Skip to main content
sharethis

3 ส.ส.ก้าวไกลชี้ควรเร่งช่วยเหลือ SMEs ลดความเหลื่อมล้ำการเรียนออนไลน์ และเยียวยาประชาชนอย่างทั่วถึง แพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจติงปิดตลาดไม่ปิดห้างกระทบผู้มีรายได้น้อย อธิบดีกรมควบคุมโรคแจงตลาดเสี่ยงกว่าห้างสรรพสินค้า เพราะมีแรงงานข้ามชาติและผู้ติดเชื้อหนาแน่น มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าห้างสรรพสินค้า ด้าน สปสช. เผย ต.ค.-ธ.ค. 2563 กองทุนบัตรทองกรณีโควิด-19 มีประชาชนเข้ารับการคัดกรอง 1.55 แสนคน และรักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยนอก, ผู้ป่วยในที่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค และผู้ป่วยในที่ต้องรับการรักษาโควิด-19 จำนวน 4,887 คน จ่ายชดเชยแล้ว 467.86 ล้านบาท

ก้าวไกลชี้ควรเร่งช่วยเหลือ SMEs ลดความเหลื่อมล้ำการเรียนออนไลน์ และเยียวยาประชาชนอย่างทั่วถึง

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยวรภพ วิริยะโรจน์ และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ถอดบทเรียนรัฐบาลที่เคยเผชิญในภาวะวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ระลอกเเรก เมื่อต้นปี 2563 โดยระบุถึง 3 ประเด็นหลักควรเร่งแก้ไขอย่างตรงจุด ตรงประเด็น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เเละได้ประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง ได้แก่ การช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงกลุ่มทุนโดยตรง การศึกษาหรือปัญหาการเรียนออนไลน์ที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ เเละมาตรการเราไม่ทิ้งกันรอบ 2 ของกระทรวงการคลัง ที่ต้องเตรียมเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนให้ทั่วถึงและทันเวลา

วรภพ ระบุว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับ SMEs รัฐบาลต้องเร่งช่วยให้ตรงจุด ด้วยการเร่งแก้ไข พ.ร.ก. Soft Loan (พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563) รวมถึงการพักชำระหนี้ เนื่องจากมาตรการ ‘ล็อคดาวน์ที่ไม่เรียกว่าล็อคดาวน์’ กำลังดับความหวังสุดท้ายของ SMEs โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ หลายธุรกิจต้องหยุดดำเนินกิจการโดยที่ไม่ได้ทำผิดพลาดอะไรเลย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความหละหลวมของรัฐบาล ที่ปล่อยให้มีขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าว บ่อนพนันกลางเมือง ในวันนี้ SMEs ยังอยู่ในสภาวะโคม่า จากยอดรวม SMEs 1.8 ล้านล้านบาท ที่มาขอพักชำระหนี้ในรอบที่แล้วยังมีที่ยังอยู่ในสภาวะปรับโครงสร้างหนี้อีกประมาณ 678,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs รอบใหม่โดยด่วนที่สุด

“รัฐบาลต้องเสนอให้สภาผู้เเทนราษฎรเร่งแก้ไขพระราชกำหนดซอร์ฟโลน 5 แสนล้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงได้จริง ในเรื่องนี้พรรคก้าวไกลได้พยายามผลักดันในคณะกรรมาธิการแก้ไขงบประมาณโควิดมาตลอด เพราะที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายไปเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น เนื่องจากติดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม เข้าถึงยาก เรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถฟื้นตัวได้เองหลังจากภาวะวิกฤติ” วรภพ กล่าว

ในด้านประเด็นการศึกษา วิโรจน์ ระบุว่า มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณานำไปปรับใช้ ดังต่อไปนี้

1. กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งทบทวน และจัดทำสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้ครบถ้วนตั้งแต่ประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษา เนื้อหาส่วนใดที่ผิดพลาด ให้เร่งแก้ไข พร้อมกับจัดทำใบงาน แบบฝึกหัด และเอกสารประกอบการเรียนการสอน ให้ถูกต้องครบถ้วน มีงบประมาณในการจัดพิมพ์ให้กับนักเรียน ไม่ต้องให้นักเรียนไปพิมพ์กันเอาเอง มีการวางตารางเวลา จัดสรรเวลาในการเรียนรู้ด้วยตนเองให้กับนักเรียนอย่างชัดเจน มีการซักซ้อมกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้มีความเข้าใจในบทบาทของตนเอง ในการให้คำปรึกษากับบุตรหลาน ในการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน ไม่ใช่ปล่อยให้พ่อแม่ไปจัดการกันเอง ตามมีตามเกิดแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2. นักเรียนระดับอนุบาล และประถมศึกษา ป.1-6 การมาพบปะคุณครู เพื่อให้ครูได้แนะนำ ยังคงมีความจำเป็นอยู่มาก แต่เพื่อลดความหนาแน่นลง โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถแบ่งนักเรียนหนึ่งห้อง ออกเป็น 4 รอบ เพื่อทยอยมาพบกับคุณครู เช่น จันทร์พุธศุกร์เช้า จันทร์พุธศุกร์บ่าย อังคารพฤหัสเสาร์เช้า อังคารพฤหัสเสาร์บ่าย นักเรียนที่มีอยู่ห้องละ 40 คน ก็จะเหลือรอบละแค่ 10 คน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จะจัดการให้นักเรียนมี Social Distancing ได้ และหากมีปัญหาการระบาดเกิดขึ้น นักเรียนก็จะไม่ระบาดข้ามกลุ่มกันด้วย โดยให้คุณครูคอยทบทวนเนื้อหาสำคัญ ในเฉพาะวิชาที่สำคัญ ต่อการเรียนรู้ต่อยอดด้วยตนเองในบทเรียนถัดๆ ไป เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น และสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งพอจะมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองในระดับหนึ่งแล้ว อาจจะมาพบคุณครู ที่โรงเรียนน้อยกว่าระดับประถมศึกษา โดยอาจจะมาพบเพียงสัปดาห์ละ 1-2 วัน เท่านั้น เพื่อให้ครูทบทวนเนื้อหาเฉพาะวิชาที่สำคัญ เช่นเดียวกัน

3. กำหนดบทบาทหน้าที่ให้แก่ครู ในการโทรศัพท์ติดตามนักเรียน เพื่อสอบถามถึงความเข้าใจในการเรียน และอาจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่นักเรียนที่มีข้อสงสัย มีระบบ Call Center ในวิชาต่างๆ เพื่อให้นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยตนเองแล้วไม่เข้าใจ สามารถโทรศัพท์มาสอบถามคุณครูได้ ไม่ต้องเก็บความไม่เข้าใจเอาไว้

4. สำหรับนักเรียนที่มีความขาดแคลนจริงๆ ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน อันเนื่องมาจากไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีแท็บเล็ต หรือไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จริงๆ อันเนื่องจากที่บ้านไม่มีผู้ดูแล เพราะทั้งพ่อแม่ต่างต้องไปทำงาน กระทรวงศึกษาธิการ ควรอนุญาตให้นักเรียนเหล่านี้ มาเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน ภายใต้การกำกับของครู ซึ่งคาดว่านักเรียนที่มีข้อจำกัดเหล่านี้ ไม่น่าจะมีจำนวนมากนัก ซึ่งก็ย่อมอยู่ในวิสัยของโรงเรียนที่จะป้องกันการระบาดได้

“กระทรวงศึกษาธิการ ควรจะเร่งจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอให้กับโรงเรียนแต่ละแห่ง ในการจัดสร้าง จัดหา จัดเตรียม อุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาให้เพียงพอได้แล้ว เช่น การจัดสร้างอ่างล้างมือหน้าห้องเรียน การจัดหาอุปกรณ์ในการวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ สบู่เหลวล้างมือ หน้ากากอนามัย สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลน หรือไม่ได้นำมาจากที่บ้าน เพื่อให้เมื่อโรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้อีกครั้ง โรงเรียนแต่ละแห่งจะได้มีศักยภาพในการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้” วิโรจน์ กล่าว

สำหรับในส่วนประเด็นมาตรการเราไม่ทิ้งกัน รอบ 2 ที่มีกระเเสข่าวออกมาว่ารัฐเตรียมออกมาตรการเพื่อชดเชยเเละเยียวยานั้น ณัฐชา ระบุว่า สุดท้ายมาตรการเยียวยาจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอคือ รัฐบาลต้องถอดบทเรียนและเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตเพื่อปรับปรุงให้การเยียวยารอบใหม่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และมีกระสุนที่มากพอที่จะรองรับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยมีเรื่องที่ต้องนำไปพิจารณา คือ

1. ต้องไม่มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่ซับซ้อน ขั้นตอนต้องเข้าถึงคนออฟไลน์ บทเรียนจากในคราวที่แล้วคือในการขอรับสิทธิ์ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่ยุ่งยาก หลักเกณฑ์ ‘อาชีพอิสระ’ ไม่มีความชัดเจน ทำให้คนที่เดือดร้อนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับสิทธิ์ หรือได้รับสิทธิ์ล่าช้าเพราะต้องลงทะเบียนใหม่ ในขณะที่ผู้ที่เดือดร้อนบางส่วนก็เข้าไม่ถึงโครงการ เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้คนที่เดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจจำนวนมากไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล

2. การเยียวยาต้องรวดเร็ว ต้องไม่ให้เหมือนรอบที่แล้ว ที่กว่าที่ประชาชนจะได้เงินไปต่อชีวิตต้องรอเวลาเป็นเดือนๆ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน (เปิดลงทะเบียนครั้งแรกวันที่ 29 เม.ย. จ่ายเงินงวดสุดท้าย 26 มิ.ย.) รัฐบาลล่าช้ามามากพอแล้วในการออกมาตรการเยียวยา เราหวังว่ามาตรการที่ออกมาจะไม่มีการจ่ายเงินเยียวยาที่ล่าช้ายิ่งขึ้นไปอีก

3. นโยบายต้องมีความชัดเจน ออกแบบให้รัดกุม คิดให้จบ ไม่ให้เหมือนครั้งที่แล้ว ที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียน เดี๋ยวก็บอก 3 ล้านคน เดี๋ยวก็ 24 ล้านคน เดี๋ยวก็ 15 ล้านคน เงื่อนเวลาก็ขยายแล้วขยายอีก ตอนแรกบอก 5 วันหลังลงทะเบียนได้รับเงิน ตอนหลังขยายไป 7 วัน แล้วก็ขยายไปเรื่อย ๆ ทำให้การจ่ายเงินล่าช้า

“รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีคลังคนใหม่มีบทเรียนจากมาตรการที่ผ่านมาแล้ว มาตรการในรอบนี้จึงควรต้องรู้ว่าจะจัดกระบวนการเยียวยาให้รวดเร็วและทั่วถึงได้อย่างไร และรัฐบาลมีงบประมาณเหลือพอที่จะใช้เยียวยาประชาชนรอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่อนุมัติไปได้ครึ่งเดียวเท่านั้น และงบประมาณปี 2564 ที่ยังไม่เคยนำมาเกลี่ย เรามักคิดว่าเรื่องปากท้องกับการควบคุมโรคเป็นเรื่องที่ต้องแลกกัน แต่สำหรับพรรคก้าวไกล เราเชื่อว่ารัฐบาลที่ดี สามารถประคับประคองให้ทั้งสองเป้าหมายเดินไปด้วยกันได้” ณัฐชากล่าวทิ้งท้าย

แพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจติงปิดตลาดไม่ปิดห้างกระทบผู้มีรายได้น้อย

8 ม.ค. 2564 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ รพ.วิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า

“มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ด้วยการสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อในสถานที่นั้นๆ ไม่ใช่สั่งปิดพร้อมกันหมด ตอนนี้เศรษฐกิจไทยบอบช้ำเกินกว่าจะเจอล็อคดาวน์รอบ 2

"คนไทยสามารถทำกิจกรรมในที่กลางแจ้ง (outdoor) ได้ทุกฤดูกาล ต่างจากประเทศเมืองหนาว การห้ามลูกค้าเข้าไปซื้อของในสถานที่เปิด ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศเช่น ตลาดสด ตลาดนัด ซื้อของจากร้านหาบเร่ แผงลอยข้างถนน ห้ามนั่งรับประทานอาหารในที่โล่ง นอกอาคาร นอกบ้านหลัง 3 ทุ่ม ส่งผลกระทบต่อผู้มีอาชีพขายอาหาร คนหาเช้ากินค่ำ ลูกจ้าง คนทำงานต้องตกงาน เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

"ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ ร้านสะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นสถานที่ปิด (indoor) ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อากาศถ่ายเทไม่ดี มีความเสี่ยงในการแพร่กระจาย การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าในที่กลางแจ้ง 10 เท่า กลับให้เปิดทำการได้ตามเวลาปกติ

"เราสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในตลาดสด ตลาดนัด ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างสถานที่ให้มีการถ่ายเทระบายอากาศมากขึ้น เปิดหลังคาบางจุด เว้นระยะห่างของแม่ค้าแต่ละซุ้ม ทำทางเดินให้กว้างขึ้น ไม่ให้แออัดมากเกินไป คนขายของและลูกค้าทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

"รัฐควรผ่อนผันให้สถานที่นอกอาคาร ในที่กลางแจ้ง เปิดบริการเหมือนปกติ เพื่อให้คนได้ทำงาน มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว"

 

มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ด้วยการสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อในสถานที่นั้นๆ...

Posted by หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC on Thursday, 7 January 2021

 

อธิบดีกรมควบคุมโรคแจงตลาดเสี่ยงกว่าห้างสรรพสินค้า เพราะมีแรงงานข้ามชาติและผู้ติดเชื้อหนาแน่น

ขณะที่ มติชนออนไลน์ รายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรื่องความเสี่ยงในการแพร่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เกิดจาก 1.อากาศถ่ายเท 2.การพบผู้สัมผัส คนที่ไปห้างส่วนไปเพียงไม่นาน แต่ตลาดที่เสี่ยงตอนนี้คือมีแรงงานข้ามชาติ ซึ่งขณะนี้เราตรวจพบเชื้อในแรงงานข้ามชาติเยอะ มีตัวอย่างที่ตลาดกลางกุ้ง ตลาดบางใหญ่ เป็นต้น

นพ.โอภาสกล่าวว่า เห็นชัดว่ามีผู้ติดเชื้อเยอะ แต่ห้างสรรพสินค้านั้นคนเข้า คนออกเยอะ แต่คนติดเชื้อไม่เยอะ ดังนั้น จึงเปรียบเทียบกันไม่ได้ ทั้งนี้ สภาพของตลาด บางครั้งอากาศถ่ายเทอาจจะดีกว่า แต่การมีผู้ติดเชื้ออยู่ในตลาดค่อนข้างหนาแน่น ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อเยอะ เหมือนที่เห็นตัวอย่างในตลาดหลายแห่ง นี่คือเอาข้อเท็จจริงมาพูด

กองทุนบัตรทองคัดกรองโควิด-19 กว่า 1.55 แสนคน รักษาเกือบ 5 พันคน วงเงิน 467 ล้านบาท 

ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า ต.ค.-ธ.ค. 2563 กองทุนบัตรทองกรณีโควิด-19 มีประชาชนเข้ารับการคัดกรอง 1.55 แสนคน และรักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยนอก, ผู้ป่วยในที่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค และผู้ป่วยในที่ต้องรับการรักษาโควิด-19 จำนวน 4,887 คน จ่ายชดเชยแล้ว 467.86 ล้านบาท

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19นับเป็นมหันตภัยด้านสาธารณสุขร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทยจากการแพร่ระบาดโควิด-19ระลอกใหม่นี้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและกระจายเป็นวงกว้างทั่วประเทศขณะนี้ สปสช. ตระหนักต่อภาวะวิกฤตสาธารณสุขดังกล่าวโดยมีการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือโดยสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการประชาชนกรณีโควิด-19

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2564 นี้ สปสช. จัดสรรงบประมาณพร้อมเพื่อรองรับการบริการกรณีโควิด-19 เช่นกัน เบื้องต้นในเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2563 ที่เป็นช่วงต้นปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา มีประชาชนเข้าถึงบริการกรณีโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากข้อมูลการเบิกค่าบริการกรณีโควิด-19 ในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. – 30 ธ.ค. 2563 จ่ายชดเชยจำนวน 467.86 ล้านบาท ตามบริการ ดังนี้  

  1. บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 จำนวน 155,856 คน คิดเป็น 186,980 ครั้ง เป็นจำนวนเงินจ่ายชดเชย 319.39 ล้านบาท  
  2. บริการรักษาพยาบาล ทั้งกรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก รวมเป็น 4,887 คน (แยกเป็นการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก 53 คน, ผู้ป่วยในที่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (IP PUI) 4,421 คน และผู้ป่วยในที่ต้องรับการรักษาโควิด-19 425 คน) คิดเป็น 4,993 ครั้ง เป็นจำนวนเงินจ่ายชดเชย 148.46 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณที่นำมาใช้ในการเบิกจ่ายช่วงต้นปีงบประมาณ 2564 ในเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2563 ตามรายการนี้ เบื้องต้นเป็นการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกรณีโควิด-19 ที่ยกมาจากปีงบประมาณ 2563 เพื่อจัดสรรดูแลประชาชนกรณีโควิด-19 ต่อเนื่อง ในช่วงระหวางดำเนินการจัดสรรงบเพิ่มเติมตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ในระยะ 6 เดือน ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2564 ต่อไป   

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ขณะที่ยอดการเบิกจ่ายค่าบริการ โควิด-19 ในปีงบประมาณ 2563 ระหว่างเดือน เม.ย.-ก.ย. 2563 นั้น แบ่งเป็นบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 จำนวน 589,996 คน คิดเป็น 817,935 ครั้ง และบริการรักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก รวมเป็น 33,951 คน ในจำนวนนี้มีทั้ง ผู้ป่วยนอก, ผู้ป่วยในที่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (IP PUI) และผู้ป่วยในที่ต้องรับการรักษาโควิด-19 ซึ่งรวมทั้งสองบริการเป็นจำนวนเงินจ่ายชดเชย 2,830.66 ล้านบาท

ทั้งนี้ สปสช.จัดสิทธิประโยชน์กรณีโควิด-19 เพื่อรองรับทั้งการคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยง ตามเกณฑ์กรมควบคุมโรค ทุกคนทุกสิทธิสามารถเข้ารับบริการคัดกรองเพื่อตรวจยืนยันได้ที่โรงพยาบาลในระบบบัตรทอง โดย สปสช. จะจ่ายชดเชยเหมาจ่ายไม่เกินครั้งละ 1,600 บาท เหมาจ่ายเพิ่มเติมครั้งละ 600 บาท บริการเก็บตัวอย่างเหมาจ่ายครั้งละ 100 บาท บริการผู้ป่วยในที่ครอบคลุมค่าชุด PPE ชุดละ 740 บาท ห้องควบคุมโรควันละ 2,500 บาท ห้องพักผู้ป่วย-สถานที่กักกันโรค วันละ 1,500 บาท ค่ายารักษารายละ 7,200 บาท (หรือชดเชยเป็นยา) ค่ารักษากรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วย จ่ายตามระยะทาง และค่าทำความสะอาดรวมชุด PPE ครั้งละ 3,700 บาท  

นอกจากงบประมาณเฉพาะที่เป็นการจัดสรรเพื่อเบิกจ่ายในกรณีโควิด-19 แล้ว ภายใต้กองทุนบัตรทองยังมีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ สปสช. ในการดำเนินงานกิจกรรมโครงการที่มุ่งป้องกันและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดย อปท. สามารถนำงบจากกองทุนนี้มาใช้เพื่อร่วมป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ได้ ซึ่งปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมามี อปท. 394 แห่ง ที่ร่วมจัดทำโครงการป้องกันโควิด-19 เป็นจำนวน 817 โครงการแล้ว พร้อมนี้ สปสช. ยังได้ทำหนังสือถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อขอความร่วมมือแจ้ง  อปท. ที่ร่วมจัดตั้ง กปท. นำกลไก กปท. มาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net