สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1-7 ม.ค. 2564

รมว.แรงงาน ขอผู้ประกอบการ ร่วมมือนำแรงงานผิดกฎหมายขึ้นทะเบียนถูกต้อง

7 ม.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 1/2564 ว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการและกำชับให้กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งอยู่ในระหว่างการผ่อนผัน แต่ต้องยอมรับความจริงว่า การที่จะบอกให้สถานประกอบการนำแรงงานทั้งหมดมาตรวจโควิด-19 เพื่อตรวจสอบควบคุมโรค คงไม่มีใครกล้านำมาให้ตรวจทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาเพื่อนำเข้าสู่ระบบ เพื่อไม่ให้สถานประกอบการขาดแรงงาน ขณะเดียวกันจะได้มีการตรวจคัดกรองโรคอย่างเข้มงวด จากนั้นแรงงานทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย หรือแรงงานที่อยู่ใต้ดินให้ขึ้นมาอยู่บนดินอย่างถูกต้อง ถือเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น จากนั้นก็จะมีการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาวต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผน

เมื่อถามว่า ปัจจุบันการจ้างงานในส่วนของแรงงานประมงมีความขาดแคลนจำนวนมากจะแก้ปัญหาอย่างไร นายสุชาติ กล่าวว่า เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ทางสมาคมประมงได้มาพบและขอให้ผ่อนผันเพราะแรงงานประมงไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามแรงงานประมงทุกคนที่มีอยู่ผ่านการคัดกรองอย่างถูกต้อง และยืนยันว่าไม่มีผิดกฎหมายอย่างแน่นอน แต่เมื่อคนงานกลับประเทศปัญหาการขาดแคลนแรงงานย่อมเกิดขึ้น ซึ่งในขณะนี้เรายังอนุญาตให้นำเข้าไม่ได้ เพราะการที่จะอนุญาตให้นำคนจากต่างประเทศเข้ามาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ความพยายามนำแรงงานที่เข้ามาแบบผิดกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทย เข้าสู่ระบบก็จะเป็นประโยชน์กับกลุ่มประมง เพราะหลังจากทำบัตรสีชมพูเสร็จ จะสามารถเข้าสู่แรงงานประมงได้ เสียเงินอีกเพียง 100 บาท เพื่อขึ้นทะเบียนประจำเรือ

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 15 มกราคม-13 กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่รัฐบาลผ่อนผันให้กับผู้ประกอบการที่มีแรงงานไม่ถูกต้องมาขึ้นทะเบียน และหลังจากวันที่ 13 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป รัฐจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือ เราจะทำทุกอย่างเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง

"แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ที่อยู่ตามสถานประกอบการต่างๆ หรือตลาด ถือเป็นสิ่งที่อยู่ปลายเหตุ เราจึงต้องเอาของปลายเหตุขึ้นมาให้ได้ เพื่อให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย" นายสุชาติ กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 7/1/2564

'ไทยยูเนี่ยน' เผยได้ตรวจหาเชื้อให้กับพนักงาน 23,630 คน หรือกว่า 85% ของพนังงานทั้งหมดที่ทำงานในสมุทรสาคร พบติดเชื้อ 69 คน หรือคิดเป็น 0.29%

นายธีรพงศ์ จันศิริประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ TU เปิดเผยว่า จากข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ตั้งโรงงานหลักของ บริษัท และบริษัทในเครือในจังหวัดสมุทรสาคร บริษัทขอรายงานสถานการณ์ปัจจุบันต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนดังนี้ ทั้งนี้วันที่ 5 มกราคม 2564 บริษัทได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับพนักงานของบริษัททุกคนในจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 23,630 คน หรือมากกว่าร้อยละ 85 จากจำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานในจังหวัดสมุทรสาครทั้งสิ้น 27,552 คน และได้รับผลยืนยันจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR ว่าติดเชื้อโควิด-19 เพียงร้อยละ 0.29 หรือ 69 คน เท่านั้น

บริษัทได้ดำเนินการตามมาตรการที่รัฐกำหนด กล่าวคือแยกพนักงานดังกล่าวออกเป็นสองส่วน คือ หากไม่มีอาการ ให้กักตัวที่บ้านหรือในสถานที่ที่บริษัทเตรียมไว้ พร้อมการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดและหากมีอาการ ให้เข้ารับการรักษาตามขั้นตอนของภาครัฐอย่างครบถ้วน สำหรับการตรวจพนักงานครบทั้งจำนวน คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ บริษัทได้ปฏิบัติตามระเบียบวิธีและแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยพนักงานที่มีการติดต่อกับผู้ติดเชื้อนั้นอยู่ในช่วงกักตัวและหน่วยงานของรัฐมีการติดตามผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง บริษัทจะยังคงติดตามสถานการณ์และประสานงานกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด

สำหรับมาตรการและขั้นตอนต่างๆ ที่ชัดเจนในการดูแลผู้ที่ติดเชื้อ ยังรวมไปถึงการดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบในขณะที่กักตัวตามแนวทางของภาครัฐ มีการระบุผู้ใกล้ชิดผู้ที่ติดเชื้อและตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติม ตลอดจนการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ big cleaning ในบริเวณต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงงาน สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ โรงงานของบริษัททุกแห่งยังคงเปิดดำเนินการด้วยกำลังการผลิตปกติ และสามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด เนื่องจากจำนวนพนักงานที่ได้รับผลกระทบมีอัตราและจำนวนที่น้อยมาก

บริษัทให้ความสำคัญสูงสุดในด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน คู่ค้า ผู้บริโภคและชุมชนโดยรอบ และมีการเพิ่มมาตรการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยมีมาตรการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานที่โรงงาน แม้ว่าการผลิตยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง แต่งดการประชุมติดต่อระหว่างกัน ซึ่งครอบคลุมทั้งพนักงานของบริษัทและผู้ที่มาติดต่อ ยกเว้นธุรกรรมที่จำเป็น ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากคณะผู้บริหารของบริษัทก่อนเท่านั้น

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายพนักงานภายในโรงงาน และให้ฝ่ายสนับสนุนต่างๆ ทำงานจากบ้าน มีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อต่างๆ ในบริเวณสถานที่ปฏิบัติงาน รวมถึงให้พนักงานปฏิบัติตามข้อแนะนำ ด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดบริษัทยังมีแผนการเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ การฝึกซ้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆ และมีแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทได้ดำเนินการตามมาตรฐานสูงสุดในด้านสุขภาพและความปลอดภัยเพื่อพนักงาน การดำเนินงานและผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างเต็มที่ และจากรายงานองค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ระบุว่าไม่มีความเสี่ยงที่เกิดการแพร่เชื้อผ่านผลิตภัณฑ์อาหารหรือบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของบริษัทที่เข้มงวดในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อป้องกันการปนเปื้อนใดๆ รวมถึงไวรัสและการติดเชื้อต่างๆ อีกด้วยจึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณาการเผยแพร่ข้อมูลต่อผู้ลงทุนต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 6/1/2564

เมียนมาขอให้แรงงานในไทยอย่าเพิ่งกลับประเทศ

อัครราชทูตที่ปรึกษาด้านแรงงานของเมียนมา และองค์กรด้านแรงงานของเมียนมา ขอให้แรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย อย่าเพิ่งเดินทางกลับเมียนมา ในช่วงระหว่างที่ไทยประสบกับสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้การเดินทางกลับเมียนมาเป็นเรื่องยากลำบาก

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/1/2564

ลดส่งเงินสมทบ 3 เดือน-เยียวยาว่างงานสุดวิสัยจ่ายครึ่ง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รอบใหม่ โดยกำหนดให้ลดเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มี.ค.2564

สำหรับอัตราเงินสมทบกองทุน ตามมาตรา 33 ให้ลดเหลือร้อยละ 3 ทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน แต่ฝ่ายรัฐยังส่งเงินสมทบในอัตราเดิม ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ส่งเงินสมทบจากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 278 บาท

ส่วนการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย หรือ โรคระบาด สำหรับลูกจ้างผู้ประกันตนที่มีเงินสมทบครบ 6 เดือน แต่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัว หรือนายจ้างหยุดประกอบกิจการ ลูกจ้างจะได้รับสิทธิทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลากักตัวแล้วแต่กรณี แต่ไม่เกิน 90 วัน

เช่น ผู้ที่มีฐานเงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับเงินเยียวยา 7,500 บาท ซึ่งมาตรการนี้ครอบคลุมทั้งประเทศ ไม่ใช่เพียง 28 จังหวัดตามที่มีประกาศสั่งให้หยุดกิจการ และสามารถขอรับสิทธิประโยชน์โดยกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th โดยต้องระบุเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและเลขบัญชีธนาคาร

ที่มา: ThaiPBS, 5/1/2564

ศธ.ออกประกาศให้ข้าราชการ 28 จังหวัด ทำงานที่บ้าน 4 ม.ค.-17 ก.พ. 2564

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนาม ในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยการปรับลดเวลาและวันทำงานของบุคลากรในสังกัดและในกำกับของ (ศธ.) ด้วยปรากฏว่ามีการแพทยระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ระลอกใหม่ขึ้นและแพร่กระจายในหลาย พื้นที่ของประเทศไทยทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมจำกัดการแพทยระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ศธ.จึงประกาศ ศธ. ลงวันที่ 2 มกราคมพ.ศ. 2564 เรื่องให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของศธ. ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษให้สถานศึกษาในเขต 28 จังหวัดปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษตั้งแต่วันจันทร์ที่สี่มกราคมถึงวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคมตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้าย

ศธ. โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รวม.ศธ.) จึงกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 โดยการปรับลดเวลาและวันทำงานของบุคลากรในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ในเขตจังหวัดทั้ง 28 เขตจังหวัดดังกล่าวดังต่อไปนี้

1. ให้ผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ที่มีสถานที่ทำงานในเขต 28 จังหวัดดังกล่าว มอบหมายให้บุคลากรในสังกัดปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยตามความเหมาะสมและส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ตในการปฏิบัติงานทุกชนิดให้เปิดเครื่องมือสื่อสารเพื่อให้สามารถติดต่อได้ตลอดเวลาและให้ทุกหน่วยงานจัดบุคลากรหมุนเวียนมาปฏิบัติงานณสถานที่ทำงานไม่เกินร้อยละ 25 ของบุคลากรทั้งหมดโดยให้คำนึงถึงบุคลากรที่มีความจำเป็นสำหรับงานให้บริการประชาชนเป็นสำคัญ

2. กรณีบุคลากรในสังกัด มีที่พักอาศัยอยู่ในเขต 28 จังหวัด ตามวรรคแรกและจะต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการทั้งปกติและกรณีเฉพาะนอกเขต 28 จังหวัดดังกล่าวให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องสั่งให้บุคลากรนั้นปฏิบัติการ ณ ที่พักอาศัยตามแนวทางในข้อที่ 1 กรณีบุคลากรในสังกัดมีที่พักอาศัยอยู่นอกเขต 28 จังหวัดตามวรรคแรกและต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการทั้งในกรณีปกติและกรณีเฉพาะในเขต 28 จังหวัดดังกล่าวให้ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง

3. ให้ผู้บริหารแต่ละหน่วยงานกำหนดวิธีการที่ชัดเจนและเหมาะสมในการมอบหมายงานให้บุคลากรในสังกัดปฏิบัติงานที่พักอาศัยรวมถึงรายงานผลที่ปฏิบัติไปในช่วงที่ไม่ได้มาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงานโดยคำนึงถึงเป้าหมายการดำเนินงานของงานที่ได้รับมอบหมายเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ในระหว่างที่กำหนดให้บุคลากรปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยโดยให้มาทำงาน ณ สถานที่ทำงานไม่เกินร้อยละ 25 ตามข้อหนึ่งและข้อสองนั้นในส่วนของผู้บริหารสถานศึกษาครูและอาจารย์ในสถานศึกษาต้องกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางที่ ศธ. กำหนด เช่น การสื่อสารแบบทางไกล หรือ ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้นหากไม่สามารถจัดการเรียนการสอนโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้จัดการเรียนการสอนโดยใบสั่งงาน หรือ มอบหมายงานตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องเข้าเรียนทั้งนี้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 มกราคน ถึงวันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม

ที่มา: ไทยโพสต์, 4/1/2564

รมว.ยุติธรรม เล็งปั้นอาชีพ ‘หมอดู’ ให้นักโทษ สร้างรายได้ สั่งเรือนจำเพิ่มวิชาโหราศาสตร์

