Skip to main content
sharethis

ประชาไทเลือก ‘ทิวากร วิถีตน’ ผู้ส่งเสียงกระซิบทะลุฟ้าเป็นบุคคลแห่งปี 2020 ด้วยว่าเป็นปฏิบัติการแรกๆ และเป็นประกายไฟอันหนึ่งที่ทำให้เกิดผลสะเทือนต่อโฉมหน้าการเมืองไทยพอสมควร บวกกับการที่เขาอาจถูกลืมเลือนไปแล้วท่ามกลางกระแสทะลุเพดานที่พุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว 

ปี 2020 ถือเป็นปีที่มีเรื่องราวสำคัญมากมาย โดยเฉพาะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ทั่วโลก ประเทศไทยเองก็มีผู้ได้รับผลกระทบมากมาย อีกปรากฏการณ์สำคัญคือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำโดยกลุ่มเยาวชน เริ่มต้นตั้งแต่การยุบพรรคอนาคตใหม่ในช่วงต้นปี ก่อนที่จะลดการเคลื่อนไหวช่วงระบาดของโควิด แล้วกลับมาอีกครั้งอย่างต่อเนื่องหลังการอุ้มหาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในช่วงเดือน มิ.ย. การเคลื่อนไหวครั้งนี้สร้างปรากฏการณ์สำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย นั่นคือ ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาในพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ

ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เกิดดาวเด่นจำนวนมากทั้งแกนนำ ดาวปราศรัย กลุ่มที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ อันหลากหลาย แม้กระทั่งผู้ชุมนุมเองก็มีบทบาทไม่น้อยเพราะแม้แกนนำจะถูกจับกุมคุมขังเท่าใดแต่การเคลื่อนไหวก็ยังดำเนินต่อเนื่องได้ไม่หยุดหย่อน

อย่างไรก็ตาม บุคคลหนึ่งที่อาจถูกลืมเลือนไปท่ามกลางกระแสการต่อสู้ที่ใหญ่ขึ้นและแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ‘ทิวากร วิถีตน’ ชายวัย 45 ปี ผู้สวมเสื้อสกรีนข้อความว่า 'เราหมดศรัทธา​สถาบันกษัตริย์​แล้ว'​ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2563 พร้อมโพสต์ภาพดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กของตนเองในชื่อ “Tiwagorn Withiton” นับได้ว่าเขาเป็นบุคคลแรกๆ ที่พูดถึงสถาบันอย่างตรงไปตรงมาหลังจากที่สังคมไทยถูกรัฐประหาร คสช.กดการแสดงออกอย่างหนักมายาวนานหลายปี 

เขายังอธิบายความหมายและเหตุผลของประโยคนี้ไว้ด้วยว่า ‘หมดศรัทธา’ ไม่ได้แปลว่า ‘ล้มเจ้า’ และใช้ภาพดังกล่าวเป็นภาพโปรไฟล์ โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นอย่างหลากหลายกว่า 4,000 ความเห็น มีทั้งที่ด่าทอ ไล่ให้ออกนอกประเทศ มีทั้งที่เข้าใจในเหตุผล แลกเปลี่ยนความเห็น ให้กำลังใจ หรือแสดงความเป็นห่วงว่าจะถูกดำเนินคดี-อุ้มหาย รวมทั้งผู้ที่เข้าไปข่มขู่คุกคามเจ้าของโพสต์หรือผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็นคนอื่นๆ ฯลฯ

หลังเริ่มปฏิบัติการ มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมาพบเขาถึงบ้าน และคุมตัวไปยังโรงพยาบาลจิตเวช จากนั้นเกิดกระแสเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาจนแฮชแท็ค #saveทิวากร ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย ยอดทวีตกว่า 2 แสนครั้ง เมื่อเวลา 0.00 น.ของวันที่ 22 ก.ค.63 หลังมีผู้นำภาพทิวากรขณะอยู่ที่โรงพยาบาล​จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ออกเผยแพร่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักกิจกรรมไปประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาที่หน้าโรงพยาบาลอีกด้วย

ด้วยว่านี่เป็นปฏิบัติการของคนธรรมดา เป็นก้าวย่างแรกๆ ท่ามกลางความหวาดกลัวของสังคมโดยรวม ประกอบกับการที่เขาอาจถูกลืมเลือนไปอย่างรวดเร็วท่ามกลางกระแสทะลุฝ้าเพดานที่ผู้คนเริ่มคุ้นชินกันมากขึ้นแล้ว ประชาไทจึงเลือก ‘ทิวากร วิถีตน’ เป็นบุคคลแห่งปี 2020 ในโอกาสนี้เราจึงขอสนทนากับเขาอีกครั้งถึงแรงจูงใจ ผลกระทบและความคาดหวังต่อวันข้างหน้า

0000

ทิวากร วิถีตน ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

หลังจากที่ใส่เสื้อเราหมดศรัทธาฯ แล้วโพสต์ภาพลงเฟซบุ๊ก เกิดอะไรขึ้นกับคุณทิวากรบ้าง?

