Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ขบวนการแรงงาน” หมายถึงอะไรหรือ?

ในอดีตขบวนการแรงงานจะหมายถึงการรวมตัวของแรงงานจากหลากหลายสาขาอาชีพมารวมกันสร้างอำนาจร่วมเพื่อต่อรอง ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของแรงงาน ขบวนการแรงงานจึงประกอบด้วยแรงงานจากหลากหลายอาชีพ และเป้าหมายของการต่อสู้ก็มิได้จำกัดอยู่แค่ประเด็นค่าจ้าง สวัสดิการ หรือสภาพการจ้างเท่านั้น แต่เลยไปถึงการต่อสู้ทางการเมืองด้วย การนัดหยุดงานทั่วไปหรือการนัดหยุดงานทางการเมืองจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของขบวนการแรงงานในอดีต ด้วยขบวนการแรงงานมีเป้าหมายทางการเมืองจึงพบความเชื่อมโยงระหว่างขบวนการแรงงานกับพรรคการเมือง ในบางประเทศขบวนการแรงงานจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเอง หรือเข้าไปมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองที่ตนต้องการให้เป็นตัวแทนทางการเมืองของตน

ปัจจุบัน “ขบวนการแรงงาน” ถูกทำให้เป็นขบวนการสหภาพแรงงานหรือTrade union movement ซึ่งมีความหมายแคบกว่าคือเป็นเพียงขบวนการขององค์กรสหภาพแรงงานซึ่งถูกจำกัดไว้กับแรงงานในระบบตามกฎหมายแรงงานของแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่พยายามที่จะกีดกันแรงงานจำนวนมหาศาลออกจากการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน การเปลี่ยนไปของคำจำกัดความของคำว่า “ขบวนการแรงงาน” เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ขบวนการแรงงานในหลายประเทศมีขนาดเล็กและคับแคบไม่ครอบคลุม ขบวนการแรงงานในความหมายนี้จึงได้กลายเป็นขบวนการที่คนงานส่วนใหญ่ถูกกีดกันออกไป ซึ่งส่งผลให้ความเป็นตัวแทนคนงานและอำนาจการต่อรองลดน้อยลงไปด้วย รัฐและทุนประสบความสำเร็จในการย่อยสลายแรงงานออกเป็นส่วนๆ สร้างมายาคติให้คนทำงานประเภทต่างๆ เกิดความรู้สึกว่าตนไม่เหมือนแรงงานกลุ่มอื่นๆ ทำให้เกิดความเชื่อผิดๆ ว่าตนเองไม่ใช่ผู้ใช้แรงงาน โดยได้พัฒนารูปแบบการผลิตและการจ้างงานแบบใหม่ เช่นระบบการผลิตแบบ supply chain การผลิตแบบ out sourcing และการจ้างงานบน platform และด้วยการออกกฎหมายแยกแรงงานออกจากกันเช่นเป็นในระบบ นอกระบบ อีกทั้งสร้างทัศนคติ ความเชื่อและค่านิยมให้แรงงานส่วนต่างๆ แปลกแยกออกจากกัน

ผลที่เกิดตามมาคือจิตสำนึกทางชนชั้นของแรงงานถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง เกิดการแยกสลายแรงงานออกเป็นส่วนๆ ที่ไม่มีเอกภาพไม่มีพลัง ขบวนการแรงงานในประเทศไทยถือว่าเป็นขบวนการแรงงานที่มีขนาดเล็กมากในเชิงปริมาณเรามีผู้ใช้แรงงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในอัตราส่วนที่ถือได้ว่าต่ำสุดในโลกเลยทีเดียวคือมีแรงงานเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 614,312 คน[1]จากกำลังแรงงานราว 39 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 1.6 % อีกทั้งขบวนการแรงงานไทยเป็นขบวนการสหภาพแรงงานที่ขาดความเป็นเอกภาพ ประกอบด้วยสหภาพแรงงานขนาดเล็กแบบที่เรียกว่าสหภาพสถานประกอบการหรือ house union จำนวนมากถึง 1,465 แห่ง มีองค์กรระดับชาติหรือที่เรียกว่าสภาองค์การลูกจ้างมากถึง 15 แห่ง ทำให้ไม่มีเอกภาพและอำนาจต่อรอง

เพื่อฟื้นฟูและสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง ผู้ใช้แรงงานในหลายประเทศจึงพยายามที่จะทลายกำแพงที่ขวางกั้นเสรีภาพในการรวมตัวของคนงานด้วยการคืนกลับไปสู่การเป็นขบวนการแรงงานในแบบดั้งเดิมที่ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วนเข้ามา สหภาพแรงงานแห่งชาติหรือสหภาพแรงงานทั่วไปหรือGeneral union จึงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงพูดคุยกันอย่างจริงจัง การรณรงค์ “เราทุกคนคือแรงงาน” เพื่อสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นให้เกิดขึ้นและรวบรวมแรงงานทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นขบวนการแรงงานที่เป็นเอกภาพและทรงพลัง


ผู้ใช้แรงงานคาดหวังอะไรจากการรวมตัวเป็นขบวนการแรงงาน

เมื่อพูดถึงผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นเป้าหมายของขบวนการแรงงาน เราหมายถึงสิ่งเหล่านี้ได้แก่ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หลักประกันทางสังคม อำนาจต่อรองทางการเมือง คนงานมารวมตัวกันเพื่อเป็นหลักประกันเกี่ยวกับความมั่นคงในการทำงาน หลักประกันว่าพวกเขาจะไม่ถูกปลดออก ไล่ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม เขาคาดหวังว่าขบวนการแรงงานจะทำให้เขาได้รับรายได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมจากการทำงาน มีหลักประกันว่าสถานที่ทำงานของพวกเขาจะปลอดภัย ไม่มีอัตราย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน คนงานต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขาในฐานะผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขาและครอบครัว คนงานคาดหวังว่าผลจากการรวมตัวกันของพวกเขาจะทำให้เสียงเรียกร้องที่เกี่ยวกับความจำเป็นและความต้องการของเขาในฐานะเป็นคนงานจะได้รับการรับฟังและพิจารณาจากนายจ้างและรัฐอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดและบงการโดยนายจ้างและรัฐ ซึ่งไม่อาจเป็นหลักประกันได้ว่าพวกเขาในฐานะคนทำงานจะได้รับความเป็นธรรม คนงานมารวมตัวกันก็เพื่อที่จะทำให้เขาได้รับการยอมรับจากนายจ้างและสังคม เพราะปกติแล้วคนงานมักจะถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสอง เชื่อว่าเมื่อพวกเขามารวมตัวกันจะทำให้มีอำนาจต่อรองมากพอที่จะทำให้คนอื่นต้องปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม และด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าแรงงานคือคนส่วนข้างมากของสังคม ขบวนการแรงงานจึงมีเป้าหมายเลยไปถึงการเข้าไปมีส่วนในกำหนดชะตากรรมและทิศทางของประเทศ ในหลายประเทศขบวนการแรงงานจึงมีพรรคการเมืองของตนเอง หรือมีเป้าหมายเพื่อที่จะได้รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงานที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย


ในมุมมองของนักสหภาพแรงงานเมื่อพูดถึงแรงงานเราหมายถึงใคร

 ในช่วง 20 – 30 ปีมานี้รูปแบบของการจ้างงานได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เกิดการจ้างงานในหลายรูปแบบที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น มีคนงานหลากหลายประเภทที่มีสภาพการจ้างที่แตกต่างกัน ระบบการผลิตแบบ post Fordismที่เป็นการผลิตแบบ supply chain ได้ทำให้เกิดสถานประกอบการขนาด SMEจำนวนมาก อีกทั้งคนงานจำนวนมากถูกผลักออกไปอยู่นอกรั้วโรงงาน  กลายเป็นแรงงานที่รัฐแปะชื่อให้ว่า “แรงงานนอกระบบ” ที่แม้จะมีจำนวนมากมายมหาศาลแต่กลับถูกมองข้าม เศรษฐกิจดิจิตอลได้ทำให้เกิดการจ้างงานแบบใหม่ที่คนจำนวนมหาศาลทำงานผ่านแพลตฟอร์ม  

วันนี้เมื่อพูดถึงแรงงานและการรวมตัวกันเป็นขบวนการแรงงาน มักมองไปที่แรงงานที่อยู่ในรั้วโรงงาน หรือแรงงานในระบบที่มีนายจ้างเป็นตัวเป็นตนเป็นสำคัญ อันเป็นผลมาจากข้อจำกัดของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ 2518 และจารีตปฏิบัติของขบวนการแรงงานในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีประสบการณ์และความเคยชินกับการจัดตั้งแรงงานในภาคอุตสาหกรรม หากมองให้พ้นรั้วโรงงานออกมาจะเห็นได้ชัดเจนว่ายังมีคนทำงานอีกมากมายมหาศาล หลากหลายกลุ่มหลายประเภทซึ่งที่มีรูปแบบการจ้างงานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในวันนี้แรงงานกลุ่มนี้คือแรงงานส่วนข้างมากของแรงงานทั้งหมด แต่ในช่วงที่ผ่านมาขบวนการแรงงานไทยถูกทำให้มองข้ามแรงงานกลุ่มนี้ไป ทำให้ขบวนการแรงงานไทยไม่สามารถอ้างตนเป็นองค์กรตัวแทนผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานได้อย่างเต็มปาก


กรรมกรลากรถประท้วง สิงหาคม 2475 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

วันนี้จำเป็นที่จะต้องให้นิยามและความหมายของคำว่า “แรงงาน” เสียใหม่เพื่อผนวกเอาพี่น้องแรงงานกลุ่มใหญ่ที่ถูกมองข้ามมานานให้กลับสู่ขบวนการแรงงานอีกครั้ง ในฟิลิปปินส์ขบวนการแรงงานฝ่ายก้าวหน้าได้พยายามให้คำนิยาม “แรงงาน” เสียใหม่ว่า “แรงงานหมายถึงผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทุนหรือเครื่องจักรที่นำมาผลิตสิ่งของหรือบริการด้วยตัวเองได้ หมายถึงผู้ที่ทำการผลิตสิ่งของหรือบริการด้วยตัวเอง หมายรวมถึงผู้ประกอบการอิสระที่อาจจะครอบครองทุนเครื่องมือบางอย่างแต่ก็ไม่มากพอที่จะไปจ้างแรงงานจำนวนมากเหมือนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ หมายถึงคนชายขอบเมื่อเปรียบเทียบกับนายจ้างและผู้ประกอบการทั้งหลาย

เอาเข้าจริงๆ แล้ว “เราทุกคนคือแรงงาน” พวกเราคือคนกลุ่ม 99 % ที่ถูกคน 1 % หรือคนเพียงหยิบมือเดียวที่เป็นอภิมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่ง ครอบครองทรัพย์สินและทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศไว้


