นิธิ เอียวศรีวงศ์: วิกฤตศรัทธาของพุทธศาสนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมได้ยินข่าวมหาเถรสมาคมลงมติให้สึกพระภิกษุที่ไปร่วมปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” แล้ว รู้สึกสลดใจ ทั้งๆ ที่การตัดสินของมหาเถรสมาคมครั้งนี้ไม่ใช่ปฏิกิริยาที่แตกต่างจากปฏิกิริยาของสถาบันและองค์กรอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับการประท้วงของ “ราษฎร” เลย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบบทั้งระบบที่สานกันจนทำให้เกิดสังคมไทยที่เรารู้จักเคยชิน ล้วนเลือกที่จะตอบสนองต่อ “การท้าทาย” ครั้งนี้ ในทำนองเดียวกัน

คือใช้อำนาจที่มีอยู่ (ซึ่งบางครั้งมีจริงและบางครั้งมีไม่จริง) เพื่อทำประหนึ่งว่า การประท้วงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นนอกฝันร้ายของตน

ทำไมจึงรู้สึกสลดใจกว่าการตอบสนองในทำนองเดียวกันขององค์กรและสถาบันอื่น ผมเดาว่าก็คงเป็นเรื่อง “ตัวกู ของกู” นั่นแหละ เพราะยังอดรู้สึกไม่ได้ว่าตัวยังถือพุทธอยู่

ผมคิดว่าไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่สังคมไทยต้องเผชิญกับวิกฤตศรัทธาหนักหน่วงเท่าครั้งนี้ เราอาจเคยมีรัฐบาลที่ไม่มีใครเชื่อทั้งคำพูดและ “น้ำยา” ในที่สุดด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง รัฐบาลนั้นก็สิ้นอำนาจลง แต่ความไม่น่าเชื่อจำกัดอยู่แต่เพียงบางองค์กรหรือบางสถาบัน แตกต่างจากในปัจจุบัน ผมมองไม่เห็นว่ายังเหลืออะไรอีกในสังคมไทยปัจจุบันที่ไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตศรัทธา

ศรัทธาในภาษาไทยมักแปลว่าความเชื่อ แต่วิกฤตศรัทธา ซึ่งเอามาจากภาษาฝรั่ง มีความหมายกว้างกว่านั้น นับตั้งแต่ตั้งข้อสงสัยต่อสถานะทางการเมือง, สังคม หรือวัฒนธรรมของสถาบันและองค์กรนั้นๆ ว่าสมควรมีอยู่หรือไม่ไปจนถึง เห็นว่าเป็นอันตรายหรือเป็นโทษแก่ส่วนรวม หรือสงสัยไม่ไว้วางใจว่าบุคคลหรือคณะบุคคลที่อยู่ในสถาบันและองค์กรนั้นๆ ว่า ไม่มีความสามารถ, ซื่อสัตย์ หรือเจตนาบริสุทธิ์ ที่จะทำงานตามหน้าที่ให้ดี ดังนั้น อำนาจ, คำสอน, แบบอย่างการปฏิบัติตัว และความนับถือ ซึ่งสถาบันหรือองค์กรนั้นๆ เคยได้รับจากผู้คนจึงเสื่อมไปหรือแม้แต่อันตรธานไป บางครั้งอย่างแทบจะไม่ค่อยรู้สึกตัวด้วย

ที่ผมถามว่า ในปัจจุบันยังเหลือสถาบันหรือองค์กรอะไรในสังคมไทยอีกที่ยังเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนทั่วไป ก็ถามในความหมายนี้ เช่น ไม่มีใครไว้วางใจระบบราชการอีกแล้ว ถูกสงสัยว่าไร้ความสามารถบ้าง, ไร้ความสำนึกต่อความเป็นจริงในสังคมบ้าง, ไร้ความซื่อสัตย์ทั้งต่อผู้อื่นและตนเอง (integrity คือซื่อสัตย์ต่อตนเอง) บ้าง และ ฯลฯ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้คนต่างคิดว่าระบบราชการไม่จำเป็น อย่างไรเสียก็ต้องมี จะเป็นระบบเล็กหรือใหญ่ ก็ต้องมีระบบราชการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันสงฆ์ ก็ไม่ได้หมายความว่าคนส่วนใหญ่เลิกนับถือพระรัตนตรัย แต่ก็คงเหมือนผมนี่แหละ คือได้แต่น้อมนำเอาพระรัตนตรัยมาห้อยคอ แทนที่จะน้อมนำเอาหลักคำสอนและท่าทีต่อชีวิตมาเป็นพื้นฐานของโลกทรรศน์และชีวทรรศน์ของตน

ผมคิดว่าสถาบันหรือองค์กรอื่นๆ ก็อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้ นับตั้งแต่โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, ความรู้, ครู-อาจารย์, ตำรวจ, กองทัพ, TDRI, TPBS, ส.ส.ส., กฎหมายและคณะกรรมการป้องกันการผูกขาด, ศาล, พรรคการเมือง, รัฐสภา, หนังสือพิมพ์, ครม.ทั้งคณะ ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์

แค่นี้ก็น่าตระหนกเป็นอย่างยิ่งแล้ว เพราะเราจะอยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้อย่างไร ถ้าไม่มีอะไรที่เป็น “อาญาสิทธิ์” (อำนาจอันชอบธรรม) เหลืออยู่เลย แต่ที่น่าตระหนกขึ้นไปกว่านี้อีกก็คือ ไม่มีสถาบันหรือองค์กรใดที่ต้องเผชิญกับวิกฤตศรัทธาในครั้งนี้ พยายามจะปรับตัวเพื่อฟื้นฟูความศรัทธาคืนมา เคยทำอะไรก็ทำอย่างนั้นต่อไป เพราะเชื่อว่าที่ทำๆ อยู่นั้นเคยเรียกศรัทธาจากสังคมได้ อย่างน้อยก็รักษามาตรฐานบางอย่าง (ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “อาญาสิทธิ์”) ไว้ได้ จึงขาดความตระหนักรู้ว่าสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว และ “มาตรฐาน” อันได้ถูกสถาปนาและรักษาไว้ในอดีต อาจกลายเป็น “มาตรฐาน” ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป หรือร้ายไปกว่านั้น แม้แต่ตนเองก็ทำได้ต่ำกว่าหรือไม่ได้ทำตาม “มาตรฐาน” ที่เคยเป็นที่รับรองมาก่อน

และด้วยเหตุดังนั้น หนทางเดียวที่สถาบันและองค์กรต่างๆ ใช้เผชิญกับวิกฤตศรัทธาครั้งนี้ จึงเหลือแต่ “อำนาจ” ที่มีในกฎหมายบ้าง, ปริ่มๆ กฎหมายบ้าง, ดิบๆ บ้าง และนอกกฎหมายบ้าง แต่อำนาจไม่ใช่ “อาญาสิทธิ์” พูดอีกอย่างหนึ่งก็คืออำนาจเฉยๆ อาจขาดความชอบธรรมในสายตาของประชาชน แม้แต่อำนาจที่มีตามกฎหมายก็ไม่จำเป็นว่าต้องชอบธรรมเสมอไป ขึ้นอยู่อย่างมากกับว่ากฎหมายนั้นๆ ถูกใช้บังคับอย่างไร และเพื่ออะไร ยังไม่พูดถึงกระบวนการยุติธรรมที่อยู่เบื้องหลังการบังคับใช้ด้วย

หนทางแห่งอำนาจย่อมนำไปสู่การใช้อำนาจให้ยิ่งขึ้น จากเรื่องเล็กๆ ไปสู่เรื่องที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ทำลายอำนาจทั้งหมดลงโดยสิ้นเชิง

กลับมาเรื่องของคณะสงฆ์และพุทธศาสนา ที่ปฏิกิริยาขององค์กรทำให้ผมสลดใจกว่าปฏิกิริยาของสถาบันและองค์กรอื่น

ว่าที่จริง ในความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ หากไม่นับพระภิกษุบางรูปที่เข้าร่วมประท้วงแล้ว พระสงฆ์และพุทธศาสนาไม่ได้ถูกเอ่ยถึงเลย ในบรรดาสิ่งที่เรียกว่าสถาบันหลัก ผู้ประท้วงนิยามคำว่าชาติใหม่และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่มีเรื่องศาสนาให้พูดถึงเลย ทั้งความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมหลายรูปแบบที่ทำร่วมไปกับการเคลื่อนไหว กิจกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหายไปเลย…ขนาดนัดพบกันหน้าวัดพระศรีมหาธาตุ เขายังบูชาอัฐิผู้นำคณะราษฎรก่อนเคลื่อนไปสู่จุดชุมนุม

ผมอยากเตือนด้วยว่า ในการล้อมปราบนักศึกษาที่ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น มีกลุ่มนิสิต-นักศึกษาจำนวนหนึ่งนุ่งห่มขาวไปรวมตัวนั่งทำสมาธิอยู่ในนั้นด้วย ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงสัญลักษณ์ของ “ศาสนา” ในรูปต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน

แต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็น “ฆราวาสวิสัย” อย่างเด่นชัด ไม่สนับสนุนส่งเสริมหรือแอบอิงบารมีของศาสนา และไม่ต่อต้านคัดค้านไปพร้อมกัน ศาสนาและองค์กรศาสนาในเมืองไทยไร้ความสำคัญถึงเพียงนั้นเชียวหรือ? ผมคิดว่าใช่

การไม่พูด คือการพูดด้วยเสียงอันดัง อย่างน้อยคณะสงฆ์ไทยกำลังถูกท้าทายไม่ต่างจากสถาบันและองค์กรอื่นๆ ซึ่งถูกนำมาวิพากษ์ใน “ม็อบ” ภาพสังคมและวัฒนธรรมไทยซึ่งถูกวาดมาแต่โบราณให้มีพุทธศาสนาเป็นรากฐานตลอดมาได้สูญสิ้นไปแล้ว เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวก็พอแล้วที่จะทำให้เราจินตนาการได้ว่า สังคมและวัฒนธรรมไทยในภายหน้าซึ่งต้องตกอยู่ในมือคนรุ่นใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเปลี่ยนไปอย่างไร

ปัญญาชนไทยหลายคนพูดมานานแล้วว่า พุทธศาสนาไทยไม่สามารถปรับตัวรับกับทุนนิยมและความเป็นสมัยใหม่ได้ ซึ่งก็จริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ควรระลึกไว้ด้วยว่า มีศาสนาที่สามารถปรับตัวได้ไม่มากนัก

เมื่อกว่าศตวรรษมาแล้ว พุทธไทยโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำเคยประสบความสำเร็จในการปรับตัวเพื่อเผชิญกับวิทยาศาสตร์ ทำให้ยากที่จะกล่าวว่าพุทธศาสนาเป็นความเชื่อ “งมงาย” แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้พุทธไทยต้องไปจำนนต่อวิทยาศาสตร์จนหมดตัว จึงสูญเสียพลังที่จะเผชิญกับทุนนิยม อย่าลืมด้วยว่าทุนนิยมได้แต่ “ใช้” วิทยาศาสตร์เพื่อกำไรสูงสุด แต่ทุนนิยมไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ในทุกวันนี้ แม้แต่วิทยาศาสตร์เองก็จำนนต่อทุนนิยมเหมือนกัน คือตกเป็นเครื่องมือของทุนจนหมดตัวไม่ต่างจากพุทธไทย (ราคาของวัคซีนป้องกันโควิดอยู่ที่ต้นทุนการผลิต+ต้นทุนการกระจายสินค้า+ราคาประเมินของตลาด+กำไร-มนุษย์)

นับตั้งแต่ พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับแรก (พ.ศ.2445) ได้สถาปนารัฐหรือสถาบันกษัตริย์ให้เป็นองค์อุปถัมภ์ใหญ่สุดของคณะสงฆ์ แต่รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ไม่ได้ตั้งใจและไม่มีความสามารถทางการคลังจะให้การอุปถัมภ์แก่วัดได้อย่างทั่วถึง คงจำกัดอยู่แต่เพียงวัดใหญ่และพระใหญ่เท่านั้น

แน่นอน การอุปถัมภ์นี้ไม่ใช่ให้เปล่า แต่ต้องแลกเปลี่ยนกับการสนับสนุนรัฐ ที่สำคัญคือการสนับสนุนด้านอุดมการณ์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในสมัยหนึ่ง เมื่อพุทธศาสนายังมีอิทธิพลต่อระบบความเชื่อและความคิดของคนไทยส่วนใหญ่

ดังนั้น ก้าวแรกของการเผชิญกับทุนนิยมของพุทธไทย คือการเปลี่ยนตัวเองเป็นสินค้าที่ผู้มีอำนาจต้องซื้อหา

ส่วนวัดเล็กและพระเล็กที่เข้าไม่ถึงการอุปถัมภ์จากรัฐ ก็หันไปแสวงหาการอุปถัมภ์จากชาวบ้าน ด้วยการเสนอ “สินค้า” ที่ชาวบ้านต้องการในระบบทุนนิยม นั่นคือพิธีกรรม ซึ่งนับวันก็กลายเป็นเนื้อหาหลักของพุทธศาสนาไทยไปมากขึ้นทุกที พิธีกรรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกศาสนา เพราะมันช่วยตอกย้ำหลักการทางศาสนาผ่านการ “ปฏิบัติ” ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ทางสังคมที่จำเป็นด้วย แต่พิธีกรรมไม่ใช่เนื้อหาหลักของศาสนา ดังจะเห็นได้ว่าเกิดพิธีกรรมใหม่ๆ ในสังคมสมัยใหม่ขึ้นเป็นอันมากที่ไม่เกี่ยวอะไรกับศาสนาเลย เช่นยืนตรงเคารพธงชาติหรือเพลงสรรเสริญพระบารมี, การหอมแก้มกันให้แขกดูในงานแต่งงาน ฯลฯ เป็นต้น

พิธีกรรมที่พระผลิตขายแก่มหาชนก็เช่นกัน เกี่ยวพันกับศาสนาน้อยลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดนอกจากไม่เกี่ยวแล้วยังอาจขัดแย้งกับหลักธรรมเสียอีก เช่น ปฏิเสธหลักการพึ่งตนเองอย่างโจ่งแจ้งเลย

ด้วยเหตุดังนั้นพิธีกรรมของศาสนาจึงเกี่ยวพันกับ “ศีลธรรม” น้อยลง จนในที่สุดก็กลายเป็นไม่เกี่ยวเลยหรือขัดแย้งกับศีลธรรมทางศาสนา ที่จริงการบูชา “ไอ้ไข่” นั้น ทำนอกวัดก็ได้ (“ไอ้ไข่” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชิ้นแรกในสังคมไทยที่ได้ชื่อว่า “ไอ้”) เช่นเดียวกับการ “สวดมนต์หมู่” ที่องค์กรสงฆ์ส่งเสริมอย่างหนักในช่วงหลังนี้ ทำที่ไหนก็ได้ เพียงแต่ขอให้ใหญ่และเป็นข่าวทีวีให้ดังเท่านั้น และถึงแม้ยังสวดในภาษาบาลี (ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ความหมาย) ก็ไม่แตกต่างจากการบูชา “ไอ้ไข่” กล่าวคือ ไม่เกี่ยวอะไรกับศีล, สมาธิ, ปัญญาแต่อย่างใด

ปัญญาชนไทยบางท่านกล่าวว่า พุทธศาสนาไทยล้มเหลวที่จะพัฒนา “ศีลธรรม” ทางสังคมขึ้นจากพุทธธรรม เช่น เหตุใดเสรีภาพ, เสมอภาค และภราดรภาพ จึงมีที่มาได้แต่เฉพาะจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่มีอะไรในพุทธธรรมที่นำมาสู่แนวคิดสามอย่างนี้ได้เลยหรือ ข้อนี้ก็จริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ยิ่งกว่านั้นแม้แต่ศีลธรรมส่วนบุคคลซึ่งเป็นจุดเน้นของพุทธศาสนาไทย (และที่จริงของทุกศาสนากระมัง?) ก็ยังถูกละเลยหรือไม่ให้คุณค่าสูงนัก จึงไม่มีนักบวชในพุทธศาสนาที่มีพันธกรณีกับศีลธรรมอย่างจริงจัง

เช่น ผมไม่เคยได้ยินว่าพระสงฆ์หรือคณะสงฆ์ออกมาคัดค้านต่อต้านโทษประหาร ไม่เคยได้ยินท่านเสนอว่า การลงโทษทางอาญาแก่ผู้ค้าประเวณีเป็นการเบียดเบียนกันอย่างไม่ชอบธรรม และไม่ช่วยป้องกันการสัญจรโรคแต่อย่างใด และ ฯลฯ อันเป็นการยืนยันหลักศีลธรรมพื้นฐานของพระพุทธศาสนา

ศีลธรรมส่วนบุคคลและสังคมนั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ศีลธรรมส่วนบุคคลสร้างสมดุลให้แก่ศีลธรรมทางสังคม เพราะอย่างหลังนี้อาจมุ่งประโยชน์ของส่วนรวมเสียจนละเลยคุณค่าของส่วนบุคคลไปเลยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นชาติ, ชนชั้น, เผ่าพันธุ์, กษัตริย์, ศาสนา, ผิวสี, หรือแม้แต่สีเสื้อ ฯลฯ ก็เคยถูกอ้างเป็นเหตุให้ละเมิดชีวิตและความปลอดภัยของผู้อื่นมาแล้วทั้งสิ้น จนอาจทำให้ส่วนรวมพังพินาศไปเลยก็ได้

จริงๆ แล้วผมไม่รู้ทางออกของพุทธศาสนาในสังคมไทยหรอกครับ จะปรับเปลี่ยนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นจุดเน้นของคำสอน, การจัดองค์กร, บทบาททางสังคม ฯลฯ ต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้พุทธศาสนาไทยกลับมามีคุณค่าแก่บุคคลและสังคมต่อไป เพียงแต่อยากเตือนว่าวิกฤตศรัทธาที่พุทธศาสนาไทยเผชิญอยู่เวลานี้ใหญ่มาก จนกระทั่งว่า อย่าเพิ่งรีบปฏิเสธข้อเสนอที่เคยถูกมองว่า “หัวรุนแรง” ทั้งหลายโดยไม่คิดให้รอบคอบ

เช่น ข้อเสนอให้เปิดคณะสงฆ์ขึ้นได้หลากหลายคณะ แม้ยังอยู่ในนิกายสยามวงศ์ด้วยกันก็ตาม หรือข้อเสนอให้มี “นักบวช” หลายระดับ นับจากพระภิกษุ ลงมาถึงนักเทศน์ และอาสาสมัครเฉพาะกิจ หรือยอมรับพระภิกษุณีในคณะสงฆ์สยามวงศ์ หรือแยกศาสนาออกจากรัฐอย่างเด็ดขาด การอุปถัมภ์ศาสนาเป็นภาระของศาสนิกไม่ใช่ของรัฐ ฯลฯ

ข้อเสนอเหล่านี้ ดีไม่ดี ถูกไม่ถูก ก็พิจารณากันไปให้ดี แต่อย่าถูกปฏิเสธแต่แรกเพราะเห็นว่า “หัวรุนแรง” เกินไป

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_380877

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท