Skip to main content
sharethis

ในการสรุปสถานการณ์ในรอบปี 2563 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนชุดที่ 2 ออกมาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ที่ผ่านมาระบุว่า มีผู้สื่อข่าวถูกสังหารรวมแล้วทั่วโลก 50 รายในปี 2563 โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการสังหารนักข่าวแม้แต่ในประเทศที่สงครามเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว และมีจำนวนผู้ที่ถูกสังหารในประเทศที่ไม่มีสงครามสูงกว่าในประเทศที่มีสงคราม

จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 15 ธ.ค. 2563 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ระบุว่ามีผู้สื่อข่าวถูกสังหารทั้งหมดในปีนี้ 50 ราย เป็นตัวเลขที่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในปี 2562 ที่มีนักข่าวถูกสังหารรวม 53 ราย ถึงแม้ว่าในปีนี้จะมีนักข่าวที่ออกภาคสนามน้อยลงเพราะการระบาดหนักของ COVID-19 ก็ตาม

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มาแล้ว ในปี 2563 มีนักข่าวที่ถูกสังหารในประเทศที่ได้ชื่อว่า "สงบ" ไม่ได้อยู่ในสงครามมากกว่าประเทศที่อยู่ในสงคราม จากสถิติในปี 2559 การเสียชีวิตของคนทำสื่อร้อยละ 58 อยู่ในพื้นที่สงคราม เทียบกับในปี 2563 ที่มีอัตราคนทำสื่อเสียชีวิตในพื้นที่สงครามอย่างซีเรียและเยเมนหรือพื้นที่ขัดแย้งระดับกลางอย่างอัฟกานิสถานกับเยเมนร้อยละ 32

ขณะเดียวกันในพื้นที่ที่ไม่มีสงครามอย่างเม็กซิโก, อินเดีย, ฟิลิปปินส์ และฮอนดูรัส มีนักข่าวถูกสังหารร่วมแล้วมากกว่า 2 ใน 3 ของทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 68

นอกจากนี้มีนักข่าวที่เสียชีวิตร้อยละ 84 ถูกสังหารเนื่องด้วยสาเหตุจากการถูกตั้งเป้าหมายและถูกสังหารโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีบางคนที่ถูกสังหารด้วยวิธ๊การป่าเถื่อน เมื่อเทียบกับปี 2562 มีนักข่าวที่ถูกสังหารแบบวางเป้าหมายไตร่ตรองไว้ก่อนร้อยละ 63

ตัวอย่างของเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างโหดเหี้ยมคือกรณีของนักข่าว จูลิโอ วาลดิเวีย รอดริจซ์ จากสื่อเอลมุนโด เขาถูกสังหารโดยการฆ่าตัดคอเหตุเกิดขึ้นที่รัฐเวราครูซ กรณีต่อมาคือการฆ่าหั่นศพ วิกเตอร์ เฟอร์นันโด อัลวาเรซ ชาเวซ บรรณาธิการสื่อท้องถิ่นในรูปแบบเว็บไซต์ ปุนโต x ปุนโต นอติเซียส เหตุเกิดในเมืองอะคาปุลโก ในกรณีที่อินเดียมีการเผานักข่าวทั้งเป็นที่บ้านของตัวเองในรัฐอุตตรประเทศ ผู้เสียชีวิตคือ ราเกช "นีร์บิก" สิงห์ นักข่าวหนังสือพิมพ์รัชตรียาสวารูป ผู้ก่อเหตุเป็นคนของเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน อีกรายหนึ่งคือ อิสราเวล โมเสส ผู้ประกาศข่าวในรัฐทมิฬนาฑูที่ถูกฟันด้วยมีดยาวเสียชีวิต

RSF ระบุว่าในอิหร่านรัฐบาลทำตัวเป็นเพชรฆาต มีการตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ รูฮอลเลาะห์ แซม บรรณาธิการสื่อ อะหมัดนิวส์ หลังจากดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ถึงแม้ว่าการตัดสินประหารชีวิตจะเป็นเรื่องเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอิหร่านแต่นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่มีการตัดสินลงโทษนักข่าวด้วยวิธีการที่ป่าเถื่อนและล้าสมัยเช่นนี้

คริสตอฟฟ์ เดอลัวร์ เลขาธิการ RSF กล่าวว่า บางคนอาจจะมองว่านักข่าวเป็นเหยื่อจากความเสี่ยงที่มาพร้อมกับงานของพวกเขาเอง แต่จริงๆ แล้ว มีการใช้ความรุนแรงและการสังหารนักข่าวแบบตั้งเป้าหมายเกิดมากขึ้นเมื่อนักข่าวเหล่านี้ทำการสืบสวนหรือขุดคุ้มเรื่องราวที่อ่อนไหวทางการเมือง "สิ่งที่ถูกโจมตี คือสิทธิในการที่ผู้คนจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นสิทธิของทุกคน"

สถิติของปี 2563 ระบุว่านักข่าวถูกสังหารในกรณีการขุดคุ้ยเรื่องราวของการทุจริตในการเมืองท้องถิ่นมากที่สุดคือ 10 ราย กรณีการสืบสวนเรื่องแก็งค์อาชญากรรมนั้นเกิดขึ้น 4 ราย และมีจำนวน 7 รายที่ถูกสังหารขณะกำลังถ่ายทำการประท้วง
 

กรณีที่ถูกสังหารในการประท้วงนี้เกิดขึ้นในอิรัก 3 ราย เมื่อมีมือปืนไม่ทราบฝ่ายยิงนักข่าวเหล่านี้ที่ศีรษะขณะถ่ายทำการชุมนุม อีกรายหนึ่งเกิดขึ้นที่เคิร์ดดิสถานทางตอนเหนือของอิรักมีนักข่าวรายหนึ่งถูกสังหารขณะที่กำลังวิ่งหนีเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ความมั่นคงกับผู้ประท้วง

นักข่าวอีกจำนวนหนึ่งถูกสังหารจากสภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงสลายการชุมนุม เช่นในไนจีเรียที่มีการประท้วงต่อต้านความรุนแรงของตำรวจ และในโคลอมเบียที่มีการประท้วงของกลุ่มชนพื้นเมืองที่ต่อต้านการทำให้ที่ดินท้องถิ่นกลายเป็นของเอกชน

เรียบเรียงจาก : 


เรื่องที่เกี่ยวข้อง : 

  • RSF เผยนักข่าวหญิงทั่วโลกถูกจับกุมเพิ่มขึ้น 35% หลายประเทศอ้าง COVID-19 คุกคามสื่อhttps://prachatai.com/journal/2020/12/90825


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net