Skip to main content
sharethis

ตำรวจ อ้างฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แจ้ง 'กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน' ให้ยุติการชุมนุมหน้าทำเนียบ หลังปักหลักร้องรัฐบาลนำเงินสมทบเงินประกันสังคมมาช่วยรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 แกนนำยันจะอยู่รอจนกว่านายกฯ จะมาคุย

 

4 ม.ค.2563 ความคืบหน้า กรณีกลุ่ม “ขอคืนไม่ได้ขอทาน” ปักหลักรอพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หน้าทำเนียบตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยแก้กฎหมายให้ผู้สมทบเงินประกันสังคมสามารถเบิกเงินสะสมชราภาพมาใช้ก่อนเกษียณ ให้ผู้ประกันตนรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มเคยเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องตามหน่วยงานต่าง ๆ มาหลายครั้ง แต่ไม่มีความคืบหน้า ทำให้ต้องมาร้องกับนายกฯ โดยตรง  

ล่าสุดวันนี้ (4 ม.ค.63) เวลา 18.25 น. ขณะที่สมาชิกกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทานกำลังนั่งรับประทานอาหารเย็นอยู่บริเวณที่ปักหลักค้างคืนหน้าทำเนียบ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.นางเลิ้ง เดินทางมาแจ้งโดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ผู้ที่มาร่วมชุมนุมยุติการชุมนุมโดยทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 หากไม่ปฏิบัติตาม อาจมีโทษตามกฎหมายคือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือมีโทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

บูรณ์ อารยพล หรือหมอบูรณ์ แกนนำกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน เปิดเผยกับประชาไทประเด็นเกี่ยวกับในวันนี้ที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ยุติการชุมนุมว่า กลุ่มของเขาไม่ได้มาชุมนุม แต่มาติดต่อราชการ ยันจะรอจนกว่านายกรัฐมนตรีจะยอมมาคุย ประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายให้ผู้สมทบเงินประกันสังคมสามารถเบิกเงินสะสมชราภาพมาใช้ก่อนเกษียณ เพื่อให้แรงงานรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถมีเงินดำรงชีวิตผ่านพ้นช่วงวิกฤตได้

“กลุ่มของเขาไม่ได้มาชุมนุม แต่มารอพบนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นการติดต่อราชการ และยังไม่ได้พบสักที ก็ขอพบ ถ้าจะจับก็จับไป ตัวเองไม่ได้กลัว แต่ถ้าต้องสู้คดี ก็ยืนยันว่าที่ตัวเองทำเพื่อมาเรียกร้องในเรื่องความเดือดร้อนของผู้ประกันตนรากหญ้า 

ถ้ามาพบได้ก็ดี แต่ถ้าไม่สามารถมาพบได้ ก็ช่วยออกสื่อตอบให้หน่อย พูดถึงเรื่องเราบ้างว่าจะแก้ปัญหาให้เราได้ไหม ถ้าได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ ติดขัดอะไรก็แจ้งมา ถ้าเหตุผลฟังขึ้น ก็พร้อมที่จะรับฟัง แต่ยืนยันว่าจะนอนไปเรื่อย ๆ จะอยู่ไปเรื่อย ๆ แม้กระทั่งโควิด-19 หายแล้ว แต่ไม่มาคุยกับเรา ตัวเองก็จะนอนอยู่ตรงนี้ไปเรื่อย ๆ” บูรณ์ กล่าว พร้อมระบุว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐกังวลเรื่องโควิด-19 แพร่ระบาดบริเวณที่กลุ่มปักหลักรอพบนายกฯ ทางกลุ่มเองก็มีการป้องกันโดยการบังคับทุกคนที่มาต้องใส่มาสก์ทุกคน มีเครื่องวัดอุณหภูมิ มีเจลล้างมือ ยืนยันว่าจะพยายามปรับปรุงเพื่อให้สามารถรอติดต่อราชการกับทางนายกฯ ได้ 

 

โดยข้อความที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง มาแจ้งทางกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน มีดังนี้

ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ 

ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง 

เรื่อง ห้ามการชุมชุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม 

ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19 ) 

ตามที่ปรากฏว่ามีการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดระยอง ซึ่งได้มีการแพร่ระบาดออกไปยังหลายจังหวัดในประเทศ รวมทั้งมีแนวโน้ม จะแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการระบาดของการติดเชื้อโรคโควิด-19 มิให้ขยายไปในวงกว้าง รวมทั้งก่อให้เกิดความเสียหายอื่น ๆ โดยดำเนินมาตรการป้องกันควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 3 (6) และคำสั่ง ประกาศที่เกี่ยวข้อง จึงให้ปฏิบัติ ดังนี้

  1. ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร 
  2. ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะ ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ในพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่ควบคุม เว้นแต่การทำกิจกรรมของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย หรือการทำกิจกรรมภายในครอบครัว ที่อยู่ในเคหสถาน 
  3. การชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในพื้นที่ซึ่งผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวัง ให้ผู้จัดการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมดังกล่าว ต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ก่อนดำเนินการ โดยแสดงแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรค ประกอบการพิจารณา เว้นแต่ การทำกิจกรรมของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ที่ปลอดภัย หรือการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถาน   

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

ข้อความที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ยังระบุว่า ขออนุญาตแจ้งให้ทราบว่า ตามประกาศการชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมาย ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมตรงนี้ทุกท่าน ขณะนี้การชุมนุมของท่านเป็นการฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าของผู้รับผิดชอบในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องการห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ซึ่งมีความผิด เราจะต้องรับโทษตามกฎหมาย มาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอให้ยุติการชุมนุมรวมตัวกัน 

ทั้งนี้ วันที่ 4 ม.ค. 64 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ช่วงเช้าสมาชิกสองคนจากกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน ประกอบด้วย บูรณ์ อารยพล และ ประวัติ รองเดช ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะถือป้ายสวัสดีปีใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหากีดขวางทางสาธารณะที่ สน.ดุสิต โดยทั้งสองคนปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าไม่ได้กีดขวางทางเข้า-ออกทำเนียบ เพียงแต่ถือป้ายรออวยพรนายกฯ นอกจากนี้ หมอบูรณ์ยังได้รับบาดแผลเป็นรอยฟกซ้ำบริเวณหน้าอกขวา จากการใช้กำลังควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net