Skip to main content
sharethis

'ชวน หลีกภัย' ประธานรัฐสภา เผยความคืบหน้า คกก.สมานฉันท์ ได้รายชื่อเกือบครบทุกฝ่ายแล้ว เหลือเพียงผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ แนะฝ่ายค้านเข้าร่วม เพื่อแก้ปัญหา ลดความขัดแย้ง


ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร | ที่มาภาพ: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

2 ม.ค. 2564 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่าขณะนี้ได้มีการเสนอรายชื่อจากฝ่ายต่าง ๆ เกือบครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงการเสนอรายชื่อจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทราบว่ามีการสรรหาและลงมติแล้ว รอเพียงการส่งรายชื่ออย่างเป็นทางการขณะที่ทางวุฒิสภาได้ส่งรายชื่อมาเรียบร้อยแล้วเช่นกัน คาดว่าหากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎส่งรายชื่อมาแล้วก็สามารถเริ่มประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ได้ ซึ่งตนจะเข้าร่วมประชุมนัดแรกด้วยโดยจะมีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน และตนจะเสนอให้มีตัวแทนจากสื่อมวลชนร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ด้วย1 คนเนื่องจากมองว่าสื่อมวลชนเป็นอาชีพที่มีบทบาทและมีส่วนช่วยให้เกิดความปรองดองและลดความขัดแย้งด้วย 

ส่วนกรณีของฝ่ายค้านที่ยังไม่ส่งรายชื่อเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ประธานรัฐสภากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสหารือกับ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 2 ครั้ง โดยครั้งแรกผู้นำฝ่ายค้านฯ ให้เหตุผลว่าโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์มีสัดส่วนของผู้แทนจากฝ่ายค้านจำนวนน้อยตนจึงได้นัดหารือครั้งที่ 2 และได้ชี้แจงว่า การส่งผู้แทนร่วมกรรมการสมานฉันท์ เพื่อระดมความเห็นแก้ปัญหาบ้านเมืองเท่านั้นไม่ได้มีการลงมติกันแต่อย่างใด ซึ่งผู้นำฝ่ายค้านฯ ขอนำไปหารืออีกครั้ง และยืนยันว่าไม่ขอส่งรายชื่อร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายค้านยังติดใจในประเด็นสัดส่วนผู้แทนร่วมกรรมการก็สามารถเสนอจำนวนคนเพิ่มเข้ามาได้ เพราะอยากให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมแต่หากฝ่ายค้านไม่มีความประสงค์จะร่วม ก็คงไม่สามารถไปบังคับได้

ทั้งนี้ประธานรัฐสภา ยืนยันว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ไม่ได้มีความตั้งใจให้กรรมการชุดนี้มาลงคะแนนเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยแต่ตั้งใจที่จะให้ทุกฝ่ายมาร่วมแลกเปลี่ยน แสดงความเห็นระดมความคิดจากประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย เพื่อเสนอหาทางออกของปัญหาร่วมกันลดความขัดแย้งของบ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้น

นายชวน  หลีกภัย ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อข้อถามถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขั้นกรรมาธิการ จะได้ไปต่อถึงวาระ3และประชามติ หรือไม่ โดยประธานรัฐสภา ระบุว่า หากดูจากปฏิทินกรอบเวลาทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ในกรณีที่ไม่มีการขอขยายเวลาต่อก็จะครบกำหนดและต้องเสนอรายงานเข้ารัฐสภา ภายในสมัยประชุมนี้ 

ส่วนข้อถามว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญอาจมีโอกาสแก้ไขไม่สำเร็จหรือไม่ ประธานรัฐสภา กล่าวว่าตนไม่อาจวินิจฉัยก่อนได้ พร้อมย้ำว่าหากเป็นไปตามกรอบเวลาและตามกำหนดที่คณะกรรมาธิการขอไว้ก็จะต้องเสนอรายงานเข้าที่ประชุมรัฐสภา ภายในสมัยประชุมนี้

สำหรับกรอบการทำงานในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256และเพิ่มหมวด 15/1)ตามที่นายวิรัช รัตนเศรษฐประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้ คือ รัฐสภามีกรอบดำเนินการเบื้องต้นคือ45 วัน โดยต้องพิจารณาและรวบรวมความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 8ม.ค. 2564 และคาดว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาวาระ 2ในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2564 เมื่อพิจารณาวาระ 2 เสร็จแล้ว  หลังจากนั้น 15 วัน จะเป็นการลงมติในวาระที่ 3 ก่อนปิดการประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง


ที่มาเรียบเรียงจาก: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net