Skip to main content
sharethis

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย หรือ คชท. เปิดให้สาธารณชนร่วมเข้าชื่อสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อให้มีการรับสิทธิของชนพื้นเมืองในประเทศไทยอย่างเป็นทางการและเพื่อให้ชนพื้นเมืองในประเทศไทยได้มีโอกาสแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอย่างตรงจุดและสอดคล้องกับวิถีชีวิต

ตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (IMN) รายงานว่าชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยประสบปัญหาหลายประการ เช่นสิทธิที่ดิน สิทธิในสัญชาติ การเข้าถึงการศึกษา และปัญหาการสูญหายของอัตลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรม ในขณะที่กระแสโลกาภิวัฒน์และกระบวนการพัฒนาประเทศดึงดูดเยาวชนและคนวัยทำงานออกจากชุมชนไปสู่เมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่มีสาเหตุมาจากการที่นโยบาย กฎหมาย และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองยังไม่มีความสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมและขัดกับเจตนารมย์ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง หรือ UNDRIP ซึ่งรัฐบาลไทยได้ร่วมกับอีก 143 ประเทศลงนามรับรองเมื่อพ.ศ. 2550

ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองมีการระบุสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองไว้หลายประการ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในการเข้าถึงที่ดิน สัญชาติ และสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองและมีชีวิตอยู่โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของแหล่งที่มา และสิทธิในการไม่ต้องถูกบังคับให้ผสมกลืนกลายทางวัฒนธรรมหรือทำลายวัฒนธรรมของตน โดยรัฐจะต้องจัดหากลไกสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหาในกรณีที่มีการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองต้องสูญเสียอัตลักษณ์หรือคุณค่าเชิงวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ของพวกเขา สูญเสียความเป็นเจ้าของที่ดิน เขตแดน หรือทรัพยากร ถูกบังคับให้ผสมกลืนกลายหรือรวมพวกทางวัฒนธรรม หรือเมื่อมีการโฆษณาชวนเชื่อในลักษณะที่ส่งเสริมหรือยุยงให้เกิดการเลือกปฎิบัติทางชนชาติต่อชนเผ่าพื้นเมือง

เหตุผลเหล่านี้นำไปสู่การยกร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อยืนยันสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองตามรัฐธรรมนูญและรับรองสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเองตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐไทยเป็นภาคี รวมถึงข้อกำหนดในปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และเพื่อให้เกิดกลไกการแก้ไขปัญหาอย่างทั่วถึงและสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมที่ชนพื้นเมืองได้มีส่วนร่วมด้วยตนเอง

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวกำหนดให้มีการตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยโดยให้มีสมาชิกที่มาจากชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งเลือกกันเองภายในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานสภาฯ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาฯ ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ส่งเสริมและฟื้นฟูอัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม พื้นที่ทางจิตวิญญาณและพื้นที่ทำมาหากินตามจารีตประเพณีของชนเผ่าพื้นเมือง และเป็นกลไกในการแสวงหาความร่วมมือในการป้องสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดทำแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชนเผ่าพื้นเมือง

นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ. ยังกำหนดนิยามของชนเผ่าพื้นเมืองว่าหมายถึง “บุคคลหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานร่วมกันโดยมีวิถีปฏิบัติตามจารีตประเพณีที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ตลอดจนมีภาษาและแบบแผนทางวัฒนธรรมของตนเองมาจนถึงปัจจุบัน เป็นกลุ่มคนที่มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือหลายพื้นที่และพึ่งพาผูกพันกับทรัพยากรในพื้นที่นั้น ๆ มิได้ป็นกลุ่มครอบงำทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม และพิจารณาตนเองว่ามีความแตกต่างไปจากภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม มีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์พัฒนา และสืบทอดวิถีชีวิต อัตลักษณ์ระบบภูมิปัญญาสู่คนรุ่นอนาคต อันเป็นไปตามแบบแผนทางวัฒนธรรม สถาบันทางสังคม และระบบนิติธรรมของตน รวมทั้งเป็นกลุ่มที่รักษาสันติวัฒนธรรม อันเป็นแนวปฏิบัติตามจารีตประเพณี ยิ่งกว่านั้น ยังระบุตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองและได้รับการยอมรับจากกลุ่มอื่น ๆ”

ผู้สนใจร่วมลงชื่อสนับสนุนพ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่เว็บไซต์ของเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองและสามารถส่งเอกสารไปร่วมลงชื่อได้ที่สำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยก่อนวันที่ 30 มกราคม 2564 โดยขณะนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 15,000 รายชื่อ

พ.ร.บ.​สภาชนเผ่าฯ กับทางออกของปัญหาของชนพื้นเมือง

ที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการออกแนวนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาของชนพื้นเมืองในประเทศไทย โดยเมื่อพ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีการออกมติครม. สองฉบับ คือมติครม.เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ซึ่งออกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน และ มติครม. เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งออกเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553

มติครม. ทั้งสองฉบับมีการกำหนดมาตรการระยะสั้นและระยะยาวในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญ เช่นปัญหาเกี่ยวกับสัญชาติและสถานภาพบุคคล ปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน หรือปัญหาการจัดการทรัพยากร และมาตรการในการส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมของทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งรวมถึงการกำหนดเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ การอนุญาตให้ชาวเลทำประมงโดยใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมในพื้นที่เขตอนุรักษ์ การสนับสนุนวิถีการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง และการเพิกถอนพื้นที่อนุรักษ์ที่ทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์

อย่างไรก็ตาม มติครม. ทั้งสองฉบับยังคงมีปัญหาในเชิงปฎิบัติ กิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ระบุว่ามติครม. ทั้งสองฉบับมักไม่ได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่เมื่อมีการบังคับใช้ในพื้นที่ เช่นเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ก็อาจจะอ้างว่าพระราชบัญญัติป่าไม้เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าตัวมติครม. ที่เป็นคำสั่งทางปกครอง เจ้าหน้าที่จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมติครม. ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับเป็นกฎหมายเพื่อให้มีช่องทางสำหรับเรียกร้องสิทธิ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 70 ยังระบุไว้ว่า "รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดํารงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย" จึงมีการเสนอว่าจะต้องมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของชนพื้นเมืองเพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ

กิตติศักดิ์ระบุว่าร่างพ.ร.บ. สภาชนเผ่าฯ จะเข้ามาคุ้มครองสิทธิของชนพื้นเมืองในทุกมิติ ทั้งในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ไปจนถึงสิทธิเฉพาะด้านต่าง ๆ ซึ่งกิตติศักดิ์กล่าวว่าสิทธิเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิทธิที่ชนพื้นเมืองเคยมีอยู่แล้วและต้องการให้มีการบรรจุไว้เป็นกฎหมาย

"เนื้อหาของเราก็คือเราอยากจะมีนโยบายและแผนงานเฉพาะที่จะมาตอบโจทย์กับพวกเรา เพราะเท่าที่เราเห็น บทเรียนที่ผ่านมา นโยบายที่มันออกมาโดยภาครัฐส่วนใหญ่มันจะออกมาแบบกลาง ๆ เทา ๆ แล้วเวลาไปประยุกต์ใช้จริงมันไม่ตอบโจทย์ของชาวบ้าน แม้แต่ของสภาชนเผ่าพื้นเมืองเองก็อยากได้แผนเฉพาะที่มันตอบโจทย์ความต้องการของพวกเราจริง ๆ แล้วก็อยากจะให้ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมที่เราอยากจะอยู่ คล้าย ๆ เป็นการกำหนดชะตาชีวิตของพวกเรากันเอง" กิตติศักดิ์กล่าว

นอกจากร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าฯ แล้ว กิตติศักดิ์ยังระบุว่ามีร่างกฎหมายอีกสองร่างที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำ คือร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจัดทำโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรตามแผนของรัฐบาลที่กำหนดให้มีการออกกฎหมายเร่งด่วน 15 ฉบับ โดยร่างกฎหมายฉบับนี้คาดว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ในช่วงต้นปี 2564 และร่างกฎหมายที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกฉบับซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการยกร่าง

นอกจากด้านกฎหมายแล้ว กิตติศักดิ์กล่าวว่าการสื่อสารกับสาธารณะในประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนในสังคมมักมีอคติกับชนพื้นเมืองเนื่องจากในอดีต หลักสูตรการศึกษามักจะสื่อสารภาพลักษณ์ของชนพื้นเมืองในเชิงลบ เช่นว่าชาวเขาทำลายป่า หรือชาวเขาค้ายาเสพติด ซึ่งถึงแม้ว่าหลักสูตรในปัจจุบันจะถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่มายาคติเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงและต้องรณรงค์อย่างจริงจัง โดยหลักสูตรการศึกษาจะต้องทำให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม อยู่กันหลากหลายชาติพันธุ์ที่แต่ละกลุ่มก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง

"เหมือนกับการจัดแจกัน ถ้ามีดอกร้อยอย่างมันก็จะสวย ถ้าดอกอย่างเดียวมันก็ดูจืด ๆ ถ้าให้เห็นมิติของความสวยงาม มิติของประโยชน์ คุณค่า คิดว่าระบบการศึกษาก็สำคัญ การรณรงค์ก็สำคัญ" กิตติศักดิ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net