ทหารปล่อย 4 ใน 5 นักกิจกรรมและคนในหมู่บ้านชายแดนใต้ 'ผสานวัฒนธรรม' ร้องทบทวนการจับกุมขาดระบบตรวจสอบ

ทหารปล่อย 4 ใน 5 นักกิจกรรมและคนในหมู่บ้านชายแดนใต้ หลังถูกบุกคุมตัวและนำไปกักตัว 'ผสานวัฒนธรรม' ร้องปล่อยตัวทั้งหมดพร้อมทบทวนการจับกุมบุคคลและกักตัวตามอำนาจกฎอัยการศึกที่ขาดระบบตรวจสอบเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิฯ

28 ธ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ 'The Federation of Patani Students and Youth - PerMAS' ของ สหพันธ์นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนปาตานี รายงานความคืบหน้ากรณีการควบคุมตัว ฟัยซอล ดาเล็ง อายุ 30 ปี และมูฮัมหมัดเซาฟิร อาแซ อายุ 31 ปี นักกิจกรรมทางการเมือง สมาชิก (The Patani) และคนในหมู่บ้านอีก 3 คน (รวมทั้งหมด 5 คน) จาก ต.บัวทอง อ.ธารโต จ.ยะลา โดยอ้างกฎหมายพิเศษ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่มากันประมาณ 20 นาย และได้ทำการตรวจค้นบ้านและยึดโทรศัพท์มือถือคนในครอบครัว

ต่อมาเวลา 16.00 น. วันเดียวกัน PerMAS และ The Patani ได้เข้าไปพบปะพูดคุยกับ พล.ต.ฐกร เนียมรินทร์ เลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ณ ค่ายสิรินธร เพื่อสอบถามกรณีดังกล่าว โดยเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่มีการปล่อยตัวแล้ว 4 คน และคืนโทรศัพท์มือถือที่ยึดไป แต่เหลืออีก 1 คนที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าว เริ่มต้นเมื่อเวลา 05.30 เช้าตรู่ในวันที่ 28 ธ.ค.63 ปรากฏเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงชุดเฉพาะกิจ จังหวัดยะลา นำกำลังประมาณ 10 คันรถ เข้าควบคุมนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าว โดยที่ผู้ถูกควบคุมตัวก่อนหน้านี้เคลื่อนไหวในพื้นที่ ทั้งกรณี ระเบิดน้ำบูดู ที่กรุงเทพมหานคร นำไปสู่การเรียกและจับกุมนักศึกษามลายูในกรุงเทพฯหลายคนในปี 2559 อีกทั้งเป็นบุคคลที่คอยประสานกับทนายความเมื่อมีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้อยู่เสมอ จากรายละเอียดของการควบคุมตัวในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าทั้ง 5 คนตกเป็นผู้ต้องสงสัย ต่อกรณีการเผากล้อง CCTV เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวแล้ว 2 คน จากการสอบถาม ในพื้นที่การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่กลับพูดคุยเรื่องการเผากล้อง CCTV น้อยมาก เมื่อเทียบกับเหตุผลหลักในการเข้าควบคุมตัวในครั้งนี้

'ผสานวัฒนธรรม' เรียกร้องปล่อยทั้ง 5 โดยไม่มีเงื่อนไข

ก่อนหน้าที่จะมีการปล่อยตัว 4 ใน 5 ผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าว มูลนิธิผสานวัฒนาธรรม ออกข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งทบทวนการจับกุมบุคคลและกักตัวตามอำนาจกฎอัยการศึกที่ขาดระบบตรวจสอบเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิฯ

ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

วันที่ 28 ธันวาคม 2563 เวลาประมาณ 10.30 น. มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับข้อมูลว่า ฟัยซอล ดาเล็ง อายุ 30 ปี และมูฮัมหมัดเซาฟิร  อาแซ อายุ 31 ปี ทั้งสองคนมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลบ้านแหร อ.ธารโต จังหวัดยะลา ถูกจับกุมพร้อมชาวบ้านในพื้นที่จำนวน 3 คน เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจกฎอัยการศึกจับกุมตัวบุคคลทั้ง 5 คน ไปยังสถานที่กักตัวของทางทหารในพื้นที่  โดยปัจจุบันยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องสถานที่ควบคุมตัวและการเข้าถึงทนายความและญาติ

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้การจับกุมบุคคลที่ทางการต้องสงสัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง การแสดงออกทางความคิดเห็น  เจ้าหน้าที่ทหารจะใช้อำนาจกฎอัยการศึกติดตามจับกุมและกักตัวได้เป็นเวลา 7 วันโดยไม่ต้องมีหมายจับ ไม่ต้องออกหมายเรียก ไม่มีการตั้งข้อหา การกักตัวทั้ง7 วันเป็นการควบคุมตัวกันโดยเจ้าหน้าที่หน่วยเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ที่กักตัว ขาดการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกทั้งจากฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการใดใด การเยี่ยมจากญาติได้รับอนุญาตในเวลาที่จำกัดตั้งแต่วันแรก แต่การเข้าถึงทนายความนั้นต้องได้รับการอนุญาตจากแม่ทัพภาค 4  การจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม

ฟัยซอล ดาเล็ง และ มูฮัมหมัดเซาฟิร อาแซ ทั้งสองคนเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ฟัยซอลเป็นอดีตเลขานุการของประธานที่ประชุมสูงสุด (The Patani) และเป็นอดีตประธานชมรมนักศึกษามุสลิม มหาวิทยาลัยรามคำแหง  กรุงเทพมหานคร มูฮัมหมัดเซาฟิรเป็นว่าที่เลขาธิการประธานที่ประชุมสูงสุด (The Patani) และเป็นอดีตประธาน PNYS ทั้งสองคนทำงานกิจกรรมทางสังคมและช่วยเหลือชาวบ้านในการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆกรณีทั้งในขณะที่เรียนที่กรุงเทพและที่ภูมิลำเนาของตน  ปัจจุบันมีความมุ่งมั่นในการทำงานด้านกิจกรรมทางการเมืองในนาม The Patani เป็นการรวมกลุ่มของอดีตนักกิจกรรมนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ เพื่อทำงานด้านสันติภาพปาตานี ที่ใช้แนวทางการเมืองสื่อสารต่อรองประเด็นกำหนดชะตากรรมของตนเอง เช่น การรณรงค์การต่อสู้ทางการเมือง การออกมาแสดงออกถึงความต้องการของประชาชน  งานนโยบายแลกเปลี่ยนกับกลไกรัฐระดับต่างๆ รวมทั้งการผลักดันวัฒนธรรมการเมืองใหม่ในพื้นที่ปาตานี เป็นต้น โดยมีโครงสร้างที่เรียกว่า ที่ประชุมสูงสุด

ฟัยซอลและมูฮัมหมัดเซาฟิร เป็นบุคคลกรที่สำคัญของหน่วยงานด้านการเมืองของปาตานี การจับกุมบุคคลทั้งสองพร้อมกับชาวบ้านอีกสามคนในเวลาที่การรณรงค์ให้มีการปฏิรูปทางการเมืองของไทยและการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งของอดีตนักศึกษาจากปาตานี ส่งผลให้การสื่อสารด้านนโยบายของภาครัฐถูกตั้งคำถามว่าอาจเป็นความพยายามในการทำลายการทำงานด้านกิจกรรมทางการเมืองอย่างเปิดเผยหรือไม่  การสร้างความหวาดกลัวให้กับการเมืองภาคประชาชนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเยาวชนในพื้นที่ปาตานีหรือไม่

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงโดยเฉพาะกอรมน. ให้ทบทวนการจับกุมบุคคลและกักตัวตามอำนาจกฎอัยการศึก ซึ่งขาดระบบตรวจสอบเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานและและสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลทั้งห้าโดยไม่มีเงื่อนไข  หากมีข้อหาหรือพบว่าบุคคลต้องสงสัยในการกระทำความผิดทางอาญาให้ดำเนินการด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้ทำลายบรรยากาศทางการเมือง หลักการในระบอบประชาธิปไตย และความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศตามหลักนิติธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท