Skip to main content
sharethis

สารเนื่องในโอกาส 'วันเด็กแห่งชาติ' จาก กสม. ขอให้ผู้ใหญ่ร่วมกันดูแลให้เด็ก ๆ ทุกคนในประเทศได้มีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ได้รับการพัฒนา และมีส่วนร่วมแสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเองได้อย่างเต็มที่


แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

9 ม.ค. 2564 ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานว่า ‘เด็ก’ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) หมายถึง ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้นตามกฎหมายอื่นที่ใช้บังคับกับเด็ก) การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กตามอนุสัญญาฯ มีหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) การไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็กทุกคนที่มีความแตกต่างกันด้วยเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือ สถานะอื่น ๆ 2) การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กในทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับเด็ก 3) การคุ้มครองสิทธิของเด็กในการมีชีวิตอยู่รอด และ 4) การพัฒนาและรับฟังความเห็นของเด็กตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะ นอกจากนี้อนุสัญญาฯยังได้รับรองสิทธิอื่น ๆ อีกหลายด้าน เช่น สิทธิที่จะมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เพียงพอสำหรับการพัฒนาของเด็ก  สิทธิด้านการศึกษา  สิทธิด้านสุขภาพ  สิทธิที่จะไม่ถูกแทรกแซงในความเป็นส่วนตัวโดยมิชอบ  สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากความรุนแรงและการถูกแสวงประโยชน์  และการปฏิบัติต่อเด็กที่ถูกกล่าวหาทางอาญา  เป็นต้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ห่วงใยและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของเด็กในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะการส่งเสริมความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องตามหลักสากลให้แก่เยาวชน ด้วยการจัดทำและเผยแพร่คู่มือจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 ช่วงชั้น สำหรับนักเรียนระดับปฐมวัย – มัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาได้มีเครื่องมือในการส่งเสริมความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่เยาวชน การจัดทำโครงการเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจและยืนเคียงข้างสิทธิมนุษยชน (Youth Standing Up for Human Rights) เพื่อให้เยาวชนเรียนรู้ในสิทธิมนุษยชนภายใต้บริบทของสังคมไทย ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การจัดทำข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเสนอไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอให้พิจารณาแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยข้อมูลประวัติการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กที่ก้าวพลาดได้มีโอกาสกลับคืนสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป รวมทั้งการจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการแก้ไขกฎหมายกรณีปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อเด็กนักเรียนโดยครูหรือบุคลากรทางการศึกษาเสนอไปยังรัฐบาลด้วย ประการสำคัญ กสม. ได้จัดตั้งกลไกเฝ้าระวังและติดตามการละเมิดสิทธิของเด็กซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางทั้งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการชุมนุมทางการเมือง

เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2564 นี้ กสม. ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ขอส่งพลังใจและความปรารถนาดีไปยังเด็ก ๆ และเยาวชนให้มีกำลังใจที่เข้มแข็ง เข้าใจและยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เพื่อสามารถก้าวผ่านทุกวิกฤตการณ์ และเติบโตเป็นอนาคตที่งดงามของสังคมได้ พร้อมกันนี้ ขอให้ผู้ใหญ่ร่วมกันดูแลให้เด็ก ๆ ทุกคนในประเทศได้มีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ได้รับการพัฒนา และมีส่วนร่วมแสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net