ย้อนอดีตค้นหานิยามที่เปลี่ยนไปของ “ขบวนการแรงงาน” ในประเทศไทย

นิยามและความหมายของคำว่า “ขบวนการแรงงานไทย” นั้นดูเหมือนว่าจะยังไม่เคยมีผู้ใดให้คำจำกัดความที่ชัดเจนไว้ และในแต่ละยุคแต่ละช่วงของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ คำว่าขบวนการแรงงานไทยมีนิยามและความหมายแตกต่างกันไป ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาระบบทุนนิยมในประเทศไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่แรงงานรับจ้างส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานจีนโพ้นทะเล คนจีนเอาวัฒนธรรมการรวมกลุ่มเข้ามาในสยาม คนจีนจะรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ กัน ที่สำคัญคือการรวมตัวกันที่เรียกว่า “อั้งยี่” ซึ่งข้อบังคับ มีการจ่ายค่าบำรุง เอาเข้าจริงๆ อั้งยี่อาจถือได้ว่าเป็นสหภาพแรงงานรุ่นแรกของไทย แม้อั้งยี่จะไม่ได้จำกัดอยู่กับแรงงาน แต่หลายครั้งอั้งยี่นำการนัดหยุดงานต่อสู้ให้กับแรงงานจีน ด้วยเหตุนี้รัฐไทยจึงได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมให้การรวมตัวของผู้คนในสยามต้องได้รับการจดทะเบียนจากรัฐในปี 2440 ที่เราเรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “กฎหมายอั้งยี่” แต่รัฐในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชไม่เคยยอมจดทะเบียนให้กับองค์กรของผู้ใช้แรงงานเลยสักแห่ง ด้วยเหตุนี้ขบวนการแรงงานในประเทศไทยในช่วงนั้นจึงหมายถึงการรวมตัวเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนงานจีนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ มีลักษณะปิดลับทำงานใต้ดิน

ต่อมาเมื่อคนไทยเข้าสู่ตลาดแรงงานรับจ้างมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ขบวนการแรงงานในขณะนั้นย่อมหมายรวมถึง ขบวนการที่อยู่ภายใต้การนำของเหล่าปัญญาชน ที่นำโดยนายถวัติ ฤทธิเดช ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร นายสุ่น กิจจำนงค์และพรรคพวกที่จัดตั้งคณะกรรมกรและจัดทำหนังสือพิมพ์กรรมกรออกเผยแพร่ การรวมตัวกันของคนงานในรูปสมาคม เพิ่งได้รับการยอมรับจากรัฐก็หลังระบบสมบูรณาญาสิทธิราชล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2475 สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยามเป็นสมาคมคนงานแห่งแรกที่ได้รับการจดทะเบียนจากรัฐในเดือนสิงหาคม 2475


ถวัติ ฤทธิเดช ปัญญาชนผู้ก่อตั้งคณะกรรมกร และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรรมกร ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6
ที่มาของภาพจากหนังสือ ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์ ปี 2529

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ขบวนการแรงงานขณะนั้นหมายถึงการรวมตัวเคลื่อนไหวของคนงานหลากหลายกลุ่มไม่จำกัดเฉพาะคนงานในรั้วโรงงาน คนตกงาน กรรมกรลากรถ กุลีจีน ปัญญาชน ผู้ประกอบการอิสระเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ สมาคมอนุกูลกรรมกรที่จัดตั้งโดยถวัติ ฤทธิเดชถือเป็นองค์กรแรงงานระดับชาติที่พยายามเรียงร้อยแรงงานทุกภาคส่วนเข้ามาอยู่ร่วมกัน ถวัติและคณะของเขามีท่าทีชัดเจนสนับสนุนเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงขั้นประกาศตัวตอบโต้กับรัชกาลที่ 7 อย่างเปิดเผยในกรณีนี้ นอกจากนี้ขบวนการแรงงานในขณะนั้นยังได้เข้าร่วมมือกับรัฐบาลคณะราษฎรในการต่อต้านรัฐประหารที่นำโดยบวรเดชในปี 2476 อีกด้วย

เธียรไท อภิชาตบุตร์ ประธานสหอาชีวกรรมกรและเลขาธิการพรรคสหชีพ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ที่มาภาพ จากหนังสือ ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์ ปี 2529

เมื่อถึงยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ขบวนการแรงงานส่วนหนึ่งลงไปทำงานใต้ดินร่วมจัดตั้งเป็นขบวนการกู้ชาติต่อต้านรัฐบาลพิบูลสงครามและการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่น เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ขบวนการแรงงานที่เคลื่อนไหวใต้ดินในช่วงสงครามก็ขึ้นมาทำงานเปิดเผยในชื่อ “สหอาชีวกรรมกร” ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่ผนวกเอาแรงงานทุกภาคส่วนเข้ามา สหอาชีวกรรมกรมีสมาชิกจำนวนมาก สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองของตนคือพรรคสหชีพที่มีเธียรไท อภิชาติบุตร์ประธานองค์การสหอาชีวกรรมกรแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคสหชีพ ซึ่งได้เข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ขบวนการแรงงานในประเทศไทยยังคงใช้ความหมายที่กว้างเช่นนี้อย่างต่อเนื่องมา แม้เกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 ขบวนการแรงงานภายใต้การนำของสมาคมกรรมกรไทยในช่วงทศวรรษที่ 2490s และภายใต้การนำของกลุ่มกรรมกร 16 หน่วย ในช่วงปลายทศวรรษเดียวกันเป็นขบวนการที่ประกอบด้วยแรงงาน หลากหลายกลุ่มสามารถเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดกฎหมายแรงงานฉบับแรกขึ้นในประเทศไทยในปี 2499


ศุภชัย ศรีสติ เลขานุการกลุ่มกรรมกร 16 หน่วย นักโทษประหารตามมาตรา 17 ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์

การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 20 ตุลาคม 2501 ได้ทำให้ขบวนการแรงงานกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นักสหภาพแรงงานทั้ง่หลายถูกจับกุมคุมขัง ศุภชัย ศรีสติ ปัญญาชนคนสำคัญของขบวนการแรงงานขณะนั้นถูกประหารชีวิตด้วยอำนาจตามมาตรา 17 โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ในยุคสถฤษดิ์-ถนอม ได้นำประเทศไปสู่ลัทธิตลาดเสรีอย่างเต็มตัวตามคำบงการของอเมริกา มีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและออกกฎหมายสร้างมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนอย่างเต็มที่ ด้วยการควบคุมจำกัดสิทธิของฝ่ายแรงงานเพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุน การเข้ามาของนักลงทุนอเมริกันและญี่ปุ่นได้นำเอาธรรมเนียมแรงงานสัมพันธ์ที่เจรจาต่อรองทำข้อตกลงในระดับสถานประกอบการเข้ามาปรับใช้ในไทย เมื่อแรงงานสามารถรวมตัวได้อย่างถูกต้องอีกครั้งหลังประกาศใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ในปี พ.ศ. 2515 กับการได้สิทธิประชาธิปไตยคืนมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ขบวนการแรงงานกลับฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ปีกก้าวหน้าของขบวนการแรงงานขณะนั้นยังคงเชื่อในนิยามที่มองว่าขบวนการแรงงานไม่ควรจำกัดอยู่กับคนงานในโรงงานเท่านั้น


การต่อสู้ของคนงานหญิงสแตนดาร์ดการ์เม้นท์ 2518 ภาพจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย


การนัดหยุดงานของคนงานหญิงโรงงานสแตนดาร์ดการ์เม้นท์ ปี 2518
ที่มาภาพ จากสหภาพแรงงานการไฟฟ้านครหลวง

ช่วงนั้นจึงได้เห็นขบวนการแรงงานที่ทำงานกับแรงงานทุกภาคส่วน รวมทั้งนำไปสู่การสร้างขบวนการ “สามประสาน” เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง แรงงาน ชาวไร่ชาวนาและนักศึกษา ซึ่งทำให้มีพลังมาก ขณะที่รัฐและทุนพยายามบีบให้ขบวนการแรงงานไทยอยู่ในความหมายที่แคบเพื่อจำกัดไม่ให้คนงานและคนกลุ่มอื่นๆ เข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นกฎหมายที่ตีกรอบให้ขบวนการแรงงานมีขอบเขตความหมายที่แคบลง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กฎหมายแรงงานได้มีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่และได้จัดรูปตีกรอบขบวนการแรงงานในประเทศไทยให้กลายเป็นขบวนการสหภาพแรงงานของแรงงานในระบบ และค่อยสกัดกั้นผู้คนอื่นๆ ให้พ้นจากขบวนการแรงงาน มีการทยอยออกกฎหมายมายกเว้น กีดกันไม่ให้แรงงานส่วนต่างๆ ได้ใช้สิทธิในการรวมตัว เช่นครู อาจารย์มหาวิทยาลัย ลูกจ้างองค์กรมหาชน องค์กรอิสระต่างๆ เมื่อครั้งเผด็จการรสช. ยึดอำนาจ พวกเขาพยายามที่จะกีดกันคนงานรัฐวิสาหกิจออกจากขบวนการแรงงาน มีการออกประกาศรสช. ฉบับที่ 54 ที่พยายามจำกัด กีดกันคนอื่นๆ ไม่ให้สามารถเข้าเป็นที่ปรึกษาแก่สหภาพแรงงานในการเจรจาต่อรองได้อย่างเสรี ผู้ที่จะให้คำปรึกษาได้จะต้องได้รับการจดทะเบียนจากอธิบดีกรมแรงงานเท่านั้น

ระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ขบวนการแรงงานไทยได้ถูกบีบบังคับให้ยอมจำนนอยู่ในกรอบความ หมายที่คับแคบ ส่งผลให้ขบวนการแรงงานในประเทศไทย มีขนาดเล็ก ขยายฐานสมาชิกไม่ได้ ถูกจำกัดให้ต่อสู้ด้วยการเจรจาต่อรองในประเด็นปากท้องในรั้วโรงงาน ซึ่งทำให้ปกป้องผลประโยชน์และแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้แรงงานไม่ได้จริง ไม่มีพลังและสูญเสียอำนาจต่อรองทางการเมือง การกำหนดนโยบาย มาตรการ และกฎหมายตกอยู่ในมือของฝ่ายการเมืองซึ่งล้วนเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของฝ่ายทุน


วันนี้สหภาพแรงงานยังคงเป็นคำตอบสำหรับผู้ใช้แรงงานอยู่หรือเปล่า?

สถานการณ์วันนี้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยได้พากันหันหลังให้กับสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานในวันนี้หาได้มีเสน่ห์หรือมนตราที่จะดึงดูดให้ผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมมือเป็นสมาชิกเหมือนเมื่อครั้งรุ่งเรืองในอดีต สหภาพแรงงานที่เคยถูกมองว่าเป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพที่สุดของชนชั้นผู้ใช้แรงงานในทุกหนแห่งทั่วโลก วันนี้ได้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะยังทรงพลานุภาพอยู่หรือไม่ สหภาพแรงงานเคยเป็นพลังร่วมของมวลคนงานที่ทำให้เขาสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองอย่างได้ผล ความเสื่อมถอยของขบวนการแรงงานจะสามารถหยุดยั้งได้หรือไม่ ด้วยวิธีอันใดเป็นโจทย์ที่ท้าทายนักสหภาพแรงงานเป็นอย่างยิ่ง

แต่เดิมในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแรงงานฝ่ายก้าวหน้า มีสองแนวคิดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อขบวนการแรงงานตลอดมา แนวคิดแรกมองบทบาทของขบวนการแรงงานเป็นเครื่องมือของชนชั้นกรรมชีพในการเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีเป้าหมายอยู่ที่การโค่นล้มระบบทุนนิยมที่ถูกมองว่าคือรากเหง้าของการกดขี่ขูดรีดชนชั้นแรงงาน ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งมองขบวนการแรงงานเป็นเครื่องมือของผู้ใช้แรงงานในการต่อสู้เพื่อปรับปรุงปฏิรูประบบทุนนิยม เพื่อให้คนงานได้รับความเป็นธรรมไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างที่เข้มแข็งกว่า แนวคิดหลังนี้ยอมรับการดำรงอยู่ของระบบทุนนิยม และถือว่าเป็นแนวความคิดที่มีอิทธิพลเหนือขบวนการแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศทุนนิยมทั้งหลายในศัตวรรษที่ยี่สิบ ที่บางครั้งเรียกว่า สหภาพแรงงานแนวปฏิรูป (reform unionism) หรือสหภาพแรงงานแนวธุรกิจ (business unionism)

ขบวนการแรงงานภายใต้กรอบคิดนี้มองว่าสหภาพแรงงานเป็นเพื่อนร่วมงานของฝ่ายทุน และแบ่งแยกองค์กรแรงงานออกเป็นส่วนย่อยๆ ที่แบ่งงานตามภารกิจที่แตกต่างกัน เช่นในสถานประกอบการ อุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งฝ่ายทุนเคยยอมรับบทบาทของขบวนการแรงงานประเภทนี้ เพราะมองว่าไม่ได้ท้าทายต่อระบบ แต่หลังชัยชนะของโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์และสังคมนิยามในขอบเขตทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ 1980s ทำให้ขบวนการแรงงานโดยรวมอยู่ในสภาพถดถอย แม้แต่ขบวนการแรงงานในแนวปฏิรูปซึ่งพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับฝ่ายทุนก็ยังถูกปฏิเสธจากฝ่ายทุน มีการลุกคืบของฝ่ายทุนในอันที่จะจำกัดบทบาทของขบวนการแรงงานเหล่านี้

ในยุโรปซึ่งสหภาพชนิดนี้เคยเติบโตเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับจากฝ่ายทุน วันนี้นายจ้างก็ปฏิเสธที่จะยอมตั้งโต๊ะเจรจาด้วย สหภาพแรงงานกำลังสูญเสียสมาชิกจำนวนมากไป ขบวนการแรงงานในยุโรปส่วนใหญ่ยังคงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูขบวนการแรงงานของตนให้กลับฟื้นคืนขึ้นมาแสดงบทบาท ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างมากนี้ บ้างก็หวังที่จะให้พรรคแรงงานหรือพรรคสังคมประชาธิปไตยที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้ใช้แรงงานชนะเลือกตั้งเข้าบริหารประเทศแล้วทำการปรับแก้ตัวบทกฎหมายให้ฝ่ายทุนกลับมายอมรับบทบาทของสหภาพแรงงานในฐานะคู่เจรจาอีกครั้ง แนวทางหนึ่งที่ขบวนการแรงงานในยุโรปทำคือใช้กลยุทธควบรวมองค์กร โดยเชื่อว่าถ้าทำให้องค์กรใหญ่ขึ้นก็จะส่งผลให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็งขึ้น แต่หลายแห่งพบว่าขบวนการแรงงานก็ยังคงอยู่ในสภาพที่อ่อนแออยู่ การควบรวมในหลายที่กลับยิ่งทำให้องค์กรแรงงานมีความเทอะทะ กลายเป็นระบบราชการมากขึ้น

แต่ก็มีหลายประเทศยุโรปที่ขบวนการแรงงานได้ทิ้งแนวทางแบบจารีตนิยมของสหภาพแรงงานแนวธุรกิจ หันไปจัดตั้งกลุ่มคนงานที่อยู่ชายขอบ ซึ่งแต่เดิมไม่ใช่เป้าหมายการจัดตั้งของสหภาพแรงงาน เช่นแรงงานข้ามชาติ คนตกงาน คนงานที่อยู่ในภาตเศรษฐกิจนอกระบบ จนถึงวันนี้แม้ขบวนการแรงงานจะเล็กลง ทำงานได้ยากขึ้น แต่คนงานส่วนใหญ่ก็ยังคงมองเห็นว่าสหภาพแรงงานยังคงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการปกป้องผลประโยชน์ให้กับมวลผู้ใช้แรงงาน แต่จะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ฟันธงได้เลย ขบวนการแรงงานยังเป็นคำตอบสำหรับผู้ใช้แรงงานและการสร้างสังคมที่เป็นธรรม


ก้าวใหม่ที่ท้าทายของขบวนการแรงงานไทย

จะเห็นได้ว่าปัญหาการถดถอยที่เกิดกับขบวนการแรงงานทั่วโลกรวมทั้งไทยส่วนหนึ่งเกิดจากนิยามที่เปลี่ยนไปของ “ขบวนการแรงงาน” ดังนั้นแรงงานจะต้องลุกขึ้นมาขบวนการแรงงานใหม่ที่ครอบคลุมคนทำงานทุกภาคส่วน ต้องเร่งสร้างสำนึกให้ทำทำงานรู้สึกว่า “พวกเราทุกคนล้วนเป็นแรงงาน” คิดค้นหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อทำให้ขบวนการแรงงานยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีอำนาจต่อรองเพียงพอที่จะปกป้องผลประโยชน์ให้กับมวลพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เข้าเสนอ “สหภาพแรงงานแห่งชาติ” (National Union) ที่เป็นสหภาพแรงงานทั่วไป (general union) ที่เป็นที่รวมของแรงงานทุกภาคส่วน หรือแนวทาง “สหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการทางสังคม” (Social Movement Unionism) ซึ่งกำลังได้รับการกล่าวถึงและประสบความสำเร็จในหลายประเทศ

กลับสู่การสร้างขบวนการแรงงานแบบดั้งเดิมที่มองว่าสังคมแบ่งเป็นสองชนชั้น คือทุนกับแรงงาน ซึ่งมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน คนงานทั้งหมดคือชนชั้นเดียวที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยรูปแบบการจ้างงานหรือรายได้หรือระดับการศึกษาที่แตกต่างกัน พวกเขาเกี่ยวเนื่องเชื่อมร้อยกันด้วยประเด็นร่วมกันทางสังคมของชนชั้น ขบวนการทางสังคมคือการที่ผู้คนหรือกลุ่มคนมารวมกันโดยมีเป้าหมายซึ่งต้องการที่จะบรรลุร่วมกัน มีอุดมการณ์ร่วมกัน มาร่วมรณรงค์ร่วมกัน มีปฏิบัติการร่วมกันเช่นการประท้วง ชุมนุม เดินขบวน การหยุดงานทั่วไปและการใช้สื่อมวลชน ซึ่งขบวนการแรงงานที่เป็นขบวนการทางสังคมมีองค์ประกอบดังกล่าว

แนวคิดนี้ไม่ต้องการให้สหภาพแรงงานโดดเดี่ยวตนเองจากชุมชน และสังคม นำมาสู่ข้อเสนอให้สหภาพแรงงานเป็นสหภาพแรงงานเพื่อสังคม (Social Movement Union) โดยมีหลักการให้สหภาพแรงงานขยายข้อเรียกร้องให้ครอบคลุมผลประโยชน์ของคนงานนอกสหภาพแรงงาน และกลุ่มประชาชนอื่นๆ และการให้สหภาพแรงงานเป็นแนวร่วมกับ ขบวนการทางสังคมอื่นๆ ในการเคลื่อนไหว ทางการเมืองและสังคม

 

อ้างอิง

[1] ข้อมูลเดือนพ.ย. 2563 จากกระทรวงแรงงาน

 

ที่มาภาพปก: คนงานหญิงโรงงานฮาร่าหยุดงาน ยึดโรงงาน ผลิตกางเกงยีนส์ขายเอง
ในนามโรงงานสามัคคีกรรมกร ปี 2518-19 ภาพจาก อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net