อันดับแรกก็ทัวร์ลงครับ มีคนที่รักและศรัทธาสถาบันกษัตริย์เข้ามาที่เฟซบุ๊กผมเต็มไปหมด เข้ามาด่าอย่างหยาบคาย เข้ามาสาปแช่งผมต่างๆ นานา ไล่ผมให้ไปอยู่ประเทศอื่นบ้าง เข้ามาข่มขู่ผมในทุกรูปแบบ

ที่รุนแรงมากๆ คืออะไร ?

ขู่ทำร้ายร่างกาย ตีความได้ว่าอยากทำให้ผมถึงขั้นเสียชีวิตครับ ผมก็ตอบพวกเขาไปด้วยเหตุผล อย่างสุภาพ

ตอบไปว่าอย่างไร?

เหตุผลที่ว่า ผมแค่หมดศรัทธา ไม่ได้คิดล้มเจ้า สาเหตุที่ผมใส่เสื้อก็เพื่อให้สถาบันกษัตริย์และคนทั่วไปรู้ว่าผมหมดศรัทธา ถือว่าเป็นการแสดงออกตามหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน แล้วผมก็แนะนำว่าถ้าสถาบันกษัตริย์อยากให้ผมและคนไทยคนอื่นๆ หันกลับมาศรัทธาก็ต้องปรับปรุงตัวเองครับ

แล้วก็แนะนำด้วยว่า การไปทำร้ายคนที่หมดศรัทธา มันจะยิ่งเป็นผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์มากยิ่งขึ้น ไม่ได้ช่วยให้คนหันกลับมาศรัทธาแต่อย่างใด

ทัวร์ลงหลายวันไหม คุณมีความเครียดไหม โกรธ กลัวจะถูกรังเกียจหรือถูกทำร้ายไหม?

ผมไม่แน่ใจว่ากี่วันนะครับ

ผมไม่เครียด ไม่โกรธ ไม่กลัวถูกรังเกียจ และไม่กลัวจะถูกทำร้ายเลยครับ เหตุผลคือ ผมรู้ตัวเองว่าผมใส่เสื้อด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ ไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อใครเลย แล้วคำว่า "หมดศรัทธา" มันก็ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น ไม่ได้เป็นการด่าหยาบคาย และไม่ได้เป็นการอาฆาตมาดร้ายใดๆ เลยครับ

แล้วจุดมุ่งหมายในการใส่เสื้อเราหมดศรัทธาฯ ก็เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนที่ยังศรัทธา กับคนที่หมดศรัทธา/ไม่ศรัทธา ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติครับ

การเคลื่อนไหวของคุณก่อให้เกิดกระแสการพูดถึงทั้งในทางบวกและลบอย่างมาก มีทีมงานที่ช่วยกันกี่คน?

ไอเดียการใส่เสื้อเราหมดศรัทธาฯ เกิดขึ้นตอนที่สมาชิกของกลุ่มตลาดหลวง "รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส" ของ อ.​ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ได้ตั้งกระทู้หนึ่งประมาณว่า แทนที่จะเอาแต่เล่นเฟซบุ๊กหรือ social media ในโลกออนไลน์ เราน่าจะมีรูปแบบการต่อสู้ที่เป็นรูปธรรม แล้วเขาก็ให้สมาชิกคนอื่นๆ เสนอไอเดียเข้าไป ผมก็คิดไอเดียเสื้อยืดคำว่า "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว" ขึ้นมาได้ แต่สมาชิกคนอื่นแทบจะไม่มีใครเอาด้วย เพราะมันเสี่ยงและตรงเกินไปครับ

มีคนที่เอาด้วยบ้างไหม ให้การสนับสนุน?

จำได้ว่าแทบไม่มีครับ แต่ผมว่าไอเดียนี้มันใช่เลย ผมก็เลยไปตั้งอีกกระทู้หนึ่งเพื่อประกาศหาคนที่รับทำเสื้อเราหมดศรัทธาฯนี้ เพื่อผมจะซื้อมาใส่

แล้วมีคนรับทำให้ไหมครับ?

