วงเสวนาชี้รัฐไม่จริงใจในการจัดทำแผนฟื้นฟูกับ 'กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด'

วงเสวนาชวนจับตาความรุนแรงรอบใหม่ฟื้นฟูเหมืองทองคำ จ.เลย ตัวแทนนักปกป้องสิทธิฯ ระบุกังวลความรุนแรงระลอกใหม่กำลังก่อตัวขึ้นอีกรอบหลังมีการข่มขู่คุกคามชาวบ้านในพื้นที่ ชี้รัฐไม่จริงใจในการจัดทำแผนฟื้นฟูกับ 'กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด' พร้อมเผยจุดอ่อนของกฎหมายปิดกั้นชาวบ้านให้เข้าร่วมกระบวนการฟื้นฟู 

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 ที่หมู่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วันสะพุง จังหวัดเลย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จังหวัดเลยได้จัดงานเสวนาออนไลน์รอบกองไฟในหัวข้อ จับตาความรุนแรงรอบใหม่ฟื้นฟูเหมืองทองคำจังหวัดเลย โดยมี นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ และ น.ส.รจนา กองเสน ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด หกหมู่บ้าน จังหวัดเลย น.ส.ชฎาพร ชินบุตร เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ 

เสวนารอบกองไฟ จับตาความรุนแรงรอบใหม่ฟื้นฟูเหมืองทองคำ จ.เลย | 9 ม.ค. 64

ย้อนไทม์ไลน์การถูกคุกคามจากเหมืองแร่ทองคำก่อนเข้าสู่ความรุนแรงระลอกใหม่

นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2549 ที่เหมืองเริ่มเปิดดำเนินการ สิ่งแรกที่เรารับรู้คือ เรามีงานทำ เรามีเงินเดือน แต่สิ่งรอบตัวเริ่มเปลี่ยนแปลง มีการขุดระเบิดภูเขาไป 2 ลูก จนมาปี2550 เริ่มมีฝุ่นฟุ้งกระจายในหมู่บ้าน กลางคืนไม่ได้หลับไม่ได้นอนมีรถเครื่องจักรทำงาน จากนั้นคนในหมู่บ้านก็เลยมาพูดคุยกัน เพราะสภาพแวดล้อมเริ่มเปลี่ยนแปลงหนักขึ้น ปลาในริมห้วยเริ่มตาย ต้นไม้พืชผักเริ่มเปลี่ยนสี จนมาปี 2551 สำนักงานสุขภาพ จ.เลย ได้มีการประกาศเตือนห้ามชาวบ้านใช้น้ำในท้องถิ่นเพื่อดื่มหรือประกอบอาหาร มาปี 2552 ชาวบ้านเริ่มป่วย และเรียกร้องให้มีการตรวจสุขภาพ และจากการที่สำนักงานสุขภาพ จ.เลยทำการตรวจเลือดชาวบ้าน จำนวน 279 คน ก็พบว่าชาวบ้าน 54 คนมีระดับสารไซยาไนด์ในร่างกายสูงกว่าปกติ และปี 2553 สาธารณสุขจังหวัดได้มาตรวจเลือดชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้านโดยรอบเหมือง พบสารไซยาไนด์ ปรอท ตะกั่ว ในเลือดทั้งเกินและไม่เกินค่ามาตรฐาน หลังจากนั้นชาวบ้านก็มีเรียกร้องลุกขึ้นมาต่อสู้เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างสาหัส

“เราเรียกร้องไปยังภาครัฐตั้งแต่ปี 2555 และทางเหมืองก็มีความพยายามที่จะขยายพื้นที่ เราก็คัดค้านอีก หลังต่อสู้คัดค้านจนถึงปี2556 มีการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วม 1 พันนาย มาปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้าน เข้าร่วมแสดงเวทีความคิดเห็น ที่วัดโพนทอง ต.นาโป่ง หลังจากนั้นมีการฟ้องร้องชาวบ้านจำนวน 33 คน ทั้งคดีแพ่งและอาญา และหนักสุดคือเมื่อปี 2557 มีกองกำลังติดอาวุธร่วม 300 คน จับชาวบ้านมัดมือ ทำร้ายร่างกาย และทำลายกำแพงเพื่อขนสินแร่ออกจากพื้นที่ ”ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย กล่าว

จากเหตุการณ์นี้เราบอบช้ำมามากพอแล้ว แสดงให้เห็นถึงภาครัฐยังไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ส่วนแผนฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบ เรายืนยันว่าเราไม่อยากให้มีเหมืองในชุมชนอีกต่อไป ที่เราสู้จนเหมืองปิด เราอยากให้มีการฟื้นฟูธรรมชาติ โดยให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะคนในพื้นที่จะรู้ว่าอะไรมีประโยชน์ต่อชุมชนมากที่สุด 

จี้แก้ช่องกฎหมายให้ภาคปชช.มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเหมืองในพื้นที่ของตนเอง

ขณะที่ น.ส.รจนา กองเสน ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย กล่าวว่า หลังมีการเรียกร้องปิดเหมืองของชาวบ้าน ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เราถูกคุกคามมาโดยตลอด มีการต่อสู้จนได้คดีเพิ่มมา 9 คดี ที่ส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวข้อพิพาทระหว่างเหมืองกับชาวบ้าน เกี่ยวกับการเอาสินแร่ออกมา 

"มาปี 2559-2560 มีการขออนุญาตเพื่อที่จำเหมืองแร่ต่อ เราต่อสู้ที่อบต.หนักมาก เนื่องจากที่อบต.ของเรามีโซนบนและโซนล่าง โดยโซนบนได้รับผลกระทบน้อยกว่าโซนล่าง แต่กลับมีเสียงมากสุด การโหวตจึงแพ้ทุกครั้ง จากตรงนี้เราไม่ท้อ เราก็สู้ต่อ จนได้คดีเพิ่มมากว่า 20 คดี เรียกว่าเราไปศาลกันเป็นว่าเล่น เมื่อเรื่องถึงศาลเราชนะและทำการฟ้องกลับปี 2561 และศาลก็พิพากษาว่า ให้บริษัทเหมืองฟื้นฟูเยียวยาชาวบ้าน จำนวน 150 ล้านบาท แต่ในที่สุดบริษัทเหมืองก็ล้มละลาย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินเยียวยาในส่วนนี้มาจากใคร" ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านกล่าวและว่า

ส่วนการฟื้นฟู เรามีหมุดหมายเดียวกันของชาวบ้านคือต้องไม่มีเหมืองในพื้นที่ รวมทั้งภาครัฐเองต้องเปิดให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ในส่วนของข้อกฎหมายก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่กฎหมายต้องทำการคุ้มครองประชาชนจริงๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่ต้องมีการแก้กฎหมาย ที่เหมืองปิด เป็นหน้าที่รัฐต้องฟื้นฟู ที่ผ่านมาภาคประชาชนมีส่วนร่วมยากมาก ทำไมกฎหมายไม่เปิดช่องให้เรา อยากให้มีการปรับเปลี่ยน เพื่อความศรัทธาในกฎหมาย

เปิดสัญญานการคุกคามระลอกใหม่จาก 3 กลุ่มผู้มีอิทธิพลหลักในพื้นที่

ขณะที่ น.ส.ชฎาพร ชินบุตร เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่กล่าวว่า ภายหลังจากที่บริษัททุ่งคำจำกัดโดนพิพากษาจากศาลจังหวัดเลยให้มีสถานะล้มละลายและให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในปี พ.ศ. 2562 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จากกรมบังคับคดีได้ดำเนินการตีตรายึดทรัพย์เพื่อที่จะนำสินทรัพย์ไปขายทอดตลาด ซึ่งตัวสินทรัพย์ของบริษัทมีสองส่วน คือ สินแร่ในถุงบิ๊กแบ็ค 190 ถุง และส่วนที่สองคือโรงงานอาคารสำนักงานต่าง ๆ ในเบื้องต้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จากกรมบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดสินแร่จำนวน 190 ถุง ส่วนตัวโรงงานยังติดเงื่อนไขว่าต้องมีการฟื้นฟูซึ่งยังไม่มีข้อกำหนดของ กพร.ออกมา แต่สถานการณ์ก่อนการประมูลขายสินแร่รอบแรกมีความผิดปกติไม่ชอบมาพากลในพื้นที่มาโดยตลอด โดยในปี พ.ศ.2562 จนถึงกลางปี 2563 ซึ่งจะมีชายที่บางคนเรียกว่าพ่อค้าที่สนใจสินทรัพย์ต่าง ๆ มาขอเจรจาพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยไม่เข้ากระบวนการประมูลสินทรัพย์ของกรมบังคับคดีจึงมาเจรจากับชาวบ้านตลอดเวลา โดยอ้างว่าตัวเองเคลียร์ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เคลียร์กับบริษัทแล้ว เคลียร์อะไรต่าง ๆ แล้วแต่ชาวบ้านก็พยายามเฝ้าระวังเรื่องนี้จนนำไปสู่การเฝ้าเวรยามกลางปี 2562 เนื่องจากมีการลักขโมยทรัพย์สินเกิดขึ้น

ต่อมาบริษัทแห่งหนึ่งเข้ามาประมูลสินแร่ได้ในรอบที่สาม ซึ่งก็ได้รับสินแร่ 190 ถุง และบริษัทไปดำเนินการกับอุตสาหกรรมและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการติดต่อมาที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดว่าอยากขอเอารถเทเลอร์เข้าไปขนสินแร่ในวันที่ 4 ม.ค.นี้ แต่ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเกิดขึ้นในวันที่ 2 ม.ค. ได้มีชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งซึ่งหนึ่งในนั้นอ้างตัวว่าเป็นทนายของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าไปหาชาวบ้านและบอกว่า จะเข้ามาทำการฟื้นฟูพื้นที่ขอเข้าไปในพื้นที่เหมืองเพื่อสำรวจพื้นที่ในการฟื้นฟู แต่ชาวบ้านที่อยู่บริเวณประตูแดง ซึ่งเป็นที่ดินที่ชาวบ้านร่วมหุ้นซื้อมา ไม่ยอมให้เข้าไป เนื่องจากมีท่าทีไม่น่าไว้ใจ โดยชาวบ้านระบุว่า ชายกลุ่มนี้เป็นทหารมาจากค่ายหนึ่ง มีการขับรถตระเวนดูรอบ 6 หมู่บ้านและเช็คชาวบ้านที่มาเฝ้าเวรยามอยู่ตลอดว่ามีกี่คน ซึ่งชายกลุ่มนี้มีท่าทีที่ไม่อยากให้บริษัทที่ประมูลสินแร่ได้ เข้าไปขนสินแร่ หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินบนเหมือง ซึ่งชาวบ้านก็กังวลว่าสถานการณ์ไม่ปกติและเกรงว่าจะเกิดการปะทะขึ้นในหมู่บ้าน 

ทั้งนี้ตนได้วิเคราะห์สถานการณ์ ว่าความรุนแรงระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน จะเกิดขึ้นจากคน สามกลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มผุ้มีอิทธิพลใน จ.เลย ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ของที่นี่ มีทั้งนักการเมืองในท้องถิ่น รวมทั้งมีส.ส.ในสภาด้วย ความรุนแรงนี้ที่จะเกิดขึ้นใหม่อาจจะโยงใยกับตัวละครการสังหารนาย ประเวียน บุญหนัก ที่ออกมาคัดค้านโรงโม่หินในอดีต รวมถึงเราต้องไปดูว่าใครมีบทบาทสำคัญในการผลักดันออกใบอนุญาตให้จัดทำเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำด้วย 

กลุ่มที่ 2 คือทบาทของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ ที่เป็นบริษัทแม่ของบริษัททุ่งคำ ตอนนี้ก็เป็นทั้งเจ้าหนี้ของบริษัททุ่งคำด้วย หากมีความรุนแรงในพื้นที่ ก็ต้องมีการถามหาความรับผิดชอบของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ ด้วย

และกลุ่มที่ 3 คือบริษัทที่มาประมูลสินแร่ได้ที่อาจจะมีความขัดแย้งกับตัวบริษัทเองที่มีกระบวนการฮั้วประมูลเกิดขึ้นจากการขายสินแร่ในพื้นที่ เพราะว่าก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินว่าในหลายๆ พื้นที่ที่การประมูลก็จะมีการฮั้วประมูล ซึ่งจากที่เคยได้ยินข่าวลือในพื้นที่เราก็ได้ยินจากชาวบ้านว่ามีการพูดคุยของพ่อค้าก่อนที่จะมีการมาประมูลสินแร่ ซึ่งพ่อค้ามีการไปตกลงกับว่าจะไปประมูลรอบสุดท้ายคือรอบที่ 4 ในวันที่ 15 ม.ค. แต่เขาไม่คิดว่าบริษัทนี้จะมาประมูลในรอบที่ 3 เป็นบริษัททุกบริษัทที่เป็นกลุ่มอิทธิพลที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงในรอบนี้ของพื้นที่ซึ่งเป็นความเสี่ยงของชาวบ้านที่ต้องแบกรับอยู่ตลอดเวลา โดยที่กลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะได้รับประโยชน์จากการที่ชาวบ้านเฝ้าเวรยามอยู่นี้คือคณะกรรมการเจ้าหนี้ที่แทบจะไม่ได้ มารับผิดชอบชาวบ้านที่มารับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา

“อย่างเจ้าหนี้ ที่ประกอบไปด้วย ดอยซ์แบงก์ธนาคารประเทศเยอรมัน รวมทั้งหน่วยงานรัฐของไทย ที่ประกอบด้วย สปก.กพร.กรมสรรพากร ก็ไม่เคยมาเหลียวแลชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านต้องแบกรับภาระความเสี่ยง และอาจจะรับเงินเป็นลำดับสุดท้าย ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ แต่เจ้าหนี้ที่เป็นหน่วยงานอาจจะได้รับเงินก่อน

ไม่เท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่อยู่กรมบังคับคดีภายใต้กระทรวงยุติธรรม ก็ไม่เคยมาแสดงความรับผิดชอบการดำเนินการในพื้นที่ โดยเอางานของตัวเองมาให้ชาวบ้านรับผิดชอบแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ซึ่งอันนี้ไม่ถูกต้องและไม่ควรปฏิบัติในฐานะที่ตัวเองเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เกิดเป็นความกดทับและเหลื่อมล้ำชัดเจน”

ซึ่งสถานการณ์นี้เองทำให้ความปลอดภัยของชาวบ้านในพื้นที่อยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงเหมือนเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 ที่ชาวบ้านถูกนายทหาร สองพ่อลูกนำกลุ่มชายฉกรรจ์ 200 คนบุกมาทำร้ายชาวบ้านเพื่อทำการขนสินแร่ออกจากพื้นที่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทหารจากค่ายลพบุรี แต่ครั้งนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่าเข้าจะไปจ้างทหารมาจากค่ายอื่น

เปิดข้อมูล 3 ช่วงการทำเหมืองที่ทำให้ชาวบ้านถูกข่มขู่คุกคาม พร้อมยกเคสฟื้นฟูคลิตี้เป็นบทเรียนของการขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่

ขณะที่นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชนกล่าวว่า การทำเหมืองจะมีอยู่ทั้งหมด 3 ช่วง คือ ช่วงที่ขอใบอนุญาตทำเหมือง ช่วงที่ได้รับในอนุญาตทำเหมือง และช่วงหลังจากทำเหมือง ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องทำการฟื้นฟูตามหลักสากล ซึ่งช่วงระหว่างก่อนการทำเหมืองกับช่วงการทำเหมืองเป็นสองช่วงที่สำคัญที่จะนำความขัดแย้งความรุนแรงความเห็นไม่ลงรอยกันในชุมชนมามากมาย ส่วนช่วงสุดท้ายคือช่วงหลังจากใบประทานบัตรหมดและไม่มีการทำเหมืองแล้วที่จะต้องฟื้นฟูทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนมาสู่ชุมชนเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่จะต้องฟื้นฟูทุกสิ่งทุกอย่างกลับมา ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านนาหนองบงได้คิดและจัดทำแผนฟื้นฟูภาคประชาชนขึ้นมาเพราะเห็นข้อจำกัดของหน่วยงานรัฐและข้อจำกัดของผู้ประกอบการและกฏหมายก็ไม่สามารถบังคับให้หน่วยงานเล่านี้มีมาตรการที่ชัดเจนว่าจะต้องฟื้นฟูเหมืองอย่างไรและจะมีบทลงโทษหรือไม่ถ้าไม่ถ้าไม่มีการทำการฟื้นฟู 
 
นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่าชาวบ้านนาหนองบงจึงได้พยายามผลักดันแผนฟื้นฟูภาคประชาชนที่ได้จัดทำขึ้น ซึ่งในแผนนี้ได้ระบุชัดเจนว่าสิ่งแรกที่จะต้องทำในการฟื้นฟูเหมืองคือการฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องเริ่มการฟื้นฟูความขัดแย้งของชาวบ้านในพื้นที่ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา ก่อนที่จะฟื้นฟูทางด้านเทคนิควิชาการ การฟื้นฟูด้านสังคมจะต้องมาก่อน หากนำกรณีเหมืองทองจ.เลย ไปเปรียบเทียบกับการทำเหมืองที่หมู่บ้านคลิตี้ ในส่วนของการฟื้นฟู ตัวละครที่เกี่ยวข้องกับการได้รับประโยชน์ อาทิ ผู้รับเหมา พวกนายทุนท้องถิ่น ที่มีธุรกิจถมดิน ซึ่งเราจะเห็นชัดเจชนว่า ตัวละครที่เคยทำเหมืองมาก่อนก็มาเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเหมืองด้วย เพราะไปรับช่วงจากผู้ที่ได้รับการประมูลฟื้นฟูเหมือง ซึ่งนายทุนเป็นกลุ่มเดียวกัน ดังนั้นอุปสรรคขั้นแรกในการฟื้นฟู ถ้าเราไม่กำจัดอิทธิพลนี้ทิ้งไปก็ไม่สามารถฟื้นฟูเหมืองให้สำเร็จได้

"กรณีของเหมืองทอง จ.เลย เป็นที่น่าสังเกตว่า บ.ทุ่งคำจำกัด ที่จะต้องเข้ามามีส่วนในการฟื้นฟู ตามคำสั่ง ก่อนหน้านี้ ไม่เคยปรากฏตัวพอศาลมีคำสั่งให้บริษัททุ่งคำจำกัดเป็นบริษัทล้มละลายก็หายไปเลยไม่ต้องรับผิดชอบไม่ต้องชดใช้อะไรทั้งสิ้น แต่วันนี้พอให้มีการเปิดประมูลสินแร่ ก็ได้มีผู้ประมูลรายหนึ่ง ประมูลสินแร่จำนวน 190 ถุงไปได้ กลับมีการปราฏตัวขึ้นของกลุ่มชายฉกรรจ์ที่อ้างว่าเป็นคนของบริษัททุ่งคำ คำถามคือบริษัททุ่งคำกำลังจะทำอะไร มันเป็นการแยงชิงอะไรบางอย่างไรหรือไม่ และรูปแบบของการแย่งชิงในครั้งนี้มันคล้ายกับความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นกับบ้านเมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่มีการนำทหารเข้ามาแล้วเริ่มข่มขู่คุกคามชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่าง คือยังมีทรัพย์สินนอกรายการอีกมากมาย ที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ยังขึ้นทะเบียนบัญชีทรัพย์สิน ตนอยากถามไปถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วยว่า ทำไมถึงยังไม่ขึ้นทะเบียนบัญชี ทรัพย์สินที่อยู่นอกเหนือจากสินแร่ 190 ถุง จะไปเห็นว่ามันเป็นอิฐหินดินทรายธรรมดาได้อย่างไรเพราะมันเป็นสินแร่ทั้งนั้น นี่คือความรับผิดชอบโดยตรงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์" หัวหน้าพรรคสามัญชนกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท