Skip to main content
sharethis

"มันคือเรื่องโกหก" ชาวบ้านจากเทศมณฑลจื่อหยุนพูดถึงเรื่องที่รัฐบาลจีนแถลงว่าพวกเขาขจัดปัญหาความยากจนในระดับขีดสุดได้สำเร็จแล้ว ขณะที่ดิอิโคโนมิสต์ระบุรัฐบาลจีนยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนในพื้นที่ชนบทได้บ้างแม้น่ากังขาในบางวิธี แต่ไม่ได้แก้ความเหลื่อมล้ำจริง เพราะคนมีรายได้พ้นเส้นความยากจนยังเผชิญความขาดแคลน เข้าไม่ถึงสวัสดิการ 

จากนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ฉบับเดือน มกราคม 2564 ระบุถึงกรณีที่ทางการจีนอ้างว่าพวกเขาสามารถ "ขจัดความยากจนสุดขีดให้หมดไปจากประเทศสำเร็จแล้ว" จากถ้อยแถลงของรัฐบาลจีนเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2563 ซึ่งความสำเร็จนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากเมื่อวัดจากการประเมินของธนาคารโลกแล้วในช่วง 40 ปีที่ผ่านมามีประชาชนราว 800 ล้านคนในจีนพ้นจากความยากจนได้ สื่อรัฐบาลจีนระบุอีกว่ามันคือ "ชัยชนะแห่งยุคสมัย" และระบุว่าไม่เคยมีครั้งใดเลยในประวัติศาสตร์ของประเทศที่ความแร้นแค้นถูกขจัดจนแทบจะหมดสิ้นได้เช่นนี้

แต่ทว่าชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของจีนมองต่างออกไป เขาบอกว่า "พูดตรงๆ นะ มันคือเรื่องโกหก" ชาวบ้านผู้นี้ชื่อเหลียงยง มาจากเทศมณฑลจื่อหยุนตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลกุ้ยโจว ที่ซึ่งทางการประกาศว่าเป็นแหล่งสุดท้ายที่ขจัดความยากจนแร้นแค้นได้สำเร็จ 

เหลียงยงกล่าวว่าการสำรวจด้านเศรษฐกิจของจื่อหยุนนั้นทำกันลวกๆ พอเป็นพิธี จากการที่กลุ่มผู้นำระดับมณฑลเข้ามาที่หมู่บ้านของพวกเขา ตัดสินว่าหมู่บ้านนี้เป็นอย่างไร แล้วก็รีบออกไปจากหมู่บ้านโดยทิ้งความยากจนเอาไว้ เหลียงยงบอกว่าสิ่งเหล่านี้ "เป็นแค่การแสดง ในจิตใจของพวกเราแล้วพวกเราทุกคนรู้ความจริงดี"

เหลียงยงพูดถึงสภาพชีวิตที่ยากลำบากเช่นเรื่องที่ราคาเนื้อหมูสูง ทำให้เขากินเนื้อได้เพียงแค่ 2 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น พอเขาจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกสองคนแล้วเขาก็มีเงินเลืออยู่น้อย ในฤดูหนาวเขายังต้องอาศัยการนั่งผิงไฟใกล้กับเตาถ่าน เหลียงยงถือว่ายากจนกว่าคนอื่นๆ จำนวนมากในจีนโดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยในเมือง ทำให้เขาไม่ชอบที่จะเห็นการแสดงความยินดีในเรื่องชัยชนะต่อความยากจนทั้งๆ ที่เหลียงยงยังไม่สามารถหาเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับพ่อของตัวเองที่เป็นโรคมะเร็งปอดได้ สภาพชีวิตขาดแคลนของเหลียงยงพอจะบอกได้ว่าเขายังคงอยู่ภายใต้ความยากจนสุดขีดอยู่ จากการที่ไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานได้

นอกจากกรณีของเหลียงยงแล้ว มีกลุ่มคนที่กังขาในเรื่องนี้มองว่าทางการจีนลอบเปลี่ยนตัวเลขจนทำให้ถูกมองว่า "ชนะปัญหาความยากจน" ได้แล้วหรือเปล่า อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีกรณีที่ยากไร้ขาดแคลนเป็นรายกรณีๆ ไป แต่ทางการจีนก็พยายามปรับนิยามฐานของความยากจนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ มาตลอด เมื่อเทียบกับธนาคารโลกที่มีนิยามฐานเส้นความยากจนต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนของจีนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 

ทว่าเส้นแบ่งความยากจนในประเทศร่ำรวยนั้นตั้งไว่สูงกว่ามาก ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากที่เหมาเจ๋อตุงเสียชีวิตไม่นานในปี 2521 คนในชนบทจีนร้อยละ 98 อยู่ในสภาวะยากจนสุดขีด แต่ในปี 2559 กลุ่มประชากรที่ยากจนสุดขีดเหล่านี้เหลืออยู่แค่ร้อยละ 5

ดิอิโคโนมิสต์ประเมินว่าสิ่งเหล่านี้มาจากการที่ทางการจีนปรับตัวออกจากแนวทางคอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิม โดยการปรับเศรษฐกิจให้ออกจากการวางแผนจากศูนย์กลางให้กลายมาเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทำมาหากิน รวมถึงมีการยกเลิกการทำนารวม ให้เสรีภาพกับผู้ประกอบการมากขึ้น สร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ลงทุนในการศึกษา และ ดึงดูดนักลงทุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีเป้าหมายเดิมคือความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การแก้ไขปัญหาความยากจนได้สำเร็จนั้นเป็นผลพลอยได้เท่านั้น

นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการต่อต้านความยากจนของจีนในยุคสีจิ้นผิงที่พยายามเข้าถึงพื้นที่มณฑลห่างไกลความเจริญ 832 แห่งในจีนคิดเป็นร้อยละ 30 ของประเทศด้วยวิธีการสองอย่างคือหนึ่งการพยายามพัฒนาให้พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ประกอบการทางการเกษตรโดยให้คนในพื้นที่ร่วมถือหุ้นแต่มีผู้ประกอบการหลักเป็นบรัษัทใหญ่จากภายนอกพื้นที่ โดยที่รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการในด้านโครงสร้างพื้นฐานเช่นพลังงานในพื้นที่เหล่านั้น แต่วิธีการนี้ก็มีความเสี่ยงตรงที่ถ้าหากนโยบายต่อต้านความยากจนจบลงโครงการบางส่วนก็อาจจะล้มเหลว

วิธีการที่สองที่จีนให้จัดการกับความยากจนคือ แทนที่จะพัฒนาพื้นที่ห่างไกลเหล่านั้นไม่ว่าจะด้วยถนนหนทางหรือศูนย์อนามัย พวกเขากลับนำพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนในพื้นที่ห่างไกลมาสร้างเขื่อนแล้วก็ให้ผู้คนเหล่านี้กว่า 10 ล้านคนย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากใกล้กับเมืองโดยบอกว่ามันจะได้ผลมากกว่าในเรื่องการจัดการปัญหาความยากจน

มีตัวอย่างกรณีจื่อหยุนที่รัฐบาลจัดหาที่พักอาศัยเป็นอพาร์ทเมนต์สีเหลืองให้กับอดีตชาวบ้านในหมู่บ้านและสั่งให้มีการจัดหางานให้พวกเขา และดูเหมือนประชาชนบางคนก็พอใจสภาพความเป็นอยู่แบบนี้ เช่นบอกว่ามีโรงเรียนใกล้ๆ ให้ลูกของตัวเอง 

แต่ถึงแม้ประชาชนจะเริ่มมีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนแต่พวกเขาก็ยังคงรู้สึกจน สาเหตุเพราะพวกเขายังคงยากจนในเชิงเปรียบเทียบจากการที่เส้นแบ่งความยากจนจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมือ่ประเทศร่ำรวยขึ้น นอกจากนี้คนยากจนจากต่างจังหวัดยังมักจะขาดเอกสารที่ถูกต้องในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของเมือง ขณะเดียวกันโครงการขจัดปัญหาความยากจนของรัฐบาลก็สนับสนุนส่งเสริมคนในเมืองน้อยมาก โดยที่ 1 ใน 5 ของประชากรในเมืองทั้งหมดยังคงถูกจัดว่าเป็นคนจนจากข้อมูลการวิจัยของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ

ดิอิโคโนมิสต์ระบุอีกว่าการหลักดันเส้นความยากจนอย่างเดียวยังไม่ทำให้ผู้คนเท่าเทียมกันได้ เพราะยังมีความยากจนในเชิงเปรียบเทียบอยู่ การที่ทำให้ผู้คนเท่าเทียมกันมากขึ้นได้จีนต้องกระจายรายได้ให้ดีขึ้น เน้นเก็บภาษีคนรวย และทำให้ผู้อพยพจากชนบทเข้าถึงสวัสดิการในเมืองได้มากขึ้น แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นจะทำในเรื่องนี้เท่าใดนัก

กรณีความยากจนในเมืองคือ โจวเว่ยฝู คนทำงานในนครกุ้ยหยางของมณฑลกุ้ยโจว ถึงแม้ว่าเมืองนี้จะกำลังบูมทางเศรษฐกิจ แต่แรงงานก็ยังทำงานอย่างยากลำบาก โจวเว่ยฝูพูดเย้ยเรื่องที่รัฐบาลจีนอ้างว่าความยากจนหมดลงไปแล้วว่า "ทำอีกท่าไหนล่ะนั่น ผมเองยังแทบจะทำเงินไม่ได้เลย"

 

เรียบเรียงจาก

Extreme poverty is history in China, officials say Inequality is a different matter, The Economist, 02-01-2021
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net