Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการพูดทางทีวีว่า หากนักเรียนไว้ผมยาว อาจบังเพื่อนซึ่งนั่งข้างหลัง ทำให้ประชากรในโซเชียลมีเดียฮากันลั่น มีข้อความและการ์ตูนที่สนุกสนานครึกครื้นถูกสร้างสรรค์ขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกมาก

แต่ผมยาวก็มีโอกาสบังเพื่อนข้างหลังได้จริงนะครับ ถ้าผมยาวนั้นถูกเกล้าขึ้นไว้ให้สูงบนศีรษะเหมือนนางเอกหนังสมัยที่คุณเพชรา เชาวราษฎร์ ยังเป็นดารายอดนิยมอยู่ อย่างไรก็ตาม หากเกิด “อุบัติเหตุ” เช่นนั้นขึ้นจริง (เพราะเมื่อให้เสรีภาพในการไว้ผม นักเรียนก็ควรมีเสรีภาพจะไว้ผมย้อนยุคได้ด้วย) ก็ไม่ก่อปัญหากระทบเสรีภาพของผู้อื่นอยู่นั่นเอง เพราะนักเรียนอาจขอแลกที่นั่งกับเพื่อนซึ่งนั่งแถวหลังสุดได้

ยังมีความเป็นจริงอีกสองอย่างแฝงอยู่เบื้องหลังคำกล่าวของรองปลัด

อย่างแรกก็คือ สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในสังคมไทยมักได้รับความสำคัญน้อย เมื่อใดก็ตามที่การใช้สิทธิเสรีภาพนั้น ถึงมีโอกาสแม้เพียงน้อยนิด ที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่นหรือของส่วนรวม สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลจะถูกระงับทันที แม้ว่าอาจแก้ไขป้องกัน, บรรเทา หรือประนีประนอม มิให้การใช้เสรีภาพส่วนบุคคลนั้นไปกระทบต่อคนอื่นหรือส่วนรวม หรือกระทบอย่างไม่มีนัยยะสำคัญได้ก็ตาม

ฉะนั้น สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ถึงมีอยู่ก็ไม่ควรใช้ เพราะจะทำให้รถติด หรือเป็นอาการที่อาจมองว่าหยามหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสมมุติกันว่าเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป

นัยยะอย่างที่สองในคำกล่าวของรองปลัดก็คือ การเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทยนั้นกระทำโดยกระบวนการที่มีศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นครูหรือกระดานดำ กระบวนการแบบนี้อาจต้องการ “ระเบียบ” (แปลว่าทุกคนทำทุกอย่างเหมือนกันและในเวลาเดียวกัน) “วินัย” (แปลว่าเชื่อฟัง) และ “เซื่อง” หรือ passive ในภาษาอังกฤษ คือเรียนรู้โดยการรับมากกว่าการกระทำของตนเอง ด้วยเหตุดังนั้น สิทธิเสรีภาพของนักเรียนจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นในการศึกษา

การศึกษาไทยไม่ได้งอกออกมาในสุญญากาศ ดังนั้น จึงไม่ใช่ความผิดของการศึกษาไทยเพียงอย่างเดียว วัฒนธรรมไทยในสมัยโบราณให้ความสำคัญแก่สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลน้อย ซ้ำสิทธิเสรีภาพยังเป็นอภิสิทธิ์ที่จ่ายแจกแก่ผู้คนอย่างไม่เท่าเทียมกัน สถานภาพยิ่งสูงก็ยิ่งได้มาก ยิ่งต่ำก็ยิ่งได้น้อย

สิทธิเสรีภาพที่มากของสถานภาพสูงจึงอาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของสถานภาพต่ำ หรือของส่วนรวมก็ได้ โดยไม่มีใครสำนึกถึงความขัดแย้งระหว่างสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลกับส่วนรวม

นี่คือมรดกของแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในวัฒนธรรมไทย ฉะนั้น ในการศึกษาไทย ครูซึ่งใช้อำนาจบาตรใหญ่กับนักเรียนตลอดเวลา ในชีวิตจริงของแต่ละท่านก็ต้องเผชิญกับอำนาจบาตรใหญ่ของ ผอ.ขึ้นไปถึงคณะกรรมการระดับจังหวัด, เขต, อธิบดี, รองปลัดและปลัด เหมือนกัน

เมื่อระบบไม่อนุญาตให้ครูมีศักดิ์ศรี ทำไมนักเรียนจะต้องมีศักดิ์ศรีเล่าครับ

ขอนอกเรื่องตรงนี้ด้วยว่า ที่มักกล่าวกันว่าเสรีภาพเหมือนอากาศที่เราหายใจ ผมกลับคิดว่า ถ้าเหมือนจริงก็ดีสิครับ ไม่เราก็เผด็จการต้องหน้าเขียวตายกันไปให้รู้แล้วรู้รอดเสียทีข้างหนึ่ง แต่เรากับเผด็จการกลับอยู่ร่วมกันมาได้อย่างยาวนาน โดยเผด็จการเฝ้าเกาะกินเสรีภาพของประชาชนไทยอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น แม้จะล้มเผด็จการไปกี่คณะแล้ว มันก็ “ไม่จบที่รุ่นเรา” สักที

ทั้งนี้เพราะเสรีภาพเป็นวัฒนธรรมครับ ต้องเรียนรู้กว่าจะเรียกร้องต้องการมัน และกว่าจะเคยชินกับมันจนเหมือนอากาศที่ต้องใช้หายใจ

ในชุมชนเกษตรยังชีพซึ่งเป็นส่วนข้างมากของสังคมไทยโบราณ ทรัพยากรที่จำเป็นในการดำรงชีพมีน้อย จะต้องจัดสรรให้พอใช้พอกินกันทั่วถึง ดังนั้น สิทธิชุมชนจึงมีความสำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล การใช้สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลมีโอกาสจะละเมิดสิทธิชุมชนได้ง่าย จึงมีระเบียบประเพณีการใช้ทรัพยากรสาธารณะ (หรือแม้แต่ทรัพยากรส่วนตัว) ไปเสียทุกอย่าง เพื่อป้องกันมิให้ใครละเมิดสิทธิเสรีภาพของส่วนรวมได้ง่ายๆ

ตรงกันข้ามกับในชุมชนของคนชั้นสูงซึ่งเป็นผู้มีอำนาจปกครองและอยู่ในเมือง แม้มีทรัพยากรมาก อันเกิดจากอำนาจในการเรียกเกณฑ์และการค้า แต่ความสัมพันธ์ทางสังคมอยู่ในรูปของการจัดสรรอำนาจและทรัพยากรกันตามช่วงชั้นหรือสถานภาพ ไม่แต่เพียงเงินทอง วัตถุสิ่งของ และอำนาจเหนือคนอื่นเท่านั้น แม้แต่กิริยามารยาทของความสัมพันธ์ระหว่างกัน ก็มีกฎเกณฑ์บังคับให้แสดงอาการยอมรับความต่างของช่วงชั้นหรือสถานภาพของกันและกันด้วย

นี่คือมรดกทางวัฒนธรรมที่เราได้รับมาจากอดีต และถูกชนชั้นสูงซึ่งเป็นผู้นำสังคมไทยเข้าสู่ความทันสมัยเก็บรักษาไว้อย่างเหนียวแน่นสืบมา ไม่แปลกอะไรใช่ไหมครับที่ปัญญาชนไทยแม้ในยุคสมัยใหม่หวาดระแวงต่อเสรีภาพ ความหวาดระแวงเช่นนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญญาญาณไทย ใครพูดถึงเสรีภาพ ก็จะมีคนเตือนถึงภยันตรายของเสรีภาพ โดยเฉพาะการใช้เสรีภาพส่วนบุคคล ก็จะมี “ผู้ใหญ่” ติงเสมอว่า ต้องไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนอื่น หรือของส่วนรวม

อันที่จริงสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นแนวคิดที่มาทีหลังทั้งโลก รวมทั้งโลกตะวันตกด้วย แม้ว่าสังคมตะวันตกมีแนวคิดเรื่อง “กฎหมาย” ซึ่งอยู่เหนือคนในทุกช่วงชั้นมาก่อน แต่สิทธิซึ่งกฎหมายรองรับไว้นั้นเป็นสิทธิของสถานภาพมากกว่าของบุคคล เช่น เป็น “ลูกนา” ของเจ้าครองแคว้น มีสิทธิที่จะใช้ที่นานั้นสืบไปถึงลูกหลานได้ ตราบเท่าที่ส่งส่วยครบตามจำนวนให้แก่เจ้าครองแคว้น หรือในสถานะของสามีหรือภรรยา ย่อมมีสิทธิ์อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่สิทธิ์ที่มีแก่ผู้ชายทุกคนหรือผู้หญิงทุกคน

ผมเข้าใจว่า สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสำนึกถึงคนในฐานะปัจเจกก่อน และสำนึกปัจเจกชนนิยมพัฒนาขึ้นในสังคมตะวันตกเมื่อสิ้นยุคกลาง ทีละเล็กทีละน้อย จากการตีความคำสอนทางศาสนาไปจนกลายเป็นลัทธิปรัชญาที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเลยในภายหลัง แม้ไม่ได้ครอบงำสังคมใดจนสิ้นเชิง แต่ปัจเจกชนนิยมก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในโลกทรรศน์ของโลกตะวันตก ซึ่งนำเอายุคสมัยใหม่มาแก่โลกทั้งใบ

แม้ว่าปัจเจกนิยมของไทยไม่มีส่วนในการเดินเข้าสู่ยุคใหม่ของไทย เพราะไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมเดิม และไม่เป็นที่ไว้วางใจของผู้ปกครองไทย (การโจมตีรสนิยมส่วนบุคคลและความเป็นตัวของตัวเองของพวก “หัวใหม่” เริ่มมาแต่พระราชนิพนธ์ใน ร.6) แต่ในระยะยาวแล้วก็หลีกหนีไม่พ้น เพราะจะอ่านนวนิยาย, ดูหนัง, ฟังเพลง, เรียนหนังสือ, ซื้อหวย, เสียภาษี, เกณฑ์ทหาร ฯลฯ โดยไม่ปล่อยให้สำนึกปัจเจกของตนเองงอกงามขึ้นมา ย่อมเป็นไปไม่ได้

โลกทรรศน์ที่เต็มไปด้วยปัจเจกเช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

ความสำคัญของเสรีภาพส่วนบุคคลในสำนึกของคนปัจจุบัน ทำให้การเลือกระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลและส่วนรวมไม่ได้ง่ายอย่างในอดีต กล่าวคือ เสรีภาพของส่วนรวมต้องมาก่อนเสมอ เพราะสิทธิเสรีภาพของส่วนรวมที่ธำรงไว้ได้ด้วยการลิดรอนเสรีภาพของทุกคนลงหมด จะมีประโยชน์อะไร สิทธิเสรีภาพของส่วนรวมจะมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อ มันทำให้สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของทุกคนขยายตัวขึ้น เช่น ถ้าทุกคนได้รับหลักประกันอันมั่นคงว่า จะมีปัจจัยสี่บวกกับการศึกษาในการดำรงชีวิตอย่างแน่นอน ย่อมทำให้ทุกคนใช้เสรีภาพส่วนบุคคลของตนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

นอกจากนี้ การใช้เสรีภาพส่วนบุคคลไม่จำเป็นจะต้องละเมิดเสรีภาพของคนอื่นหรือส่วนรวมเสมอไป ในหลายครั้ง เสรีภาพสองอย่างนี้อาจประนีประนอมกันได้ เช่นที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า เสรีภาพในการเกล้าผมสูงของบุคคล ไม่จำเป็นต้องบังคนอื่นเสมอไป หากสามารถขยับไปนั่งแถวหลังสุดได้ ระเบียบไม่มีคุณค่าในตัวเองจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามันมีประโยชน์ต่อใครและอย่างไร วินัยไม่ใช่กฎเกณฑ์ตายตัว แต่คือทัศนคติที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นไปพร้อมกับประโยชน์ของตนเอง เราปลูกฝังทัศนคติด้วยการบังคับไม่ได้

ยิ่งกว่านี้ เสรีภาพส่วนบุคคลและส่วนรวมอาจเป็นสองส่วนของสิ่งเดียวกัน แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดและง่ายๆ อย่างที่ “ผู้ใหญ่” ไทยชอบพูดไม่ได้ ระหว่างการชุมนุมไล่เผด็จการ กับการรีบรับลูกไปเรียนเปียโนของครอบครัวหนึ่ง อย่างไหนเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล อย่างไหนเป็นเสรีภาพส่วนรวม

ถ้าถือว่าเสรีภาพส่วนตัวของหลายคนที่ต้องใช้ถนนพร้อมกันเป็นเสรีภาพส่วนรวม การวางผังเมืองที่เลวร้ายและการไม่เอาใจใส่ต่อระบบขนส่งสาธารณะต่างหากที่ทำลายเสรีภาพส่วนรวมยิ่งกว่าการชุมนุม ซึ่งน่าจะจัดหลีกการจราจรโดยรถไม่ติดได้ง่าย

ที่สำคัญเหนืออื่นใด เสรีภาพส่วนรวมที่ไม่คำนึงถึงหรือไม่ให้ค่าแก่เสรีภาพส่วนบุคคลเลยนี่แหละ คือข้ออ้างความชอบธรรมของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมทั้งหลาย ผู้เผด็จอำนาจเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็นนักรัฐประหารจากกองทัพเสมอไป ในสมัยโบราณคือเจ้าและขุนนาง ในสมัยใหม่ยังมี “ผู้ชำนัญการ”, เทคโนแครต, ข้าราชการ, นักธุรกิจ, นักบวชและปัญญาชนอีกด้วย

จะว่าไป ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในครั้งนี้ คือการท้าทายและปฏิเสธสิทธิในการนิยามประโยชน์ส่วนรวม หรือเสรีภาพส่วนรวม ที่กลุ่ม “อำมาตย์” ร่วมมือกันยึดกุมไว้อย่างเด็ดขาดมานานกว่าทศวรรษนั่นเอง

สำนึกถึงความสำคัญของเสรีภาพส่วนบุคคลจนเหมือนอากาศที่ใช้หายใจของคนจำนวนมากขึ้นๆ เช่นนี้ ทำให้อาญาสิทธิ์หรืออำนาจอันชอบธรรมของสังคมไทยพังทลายลงหมด ไม่ว่าจะเป็นครู, กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน, นายอำเภอ, ผู้ว่าฯ, ตำรวจ, รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสกปรก (สกปรกทั้งกฎและทั้งวิธีการ), ปัญญาชน, นักบวช ไม่เว้นแม้แต่สถาบันกษัตริย์ เหลือแต่อำนาจดิบๆ ซึ่งนับวันก็ถูกใช้ไปในทางดิบๆ มากขึ้น

ในที่สุดจะลงเอยอย่างไร

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_383096

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net