Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน เผยเยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัย 50% มีผลใช้บังคับแล้ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ กฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่าง เนื่องจากจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ซึ่งบัดนี้มีผลใช้บังคับแล้ว และมีผลย้อนหลังคุ้มครองนับตั้งแต่ 19 ธ.ค. เป็นต้นมา

สาระสำคัญ คือ มาตราการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง เพื่อเตรียมการรองรับ โดยให้ จ่ายชดเชยให้ผู้ประกันตน 50% ของค่าจ้างรายวันหรือในเงินเดือนไม่เกิน15,000บาท โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลา ที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือทางจังหวัดนั้นๆ ได้มีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณี แต่รวมกันไม่เกิน90วัน

"รัฐบาลต้องการดูและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงาน ในยามสถานการณ์แบบนี้อย่างเต็มที่ ผมในนามรัฐบาลขอให้กำลังใจทุกท่าน เชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นภาวะปกติในเร็วๆนี้ เหมือนอย่างที่ผ่านมา และขอให้เชื่อมั่นและให้กำลังใจกันและกัน" รมว.แรงงานกล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 31/12/2563

ก.แรงงาน ปลดล็อกเงื่อนไข Co-Payment เสริมจ้างงาน นศ.จบใหม่

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญของปัญหาการว่างงานในนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และครม.ได้อนุมัติเห็นชอบการปรับแก้คุณสมบัติและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co – payment) เพื่อให้นักศึกษาจบใหม่มีโอกาสได้งานทำ และนายจ้าง/สถานประกอบการเกิดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ดังนี้

1.คุณสมบัติผู้จบการศึกษาใหม่ เป็นมีสัญชาติไทย และอายุไม่เกิน 25 ปี หากอายุเกิน 25 ปี ต้องจบการศึกษา ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป โดยผู้จบการศึกษาใหม่ที่เคยทำงานและอยู่ในระบบประกันสังคม หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว สามารถร่วมโครงการฯได้

2.เงื่อนไขสำหรับนายจ้างในการจ่ายค่าจ้าง ให้เป็นไปตามข้อตกลงการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนเงินเดือนค่าจ้างไม่เกินร้อยละ 50 ต่อคนต่อเดือน ตามค่าจ้างจริง ทั้งนี้ รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนเป็นไปตามวุฒิการศึกษา ได้แก่ ปริญญาตรี ไม่เกิน 7,500 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่เกิน 5,750 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไม่เกิน 4,700 บาท และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ไม่เกิน 4,345 บาท

3.ปรับระยะเวลาการดำเนินโครงการ ให้ขยายระยะเวลาร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (จากเดิม 1 ต.ค. 63 – 30 ก.ย. 64)

“สำหรับโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co – payment) มีวัตถุประสงค์ให้เกิดการจ้างงานใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาการว่างงานจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยภาครัฐอุดหนุนเงินเดือนครึ่งหนึ่งตามวุฒิการศึกษา จำนวน 260,000 อัตรา ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 ให้กับนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มิใช่หน่วยงานภาครัฐ อยู่ในระบบประกันสังคม และต้องไม่มีการเลิกจ้างลูกจ้างเดิมเกินกว่าร้อยละ 15 นับจากวันที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ จนตลอดระยะเวลาที่ร่วมโครงการฯ เพื่อให้ภาคเอกชนเกิดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และผู้จบการศึกษาใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานมีรายได้ ในการเลี้ยงดูตนเอง สามารถใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลดีเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน รับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co – payment) ให้เกิดการบรรจุงานเพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาการว่างงานในผู้จบการศึกษาใหม่อย่างเร่งด่วนที่สุด

“ที่ผ่านมากรมการจัดหางาน ติดตามปัญหาและอุปสรรค ความคืบหน้าโครงการฯอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยได้เชิญนายจ้าง/สถานประกอบการ และเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานผู้ปฏิบัติงานจริง มาร่วมประชุมรับฟังปัญหา/ข้อเสนอแนะ ทั้งนี้ข้อเสนอต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ทางกรมการจัดหางานได้รับไปดำเนินการทันที จนเกิดการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการร่วมโครงการฯ ในที่สุด ด้วยมุ่งหวังให้นักศึกษาจบใหม่ และนายจ้าง/สถานประกอบการ ได้รับประโยชน์สูงสุดและเสมอภาคกัน ตามภารกิจของกรมการจัดหางาน ในการส่งเสริมการมีงานทำให้กับคนไทยทุกกลุ่ม รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา ให้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน และสร้างแรงจูงใจให้นายจ้าง/สถานประกอบการเห็นถึงความสำคัญของการจ้างงานผู้จบศึกษาจบใหม่และรับเข้าทำงาน” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ www.จ้างงานเด็กจบใหม่.com และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการตรวจสอบความคืบหน้าการอนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ ติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัด ที่ระบุเป็นสถานที่ทำงาน หรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการแล้วต้องการความช่วยเหลือเรื่องการรับ-จ่ายเงินค่าจ้าง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 30/12/2563

ครม.ผ่อนผันต่างด้าว 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักรอย่างถูกกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์โควิด ระลอกใหม่

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงคณะรัฐมนตรี เห็นชอบการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ โดยมีแนวทางการดำเนินการดังนี้ กลุ่มเป้าหมายคือ คนต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่อยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดหรือหลบหนีเข้าเมือง โดยกลุ่มที่มีนายจ้าง หรือสถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ให้นายจ้างแจ้งรายชื่อคนต่างด้าวตามวิธีการที่กรมการจัดหางานกำหนดระหว่างวันที่ 15 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 และให้คนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด -19 และโรคต้องห้ามตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 เมื่อผ่านการตรวจคัดกรองโควิด-19 และโรคต้องห้ามแล้ว ให้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวตามวิธีการที่กรมการจัดหางานกำหนดภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และให้คนต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตรตามวิธีการที่กรมการปกครองกำหนดภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564

ส่วนคนต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงาน รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 18 ปี ให้แจ้งแบบข้อมูลบุคคลตามวิธีการที่กรมการจัดหางานกำหนด ระหว่างวันที่ 15มกราคม 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 และเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด-19 และโรคต้องห้าม และประกันสุขภาพระยะ 2 ปี ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 พร้อม จัดทำประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยภายในวันที่ 15มิถุนายน 2564 เมื่อผ่านการตรวจคัดกรองโควิด-19 แล้ว ให้นายจ้าง ที่ประสงค์จะรับเข้าทำงานยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 จากนั้นให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานไปปรับปรุงทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตร ตามที่กรมการปกครองกำหนด

สำหรับผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ให้แจ้งรายชื่อหรือแบบข้อมูลบุคคลระหว่างวันที่ 15มกราคม2564 ถึงวันที่ 13กุมภาพันธ์ 2564 เข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด-19 และทำประกันสุขภาพระยะเวลา 2 ปี ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 และจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 29/12/2563

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้คงจีดีพีปีหน้า 2.6% ห่วงไทยขาดแคลนแรงงานหลายอุตสาหกรรม หลังโควิดกระทบ

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เบื้องต้นทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการจีดีพีปี 2564 ไว้คงเดิมอยู่ที่บวก 2.6 % เพราะมีการตั้งกรอบการประเมินไว้แต่แรกอยู่แล้ว อยู่ที่ 0 – 4.5% จึงต้องรอดูสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้ออีกที ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่ได้ผลกระทบหนักคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนไทยท่องเที่ยวในประเทศ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวไมได้ดีมากนัก เพิ่งจะมาเริ่มฟื้นตัวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ตอนนี้ แต่มาเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19รอบใหม่ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวทรุดลงไปอีกสักพัก ต่อมาเป็นอุตสาหกรรมประมงทะเล ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ที่แรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด-19 แรงงานต่างด้าวที่ทำงานได้มีจำนวนลดลง ทำให้มีต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคซื้ออาหารทะเลลดน้อยลงด้วย และอุตสาหกรรมจัดงานอีเว้น การค้าปลีก ที่มีการยกเลิกการจัดงานในช่วงปีใหม่ไปหลายที่ และผู้คนมีความระมัดระวังการออกไปนอกสถานที่ด้วย

“อยากให้ภาครัฐดูแลเรื่องของผลกระทบอัตรากำลังแรงงานต่างด้าว ที่หลายอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาแรงงานด้าวพวกนี้” น.ส.เกวลินกล่าว และว่า ประเทศผู้นำเข้าสำคัญอย่าง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ยังไม่มีการยกเลิกคำสั่งซื้ออาหารทะเลจากประเทศไทย เพราะโดยปกติประเทศเหล่านี้มีความเชื่อมั่นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าหลังจากนี้จะมีมาตรการเพิ่มเติมเรื่องความปลอดภัยทางอาหารหรือไม่ ภาครัฐต้องทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ และอยากให้ภาครัฐสร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัยของอาหารทะเล ที่ผู้บริโภคมีความกังวลกันอยู่ ว่ายังบริโภคกันได้เป็นปกติ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 28/12/2563

อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยรักษาโควิด-19 ในแรงงานต่างด้าวหายหลายร้อยราย จ่อให้เอกสารรับรองมี "วัคซีนธรรมชาติ" ก่อนส่งกักตัวต่อเนื่อง

นายแพทย์โอภาส การกวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์หลังจากวานนี้ทีมผู้บริหารกระทรวงฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม ที่ จังหวัดสมุทรสาครว่ามีข่าวดี คือ ทางกระทรวงฯ ได้มอบเอกสารรับรองว่ามีภูมิคุ้มกันแล้ว แก่แรงงานชาวพม่า ซึ่งปัจจุบันหายป่วยแล้ว โดยวานนี้มอบให้เป็นเชิงสัญลักษณ์ แต่ความเป็นจริง ในเขตกักกันโรค ชุมชนตลาดกลางกุ้ง มีผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางกระทรวงฯ เตรียมจะมอบเอกสารยืนยัน การหายจากโรคแก่ชาวเมียนมาร์ ประมาณ 500 คน ระหว่างนี้ กำลังประสานติดตามตัวอยู่

นี่คือประสิทธิภาพของกระทรวงสาธารณสุขภาย ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้มีการวางแผนจัดการรักษาอย่างดี อันเกิดจากประสบการณ์ และการวางแผนที่ ที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติจริง ทั้งนี้ การหายป่วยจากโรค มีผลการตรวจกลับมาเป็นลบเท่ากับเป็นบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้อดีตผู้ป่วยจะได้ใบรับรองผลว่ามีภูมิคุ้มกัน แต่ยังต้องถูกกักตัวในพื้นที่กำหนด เพื่อให้เกิดความมั่นใจสูงสุดในการควบคุมโรค ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขยึดถือมาโดยตลอด

หลังจากหมดช่วงเวลากักตัว เอกสารฉบับนี้ จะสร้างความมั่นใจให้ตัวผู้ถือเอกสารและคนรอบข้างว่าบุคคลนี้ ผ่านการรับรองแล้ว ส่วนข้อกังวลว่า อาจจะกลับมาติดใหม่ ขอย้ำว่า ยังไม่มีข้อพิสูจน์ เรื่องการติดซ้ำ ที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และโอกาสเป็นไปได้เพียง 1 ใน ล้าน เท่านั้น

ที่มา: บ้านเมือง, 28/12/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net