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมราชทัณฑ์ เพื่อรับฟังปัญหา รายงานสรุปผลการดำเนินงานปี 2563 และติดตามนโยบาย โดยมี ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม นายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการราชทัณฑ์ และข้าราชการ ร่วมประชุม

โดยนายอายุตม์ได้รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2563 ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คือ 1.การพัฒนาเแนวทางบริหารจัดการสาธารณูปโภค เช่น การอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาพื้นที่เรือนจำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสังคม การจัดอบรมภาษาต่างประเทศ โดยภาษาอังกฤษมี 23 เรือนจำ ทัณฑสถาน ผู้ผ่านการอบรม 2,038 คน ภาษาจีน 3 เรือนจำ ทัณฑสถานผู้ผ่านการอบรม 169 คน และการจัดอบรมบัญชีครัวเรือนให้ผู้ต้องขัง 16 เรือนจำ 1,494 คน การฝึกวิชาชีพเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ 4 หลักสูตร คือ การเลี้ยงสุนัขเพื่อพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง รุ่นที่ 1 ในเรือนจำทัณฑสถาน 80 แห่ง ผู้ต้องขังเข้าร่วม 2,484 คนจำนวนสุนัขในโครงการ 337 ตัว การส่งเสริมฝึกวิชาชีพปลูกทุเรียน รุ่นที่ 1 ในเรือนจำทัณฑสถาน 22 แห่ง มีผู้ต้องขังเข้าร่วม 635 คน ทุเรียน 533 ต้น การส่งเสริมการเลี้ยงไก่ชน รุ่นที่ 1 ในเรือนจำทัณฑสถาน 45 แห่ง ผู้ต้องขังเข้าร่วม 1,352 คน จำนวนไก่ชน 312 ตัว โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ(โคขุน) รุ่นที่ 1 ในเรือนจำทัณฑสถาน 23 แห่ง ผู้ต้องขังเข้าร่วม 465 คน จำนวนโคเนื้อ(โคขุน) 107 ตัว

นายอายุตม์กล่าวอีกว่า นโยบายกรมราชทัณฑ์ 2564 คือ 1.การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นมาตรฐาน พัฒนาสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ทั้งด้านเรือนนอน โรงเลี้ยงอาหาร สถานพยาบาล และการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล 2.การแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ จัดทำข้อมูลพื้นที่และอัตราความจุของเรือนจำทัณฑสถานทั่วประเทศให้เป็นปัจจุบัน การจัดทำเตียงนอน 2 ชั้น การพักการลงโทษกรณีปกติและกรณีมีเหตุพิเศษ การเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาด 3.พัฒนาองค์กรให้ทันสมัยและโปร่งใส ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมันใหม่ ใช้ระบบขายสินค้าและเงินฝากผู้ต้องขังด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ติดตั้งระบบเยี่ยมญาติทางไกลด้วยแอปพลิเคชันไลน์ และการใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ พัฒนาบุคคลาการมีการอบรมให้ความรู้ให้ทันสมัย และ 4.การคืนคนดีสู่สังคมและติดตามผู้พ้นโทษ

ด้านนายสมศักดิ์กล่าวว่า สถิติที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังส่วนหนึ่งประมาณ 35% อยากทำงาน แต่ไม่มีงานอะไรให้เขาทำ ส่วนอีก 15% ไม่อยากทำงานและกลับไปทำผิดซ้ำอีก หากเราไม่มีอะไรทำให้เขาอยากทำงานหรือประพฤติตนเป็นคนดี ก็ยากที่จะปรับเปลี่ยนเขา ตนได้เคยไปติดตามผู้ต้องขังที่เข้าเข้าออกเรือนจำ 8-9 ครั้ง เพราะเขาไม่รู้จะทำอะไร กลับไปติดคุกสบายกว่าอย่างน้อยก็มีข้าวกิน ซึ่งหากเราไม่รีบแก้ปัญหาจะเสียเวลาและเปล่าประโยชน์ในการทำงาน เราต้องพยายามทำอะไรที่เกิดประโยชน์ได้ ในส่วนของการสร้างอาชีพ อย่างการเลี้ยงไก่ชน คนอาจจะมองดูเหมือนเป็นการพนัน แต่ตนพยายามให้เขาเห็นในมุมที่เป็นประโยชน์

“ผมพยายามส่งเสริมวิชาชีพให้ผู้ต้องขัง คนกลุ่มนี้จะได้มีโอกาส มีที่ยืนในสังคม เราต้องลดสถิติผู้กระทำผิดซ้ำให้ได้ เราผลักดันกันเต็มที่ทั้ง การเรียนการสอน การเลี้ยงสัตว์ ที่ไปทำอาชีพได้ รวมถึงการฝึกเพาะปลูก เช่น การปลูกทุเรียน ที่คนส่วนใหญ่ปลูกแล้วตาย เรามีเรือนจำหลายจังหวัดมีพื้นที่ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ หากปลูกแล้วมีผลผลิต แสดงว่าปลูกได้ ชาวบ้านก็จะได้ปลูกตาม เป็นการนำร่อง จากนี้ต้องฝากราชทัณฑ์เพิ่มหลักสูตรวิชาดูหมอ เพราะมีต้นทุนที่ต่ำมาก เมื่อก่อนผมคิดว่าขายหมูปิ้งลงทุนน้อยสุดแล้ว แต่หมอดูมีไพ่แค่ 2 สำรับลงทุนประมาณ 500 บาท ก็เป็นอาชีพได้แล้ว จึงอยากให้กรมราชทัณฑ์ไปเพิ่มเติมตรงนี้ หัดให้ผู้ต้องขังนั่งสมาธิ และอ่านหนังสือ โหราศาสตร์ ขณะที่การขายของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องเป็นมาตรฐาน และพยายามยกระดับให้เป็นแบรนด์เนมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น” นายสมศักดิ์กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 4/1/2564

เผย อว. เสนอ ครม. ให้ขึ้นเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว

นายเชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เปิดเผยว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ได้หารือและมีมติเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปึงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือแหล่งงบประมาณตามที่เห็นควร เพื่อแก้ไขเยียวยาให้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2554 เป็นจำนวน 35,984 คน เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 7,026,125,778 บาท เป็นการเพิ่มเงินเดือนร้อยละ 8 สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าศาสตราจารย์หรือร้อยละ 3 สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ แล้วแต่กรณี วันที่ 31 มี.ค. 2554 ของแต่ละราย มาปรับเข้าไปในอัตราเงินเดือนปัจจุบัน กรณีข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งยังคงสถานภาพอยู่ในปัจจุบันซึ่งถือเป็นการปรับฐานเงินเดือน

นายเชษฐา กล่าวต่อว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำเงินเดือนร้อยละ 8 ของข้าราชการมหาวิทยาลัยและครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีมานานตั้งแต่ปี 2554 และที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) และองค์กรเครือข่าย เช่น ชมรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ชขอท.) ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ อว.รับทราบปัญหา และเร่งผลักดัน กระทั่งที่ประชุมก.พ.อ.มีมติแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำ จากนี้ต้องรอการพิจารณาของ ครม.ถือเป็นข่าวดีรับปีใหม่ 2564

ที่มา: มติชนออนไลน์, 4/1/2564

ประกันสังคมเตรียมจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรหลังปรับเพิ่มจาก 600 บาท เป็น 800 บาทในเดือน เม.ย. 2564 เพื่อปรับฐานข้อมูลให้ถูกต้อง

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึง การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรให้กับผู้ประกันตน ว่า จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา เรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของสำนักงานประกันสังคม ให้แก่ ผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 โดย 1 ในของขวัญที่ได้รับการเห็นชอบ คือ การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรให้กับบุตรของผู้ประกันตน ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี ให้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจากเดิมเดือนละ 600 บาท เป็นเดือนละ 800 บาทต่อคน

โดยจ่ายคราวละไม่เกิน 3 คน ซึ่งขณะนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ประกาศกฎกระทรวง เรื่อง การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน และภาคแรงงานให้สามารถเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวแจงต่อไปว่า สำหรับการปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากเดิม 600 บาท เป็น 800 บาท ในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินในส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นของงวดเดือน ม.ค. 2564 ในวันที่ 30 เม.ย. 2564 เนื่องจากระบบตัดจ่ายเงินกรณีสงเคราะห์บุตรของสำนักงานประกันสังคมที่กำหนดให้การตัดจ่ายเงินย้อนหลัง 3 เดือน เพื่อปรับฐานข้อมูลผู้ประกันตนให้ถูกต้องก่อนการตัดจ่าย ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

ที่มา: SpringNews, 2/1/2564

สภาองค์การนายจ้างคาดปี 2564 แรงงานไทยว่างงานสะสม 2.9 ล้านคน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมการจ้างงานในปี 2564 ยังไปในทิศทางเดียวกับไตรมาส 4/2563 คือมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การนำเข้าวัตถุดิบกลับมาติดลบต่ำสุดในรอบ 9 ปี ประกอบกับหากพิจารณาจากอัตราการใช้กำลังผลิต (ซียูพี) ของภาคอุตสาหกรรมไทยเฉลี่ย 63-65% จากที่ต่ำสุดราว 52% แต่ก็ยังคงเป็นอัตราการผลิตที่ทำให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างไม่คิดที่จะเพิ่มอัตรากำลังคนแต่อย่างใด และยังคงดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดเป็นหลัก แต่ถือเป็นผลดีต่อการประคองการจ้างงานในภาคส่งออก ส่วนในเรื่องของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ขณะนี้ มองว่าแรงงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการขึ้นของเงินเดือนมากนัก เพราะมีความกังวลในเรื่องของการมีงานทำและการลดลงของเงินเดือนมากกว่า

“โดยปี 2564 คาดว่าอัตราการว่างงานของแรงงานไทยยังคงสะสมอยู่ในระดับ 2.9 ล้านคน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามทิศทางเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวมากขึ้น แต่จะเป็นลักษณะของการค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่อาศัยการท่องเที่ยวจากต่างชาติเป็นหลักยังคงอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวเช่นเดิม” นายธนิต กล่าว

นายธนิต กล่าวว่า ถึงแม้ภาพรวมตลาดแรงงานยังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้น แต่ยังมีความเปราะบาง ตามทิศทางเศรษฐกิจและยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานไทยที่มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.แรงงานในตลาดแรงงานปัจจุบัน 2.แรงงานที่ตกงาน และ3.แรงงานใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสูง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างต้องเร่งปรับลดรายจ่ายลงเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด

ปัจจุบันอัตราแรงงานไทยมีจำนวนประมาณ 37 ล้านคน ซึ่งใน 50% นี้เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม ซึ่งมีแนวโน้มว่าแรงงานอายุ 45-50 ปี มีทิศทางที่จะถูกให้เข้าโครงการสมัครใจลาออก หรือเออร์ลี่รีไทร์ มากขึ้น และแรงงานเหล่านี้ เมื่อเข้าโครงการแล้วจะไม่ปรากฏเป็นผู้ว่างงานในการจัดเก็บสถิติว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ยึดคำนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่ยังคงไม่ปรับเปลี่ยน เช่นเดียวกับแรงงานที่มีอายุการทำงานเพียง 1 ปี ก็เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายในการลดจำนวนคนของนายจ้างเช่นกัน เนื่องจากมองว่ามีประสบการณ์น้อยและจ่ายชดเชยต่ำ ส่วนแรงงานที่ตกงานอยู่แล้วกำลังจะกลายเป็นปัญหาหนัก เพราะอาจกลายเป็นแรงงานที่ตกงานถาวรหากรัฐบาลไม่มีมาตรการใด ๆ ที่จะเข้ามาดูแลเพิ่มเติม

นายธนิต กล่าวว่า ส่วนแรงงานใหม่เสี่ยงตกงานสะสมซึ่งเป็นนักศึกษาจบใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาในระบบอีกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประมาณ 5 แสนคน จะส่งผลให้เมื่อรวมกับนักศึกษาที่จบไปแล้วปี 2563 แต่ยังไม่มีงานทำประมาณเกือบ 4 แสนคน หรือมียอดสะสมประมาณ 9 แสนคน แม้ในจำนวนนี้จะตรงต่อความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลแต่เชื่อว่าปัจจุบันยังมีความต้องการไม่มาก ซึ่งความต้องการอาจเพิ่มขึ้นในปี 2565-2566 เมื่อถึงตอนนั้นจำนวนแรงงานที่จบใหม่อาจไม่พอต่อความต้องการของตลาดดิจิทัลก็ได้ เนื่องจากนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นสาขาที่ไม่ตรงต่อความต้องการตลาดอยู่ดี

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/1/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท