Skip to main content
sharethis

สถานการณ์ COVID-19 7 ม.ค.64

  • พบผู้ป่วยรายใหม่ 305 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 9,636 ราย หายป่วยแล้ว 4,521 ราย เสียชีวิตสะสม 67 ราย 
  • วัคซีนลอตแรกซิโนแวกซ์ของจีนให้ 5 จังหวัดควบคุมสูงสุดเข้มงวดก่อน
  • ประธานสภาลงนามในระเบียบประชุม กมธ.ออนไลน์
  • ออสเตรเลียเรียกร้องจีนยอมให้องค์การอนามัยโลกสืบที่มาโควิด
  • รพ.มหาราชนครราชสีมาเข้มรับมือ
  • บอร์ด สปสช. เตรียมจัดสรรงบเงินกู้ฯ 2.99 พันล้านบาทรับมือ

7 ม.ค.2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์ติดเชื้อ COVID-19 วันที่ 7 ม.ค. 2564 ผู้ป่วยรายใหม่ 305 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 9,636 ราย หายป่วยแล้ว 4,521 ราย เสียชีวิตสะสม 67 ราย 

ผู้ป่วยรายใหม่ 305 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อในประเทศ 193 ราย ติดเชื้อในแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน (คัดกรองเชิงรุก) 109 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศไม่เข้าสถานกักกัน 1 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 2 ราย

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 87,636,539 ราย อาการรุนแรง 108,031 ราย รักษาหายแล้ว 63,129,003 ราย เสียชีวิต 1,890,791 ราย

วัคซีนลอตแรกซิโนแวกซ์ของจีนให้ 5 จังหวัดควบคุมสูงสุดเข้มงวดก่อน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ว่า เมื่อได้รับวัคซีนโควิด -19 จากซิโนแวกซ์ของจีนที่ในเดือนกุมภาพันธ์ จะได้รับ 2 แสนโดส แรกจะกระจายให้กับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 5 จังหวัดได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี ตราดและจันทบุรี เพื่อใช้ในการลดอัตรการป่วยและควบคุมป้องกันโรค โดยผู้ที่ได้รับจะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน , อสม.อีก 80,000 คน และเจ้าหน้าที่หน้าด่านในการควบคุมโรค ทั้งฝ่ายความมั่นคง รวมถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ รพ.สนาม

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากนั้นในเดือนมีนาคมถึงเมษายนจะได้รับอีกวัคซีน 8 แสนโดส และ 1 ล้านโดสจะทยอยให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ทั้งหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปอด ไตและผู้ที่มีภาวะอ้วน ด้วย และผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป จะทำการฉีดในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 23 จังหวัด จากนั้นในเดือน พ.ค.ที่จะได้รับวัคซีน 26 ล้านโดส จะฉีดให้กับประชาชนทั่วไป ตั้งใจฉีดให้ครบร้อยละ 70 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรค โดยคาดว่าจะทยอยฉีดไปจนถึงต้นปี 2565 เพราะประชากร1 คน ต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม และห่างกันเข็มละ 4 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้ม

ประธานสภาลงนามในระเบียบประชุม กมธ.ออนไลน์

สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับระเบียบสำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการผ่านช่องทางออนไลน์ว่า ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามในระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมาธิการ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นระเบียบที่สอดรับกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 แล้ว โดยระเบียบดังกล่าวจะทำให้สามารถประชุมคณะกรรมาธิการสามัญ  คณะกรรมาธิการวิสามัญ และคณะอนุกรรมาธิการต่าง ๆ ของสภาผู้แทนราษฎร ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ และในการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ ระเบียบดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ออสเตรเลียเรียกร้องจีนยอมให้องค์การอนามัยโลกสืบที่มาโควิด

มาริส เพย์น รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของออสเตรเลียกล่าวว่า รัฐบาลออสเตรเลียต้องการให้ทางการจีนอนุญาตให้ทีมงานขององค์การอนามัยโลกเดินทางเข้าประเทศได้ในทันที ทั้งยังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต้องให้องค์การอนามัยโลกมีส่วนร่วม และว่า รัฐบาลออสเตรเลียคาดหวังจะได้เห็นผลการศึกษาที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของนานาชาติในจีน ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นแกนนำในการออกมาเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระเพื่อหาที่มาของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศร้าวฉาน จีน ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการค้าชั้นนำของออสเตรเลียได้ประกาศจำกัดการนำเข้าเนื้อวัวจากออสเตรเลีย เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรของไวน์ออสเตรเลีย รวมถึงสั่งให้โรงงานในจีนหยุดซื้อฝ้ายจากออสเตรเลียอีกด้วย

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า เขารู้สึกผิดหวังอย่างมากที่จีนยังคงไม่อนุญาตให้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคโควิด-19 จากนานาประเทศเดินทางเข้าประเทศ ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเชื้อไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นในช่วงปลายปี 2562 ก่อนที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 86 ล้านคนและผู้เสียชีวิตกว่า 1.8 ล้านคน

รพ.มหาราชนครราชสีมาเข้มรับมือ

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา กล่าวถึงแนวทางการเตรียมรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า สถานการณ์ของนครราชสีมาในขณะนี้ยังเป็นพื้นที่สีส้ม แต่ทางจังหวัดก็มีมาตรการเข้มข้นโดยใครที่มาจากพื้นที่เสี่ยงต้องได้รับการคัดกรอง ขณะที่ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก็ดูเรื่องการเตรียมโรงพยาบาลสนามหากมีการแพร่ระบาดที่มากขึ้น ในส่วนของงบประมาณนั้น ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายการตรวจคัดกรองให้คนไทยทุกคนทุกสิทธิ ส่วนแรงงานต่างด้าวนั้น ทางกรมควบคุมโรคดูแลค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ซึ่งแรงงานต่างด้าวก็มารับการตรวจคัดกรองได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเอง ด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อขนาดใหญ่ มีผู้มารับบริการจำนวนมาก จึงพยายามไม่ระงับการให้บริการทางการแพทย์ต่างๆ แต่เพื่อความไม่ประมาทก็กำหนดมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยมีนโยบายให้ใส่หน้ากาก 100% ในโรงพยาบาล ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในและเจ้าหน้าที่ การสแกนอุณหภูมิของผู้ป่วยที่เข้ามาในโรงพยาบาล ถ้ามีไข้ต้องแยกไปตรวจในคลินิกคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ รวมทั้งห้องความดันลบซึ่งสร้างเสร็จแล้วกำลังจะเปิดใช้รองรับผู้ป่วยความเสี่ยงสูงในสัปดาห์หน้าด้วย 

นอกจากนี้ ในกรณีผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดหรือทำหัตถการในพื้นที่ปิด ในรายที่ไม่เร่งด่วน ก็จะตรวจเก็บตัวอย่างเชื้อ (Swab) ล่วงหน้าก่อนผ่าตัดหรือทำหัตถการทุกราย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ส่วนคนไข้เร่งด่วนหรือฉุกเฉินที่รอไม่ได้จริงๆ ก็จะใช้ Rapid Test ก่อน แล้วทำคู่ขนานไปกับการทำ Swab และแพทย์ก็จะใส่ชุดป้องกันเต็มรูปแบบในขณะผ่าตัดด้วย

"ในช่วงนี้พื้นที่เรายังเป็นพื้นที่สีส้มมีผู้ป่วยประมาณ 9 ราย ส่วนใหญ่สัมผัสมาจากพื้นที่เสี่ยงทั้งสิ้น แต่อาการมีเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย เคสใหม่ๆ มีไม่มาก โรงพยาบาลยังมีศักยภาพรองรับได้ ดังนั้นเราจึงพยายามช่วยลดความยากลำบากของพื้นที่โดยรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่นๆในจังหวัดนครราชสีมามาดูแล แม้จะเป็นเคสง่ายๆก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ในพื้นที่มีพละกำลังไปทำเรื่องอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้ามีเยอะจริงๆก็มีแผนในการส่งกลับไปอยู่ในพื้นที่บ้าง เพื่อให้รพ.มหาราชรองรับผู้ป่วยปานกลางหรือรุนแรงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพียงแต่ตอนนี้เอามารวมศูนย์ที่เราก่อน" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

บอร์ด สปสช. เตรียมจัดสรรงบเงินกู้ฯ 2.99 พันล้านบาทรับมือ

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 1/2564 โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. พร้อมด้วยกรรมการบอร์ด สปสช. ได้เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ขณะนี้ 

ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ด สปสช. รับทราบยอดงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 2,999.69 ล้านบาท ที่ได้รับตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563) สำหรับบริการกรณีโควิด-19 และรายการอื่นที่เกี่ยวข้องกรณีโควิด-19 พร้อมมอบ สปสช.จัดทำร่างหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 (ฉบับที่ 3) เพื่อรองรับ และให้นำเสนอต่อบอร์ด สปสช. พิจารณาต่อไป 

อนุทิน กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. วันนี้มีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โดยเฉพาะในวาระนี้ที่เป็นการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับจาก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ เพื่อรับมือสถานกาณ์โควิด-19  โดยสนับสนุนหน่วยบริการให้บริการกรณีโควิด-19 ให้กับประชาชน ขณะเดียวกันเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนถึงการเตรียมความพร้อมของระบบรักษาพยาบาลที่มีกองทุนบัตรทองรองรับ ช่วยลดความวิตกกังวล ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมเต็มที่ในการับสถานการณ์    

“เราเสียใจที่มีเกิดการแพร่ระบาดอีกครั้ง แต่เรามั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรบกพร่อง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากการทำผิดกฎหมายและอยู่นอกการควบคุม โดยเราจะทำความพร้อมที่มีอยู่ รวมถึงงบประมาณจัดสรรในครั้งนี้มาควบคุมและแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 โดยเร็วที่สุด” อนุทิน กล่าว 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า งบจำนวน 2,999.69 ล้านบาทดังกล่าว เป็นงบเพิ่มเติมงวดแรกเพื่อใช้สนับสนุนการให้บริการโควิด-19 และรายการที่เกี่ยวข้องในช่วง 6 เดือน เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2564 เบื้องต้นจัดสรรเป็นค่าบริการกรณีโควิด-19 จำนวน 2,228.68 ล้านบาท แยกเป็นค่าบริการป้องกันการติดเชื้อฯ 1,972.84 ล้านบาท ตามเป้าหมายบริการ 486,700 คน ค่ารักษาพยาบาล 255.85 ล้านบาท เป้าหมายบริการ 3,022 คน และรายการอื่นที่เกี่ยวข้อง 771.01 ล้านบาท แยกเป็นบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 317.61 ล้านบาท เป้าหมายบริการ 2,365.90 ล้านคน เงินช่วยเหลือเบื้อต้นผู้ให้บริการกรณีโควิด-19 จำนวน 87.4 ล้านบาท เป้าหมาย 300 คน และค่าบริการตามสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทองในกลุ่มคนว่างงาน 366 ล้านบาท เป้าหมายบริการ 137,000 คน 

ส่วนค่าบริการกรณีโควิด-19 ในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2563 ก่อนหน้านี้ ช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณ 2564 สปสช. ได้นำงบคงเหลือจ่ายจากบริการกรณีโควิด-19 ปี 2563 จำนวน 471.42 ล้านบาท มาเบิกจ่ายให้กับหน่วยบริการแล้ว 

“งบ 2,999.69 ล้านบาทนี้ คาดว่าจะใช้เฉพาะในช่วง 6 เดือนก่อน หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะมีการทำเรื่องขอเพิ่มเติมอีกครั้ง ซึ่งจะมีการปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างต้นทุนบริการบางอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ค่าตรวจแลบ RT-PCR ที่ปัจจุบันลดลง เป็นต้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สำนักข่าวไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net