สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน จัดอันดับ 10 เด่น 10 ด้อยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 63 

31 ธ.ค.2563 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือ สสส. ออกรายงานการจัดอันดับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2563 แบ่งเป็น 10 เรื่องเด่น 10 เรื่องด้อย 

10 เรื่องเด่น ประกอบด้วย 1.  ประชาชน 100,732 รายชื่อเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2. “กลุ่มนักเรียนเลว” เสนอการปฏิรูปการศึกษา 3. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2 ฉบับ ให้ลงโทษผู้ไม่มารายงานตัวขัดต่อรัฐธรรมนูญ 4. การตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยศาล: ศาลยกคำร้องการฝากขัง และให้ออกหมายเรียกก่อนออกหมายจับ

5. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายต่อสภาผู้แทนราษฎร 6. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการทำแท้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ  7. ร่างกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 8. ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาการขึ้นทะเบียนพรุแม่ลำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับชาติเป็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ 9. สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ 10. การจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย” เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภค คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

10 เรื่องด้อย ประกอบด้วย 1. รัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าชื่อ (สิทธิประชาชนเสนอกฎหมาย) 2. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร 3. การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น และการชุมนุม 4. กรณีอุ้มหาย วันเฉลิม ความรับผิดชอบของรัฐไทยในการสืบสวนสอบสวน ปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย 

5. กระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉลบิดเบือนการใช้อำนาจและเลือกปฏิบัติ (คดีบอส อยู่วิทยา) 6. ความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน: การทำร้ายร่างกายและการละเมิดทางเพศ  7. การยกเลิกการจัดการที่ดินรูปแบบโฉนดชุมชน 8. การสรรหาและเลือก กสม. ชุดใหม่ นาน 3 ปี และกลไกการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่มีประสิทธิภาพ 9. ปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐและเอกชน (IO) ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน  และ10. มาตรการการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด 19 ผู้เดือดร้อนที่แท้จริงจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิการเยียวยา

โดยมีรายละเอียดดังนี้

10 เด่น (Progress)

1.    ประชาชน 100,732 รายชื่อเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

สิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้รับการรับรองเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 170 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยและหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ   

ต่อมารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 163 กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ 

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ยังได้บัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนในการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน มีสิทธิในการขอเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 256 กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาได้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550  

โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอวอล์) จึงได้ใช้สิทธิรณรงค์ให้ประชาชนผู้สิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจนได้รายชื่อจำนวน 100,732 รายชื่อภายในระยะเวลาประมาณ 40 วัน และได้นำเสนอร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2563 แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 สำนักงานเลขารัฐสภาตรวจสอบแล้วพบมีจำนวนผู้ที่คัดค้านและถอนชื่อสนับสนุนร่างดังกล่าวจำนวน 783 รายชื่อทำให้มียอดคงเหลือ จำนวน 98,041 รายชื่อ แต่ยังครบหลักเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยการเข้าชื่อประชาชนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ

สาระสำคัญของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับเข้าชื่อของประชาชนไว้ว่าประกอบด้วยการยกเลิก 5 ประเด็น คือ 1) มาตรา 279 ที่ระบุว่าบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. หรือหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบต่อไป  2) มาตรา 272 ว่าด้วยที่มาของนายกรัฐมนตรี 3) หมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ 4) มาตรา 65 และมาตรา 275 ว่าด้วยการจัดทำ "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" และ5) มาตรา 252 ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น    และสาระสำคัญที่ต้องแก้ไข 5 ประเด็นคือ 1) แก้ไขเงื่อนไขการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้การแก้ไขอาศัยเพียงเสียงของสองสภารวมกัน และไม่บังคับต้องทำประชามติ 2) นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3) แก้ไขกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 4) ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 200 คน เป็นรายบุคคลหรือเป็นตัวแทนกลุ่มก็ได้ ประชาชน 1 คนเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เพียง 1 คนหรือ 1 กลุ่ม โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง สสร.ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน และ5) สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

2. “กลุ่มนักเรียนเลว” เสนอการปฏิรูปการศึกษา

การเคลื่อนไหวของนักเรียนทั่วประเทศในหลายเดือนที่ผ่านมาเพื่อต่อต้านระบบอำนาจนิยมทั้งในระบการศึกษาและระบบการปกครองของประเทศโดยการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบในรูปแบบต่างๆทั้งพื้นที่ในโรงเรียนและพื้นที่สาธารณะ จนกระทั่งได้พัฒนาเป็นข้อเรียกร้องเสนอต่อ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 3 ข้อคือ 1. หยุดคุกคามนักเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องปกป้องนักเรียนจากการถูกคุกคามทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง 2.การยกเลิกกฎระเบียบล้าหลังโดยเฉพาะที่มีเนื้อหากดขี่นักเรียน ละเมิดสิทธิมนุษยชน และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวนักเรียน 3.ปฏิรูปการศึกษา เพื่อขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อตัวผู้เรียน เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษา ปัญหาหลักสูตรที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาภาระงานครู ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของครู เป็นต้น โดยต้องให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการด้วย พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขว่ารัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่งหากไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวได้

การใช้เสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มนักเรียนเลวจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการศึกษาของรัฐมนตรีศึกษาธิการ โดยการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ทั้งได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียนนักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 24 คน โดยมีนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธาน TDRI เป็นประธาน กรรมการมาจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ครู คณาจารย์ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย ผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียน นักศึกษาฯลฯ

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว คือศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากการเปิดรับฟังความเห็นของนักเรียนนักศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการศึกษาและการเมืองของนักเรียนนักศึกษา จัดทำข้อ เสนอแนะเชิงนโยบาย และพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเยียวยานักเรียนนักศึกษาที่ได้รับผล กระทบ จัดทำกระบวนการติดตามและประเมินผล สรุปรายงานเสนอรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ คณะกรรมการได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการ 4 คณะ คือ 1) คณะทำงานด้านการละเมิดการกระทำความรุนแรงและความปลอดภัยในสถานศึกษา 2) คณะทำงานด้านกฎระเบียบที่ล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา 3) คณะทำงานด้านการแสดงออกทางการเมืองในสถานศึกษา 4) คณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา (ชุดใหญ่) จะทำหน้าที่พิจารณาในประเด็นเรื่องเครื่องแบบและทรงผมนักเรียน

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาจะปรากฏผลมากน้อยเพียงใดอาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา แต่การใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบที่มีพลังของนักเรียนนักศึกษาได้จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญต่อระบบอำนาจนิยมในระบบการศึกษาของไทย

3. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2 ฉบับ ให้ลงโทษผู้ไม่มารายงานตัวขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณากรณีศาลแขวงดุสิตส่งคำโต้แย้งของจำเลย (วรเจตน์ ภาคีรัตน์) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากรณีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา โดยมติเอกฉันท์ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 บัญญัติว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วยกฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”

สำหรับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2557 โดยมติเสียงข้างมากว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลา ที่กระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทําความผิดมิได้”

ด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้ประกาศทั้งสองฉบับไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมายอีกต่อไป ผู้ที่ถูกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรียกมารายงานตัวแล้วไม่มาจึงไม่มีโทษทางอาญาแต่อย่างใด  อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รวมถึง ประกาศ คำสั่ง การกระทำ ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. ที่มีผลใช้บังคับตามบทเฉพาะกาลมาตรา 279 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา210 วรรคหนึ่ง (1)

4. การตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยศาล: ศาลยกคำร้องการฝากขัง และให้ออกหมายเรียกก่อนออกหมายจับ

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กำหนดหลักประกันการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม อาทิ หลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมายและศาล สิทธิที่จะเข้าถึงศาลที่เป็นอิสระ เป็นกลาง โดยหลักความเป็นกลาง (Impartiality) เรียกร้องให้ผู้พิพากษาตัดสินคดีบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและสอดคล้องกับกฎหมาย โดยปราศจากข้อจำกัด อิทธิพล การชักจูง แรงกดดัน การข่มขู่ การแทรกแซงไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจากเหตุใดๆ รวมทั้งการนำการฝักใฝ่ทางการเมือง ความเชื่อทางศาสนา ความนิยมชมชอบส่วนตัวเข้ามาเป็นปัจจัยประกอบการตัดสิน ย่อมไม่สามารถกระทำได้ และผู้พิพากษาจะต้องไม่มีความคิดล่วงหน้าใด ๆ (Non prejudgment) เกี่ยวกับประเด็นที่กำลังพิจารณา

นอกจากนี้ ICCPR ยังได้รับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และได้รับการปฏิบัติในฐานะเป็นผู้บริสุทธิ์ตลอดระยะเวลา จนกว่าคดีจะถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาว่าบุคคลนั้นมีความผิด ซึ่งหลักการนี้กำหนดให้ภาระพิสูจน์จนสิ้นสงสัย ตกเป็นของฝ่ายโจทก์ และประกันว่าจำเลยจะได้รับประโยชน์จากความสงสั การควบคุมตัวระหว่างดำเนินคดีจึงถือเป็นเรื่องของข้อยกเว้น โดยหลักจะต้องไม่ควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย เว้นแต่จะมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัว เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยเรียบร้อย เพื่อให้เกิดความแน่นอนว่าจะมีตัวผู้นั้นสำหรับการดำเนินคดีและบังคับโทษ

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 กำหนดให้ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตลอดปี พ.ศ.2563 โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฏร ที่มีการจับกุมดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุมหลายราย แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่าง 

ในระยะแรกของการดำเนินการ หากไม่นับกระบวนการนอกกฎหมายต่าง ๆ ได้แก่การเชิญตัวไปพบ การติดตามไปที่บ้าน การควบคุมตัวโดยไม่มีหมาย ยังพบว่า ตำรวจเองก็มักอาศัยอำนาจทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมมาจัดการกับผู้ชุมนุม อาทิ การขอออกหมายจับกุมตัวผู้ชุมนุม โดยไม่มีหมายเรียกก่อน ซึ่งเดิมที่ศาลก็มักจะออกหมายให้ ทั้งที่ผู้ชุมนุมหลายรายที่เป็นเป้าหมายของการจับกุมไม่ได้มีพฤติกรรมหลบหนีและหลายกรณีพวกเขาไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตนเองถูกออกหมายจับ เช่น กรณีคดีชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2563 นักศึกษาและประชาชน หนึ่งในนั้นคือผู้พิพากษาได้เดินทางไปสอบถามเรื่องหมายจับถึงสถานีตำรวจ จนตำรวจยอมแสดงหมายจับให้ดู 

นอกจากนี้ ยังพบว่าเหมือนเป็นธรรมเนียมว่าเมื่อจับมาแล้ว พนักงานสอบสวนจะยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ก่อน โดยเฉพาะกับผู้ที่ถูกมองว่าเป็นแกนนำ ซึ่งในช่วงแรกหลายกรณีพบว่า ศาลอนุญาตให้ฝากขังไว้ บางกรณีก็อาจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีหลักประกัน แต่บางกรณีก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เช่น กรณีการชุมนุมวันที่ 13 – 14 ตุลาคม พ.ศ.2563 ซึ่งมีผู้ชุมนุมถูกจับกุมรวมกันมากกว่า 20 ราย แทบทั้งหมดถูกฝากขังและศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งแรก แต่อนุญาตให้ประกันตัวไปในภายหลังเมื่อผู้ต้องหาถูกฝากขังไปแล้วระยะหนึ่ง (ถูกปล่อยหลังฝากขังไปแล้ว 7 วัน ยกเว้นไผ่ดาวดิน ที่ถูกขัง 11 วันก่อนได้รับการประกันตัว) นอกจากนี้ ในคดีอื่น ๆ ที่ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นแกนนำสำคัญมักถูกขังไว้เป็นเวลานานกว่าผู้ชุมนุมรายอื่น เฉลี่ยจะถูกขังอยู่ที่ 16 – 19 วัน และได้รับอนุญาตให้ประกันตัวยากกว่า เช่น นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และนายภาณุพงศ์ จาดนอก เป็นต้น           
อย่างไรก็ดีต่อมาศาลก็ได้ยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน โดยให้เหตุผลว่าการฝากขังต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องฝากขังต่อไปจึงให้ยกคำร้อง หรือกรณีวันที่ 2 พฤศจิกายน ศาลสั่งยกคำร้องฝากขัง “รุ้ง ปนัสยา” และให้เพิกถอนหมายจับออกจากฐานข้อมูล ในคดีความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากกรณีที่ชุมนุมที่สกายวอล์กสี่แยกปทุมวัน วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563 และวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เพื่อทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยศาลพิจารณาว่าไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

นอกจากนี้ ยังพบว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ศาลออกหมายจับในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยไม่มีหมายเรียกก่อนนั้น ศาลจะไม่อนุมัติหมายจับตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ ซึ่งแสดงให้เห็นบทบาทของศาลที่ได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ดีขึ้น 

5. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายต่อสภาผู้แทนราษฎร

ร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นร่างกฎหมายที่รัฐบาลไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามโดยต้องออกกฎหมายเพื่ออนุวัตรการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ แต่เป็นเวลาเกือบ8 ปีแล้วที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการออกกฎหมายดังกล่าวได้สำเร็จ

สำหรับปีนี้มีความก้าวหน้าที่สำคัญ กล่าวคือ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ฉบับประชาชน โดยการทบทวนและปรับปรุงร่างกฎหมายเดิมที่เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ โดยการระดมความคิดจากผู้ได้รับความเสียหาย นักกฎหมาย และคนทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยได้นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาชาติ 

คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจนแล้วเสร็จจนนำไปสู่การเข้าชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคชาติไทยพัฒนาโดยมี นายสิระ เจนจาคะเป็นผู้เสนอพร้อมรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 100 คน ร่วมเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

พรรคประชาธิปัตย์ได้นำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ฉบับประชาชนมาแก้ไขเพิ่มเติมแล้วนำเสนอโดยนายสุทัศน์ เงินหมื่นพร้อมสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 21 คนร่วมเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2563

พรรคประชาชาติได้นำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ฉบับประชาชนมาแก้ไขเพิ่มเติมแล้วนำเสนอโดย นายวันมูหะมัด นอร์มะทา พร้อมรายชื่อสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อชาติจำนวน 20 คนร่วมเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2563

ในขณะนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่างกฎหมายทั้งสามฉบับเป็นระเบียบวาระที่ 6 เรื่องที่เสนอใหม่เป็นระเบียบวาระที่ 6.5 เป็นร่างที่เสนอโดยนายวันมูหะมัด นอร์มะทา พร้อมคณะ 6.6 ร่างที่เสนอโดยนายสุทัศน์ เงินหมื่นพร้อมคณะ และ 6.7 ร่างที่เสนอโดยนายสิระ เจนจาคะเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนพ.ศ.2563

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 144 คนจากเกือบทุกพรรคการเมืองในสภาผู้แทน ราษฎรร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนอาจเสนอญัตติให้เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาก่อนก็ได้

ในขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2563 และจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเพื่อส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

6. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการทำแท้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ   

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีนางสาวศรีสมัย เชื้อชาติ ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 213 กำหนดว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ” ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28 หรือไม่ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 27 มาตรา 28 และ มาตรา 77 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วปรากฏผลการลงมติดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 27 และมาตรา 28 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 27 วรรคแรกบัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายมีสิทธิและเสรีภาพ ความเสมอภาค และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” และวรรคสองบัญญัติว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” หรือมาตรา 28 วรรคแรกบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย” 

ประเด็นที่สอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์ และ (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ  (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ2560 มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77

ประเด็นที่สาม สมควรมีมาตรการปรับปรุงกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว 

อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 กำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น มีผลเมื่อพ้นสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการทำแท้งของหญิงตามมาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทบัญญัติดังกล่าวย่อมสิ้นผลโดยทันที แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้ออกคำบังคับตามคำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้มีผลเมื่อพ้นสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย จึงทำให้มาตรา 301 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ตามระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด  และขณะนี้รัฐบาลกำลังเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 301 เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป

7. ร่างกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

สืบเนื่องจากเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์พยายามผลักดันการจัดทำร่างกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อยกระดับแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 และ แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ขึ้นเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี 2559 กระทั่งกระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว          
 เหตุผลสำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบไปด้วย เหตุผล 3 ประการ คือ

ประการแรก สถานการณ์ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ ประเทศไทยมีชาติพันธุ์ มากกว่า 70 กลุ่มชาติพันธุ์  มีประชากรรวมประมาณ 6.1 ล้านคน หรือร้อยละ 9.68 ของประชากรประเทศ แต่ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยต่างกำลังเผชิญกับปัญหาการถูกละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมอันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน  ด้วยอคติที่ถูกมองว่าเป็นคนต่างด้าวไม่ใช่คนไทย ทั้งที่จริง แล้วกลุ่มชาติพันธุ์ต่างอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยมาเป็นเวลาช้านาน          

ประการที่สอง การมีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ระบุให้ “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย” มาตรา 27 ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา ฯลฯ และมาตรา 43 “บุคคล และชุมชนย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูหรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามรวมทั้งจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน”

ประการที่สาม  การมีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นการปฏิบัติตามพันธะกรณีระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยได้เข้าเป็นภาคีหลายฉบับ และที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination – CERD)  และปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples – UNDRIP)

หลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ประกอบไปด้วยหลักการสำคัญ   3 ประการ คือ

ประการแรก คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม อันหมายถึง การให้ความคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในการเลือกดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของตนโดยไม่ถูกคุกคามหรือถูกเลือกปฏิบัติ จากเดิมที่กลุ่มชาติพันธุ์ถูกมองในฐานะที่เป็น “คนชายขอบ” เกิดปัญหาอคติทางวัฒนธรรมที่เกิดจากความไม่เข้าใจวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องถูกละเมิดสิทธิในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่อาจเป็นรากฐานความรุนแรงในสังคมไทย ดังนั้นการให้การคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาดุลยภาคทางสังคม

ประการที่สอง  ส่งเสริมการจัดการตนเองบนฐานวัฒนธรรม ที่เน้นให้ส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นเครือมือจัดการตนเอง หรือมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ในการจัดการปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ จากเดิมที่เน้นการให้การสงเคราะห์กลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะที่เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องสูญเสียความสามารถจัดการตนเอง มาเป็นการเสริมศักยภาพให้กลุ่มชาติพันธุ์มี “พลัง” จัดการตนเอง บนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นแนวทางของการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ พื้นฐานไปสู่การสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านความมั่นคงในประเด็นการสร้างกลไกภาคประชาชนในการเสริมความมั่นคงของชาติ

ประการที่สาม สร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะ คนชายขอบต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ในแง่นี้การมีกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ในเป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้หลักการของความเสมอภาคที่มีแนวทางจัดสรรทรัพยากรให้สอดคล้องกับศักยภาพของคนที่มีความหลากหลาย

ในขณะนี้คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาร่างยกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นอีกฉบับ และจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างต่อไป ในขณะเดียวกันศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานหลักดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติฯ ก็อยู่ระหว่างการพิจารณายกร่างและจะจัดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศต่อไป

8. ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาการขึ้นทะเบียนพรุแม่ลำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับชาติเป็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ

สิทธิในสิ่งแวดล้อมได้มีการรับรองไว้ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตุลาการย่อมมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวดังกล่าว

จากกรณีที่บริษัทเครือสหวิทยาจำกัด และบริษัทโรงถลุงเหล็กสหวิทยา จำกัดฟ้องเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบการขึ้นทะเบียนพรุแม่ลำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ และมาตรการคุ้มครองพื้นที่ชุมน้ำรวม 17 มาตรการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีผลกระทบต่อการลงทุนจัดตั้งโรงถลุงเหล็กในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ.2552

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2563 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่าการให้ความเห็นชอบการขึ้นทะเบียนพรุแม่ลำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ และมาตรการคุ้มครองพื้นที่ชุมน้ำรวม 17 มาตรการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลเห็นว่าแม้การดำเนินการตามนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตเหล็กขั้นต้นจะตอบสนองความต้องการใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศในระยะยาว รวมถึงลดปริมาณการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยในภาพรวม แต่เมื่อทรัพยากรธรรมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในบริบทโลก และปัจจัยภายในประเทศ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของประชากร และการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งการเจริญเติมโต และการแข่งขันทางด้านการค้าและการลงทุน ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสนองตอบต่อความต้องการในการพัฒนา จึงส่งผลกระทบต่อสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง 

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดี (คณะรัฐมนตรี) ให้ความเห็นชอบให้พรุแม่ลำพึงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับชาติและการกำหนดมาตรการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ 17 มาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานสนับสนุน ซึ่งเป็นการจัดให้มีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “ สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทาง ชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม”  และวรรคสองบัญญัติว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของ ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการ การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”

9. สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มุ่งให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ อีกทั้งประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยตรง

สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยแบ่งออกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร และต้องมีการเลือกตั้งโดยตรงตามวาระการดำรงตำแหน่งขอแต่ละรูปแบองค์การปกครองส่วนดังกล่าวทุก 4 ปี 

 แต่เนื่องจากมีการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศ คสช.ให้องค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ครบวาระแล้ว ไม่มีการเลือกตั้งตามวาระที่ควรจะเป็นตามหลักการกระจายอำนาจและการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นว่างเว้นจากการเลือกตั้งเป็นระยะเวลายาวนานเกือบ 8 ปี   อีกทั้งนายก อปท. และสมาชิก อปท. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ให้รักษาการณ์นายก อปท.และสมาชิก อปท.อย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ด้วยเหตุนี้ สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นท้องถิ่นต้อง “ถูกริบ”ไปนานกว่า 6 ปี หรือบางพื้นที่เป็นเวลากว่า 8 ปี

ดังนั้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2563 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกโดยกำหนดให้วันที่  20 ธันวาคม พ.ศ.2563 เป็นวันเลือกตั้ง ย่อมทำให้ประชาชนในแต่ละจังหวัดเลือกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ อันถือเป็นการได้สิทธิในการกำหนดอนาคตทางการเมืองของตนเองตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยคืนมา

10. การจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย” เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภค คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจำนวน 152 องค์กรจาก 27 จังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมมือกันเป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย” กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ที่ออกแบบให้ปลัด สปน. ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนกลาง และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นนายทะเบียนจังหวัดในการรับจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค

โดยองค์กรผู้บริโภคที่จะจดแจ้งต้องมีคุณสมบัติ คือ เกิดจากการรวมตัวกันของผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 10 คน ทำงานอย่างเป็นอิสระ ไม่ใช่องค์กรที่ถูกจัดตั้งทั้งจากภาครัฐ การเมือง และภาคธุรกิจ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่า 2 ปี และองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการประกาศจดแจ้งจากนายทะเบียนกลาง จำนวนอย่างน้อย 150 องค์กร สามารถขอริเริ่มเป็นผู้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ หากมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ผ่านการจดแจ้งในขณะนั้น  และ สปน.ต้องพิจารณาการจดจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคภายใน 30 วัน ขณะนี้เครือข่ายผู้บริโภคจำนวน 152 องค์กร ดังกล่าว จึงมีสถานะรอการประกาศการจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย”

สภาองค์กรผู้บริโภคที่จะประกาศจัดตั้งนี้ จะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคตามกฎหมาย มีอำนาจในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน เช่น  1. เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.สนับสนุนและดำเนินการตรวจสอบติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจจะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคและสามารถเปิดเผยชื่อสินค้าได้ 3. รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายต่อผู้บริโภค 4.สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรผู้บริโภคและส่งเสริมการรวมตัวกันขอองค์กรผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่

5. สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 6. สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอม 7. ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิด สิทธิผู้บริโภคและ 8. จัดให้มีหรือรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

10 ด้อย (Backward)

1.    รัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าชื่อ (สิทธิประชาชนเสนอกฎหมาย)

 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (the International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR)  ข้อ 1 รับรองให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง โดยประชาชนอาศัยสิทธิดังกล่าวกำหนดสถานะทางการเมืองของตนอย่างเสรี รวมทั้งดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนได้อย่างอิสระ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นการเรียกร้องให้รัฐต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการกำหนดทิศทางการเมืองของพวกเขาเองโดยผ่านวิถีทางประชาธิปไตย ทั้งในแง่ของการเลือกรัฐบาล เลือกผู้แทนของตนอย่างอิสระ รวมถึงสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมหรือมีส่วนร่วมต่อโครงสร้างสถาบันการเมืองของรัฐ นโยบายสาธารณะ หรือแม้แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อันเป็นกติกาสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 256 ก็ได้รับรองสิทธิดังกล่าว โดยกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเข้าชื่อกันเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ภาคประชาชน นำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ได้รวบรวมรายชื่อประชาชน 100,732 รายชื่อ (หลังรัฐสภาตรวจสอบรายชื่อแล้ว ระบุว่ามีประชาชนที่เข้าชื่อจำนวน 98,071 รายชื่อ) เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2563 

การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนมีเป้าหมายหลัก 3 ข้อ "ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ" กล่าวคือ "รื้อ" ระบอบอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) "สร้าง" หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเปิดทางให้ "ร่าง" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยประเด็นสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนมีสาระสำคัญ อาทิ การยกเลิกการรับรองบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. หรือหัวหน้า คสช.  ปิดทางการเข้ามาของนายกคนนอก ยกเลิกหมวดการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ตัดอำนาจ ส.ว.ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น แก้กระบวนการสรรหาคนในองค์กรตรวจสอบ เปิดทางตั้ง สสร. ร่างใหม่ทั้งฉบับ ยกเลิก ส.ว. 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. และแก้ไขให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น

วันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมกันพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอต่อสภามาทั้งสิ้น 7 ฉบับ รวมฉบับของประชาชนด้วย โดยเป็นการพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่สองสภา หรือ 366 เสียง จาก 732 เสียง ในจำนวนนี้ต้องเป็นคะแนนเสียงเห็นชอบจากวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของวุฒิสภาที่มีอยู่ หรือ 82 เสียง

ผลการลงมติขั้นรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ปรากฏว่ามีการรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพียง 2 ฉบับ คือฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน โดยร่างของพรรคร่วมรัฐบาลได้รับความเห็นชอบมากที่สุด 647 เสียง ขณะที่ร่างอีก 5 ฉบับ ของฝ่ายค้าน รวมทั้งร่างฉบับภาคประชาชน มีคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งขอหัวหน้า คสช. และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายรัฐบาลส่วนใหญ่งดออกเสียงและไม่รับหลักการ โดยร่างฉบับประชาชนมีการลงคะแนนรับหลักการเพียง 212 เสียง ไม่รับ 139 เสียง และงดออกเสียง 369 เสียง และมี ส.ว. ลงมติรับหลักการเพียง 3 คน จึงเป็นอันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเป็นอันตกไป โดยในระหว่างการอภิปรายก่อนลงมติ ยังพบว่า สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา ที่อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ด้วยการยกเหตุผลนอกประเด็น และมุ่งไปที่การโจมตีเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เช่น การกล่าวหาว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มีต่างชาติหนุนหลัง เป็นต้น

การที่รัฐสภาลงมติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอไว้พิจารณาตั้งแต่วาระที่ 1  ซึ่งเป็นเพียงขั้นรับหลักการนั้น จึงนับเป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ร่วมกันเข้าชื่อ ทำให้เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาร่วมกับข้อเสนอของร่างอื่น ๆ ที่เสนอโดยพรรคการเมือง นอกจากนั้น ยังนับเป็นการปิดโอกาสที่จะหาทางออกสำหรับปัญหาทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นด้วยกลไกประชาธิปไตย เพื่อหาฉันทามติผ่านการสร้างกติกาใหม่ของการอยู่ร่วมกัน

2.    การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2563 โดยอาศัยเหตุตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อใช้อำนาจเข้าสลายการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และมีการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุมจำนวน 22 คน ทั้งที่แกนนำได้ประกาศชัดเจนว่าจะยุติการชุมนุมให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับในเวลาหกนาฬิกา ถือว่าขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล หลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมาย จนทำให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ซึ่งหลักการดังกล่าวได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ  กล่าวคือ

1. การชุมนุมและการเดินกระบวนของคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)  เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและต่อสาธารณะให้มีการถกเถียงกันอย่างอารยะ อันเป็นการแสดงออกตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย

2. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่เป็นไปตามหลักการภาวะฉุกเฉินตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ต้องเกิดภัยคุกคาม “ความอยู่รอดของชาติ” ซึ่งต้องเป็นสถานการณ์เกี่ยวข้องกับคนทั้งชาติ และการดำเนินชีวิตของประชาชนถูกคุกคาม และต้องเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนไม่สามารถใช้กฎหมาย หรือมาตรการปกติดำเนินการควบคุมสถานการณ์ได้

3. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างร้ายแรงไม่เป็นไปหลักการตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ไม่ได้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคลแต่ประการใดและมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงทีแต่ประการใด

4. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่เป็นตามหลักความจำเป็น หลักความสมเหตุสมผล และหลักความได้สัดส่วนกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดังเช่น การห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคน ห้ามเสนอข่าวของหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ห้ามใช้เส้นทางหรือยานพาหนะ ห้ามใช้ เข้าไปหรืออยู่ในอาคาร อีกทั้งเป็นการให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบของสถาบันตุลาการ เช่นการจับกุมและควบคุมตัว การสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัว การสั่งยึดหรือ อายัดอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารหรือการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การสั่งห้ามไม่ให้บุคคลกระทำหรือให้ทำการใดๆ

3.  การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น และการชุมนุม

 เสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การชุมนุมโดยสงบและการสมาคมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR ข้อ 19, 21 และ 22  และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34, 42 และ 44 แม้สิทธิดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้ แต่การจำกัดนั้น รัฐพึงต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความชอบธรรมทางกฎหมาย และความจำเป็นและได้สัดส่วนในการจำกัดเสรีภาพภายใต้บริบทของสังคมประชาธิปไตย และต้องอธิบายได้อย่างชัดแจ้งว่าการจำกัดนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย มิใช่แต่เพียงการกล่าวอ้างอย่างคลุมเครือ

ในรอบปี พ.ศ.2563 มีการเคลื่อนไหวของประชาชนหลายกลุ่ม แต่ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจนปัจจุบันคือการเคลื่อนไหวของประชาชนในนาม “คณะราษฎร” ซึ่งมีทั้งการชุมนุมย่อยของกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  ในขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มที่ต่อต้านข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฏร จนเกิดการกระทบกระทั่งกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่ราชดำเนินวันที่ 14 ตุลาคม เหตุการณ์ที่รามคำแรงวันที่ 21 ตุลาคม และเหตุการณ์การชุมนุมที่รัฐสภา (แยกเกียกกาย) วันที่ 17 พฤศจิกายน จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย 

ตลอดระยะเวลาของการเคลื่อนไหว รัฐได้พยายามปิดกั้นและจำกัดการใช้เสรีภาพของกลุ่ม “คณะราษฎร” และแนวร่วมในหลายรูปแบบ โดยอาจจำแนกคร่าว ๆ ได้ดังนี้

1. การข่มขู่ การห้าม การติดตาม การสกัดกั้น โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่เคลื่อนไหวในโรงเรียน มักจะถูกสถานศึกษาสั่งห้ามทำกิจกรรมการเมือง บางแห่งถูกขัดขวางด้วยความรุนแรง เช่น ตบหัว ตีมือ ตบโทรศัพท์ ถูกครูตำหนิ ด่าว่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ถูกครูข่มขู่จะเรียกผู้ปกครอง หรือลงโทษในรูปแบบต่าง ๆ  เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสอดส่องในโรงเรียนและเรียกนักเรียนไปคุย 

2. การใช้กำลังสลายการชุมนุม พบว่า ตลอดการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร มีการสลายการชุมนุมโดยตำรวจอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งแรกคือการสลายการชุมนุมวันที่ 13 - 14 ตุลาคม พ.ศ.2563 โดยวันที่ 13 ตุลาคม ตำรวจได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรอีสาน ที่นำโดยจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่ได้กางเต็นท์เพื่อเตรียมพร้อมรับการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2563 พร้อมกับจับกุมผู้ชุมนุมไปรวม 21 คน หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี และมีรายงานว่าบางรายถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายระหว่างการจับกุมด้วยและการสลายการชุมนุมกลางดึกวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2563 จนนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และจับกุมตัวแกนนำบางราย อาทิ นายอานนท์ นำภา นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นต้น ครั้งที่สองเป็นการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2563 โดยเจ้าหน้าที่มีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสี และสารเคมียิงใส่ประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายรายและมีการจับกุมผู้ชุมนุมหลายราย ครั้งที่สามเป็นการสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ตำรวจใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสารเคมี รวมถึงการใช้แก๊สน้ำตายิงใส่ประชาชนที่พยายามเข้าไปในพื้นที่หน้ารัฐสภา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ซึ่งเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าวมา ยังไม่มีการให้รายละเอียดที่ชัดเจนว่าสารเคมีที่ใช้ฉีดใส่ประชาชนนั้นคือสารเคมีประเภทใด และยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดต้องรับผิดชอบต่อการกระทำด้วยความรุนแรงต่อประชาชน

3. การฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางเมือง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 มีบุคคลอย่างน้อย 173 คนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและกล่าวหาเกี่ยวกับกิจกรรมการชุมนุม บางรายถูกดำเนินคดีหลายคดี และมีนักเรียนถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 5 ราย และจากข้อมูลที่รวบรวมโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) (ปรับปรุงล่าสุด 10 ธันวาคม พ.ศ.2563)  พบว่ามีการตั้งข้อหา ต่าง ๆ อาทิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 (อย่างน้อย 3 ราย) มาตรา 112 (อย่างน้อย 23 ราย) มาตรา 116 (อย่างน้อย 30 ราย) พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ (อย่างน้อย 15 ราย) พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ (อย่างน้อย 135 ราย) และข้อหาอื่น ๆ อีกหลายราย 

สำหรับการคุกคามนั้น พบว่า มีการใช้กระบวนการนอกกฎหมาย อาทิ การเชิญตัวไปสอบถามข้อมูลและจัดทำบันทึกข้อตกลง การจับกุมโดยไม่มีหมายจับ การจับกุมในยามวิกาลโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ การออกหมายจับเลย โดยไม่มีหมายเรียกก่อนทั้งที่ผู้ที่เป็นเป้าหมายของการจับกุมไม่ได้มีพฤติกรรมหลบหนี  เมื่อจับมาแล้ว พนักงานสอบสวนเน้นการขอฝากขังเพื่อต้องการควบคุมตัวไว้ และบางกรณีเมื่อมีการปล่อยตัวก็พบว่ามีการมาขออายัดตัวไว้ตามหมายจับอื่น หรือซ้ำร้ายกว่านั้นพบว่ามีกรณีที่ตำรวจมีการนำหมายจับที่สิ้นผลไปแล้ว เพื่อมาขออายัดต่อผู้ต้องหาซ้ำอีก
จะเห็นได้ว่า สถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น และการชุมนุมของไทย ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการปิดกั้นด้วยการฟ้องคดีซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งรัฐได้เข้ามาเป็นผู้เล่นหลักในการดำเนินคดีกับประชาชน โดยมีการนำกฎหมายมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชน ตั้งแต่ข้อหาเล็กน้อยอย่างความผิดตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด ไปจนถึงข้อหาหนักเกี่ยวกับความมั่นคง อย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 รวมถึงการรื้อฟื้นการนำมาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง หลังจากงดใช้บังคับมาก่อนหน้านี้

4. กรณีอุ้มหาย วันเฉลิม ความรับผิดชอบของรัฐไทยในการสืบสวนสอบสวน ปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2563  มีรายงานข่าวและภาพจากกล้อง CCTV เผยแพร่ในสื่อ On Line ไปทั่วโลก ในทันทีหลังจากนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยถูกบังคับเอาตัวขึ้นรถสีน้ำเงินเข้ม โดยชายในชุดดำพร้อมอาวุธจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน ที่ปฏิบัติการอย่างอุกอาจต่อหน้าพยานที่พบเห็นเหตุการณ์จำนวนมาก โดยเหตุเกิดกลางวันบ่ายสี่โมงเศษในบริเวณหน้าคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงพนมเป็ญ ที่เขาได้พักอาศัยอยู่ นับจากที่พวกเขาหนีภัยทางการเมืองมาอยู่ที่กัมพูชาภายหลังการรัฐประหารของ คสช. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557   

แม้จะมีการรายงานข่าวและการเผยแพร่คลิปวีดีโอและมีผู้ไปแจ้งความตำรวจในท้องที่ ที่สามารถยืนยันได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษชนที่ร้ายแรงคือการบังคับให้สูญหาย เกิดขึ้นกับวันเฉลิม แต่เวลาผ่านไปกว่าหกเดือน ครอบครัวและองค์กรสิทธิมนุษยชนพบว่าการช่วยแหลือเพื่อแสวงหาความยุติธรรมและดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวของทางการไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของชาวไทยในต่างแดน ดำเนินการได้อย่างล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งโดยช่องทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือช่องทางทางการทูต  แม้องค์กรสหประชาชาติและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยได้มีแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเต็มใจและจริงจังแล้วก็ตาม ครอบครัวของวันเฉลิมจึงได้ขอความช่วยเหลือจากองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อหาทนายความกัมพูชายื่นเรื่องร้องเรียนต่ออัยการกัมพูชา จนอัยการได้ยื่นคำร้องต่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นแห่งกรุงพนมเป็ญ และผู้พิพากษาไต่สวนคดีได้นัดสอบปากคำ สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ความล่าช้าในการคลี่คลายคดีอุ้มหายต่างๆ เกิดขึ้นจากความไม่จริงใจของทางการไทยในการยุติการอุ้มหาย ทั้งที่มีการรณรงค์และการเสนอร่างกฎหมายให้รัฐบาลและรัฐสภา ที่ระบุให้การทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญามาเป็นระยะเวลากว่า 7 ปีแล้วก็ตาม  

ปัจจุบันร่างพรบ.ป้องกันปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย มีทั้งร่างของกระทรวงยุติธรรมที่ผ่านการรับฟังความเห็นแล้ว และร่างของสภาผู้แทนราษฎรเสนอโดย ส.ส.  ทั้งจากพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดรวมสามฉบับก็ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2560 แล้วเช่นกัน แต่ร่างกฎหมายทั้งหมดยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากความล่าช้าในการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับกระทรวงยุติธรรมเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แสดงให้เห็นถึงความไม่เอาจริงเอาจังของรัฐบาลไทยในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย กระทั่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED) ทั้งๆที่ได้ลงนามแสดงเจตจำนงว่าจะเข้าเป็นภาคีไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554

5. กระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉลบิดเบือนการใช้อำนาจและเลือกปฏิบัติ (คดีบอส อยู่วิทยา)

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2563 อัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ในทุกข้อกล่าวหา จากกรณีตกเป็นผู้ต้องหาคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต ที่ปากซอยสุขุมวิท 47 เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2555 เดิมคดีนี้เมื่อปี พ.ศ.2556 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องนายวรยุทธ 4 ข้อหา คือ ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงในทันที และขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และสั่งไม่ฟ้องข้อขับรถในขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย    

อย่างไรก็ดีทางการไทยก็ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาฟ้องได้ เพราะผู้ต้องหาหลบหนีออกไปนอกประเทศ จนทำให้หลายข้อหาขาดอายุความ ได้แก่ ข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยประมาทอันอาจจะเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน ซึ่งมีอายุความ 1 ปี และข้อหาไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร ซึ่งมีอายุความ 5 ปี การสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการสูงสุด โดยไม่มีความเห็นแย้งจากฝ่ายตำรวจเมื่อช่วงกลางปี พ.ศ.2563 ซึ่งส่งผลให้คดีเป็นอันสิ้นสุด ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากสาธารณะชนอย่างกว้างขวางถึงความโปร่งใสในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม จนเป็นเหตุให้ผู้เกี่ยวข้องไม่สามารถนิ่งเฉย ทั้งอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมถึงนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาดังกล่าวกันยกใหญ่

ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2563 คณะทำงานที่แต่งตั้งโดยอัยการสูงสุด ได้ระบุว่าพบพยานหลักฐานเพิ่มเติม 2 ประเด็น คือ 1) คดีปรากฏพยานหลักฐานใหม่และเป็นพยานสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้จึงสั่งฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 โดยแจ้งให้พนักงานสอบสวนนำตัวนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา มาเพื่อฟ้องต่อไป และ 2) คดีมีพยานหลักฐานทั้งปรากฏในสำนวนอยู่เดิมและได้จากการสอบสวนเพิ่มเติม แน่นแฟ้น มั่นคง ว่าขณะเกิดเหตุ ผู้ต้องหา เสพโคเคนอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 จึงเห็นควรสั่งฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 2 (โคเคนหรือโคคาอีน) โดยผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 58 , 91

ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้เปิดเผยผลสอบออกมาในเวลาไล่เรี่ยกันว่า พบข้อบกพร่องในสำนวนที่ตำรวจส่งให้อัยการ จึงเตรียมเสนออัยการรื้อคดีใหม่ พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตำรวจที่เกี่ยวข้อง ส่วนในด้านคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ก็ได้นำเสนอรายงานกว่า 100 หน้า ระบุว่าพบข้อบกพร่องในสำนวนคดี มีการประวิงเวลาและใช้พยานหลักฐานเท็จ มีการระบุชัดเจนว่าเกิดความบกพร่องที่ใคร หน่วยงานใด พร้อมได้เสนอ 5 แนวทางต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เริ่มกระบวนการสอบสวนคดีนี้ใหม่เพื่อความถูกต้อง

ต่อมามีการรื้อคดีนี้ขึ้นมาดำเนินการใหม่ และวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2563 ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุมัติหมายจับนายวรยุทธ ใน 3 ข้อหา ได้แก่ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ และเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 และในเดือนกันยายน พ.ศ.2563 ทางการไทยได้แจ้งตำรวจสากลให้ออกหมายแดงสำหรับนายวรยุทธ และเตรียมทำเรื่องขอให้ส่งตัวนายวรยุทธ กลับมาดำเนินคดีที่ไทย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด 

ผลจาการทำคดีจากการสั่งไม่ฟ้องกลายมาเป็นสั่งฟ้องนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากการติดตามกดดันและตรวจสอบจากภาคประชาชน และคดีนี้ได้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญายังมีปัญหาและยังไว้ใจไม่ได้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างที่สำคัญเลย โดยเฉพาะชั้นสอบสวนที่ยังไม่มีความโปร่งใสเพียงพอ ยังถูกแทรกแซงได้ และเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ICCPR ข้อ 26 เรื่องความเสมอภาคกันทางกฎหมาย จนทำให้มีการพูดกันมากว่า “คนจนยังมีโอกาสติดคุกมากกว่าคนรวย”

6.  ความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน: การทำร้ายร่างกายและการละเมิดทางเพศ 

ปี พ.ศ.2563 เป็นปีที่มีการหยิบยกเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งกรณีที่ครูพี่เลี้ยงทำร้ายเด็กนักเรียน หรือกรณีกลุ่มครูและศิษย์เก่ารุมข่มขืนเด็กนักเรียนหญิง  ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างรุนแรง ทั้งที่ประเทศไทยได้มีการลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 ซึ่งในอนุสัญญาดังกล่าวระบุหลักการที่กำหนดให้เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง เป็น 1 ใน 4 ของหลักการใหญ่ของอนุสัญญาฯ และนอกจากนี้ยังมีหลักการย่อยที่ถูกกำหนดรายละเอียดเฉพาะไว้อีกถึง 54 ข้อด้วยกัน

สำหรับสถานการณ์การทำร้ายร่างกายเด็กในโรงเรียนนั้นมีอนุสัญญาฯ ข้อย่อยที่ได้เขียนครอบคลุมไว้อยู่หลายข้อ เช่น ส่วนที่ 1 ข้อ 2 ได้ระบุถึงการที่รัฐจะต้องประกันว่าเด็กจะต้องได้รับการคุ้มครองจากการถูกลงโทษในทุกรูปแบบ ข้อที่ 3 ได้มีการกำหนดหน้าที่ของรัฐให้เอื้ออำนวยสถาบันต่าง ๆ หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเด็กให้มีการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน คำนึงถึงความเหมาะสมของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพเพื่อความปลอดภัยของเด็ก และข้อ 37 ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องไม่มีเด็กคนไหนจะได้รับการทรมาน ถูกปฏิบัติ ถูกลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือต่ำช้า

ส่วนสถานการณ์การข่มขืนเด็กนักเรียนก็มีหลักการปกป้องคุ้มครองเด็กกำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ ด้วยเช่นกัน โดยข้อ 19 ได้กำหนดให้รัฐมีมาตรการด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะคุ้มครองเด็กจากการกระทำความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงจะต้องไม่ให้เกิดการกระทำอันมิชอบด้านการปฏิบัติที่ผิด หรือการแสวงหาผลประโยชน์รวมถึงการกระทำอันมิชอบทางเพศ ข้อ 34 ยังกำหนดให้รัฐจะต้องคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ และการกระทำทางเพศโดยมิชอบทุกรูปแบบ  และในส่วนของการบำบัดฟื้นฟูเด็กที่ถูกกระทำหรือตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง อนุสัญญาฯ ก็ได้กำหนดให้รัฐจะต้องมีหน้าที่บำบัดฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของเด็กเพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ โดยเด็กจะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง รวมถึงเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเอง 

จากปัญหาความรุนแรงต่อเด็กรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงชี้ให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงกับเด็กในโรงเรียนมีอยู่จริง มีจุดอ่อนของกลไกการควบคุมดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ว่าทำการดูแลได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงใด ถึงเวลาที่เราจะต้องกลับมาทบทวนร่วมกันอีกครั้งว่าการที่ประเทศไทยนำอนุสัญญาฯ มาใช้เป็นกรอบในการทำงานและกำหนดเป็นกฎหมายฉบับต่าง ๆ นั้น หน่วย งานที่เกี่ยวข้องมีการทำหน้าที่ตามหลักการสำคัญของอนุสัญญาดังกล่าวหรือไม่ ในทางปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายหรือข้อกำหนดต่าง ๆ นั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดและอะไรที่เป็นช่องว่างหรือข้อท้าทายในการทำงาน

 7. การยกเลิกการจัดการที่ดินรูปแบบโฉนดชุมชน

โฉนดชุมชนเป็นรูปแบบการจัดการที่ดินของชุมชนตามหลักสิทธิชุมชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดว่า “บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือ ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิ ปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน”

ต่อมารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ออก “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553” เพื่อให้เป็นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการรับรองสิทธิชุมชน การจัดการทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งในระเบียบดังกล่าวให้มีคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการให้ชุมชนจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชมโดยให้ชุมชนที่ประสงค์จะจัดการที่ดินรูปแบบโฉนดชุมชนมาเสนอให้คณะกรรมการตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมของชุมชนที่อาจได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐในการดำเนินงานโฉนดชุมชน ตลอดจนติดตามการดำเนินงานโฉนดชุมชน ในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 

จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับการออกโฉนดชุมชนแล้วมีทั้งหมด 4 แปลง ได้แก่ ชุมชนคลองโยง ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 2 แปลง ชุมชนบ้านแม่อาว ต.นครเจดีย์ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และชุมชนพระธาตุขิงแกง  ต.พระธาตุขิงแกง อ.จุน จ.พะเยา 

ทั้งยังมีชุมชนที่ยื่นคำขอโฉนดชุมชนจำนวน 482 ชุมชน ในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) เห็นชอบแล้วแต่ยังต้องรอหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อนุญาต 58 ชุมชน แบ่งเป็นภาคกลาง 4 ชุมชน ภาคเหนือ 18 ชุมชน ภาคอีสาน15ชุมชนและภาคใต้ 21 ชุมชน

ต่อมาคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)จะพิจารณาอาจนำที่ดินที่มีคำขอโฉนดชุมชนจำนวน 482 ชุมชนโอนมาบริหารจัดการในรูปแบบอื่นแทนรูปแบบโฉนดชุมชนต่อไป ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสิทธิชุมชนตามเจตนารณ์ของรัฐธรรมนูญ 

8. การสรรหาและเลือก กสม. ชุดใหม่ นาน 3 ปี และกลไกการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่มีประสิทธิภาพ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 247  บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่และอํานาจ (1) ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง การเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 34 บัญญัติว่า เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนหรือไม่ก็ตามว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ให้คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและทำความจริงให้ปรากฏโดยไม่ล่าช้านั้น 

แต่นับตั้งแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 และมีการแต่งตั้งคณะกรรมสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อปี2561ที่มีองค์ประกอบเป็นไปตามหลักการปารีส แต่ด้วยกระบวนการสรรหาและคัดเลือกเป็นไปอย่างล่าช้าเป็นอย่างมากจนครบ 3 ปี  ด้วยเหตุผล ดังนี้

ครั้งที่ 1 คณะกรรมการสรรหา กสม. ได้ส่งรายชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 7 คน เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่แทนวุฒิสภาให้การรับรอง แต่ปรากฏว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้การรับรองเพียง 2 คน คือ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2561 

ครั้งที่ 2 คณะกรรมการสรรหา กสม. ได้ส่งรายชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน  5 คน ให้วุฒิสภาให้การรับรอง แต่ปรากฏว่าวุฒิสภาให้การรับรองเพียง 2 คน คือ นายสุชาติ เศรษฐมาลินี และนางปรีดา คงแป้น

ครั้งที่ 3 คณะกรรมการสรรหา กสม.ได้ส่งรายชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 1 คน คือนางสาวศยามล ไกรยูรวงศ์ และได้รับการรับรองจากวุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา

ในขณะนี้ คณะกรรมการสรรหา กสม. ได้ส่งรายชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 2 คน คือ นางสาวรัชดา ไชยคุปต์และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ เพื่อให้วุฒิสภาให้การรับรองต่อไป ในระหว่างการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนใหม่ มีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมลาออกไป 4 คน ประกอบ นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย นายชาติชาย  สุทธิกรม นางอังคณา นีละไพจิตร และนางเตือนใจ ดีเทศน์ ทำให้เหลือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติปฏิบัติงาน 3 คนคือ นายวัส ติงสมิตร นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม ตั้งวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2562 

ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่เป็น กสม.ชั่วคราวอีก 4 คน เพื่อให้ครบ 7 คนตามจำนวน กสม.ที่พึงมีตามกฎหมายประกอบด้วย นายสม พรหมรส นางอารีวรรณ จตุทอง นางภิรมย์  ศรีประเสริฐ และนายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความล่าช้าของการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ที่มีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาที่มาจากภาคประชาสังคมตามหลักการปารีส จึงทำให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ครบ 7 คน จนถึงทุกวันนี้และ ในปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ปรากฎเป็นข่าวไปทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากเมื่อวันที่ 13 – 14 มีนาคม พ.ศ.2563 สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) https://ilaw.or.th/node/5640 ได้นำเสนอรายงานการติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขสถานการณ์ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศไทย ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติโดยรายงานระบุว่ารัฐบาลไทยยังคงละเลยการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการดังกล่าว ในประเด็นปัญหาสำคัญ ได้แก่ ปัญหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้ในเดือนเมษายนปี 2560 มีบทบัญญัติรับรองให้ประกาศคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ยังไม่ถูกยกเลิกยังมีผลบังคับใช้อยู่อย่างต่อเนื่องต่อไปโดยยังคงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน  แม้คสช.จะสิ้นสภาพไปแล้วก็ตาม  รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ยังมีบทบัญญัติบางประการที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและรับรองให้ทหารยังคงมีบทบาทและอำนาจในการเมืองไทยต่อไปอีกยาวนาน  รายงานยังระบุว่ารัฐบาลไทยล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการฯ ในประเด็นด้านการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย โดยปรากฎว่ายังมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้กระทำการยังคงลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากการสืบสวนสอบสวนที่ไม่ได้กระทำอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งเป็นการละเลยพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ทั้งนี้ คณะกรรมการ ICCPR ได้ทบทวนสถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประเทศไทยในการประชุมรอบที่ 129 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2563 ถึง 24 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ที่นครเจนีวา ก็ยังคงมีข้อสรุปว่า ประเทศไทยยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

เมื่อพิจารณาถึงบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นกลไกตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีสถานภาพเป็นองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ พบว่าไม่มีผลงานในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิตามที่คณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองชี้ประเด็นอย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อตรวจสอบการทำงาน พบว่า กสม.ชุดที่ 3 ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน และจัดทำรายงานผลการตรวจสอบรวมทั้งสิ้น 2,426 เรื่อง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) โดยเป็นเรื่องที่ค้างมาจาก กสม.ชุดที่ 1 และ2 จำนวน 807 เรื่อง เป็นเรื่องรับใหม่ในช่วงการดำรงตำแหน่งของ กสม.ชุดที่ 3 จำนวน 1,586 เรื่อง ผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ กสม. ชุดที่ 3 เห็นสมควรหยิบยกขึ้นตรวจสอบและพบว่ามีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีเพียง 98 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 4.84 ยุติเรื่อง/ไม่รับเป็นคำร้อง 1,927 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 95.16 เป็นที่น่าสังเกตว่า เพราะเหตุใด เรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมาที่ กสม. จึงถูกยุติเรื่อง/ไม่รับเป็นคำร้องมากถึงกว่าร้อยละ 90  กสม. ไม่มียุทธศาสตร์เชิงรุก ไม่ลงพื้นที่รับรู้สถานการณ์จริงหรือหลายกรณีไม่ได้เรียกให้ผู้เสียหายมาให้ปากคำ ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการแก้ไข ดังเช่นกรณีการฟ้องหมิ่นประมาทคนกว่า 20 คนโดยบริษัทธรรมเกษตร เป็นตัวอย่างหนึ่งที่กสม.ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควรหรือไม่? (www.fidh.org/ไทย/thailand-thammakaset-watch) 

อีกทั้งปัญหาและข้อเสนอแนะในรายงาน Universal Periodic Review (UPR) ที่ไทยรายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติยังไม่เห็น กสม.ติดตามหรือทำให้ภารกิจที่มีต่อสหประชาชาติบรรลุได้ด้วยการผลักดันของ กสม.   ในขณะที่ภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน ต้องทำงานหนักตลอดปีเพื่อให้ร่าง พรบ.ป้องกันการซ้อมทรมาน และการทำให้บุคคลสูญหาย เข้าสู่การพิจารณาในสภาเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ลงโทษผู้กระทำผิดได้โดยเร็ว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2563 เครือข่ายตรวจสอบกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ยื่นจดหมายต่อ กสม.  ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กสม. กรณีปัญหาที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการชุมนุม การละเมิดสิทธิมนุษยชนประเด็นอื่น ๆ และกระบวนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ตลอดจนข้อเสนอแนะต่อแนวทางการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษา 

เครือข่ายตรวจสอบกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สรุปว่า กสม. ชุดปัจจุบัน ไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน บทบาทของ กสม. ในรอบปี พ.ศ.2563 ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของภาคประชาชน กสม. เคยออกแถลงการณ์ที่แสดงจุดยืนปกป้องรัฐมากกว่าปกป้องสิทธิมนุษยชน และทักท้วงการแสดงออกของภาคประชาชน กสม. สนใจทำในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ปรากฎผลที่นำไปสู่การมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 274 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 34 แต่อย่างใด จึงเป็นบทบาทที่ถดถอยลงของ กสม. ในช่วงปี พ.ศ.2563 

9. ปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐและเอกชน (IO) ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน    

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 20 (2)  “การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกประติบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย” จึงถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องไม่กระทำการดังกล่าว ในขณะเดียวกันรัฐต้องมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองไม่ให้มีการกระทำต่อกันในหมู่ประชาชน 

ในยุคการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การปฏิบัติการด้านข่าวสารหรือ Information Operation (IO) เป็นกลไกสำคัญที่นำมาใช้ในการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ด้วยการสร้างข่าวเท็จ (fake news) ข่าวลือ ข่าวปล่อย ทำให้สังคมเข้าใจผิด และการสื่อสารเพื่อสร้างความเกลียดชัง (hate speech) ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  โดยเฉพาะเมื่อมีความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ และความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

ประเด็นสำคัญรัฐบาลกลับใช้การปฏิบัติการด้านข่าวสาร (IO) กับประชาชน กลุ่มประชาชน หรือภาคประสังคมที่มีความเห็นต่างวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ในขณะเดียวกันฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็ใช้วิธีการเดียวกัน อีกทั้งในหมู่ประชาชนที่มีความเห็นต่างกันทางการเมืองก็ใช้เครื่องมือนี้เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะไม่เป็นระบบก็ตาม

จากการเปิดเผยของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ซึ่งอภิปรายไม่ไว้ วางใจ นายกรัฐมนตรี ที่ใช้ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร หรือ IO (Information Operation) ใช้เงินภาษีประชาชนในการดำเนินการสร้างเว็บไซต์ หรือเพจ Facebook ลงบัญชีเฟสอวตารหรือบัญชีผู้ใช้ปลอมหลายบัญชี เพื่อตอบโต้แบบพลีชีพกันทางออนไลน์ รวมทั้งมี pulony.blogspot.com เขียนเนื้อหาปลุกปั่น โจมตีฝ่ายเห็นต่างทางการ เมือง สร้างความแตกแยก และคุกคามนักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ที่ทำงานในประเด็นต่างๆทางการเมือง และในพื้นที่ชายแดนใต้ (รายละเอียดผู้จัดการออนไลน์ “ทหารสารภาพมีการจัดตั้งขบวนการ IO โจมตีฝ่ายเห็นต่าง” เผยแพร่: 26 ก.พ. 2563) สอดคล้องกับการออกมาของนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วย น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ และทนายความ ที่เดินทางไปฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี วันที่ 4 พฤศิกายน พ.ศ.2563 ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลกำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพบก กรณีจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทางโลกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com โดยภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงในเอกสารที่ กอ.รมน.เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 สภาผู้แทนราษฎร และได้ถูกนำมาประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาในเวลาต่อมา ซึ่งในภายหลังตัวแทนของกอ.รมน. ได้แถลงข่าวยอมรับว่า เว็บไซต์ Pulony.blogspot.com เป็นเว็บไซต์ของ กอ.รมน.จริง

หลังจากนั้น สำนักข่าวรอยเตอร์ ออกมารายงานวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ถึง ทวิตเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดัง ที่ได้ระงับบัญชีทวิตเตอร์โรงเรียนจิตอาสา เพราะพบว่า บัญชีดังกล่าวเชื่อมโยงกับบัญชีทวิตเตอร์อื่นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเบื้องต้นมีทวีตข้อความนับหมื่นทวีต มาจากบัญชีที่กระจายข่าวสารของกลุ่มผู้จงรักภักดี ในความพยายามเพื่อตอบโต้การประท้วงของเยาวชนกับผู้สนับสนุนที่กินเวลายาวนานนับเดือน การประท้วงซึ่งมีข้อเรียกร้องขยายขึ้นจากการต่อต้านรัฐบาลไปสู่การท้าทายสถาบันฯ (https://www.bbc.com/thai/thailand-55145803) สำนักข่าวบีบีซีเขียนว่ารอยเตอร์ได้ตรวจสอบเอกสารการฝึกภายในของกองทัพบกแสดงให้เห็นหลักฐานปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกองทัพ และลดทอนความน่า เชื่อถือของฝั่งตรงข้าม

การเปิดเผยยังปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2563 มีกรรมการคณะก้าวหน้ายังแถลงอ้างอิงเอกสารของกองทัพที่มีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์โดยไม่ทราบที่มา ว่าก่อนหน้านี้มีหน่วยทหารทั้งหมด 19 หน่วยงาน มีบัญชีใช้งานทวิตเตอร์ 54,800 บัญชี ที่กองทัพใช้ปฏิบัติการด้านข่าวสารทำงานผ่านแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานกับทวิตเตอร์  ซึ่งมีลักษณะการทำงานที่สามารถทวีตข้อความหลายข้อความได้ในเวลาเดียวกัน และได้ระบุชื่อหน่วยงานทหาร  ที่มีบัญชีปฏิบัติการในระบบไอโอ 17,562 บัญชี โดยอย่างน้อยที่สุด 600 บัญชีเป็นทหาร มีหน่วยงาน ยศ ตำแหน่งชัดเจน  
การปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) กำลังสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังของคนในชาติ ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกประติบัติ หรือการเป็นปฏิปักษ์ในหมู่ประชาชนจนอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐบาลต้องยุติการกระทำดังกล่าว และต้องปกป้องไม่ให้มีการกระทำดังกล่าวในหมู่ประชาชน 

10. มาตรการการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด 19 ผู้เดือดร้อนที่แท้จริงจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิการเยียวยา

ในช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลได้เลือกการใช้มาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้นด้วยการประกาศ lockdown (อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ) ซึ่งมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตและทำมาหากินของประชาชน  โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน หาบเร่ แผงลอย คนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ฯลฯ  รัฐบาลจึงออกมาตรการทางเศรษฐกิจหลายประการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ที่สำคัญได้แก่  เงินเยียวยาสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาท และมาตรการเยียวยาครัวเรือนเกษตรกรอีก เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาทเช่นเดียวกัน

แต่จากตัวเลขของกระทรวงการคลังที่รายงานว่า มีจำนวนแรงงานอิสระรับสิทธิ์รับเงินเยียวยาทั้งหมด 15.3 ล้านคน ในขณะที่มีจำนวนประมาณถึง 70,000 คนที่ตกหล่น (ตัวเลข ณ สิ้นสุดโครงการเมื่อสิ้นมิถุนายน 2563)  และจำนวนของเกษตรกรที่ยังตกหล่นอยู่ทั้งสิ้น 155,657 ราย (ตัวเลข ณ กรกฎาคม 2563)  ยังมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ซึ่งมีจำนวน 59,776 คนที่ไม่สามารถรับเงินชดเชยกรณีว่างงานในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน แต่จะได้รับเงินชดเชยรายได้เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ณ.สิ้นเดือนสิงหาคม ยังมีจำนวนอีกประมาณถึง 50,000 คนที่ยังไม่ได้รับเงิน เพราะติดปัญหาเรื่องข้อมูลเลขบัญชีธนาคาร

ในขณะที่ข้อมูลโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563 ระบุว่ามีผู้เข้าไปลงทะเบียนทางเว็บไซต์จำนวน 3.3 ล้านคน แต่ลงทะเบียนสำเร็จเพียง 1.8 ล้านคน  โครงการคนละครึ่งที่ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ 1 ล้านคน กำลังจะเปิดรับสมัครเพิ่ม 5 ล้านคน มีร้านค้าเข้าร่วมมากว่า 300,000 ร้าน ก็เช่นกัน หากปราศจากข้อจำกัดคงมีประชาชนผู้เดือดร้อนสามารถลงทะเบียนเป็นผู้ใช้สิทธิ์ได้มากกว่านี้ และควรจะครอบคลุมถึงสินค้าบริการด้วย เช่น แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้านตัดผม ฯลฯ

ทั้งนี้  เนื่องจากรัฐบาลเลือกใช้วิธีให้ผู้จะรับสิทธิ์ทั้งหมดเหล่านี้ต้องลงทะเบียนผ่าน application แทนที่จะเป็นการให้แบบถ้วนหน้าจากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ทำให้มีประชาชนผู้เดือดร้อนตัวจริงและมีคุณสมบัติที่ควรจะได้รับการเยียวยาและฟื้นฟู แต่ไม่มีมือถือ หรือมีมือถือที่เทคโนโลยีที่มีสมรรถนะไม่พอ ไม่ใช้สมาร์ทโฟน ไม่มีความสามารถในการเข้าถึงแอพพลิเคชั่น หรือไม่มีลูกหลานที่จะให้ความช่วยเหลือ หรือไม่มีพร้อมเพย์ผูกกับบัตรประชาชน ไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยากลายเป็นผู้ตกหล่น ถูกเลือกปฏิบัติจากนโยบายของรัฐ เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วแต่เดิมของสังคมไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท