ศาลให้ประกัน 2 เยาวชนร่วม #ม็อบย่างกุ้ง ตร.เตรียมฝากขัง 14 คนพรุ่งนี้

1 ม.ค. 2564 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอนุญาตปล่อยตัว 2 เยาวชน อายุ 17 ปี ที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ จากการร่วมกิจกรรมขายกุ้งบริเวณสนามหลวงและอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 2516 หรือ #ม็อบย่างกุ้ง ส่วนอีก 14 คน ตำรวจจะนำตัวฝากขังที่ศาลแขวงดุสิตวันที่ 2 ม.ค. 2563 เวลา 09.00 น.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า หลังการควบคุมตัวเยาวชนอายุ 17 ปี ไว้กว่า 17 ชั่วโมง พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม นำตัวภูมิ หัวลำโพง (นามสมมุติ) และปลื้ม (นามสมมุติ) เยาวชนอายุ 17 ปี มาถึงศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในเวลา 10.30 น. เพื่อยื่นคำร้องต่อผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ ให้ตรวจสอบการจับภูมิและปลื้มว่า การปฏิบัติของพนักงานผู้จับต่อเยาวชนถูกต้องหรือไม่

12.00 น. ผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ เริ่มทำการสอบถามเยาวชนทั้งสอง กว่าจะเสร็จสิ้นใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง เนื้อหาการสอบถามและคำร้องตรวจสอบการจับระบุว่า การจับกุมเยาวชนทั้งสองกระทำไปโดยละมุนละม่อม และคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, มีการแจ้งเหตุการจับแก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์การซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย, มีการแสดงตนเป็นพนักงาน และแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบโดยชัดแจ้ง ทั้งนี้ ไม่มีการระบุว่าการจับในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับต่อเยาวชน หรือแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้เยาวชนทั้งสองทราบ และมิได้ใช้วิธีการเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเยาวชน 

ในวันเดียวกันนี้ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยังได้ยื่นคำร้องขอควบคุมตัวเยาวชนทั้งสองจนกว่าจะสรุปสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ ที่ปรึกษากฎหมายของเยาวชนคัดค้านการควบคุมตัวเป็นวาจาต่อศาล โดยแถลงถึงเจตนาของ 'ภูมิ หัวลำโพง' ว่าต้องการไปซื้อกุ้งและกินกุ้ง ส่วน 'ปลื้ม' ไปที่เกิดเหตุเพราะเป็นจิตอาสากู้ชีพ นอกจากนี้ ทั้งคู่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและมีผู้ปกครองดูแล 

13.45 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ควบคุมตัวตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ที่ปรึกษากฎหมายจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอนุญาตโดยให้ทำสัญญาประกันแบบไม่มีหลักประกัน แต่หากผิดสัญญาจะปรับผู้ปกครองของภูมิ จำนวน 6,000 บาท และผู้ปกครองของปลื้ม จำนวน 3,000 บาท ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวโดยห้ามทั้งสองกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีก 

14.00 น. เยาวชนทั้งสองลงชื่อในสัญญาประกันตามที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเดินทางกลับพร้อมผู้ปกครอง ศาลนัดรายงานตัวครั้งต่อไปในวันที่ 15 ก.พ. 2564  

แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา 'ภูมิ หัวลำโพง' รวม 3 ข้อหา ได้แก่

  • ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ข้อ 3 ประกอบประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ลงวันที่ 29 ธ.ค. 63 ข้อ 1 “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทํากิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค”
  • ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 “ร่วมกันกระทําการ หรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ”
  • ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 “ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ภูมิถูกดำเนินคดีรวมคดีนี้เป็นคดีที่ 4 ต่อจากการชุมนุม #คณะราษฎร13ตุลา, #ม็อบ16ตุลาไปแยกปทุมวัน, ปาไข่-สาดสี หน้า ม.พัน 4 ทวงถามการลงโทษทหารล็อคคอผู้ชุมนุม

ขณะที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาปลื้ม 2 ข้อหา คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  โดยไม่มี พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียงฯ

ส่วนประชาชนอีก 14 คน ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บก.ตชด.ภาค 1 ตั้งแต่คืนวาน จะถูกนำตัวไปขออำนาจศาลแขวงดุสิตฝากขังในที่ 2 ม.ค. 2564 เวลา 9.00 น. 

ด้านปิยรัฐ จงเทพ กลุ่ม We Volunteer หรือ WeVo หนึ่งในผู้ถูกจับกุมโพสต์สุขสันต์วันปีใหม่จากในกรงขัง โดยระบุว่า ขอให้พลังในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจงอยู่กับทุกท่าน เป้าหมายของปีนี้มีสั้นๆ เพียงข้อเดียวเท่านั้น คือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้กลับมาอยู่ในร่องในรอย เป็นสถาบันกษัตริย์ที่เห็นหัวประชาชน ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ที่เหยียบหัวประชาชน

 

สุนสันต์วันปีใหม่จากในกรงขัง ขอให้พลังในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจงอยู่กับทุกท่าน เป้าหมายของปีนี้มีสั้นๆ...

Posted by โตโต้ ปิยรัฐ - Piyarat Chongthep on Thursday, 31 December 2020

 

ตรวจสอบการจับกุมสิทธิของเยาวชนในชั้นจับกุม

ขั้นตอนการตรวจสอบจับกุม เป็นขั้นตอนในชั้นจับกุม ซึ่งเป็นสิทธิของเยาวชนที่พนักงานสอบสวนตัองนำตัวเยาวชนมาปรากฎตัวที่ศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีเขตอำนาจ เพื่อ “ตรวจสอบการจับกุม” ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอาจมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็กหรือเยาวชน หรือบุคคลหรือผู้แทนองค์กรที่เด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย และสั่งให้บุคคลดังกล่าวพาเด็กหรือเยาวชนไปศาลเยาวชนและครอบครัวภายใน 24 ชั่วโมงก็ได้  

การตรวจสอบการจับกุมนี้มีกระบวนการ คือ เมื่อเด็กและเยาวชนเดินทางมาถึงศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลจะทำการสอบถามเด็กหรือเยาวชนว่า ถูกจับกุมโดยถูกต้องหรือไม่ ตามมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ศาลจะสอบถามว่าในขณะการจับกุม เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนนั้น โดยแจ้งแก่เด็กหรือเยาวชนที่เป็นผู้ต้องหาว่าเขาต้องถูกจับหรือไม่, แจ้งข้อกล่าวหารวมทั้งสิทธิตามกฎหมายให้ทราบหรือไม่, กรณีมีหมายจับได้แสดงต่อผู้ถูกจับหรือไม่, นำตัวไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับทันที (ท้องที่เกิดเหตุในคดีนี้ คือ สน. ชนะสงคราม) และแจ้งเหตุแห่งการจับกุมให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือผู้แทนองค์กร ซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยหรือไม่

การตรวจสอบการจับกุมจะทำเฉพาะกรณีที่เด็กหรือเยาวชนถูกจับกุม โดยไม่ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท