Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แม้ กสทช. ชุดปัจจุบันจะครบวาระ แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามกฎหมาย จนกว่าจะมีการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ และเมื่อกระบวนการสรรหายังไม่เสร็จสิ้น ในปี 2564 นี้ กสทช. ก็ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ

เริ่มจากเรื่องคลื่นความถี่และดาวเทียม สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคมจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2564 ดาวเทียมที่ยังคงให้บริการได้จะถูกส่งต่อให้รัฐบาล เพื่อหาผู้ให้บริการต่อจนสิ้นสุดอายุวิศวกรรม ส่วน Filing (คลื่นความถี่และวงโคจร) ดาวเทียมที่ไม่มีการใช้งาน กสทช. จะจัดการประมูลในต้นปี 2564 เพื่อเป็นการเปิดเสรีกิจการดาวเทียมสื่อสารอย่างเต็มรูปแบบ

ผลจากการสิ้นสุดสัมปทานดาวเทียม ทำให้ กสทช. สามารถนำคลื่นย่าน Extended C-Band หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ย่าน 3.5 GHz มาประมูล 5G ได้ ซึ่งนับเป็นคลื่นหลักของการให้บริการ 5G ทั่วโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย และยังมีคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ค้างการจัดสรรนานหลายปี ตลอดจนคลื่นความถี่ Millimeter waves ย่าน 28 GHz ที่สามารถจัดสรรเพื่อบริการ 5G อีกย่านหนึ่ง คาดว่าจะมีการจัดประมูลในช่วงปลายปี 2564 โดยปริมาณคลื่นที่จะประมูลขึ้นกับผลการศึกษาเรื่องการรบกวนและการใช้งานร่วมกันกับกิจการอื่น เช่น กิจการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม

การนำคลื่น 3.5 GHz มาให้บริการ 5G มีผลกระทบที่สำคัญต่อประชาชนคือ ผู้รับชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมระบบ C-Band หรือเรียกกันว่าจานดำทุกรายจะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์หัวรับสัญญาณเพื่อหยุดการรับสัญญาณ Extended C-Band มิเช่นนั้นจะถูกรบกวนการรับชมเมื่อเปิดบริการ 5G ดังเช่นในปัจจุบันที่การเปิดบริการ 5G บนย่าน 2600 MHz ทำให้ผู้ใช้จานดำรุ่นเก่าส่วนหนึ่งที่มีหัวรับสัญญาณที่รับสัญญาณ 2600 MHz ด้วย (ทั้งที่ไม่ใช่ย่านโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม) ไม่สามารถรับชมได้ตามปกติ

ในส่วนคลื่น 5G ย่าน 700 MHz ซึ่งจัดประมูลไปแล้ว ตามแผนแล้วจะเปิดให้บริการได้ไม่จำกัดพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมเป็นต้นไป หลังจากโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดินย้ายไปใช้งานคลื่นอื่น ในช่วงนี้หากช่องสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลบางสถานีไม่สามารถรับชมได้ ผู้ชมสามารถปรับตั้งกล่องโทรทัศน์ดิจิตอลให้หาสัญญาณใหม่ ก็จะสามารถรับชมได้ตามปกติ

สำหรับการให้บริการ 2G นั้น ค่ายมือถือล้วนต้องการยุติบริการ แต่มีประเด็นเกี่ยวเนื่องที่สำคัญคือ ผู้ให้บริการจะต้องรับผิดชอบให้ผู้ใช้งานเดิมใช้งานได้ต่อไป ด้วยการแจ้งเตือนและเสนออุปกรณ์ทดแทน ไม่เฉพาะทดแทนเครื่องโทรศัพท์ แต่รวมไปถึงทดแทนอุปกรณ์สื่อสาร 2G อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ติดตามตำแหน่งรถยนต์ผ่านสัญญาณโทรศัพท์ อุปกรณ์รายงานระดับน้ำหรือติดตามสภาวะแวดล้อม อุปกรณ์สำหรับธุรกรรมทางการเงินรุ่นเก่า เป็นต้น มิเช่นนั้น การยุติบริการ 2G จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง

ในด้านกิจการวิทยุกระจายเสียง มีเรื่องสำคัญคือการเรียกคืนคลื่นความถี่ ซึ่งเดิม กสทช. ต้องเรียกคืนเพื่อจัดสรรใหม่ตั้งแต่ปี 2560 แต่ คสช. ได้ออกคำสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีก 5 ปี เท่ากับจะครบกำหนดในปี 2565 ในช่วงปี 2564 นี้จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อจัดสรรใหม่ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการออกใบอนุญาตกิจการวิทยุกระจายเสียงอย่างแท้จริง ต่างจากในปัจจุบันที่สถานีวิทยุหลักให้บริการตามสิทธิเดิมและสถานีวิทยุชุมชนเดิมอยู่ในสถานะทดลองประกอบกิจการเป็นเวลายาวนาน แม้บางสถานีจะทำผิดเงื่อนไขการอนุญาต แต่ก็ยังคงได้รับการต่ออายุการทดลองประกอบกิจการต่อไป

ทางด้านกิจการโทรทัศน์ ในปัจจุบันโทรทัศน์ดิจิตอลไม่เหลือช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว แม้แต่สถานีเดียว และในช่วงสถานการณ์โรคระบาด ทางไทยพีบีเอสได้ทดลองออกอากาศช่อง Active Learning TV (ทีวีเรียนสนุก) แต่มีข้อจำกัดเพราะโครงข่ายโทรทัศน์ระบบอื่นไม่นำไปออกอากาศ เนื่องจากการทดลองออกอากาศไม่อยู่ภายใต้กฎ Must Carry ทั้งที่เป็นรายการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชน จึงได้ยื่นเรื่องขอใบอนุญาตโทรทัศน์สาธารณะประเภทรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว และ กสทช. มีมติให้เร่งจัดทำหลักเกณฑ์การจัดอนุญาตภายใน 6 เดือน

นอกจากประเด็นเรื่องคลื่นความถี่และดาวเทียมแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะและการแข่งขัน และมีกรอบเวลาที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิเช่น

1. แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมระยะ 5 ปี ซึ่งแผนปัจจุบันจะสิ้นสุดปี 2564 จึงจำเป็นต้องเร่งจัดทำแผนฉบับต่อไปเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้ทันในปี 2565

2. การปรับอัตราเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน เพราะอัตราที่สูงไป ผู้ให้บริการรายใหญ่จะได้เปรียบรายเล็ก และทำให้ในท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการสูงเกินจริง สำนักงาน กสทช. จึงมีภารกิจต้องเร่งสรุปผลการศึกษาอัตราที่เหมาะสมในปีนี้

3. การกำหนดค่าเป้าหมายมาตรฐานของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในส่วนบริการสตรีมมิ่ง ตามประกาศมาตรฐานคุณภาพบริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งให้ดำเนินการหลังจาก 1 ปี ซึ่งจะเป็นมาตรฐานสำคัญในยุคบริการ 5G ที่มีการใช้งานสตรีมมิ่งอย่างแพร่หลาย

4. การปรับปรุงประกาศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้สอดคล้องกับการใช้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

5. การส่งเสริมการพัฒนา 5G Use Cases และการวางกรอบการกำกับดูแลบริการยุคใหม่ เช่น ไอโอที ตลอดจนการวางแนวทางร่วมกำกับดูแลกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ จากการที่บริการ 5G กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของกิจการต่างๆ

6. การปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในกรณีการควบรวมธุรกิจ เกี่ยวกับสิทธิในการประกอบกิจการที่รับโอนมา ตามที่ กสทช. เคยมีมติให้ดำเนินการภายในระยะเวลา 3 เดือน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างภารกิจของ กสทช. ในปี 2564 ยังมีภารกิจอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง แต่จุดที่สำคัญที่สุดคือ สังคมต้องร่วมขับเคลื่อนและติดตามการทำงานของ กสทช. ในปี 2564 กันต่อไป

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net