ป้าย 'ยกเลิก 112' ปรากฎ กทม. อยุธยา เชียงใหม่ - เยาวชน 17 ปี เขียนป้าย ถูกตร.สน.ปทุมวันคุมตัวทำประวัติ

พบป้าย 'ยกเลิก 112' ปรากฎในรูปแบบต่างๆ หลายพื้นที่ทั้ง กทม. อยุธยาและเชียงใหม่ ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เยาวชน 17 ปี เขียนป้าย 'ยกเลิก 112' ถูกตร.สน.ปทุมวันคุมตัวทำประวัติ ก่อนปล่อยตัวไม่ดำเนินคดี 

 

31 ธ.ค.2563 หลังการดำเนินคดีกับผู้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย ม.112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์จำนวนมาก ได้ปรากฏปฏิบัติรการเชิงสัญลักษณ์ทั้งข้อความ ป้ายผ้า เรียกร้องยกเลิก ม.112 ในพื้นที่ต่างๆ 

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพจ เพื่ออยุธยา เพื่อประชาธิปไตย เผยแพร่ภาพข้อความยกเลิก 112 ในหลายจุด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

แปะป้าย 'ยกเลิก 112' หลายจุดทั่วกรุง

ค่ำวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา เฟซุบ๊ก Headache Stencil เผยแพร่คลิปบอลลูนมีข้อความ 112 ด้วย

โดยก่อนหน้านั้น 24 ธ.ค. BBC ไทย รายงานด้วยว่า ป้ายโฆษณาริมถนนมอเตอร์เวย์ สถานีรถไฟหัวลำโพง ป้ายรถเมล์หน้าองค์การเภสัชกรรม ป้ายบอกทางย่านวัฒนา ท้ายรถประจำทาง ฯลฯ เป็นหนึ่งในหลายพื้นที่ที่บุคคลนิรนามนำป้ายที่มีข้อความว่า "ยกเลิก 112" ไปติดไว้ บ้างพิมพ์ลงบนกระดาษขาว บ้างเขียนด้วยแปรงทาสีบนผืนผ้าขนาดใหญ่

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่างแชร์ภาพป้ายเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ปรากฏตามที่ต่าง ๆ ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (23 ธ.ค.) แต่ขณะนี้ยังไม่มีบุคคลใดหรือกลุ่มใดออกมาแสดงตนว่าเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมนี้ มีเพียงศิลปินพ่นสีที่รู้จักกันในนาม "เฮดเอค สเตนซิล" ที่ให้สัมภาษณ์วอยซ์ทีวีว่า เขามีส่วนร่วมในการระบายรูปนกบนผืนผ้าขนาดใหญ่ โดยไม่รู้มาก่อนว่าผู้ที่มาขอให้ทำจะนำป้ายผ้านี้ไปคลุมป้ายโฆษณาริมถนนมอเตอร์เวย์

สัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะประชาธิปไตยเพื่อความหวัง" นำป้ายผ้าขนาดใหญ่สามผืน หนึ่งในนั้นเขียนข้อความ "ยกเลิกมาตรา 112" ไปแขวนภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนและเซ็นทรัลเวิลด์ ก่อนที่ป้ายเหล่านั้นจะถูกเก็บไปอย่างรวดเร็ว

 

24 ธ.ค. ยังมีเพจ artn't เผยแพร่ภาพเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต เขียนข้อความ 112 ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เยาวชน 17 ปี เขียนป้าย “ยกเลิก 112” ถูกตร.สน.ปทุมวันคุมตัวทำประวัติ ก่อนปล่อยตัวไม่ดำเนินคดี

ขณะที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า กลางดึกของวันที่ 24 ธ.ค. 63 กลุ่มนักกิจกรรมที่เรียกตนเองว่า “4 กุมาร” ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่และเยาวชนในกรุงเทพมหานคร ได้รวมตัวกันเขียนป้ายข้อความ “ยกเลิก 112” และ “112” พร้อมขีดฆ่าตัวเลข บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ปทุมวันเข้าซักถาม และให้ตัวแทนกลุ่มจำนวน 2 คน เดินทางไปทำประวัติที่สถานีตำรวจ ก่อนปล่อยตัวกลับโดยไม่มีการดำเนินคดี

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงคืนวันที่ 24 ธ.ค. 63 เยาวชนอายุ 17 ปี จากกลุ่ม “4 กุมาร” เปิดเผยข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่าเขาและเพื่อนๆ ได้รวมตัวกันไปที่บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อเขียนป้ายข้อความ “ยกเลิก 112” และ “112” พร้อมขีดฆ่าตัวเลข เตรียมนำไปติดรณรงค์ในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อคัดค้านการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นทางการเมือง

ทางกลุ่มได้ใช้พื้นที่ริมถนนในการนั่งเขียนป้าย ระหว่างเขียนอยู่นั้น เวลาเกือบเที่ยงคืน ได้มีรถจักรยานยนต์ของสายตรวจเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านมา จากนั้นประมาณ 10 นาที ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ราว 15 นาย ใช้รถยนต์ของสน.ปทุมวัน และรถมอเตอร์ไซต์เข้ามาจอดเพื่อพูดคุยด้วย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงก็ได้ทำการถ่ายภาพกลุ่มเยาวชนที่กำลังเขียนป้ายไว้ทันที และถ่ายภาพรถที่จอดอยู่ ก่อนจะสอบถามว่าเขียนป้ายอะไร จะนำไปติดที่ไหน หรือทำอย่างไรกับป้าย แต่ทางกลุ่มระบุว่าเพียงแต่เขียนป้าย ยังไม่ได้นำไปติดที่ใดเลย

หลังการพูดคุยไปได้ระยะหนึ่ง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าให้ทางกลุ่มหยุดเขียนป้าย และขอให้มีตัวแทน 2 คน เดินทางไปที่สน.ปทุมวัน กับตำรวจเพื่อทำประวัติเก็บไว้ โดยไม่ได้ชี้แจงว่าเป็นขั้นตอนทางกฎหมายใด หรืออาศัยอำนาจใดในการให้ตัวแทนไป ระบุเพียงว่าเป็นการทำประวัติไว้เฉยๆ แต่จะไม่มีการดำเนินคดี เวลาประมาณ 00.30 น. ทางกลุ่มก็ได้ตัดสินใจเดินทางไปกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีเยาวชนรายนี้ และเพื่อนอีก 1 คน ซึ่งอายุเกิน 18 ปี เดินทางไปสน.ปทุมวัน โดยมีรถตำรวจประกบหน้าหลัง

เมื่อไปถึงสน.ปทุมวัน ทั้งสองคนได้เข้าไปยังห้องสอบสวน ทางตำรวจได้สอบถามชื่อ-นามสกุล และเลขบัตรประชาชนของทั้งสองคน พร้อมกับจัดพิมพ์ประวัติดังกล่าวไว้ โดยระบุว่าทั้งสองได้ทำการเขียนป้ายข้อความ“ยกเลิก 112” และ “112” ขีดฆ่าตัวเลขออก ก่อนนำมาให้ทั้งสองเซ็นรับรอง จากนั้นได้นำตัวทั้งสองคนไปถ่ายภาพกับเส้นวัดความสูงที่ใช้ทำประวัติอาชญากรรม พร้อมถือแผ่นป้ายระบุชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน และข้อหา ที่เว้นว่างไว้ เมื่อเสร็จสิ้นการทำประวัติตำรวจให้ทั้งสองรอพบกับรองผู้กำกับสน.ปทุมวัน เพื่อพูดคุยต่อ

เมื่อพบกับรองผู้กำกับฯ ได้มีการพูดคุยในลักษณะว่าจะดำเนินคดีกับทั้งสองคน โดยจะมีการปรับเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท ในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และข้อหาก่อความเดือดร้อนรำคาญ โดยให้เพื่อนของเยาวชนรายนี้ที่เดินทางไปด้วยออกไปรอด้านนอกห้องสอบสวน ในห้องดังกล่าวจึงเหลือเพียงเยาวชนอายุ 17 ปี กับรองผู้กำกับฯ และตำรวจอีก 3 นาย พูดคุยกัน

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามซักถามเรื่องการติดป้ายข้อความลักษณะเดียวกันในคืนวันที่ 23 ธ.ค. 63 ในเขตสน.ปทุมวัน โดยมีการนำภาพกล้องวงจรปิดมาให้ดู เพื่อพยายามสอบถามหาผู้ติดป้าย อีกทั้งสอบถามว่าบ้านของแต่ละคนอยู่ที่ใด ระหว่างการซักถามมีการปล่อยตัวเยาวชนรายนี้ออกมารอนอกห้อง และเรียกกลับเข้าไปซักถามใหม่ อยู่ราว 2-3 ครั้ง

จนกระทั่งเวลาประมาณ 03.00 น. เยาวชนรายนี้ได้ติดต่อให้รุ่นพี่ที่รู้จักกันอีกคนมาที่สถานีตำรวจด้วย เมื่อรุ่นพี่เข้ามาสอบถามว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตั้งข้อกล่าวหากับน้องทั้งสองคนหรือไม่ หรือจะซักถามข้อมูลใดๆ อีกหรือไม่ ทางตำรวจระบุว่าหากอยากกลับก็สามารถกลับไปได้เลย ทั้งหมดจึงได้เดินทางกลับโดยยังไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด

ว่าด้วย ม.112 ที่ผ่านมา

สำหรับมาตรา 112 เป็นมาตราหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา ถูกเรียกย่อๆ ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ก่อน ม.112 จะมีการปรับรูปแบบการดำเนินคดี ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาระหว่างความขัดแย้งทางการเมืองมีการนำเอามาตรา 112 มาใช้ดำเนินคดีจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ที่มีการใช้ดำเนินคดีและลงโทษที่สูง โดยเฉพาะผ่านศาลทหาร เช่น วิชัย ถูกกล่าวหาว่าสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมด้วยชื่อและภาพคนอื่น พร้อมโพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิดตาม ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ ศาลตัดสินลงโทษ ม.112 กรรมละ 7 ปี รวมทั้งหมด 70 ปี ส่วน พ.ร.บ.คอม ยกฟ้อง แต่เนื่องจากเขาสารภาพจึงลดโทษเหลือ 35 ปี 'พงษ์ศักดิ์' หรือ Sam Parr ชายอายุ 40 กว่าปี ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชี ‘Sam Parr’ โพสต์ข้อความเข้าข่ายความผิดตาม ม.112 ศาลตัดสินลงโทษ ม.112 กรรมละ 10 ปี รวมทั้งหมด 60 ปี สารภาพลดเหลือ 30 ปี ศศิวิมล หญิงแม่ลูกสอง อายุ 30 ปี ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตาม ม.112 ศาลตัดสินลงโทษ ม.112 กรรมละ 8 ปี รวมทั้งหมด 56 ปี สารภาพลดเหลือ 28 ปี เป็นต้น และเกือบทั้งหมดที่โดนคดีนี้มักไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว

อ่านรายละเอียดที่ https://prachatai.com/journal/2020/11/90530

สำหรับในอดีตมีการวิพากษ์วิจารณ์ก็หมายมาตรานี้ จากข้อมูลของ คณะรณรงค์แก้ไข ม.112 เมื่อปี 2555 ระบุเช่น

1. มรดกของคณะรัฐประหาร หลังเหตุล้อมปราบและสังหารหมู่ 6 ตุลา 19

มาตรา 112 อย่างที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคณะรัฐประหาร 6 ต.ค.2519 ที่นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในนาม คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ดำเนินการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ลงตามแผนที่วางสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ พร้อมประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ หลังเหตุการณ์ล้อมปราบและสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดังกล่าว 

ซึ่ง พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล เขียนไว้เมื่อปี 2554 เผยแพร่ทางประชาไท ในหัวข้อ "มาตรา 112 : ผลพวงรัฐประหาร 6 ตุลา 2519" ว่า  21 ตุลาคม 2519 , คณะรัฐประหาร เพิ่มโทษบทบัญญัติมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ1 โดยปรับโทษจากเดิม "จำคุกไม่เกินเจ็ดปี" เพิ่มขึ้นเป็น "จำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" อัตราโทษนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

กฎหมายดังกล่าวจึงเป็น "กฎหมาย" หรือ "ผลพวง" ของคณะรัฐประหาร และขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ซึ่ง คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) ได้เสนอทางออกไว้เมื่อปี 55 ว่า ทางออก เพื่อสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้มั่นคงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลบล้างผลพวงอันเป็นสิ่งปฏิกูลที่เกิดเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร และยิ่งกว่านั้่น แม้แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โทษสูงสุดเพียง 3 ปี และไม่มีโทษขั้นต่ำ

2. คุ้มครองยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475 ได้กำหนดให้ “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แสดงให้เห็นว่า มุ่งคุ้มครองตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ดำรงอยู่ หาได้มุ่งคุ้มครองไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อันครอบคลุมไปยังตำแหน่งพระบรมวงศานุวงศ์อื่นใดอีกไม่ ขณะที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ขยายความผิดออกไปโดยครอบคลุมทั้ง “พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

นอกจากนั้น การที่มาตรา 112 เป็นการกระทำผิดทางวาจา กลับอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ ทำให้มีอัตราโทษที่รุนแรงโดยมีโทษขั้นต่ำ 3 ปี และสูงสุด 15 ปี ขณะที่ความผิดฐานก่อการร้ายซึ่งร้ายแรงระดับมนุษยชาติกฎหมายกำหนดโทษจำคุกเพียงตั้งแต่ 2 ปีถึง 10 ปี สะท้อนความไม่สมเหตุสมผลของบทบัญญัติโทษตามมาตรา 112 อีกทั้งการกระทำผิดโดยวาจา ไม่ทำให้กระทบหรือสูญสิ้นความเป็นรัฐ

ทางออก : ต้องยกเลิกมาตรา 112 แล้วให้การคุ้มครองพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์เป็นความผิดที่อยู่ต่างหากจากหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยนำการกระทำความผิดดังกล่าว มาอยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยกำหนดโทษให้พอสมควรแก่เหตุ โดยนำโทษของบุคคลธรรมดาเป็นฐาน แล้วกำหนดโทษสูงกว่าบุคคลทั่วไปโดยไม่สูงเหลื่อมล้ำจนเกินไป และแยกบทลงโทษเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ออกจาก พระราชินี รัชทายาท ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

3. ใครๆ ก็ฟ้องได้

ด้วยเหตุที่ ม.112 เป็นความผิดฐานความมั่นคง ทำให้ใครๆก็สามารถหยิบยกข้อกล่าวหานี้มาใช้กลับใครก็ได้ ขณะเดียวกันกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ก็มีแนวโน้มที่จะ "รับฟ้อง" ทุกกรณี ปรากฏเป็นปัญหาของระบบกฎหมายไทยทียัดเยียดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของราษฎรให้เป็นอาชญากรรมต่อรัฐ ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ไม่นาน ปรากฏสถิติการดำเนินคดีในปี 2553 สูงถึง 478 คดี โดยก่อนหน้านั้นมีไม่ถึง 10 คดีต่อปี

ทางออก : ต้องจำกัดตัวบุคคลมีอำนาจผู้ฟ้องคดีให้มีความชัดเจน สำนักราชเลขาธิการ ซึ่งในทางกฏหมายมีลักษณะเป็น "กรม" ซึ่งสำนักราชเลขาธิการก็มีหน่วยงานในสังกัด คือ "กองนิติกร" ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติในกฎหมาย ใช้งบประมาณแผ่นดินของราษฎรตามพระราชบัญญัติ ฉะนั้น สำนักราชเลขาธิการซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และมีหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการได้อยู่เดิมแล้ว กล่าวคือกองนิติการในสำนักราชเลขาธิการ ย่อมผูกพันโดยตรงในการริเริ่มฟ้องคดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ไม่สมเหตุสมผลที่จะให้บุคคลทั่วไปร้องทุกข์กล่าวโทษตามอำเภอใจ

4. ห้ามพิสูจน์ความจริง

กฏหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มาตรา 329 ยกเว้นความผิดถ้าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรม ขณะที่มาตรา 330 ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็น "ความจริง" ก็ไม่ต้องรับโทษ(เว้นแต่เป็นเรื่องส่วนตัว และไม่เป็น "ประโยชน์สาธารณะ")

แต่มาตรา 112 นั้นไม่อนุญาตให้พิสูจน์ "ความจริง" ขณะที่มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 50 และ มาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ 60 กลับรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว

ทางออก : เพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด โดยกำหนดให้ "ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด"

5. โทษที่ไม่เป็นธรรม

ขณะที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้กำหนดความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไว้สูงสุดไม่เกิน 3 ปี แต่ปัจจุบันโทษในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลับสูงสุดถึง 15 ปี และมีโทษขั้นต่ำ 3 ปี นั้นหมายความว่าถ้าใครถูกพิพากษาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วจะไม่มีเหตุยกเว้นการรับโทษแต่อย่างใด

ทางออก : ต้องไม่มีอัตราโทษขั้นต้่ำเพราะศาลได้ใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษน้อยเพียงใดก็ได้ตามควรแก่กรณี และลดอัตราโทษให้เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับความผิดต่อพระมหากษัตริย์และจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับความผิดต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยเทียบเคียงจากฐานของบุคคลทั่วไปในความผิดเดียวกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท