร้างศูนย์กำจัดขยะครบวงจร ทั้งๆ ที่จริงคือการเอาเทคโนโลยีเผาขยะแล้วดึงขยะไปเผา ผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วขายไฟฟ้าเข้าสายส่งแล้วก็ได้รายได้จากการขายไฟฟ้าด้วย กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน ซึ่งนับว่าผิดทิศผิดทางกลับหัวกลับหางมาก"

ผอ.กรีนพีซ ประเทศไทยเสนอว่าการแก้ไขความไม่เพียงพอในทางนโยบายนี้สามารถทำได้ด้วยการเสนอกฎหมายการจัดการขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ผลักดันโดยประชาชน ซึ่งก็ต้องล้อไปกับการร่างรัฐธรรมนูญโดยภาคประชาชนเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน

"รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็อาจรับรองสิทธิปัจจุบันของประชาชนไว้ระดับหนึ่ง แต่ถ้ากลไกในรัฐธรรมนูญมันรับรองสิทธิที่ประชาชนไม่ถูกกดทับมากกว่านี้ในเรื่องสิทธิสิ่งแวดล้อม เพราะโรงเผาขยะหรือการจัดการขยะไม่ใช่แค่ขยะ แต่เป็นเรื่องการจัดการทรัพยากร การวางแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปสิ่งแวดไปพร้อมๆ กัน ถ้าเรามองแยกส่วนการจัดการขยะเมื่อไหร่ จบเลย" ธารากล่าว

 

รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net