COVID-19 : 11 ม.ค.64 พบติดเชื้อเพิ่มขึ้น 249 ราย

สถานการณ์ COVID-19 ประจำวันที่ 11 ม.ค.64

  • ศบค.รายงานผู้ติดเชื้อโควิด19 จำนวน 249 ราย ติดเชื้อในประเทศ 224 ราย สะสม 10,547 ราย
  • กักตัว 273 ลูกเรือจักรีนฤเบศรสัมผัสเสี่ยงสูง
  • 'อนุทิน' ย้ำทุกคนตรวจฟรี เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงให้รีบไปตรวจทันที
  • สปสช. ประชุมหน่วยปฐมภูมินำร่องยกระดับบริการ หวังขยายผลเกิดการทำงานแบบเครือข่าย

11 ม.ค.2564 ความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด 19 วันนี้ (11 ม.ค.) เพิ่มขึ้น 249 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 224 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 25 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 10,547 ราย หายป่วยแล้ว 6,566 ราย เสียชีวิตคงที่ 67 คน อยู่ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3,914 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้า state quarantine 25 ราย คือ ผู้ที่เดินทางจาก สหราชอาณาจักร 2 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 2 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ตุรกี 1 ราย ฮังการี 1 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย บาห์เรน 1 ราย เดนมาร์ก 1 ราย มาเลเซีย 1 ราย เมียนมา 14 ราย โดยมีผู้ป่วยหนักอยู่ที่ 28 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 5 คน

“สำหรับผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ที่ยังน่ากังวลคือ จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีผู้ติดเชื้อในวันนี้ 37 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุตั้งแต่ 9 เดือนถึง 62 ปี ส่วนที่จ.นนทบุรี พบผู้ติดเชื้อ 31 ราย ซึ่งเกินครึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ป่วยสูงอายุ ตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับจ.อ่างทอง19 ราย กรุงเทพมหานคร 36 ราย สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากต่างประเทศจำนวน14 ราย มาจากเมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก มีประวัติมาจากแหล่งเล่นการพนัน ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลแม่สอดดูแลอยู่” โฆษกศบค. กล่าว

กักตัว 273 ลูกเรือจักรีนฤเบศรสัมผัสเสี่ยงสูง

พล.ร.ท.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยกรณีมีกำลังพลบางส่วนของเรือหลวงจักรีนฤเบศรไปรับประทานอาหารในร้านอาหารแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ชลบุรี ช่วงวันหยุดที่ผ่านมา และพยาบาลประจำเรือ รายงานว่า พบผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 จากการประกาศของ จ.ชลบุรี ว่า ได้คัดกรองสอบถามกำลังพลที่ไปในพื้นที่เสี่ยงตามประกาศ พบว่ากำลังพลจำนวน 11 นาย มีประวัติเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว จึงส่งตัวเข้ารับการตรวจที่คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) โรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารเรือเอง ซึ่งผลตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 นาย ทางโรงพยาบาลจึงแจ้งไปที่ทีมสอบสวนโรค และร่วมกันค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ

“ทีมสอบสวนและควบคุมโรคของกรมแพทย์ทหารเรือ ร่วมกับกองเวชกรรมป้องกัน โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ได้สอบสวนโรคและค้นหาผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง โดยให้เข้ารับการกักกัน และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 273 นาย อยู่ระหว่างรอผลการตรวจ และเสนอรายงานให้กองทัพเรือทราบ” โฆษกกองทัพเรือ กล่าว

'อนุทิน' ย้ำทุกคนตรวจฟรี เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงให้รีบไปตรวจทันที

ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ทางรัฐบาลมีความห่วงใยสุขภาพของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนโรค ควบคุม ป้องกันโรค และจัดเตรียมมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด ซึ่งทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยจะได้รับตรวจการคัดกรองโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองโควิด-19 แก่คนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาพยาบาล สำหรับกลุ่มแรงงานต่างชาตินั้น ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบดูแลงบประมาณสำหรับตรวจคัดกรองโควิด-19  

โดยเกณฑ์การตรวจคัดกรองโควิด-19 เป็นไปตามหลักเกณฑ์ผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค หรือ PUI ซึ่งย่อมาจาก Patient Under Investigation ของกรมควบคุมโรค คือ ผู้สงสัยติดเชื้อที่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ประวัติมีไข้/อุณหภูมิกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยง คือ  

1. 14 วันก่อนเริ่มป่วย มีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้  

1.1 เดินทางไปยัง มาจาก หรืออยู่อาศัยในประเทศที่มีการรายงานโรคในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา  

1.2 สัมผัสกับผู้ป่วยสงสัยหรือยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

1.3 ไปในสถานที่ชุมนุมชน หรือ สถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล หรือ ขนส่งสาธารณะ ที่พบผู้ป่วยสงสัยหรือยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา  

1.4 ปฏิบัติงานในสถานกักกันโรค 

2. แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  

“หากมีอาการเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์นี้ รวมถึงกรณีที่ท่านสงสัยหรือไม่แน่ใจ สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ได้ที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยทางแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าท่านมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนและวางแนวทางการปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของท่าน อย่านิ่งนอนใจหรือประมาทว่าตัวเองไม่น่าจะติดเชื้อ หากท่านมีประวัติเกี่ยวข้องกับพื้นที่ระบาดหรือสัมผัสกับบุคคลที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาด แม้จะไม่มีอาการอะไรก็ขอให้ไปพบแพทย์ก่อน ถ้าท่านไม่ติดเชื้อ ท่านก็จะได้สบายใจว่าไม่ติด แต่หากตรวจพบเชื้อ ก็จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาแต่เนิ่นๆ โดยกระบวนการทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่าย" อนุทิน กล่าว  

ทั้งนี้ สปสช.จะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองโควิด-19 แก่คนไทยทุกคน สำหรับกลุ่มแรงงานต่างชาตินั้น ทางกรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับตรวจคัดกรองโควิด-19 ไว้แล้ว ดังนั้น หากท่านมีลูกจ้างแรงงานต่างชาติหรือรู้จักกับแรงงานต่างชาติที่พักอาศัยใกล้บ้านท่านที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็สามารถแจ้งให้ไปรับการตรวจคัดกรองได้ฟรีเช่นกัน และหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 

สปสช. ประชุมหน่วยปฐมภูมินำร่องยกระดับบริการ หวังขยายผลเกิดการทำงานแบบเครือข่าย

สปสช. จัดประชุมชี้แจงแนวทางและหลักเกณฑ์การขอรับค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ปีงบประมาณ 2564 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยบริการปฐมภูมิ 428 แห่งที่จะนำร่องยกระดับการให้บริการ ตามแนวทางของ พ.ร.บ.ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ 2562 

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ระบบปฐมภูมินับจากนี้คงไม่ได้มีนิยามแบบ 10-20 ปีก่อน แต่ต้องทำให้เกิดการจัดเครือข่ายในระบบ ทำให้ผู้รับบริการไปรับบริการที่ไหนก็ได้ในเครือข่าย ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องปรับมุมมองและวิธีการหรือแม้แต่แผนการลงทุน ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการจัดบริการ ไม่ใช่มองว่ามีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) หรือ คลินิกอยู่แห่งหนึ่งแล้วมองว่านั้นคือบริการปฐมภูมิ แต่ต้องมองว่ายังมีคลินิกเอกชนอื่นๆที่มีศักยภาพให้บริการได้ เช่น คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด การไปรับยาที่ร้านยาหรือส่งยาทางไปรษณีย์ รวมทั้งระบบ telehealth, telemedicine เหล่านี้ต้องมองว่าทำอย่างไรจะดึงทรัพยากรจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการได้ 

ขณะเดียวกัน สปสช.เองก็มีระบบการจ่ายเงินที่ลงลึกในรายละเอียดหลายรายการและกำลังเริ่มบูรณาการเป็นการจ่ายแบบ service package หรือชุดบริการโดยในปี 2564 จะมีพื้นที่นำร่องที่เป็นต้นแบบหน่วยบริการปฐมภูมิตามหลักคิดข้างต้น 428 แห่ง โดยอยากย้ำว่าขอให้ทำได้ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่วางไว้ ส่วน สปสช.ก็จะพยายามจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เกิดผลสะท้อนในการเกิดบริการ ขณะเดียวกันก็อยากให้ใช้ศักยภาพของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ให้เข้ามาทำงานร่วมกันด้วย ซึ่งหากทำได้ตามเป้าก็จะทำให้ระบบสาธารณสุขเข้มแข็งมากขึ้น 

ด้าน ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สปสช. กล่าวว่า หน่วยบริการปฐมภูมิที่ขึ้นทะเบียนในระบบของ สปสช. มี 11,851 แห่ง เป็นหน่วยบริการที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1,921 แห่งและได้รับเลือกให้เป็นหน่วยนำร่องยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิ 428 แห่ง ซึ่งการจัดสรรงบประมาณสำหรับ 428 แห่งนี้ จะจัดสรรเพิ่มเติมจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว โดยแบ่งเป็น กทม. 44 ล้านบาท และต่างจังหวัด 214 ล้านบาท  

ขณะที่ นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นโยบายระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกที่ สธ. ยกขึ้นมาจัดการ หน่วยบริการปฐมภูมิต้องทำให้ประชาชนรู้จักแล้วไปรับบริการที่ดีขึ้นกว่าเดิมและมากขึ้นกว่าเดิม และวางเป้าในปี 2564 ว่าต้องการเพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นต้องมาจากหน่วยบริการนำร่องทั้ง 428 แห่งนี้ ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานและสามารถปลดล็อกให้ทั้งประเทศได้งบประมาณมากขึ้น  

"จุดนี้เป็นประเด็นว่าถ้าทีมหมอครอบครัว 428 แห่งนี้ทำได้ดี ทำให้สำนักงบประมาณเห็นภาพรวมของการพัฒนาระบบปฐมภูมิ ต่อไปการจัดสรรงบประมาณก็อาจเป็น service package หรือชุดบริการลงไปที่หน่วยบริการโดยตรง ขณะนี้ทาง สธ.ได้หารือกับกรมบัญชีกลางแล้ว และสำนักงานประกันสังคมก็จะมีงบเพิ่มเติมด้วย ดังนั้นท่านเป็นครีมของจังหวัด ครีมของเขต ช่วงนี้ท่านมีโอกาส ขอให้ใช้จังหวะนี้สร้างผลงาน ซึ่งก็จะเป็นความก้าวหน้าของผู้ปฏิบัติงานในระบบปฐมภูมิทั้งระบบ ทั้งเรื่องงบประมาณ ความก้าวหน้าทางวิชาชีพและทรัพยากรต่างๆ" นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าว 

ที่มา : ทีมสื่อ สปสช., เว็บไซต์ทำเนียบ และสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท