Skip to main content
sharethis

8 ม.ค. 2564 ศบค. แถลงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด 205 คน ขณะที่ ผบ.สส. ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุมการทำกิจกรรมการมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่2) ห้ามรวมตัวในที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยไม่ได้อนุญาตจากผู้ว่าราชการการจังหวัด

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั้งหมด 205 ราย มาจากผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อในประเทศ 131 ราย ติดเชื้อในแรงงานข้ามชาติ (คัดกรองเชิงรุก) 58 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย

ปัจจุบันผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มขึ้น 734 ราย กลับบ้านแล้ว 5,255 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 4,519 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 67 ศพ ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 9,841 ราย นับเป็นรายที่ 9,637 - 9,841 โดยประเทศไทย เป็นอันดับที่ 129 ของโลก

ขณะที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุมการทำกิจกรรมการมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่2)

ประกาศระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่15) ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนดเขตพื้นที่การห้ามชุมนุมการทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) 

ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่16) นั้น อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่15) ข้อ 3 (ฉบับที่16) ข้อ 2 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 ลงวันที่ 25 มี.ค. พ.ศ. 2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินข้อ 3 (6) และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้องจึงให้ปฏิบัติดังนี้

1.ให้ยกเลิกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเรื่องห้ามการชุมนุมการทำกิจกรรมการมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ลงวันที่ 29 ธ.ค. พ.ศ.2563

2.ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรคณที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร

3.ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เว้นแต่การทำกิจกรรมโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรคโดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ

4.การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ซึ่งมีประกาศหรือมีคำสั่งให้เป็นพื้นที่ควบคุมพื้นที่เฝ้าระวังสูงหรือพื้นที่เฝ้าระวัง ให้ผู้จัดการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมดังกล่าว ต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนดำเนินการโดยแสดงแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคประกอบการพิจารณาเว้นแต่ การทำกิจกรรมของทางราชการหน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัยหรือการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถาน

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ประกาศณวันที่ 7 ม.ค. พ.ศ.2564
พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net