มีอยู่ 2 รายครับ แต่ผมเลือกรายที่ทำตาม concept ที่ผมตั้งไว้ นั่นคือ ต้องไม่ผลิตเสื้อยืดทางการเมืองแบบอื่นเลย ผลิตให้ผมรายเดียวเท่านั้น

ภาพข้อความเสื้อดังกล่าว

สรุปว่ากิจกรรมนี้เกิดจากคนแค่สองคน?

คนที่รับทำเสื้อให้ผม ไม่ใช่ทีมงานครับ ผมก็ไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว เขาบอกว่าเขาชอบข้อความนี้ เขาเลยอยากทำเสื้อให้ผม เขาก็อยากใส่เองแต่ไม่กล้าใส่ เขาจึงทำเสื้อให้ผมใส่แทน

สองคน สามารถสร้างกระแสได้มากขนาดนี้?

จริงๆ แล้ว ก่อนที่ผมจะใส่เสื้อแล้วโพสต์รูปขึ้นเฟซบุ๊ก ผมได้ทำลายหลักฐานทั้งหมดที่จะเชื่อมโยงไปถึงคนที่ทำเสื้อให้ผมเพื่อความปลอดภัยของเขา ตอนที่ผมโดนจับเข้าไป ร.พ.จิตเวช เขาและครอบครัวเกิดความหวาดกลัวมาก ถึงขั้นบล็อคเฟซบุ๊กผม แต่ผมก็ไม่อยากให้เขาเดือดร้อน ตอนหลังผมติดต่อเขาไป เขาก็ขอโทษผมที่เขาไม่กล้า

คุณโดนจับได้อย่างไร?

ก่อนที่ผมจะโดนจับ ผมประกาศทาง facebook เชิญชวนให้คนผลิตเสื้อยีด "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว" ออกมาขายเพื่อให้คนใส่ทั่วประเทศ โดยคืนที่ผมจะโดนจับ ผมไปโต้เถียงกับคนที่ผลิตเสื้อยืด "พี่รู้พี่มันเลว" ผมหาว่าข้อความของเขามันเข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะศาลสามารถตีความให้ผิด ม.112 ดูหมิ่นกษัตริย์ได้ แต่ข้อความ "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว" ของผมนั้นมันไม่ผิดกฎหมายอะไรเลย แล้วก็ไม่เป็นการดูหมิ่น ไม่ได้ด่าหยาบคาย และไม่ได้อาฆาตมาดร้ายใดๆ แถมผมยังท้าเขาด้วยว่า งั้นก็มาแข่งกันว่า ใครจะขายเสื้อได้มากกว่ากัน

ไหนว่าจะไม่ขาย ใส่คนเดียว?

ผมไม่ได้ขายเองครับ ผมเชียร์ให้คนอื่นผลิตออกมาขายครับ จริงๆ ที่ท้าคือประมาณว่า คนจะซื้อเสื้อไหนมากกว่ากัน ไม่ได้แข่งกันที่ยอดขาย แต่แข่งที่ความนิยมของเสื้อ

พอหลังเที่ยงวันต่อมาก็มีเจ้าหน้าที่จิตแพทย์จากโรงพยาบาลจิตเวชจำนวน 6 คน เดินทางมาหาผมที่บ้าน และพูดคุยกับเป็นเวลาสั้นๆ น่าจะราวๆ 15-20 นาที

เล่าเรื่องการถูกจับกุมหน่อย?

พอเจ้าหน้าที่จิตแพทย์คุยกับผมเสร็จก็กลับไปครับ ในช่วงบ่ายถึงเย็น ผมก็ทำงานบ้าน ซักผ้า ดูดฝุ่น เอาที่นอนมาตาก ราวๆ ใกล้มืด เจ้าหน้าที่จิตแพทย์ก็มาอีกรอบ คราวนี้มีเจ้าหน้าที่ที่คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาด้วย ผมปฏิเสธไม่ยอมรับการจับกุม มีเจ้าหน้าที่จำนวน 6 คน เข้ามาจับตัวผม หลังจากถูกนำตัวขึ้นรถ เจ้าหน้าที่ได้ใช้ผ้ามัดมือของผม และฉีดยาเข้าที่ต้นแขนทั้งสองข้างของผม ระหว่างการนำตัวไปที่ รพ.

คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้ โรงพยาบาลปล่อยตัวคุณออกมา?

น่าจะเป็นเพราะข่าวของผมเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไปอย่างล้นหลาม จากการออกข่าวที่เป็นข่าวการเมืองในอินเตอร์เน็ตในทุกช่องทาง จนเกิดกระแส #saveทิวากร นอกจากข่าวในประเทศแล้ว ยังมีข่าวผมในสื่อต่างประเทศหลายสำนักด้วย

นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา กดดันให้ปล่อยตัวผมออกจากโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งมีการไปเรียกร้องที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นในวันที่ 17 ก.ค.63 วันต่อมา 18 ก.ค. 63 ก็มีการชุมนุมครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ผมคิดว่า ทางฝ่ายรัฐบาลประเมินแล้วว่า การที่ยังควบคุมตัวผมไว้ในโรงพยาบาลจิตเวช มันจะยิ่งทำให้ม็อบขยายตัวอย่างรวดเร็ว และกระแสข่าวจะยิ่งโด่งดังไปทั่วโลกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวของผมมันกำลังจะลามไปที่สื่อกระแสหลัก เช่น ฟรีทีวี และหนังสือพิมพ์

แล้วในช่วงก่อนที่ผมจะได้ออกจากโรงพยาบาลจิตเวชเพียง 1 วัน มันก็มีภาพหลุดของผมซึ่งเข้าข่ายว่าโรงพยาบาลจิตเวชละเมิดสิทธิผู้ป่วย ผมเชื่อว่าอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนต้องการช่วยให้ผมออกจากโรงพยาบาลจิตเวช จึงจงใจปล่อยรูปหลุดนี้แล้วส่งให้ อ.ปวิน

แล้วจากการที่ฝ่ายรัฐบาลทราบความคิดผมว่า ผมมีความต้องการที่จะลดกระแสของนักศึกษาเพื่อไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรงซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 โดยที่ผมออกมาจากโรงพยาบาลแล้ว ผมจะไม่มานำม็อบอย่างแน่นอน ดังนั้นพวกเขาจึงหมดความระแวงในตัวผม ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลก็ปล่อยตัวผมออกมา

แล้วยังมีการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทาง รพ.อีกไหม?

ตอนหลังออกจากโรงพยาบาลจิตเวชใหม่ๆ ก็มีการนัดกับแม่ผมว่าจะมาเยี่ยมผม ตามรอบการรักษาหลังออกจากโรงพยาบาล แต่ก็ยกเลิกไป หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลจิตเวช มาหาผมด้วยรถส่วนตัวจำนวน 3 ครั้ง ดังนี้ครับ

ครั้งแรก: หลังออกจากโรงพยาบาลได้ 2 อาทิตย์ก็มี ผอ.โรงพยาบาลแล้วก็พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ 2 คน มาหาผมด้วยรถส่วนตัว 

ครั้งที่ 2: วันที่ 5 พ.ย.63 ได้มีพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ 2 ท่านที่เคยมาในครั้งแรก มาหาผมโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า ซึ่งผมไม่อยู่บ้านเพราะไปโรงพยาบาล โดยบอกว่ามาเอาพันธุ์หญ้าเนเปียไปปลูกที่ศูนย์ดอนดู่ ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาตั้งใจมาเอาหญ้าเนเปียจริงๆ หรือมาเพราะได้รับคำสั่ง เพราะช่วงนั้นผมเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวทาง facebook อีกครั้ง

ครั้งที่ 3: วันพุธที่ 18 พ.ย.​63 ได้มีพยาบาลวิชาชีพ 2 คนเดิมนัดหมายล่วงหน้าเพื่อมาเอาพันธุ์หญ้าเนเปีย แต่เอาไปจำนวนน้อยมากจนผิดสังเกต อาจจะมาเยี่ยมผมจริงๆ หรือได้รับคำสั่งให้มาผมก็ไม่อาจทราบได้ เพราะช่วงก่อนหน้านั้นราวหนึ่งสัปดาห์ผมรู้สึกว่าสภาพจิตใจผมดีขึ้นเต็ม 100% แล้ว ผมก็เลยหวนกับมาเคลื่อนไหวเฟซบุ๊กอย่างเข้มข้นอีกครั้ง

เอาใจเรารึเปล่า?

ในการมาครั้งแรก เขาน่าจะมาขอบคุณผมมากกว่าครับ เพราะ ผอ.โรงพยาบาลจิตเวช เอ่ยปากขอบคุณผมด้วย ผมเดาว่าน่าจะขอบคุณเรื่องที่ผมไม่เอาเรื่องโรงพยาบาลที่จับผมเข้าโรงพยาบาลจิตเวชโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายครับ

แล้วทุกวันนี้ตำรวจทหารมาที่บ้านบ้างไหม?

หลังออกจากโรงพยาบาลจิตเวช ตำรวจมาหาผม 2 ครั้งครับ

ครั้งแรก: วันที่ 19 พ.ย.63 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 2 นาย (ไม่ทราบสังกัด) มาหาผมช่วงบ่าย แต่ผมไม่อยู่บ้าน เพราะไปทำงานที่ไร่ ในตอนเช้าในวันเดียวกันนั้นแม่ผมมาบอกผมว่าหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ผมเลยบอกแม่ว่า ผมจะหยุดเคลื่อนไหวผ่าน facebook โดยจะเล่นวันนี้ (19 พ.ย.63) เป็นวันสุดท้าย

ครั้งที่ 2: 13 ธ.ค.63 ตำรวจ สภ.ท่าพระ 2 นาย มาหาผมที่บ้าน แต่ผมไม่ได้อยู่บ้าน ไปทำงานที่ไร่ พี่ชายผมเลยคุยแทน จับใจความได้ว่า ตำรวจกลัวว่าผมจะใส่เสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” รับเสด็จพระเทพฯ ที่จะเดินทางมาพระราชทานปริญญาบัตรที่ม.​ขอนแก่น ในช่วงนั้นพอดี

แล้วเขามาทำไม?

คงอยากให้ผมรู้สึกกลัวมั้งครับ อ้อ ไม่ใช่ผมสิ เขาคงอยากให้ครอบครัวผมรู้สึกกลัวครับ

เขาข่มขู่แม่หรือคนที่บ้านไหม?

เขาไม่ได้ขู่ครับ แค่ตำรวจมาถามหาผมที่บ้าน พ่อแม่ผมก็กลัวแล้วครับ

คุณไม่กลัว?

ผมไม่กลัวครับ ผมเตรียมใจไว้แล้ว

เตรียมใจไว้แค่ไหน?

ตอนแรกเตรียมใจแค่ติดคุก แต่ตอนหลังเตรียมใจถึงขั้นโดนอุ้มไปทรมานหรือไปฆ่า เพียงเพราะผมพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา

คือช่วงที่ประยุทธ์ประกาศว่าจะใช้ ม.112 หลังจากที่มีคนพ่นสีเกี่ยวกับราชินีสิริกิติ์ เพื่อนในเฟซบุ๊กคนหนึ่งอ้างว่าเคยเป็นทหาร เขาโทร messenger มาหาผม บอกผมว่า ฝ่ายปกครองจะใช้ยุทธการสะเด็ดน้ำ แล้วผมก็อยู่ในรายชื่อที่จะโดนกำจัดทิ้งล้านเปอร์เซ็นต์ ตอนแรกผมถึงขั้นตัดสินใจลี้ภัยด่วน เพราะเตรียมใจไว้แค่ติดคุกเท่านั้น ไม่ได้เตรียมให้โดนฆ่า สุดท้ายผมก็ทำใจที่จะโดนอุ้มฆ่าได้ ผมจึงเลิกล้มแผนการลี้ภัยไปครับ

ทำไมถึงไม่อยากลี้ภัย?

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ผมรู้สึกว่าผมจะลี้ภัยไม่สำเร็จครับ คิดว่าคงตายระหว่างลี้ภัยแน่ๆ

ไม่กลัวตายเหรอ?

ตอนหลังผมมานึกได้ว่า ผมเป็นคนเริ่มม็อบ ถ้ามีคนต้องตาย ผมควรต้องตายคนแรก ตายก่อนนักศึกษาและคนอื่นๆ

แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไร?

ก็มีตำรวจมาหาผมที่บ้าน 2 ครั้ง ที่บอกไปก่อนหน้านี้ครับ นอกนั้นก็ยังไม่มีอะไรครับ แต่ผมก็แอบสงสัยว่า เพื่อนเฟซบุ๊กที่มาบอกผมว่าผมอยู่ในรายชื่อที่จะถูกฆ่า อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่แทรกซึมเข้ามาตั้งแต่แรก เพราะผมสังเกตว่าเขาจะชวนคนอื่นให้ใช้ความรุนแรงตลอด

ล่าสุดเมื่อ 1 อาทิตย์ที่แล้ว เขาทำทีชวนผมเข้าร่วมขบวนการโค่นล้มสถาบันซึ่งผมมองว่า เขาอาจต้องการหลอกให้ผมไปติดกับ เพราะถ้าผมคิดและวางแผนล้มเจ้าแบบนั้นเมื่อไหร่ มันก็จะเป็นเหตุให้ฝ่ายรัฐบาลเผด็จการยัดคดีให้ผมและกำจัดผมได้ครับ 

คือถ้าผมไม่ใช่คนเริ่ม คนอื่นๆ ก็คงไม่ต้องมาเสี่ยงเพื่อผมขนาดนี้ ในความเป็นจริงคือ ผมรอดตายมาได้ เพราะได้นักศึกษาช่วยไว้ครับ

นักศึกษาพวกไหน?

ก็เริ่มมาตั้งแต่ เพนกวิน ครูใหญ่ นักศึกษา ม.ขอนแก่น, ม.สารคามจำนวนไม่ต่ำกว่า 3 คนที่ไปประท้วงและอ่านจดหมายที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น และนักศึกษาอีกจำนวนหลายสิบคนที่ไปชูป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่หน้าโรงพยาบาลจิตเวช เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 63 รวมถึงแนวร่วมนักศึกษาคนอื่นๆ รวมทั้งรุ้ง ไมค์ ด้วยครับ

จริงๆ ผมมารู้หลังจากที่ผมออกจากโรงพยาบาลจิตเวชว่า ในช่วงที่ผมติดอยู่ในโรงพยาบาล มันมีแถลงการณ์ของกลุ่มนักศึกษาจากมหาลัยทั่วประเทศร่วมกันแถลงการณ์ให้ปล่อยตัวผม ผมก็จำไม่ได้ว่ามีมหาวิทยาลัยอะไรบ้าง และไม่รู้ละเอียดถึงขั้นว่ามีนักศึกษาคนไหนบ้าง

แล้วทุกวันนี้คุณทำอะไรอยู่?

ทุกวันนี้ผมยังอยู่บ้านแม่ครับ ผมตั้งใจว่าจะเคลียร์งานเกษตรที่ยังค้างคาอยู่ให้เสร็จก่อน ก่อนที่ผมจะเข้า กทม.ครับ เพื่อไปเคลียร์งานบางอย่างแล้วก็จะหางานเพื่อหาเงินต่อไปครับ

คุณคิดยังไงเกี่ยวกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เป็นไปได้ไหม แรงหรือเบาไปไหม?

ผมคิดว่า เป็นข้อเสนอที่ดีมาก ถ้าสถาบันกษัตริย์ปฏิรูปได้ครบ 10 ข้อจะทำให้สถาบันกษัตริย์มีความสง่างาม มีคุณค่า และจะทำให้คนหันกลับมาศรัทธาสถาบันกษัตริย์ครับ ทำให้สถาบันสามารถที่จะคงอยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าไม่ปฏิรูปใน 10 ข้อนี้ ผมมองว่า จะทำให้สถาบันเสื่อมหนักขึ้นเรื่อยๆ 

ผมมองว่า 10 ข้อนี่เป็นขั้นต่ำ เป็นแบบกว้างๆ แล้วนะครับ ถามว่าเป็นไปได้ไหมก็คงต้องขึ้นอยู่กับสถาบันกษัตริย์ครับว่าจะยอมปฏิรูปตัวเองหรือเปล่า การยอมปฏิรูปใน 10 ข้อนี้เป็นการยอมเสียสถานะและอำนาจบ้างเพื่อให้ได้คงอยู่อย่างมั่นคง

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น อะไรคือจุดที่ทำให้คุณตัดสินใจเคลื่อนไหวโดยการใส่เสื้อเราหมดศรัทธา?

ผมทนไม่ได้ที่วันเฉลิม (สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ - ผู้ลี้ภัยทางการเมือง) โดนอุ้มครับ ผมมองว่าถ้าอุ้มวันเฉลิมได้ก็จะอุ้มใครก็ได้ รวมถึงผมด้วยครับ จึงตัดสินใจออกมาสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นครับ

การใส่เสื้อเราหมดศรัทธาฯ เป็นเพียงแนวทางการต่อสู้หนึ่งที่ผมคิดได้หลังจากที่ผมตัดสินใจสู้แล้วเท่านั้นครับ จริงๆ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันผมเคยคิดจะทำห้องสมุด 112 ด้วยครับ แต่ก็ไม่ได้ทำครับ เพราะมันยากที่จะสำเร็จได้

ปีหน้า นอกจากจะทำงานหาเงินเลี้ยงชีพแล้ว คุณคิดว่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นและรูปแบบไหนต่อไหม?

จริงๆ ผมคิดว่า ตราบใดที่ฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่ชนะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ สภาพบ้านเมืองคงไม่เหมาะที่จะให้ผมไป make money ได้ครับ ทุกวันนี้นอกจากเคลียร์งานเกษตรแล้ว ผมยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊กเพื่อนำเสนอแนวคิดและทางออกให้กับประเทศไทยในแนวทางสันติ ซึ่งถือเป็น first priority (ความสำคัญลำดับแรก) ที่มาก่อนงานเกษตรเสียอีกครับ เพราะมันหมายถึงความเป็นความตายของผม แบบว่าถ้านักศึกษาชนะผมก็ชนะด้วย แต่ถ้านักศึกษาแพ้ผมก็โดนฝ่ายเผด็จการเอาตายครับ

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนทำงานเคลื่อนไหวเพียงคนเดียว สามารถเคลื่อนไหวส่งผลสะเทือนต่อสังคมในแบบที่คุณทำได้?

ข้อดีของการเคลื่อนไหวคนเดียวคือ

1. มีอิสระที่จะเสนออะไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องถามความเห็นคนอื่น

2. การเคลื่อนไหวคนเดียว เมื่อถูกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจะไม่ส่งผลกระทบกับขบวนประชาธิปไตยในส่วนอื่น

3. การเคลื่อนไหวคนเดียวจะทำให้ฝ่ายรัฐเกิดความรู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะเสียเวลาและกำลังพลมาจัดการกับคนๆ เดียว ต่างกับการกวาดล้างขบวนการประชาธิปไตยที่จับคนใดคนหนึ่งก่อน แล้วขยายผลไปจับคนอื่นเพิ่มเติม

สำหรับข้อเสียในตัวมันเองไม่มีครับ ผมถือว่าแนวทางการต่อสู้แบบโดดเดี่ยวตัวเองเป็นการอุดช่องโหว่ของแนวทางการต่อสู้แบบขบวนการ หรือแบบการชุมนุมทางการเมืองครับ ผมสามารถเสนออะไรที่มันอยู่นอกกรอบได้ โดยไม่กระทบกับขบวนการประชาธิปไตยส่วนอื่นแต่อย่างใดครับ

ย้อนดูคำอธิบายต่อคำว่า “หมดศรัทธา”

สำหรับคำอธิบายต่อคำว่า “หมดศรัทธา” และการแสดงออกครั้งนั้นของทิวากรโพสต์ไว้ว่า

“หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า”

“หมดศรัทธา” มันคือความรู้สึกที่อยู่ในใจ ที่มีต่ออะไรสักอย่าง ในทำนองเดียวกับ “หมดรัก”, “หมดเยื่อใย”, “หมดใจ”, “หมดความไว้ใจ” มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคน สามารถพูดและแสดงออกมาได้ ตราบใดที่คนที่พูดและแสดงออกไม่ได้ไปทำความเสียหายให้กับทรัพย์สิน ไม่ได้ไปทำร้ายร่างกายคนที่ยังศรัทธา และไม่ได้ทำผิดกฎหมายอย่างอื่น

ในกรณีที่ ถ้าหากว่าสิ่งนั้น/คนนั้น(ที่ถูกศรัทธา) และคนที่ยังศรัทธา เกิดความขุ่นเคือง จนถึงขั้นไปทำร้ายคนที่พูดและแสดงออก ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะนอกจากมันจะไม่ช่วยทำอะไรให้ดีขึ้นแล้ว มันยังไม่ได้ช่วยทำให้คนหันกลับมาศรัทธาดังเดิมได้ และมันจะยิ่งทำให้สิ่งนั้น/คนนั้น เสียหายมากขึ้นไปอีก

ถ้าอยากให้คนกลับมาศรัทธาดังเดิม มันมีทางเดียวเท่านั้น คือ

สิ่งนั้น/คนนั้น(ที่ถูกศรัทธา) ต้องปรับปรุงตัวเอง อาจจะถามคนที่ “หมดศรัทธา” ตรงๆ เลยก็ได้ว่า ทำไมถึง “หมดศรัทธา” ต้องให้ปรับปรุงตรงไหนบ้าง ให้บอกมา ถ้าได้รู้แล้วว่าต้องปรับปรุงตัวเองตรงจุดไหนบ้าง ก็ถามตัวเองว่า จะแก้ไข หรือไม่แก้ไขแล้วปล่อยให้คน “หมดศรัทธา” ต่อไป

และสิ่งนั้น/คนนั้น(ที่ถูกศรัทธา) ต้องจำไว้ในใจให้จงหนักว่า เมื่อเขา “หมดศรัทธา” แล้ว ไม่มีทางที่จะทำให้เขากลับมาศรัทธา ด้วยวิธีการบังคับโดยใช้กำลังและความรุนแรง ได้โดยเด็ดขาด

ในส่วนของผู้ที่ยังศรัทธา หากอยากช่วยให้คนกลับมาศรัทธาดังเดิม มีวิธีที่สามารถทำได้ ดังนี้
1. สำรวจ ตรวจสอบ หาข้อมูลความจริงให้ถ่องแท้ ว่า ทำไมคนถึง “หมดศรัทธา” ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี
1.1 สำรวจตรวจตราด้วยตัวเอง โดยค้นคว้าหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต
1.2 เข้าไปถามคนที่ “หมดศรัทธา” ตรงๆ ว่าทำไมถึง “หมดศรัทธา”
2. เมื่อได้สาเหตุของการ “หมดศรัทธา” แล้ว ก็ไปช่วยปรับปรุง สิ่งนั้น/คนนั้น (ที่ถูกศรัทธา) ให้ดีขึ้น จนทำให้ผู้ที่ “หมดศรัทธา” หันกลับมาศรัทธาใหม่อีกครั้ง

แล้วก็ให้เน้นย้ำกับตัวเองอยู่ตลอดว่า คุณไม่มีทางที่จะทำให้คนที่ “หมดศรัทธา” กลับมาศรัทธา ด้วยวิธีการบังคับโดยใช้กำลังและความรุนแรงได้ ถ้าหากคุณไปทำร้าย ข่มขู่คนที่ “หมดศรัทธา” มันจะยิ่งเป็นผลเสียหายต่อ สิ่งนั้น/คนนั้น ที่คุณศรัทธาอยู่

ป.ล.
1. เสื้อตัวนี้ ผมสั่งทำพิเศษนะครับ ตั้งใจซื้อมาใส่เอง เป็นการเฉพาะ เพื่อแสดงออกเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะกระจาย หรือทำขาย แต่อย่างใดครับ
2. ถ้าหากสหายท่านใดอยากได้เสื้อที่มีข้อความนี้ ท่านต้องทำใส่เองนะครับ

แคนดิเดทคนอื่นๆ

นอกจากทิวากรแล้ว ในกระบวนการเสนอชื่อแคนดิเดทบุคคลแห่งปีของประชาไท ยังมีรายชื่ออื่นอีก ตัวอย่าง

  • อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง “แฮรี่พอตเตอร์ผู้ร่ายมนต์ขยับเพดาน” ผู้มีบทบาทในการพูดในการชุมนุมแฮรี่ พ็อตเตอร์ของเขา เป็นจุดเริ่มต้นของการยกเพดานในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ จนนำมาสู่การข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อมา
  • ‘ราษฎร’ ผู้ไม่มีแกนนำ ทุกคน ทุกกลุ่มที่มาร่วมชุมนุม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย 3 ข้อเรียกร้องหลัก รวมถึงประเด็นอื่นๆ ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ สิทธิความหลากหลายทางเพศ สิทธิพนักงานบริการ ฯลฯ
  • ‘iLaw’ สายลมแห่งความหวังดี ผู้ไม่ยอมเป็นพายุ กลุ่มผู้ริเริ่มที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขของภาคประชาชน ผ่านการเพียรพยายามล่ารายชื่อประชาชนมา 98,824 ชื่อ แต่กลับไม่ผ่านด่านรัฐสภา
  • คณากร เพียรชนะ 'เสียงเงียบของไม้ขีดไฟ' ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลาที่เคยก่อเหตุยิงตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัสในห้องพิจารณาคดี ที่ศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ปี 2562 หลังจากออกมาร้องเรียนและกล่าวหาบุคคลในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 9 ว่ามีพฤติกรรมแทรกแซงคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาวันที่ 7 มี.ค.63 เขาถูกระบุว่ายิงตัวเองซ้ำอีกครั้งจนเสียชีวิต
  • 'นักเรียนเลว' กองหนุนของการขยับเพดาน การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีนี้ไม่ใช่แค่เยาวชนที่เป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่มีบทบาท หากแต่กลุ่มนักเรียนที่รวมตัวกันในชื่อ 'นักเรียนเลว' ก็มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะการเรียกร้องปฏิรูปการศึกษา แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิในสถาบันการศึกษา รวมถึงยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง ด้วย

นอกจากนี้ยังมีชื่อ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เอกชัย หงส์กังวาน เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net