Skip to main content
sharethis

ชวนดูความพยายามทำงานของผู้แทนประชาชนในอังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา สิงคโปร์ บางที่ใช้ประชุมสภาออนไลน์ บางที่ใช้การรักษาระยะห่าง เพื่อให้กลไกออกกฎหมาย การสะท้อนข้อเรียกร้อง ความเดือนร้อนของประชาชนไปพร้อมตรวจสอบรัฐบาลยังทำงานต่อเนื่องในช่วงเวลานี้ และอีกหลายประเทศยังเดินหน้าจัดการเลือกตั้งได้ลุล่วง 

ภาพ virtual meeting ของคณะกรรมาธิการเตรียมการจัดการประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 13 พ.ค.63 ซึ่งในครั้งนั้น พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภาและกรรมการบริหาร
สหภาพรัฐสภา ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย (ที่มาภาพ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)

จากเมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แถลงภายหลังการหารือร่วมวิป 3 ฝ่ายโดยมีมติไม่เอกฉันท์ว่าให้เลื่อนการประชุมสภาออกไป 2 สัปดาห์ จากกำหนดเดิมที่จะเริ่มในวันที่ 6-8 ม.ค.64 เพื่อเฝ้าระวังและสังเกตการณ์สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เพราะเกรงว่ารัฐสภาจะกลายเป็นคลัสเตอร์การระบาดของโรคแห่งใหม่ เนื่องจากมีคนจำนวนมากมารวมตัวกัน ประกอบกับการที่รัฐบาลออกข้อปฏิบัติห้ามการประชุมต่าง ๆ แต่กลุ่ม ส.ส. พรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค กล่าวว่าพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติจะหยุดชะงักไม่ได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์คับขันของประเทศชาติที่กำลังต้องการมาตรการที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ และพยายามผลักดันให้จัดการประชุมสภาแบบรักษาระยะห่าง หรือนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้

จนล่าสุดวันนี้ (12 ม.ค.64) ชวน ตรวจความเรียบร้อยของห้องประชุมสภาผู้แทนฯ ประชุมส.ส.ในสัปดาห์หน้า พร้อมท่าทีที่เหมือนพยายามกลับมาทำหน้าที่ของสภาให้ได้  ไม่ว่าตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเป็นอย่างไร และขอความร่วมมือสมาชิกทุกคน ให้นำผู้ติดตามมาเพียงท่านละ 1 คน เพื่อลดความแออัด รวมทั้งเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมาชวนเองเพิ่งลงนามเห็นชอบในระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมาธิการ พ.ศ.2564 แล้ว

แม้การประชุมสภาของไทยจะชะงักไปดังกล่าว แต่รัฐสภาของหลายประเทศทั่วโลกยังยืนยันจัดการประชุมสภาต่อไป เพื่อปรึกษาหารือ หรือออกกฎหมาย เนื่องจากรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญตามระบอบประชาธิปไตยที่ใช้แก้ไขปัญหาให้ประชาชน รัฐสภาในหลายประเทศทั่วโลกจึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสภาได้ตามปกติ ไม่เว้นแม้แต่อังกฤษที่ตอนนี้มีจำนวนผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 สะสมทะลุ 2,600,000 คน

อังกฤษ

22 เม.ย. 2563 รัฐสภาอังกฤษเปิดประชุมสภาออนไลน์ครั้งแรกท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งขณะนั้นอังกฤษมีผู้ป่วยสะสมจำนวน 117,942 คน และบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ คือ หนึ่งในผู้ป่วยจำนวนนี้ ถึงแม้ว่าขณะนั้น อังกฤษจะอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ 5 สัปดาห์ อีกทั้งสุขภาพของผู้นำประเทศยังอยู่ในขั้นวิกฤติ แต่สมาชิกรัฐสภารวมถึงคณะรัฐมตรีจำเป็นต้องเดินหน้า ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาให้ประชาชนต่อไป

การประชุมสภาออนไลน์ครั้งแรกของอังกฤษ กำหนดให้ ส.ส. จำนวน 50 คนเข้าประชุมแบบรักษาระยะห่างทางกายภาพในอาคารรัฐสภา ส่วนที่เหลืออีก 120 คนให้ประชุมผ่านโปรแกรม Zoom ซึ่งมีการเชื่อมต่อสัญญาณเข้ากับจอโทรทัศน์ในรัฐสภา เพื่อให้ ส.ส. ทุกคนสามารถพูดคุย ปรึกษาหารือ รวมถึงลงมติต่าง ๆ ได้เสมือนเข้าร่วมประชุมปกติ และถ่ายทอดสัญญาณให้ประชาชนรับชมได้ผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐสภา โดยในวันนั้น โดมินิก ราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และแมตต์ ฮานค็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้านั่งในห้องประชุมจริงเพื่อตอบกระทู้ซักถามจาก ส.ส. หลายคนที่ร่วมประชุมจากทางบ้าน ด้าน ลินด์เซย์ ฮอยล์ โฆษกประจำรัฐสภากล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมสภาวันนั้นว่า “นี่คือสัญลักษณ์ที่ต้องจดจำ รัฐสภาอังกฤษอยู่มา 700 ปี แต่จู่ ๆ ก็ต้องปรับ[วิธีการทำงาน]ไปสู่รูปแบบใหม่ นี่คือจุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดจบ สิ่งที่เราต้องการคือระบบอันแข็งแกร่งซึ่งก่อร่างสร้างขึ้นจากจุดเปลี่ยนในวันนี้”

จากการประชุมสภาออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์ครั้งแรก จนถึงปัจจุบันซึ่งรัฐบาลอังกฤษประกาศล็อกดาวน์ครั้งที่ 3 สมาชิกรัฐสภาอังกฤษยังคงเดินหน้าเปิดประชุมสภาอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาปิดตายสภา รวมทั้งเปิดให้ ส.ส. สามารถลงมติรับร่างกฎหมายต่าง ๆ ได้ผ่านเว็บไซต์ของรัฐสภา

ญี่ปุ่น

14 เม.ย. 2563 รัฐสภาญี่ปุ่นจัดการประชุมสภาแบบรักษาระยะห่างครั้งแรก โดยอนุญาตให้ ส.ส. จำนวน 230 คนจากทั้งหมด 465 คน เข้านั่งแบบที่เว้นที่ในห้องประชุม ส่วน ส.ส. ที่เหลือให้ประชุมผ่านไลฟ์จากที่บ้าน ในการประชุมดังกล่าว ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นซึ่งดำแรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นได้เสนอร่างงบประมาณฉุกเฉินจำนวน 108 ล้านล้านเยน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อนจากโรคระบาดโควิด-19 ต่อมาในวันที่ 1 พ.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นจัดการประชุมออนไลน์เต็มรูปแบบครั้งแรก โดยมีเพียงชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี และโยชิฮิเดะ ซูงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น นั่งประชุมในห้องเดียวกันแบบรักษาระยะห่าง ส่วนรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรมสไกป์ และสวมหน้ากาอนามัยทุกคน ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นลงมติให้จัดการประชุมทุกวันอังคารและวันศุกร์ตามกำหนดการเดิมทุกอย่าง เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบมาใช้ช่องทางออนไลน์แทน

รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นกำหนดให้ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ต้องเข้าร่วมประชุมสภา ทำให้สามารถจัดการประชุมแบบรักษาระยะห่าง รวมถึงนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ ส.ส. ที่เหลือประชุมทางไกลได้ แต่เมื่อถึงกำหนดลงมติเห็นชอบกฎหมาย ส.ส. จำนวน 465 คน และ ส.ว. อีก 245 คน ต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อลงมติทุกคน แต่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดนี้สมาชิกรัฐสภาหลายคนไม่สะดวกเข้าร่วมประชุมเพื่อลงมติได้ เช่น ยาซุฮิโกะ ฟุนาโงะ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค่ายวัย 62 ที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมิทสึรุ อูระตะ คณะกรรมการจังหวัดไซตามะที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อเสื่อมดูเชน บุคคลเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย ซึ่ง ส.ส. พรรคฝ่ายค้านและคณะกรรมการบริหารในหลายจังหวัดของญี่ปุ่นได้ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนสามารถลงมติเห็นชอบกฎหมายผ่านการประชุมออนไลน์ได้ ทั้งยังช่วยคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตให้แก่สมาชิกรัฐสภาทุกคนอีกด้วย ทว่า ข้อเสนอนี้ได้รับการอนุมัติให้ทำได้เฉพาะการประชุมของคณะกรรมการจังหวัด และคณะทำงานงานย่อยอื่น ๆ เท่านั้น ส่วนการลงมติเพื่ออกกฎหมายในระดับประเทศเห็นควรให้ยึดถือรูปแบบการลงมติตามเดิม

ถึงแม้จะมีข้อถกเถียงเรื่องรูปแบบและข้อกำหนดการประชุมสภา แต่รัฐสภาญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าทำงานแบบรักษาระยะห่างอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมเปิดประชุมสภาวิสามัญสมัยถัดไปในวันที่ 18 ม.ค. นี้

ออสเตรเลีย

24 ส.ค. 2563 รัฐสภากลางของออสเตรเลียเปิดประชุมวิสามัญเต็มรูปแบบโดยใช้ช่องทางออนไลน์เป็นครั้งแรกใน หลังจากพักการประชุมนาน 9 สัปดาห์ โดยอนุญาตให้ ส.ส. ที่เดินทางมาประชุม ณ อาคารรัฐสภาในกรุงแคนเบอร์ราไม่ได้เนื่องจากนโยบายห้ามเดินทางข้ามรัฐ รวมถึง ส.ส. ที่มีปัญหาสุขภาพ สามารถเข้าร่วมประชุมสภาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของทางการได้ ซึ่งการประชุมสภาครั้งนี้ถือเป็นการประชุมทางไกลครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย

ส.ส. ที่ประสงค์เข้าร่วมการประชุมออนไลน์จะได้รับลิงก์เข้าร่วมเป็นรายบุคคล และต้องปฏิบัติตามระเบียบของที่ประชุมอย่างเคร่งครัด โดยต้องแต่งตัวสุภาพตามระเบียบการประชุมปกติ ต้องประดับสัญลักษณ์พรรคการเมือง รวมถึงป้ายระบุชื่อและตำแหน่งให้เห็นเด่นชัดตลอดการประชุม และไม่สามารถโหวตลงคะแนนใด ๆ ได้ตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การลงคะแนนมีผลต่อเมื่อ ส.ส. เข้าร่วมในสถานที่ประชุมจริงเท่านั้น แต่ ส.ส. ที่ประชุมออนไลน์ยังสามารถปรึกษาหาหรือหรือซักถามบุคคลอื่นในที่ประชุมได้ตามปกติ

เมื่อ พ.ศ.2552 รัฐสภาออสเตรเลียเคยสำรวจความเห็นของสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาประชุมที่กรุงแคนเบอร์รา และพบว่าสมาชิกระหว่าง 5-10% รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางและการปรับเวลา เนื่องจากออสเตรเลียเป็นประเทศใหญ่ที่มี 3 เขตเวลา การเดินทางข้ามเขตเวลาบ่อย ๆ จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพ นอกจากนี้ แคโรลิน อีแวนส์ ศาสตราจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการเดินทางข้ามรัฐและเขตเวลาเป็นประจำ ส่งผลให้ผู้หญิงในรัฐสภาออสเตรเลียมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

แคนาดา

แคนาดาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่จัดประชุมสภาออนไลน์ โดยเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ปีที่แล้ว สมาชิกรัฐสภาแคนาดาทุกคนทดลองประชุมทางไกลร่วมกันผ่านโปรแกรม Zoom เป็นครั้งแรก เพราะไม่ ส.ส. และ ส.ว. มากกว่า 300 คนไม่สามารถรวมตัวกัน ณ อาคารรัฐสภา ตามระเบียบป้องกันโรคระบาดโควิด-19 แต่รัฐสภาแคนาดาจำเป็นทำงานเพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปได้ จึงทดลองประชุมสภาในรูปแบบนิวนอร์มัลโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย แน่นอนว่า สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนมีความสามารถด้านเทคโนโลยีแตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาทางเทคนิคหลายอย่างตามมา เช่น ขาดการเชื่อมต่อเพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี เผลอกดออกจากห้องประชุม หรือลืมปิดไมค์ ทำให้มีเสียงรบกวนจากคนในบ้าน หรือสัตว์เลี้ยงดังเล็ดลอดเข้ามาในที่ประชุม แต่การประชุมก็ผ่านพ้นไปด้วยดี โดยมีสมาชิกรัฐสภาจำนวน 280 คนจากทั้งหมด 338 คนเข้าร่วม

แม้หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าการใช้ Zoom ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจากจีนเป็นสื่อกลางการประชุมระดับประเทศจะเสี่ยงต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ แต่แอนโทนี โรตา โฆษกรัฐสภาของแคนาดากล่าวว่า Zoom ที่รัฐสภาใช้เป็นแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์ที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มฟรีที่ใช้กันอยู่ทั่วไป จึงมั่นใจเรื่องระบบความปลอดภัย อีกทั้งเนื้อหาการประชุมสภาก็ไม่มีอะไรที่เป็นความลับ จึงยืนยันที่จะจัดการประชุมสภาผ่าน Zoom พร้อมเปิดให้ประชาชนดูการประชุมย้อนหลังได้ในเว็บไซต์รัฐสภา

รัฐสภาแคนาดาจัดการประชุมสภาออนไลน์เต็มรูปแบบสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อซักถามและปรึกษาหารือเกี่ยวกับกฎหมายแนะนโยบายต่าง ๆ ส่วนการประชุมจริงที่อาคารรัฐสภาในกรุงออตตาวาจะจัดขึ้นทุกวันพุธ โดยให้ตัวแทนพรรคการเมืองแบ่งกลุ่มเข้าร่วมประชุมแบบรักษาระยะห่าง เพื่อให้สามารถออกกฎหมายฉุกเฉินสำหรับบริหารประเทศในช่วงโรคระบาดได้

สิงคโปร์

วันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ประธานรัฐสภาไทยประกาศเลื่อนการประชุมออกไป 2 สัปดาห์ แต่รัฐสภาสิงคโปร์เดินหน้าจัดการประชุมสภาออนไลน์ครั้งแรก โดยถ่ายทอดสดผ่านช่องยูทูบของกระทรวงการสื่อสารและข้อมูลสื่อสารแห่งสิงคโปร์ พร้อมมีซับไตเติลภาษาอังกฤษขึ้นให้อ่านแทนการใช้ล่ามภาษามือ และจะจัดเก็บวิดีโอถ่ายทอดสดไว้นาน 6 เดือน

คณะรัฐมนตรีสิงคโปร์เสนอให้ถ่ายทอดสดการประชุมสภาแบบเต็มรูปแบบผ่านยูทูบตั้งแต่ ก.ย. ปีที่แล้ว แต่ ส.ส. ฝ่ายค้านคัดค้านเนื่องจากเห็นว่ามีช่องการอื่นที่ประชาชนสามารถรับชมการประชุมสภาได้อยู่แล้ว แต่ท้ายที่สุด คณะรัฐมนตรีก็สามารถผลักดันให้ประชาชนมีช่องทางการรับชมการประชุมสภาได้เพิ่มเติม นอกเหนือจากการดูผ่านเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ช่อง CNA

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ปีที่แล้ว รัฐสภาสิงคโปร์มีมติให้จัดการประชุมสภาโดยรักษาระยะห่างทางกายภาพ ให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมโดยนั่งห่างกันอย่างน้อยเว้น 1 ที่ และอนุญาตให้ขึ้นไปนั่งบนชั้น 2 ของห้องประชุมได้ นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดต้องใช้ทางเข้าออกคนละทาง รวมถึงแบ่งกลุ่มการประชุมย่อยหลายกลุ่ม เพื่อลดความแออัดภายในอาคาร มาตรการนี้ยังคงบังคับใช้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้โรคโควิด-19 จะระบาดหนัก แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐสภาสิงคโปร์

การประชุมสภาทางไกลไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเพราะโรคระบาดโควิด-19 แต่ใน พ.ศ.2554 รัฐสภาสเปนอนุญาตให้ ส.ส. และ ส.ว. ลงมติทางไกลได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมประชุมที่รัฐสภา ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเจ็บป่วยจนไม่สามารถเดินทางได้ หรือลาเลี้ยงบุตร ส่วนบราซิลเป็นประเทศแรก ๆ ที่นำเทคโนโลยีประชุมทางไกลมาใช้กับการประชุมสภา เนื่องจากประเทศมีขนาดใหญ่ ทำให้มี ส.ส. มากกว่า 500 คน จึงไม่สะดวกต่อการเดินทางเข้ามาประชุมในเมืองหลวง  นอกเหนือจากประเทศเหล่านี้ ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มาตรการล็อกดาวน์หรือรักษาระยะห่างไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐสภา เพราะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย หรือจัดรูปแบบการประชุมให้สอดคล้องกับหลักการป้องกันโรค เช่น นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฟินแลนด์ ลัตเวีย จอร์เจีย แอฟริกาใต้ หรือแม้แต่เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาที่สามารถจัดการเลือกตั้งท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดได้อย่างสำเร็จลุล่วง แสดงให้เห็นว่าโรคระบาดไม่ใช่อุปสรรคร้ายแรงต่อความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย และที่สำคัญยังเป็นกลไก ออกกฎหมายสำคัญๆ การสะท้อนข้อเรียกร้อง ความเดือนร้อนของประชาชนไปพร้อมตรวจสอบการทางงานของรัฐบาลในช่วงเวลานี้

ที่มา : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net